Notsuke Peninsula คาบสมุทรโนะซึตเกะ

เดินทางออกจากเมืองนะคะชิเบ็ตสึ (Nakashibetsu) หลังจากอิ่มข้าวมื้อเที่ยง

เป็นการขับรถตรงดิ่งไปฝั่งตะวันออกของเกาะฮอกไกโด
Notsuke Peninsula Nature คือคาบสมุทรที่ยาวถึง 26 กิโลเมตร ในช่วงฤดูร้อนเราจะเห็นหาดทรายแยกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สามารถมองเห็นทะเล Okhotsk ทะเลโอค็อตสค์ ได้
นี่คือเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติชิเรโตโกะ (Shiratoko National Park)


หลงใหลกับทิวเขาที่มีหิมะคลุมยอดเขาแบบนี้จริง ๆ ..
มองไปอีกทางมีเกาะ Kunashiri ซึ่งมองเห็นเป็นสีดำ ๆ ..


เกาะนี้เดิมเป็นของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเสียดินแดนให้แก่รัสเซีย ในกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล หมู่เกาะคูริลเป็นกลุ่มเกาะที่วางตัวระหว่างเกาะฮกไกโดของญี่ปุ่นกับคาบสมุทรคัมชัตคาของรัสเซีย
หมู่เกาะนี้แยกทะเลโอค็อตสค์จากมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะที่สามารถมองเห็นได้จากชายฝั่งทะเล ฝั่งคาบสมุทรโนสึเกะ คือ เกาะคูนาชีริ ซึ่งจะเห็นแค่หางเกาะทางตอนใต้


การเดินทางไปคาบสมุทรโนสึเกะ สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์ จนถึง ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติ Notsuke Peninsula Nature Center
คาบสมุทรแห่งนี้เป็นที่นิยมของบรรดาช่างภาพแนวสัตว์โลก .. เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
ไม่ว่าจะเป็นกวางเอโซะซึ่งมีโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่กว่ากวางทั่วไปที่พบในญี่ปุ่น หรือจิ้งจอกแดง เป็นต้น
เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สัตว์ต่างๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ


ภาพกวางป่ากับแสงสีส้มของตะวันตกดิน .. เป็นที่ปรารถนาของบรรดาช่างภาพ
เรามาตอนบ่าย ๆ ที่ฟ้าหลัว ๆ .. ก็ได้ภาพแบบนี้ แต่น้องกวางน่ารัก โดยเฉพาะตรงก้นมีขนฟู สีขาวเป็นก้อนคล้ายรูปหัวใจ
เวลากวางตื่นมอง .. สายตาจะบ้องแบ๊ว ดูไร้เดียงสามาก เค้าไม่ได้ตื่นกลัวกระเจิงในทันที แต่จะจ้องมองเราก่อน ด้วยสายตาใส ๆ ก่อนจะหันก้นให้แล้ววิ่งหนีไป



เราไปเดินหาน้องกวางที่ Todawara พื้นที่ศึกษาธรรมชาติ มีทางเดินลงไปสู่ทางไม้ ที่ยื่นยาวเข้าไปในคาบสมุทรโนสึเกะ ..

จุดเริ่มต้นเดิน เริ่มจากศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติแห่งนี้


ทางเดินไปสู่สันดอนทรายที่ยื่นไปสู่บริเวณน้ำลึกของช่องแคบเนมุโระ มีระบบนิเวศน์ที่โดดเด่น ทั้ง พืช นกป่า และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล

ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หิมะเพิ่งละลายแบบนี้ จะพบเจอเจ้าต้นนี้มากที่สุด อย่าเผลอเอามือไปรูดต้น นะคะ หนามทั้งนั้น เดินตามทางเดินที่มีให้ดีที่สุด ไม่เหยียบหนาม

อุนจิน้องกวาง .. นึกว่าจะได้เจอใกล้ ๆ .. น้องฉลาดกว่าที่เราคิด ที่นี่แดดร้อน รังสีจ้า น้องไปนอนหลบแดดอยู่อีกริมฝั่งโน่น... หลอกให้เรามองหาคอแทบเคล็ด

ดอกไม้ป่าท้องถิ่นของฮอกไกโด Corydalus ambigua สกุล Papaveraceae ไม้ดอก ออกดอกเร็วที่โผล่มาตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ เป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของยา tetrahydropalmatine --> neurotransmitter stabilizers
ชาวไอนุใช้เป็นส่วนหนึ่งในอาหาร ปรุงใส่น้ำมันแมวน้ำ
มีดอกสีฟ้าด้วย

ดอกไม้อื่น ๆ หมื่นแสน ถูกปักป้ายเอาไว้ให้ศึกษา แต่อ่านไม่ออกค่ะ ช่วงนี้ยังบานน้อยชนิด เพราะเพิ่งต้นฤดู



สุดทางทรายก็เริ่มเป็นป่าชายเลน มุ่งสู่ทะเลน้ำลึกเพิ่มขึ้น

มีสะพานไม้ โครงเหล็กให้เดินแบบสบาย ๆ .. เดินไปไหน เดินไปทำไม
เดินไปสุดสะพานคือที่ขึ้นเรือไปชมแมวน้ำอุ๋ง ๆ ... ตอนนี้น้ำลด เรือไม่มา แมวน้ำยังไม่มี
ดูอาหารของแมวน้ำไปก่อนนะคะ .. สาหร่ายทะเล

สาหร่ายตอนบน ๆ ที่ตายกองกันอยู่

ตรงนี้เริ่มม่ีน้ำ ไม่รู้ตอนมีชีวิตอยู่ เป็นแบบนี้รึเปล่า

ตากล้องผู้มีบ้องข้าวหลาม ก็ยิงภาพกันอย่างเมามัน

ไม่มีกวางให้ยิง ก็ยิงคนค่ะ ..

ยิงไปฝั่งทะเลตะวันออกสุดบ้าง ได้แค่นี้ค่ะ กล้องตัวเองเทเลนิดเดียว
ไม่ได้อยู่รอแสงทองอาบเขากวางหรอกนะคะ เพราะว่าเราต้องไปให้ถึงเมืองระอุสุ (Rausu) อันเป็นที่พักค่ำคืนนี้ของเรา ตอนนี้ ฤทธิ์การตื่นตี 2 เริ่มทำพิษแล้วค่ะ ลืมตาไม่ขึ้น

น้องคิสึเนะ Kitsune สุนัขจิ้งจอก.. จ็อกกิ้งริมทะเล .. มาใกล้ ๆ หน่อยค่า..

นกอินทรีย์ที่ยิงได้จากกล้องเทเลอันน้อยนิดของเรา ...

เดินทางมุ่งไปทางเหนือ เพื่อไป ระอุสุ (Rausu) ค่ะ เลียบชายทะเลไปเรื่อย ๆ .. ซ้ายเป็นภูเขา ขวาตกทะเล บ้านเรือนผู้คนก็แทรก ๆ ไปริม ๆ ขอบ ๆ ภูเขาบ้าง ทะเลบ้าง ห่าง ๆ แบบห่วง ๆ

ในที่สุดก็เผลอหลับค่ะ ลืมตามาอีกที เขาชิเรโตโกะอยู่เบื้องหน้า กดชัตเตอร์รัว ๆ
น้องอ้น หัวเราะก๊าก .. หลับ ๆ อยู่ แล้วเด้งมายิงกล้องรัว ๆ ทียิงกวางล่ะ ไม่เคยทันสักที



ไปต่อค่ะ ถึง ระอุสุ เมื่อไรแล้วจะบอก
ตอนที่ 1 เก็บแสงยามเย็นที่ทะเลสาบคุชชะโระ Kussharo Lake
ตอนที่ 2 ตะวันตื่นที่ Mashu Lake
ตอนที่ 3 นะคะชิเบ็ตสึ Nakashibetsu เมืองนี้มีดีหลายอย่าง
ตอนที่ 5 Rausu ระอุสุ ... ประตูสู่อุทยานแห่งชาติชิเระโตโกะ Shiratoko National Park
ตอนที่ 6 อยากไปต้องได้ไป Shiretoko National Park
Create Date : 01 มิถุนายน 2566 |
Last Update : 9 กันยายน 2566 20:01:15 น. |
|
0 comments
|
Counter : 678 Pageviews. |
 |
|