นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ เม สะระนัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน (สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา)

อริยสัจข้อที่4 (มัชฌิมาปฏิปทา)



#มัชฌิมาปฏิปทา
ที่ไม่ได้หมายถึงตรงกลาง แต่หมายถึงทางสายกลางที่จะนำเราไปสู่เป้าหมาย
ทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์8
เป้าหมาย คือ ออกจากทุกข์ และพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง (นิพพาน)

หากเราไม่ปฏิบัติอะไรเลย ก็อุปมาดั่งสายพิณที่ขึงไว้หย่อนเกินไป เมื่อเล่นแล้วไม่เกิดเสียงที่น่าฟัง และเมื่อขาดการปฏิบัติก็ทำให้หลงยินดียินร้ายและยึดติดไปกับผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (#เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค)

แต่หากเราปฏิบัติอย่างเข้มงวดเกินไป จนก่อทุกข์ให้กับร่างกายและจิตใจ เกิดเสียงานเสียการ และมีปัญหากับคนในครอบครัวและคนอื่นๆ ก็อุปมาดั่งสายพิณที่ถูกขึงจนตึงเกินไป เล่นแล้วทำให้สายขาด (#เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค)

ส่วนการปฏิบัติที่ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์8(*) หรือ #มัชฌิมาปฏิปทา อุปมาดั่งการขึงสายพิณอย่างพอดี เล่นแล้วไพเราะเสนาะโสต.. ซึ่งก็คือการสร้างเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกัน ที่จะสืบทอดต่อไปจนถึงเป้าหมายแห่งการพ้นทุกข์(**)เมื่อปฏิบัติตามแนวทางนี้ จะทำให้ไม่เอียงเข้าไปในส่วนสุดทั้งสอง และเมื่อมีสมดุลเกิดขึ้นทุกข์ก็ดับ(***) ไปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยการหมดซึ่งเหตุปัจจัย(****) นั่นเอง 

..............................
ขยายความข้อความที่กำกับด้วยดอกจันทร์
@อริยมรรคมีองค์8  ๑. สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาอันเห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (การเจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) ๗. สัมมาสติ (ความรำลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ)
@ทุกข์    เกิด แก่ ตาย การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาที่ไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์(คือการเห็นว่าขันธ์5 เป็นเราเป็นของเรา/ เห็นว่ามีอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้) 
@ทุกข์ดับ   ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ทุกข์จึงดับลงได้ชั่วครั้งชั่วคราวเรื่อยๆ จนถึงการดับทุกข์ในระดับยั่งยืน ด้วยสภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว จึงไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ซึ่งก็คือนิพพาน ไม่เวียนเกิดอีก
@เหตุปัจจัย  คือ ตัณหา 3 มี กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
  




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2566   
Last Update : 8 ธันวาคม 2566 17:31:56 น.   
Counter : 237 Pageviews.  

อินทรีย์สังวร



 เมื่อเดือนก่อนข้าพเจ้าไปกินกาแฟกับน้องสาวที่บาร์แห่งหนึ่ง เห็นรูปปั้นขนาดตั้งโต๊ะนี้อยู่ที่ทางเข้าบาร์จึงได้ถ่ายรูปเก็บไว้.. 

 หลายท่านคงจะเคยเห็นภาพปริศนาธรรมที่เป็นลิงสามตัวที่กำลังปิดตา ปิดหู ปิดปาก อย่างในรูปนี้อยู่แล้ว และที่ข้าพเจ้าได้เคยอ่านข้อมูลในวิกิพีเดียมาก็ได้ทราบว่ารูปแกะสลักลิงสามตัวที่เป็นออริจินัลนั้นอยู่บนประตูศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่น และความหมายของปริศนาธรรมก็ประมาณว่า เป็นการไม่มอง ไม่ฟัง ไม่พูด ในสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ปริศนานี้ก็ถูกมองในแง่อื่นได้ว่าเป็นการไม่รับรู้ การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ได้ด้วยเหมือนกัน...

!!!!!!!!!!!!!!!

 ส่วนในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ธรรมะที่พอจะสอดคล้องกับปริศนาธรรมด้านบนอยู่บ้างก็คงจะเป็นการสำรวมอินทรีย์ ซึ่งก็คือ การระมัดระวังไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายต่อการกระทบที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 แล้วทำไมจะต้องระวัง ก็ขอยกตัวอย่าง เช่น ลิ้นรับรู้รสชาติ ก็สุขก็ชอบก็ยินดีในรสอร่อย อยากกินเรื่อยๆหรือในปริมาณมากแม้บางอย่างไม่ดีต่อสุขภาพ หรือ แม่ค้าทำอาหารออกมาเค็มเกินไป กินแล้วไม่ชอบใจ จึงใช้ปากและลิ้นพูดต่อว่าแม่ค้าด้วยอารมณ์ เมื่อหูแม่ค้าได้ยินก็ใช้ลิ้นด่ากลับเหมือนกัน และแม้เรื่องจะจบไปแล้ว ทั้งลูกค้าและแม่ค้าก็ยังรู้สึกหงุดหงิดอยู่อีกพักใหญ่ เป็นต้น นี่ขนาดเรื่องเล็กๆก็ทำให้คนเราทุกข์ได้ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆเช่นแค่ตาเห็นใครแล้วไม่ชอบหน้าหรือใครพูดไม่เข้าหูก็ถูกยกพวกทำร้ายร่างกายหรือถูกยิงได้ ก็เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ แล้วกี่คนที่ต้องทุกข์กับเรื่องนี้และทุกข์เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่

 แล้วคิดดูค่ะว่าวันนึงๆ มีอะไรเป็นร้อยอย่างพันอย่างที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.. เมื่อได้รับสิ่งที่เจริญหู เจริญตา เจริญใจ เกิดความสุขก็ยินดี และเราก็อยากจะได้รับแต่สิ่งที่ทำให้เกิดสุขเท่านั้นแต่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วพอได้รับสิ่งที่ไม่ตรงกับใจ เราก็ทุกข์ก็ยินร้ายทันที จิตใจก็ว้าวุ่น วุ่นวายอยู่กับอายตนะภายนอกภายใน ทุกวันทุกคืนอย่างนี้ แต่ธรรมะที่ช่วยได้ก็คือการมีสติ คือเมื่อรู้ว่ามีการกระทบไม่ว่าจะเข้ามาทางใด แม้จะเกิดสุขหรือทุกข์ เราก็ระวังไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เพราะเมื่อเกิดความยินดียินร้ายแล้วเราก็หลงใหลบ้าง ทุกข์บ้าง ทำในสิ่งที่เป็นอกุศลบ้าง ขยายออกไปเรื่อยๆ เป็นต้น แต่ในการฝึกแรกๆเราก็จะไม่ทันกิเลสเพราะมันไวกว่ามาก แต่ฝึกตั้งสติบ่อยๆก็จะเริ่มทันได้ค่ะ

 และธรรมะอีกอย่างที่ช่วยได้และสามารถถอนรากถอนโคนความยินดียินร้ายออกไปได้ก็คือ การรู้เห็นอะไรตามความเป็นจริง นั่นก็คือ การฝึกวิปัสสนาจนเห็นระดับจิตว่าร่างกายจิตใจนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา อายตนะก็ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา และเมื่อเห็นก็จะเริ่มสักแต่ว่าเห็นได้ ได้ยินก็เริ่มสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส รับรู้ก็เริ่มสักแต่ว่าค่ะ... 

!!!!!!!!!!!!!!!

 เมื่อไม่นานข้าพเจ้าได้ดูซีรีย์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปโปรด
อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่กำลังจะตาย ป.ล. จริงๆแล้วอนาถบิณทิกเศรษฐี(หรือท่านสุทัตตะ)บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ครั้งเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านสุทัตตะจึงไม่กลัวความตาย แต่ในซีรีย์ก็มีการเสริมเติมแต่งเป็นธรรมดา ก็เลยกลายเป็นว่าท่านสุทัตตะกำลังกลัวความตายและพระพุทธเจ้าจึงไปโปรดท่าน

 ข้าพเจ้าชอบถ้อยคำที่พระพุทธเจ้ากล่าวกับท่านสุทัตตะในซีรีย์มาก จึงขอนำมาแชร์ไว้ในบทความนี้ด้วย เพราะก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย และวันนี้ก็ขอลาไปด้วยคำสอนในซีรีย์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกค่ะ ในซีรีย์พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ท่านเศรษฐีว่าตามดังนี้ค่ะ

 ข้าไม่ใช่แค่ตาคู่นี้ ข้าไม่ใช่แค่หูคู่นี้ ข้าไม่ใช่แค่ลิ้นๆนี้ ข้าไม่ใช่แค่ร่างกายนี้ ข้าไม่ใช่แค่สตินี้

 ข้าไม่ใช่อย่างที่ข้าเห็น ข้าไม่ใช่อย่างที่ข้าได้ยิน ข้าไม่ใช่อย่างที่ข้าได้กลิ่น ข้าไม่ใช่รสสัมผัส ไม่ใช่ความคิด และสิ่งกระตุ้นเร้า

 ข้าไม่ใช่ภาพนี้ ไม่ใช่เสียงนี้ ข้าไม่ใช่กลิ่นนี้ ข้าไม่ใช่ความคิดนี้ ข้าไม่ใช่รสนี้ ข้าไม่ใช่สตินี้ ข้าไม่ใช่ธาตุของโลกนี้ ข้าไม่ใช่ท้องฟ้า ข้าไม่ใช่อากาศ ข้าไมใช่น้ำ ข้าไม่ใช่สติของข้าเช่นกัน ไม่มีธาตุใดรั้งข้าไว้ได้

 ชีวิตและความตายจับข้าไม่ได้ ที่ข้ายิ้มนั้นเพราะข้าไม่ได้เกิด และข้าไม่ได้ตาย ชีวิตไม่ได้ให้กำเนิดข้า และความตายก็พรากชีวิตนี้ไปไม่ได้ ตัวตนของข้าไม่พึ่งพาชีวิต และความตาย ไม่มีทางเป็นไปได้

 

 




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2565   
Last Update : 26 ธันวาคม 2565 5:19:42 น.   
Counter : 756 Pageviews.  

ตม



 

"Two men look out the same prison bars, one sees mud and the other stars"

Frederick Langbridge

"สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็น โคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็น ดาว อยู่พราวพราย"

แปลโดยเจษฏาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (F. Hilaire)

สุภาษิตนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าส่วนใหญ่จะเคยได้ยินกันอยู่แล้ว สมมุติสองคนถกกันเรื่องนึงอยู่แล้วมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วมีคนนึงยกสุภาษิตนี้มาให้ฟัง แล้วอีกฝ่ายฟังเผินๆ บางทีอาจจะแอบคิดว่า แอบด่ากันหรือเปล่าน้อ ก็คงมีบ้าง 

ก็ดูสิ คนนึงมองลอดออกไปตามช่องลูกกรง ถูกเปรียบเปรยว่าเห็น โคลนตม ที่มันช่างดูติดดิน เศร้าสร้อย หม่นหมอง มีแต่ความคิดลบ เสียเหลือเกิน แต่อีกคน กลับถูกชมว่า ช่างมีนัยน์ตาอันแหลมคม จึงได้มองออกไปเบื้องหน้าแล้วเห็น ดวงดาว ที่ทอแสงสุกสกาวอยู่พราวแพรว

ก็การที่ต้องมาอยู่ในห้องคุมขัง ความทุกข์ความทรมานมันก็คงจะมากเกินคำบรรยายอยู่แล้ว แล้วจะมีใครหนอที่จะเห็น ดาว ในสภาวะเยี่ยงนี้ได้ ถ้ามีก็ย่อมที่จะเป็นผู้ที่มีความหวัง มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลังในการคิดบวก แน่ๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุคคลที่หาไม่ง่ายเลยทีเดียว ซึ่งอาจเปรียบได้กับ นักคิด นักวิทย์ นักปราชน์ โหราจารย์ ก็ว่า ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นการตีความในแบบตรงไปตรงมาได้อย่างถูกต้องอย่างหนึ่ง อาจโดยการจินตนาการ หรือเพราะเคยมีประสบการณ์ในลักษณะนี้มาบ้าง

แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆคน ที่อาจจะเคยประสบกับความทุกข์ อย่างหาทางออกไม่ได้เสียที เรื่องนี้ยังไม่ทันจบ เรื่องใหม่ก็มาอีกแล้ว ประเดประดังกันเข้ามา ไม่ว่าจะ เรื่องเรียน เรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย พ่อแม่ ลูก พี่น้อง หรือ เรื่องหมาๆแมวๆ ราวกับชีวิตจะมีแต่กลางคืนอันกล้ำกลืน...

แต่ทว่า แม้กลางคืนก็ใช่ว่าจะเหมือนกันซักคืน แล้วมันก็จะมีคืนใดคืนนึงซิน่า ที่คืนนั้นเป็นคืนจันทร์เพ็ญ และพระจันทร์นวลผ่องก็ค่อยๆเลื่อนพ้นออกมาจากทิวเมฆทึมอย่างช้าๆ แล้วก็ทำให้เราเริ่มจะเพ่งพินิจเห็นความงามที่รัตติกาลอำพรางไว้ และณ.เบื้องหน้านั้น โคลนตมที่เคยดูดำทมึน ที่เราไม่อยากแม้จะเหลียวมอง กลับสะท้อนให้เห็นดวงจันทร์ที่เจิดจรัสสุกสกาวยิ่งกว่าดาวดวงไหนๆ ราวกับว่ากำลังมีพระจันทร์แสนงามสองดวงกำลังอมยิ้มให้กับเรา ยังไงยังงั้น

แน่แล้ว ทุกข์คือธรรมชาติ ทุกข์คือการเปลี่ยนแปลง แปรปรวน และทุกข์นี่แหละที่จะทำให้เราสิ้นไปจากทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง อ่านแล้วคุ้นๆไหม ก็จะมีใครเสียอีกนอกจากท่านผู้นั้นที่ได้บอกสัจจะอันนี้แก่เรา

และใช่แล้วผู้ที่มนสิการโคลนตม ก็คือสมณโคตม (โคตะมะ) องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง โคตม แปลว่า ดวงสุริยาที่มีแสงแห่งพระปัญญาทอรัศมีสว่างไสวทั่วทั้งโลกหล้า ผู้เป็นสรณะอันสูงสุด สรณะอันเกษม ผู้ตรัสรู้ อริยสัจ4 อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท นั่นเอง...

เพิ่มกลอน: แม้นโคลนก็พราวพราย ดาวมีร้ายยามย้ายเรือน หมายความว่า อะไรๆก็ไม่แน่ไม่นอนหรอก สิ่งที่อาจจะธรรมดาสามัญที่สุด อาจดูไร้ค่าที่สุด แต่เราสามารถพบคุณค่าอันมหาศาลจากมันได้ก็ได้ และสิ่งที่ดูเหมือนจะเลิศเลอ ล้ำค่า ที่ให้ความสุขกับเราที่สุด บางครา ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ให้ร้ายหรือให้ทุกข์แก่เราก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านจงมีกำลังใจ และไม่ประมาท ด้วยเทอญ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2565   
Last Update : 1 ธันวาคม 2565 22:05:06 น.   
Counter : 217 Pageviews.  


un momento
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




ตัณหา พาสร้างภพ
จิตสงบ พบทางแก้
ขันธ์ห้า มิเที่ยงแท้
เข้ามาแล เข้ามาดู

มีบุญ จึงประสบ
ผู้สงบ อาจารย์ครู
ท่านแนะ ให้ได้รู้
อหังการ มมังการ

มุนินทร์ ผู้ประเสริฐ
ชี้ทางเลิศ เทิดมรรคา
ใครทุกข์ น้อมเข้ามา
จตุสัจจา ภควโต

/ / /
free counters
New Comments
[Add un momento's blog to your web]

MY VIP Friend