ฉบับย่อ

ไปดีมาดี ที่วัดป่าสุคะโต



เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 จากการแนะนำของอี๊กิ๊ม (ประนอม เตโชภาส) เราได้มีโอกาสไปวิปัสนาที่วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับกลุ่มของ คุณหมอกำพล ซึ่งเป็นกลุ่มหมอและพยาบาล จากสุโขทัย แนวทางการวิปัสนาเป็นการเจริญสติ แบบหลวงพ่อเทียน ซึ่งอี๊กิ๊มได้เคยพูดให้เราฟังบ่อย ๆ ถึงแนวทางการฝึกแบบนี้ เป็นการนั่งสร้างจังหวะ และเดินจงกรม เรามองว่าไม่งมงาย และปรับเข้ากับชีวิตประจำวันได้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมทั้ง 8 วัน

ต้องขอแนะนำวัดป่าสุคะโตก่อน วัดนี้อยู่ที่อ.แก้งคร้อ ต.ท่ามะไฟหวาน จังหวัดชัยภูมิ มีหลวงพ่อคำเขียน (ซึ่งขณะนี้อาพาส อยู่กำลังพักฟื้น) เป็นผู้ที่ดูแลวัดนี้ และวัดในเครือ มีหลวงพ่อไพศาล เป็นเจ้าอาวาส พื้นที่ส่วนใหญ่ในวัดนี้เป็นป่า มีสระบัวใหญ่ ซึ่งบัวกำลังบานอย่างสวยงาม ในวัดก็บรรยากาศร่มรื่น ประกอบด้วยหอฉัน, หอไตร ซึ่งใช้เป็นที่ทำวัตร และกุฎิกระจายอยู่ทั่วไป สุดรั้วจะเป็นเชิงตะกอนเผาศพ

เราชอบระบบการจัดการทรัพยากรในวัดนี้มาก ถือได้ว่าเป็นวัดแบบ self sustained สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยอาศัยทรัพยากรจากภายนอกน้อยมาก ฝนตกก็รองน้ำไว้ใช้ มีถังเก็บน้ำฝนกระจายอยู่ทั่ววัด ในวัดมีสมุนไพร ต้นไม้ และพืชผัก ซึ่งแทบไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกเลย นอกจากไฟฟ้า การก่อสร้างเช่นกำแพงวัดหรือกุฎิ พระกับชาวบ้าน ก็ช่วยกันก่อสร้าง

ไปถึงวัดประมาณเที่ยง ได้กุฎิที่พักแล้วก็ไปกราบพระอาจารย์ ชื่อพระอาจารย์ทรงศีล เป็นพระอาจารย์ที่จะเป็นผู้อบรมกลุ่มพวกเราตลอด 7 วัน พระอาจารย์ก็ปฐมนิเทศพวกเราก่อน บอกว่าสูตรว่า ใจ มีสติ อยู่กับกาย = ปกติ (ศีล) ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องปฏิบัติระหว่างอยู่ที่นี่ ก็คือทำใจเราให้มีสติ รู้อยู่กับกาย ซึ่งจะทำให้ใจของเราอยู่ในลักษณะที่ปรกติ ดีใจก็ไม่ฟุ้งไป เครียดก็ไม่รู้สึกจิตตกไป
สิ่งที่ได้ก็คือการเป็นผู้มีศีล



ตารางเวลาขณะที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโตก็คือทำวัตรเช้าตอนที 4 หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็จะเริ่มสอนด้วยการพาเดินรอบวัดอย่างมีสติ ตอนสายก็เริ่มฝึกวิปัสนาไปเรื่อย จนถึงสองทุ่ม วันแรก ๆ ก็จะมีง่วง เครียด ปวดหลัง วันแรกถึงกับสัปหงกทั้งที่เดินจงกรมอยู่ทีเดียว แต่ในวันหลัง ๆ ก็เริ่มทำได้นานขึ้น และมีความรู้สึกว่าสนุกมากขึ้น พระอาจารย์ทรงศีลเอง ก็มีวิธีการสอนที่ทำให้สนุก และเข้าใจอาการของพวกเราว่าจะต้องมีง่วงมีเมื่อย ก็จะหาเรื่องเล่าที่ตลกแต่มีสาระ และกิจกรรมที่ทำให้แก้ง่วงไปได้

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการปฏิบัติ คือจิตใจที่สงบ เวลานอน ถึงเวลาสองทุ่มกว่า ก็จะหลับ ล้มตัวลงนอนแล้วหลับได้สนิท ไม่มีคิดฟุ้งซ่าน หรือนอนไม่หลับ รู้สึกตัวตื่นตอนประมาณตีสองกว่า ๆ แต่ด้วยความงกเวลานอนเพราะกลัวจะง่วงตอนกลางวัน ก็เลยนอนต่อจนถึงตีสามครึ่ง เป็นอย่างนี้ทุกคืนตี่นมาก็รู้สึกแจ่มใส่ ถึงจะมีง่วงบ้างจากการนั่งทำจังหวะ ก็ยังทนได้

หลังจากกลับมาก็ไม่ได้ฝึกต่อ จนอีกสองอาทิตย์ให้หลัง ขับรถไปรับแม่ที่อาศรมมาตา ที่ปักธงชัย ใช้เวลาขับไปประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อยไหล่มาก พระอาจารย์ทรงศีลเป็นผู้สอน เราก็ร่วมปฏิบัติช่วงก่อนกลับบ้านด้วย นั่งทำจังหวะ โดยทำแบบสบาย ๆ เอาความรู้สึกไปไว้ที่มือ ปรากฎว่าที่เมื่อยไหล่อยู่ก็รู้สึกเบา ตอนทำก็รู้สึกเบาสบาย สนุกดีเหมือนกันนะ ถ้าใครมีเวลาว่าซัก 7 วันก็น่าไปหาอะไรดี ๆ ให้ชีวิตกันนะคะ ที่วัดป่าสุคะโตเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่หนึ่ง สำหรับการวิปัสนา ด้วยตัวบรรยากาศที่สงบของวัดป่าเอง และพระอาจารย์หลายท่านที่พร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับทุกคน

ขอขอบพระคุณ พระอาจารย์ทรงศีล ซึ่งสอนพวกเราด้วยความเมตตา และเป็นผู้ให้ที่แท้จริง, คุณหมอกำพล ผู้จัดวิปัสนาในครั้งนี้ และเมตตาให้เราเข้าร่วมด้วย สุดท้าย อี๊เราเอง ที่เป็นผู้แนะนำให้มาวิปัสนา แถมขับรถรับส่งเราไปกลับกรุงเทพฯ ชัยภูมิอีกด้วย

โดย: แบ๊น แบน


รูปเพิ่มเติม














 

Create Date : 25 มกราคม 2550    
Last Update : 25 มกราคม 2550 12:19:35 น.
Counter : 1504 Pageviews.  

เตรียมตัว

ช่วงเดือนที่แล้ว (สิงหาคม) เรามี defend ซึ่งก็ค่อนข้างเครียด แล้วก็รู้สึกเซ็ง ๆ ที่ทำไมถึงไม่จบซักที เลยอยากจะให้อะไรดี ๆ กับตัวเองบ้างประกอบกับพอทำ thesis อยู่ที่บ้าน ก็จะต้องเจอแม่บ่อย ทำให้มีปัญหากันบ่อย ๆ ก็เลยโทรหาอี๊กิ๊ม ซึ่งวิปัสนาแนวเจริญสติ แบบหลวงพ่อเทียนอยู่แล้ว และมักพูดเรื่องเกี่ยวกับการวางใจ การมีสติรู้ กับเราอยู่บ่อยๆ และเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่อี๊กิ๊มพูดให้ฟังนั้นมันไม่ได้งมงาย ไม่ได้เข้าถึงเรื่องของกรรมเวร หรือการมองเพ่งให้เห็นโน่นเห็นนี่ แต่เป็นการมีสติรู้ ให้เราเป็นผู้มองตนเอง ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และมีสติรับรู้ความรู้สึกนั้น ฟังก็ยังงง ๆ ค่ะ ที่คิดไว้คืออยากจะไปที่ ๆ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ฝึกสบาย ๆ จำได้ว่ามีที่พุทธมนฑล ที่พระอาจารย์จากวัดป่าสุคะโตเป็นผู้มาสอน จัดเป็นประจำทุกเดือน

อี๊กิ๊มบอกว่าพอดีมีกลุ่มของคุณหมอกำพล จากสุโขทัย เป็นหมอและพยาบาลประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก และพระอาจารย์ก็ดูแลได้ใกล้ชิด ไปวันที่ 2-10 กันยายน ซึ่งบอกว่าเราไม่ควรพลาดเพราะเป็นกลุ่มที่ดีจริง ๆ จัดที่วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ เราก็เวรแล้วสิ อยากได้ที่สบาย ๆ หน่อยแล้วก็ไม่ไกลมากเกินไปนัก พุทธมณฑลก็ได้ แต่อี๊กิ๊มยืนยันว่าให้ไปที่นี่ อี๊กิ๊มจะเป็นคนไปรับไปส่งเราเอง (กรุงเทพฯ - ชัยภูมิ ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมงได้) เราก็เกรงใจอี๊มาก เลยคิดว่า เออ เอาวะ ไปก็ไป คุยกับอี๊ว่าไม่ต้องห่วงถ้าไปแล้วยังไงก็จะตั้งใจทำ ขอแค่ไม่มีตุ๊กแก (ก็มันกลัวอ่ะ) ก็พอ อะไรเราก็ทนได้ ตกลงกับอี๊กิ๊มว่า ถ้าหากว่าได้ห้องที่มีตุ๊กแก เราจะกลับบ้านพร้อมอี๊กิ๊มทันที

อี๊ก็หาหนังสือมาให้เราอ่านก่อน เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้น แล้วก็สอนว่าเริ่มแรกมันไม่มีอะไรมากนะ ก็คือกำหนดการสัมผัส เช่นนั่งดูทีวีแล้วคลึงนิ้วไปด้วยแต่ให้รู้อยู่นะว่าดูทีวีอยู่ จับความรู้สึกที่คลึงนิ้วไว้ไปด้วย เราก็ถามว่า "แค่เนี๊ยะ" เค้าก็บอกว่า เออ แค่นี้แหละ แต่บรรดาหนังสือเราก็ไม่ได้อ่าน ด้วยความขี้เกียจ ก็ไปทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องแบบนั้นแหละ

ก่อนไปอี๊กิ๊มก็บอกว่าควรเตรียมอะไรไปบ้าง เราก็เตรียมทั้งหมอน ผ้าห่ม อาสนะ สำหรับเล่นโคยะ เผื่อปูนอนได้ด้วย ขนมขบเคี้ยวและ วีซอย เผื่อหิวตอนกลางคืน อากาศค่อนข้างเย็น มีฝนตก เสื้อผ้าก็เตรียมไปทั้งแขนสั้นแขนยาว ถุงเท้า ให้พร้อม น้องชายก็ดีใจหาย พาไปข้าวสารคืนก่อนไป ซื้อกางเกงเลเพิ่ม แล้วก็ผ้าคาดหัว เพราะกางเกงมีไม่พอ ส่วนผมดัดของเราต้องเซ็ททุกครั้งหลังสระ ขี้เกียจเอาของไปเยอะก็เลยกะจะรวบผมแล้วเอาผ้าคาดหัวไว้ สะดวกดี

คืนก่อนไป แอม กับพี่อ๊อด แฟนแอม มาหาที่บ้าน เฮียก็มาด้วย เฮียถามว่า “หนูจะไปทำไมเนี่ย” แอมกับพี่อ๊อดมองหน้าเฮีย ประมาณว่า “ไม่รู้ตัวอีกเรอะ เพราะแกนั่นแหละ เค้าถึงได้ไป” แล้วทุกคนก็หัวเราะกันใหญ่ เฮียก็หน้าเสีย “จริงเหรอหนู หนูเบื่อเฮียจริง ๆ เหรอ ม๊าก็บอกว่า ที่หนูไปนี่ เพราะเบื่อเฮีย ฮือๆๆ” เออ เอาเข้าไป กลายเป็นอกหักแล้วหนีไปบวชชีซะงั้น

ก่อนไปก็บอกเพื่อน ๆ ว่าจะไม่อยู่ซัก 8 วัน แต่ละคนก็ตะลึงกันมาก บอกว่าแกเนี่ยยนะ จะไปวิปัสนา ไม่อยากจะเชื่อเลย มาดูกันว่าคนที่เพื่อนมักว่ากระแดะ อีคุณหนู ขี้รำคาญสะบัดสะบิ้ง ใช้ชีวิตแบบเมือง ๆ นอนตี 1 ตื่น 10-11 โมง ต้องไปทำวิปัสนาแล้วจะเป็นยังไง

วันเดินทางเป็นวันเสาร์ อี๊กิ๊มมารับตอน 6 โมงเช้า บอกว่าควรจะไปเร็วหน่อย จะได้เลือกกุฎิที่สภาพดี ๆ เราเคยไปที่วัดป่าสุคะโตนี้หนนึง ตอนอี๊กิ๊มจัดโยคะและธรรมมะหรรษาก็ได้กุฎิดี สะอาด สภาพดี ห้องน้ำในตัว ไปคราวนี้ก็ลุ้น ๆ เพราะกุฎิที่นั่นจะมีหลายแบบ เป็นไม้ ๆ ห้องน้ำแยกต่างหาก หรือว่าสภาพน่ากลัว เป็นปูนทั้งหลังเพดานดำ ๆ ฯลฯ ใครโชคดีก็จะได้กุฎิที่น่าอยู่ไป เราลุ้นมาก ๆ อย่างที่บอก เพราะกลัวตุ๊กแกขึ้นสมอง บอกอี๊กิ๊มว่าถ้าต้องอยู่กุฎิที่มีตุ๊กแกเราจะกลับบ้านเลย อี๊กิ๊มก็บอกว่า

"ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ลองทำใจ มองมันแบบเฉย ๆ เดี๋ยวก็ชิน อี๊กิ๊มเคยอยู่กุฎิที่มีตุ๊กแก 11 ตัว อยู่กัน family พอกลางคืน ก็จะมีจิ้งเหลน มาไล่กินตุ๊กแกวิ่งไล่กันที่พื้นกุฎิดังกุกกัก ๆ ไม่เกรงใจเล๊ย ว่าคนนอนอยู่" เราฟังแล้วสยองมาก




ระหว่างทางก็แวะเขื่อนเก็บน้ำ วิวสวยดี เลยถ่ายรูปเก็บไว้ ตรงนี้จะเป็นจุดชมวิว อากาศดีมาก แล้วก็แวะกินข้าวเช้าที่ปั๊มน้ำมัน ถึงวัดก็เที่ยงพอดี



บ้านที่เป็นที่ลงทะเบียน ร่มรื่นมาก

เข้าไปก็จะเป็นหอฉัน และครัว เลยเข้าไปด้านในก็จะเป็นเขตที่อยู่อาศัย เป็นป่า ถนนเป็นดินแดง ๆ แล้วก็มีกุฎิกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ บรรยากาศสงบร่มรื่น เพราะต้นไม้เยอะมาก อี๊กิ๊มจะอยู่กับเราถึงวันจันทร์ ก็พาเราไปลงทะเบียน ที่นี่มักจะพักกันคนละห้องเลย ถ้ามาช่วงที่คนน้อย เพราะจะได้มีความสงบ และใด้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด แล้วก็ไปดูกุฎิกัน

กุฎิที่ได้ เป็นเหมือนบ้านชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างสองห้องนอน ชั้นบนสองห้องนอน เราได้ห้องชั้นล่างกับชั้นบนอย่างละห้อง ชั้นล่างจะคล้าย ๆ บ้านพักคนงาน เป็นปูนสีเทา ๆ ทั้งห้อง มีมุ้งลวด และมีห้องน้ำใช้ร่วมกับห้องข้าง ๆ ผนังดำปี๋ เป็นห้องโล่ง ๆ เลย ขนาด 3 x 3 เมตรได้ ห้องน้ำก็เป็นพื้นปูน ส้วมคอห่าน แต่ที่หรูคือมีเครื่องทำน้ำอุ่น เราก็ไม่ค่อยชอบสภาพห้องเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าถ้าต้องอยู่ก็อยู่ได้ แล้วก็ดูห้องข้างบน น่าอยู่กว่ามาก เป็นเหมือนห้องใต้หลังคา พื้นและผนังเป็นไม้ หลังคามีเว้นช่วงเป็นสีขาวขุ่น ๆ ไว้ให้มีแสงลงมา เป็นห้องโล่ง ๆ อีกเช่นกัน มีราวตากผ้าอยู่มุมนึง แต่ไม่มีห้องน้ำ ต้องลงไปเข้าห้องน้ำที่อยู่แยกจากตัวบ้าน ใกล้กับบันได เดิน ๆ ดูในห้องน้ำก็ไม่มีตุ๊กแก เป็นห้องน้ำปูน สภาพก็พอรับได้ เรากับอี๊กิ๊มก็คิดเหมือนกันว่ามันไม่มีความพอดี ห้องข้างบนน่าอยู่แต่ไม่มีห้องน้ำ ห้องข้างล่างสภาพไม่ดีแต่มีห้องน้ำ อี๊กิ๊มก็ให้เราเลือกว่าจะอยู่ห้องไหน เราบอกว่าเอาชั้นบนละกัน เพราะเราไม่ค่อยตื่นมาฉี่กลางคืนเท่าไหร่ เวลาหลับก็หลับรวดเดียวไปเลย มีพี่คนนึงพักข้างบนเหมือนเรา

เสร็จแล้วก็พาไปเจอพระอาจารย์ ชื่อพระอาจารย์ทรงศีล เป็นพระอาจารย์ที่จะเป็นผู้อบรมกลุ่มพวกเราตลอด 7 วัน อี๊กิ๊มก็รู้จักคุ้นเคยกับพระอาจาย์ดี พระอาจารย์ถามว่าได้กูฎิไหนล่ะ อี๊กิ๊มก็อธิบายไป พระอาจารย์บอกว่า "โอยกุฎินั้นก็อยู่กับยาย...น่ะสิ เดี๋ยวแกได้ชวนคุยไม่ได้ปฏิบัติกันพอดี ย้ายไปกุฎิแม่ชีนะ เดี๋ยวอาตมาให้แม่ชีย้ายไปอยู่กุฎิอื่นก่อน จะได้สงบ ๆ นะ" (ตอนหลังก็รู้ว่ายายแกช่างเม้าจริง ๆ) พระอาจารย์ก็ปฐมนิเทศคนที่มาใหม่ ซึ่งตอนเช้า กลุ่มของคุณหมอกำพลได้ปฐมนิเทศไปแล้ว ของเราก็จะเป็นกลุ่มที่มร่วมกับกลุ่มของคุณหมอคือ เรา อี๊กิ๊ม น้องดี้ (อายุ 25 อ้วน ดำ แต่มีอัธยาศัยดี เป็นสัตวบาลที่โคราช) พี่เป้ง (วิศวกร จากพิษณุโลก) และพี่เหลิม (ทหารเรือมาแว้วว) พระอาจารย์สูตรว่า ใจ มีสติ อยู่กับกาย = ปกติ (ศีล) ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องปฏิบัติระหว่างอยู่ที่นี่ ก็คือทำใจเราให้มีสติ รู้อยู่กับกาย ซึ่งจะทำให้ใจของเราอยู่ในลักษณะที่ปรกติ คือคิดฟุ้ง ดีใจ มีความสุข (สูง) หรือไม่จมอยู่กับความง่วง เครียด เพ่ง (ต่ำ) สิ่งสิ่งที่ได้ก็คือการเป็นผู้มีศีล แล้วก็ให้เราลองเดินย่ำ ๆ อยู่กับที่ แล้วก็ให้รู้สึกว่าเท้ากระทบพื้น กระทบแล้วรู้ กระทบแล้วรู้ ให้ทำสบาย ๆ ถ้าหากว่าทำแล้วเกร็ง เพ่ง หรือปวดหัวก็แปลว่าไปเพ่งกับมันมากไป ถ้ามีความคิดเข้ามา ก็ให้ตัดกลับมาที่ความรู้สึกกระทบรู้ กระทบรู้ เราก็คิดในใจ ทำแค่นี้เองเหรอ เสร็จแล้วก็ให้แยกย้ายกันไป บอกว่าตอนเย็นให้มาทำวัตรเย็น

เรากับอี๊กิ๊มก็เลยไปคืนกุญแจกับแม่ชี แล้วอธิบายตามที่พระอาจารย์บอก แม่ชีก็หากุญแจอันใหม่ให้แล้วก็บอกว่า พอดีมีกุฎิว่าง กุฎินี้มีสองห้อง ห้องก็ดีกว่าของแม่ชีด้วย เอามั๊ย ก็เลยตกลงเอากุฎินี้ ไม่ต้องรบกวนแม่ชีด้วย



ได้บ้านนี้ค่ะ



สภาพในห้อง หมอนกับผ้าห่มเราเอาไปเอง

พอเห็นสภาพในห้อง มันดีกว่ากุฎิเดิมเยอะเลย เป็นเหมือนบ้านชั้นเดียว แบ่งเป็นสองห้องซ้ายขวา ตรงกลางและด้านหน้ามีลานว่าง ๆ มีราวตากผ้า ในห้องก็เป็นพื้นไม้ มีห้องน้ำในตัว ห้องน้ำปูกระเบื้อง เป็นโถแบบชักโครก แต่ต้องใช้น้ำราด มีหมอนมีเสื่อ มุ้ง พัดลม ผงซักฟอก ราวตากผ้าในห้อง ไม้แขวนเสื้อ เหมือนมีคนอยู่ประจำมาก่อน สภาพดีกว่ากันมาก ๆ ก็เลยตกลงได้อยู่กุฎินี้ อี๊กิ๊มบอกว่า ถ้าวันจันทร์อี๊กิ๊มไปแล้วก็จะให้พี่คนที่เค้าอยู่กุฎิบนชั้นสองที่กุฎิเดิมนั้น ย้ายมาอยู่แทนอี๊กิ๊ม เพราะเห็นเค้ามีสามีและลูกมาส่ง สามีเค้าก็ดูกังวล ว่าภรรยาจะอยู่ได้มั๊ย เค้าคงจะดีใจ ถ้าได้อยู่ห้องที่ดีกว่าเดิม

ก่อนทำวัตรก็กินข้าว ที่ซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกินข้าวเช้า ซึ่งจะเป็นข้าวเย็นมื้อสุดท้าย เพราะพรุ่งนี้ต้องรับศีล 8 ห้ามกินอาหารหลังเที่ยง พอทำวัตรเย็นเสร็จพระอาจารย์ก็ให้มาฝึกกันเลย อี๊กิ๊มให้ผ้า เป็นลักษณะคล้ายผ้าขาวม้าผืนยาวประมาณ 2 เมตรได้ แต่ลายสวยกว่า เนื้อผ้าฝ้าย สีฟ้าเข้มมีพู่ๆ ตรงปลาย ผ้านี้ใช้คล้องคอแล้วม้วนเป็นปมตรงแถว ๆ พุง เพื่อใช้เป็นที่พักมือในขณะเดินจงกรม คลุมไหล่เมื่อหนาว ฯลฯ ผ้าผืนนี้ ติดตัวเราตลอดจนวันสุดท้ายที่ปฏิบัติธรรม




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 10:39:35 น.
Counter : 787 Pageviews.  

วันที่ 1 สัปหงกโงกเงก

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำวัดป่าสุคะโตก่อน วัดนี้อยู่ที่อ.แก้งคร้อ ต.ท่ามะไฟหวาน จังหวัดชัยภูมิ มีหลวงพ่อคำเขียน (ซึ่งขณะนี้อาพาส อยู่กำลังพักฟื้น) เป็นผู้ที่ดูแลวัดนี้ และวัดในเครือ มีหลวงพ่อไพศาล เป็นเจ้าอาวาส



พื้นที่ส่วนใหญ่ในวัดนี้เป็นป่า มีสระบัว ซึ่งตอนที่เราไป บัวบาน สวยงามเพราะเป็นหน้าน้ำ มีฝนตก ช่วงหน้าแล้งบ่อจะแห้งขอด พระอาจารย์บอกว่าปีที่แล้วถึงกับไปลอกสระได้เลยทีเดียว เพราะน้ำแห้งมาก

จากแผนที่เข้ามาแล้วก็จะเป็นหอฉันและครัว กุฎิของเราเป็นกุฎิที่มีกรอบสีแดง ของหลวงพ่อคำเขียนเป็นกรอบสีเหลือง และของอ.กำพล เป็นสีฟ้า เวลาปฏิบัติและทำวัตรก็จะทำที่หอไตรและลานหินโค้ง


สระบัว จุดที่สวยงามที่สุดของวัด

ตารางเวลาขณะที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโตเป็นดังนี้

4.00 - 5.00 ทำวัตร + ฟังธรรม พร้อมนั่งวิปัสนากรรมฐานไปด้วย
5.00 พระอาจารย์สอนการปฏิบัติ รอพระอาทิตย์ขึ้น
5.30 โดยประมาณ (พระอาทิตย์ขึ้น) เข้าแถวตามลำดับ (แล้วแต่พระอาจารย์จะกำหนดแต่ละวันว่าตามลำดับอะไร เช่น อายุ, เงินเดือน, น้ำหนัก ฯลฯ)
5.45 - 7.30 เดินๆๆ
7.30 - 9.00 ไปที่หอฉันฟังธรรม, ตักอาหารของทั้งมื้อเช้าและเพล มาทานที่กุฎิ, อาบน้ำ
9.00 - 11.00 ฝึกวิปัสนากรรมฐาน
11.00 - 13.00 ฉันเพล ทำธุระส่วนตัว (ทำความสะอาดที่พัก, ซักผ้า ฯลฯ)
13.00 - 17.00 ฝึกวิปัสนากรรมฐาน
17.00 - 18.00 อาบน้ำ
18.00 - 19.00 ทำวัตรเย็น
19.00 - 20.00 ฝึกวิปัสนากรรมฐาน
20.00 เข้านอน


หอไตร

วันนี้ถือเป็นการปฏิบัติวันแรก หลังจากทำวัตรเช้า ก็รับศีล 8 แล้วเข้าแถวตามอายุ เดินเข้าป่าไปเรื่อย ๆ จนได้เวลาก็ไปทานข้าว โดยพระอาจารย์บอกว่าให้หาปิ่นโตแล้วตักอาหารทั้งมื้อเช้าและเพลมาเลย เพราะต้องการให้ปลีกวิเวก ไม่พูดคุยกับคนอื่น เวลากิน ก็ให้กินอย่างมีสติ ไม่ต้องรีบกิน

อาหารของที่วัดนี่ถ้าใครชอบผักจะมีความสุขมาก เพราะผักสด ๆ แม่ครัวจะทำอาหารแบบที่คนทั่วไปกินได้ ไม่เผ็ดหรือรสจัดเกินไป หลัก ๆ ก็จะเป็นผัดผัก, แกง (แกงจืด, แกงเลียง ฯลฯ) ข้าวกล้อง, ข้าวขาว น้ำพริก ผักสด ขนม และผลไม้ เรากินง่าย ๆ อยู่แล้ว แถมชอบข้าวกล้องอีกต่างหาก วันไหนตักข้าวกล้องไม่ทัน ได้ข้าวขาวจะรู้สึกว่าวันนั้นอาหารขาดรสชาติไป

กลับมาจากทานข้าว พระอาจารย์ก็อธิบายหลักในการปฏิบัติ ขอทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า บลอกนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าประสบการณ์การวิปัสนา ไม่ได้ใช้เพื่อการสอนวิปัสนา แต่อธิบายหลักคร่าว ๆ ไว้ เพื่อเวลาอ่านต่อก็จะได้เข้าใจว่าเราทำอะไรบ้างค่ะ โดยจะมีสองแบบ คือการเดินจงกรม ซึ่งควรจะผ่อนคลาย เดินโดยการทำ marking ของเราเอง ว่าจะเดินจากตรงไหนถึงตรงไหน จะกอดอก หรือเอามือไว้ข้างหลังก็ได้ แต่ให้เก็บแขนไว้ ไม่เดินแกว่งแจน อีกแบบก็คือการนั่งสร้างจังหวะ นั่งในท่าที่สบาย แล้วยกมือ (เค้าจะมีรูปแบบของท่าทางการยกมือให้ 14 จังหวะ) หลักก็คือทำแบบสบาย ๆ เหมือนทำเล่น ๆ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องมากำหนดในใจว่ายกหนอ เหยียบหนอ ย่างหนอ แต่ให้รู้ถึงการสัมผัส หรือการเคลื่อนไหวของกาย สบาย ๆ กระทบรู้ ยกรู้ โดยเหมือนเราเป็นคนนอกที่มองดูตัวเองว่ารู้สึกอะไรอยู่ และถ้ามีความคิดหรือความรู้สึกอื่นนอกจากการปฏิบัติในรูปแบบตามที่บอกก็รับรู้ว่ารู้สึกแล้วก็ตัดออกมาที่ความรู้สึกตรงท่าทางการปฏิบัติแทน

เช่น ถ้าเราเดินอยู่ เราก็จะรู้ว่าเท้าเราเหยีบโดนพื้น เมื่อโดนพื้นแล้วก็รู้ ว่าโดน พอคิดอะไรก็รู้ว่าคิดแล้วตัดกลับไปที่ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นต่อ ได้ยินอะไรก็รู้ว่าได้ยินแล้วก็กลับมาที่ความรู้สึกที่เท้าเราต่อ ตรงนี้เป็นการที่เราเจตนาสร้างการกระทบทางกายขึ้นมา เพื่อให้ ใจ+มีสติ+อยู่กับกาย ตามที่พระอาจารย์ทรงศีลให้สูตรไว้นั่นเอง

ความรู้สึกนั้นควรจะเป็นความรู้สึกเบา ๆ สบาย ๆ คิดเรื่องเครียดอยู่ก็ตัดทิ้ง คิดเรื่องที่พอใจอยู่ก็ตัดทิ้งไป คือทั้งสุขหรือทุกข์ ก็ไม่เอามาเก็บไว้ทั้งสิ้น วางใจให้อยู่ตรงปรกติอยู่เสมอ ตื่นเต้น รู้ว่าตื่นเต้นแล้วก็กลับมาที่ปรกติ กินข้าวรู้รสว่านี่อร่อย แต่ไม่ได้เพลินเพลินไปกับรสชาติ แล้วทำให้อยากจะกินอีก ให้รู้ว่าอร่อย แล้วก็กลับมาที่ปรกติ เพราะฉะนั้น keyword ก็คือคำว่า "ปรกติ" นั่นเอง

พระอาจารย์บอกว่าได้มาเดินจงกรม และ หลังเที่ยงไม่ทานอาหาร จะได้ลดความอ้วน "ดูสิ อาตมาก็ผอมลงไปตั้งเยอะ" เราเห็นท้องของพระอาจารย์ที่ตอนแรกดูเผิน ๆ เหมือนอุ้มบาตรอยู่ ก็...

เมื่อพระอาจารย์ทรงศีลอธิบายแล้วก็ให้พวกเราฝึก โดยเริ่มจากการเดินเป็นกลุ่ม ๆ เข้าแถว 3 แถว แถวละ 3-4 คน แล้วเดินไปแถวใครแถวมัน พอสุดศาลาก็กลับหลังหันแล้วเดินต่อ วนไปวนมา วันนั้นรับรู้แต่ว่า ง่วงมาก แล้วก็ปวดหลังมาก เราก็เดินๆๆๆๆ เดินๆๆๆๆ ตาก็ลืมอยู่ ขาก็ก้าวอยู่ แต่หัวโงกแบบสัปหงก! เท่านั้นแหละ ตาสว่าง ขำตัวเองว่า ทำไปได้ แล้วก็ตั้งใจฝึกต่อไป บางทีพระอาจารย์ก็ปล่อยให้ปฏิบัติเองโดยไม่ต้องทำพร้อมกลุ่ม จะนั่งจะเดินก็แล้วแต่ เราก็จะถนัดเดินมากกว่า เพราะนั่งแล้วจะหลับ แต่เดินก็ปวดหลัง

หมดวันด้วยความรู้สึกงง ๆ ว่าทั้งวันทำแค่นี้เองเหรอ (วะ)




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 10:46:28 น.
Counter : 1224 Pageviews.  

วันที่ 2 ง่วง! เครี๊ยด! ปวดหลัง!

เดินๆๆ เดินเข้าไป เช้าวันนี้พระอาจารย์พาเดินไกลโคตร ๆ 5 กิโลได้ พระอาจารย์อธิบายว่าวัดนี้มีกำแพงล้อมรอบ ซึ่งผู้ที่เป็นคนริเริ่มสร้างและอำนวยการสร้างกำแพง ก็คือคุณหมอกำพล นั่นเอง กำแพงวัดยาวประมาณ 4 พันกว่าเมตร (เกือบ 5 กิโลเมตร) เดินไปจนถึงป่าช้า ซึ่งดูไม่เหมือนป่าช้าเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้และหญ้าขึ้นรก ๆ มีเชิงตะกอน 1 อัน มีเพิงสังกะสียกพื้นสูง 1 หลัง ไม่มีหลุมศพ ไม่มีป้ายชื่อผู้ตายใด ๆ ทั้งสิ้น

พระอาจารย์พาพักที่เชิงตะกอน ถามว่าเดินแล้วคิดไรบ้าง เราก็บอกไปตามตรงว่า คิดว่ากำแพง 4 พันเมตรนี่มันยาวกี่กิโลนะ ต้องเดินนานแค่ไหน แล้วผลไม้ที่ตกอยู่บนพื้นคือลูกอะไร ส่วนพี่คนนึงถามว่า "เหยียบมดด้วยจะเป็นอะไรมั๊ย" หมอกำพลหัวเราะ บอกว่า "แบกมดมาถึงนี่เลย" พระอาจารย์อธิบายว่า ไม่ได้ตั้งใจก็ไม่เป็นไร เมื่อรับรู้แล้วก็ตัดทิ้งไป ไม่ต้องคิดต่อ แล้วก็ไปรู้ที่เท้าที่กำลังเดินอยู่

หมอกำพลอธิบายว่า เวลาปฏิบัติ เดินก็คือเดิน รู้อยู่แต่ว่าเดิน ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสงสัย พระอาจารย์ให้ทำอะไรก็ทำ พูดง่ายๆ พระอาจารย์ให้ไปตายก็ต้องไป (ขัดกับนิสัยเรามาก) เพราะการปฏิบัติอย่างที่ว่ามานี้ เราจะรับรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งใจ และสงสัยให้น้อยที่สุด

พระอาจารย์ให้พวกเรายืนขึ้น แล้วก็ปล่อยให้เดินกลับลงไปทีละคน เราก็รีบจ้ำเพราะว่าไม่รู้ทางเดินกลับ เดินตามคนข้างหน้าไป มารู้ทีหลังว่าคนอื่นเค้ารู้ทางเพราะว่ากลุ่มหมอมาถึงตอนเช้า แล้วเค้ามีเดินขึ้นมากันรอบนึงแล้ว

ตอนสายพระอาจารย์สอนวิธีแก้ง่วง
1. สูดลมหายใจลึก ๆ ทำตาโต ๆ
2. ทำปากจู๋แล้วทำเสียง อู้! (พระอาจารย์บอกว่าทำปากไม่ถูกก็ให้พูดคำว่าปลาทู)
3. ยิงฟันแล้วทำเสียง อี้!
เรียกเสียงหัวเราะและแก้ง่วงยามเช้าได้ดีทีเดียว พระอาจารย์ก็บอกให้ทุกคนจับคู่กันแล้วหันหน้าเข้าหากัน แล้วทำหน้าอย่างที่บอก แม่ชีดวง ซึ่งปรกติขำง่ายอยู่แล้ว ถึงกับหัวเราะน้ำตาเล็ด บอกว่า "ขอเป็นคนดูเฉย ๆ แล้วกันค่าพระอาจารย์"

อี๊กิ๊มกลับบ้านวันนี้ มีความคิดแว๊บ ๆ ว่าอยากจะกลับด้วยจัง เพราะว่ามันเบื่อโคตร ง่วงก็ง่วง เมื่อยก็เมื่อย ตอนเดินกลับกุฎิ อี๊กิ๊มบอกว่า "พระอาจารย์ชมน๊าเนี่ย ว่าแววดี ตอนแรกเห็นเป็นคนกรุงเทพฯ อ้อนแอ้น ก็นึกว่าจะทำไม่ได้" เราก็ฮ๊า ฮ๊า เหร๊อ ก็ดีใจมีคนชมแต่ก็อยากกลับบ้านอยู่ดี แล้วอี๊กิ๊มก็กลับไป ก่อนกลับบอกว่า "ตั้งใจน๊า แล้ววันอาทิตย์จะมารับ" "ก็ต้องงั้นแหละ ไปไหนไม่ได้แล้วนี่ โดนปล่อยวัด" เราว่า

ตอนกินข้าว ไอ้ดำ หมาวัดวิ่งรี่ขึ้นกุฎิมาหน้าตามีความหวังว่าเราจะให้อะไรมันกิน เราก็บอกว่า "ไป ๆ ไม่มีอะไรให้กินหรอก" มันก็ฮัดเช้ยใส่พวกเรา 1 ที (ไม่รู้ลงจานข้าวไปบ้างรึเปล่า) แล้วก็นอนแหมะอยู่ที่หน้าเสื่อ ที่เรากับอี๊กิ๊มกินข้าวอยู่นั่นเอง



พอบ่ายก็ไปปฏิบัติต่อ ต่างคนต่างทำเองที่หอไตร ฝนทำท่าจะตก ง่วงมาก ๆ ทำยังไงก็ไม่หายง่วง ง่วงทุเรศทุรัง แถมปวดหลังอีกจะเดินก็เดินไม่ไหว จะนั่งก็ง่วง นั่งไปนั่งมาก็เลยสัปหงกไปหน่อยนึง พอพระอาจารย์มา ก็เริ่มจะหายง่วงแล้ว พระอาจารย์ให้เราไปหยิบไม้ไผ่ เป็นลักษณะตัดขวางแล้วมีร่องตรงกลาง มีไม้เคาะคล้องอยู่กับตัวไผ่ แล้วก็บอกว่าพอเคาะแล้วก็ให้ยกมือทำจังหวะ เคาะทีนึงก็ยกทีนึง พระอาจารย์ก็แกล้งเคาะเร็วบ้าง ช้าบ้าง ต้องมีสมาธิดี ๆ ไม่งั้นจะทำผิด หลังจากนั้นก็สอนว่าถ้าหากว่าง่วง ก็พยายามทำตัวให้หายง่วงอีกแบบ โดยให้ทำดังนี้

1. สูดหายใจลึก ๆ ทำตาโต ๆ
2. แลบลิ้นแล้วทำเสียง แฮ่!
แค่นี้ก็ขำกันกลิ้งแล้วค่ะ ยังไม่พอ
3. หันไปหาคนข้าง ๆ แล้วทำข้อ 1 และ 2 อีกครั้ง

ลองทำกับคนข้าง ๆ ก็ได้นะคะ พวกเราก็ขำกันกลิ้ง หัวเราะหน้าเพื่อน พอดีมีเด็กผ่านมาสองคน พระอาจารย์บอกว่า "ไอ้หนูหยุด ๆ อย่าเพิ่งไปไหนนะ หันมามองพวกพี่ ๆ นี่ อ้าว ทุกคน อ้าปากสูดลมหายใจลึก ๆ ทำตาโต ๆ แลบลิ้นแล้วร้องแฮ่ไปที่เด็ก ๆ เลย" พวกเราก็ แฮ่! เด็กก็เลยแฮ่บ้าง แลบลิ้นใส่พวกเรามีคนนึงฟันหลอด้วย แล้วก็วิ่งหนีไป มันต้องคิดว่าพวกเราบ้าแน่ ๆ

พระอาจารย์ก็สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติไปเรื่อย ๆ สลับกับการแก้เบื่อ พระอาจารย์เล่าว่ามีคนนึงถามพระอาจารย์ว่า
"ทำไมผู้หญิงชอบเข้าวัด แล้วทำไมผู้ชายไม่ชอบเข้าวัด" อ้าว โยมก็ตอบได้นี่
"ผมอยากให้พระอาจารย์ตอบ" พระอาจารย์ตอบด้วยคำตอบที่ตรงใจเรามากว่า
"ผู้ชาย เวลาเครียดกับเรื่องในบ้าน ก็สามารถไประบายออกกับการเที่ยว กินเหล้า หรือเที่ยวอย่างอื่นซึ่งอยู่ในลักษณะที่สังคมยอมรับ ในขณะที่ผู้หญิงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะสังคมไม่ยอมรับ ก็เลยมาหาผู้ชายที่วัด ก็คือพระ ซึ่งปลอดภัย และสังคมยอมรับ"
พี่คนนึงก็ถามว่า "แล้วถ้าเจอพระไม่ดีล่ะคะ เหมือนยันตระ"
พระอาจารย์ตอบว่า "อ้าว ตาดีได้ตาร้ายเสีย" ซะงั้น

พวกเราก็ปฎิบัติกันไปเรื่อย ๆ จนถึงค่ำ เราหันหน้าไปบอกพี่นิด พี่ที่ย้ายมาอยู่ห้องอี๊กิ๊มที่บ้านเดียวกับเรา ว่าเมื่อยมากกก พี่เค้าก็พยักหน้าบอกว่าใช่ ๆ แล้วก็จับให้เราหันหลังแล้วนวดให้ พี่เค้านวดแบบมืออาชีพมาก เบาขึ้นมาเลย พอพี่เค้านวดเสร็จก็เลยหันไปไหว้ขอบคุณพี่เค้า แล้วก็แยกย้ายกันไปนอน




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 18 กันยายน 2549 17:16:47 น.
Counter : 567 Pageviews.  

วันที่ 3 หิ่งห้อย อ่าฮ้อย อ่าฮ้อย

เช้านี้เข้าแถวตามน้ำหนัก เราอยู่ท้ายแถวเลย ตามด้วยพี่โก้งและพี่เล้ง (45,44,43 เรียงกันเลย) แล้วก็พาเดินวนขึ้นไปด้านบนป่าพื้นแฉะบ้าง พื้นแห้งบ้าง มีใบไม้แห้งสุมกันบ้าง บนใบไผ่ที่แห้ง ๆ ร่วงเต็มพื้นบ้าง ก็จะรับรู้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เราเดิน ๆ ไปก็คิดโน่นนี่ไปบ้างแต่ก็ตัดกลับมาที่ความรู้สึกที่เท้า โดยไม่ปรุงแต่งว่ารำคาญเพราะนี่เปียก เดินสบายเพราะพื้นเรียบ ไปเรื่อย ๆ แล้วก็คิดขึ้นได้ว่า การเข้าแถวเรียงตามลำดับต่าง ๆ อย่างเช่นวันนี้ ตามน้ำหนัก ทำให้เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กที่สุด เวลาเดินข้ามอะไรที่กว้าง ๆ คนที่สูงกว่าก็สามารถก้าวข้ามไปได้ โดยไม่ลำบากมากเท่าคนขาสั้น ๆ อย่างเรา แม้จะลำบากกว่าแต่ก็ต้องพยายามเดินไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น เหมือนกับการปฏิบัติธรรม คนเรามีที่มาก็ต่างกัน มีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน แบกรับสิ่งต่าง ๆ มาไม่เท่ากันคนที่ตัดอะไรได้เร็ว ความเครียดน้อย ความอดทนสูงก็จะปฏิบัติได้อุปสรรคน้อยกว่าคนที่แบกรับความเครียดไว้มาก หรือปรับตัวได้ยาก แต่ทุกคนก็ต้องขยันปฏิบัติเหมือนกันทุกคน

วันนี้พระอาจารย์ให้ปฏิบัติเดี่ยว ช่วงเช้าเราเลยไปที่ลานดิน ตรงใกล้ ๆ กุฎิ



ทำได้ 2 ชั่วโมงติดกัน ไม่ง่วง แล้วก็รู้สึกสบายดี เดินครึ่งชั่วโมง นั่งครึ่งชั่วโมงแล้วก็เดินต่ออีก 1 ชั่วโมง ปฏิบัติได้ดีขึ้น เดินซะส่วนใหญ่ เพราะนั่งแล้วไม่เมื่อยก็ง่วง ต้องเปลี่ยนท่าทุกสิบนาที พยายามทำโยคะ บ่อยเท่าที่ทำได้ เพราะว่ามันช่วยคลายความปวดหลังจากการเดินได้ดีจริง ๆ

พอตกบ่าย เดิน ๆ อยู่เกิดอาการง่วง เลยเกิดความคิดอันชั่วร้าย เดินขึ้นไปบนหอไตรกะแอบหลับ ขึ้นไปแล้วก็เห็นประตูปิดอยู่



มีป้ายติดอยู่ 1 อัน หน้าตาเป็นเช่นนี้



ขยายความกันให้ชัด ๆ บนป้ายเขียนว่า "15 ฝึกฝน ฝึกฝืน"
ฝึกฝน
ตื่นแต่เช้า ตี 3.45 น.
เร้าความรู้สึกตัวเมื่อตื่น
จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ
ตากผ้าให้เป็นระเบียบ
ดับไฟฟ้า
พูดน้อย ๆ พูดเบา ๆ
เก็บขยะรอบที่พัก

ฝึกฝืน
ทนฝืนง่วง
ทนฝืนความซึมเซา
ทนฝืนขี้เกียจ
ทนฝืนขี้เกียจ (ทำไมซ้ำหว่า)
ทนฝืนความเผอเรอมักง่าย
ทนฝืนอารมณ์ที่สนุก
ทนฝืนความเผอเรอมักง่าย (อ้าวนี่ก็ซ้ำ)

เป็นไงล่ะ เห็นป้ายปุ๊บเหมือนแม่นาคโดนข้าวสารเสก หงายกลับลงไปตั้งหน้าตั้งตาเดินจงกรมต่อ พอลงมาเห็นพี่เล้งหน้าตาตื่นเดินเข้าหอไตรมา แล้วพี่ๆ ก็ซุบซิบ ๆ กัน เราก็ทำหูบาน พยายามฟังเต็มที่ แต่ไม่ได้ยิน ทนไม่ไหวเลยขอเข้าไปแจมด้วย (ด้วยความเจือก) ปรากฎว่าพี่เล้งหลงป่า เพิ่งจะหลุดออกมาได้ ตั้งแต่เช้า เพราะว่าพี่ ๆ เค้าพากันไปเดินในป่าไผ่ แล้วพี่เล้งก็ไม่ได้ออกมาจากป่าด้วย พี่โก้งก็เลยออกไปตามหา แต่พี่เล้งมาถึงหอไตรก่อน พี่โก้งยังไม่กลับมาทุกคนก็เป็นห่วงกลัวพี่เค้าจะหลงป่าไปอีกคน แต่จริง ๆ แล้วที่วัดนี้ถ้าดูแผนที่จะพบว่าขอให้เดินจนหากำแพงให้เจอแล้วเกาะแนวกำแพงไปเรื่อย ๆ ก็ลงมาได้เอง แต่อาจจะนานหน่อย เพราะกำแพงวัดยาวมากอย่างที่บอกไปเมื่อตอนต้น

ตกเย็น พระอาจารย์ให้แก้ง่วงโดยเดินเป็นคนง่อย แล้วก็ไปทำวัตร ตอนฟังธรรมง่วงมาก ฟังธรรมทีไรง่วงทุกที ตาจะปิด แล้วก็เห็นหิ่งห้อยบินเข้ามาในศาลา เราก็เลยคิดว่า เออ ฝนมันเพิ่งหยุดตกไปเมื่อตอนบ่าย เดี๋ยวไปสระบัวดูหิ่งห้อยดีกว่า นั่งถูนิ้วสร้างความรู้สึกไปเรื่อย ๆ ก็นึกถึงหิ่งห้อยแล้วก็คิดว่าไปคนเดียวจะเป็นไรมั๊ยน๊อ ชวนไอ้น้องดี้ไปด้วยดีกว่ามันชอบถ่ายรูป เผื่อจะได้ถ่ายหิ่งห้อยสวย ๆ พอคิดได้เท่านั้นแหละ หัวมันโล่งวาบ แล้วก็ตาสว่างขึ้นมาทันที นั่งตาแป๋วตั้งใจฟังธรรมจนจบ

พอตอนค่ำก็มารวมกันอีกครั้ง เราแอบไปกระซิบบอกน้องดี้ ว่าเดี๋ยวไปดูหิ่งห้อยกัน น้องดี้ทำตาโต “มีจริงๆ เหรอพี่” มีดิ๊ ฝนมันเพิ่งหยุดตก ตามความน่าจะเป็นแล้วมีน่าจะมีหิ่งห้อย เพราะคราวที่แล้วที่เรามาวัดนี้ก็เห็นหิ่งห้อยอยู่บนสระบัว สวยทีเดียว แล้วก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติ เสร็จแล้วก็มารวมตัวกัน พี่เล้งถามถึงเรื่องมีคนที่ทำวิปัสนาแล้วเกิดเป็นบ้าบ้างหรือไม่ พระอาจารย์บอกว่าถ้าวางจิตถูกไม่บ้าแน่นอน ถ้าคร่ำเคร่งเกินไปก็อาจจะบ้าได้ “จะว่าไป ก็เคยมีคนนึงนะ หน้าคล้าย ๆ โยมนี่แหละ เค้าปลีกวิเวกอยู่คนเดียว เพื่อนก็เลยไม่ยุ่งด้วย จนวันนึงไปนั่งตรงสระบัว ฝนมันจะตก เพื่อน ๆ ก็เข้าไปช่วยกันฉุดเข้ามา บอกว่ากลับเหอะ ฝนจะตกแล้ว เค้าว่าไงรู้มั๊ย หันมาตาขวาง แล้วบอกว่า มาร ไปซะอย่ามาผจญ!” พวกเราก็ขำกันกลิ้ง พระอาจารย์บอกว่า อ้าว เรื่องจริงนะนี่ ถามหมอสิ แล้วก็ชี้ไปที่หมอท่านนึง ซึ่งเผอิญอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หมอบอกว่าเค้าเป็นคนพาพี่คนนั้นไปหาหมอเอง แล้วก็ฌลยไปถึงเรื่องหมออีกคนนึง พระอาจารย์เรียกหมอเห็ด เพราะวัน ๆ เอาแต่เก็บเห็ด ไม่ปฏิบัติ พระอาจารย์เลยบอกว่าให้ไปเก็บเห็ดแล้วกัน คำว่าเห็ดในคืนนี้เป็นคำว่าเห็ดคำแรกที่เราได้ยินในวัดนี้ และก็ไม่ได้คาดคิดว่า เราจะได้ยินคำว่าเห็ดอีกอย่างมากมายในวันต่อ ๆ ไป

ซักพักพระอาจารย์ก็ให้จับคู่ คู่ของเราคือพี่จิ๋ม ซึ่งอาเจียนไปเมื่อวาน ตอนนี้นั่งพิงเสาดมยาดม เพราะว่าป่วย พระอาจารย์ก็เรียกมา “โยมมานี่ มา ไม่สบายก็ไม่เป็นไร” พี่จิ๋มก็เดินมาแบบหมดสภาพ “โยม ถ้าหากว่าโยมป่วยตายนี่นะ อาตมาจะสวดศพให้ฟรีเลย” หมอกำพลก็เสริมว่า “จะซื้อโลงให้ด้วย” พี่จิ๋มเลยบอกว่า “โอ๊ย งั้นรีบตายมันวันนนี้พรุ่งนี้เลยค่า” แล้วพระอาจารย์ก็ให้พวกเราจับคู่ ให้คนนึงหันหลังให้อีกคนนึง แล้วผลัดกันนวด พระอาจารย์บอกว่าแต่ละคนก็เดินกันมาวันละหลายชั่วโมงเป็นเวลาสามวันแล้วคงจะเมื่อย นวดแล้วสบายจัง

และแล้วก็ได้เวลาไปดูหิ่งห้อย เราชวนพี่นิดไปด้วย (จริง ๆ แล้วเพิ่งมารู้ชื่อพี่เค้าวันนี้แหละ เพราะว่าไม่เคยได้คุยกันเลย เราไม่กล้าชวนใครคุยเพราะไม่อยากรบกวนการปฏิบัติของเค้า) เดินกันไปสี่คน มีเรา พี่นิด พี่เล้ง น้องดี้ พี่เล้งไปด้วยเพราะบ้านอยู่ริมบึงนั่นเอง เดินไปคุยไปสนุกสนาน จนถึงริมบึง ปรากฎว่าไม่มีหิ่งห้อย มีอยู่ไม่กี่ตัวเกาะอยู่บนต้นไม้ เราก็ว้าเสียดาย ทุกคนก็เสียดาย แต่ก็คุยกันสนุกดี แล้วก็แยกย้ายกันกลับที่พัก เราก็บอกพี่นิดว่า ถ้าไม่ได้ชวนคุยก็อย่าว่ากันนะคะ พี่เค้าก็บอกว่าไม่เป็นไร




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 19 กันยายน 2549 18:04:26 น.
Counter : 528 Pageviews.  

1  2  
 
 

แบ๊น แบน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ในบลอกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิดไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบ หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความและรูปภาพใน blog แห่งนี้ไปใช้เผยแพร่และอ้างอิงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด

[Add แบ๊น แบน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com