นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ เม สะระนัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน (สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา)

เป็นกันไหม อ่านเยอะ ความเห็นแยะ ทำให้ลังเลสงสัยว่าควรถือศีลไหม

มีคำถามน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องศีล
ซึ่งเป็นคำถามจากบุคคลเดียวกัน เรามีไปส่องช่องยูทูปช่องนึง ที่ผู้สอนมีการสอนชี้นำเรื่องศีลแปลกๆ และประกอบกับช่องอื่นบางช่องก็มีการชี้นำว่าการถือศีลเป็นการยึดมั่นถือมั่น เพราะคิดว่าตนเหนือกว่าคนอื่น และเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ... เราเลยคิดว่าหลายคนอ่านอะไรอย่างนี้แล้วก็จะเกิดลังเลสงสัยเอาได้ แล้วก็เลยไม่กล้าที่จะถือศีล เราจึงนำคำตอบที่ไปตอบในยูทูปช่องนั้นมาลงไว้ในบล็อคเราด้วย จะได้ช่วยในการตัดสินใจค่ะ

คำถาม
📌คือยังต้องคอยระวังใช่มั้ยครับ ผมได้ฟังบางคลิปที่อ.บรรยายพอจะเข้าใจได้ว่าการปฏิบัติต้องเป็นโดยอัตโนมัติโดยอิงความเข้าใจในธรรมชาติเสียก่อน

📌เรื่องศีลนี่ผมฟังจากหลายแหล่งมีข้อสงสัยคือพระอริยะฯท่านมีศีลครบถ้วนก่อนการบรรลุธรรมหรือบรรลุธรรมพอดีกับการมีศีลครบถ้วน? ซึ่งน่าจะมีศีลครบถ้วนโดยอัตโนมัติก่อนเหมือนคนอ่านออกเขียนได้จนชำนาญจึงค่อยทำข้อสอบไม่ใช่มาฝึกหัดเขียนไปด้วยสอบไปด้วย และมีขั้นตอนใดที่ทำให้เกิดศีลสมบูรณ์โดยไม่ต้องระวังก่อนการบรรลุธรรม?...ผมเคยถามหลายๆท่านแต่ยังไม่มีคำตอบที่ทำให้ผมหายสงสัย

และนี่เป็นคำตอบที่ได้ไปตอบไว้

เรื่องศีลเวลาที่รักษาไปนานๆโดยไม่ขาดตกบกพร่องเลย จะเรียกว่ามันเป็นปกติก็ได้ คือมันไม่ใช่ต้องใช้ความพยายามมากเท่ากับครั้งแรกๆ อย่างถ้ายุงกัดปกติแล้วชอบที่จะตบ ปล่อยไปไม่ได้ ติดใจอยากฆ่ามันที่มาดูดเลือด ทั้งๆที่มันเป็นเลือดปริมาณเล็กน้อยมากๆ แต่เมื่อรักษาศีลข้อนี้ เมื่อยุงกัดแรกๆอาจจะยังระลึกไม่ทัน เผลอตบทุกครั้ง แล้วนึกโทษตัวเองที่จำไม่ได้ หรือรู้สึกผิดที่ผิดศีลไปครั้งนี้ แต่พอรู้ตัวว่าลืม มันจะเกิดการระวังมากขึ้น 

📍หรือบางทีไม่ลืมแต่มันอยากจะฆ่ามากเพราะกินเลือดซะพุงป่อง บินอืดๆ แล้วไปเกาะกำแพง อยากเอามือไปบี้สุดๆ แรกๆอาจขอตัวเองว่าฆ่าอีกครั้งเดียวพอ เดี๋ยวครั้งหน้าจะไม่ฆ่าแล้ว อะไรก็ว่าไป 

📍แต่บางคนเมื่อตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ฆ่าก็อาจระลึกได้ตั้งแต่ครั้งแรก ถึงจะอยากฆ่ามากๆ แต่อาจคิดเรื่องการละอายต่อบาป หรือบางคนไม่ต้องนึกอะไร ตั้งใจไม่ฆ่าก็ทำตามสัจจะที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่ ก็จบ ไม่มาคิดเสียดายที่ไม่ได้ฆ่า

📍หรือเห็นยุงกัดลูกตัวเองที่นอนหลับอยู่จนเลือดเต็ม ก็โกรธแค้นแต่ยังอดทนได้ นึกแผ่เมตตาว่ายุงมันก็รักชีวิตมันเหมือนกัน มากินเลือดลูกรักเราแต่ความผิดมันถึงตายจริงหรือ แล้วก็ให้อภัยได้ เลยปล่อยไป อะไรประมาณนี้

ใดๆก็ตาม การอยากที่จะฆ่า แล้วงดการฆ่าได้ ด้วยมีสติระลึกได้ว่าตั้งใจว่าจะไม่ทำ ในกรณีที่มีอารมณ์หรือความคิดพาไป แต่ไม่ทำตามจิตที่แล่นอยากจะทำให้ได้นั้น เมื่อปล่อยยุงไปแล้ว #สิ่งที่เกิดขึ้นคือความจางคลายและหายไปของอารมณ์และความรู้สึกนั้น   บางคนก็สังเกตและเรียนรู้ได้เร็วในเวลาต่อมาว่ามันก็เกิดดับนะของพวกนี้ และรู้สึกว่าเป็นอิสระจากอำนาจกิเลส คือทางเลือกมี ไม่ต้องทำตามกิเลสก็ได้ หรือบางคนฝึกสติปัฏฐานในชีวิตประจำด้วยอยู่แล้ว ก็อาจจะทันเห็นการเกิดดับของอารมณ์และความคิดได้ ก็เป็นการวิปัสสนา หรือบางคนความคิดหรืออารมณ์กำลังจะผุดขึ้นมาแล้วเห็นทัน มันก็ดับไปเลยก็มี ก็เลยมีปัญญาเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของขันธ์ 

เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆในตัวอย่างทั้ง 2 กรณี จิตจะเรียนรู้เกี่ยวกับไตรลักษณ์ ถึงแม้คนนั้นอาจจะไม่ทราบเรื่องนี้ แต่จิตก็เรียนรู้จากประสบการณ์อยู่ ต่อไปเมื่อเกิดยุงกัดจิตก็ปล่อยวางอารมณ์และควาคิดได้เร็ว หรือในบางคนจิตก็ไม่หยิบอารมณ์อะไรมาเป็นสาระ ก็ไม่ต้องมีการวาง ศีลสำเร็จที่จิต

แล้วพวกนี้เกิดขึ้นได้ก่อนบรรลุเป็นโสดาบัน เรียกว่าทำได้เป็นปกติก็ได้ แต่ในพระอริยะเจ้า การตัดสังโยชน์ในเรื่องสักกายทิฏฐิ จิตจะไม่มีอุปาทานในขันธ์5 เพราะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในธรรมชาติตน #เมื่อจิตเห็นความจริงมันเป็นขั้นปัญญาตัดกิเลส #จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเรา #ศีลเหล่านั้นก็เป็นอัตโนมัติ จิตไม่เอาการฆ่าด้วยมีปัญญา อารมณ์หรือความคิดนั้นมันไม่มี ไม่มีทางเกิดขึ้น มันจะฆ่าเพื่อตัวตนของใคร? จิตไม่มีสีลัพพตปรามาสที่ยึดศีลเป็นอัตตา เป็นมานะ เมื่อโสดาบันมีปัญญาเห็นตามจริง วิจิกิจฉาก็ไม่เหลือ

จริงๆสร้างเหตุไว้มากๆ จะศีลปกติหรืออัตโนมัติมันเกิดขึ้นจากการสร้างเหตุนั้นเอง มันเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถ้าไปกังวลหรือยึดว่าต้องอย่างนี้อย่างนั้น หรือติดอยากรู้ไม่หาย ก็คือวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ..ครบ
.




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2566   
Last Update : 20 ธันวาคม 2566 21:59:06 น.   
Counter : 246 Pageviews.  

การอธิบายอนัตตาในแบบที่ไม่ถูกต้อง

 ข้าพเจ้าได้นำเรื่องนี้ไปเขียนลงในห้องศาสนามาแล้ว และนำมาลงไว้ในบล็อกนี้ด้วยเพื่อเป็นการแจ้งเตือนสำหรับผู้ที่ศึกษาศาสนาพุทธ ให้ระวังการแปลและอธิบายคำว่าอนัตตาไปในทางที่ไม่ตรงกับศาสนาพุทธ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิดเพี้ยนไป 

นาทีที่ 55.02

ผู้บรรยาย เพราะฉะนั้นนะคะ ธรรมะมี 2 อย่างที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะหลากหลายมากมายซักเท่าไหร่ก็ตามนะคะ มีจัดตามประเภทของธรรมะนั้นแล้ว ธรรมะที่เกิดขึ้นแต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างแข็ง เกิดเป็นแข็ง ไม่รู้อะไร กลิ่นเกิดเป็นกลิ่นไม่รู้อะไร เสียงเกิดไหมคะ เป็นเสียงเท่านั้นเป็นอื่นไม่ได้เลย รู้อะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมะใดก็ตามที่เกิดขึ้นนะคะ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกว่า รูปะ เป็นธรรมะที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เวลาได้ยินคำว่ารูปธรรม ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่เกิด ปรากฎให้รู้ว่ามี แต่สิ่งนั้นไม่ใช่สภาพรู้  ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เดี๋ยวนี้มีไหมคะ เดี๋ยวนี้มีธรรมะไหมคะ มี เดี๋ยวนี้มีรูปธรรมไหมคะ มี

เนี๊ยะค่ะ ก็คือเดี๋ยวนี้มีทั้งหมด ให้เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงความจริงที่มีกับทุกคนในขณะที่ฟัง ให้เข้าใจความจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะแต่ละอย่าง แต่ว่าลองคิดดูนะคะ ถ้าไม่มีสภาพธรรมะอีกชนิดหนึ่ง ธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆปรากฎไม่ได้เลย

เพียงแค่หลับตานะคะ ดอกไม้หรือคน ทุกสิ่งทุกอย่างในห้องนี้ ไม่มีเลย หายไปไหน แค่หลับตาไม่มีแล้ว จริงหรือเปล่า จริงต้องจริงค่ะ เพราะฉะนั้น เห็นดับ และเห็นเป็นสภาพที่รู้ว่า ทันทีที่เห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น จะมีเห็นโดยไม่มีสิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้ไหมคะ ไม่ได้ นะคะ เพราะฉะนั้น เห็นเมื่อไหร่ สนใจสิ่งที่ปรากฎให้เห็น อย่าลืมว่าต้องมีธาตุรู้ที่กำลังเห็น สองอย่างต่างกัน ถูกต้องไหมคะ เดี๋ยวนี้เอง

(จขกท. ตรงนี้ไม่ใช่หายไปไหนค่ะ มันคือการไม่รับรู้ค่ะ แต่ท่านบอกมันหายไป หลับตาแล้วไม่มีแล้ว)

เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น แต่ไม่มีเห็น ไม่มีธาตุรู้ สิ่งที่ปรากฎในขณะนี้ก็ปรากฎไม่ได้ว่ามี จะมีไม่ได้เลย แค่เพียงหลับตาไม่เห็น ก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฎทางตาเป็นธรรมะที่มีจริงหนึ่ง เห็นที่กำลังเห็นก็กำลังเป็นธรรมะที่มีจริงหนึ่ง นะคะ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นสภาพรู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฎให้เห็นเดี๋ยวนี้ และสภาพที่ปรากฎให้เห็นไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าถูกเห็น ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีสภาพธรรมะที่เกิดแต่ไม่รู้อะไรเป็นรูป แต่รูปธรรมก็ปรากฎว่ามีไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรมเกิดขึ้น

(จขกท. ข้างบนนี้ยิ่งชัดเจนค่ะว่าท่านบอกว่า ไม่มี และท่านไม่ได้บอกว่าไม่มีการรับรู้)

เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ นะคะ มีธรรมะ และก็มีธรรมะที่เป็นรูปธรรม และมีธรรมะซึ่งเป็นนามธรรม ที่เราใช้คำว่าจิตหรือใจ นะคะ เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพรู้และใครก็มองไม่เห็นจิตเลย เพราะจิตไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่แดง ไม่เขียว ไม่หวาน ไม่ขม ไม่มีรูปใดๆเจือปนเลยนะคะ เป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้ มองเห็นจิตไหมคะ ใครก็ไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์หรือใครที่เก่งกล้าสามารถปานใดก็ไม่มีใครเห็นจิตได้ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง จิตมีจริง ธาตุรู้มีจริง เห็นก็คือธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็น ได้ยินก็เป็นธาตุรู้ซึ่งกำลังได้ยินเสียง คิดก็เป็นธาตุคิดที่กำลังรู้เรื่อง จำก็เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังจำ เพราะฉะนั้นธาตุรู้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้คำว่า นามะ หรือ นามธรรม แต่คำว่านามก็มีความหมายหลายอย่างนะคะ แต่ในขั้นต้นให้รู้ว่า สภาพธรรมะที่มีจริงนะคะ มีสองอย่าง ประเภทหนึ่งไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม แต่จะปรากฎว่ามีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นที่ถามกันว่าจิตกับใจ ก็เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่เรา ถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีเรา แต่เพราะมีจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็เข้าใจว่าเราเห็นบ้าง เราได้ยินบ้าง เราคิด เราจำ ทั้งหมด พอที่จะเห็นประเภทที่ต่างกันของสภาพธรรมะที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ไหมคะ เดี๋ยวนี้เลย ศึกษาธรรมะไม่ใช่ศึกษาที่อื่นนะคะขณะอื่น แต่ศึกษาในขณะที่เดี๋ยวนั้นกำลังมีให้รู้ ให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นไม่ใช่อ่านตำราแล้วก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฎ และไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมะเพียงแต่จำและรู้เรื่องธรรมะ แต่ศึกษาคือเดี๋ยวนี้มีธรรมะอย่างนี้ ได้ฟังอย่างนี้ ศึกษาคือเริ่มเข้าใจอย่างนี้ จนกว่าเข้าใจจนกระจ่างแจ้งได้ ก็เป็นที่สุดของการศึกษาเพราะว่าได้ตรัสรู้สิ่งนั้นแล้ว

เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่ง เริ่มเข้าใจนะคะ มีบ้างไหมคะ มีบ้างไหม ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่น่ะค่ะ มีบ้างไหมคะ เห็นไหมคะ จะพูดคำที่รู้จัก หรือจะพูดคำที่ไม่รู้จัก มีบ้างไหม ตอบสิคะ มีไหมคะ มีหรือไม่มีคะ มีใช่ไหมคะ ทุกคนมีใช่ไหมคะ เมื่อไหร่คะ มีเมื่อไหร่ เมื่อคิด เมื่อจำ เดี๋ยวนี้เห็นดอกไม้เป็นบ้านหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นไม่มีบ้านในดอกไม้ ไม่มีบ้านในเสียง แต่มีบ้านในขณะที่จำและคิดถึงสิ่งที่จำไว้ ธรรมะละเอียดอย่างนี้ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลส ดับความไม่รู้ นอกจากจะรู้จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการเข้าใจพระธรรม




 

Create Date : 02 มกราคม 2566   
Last Update : 8 ธันวาคม 2566 15:22:35 น.   
Counter : 59 Pageviews.  

ประเทศอริยเจ้า (ผู้เอาแต่ใจ)

 ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนผิด ไม่ได้กำลังจะกล่าวถึง ประเภทของอริยบุคคล แต่จะกล่าวถึงคนบางกลุ่มที่มีการพยายามทำให้เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นอริยะ เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างซึ่งเมื่ออ่านต่อไปแล้วท่านจะสามารถพิจารณาได้เองว่าที่ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาเขียนนั้นจริงเท็จอย่างไร

 ในเมื่อท่านเป็นคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ แทบทุกคนคงจะเคยได้ยินคำว่า อริยสัจ๔ กันอยู่แล้ว และพระอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่าพระพุทธองค์ทรงให้เราถืออริยสัจ๔ เป็นสรณะ โดยให้ยกขึ้นมาพิจารณา ยกขึ้นมาสังเกตุ ยกขึ้นมาเพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เกิดขึ้น และทรงตรัสไว้ว่า ใครคิดว่าจะสามารถดับทุกข์ได้ หรือจะอยู่อย่างผู้ปราศจากทุกข์ได้ โดยไม่นำอริยสัจ๔ มาพิจารณาหรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องอาศัยอริยสัจ๔ เป็นฐานในการดำเนินชีวิต และใช้ในการฝึกหัดตนเองเพื่อออกจากทุกข์ให้ได้ เพื่อจะได้อยู่อย่างคนที่มีที่พึ่ง มีสรณะในตนเอง ซึ่งหากสำนักไหนหรือที่ไหนๆสอนนอกอริยสัจ๔ ก็เป็นอันรู้ได้ว่า นั่นไม่ใช่พุทธศาสนา (อ้างอิง พระอาจารย์สปันโน)

 แล้วหากบุคคลหรือคนกลุ่มใดที่กำลังบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว แต่เราเห็นว่ามีการแต่งตั้งตนเป็นผู้รอบรู้ในพุทธศาสนาและก็มีคนหลงเชื่อตามหรือส่งเสริมให้ท้ายทั้งที่รู้ เราจะสามารถแยกแยะได้อย่างไร คำตอบก็คือให้พิจารณาดูว่าบุคคลเหล่านี้สอนอริยสัจ๔ ว่าอย่างไร

 อริยสัจข้อที่1 คือการกำหนดรู้ทุกข์ คือ ความทุกข์ต่างๆที่เราประสบ รวมทั้งร่างกายจิตใจของเราเองที่ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ชั่วคราว จึงไม่สามารถเรียกว่าเราของเราได้อย่างแท้จริง นี่ก็เป็นทุกข์ เป็นไตรลักษณะที่เป็นความจริง คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เรามีตัณหาอุปาทานว่าเป็นเราเป็นของเรา เราจึงต้องฝึกสติและสมาธิ(มรรค)เพื่อให้เห็นในระดับจิตถึงความไม่เที่ยงของขันธ์5หรือร่างกายจิตใจ ก็จะสามารถถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ได้

 แต่หากมีการแปลคำว่า อนัตตา จากไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มาเป็น ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ไม่มีสิ่งนั้นไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีคน สัตว์ สิ่งของ ไม่มีรูปวัตถุ(นิรัตตา) ก็เป็นการบิดเบือนคำสอน และสร้างความเสียหายหลายประการ อย่างเช่นคลิปนี้ที่มีการสอนอริยสัจ๔ ปนกับนิรัตตา
450


ในคลิปนี้ท่านผู้บรรยายถามไล่เรียงเด็กคนนึงเรื่อง การเห็น การสัมผัสรับรู้ เพื่อให้เห็นว่าไม่มีเราอย่างไร(นิรัตตา) ท่านถามเด็กต่อว่าเคยทุกข์ไหม(ทกุข์ สัจจะข้อ๑) เคยเห็นคนมีทุกข์มากๆแล้วอยากฆ่าตัวตายไหม แล้วมีเรากับไม่มีเราอย่างไหนจะดีกว่ากัน ถามอย่างไร ยกตัวอย่างอย่างไร เด็กก็ตอบว่ามีดีกว่ามั้งคะ (จนท้ายๆเด็กจนมุมเลยต้องตอบว่าไม่มีเราดีกว่า)

ท่านว่า นั่นแหละเพราะอยาก(สมุทัย สัจจะข้อ๒)ที่จะมีเรา ถึงต้องเกิดอีก เกิดแล้วก็ทุกข์อีก
ดังนั้นจึงต้องฟังธรรมะ ฟังของจริงอย่างมีสติ(มรรค สัจจะข้อ๔) สั่งสมปัญญาไปเรื่อยๆเพื่อจะได้เห็นว่าจริงๆแล้วเราไม่มี(นิรัตตา)

ตรงนี้ท่านไม่สอน นิโรธ(สัจจะข้อ3๓) คือ การดับไปของทุกข์ การออกจากวัฏสงสาร ด้วยทางสายกลางคือการเจริญมรรค8 แต่ท่านให้สั่งสมปัญญาเพื่อเข้าใจนิรัตตา ซึ่งเป็นการเข้าไปสุดด้านใดด้านหนึ่ง ก็ทำให้คิดไปได้ว่านิโรธสำหรับท่านคือนิรัตตาหรือไม่ #ถ้าใช่ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาค่ะ

################

 แล้วมันเกี่ยวกับหัวข้อบล็อกนี้อย่างไร ก็ต้องบอกว่ามีคนกล่าวว่าคณะบุคคลในคลิปคืออริยบุคคล และเขาสอนแยกส่วนกันอย่างนี้ คือ สอนปรมัตถ์ธรรม อย่างเดียว ปุถุชนทำใจรับไม่ได้หรือไม่เข้าใจก็ผ่านไปก่อน ประมาณว่าไม่ควรนำสมมุติกลับมาเปรียบเทียบกับปรมัตถ์ ก็ต้องถามกลับว่าสำหรับผู้ที่หลุดจากสมมุติแล้วนั้น ท่านผ่านไปแล้ว ใยไม่ผ่านไปเลย มาข้องเกี่ยวกับสมมุติทำไม มากังวลไปใยว่าสมมุติจะทำให้หลุดจากปรมัตถ์ ก็ในเมื่อพวกท่านปรมัตถ์แล้วท่านจะกังวลทำไมกับสมมุติเล่า ทำไมถึงต้องมาทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ก็ในเมื่อปุถุชนยังไม่ปรมัตถ์ ท่านก็ไม่ต้องไปเร่งไปรีบหรือไปจำกัดให้ปุถุชนเข้าใจจิตของพระอรหันต์ให้ได้ แล้วนำจิตแบบนั้นมาดำเนินชีวิตเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งเป็นการนำผลมาเดินมรรค ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าพวกท่านต้องการให้ศาสนาอื่นมาปนเปกับศาสนาพุทธ จึงอ้างอะไรก็ได้เพื่อนำมาเข้าข้างตัวเอง

 อริยบุคคลและพระอริยบุคคล แม้บรรลุธรรมขั้นต่างๆแล้ว ท่านก็ยังต้องหยิบยืมต้องพึ่งสมมุติจนตลอดชีวิต แต่มีบุคคลกลุ่มนึงจะนำทางปุถุชนไม่ให้พึ่งสมมุติเพื่อความหลุดพ้น จะให้ฟังธรรมะที่บิดเบือนของคณะตนอย่างเดียว ไม่สนับสนุนให้ไปปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ โจมตีเหมารวมคณะสงฆ์องค์เจ้าเพื่อให้พระรัตนตรัยไม่ครบองค์๓ หรือไม่อย่างไร

หรือหากพวกท่านกล้าพูดว่าทำด้วยความหวังดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ ต่อพุทธศาสนิกชนจริงๆ พวกท่านก็คงเป็นเพียงอริยเจ้าผู้เอาแต่ใจ โดยเห็นประโยชน์ตนเป็นใหญ่แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ท่าน(ผู้อื่น) เพราะสำหรับท่านแล้วผู้อื่นก็เป็นเพียงผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอริยเจ้าของท่านเท่านั้น หรือไม่

 พระอาจารย์อีกท่านที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือบอกว่า ถึงแม้คนเรารู้ว่าเหล้าไม่ดียังไง บุหรี่ไม่ดียังไง มีข้อมูลที่วิจัยออกมายังไงบ้าง ก็ตาม แต่เขาก็ยังกินยังสูบ ซึ่งก็มีเหตุผลเดียวคือ ก็เขาอยากกิน เขาอยากสูบ นั่นเอง ซึ่งมีคนบอกว่าคณะนี้เป็นอริยบุคคล ซึ่งก็ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมากๆๆๆ และไม่ว่าใครจะให้ข้อมูลอย่างไร เห็นแย้งอย่างไร พวกเขาก็ยังอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อที่จะทำให้ได้ ข้าพเจ้าก็คงต้องกล่าวว่า ก็พวกเขา อยาก ทำเท่านั่นเอง

ด้วยความเคารพ




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2565   
Last Update : 8 ธันวาคม 2566 15:26:30 น.   
Counter : 413 Pageviews.  


un momento
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




ตัณหา พาสร้างภพ
จิตสงบ พบทางแก้
ขันธ์ห้า มิเที่ยงแท้
เข้ามาแล เข้ามาดู

มีบุญ จึงประสบ
ผู้สงบ อาจารย์ครู
ท่านแนะ ให้ได้รู้
อหังการ มมังการ

มุนินทร์ ผู้ประเสริฐ
ชี้ทางเลิศ เทิดมรรคา
ใครทุกข์ น้อมเข้ามา
จตุสัจจา ภควโต

/ / /
free counters
New Comments
[Add un momento's blog to your web]

MY VIP Friend