บทความวันเด็ก: จินตนาการ
- สเตตัสวันเด็ก - สำหรับฉัน "จินตนาการ" เป็นสิ่งสำคัญและมีบทบาทผดุงชีวิตเด็กให้เดินทางไปในอนาคตที่เขาไม่รู้ว่าร้ายหรือดี เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะรับรู้เองว่า จินตนาการอย่างไรให้ตัวเองอยู่ถนนชีวิตได้อย่างมีความสุข สำหรับฉัน เมื่อโตมาจนถึงวัยเบญจเพส ฉันเรียนรู้ว่า จินตนาการขับเคลื่อนฉันมาจนถึงทุกวันนี้ ฉันอยากเป็นครู ฉันกำลังเรียนเพื่อจะได้จบไปเป็นครูตามที่วาดหวังไว้ ขณะเดียวกัน ความจริงที่ฉันประสบมาตลอด ก็ช่วยกลมกล่อมเกลาให้ฉันเข้าใจความเป็นจริง ฉันไม่สามารถจะได้อะไรๆ ตามที่จินตนาการไว้ทั้งหมด ฉันกำลังเรียนรู้จนขณะนี้ว่า อะไรคือจินตนาการที่จะบังเกิดขึ้นได้ในชีวิตตอนนี้และภายหน้า และอะไรคือจินตนาการที่ฉันไม่มีทางจะประสบได้จริงในชีวิต ชีวิตของครูในอนาคตของฉันจึงเป็นชีวิตที่จินตนาการและความจริงต่อรองกันอยู่เสมอ แม้ขณะนี้ยังไม่อาจเล่าได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังเรียนไม่จบ แต่ประสบการณ์ที่พบเห็นกระทั่งปัจจุบันก็สอนให้รู้ว่าเป็นครูไม่ง่ายเลย ย้อนกลับมาเรื่องจินตนาการ ฉะนั้น อย่าเพิ่งปิดกั้นจินตนาการเด็ก ชีวิตของเขาจะสอนเขาเอง นอกจากปิดกั้นแล้วกระบวนที่ทำต่อมา คือ การสร้างจินตนาการให้เด็ก ซึ่งข้อนี้เห็นจะยากที่จะไม่ทำแก่เด็ก ในขณะเดียวกัน ก็อย่าหลอกเด็ก อย่าให้เด็กมีชีวิตไปตามจินตนาการเสียทั้งหมด เพราะเขาจะเจ็บปวดมากจนเกินไปเมื่อเขาประสบความจริง หรือไม่เขาก็จะแยกความเป็นจริงและจินตนาการไม่ถูก เด็ก (ซึ่งอาจหมายถึงผู้ใหญ่แล้วด้วยเช่นกัน) เก็บกดที่ฉันประสบพบเจอมามักมีลักษณะที่ผู้ปกครอง (ในความหมายกว้างๆ ทั้งพ่อแม่ ญาติ ครู จนกระทั่งรัฐ) ปิดกั้นจินตนาการของพวกเขา หนำซ้ำใส่จินตนาการที่ตนคาดหวังลงไปแทน เด็กที่จำนงรับจินตนาการของผู้ปกครองเรียกได้ว่าเป็น "เด็กในกรอบ" บางคนมีชีวิตตามจินตนาการของผู้ปกครอง และมีชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน นับว่า โชคดี แต่กลุ่มใหญ่ที่พบไม่ใช่เช่นนั้น มี 2 อย่าง อย่างแรก คือ เด็กที่ใช้จินตนาการตามผู้ปกครองประสบความจริงบางอย่างที่แม้กระทั่งผู้ปกครองยังเผชิญปัญหาไม่ได้ดีนัก เด็กเหล่านั้นไร้ภูมิต้านทานและขาดจินตนาการในการแก้ไขปัญหา และ/หรือรู้สึกหดหู่กับจินตนการของตัวเอง เป็นคนเก็บกด และทนสภาพความจริงได้เปราะบางนัก อย่างที่สอง คือ เด็กถูกเรียกว่า "เด็กนอกกรอบ" เด็กเหล่านี้หากไม่พ่ายแพ้ต่อผู้ปกครอง ก็อาจเป็น "ขบถ" หรือ "วีรบุรุษ" กรณีของขบถ เขาจะแข็งแกร่งกับสังคมจนอาจจะเป็นแข็งกร้าว หรือไม่ก็เก็บกดอีกแบบหนึ่ง กรณีของวีรบุรุษ เขาจะเป็นต้นแบบให้คนอยากดำเนินตาม ชีวิตของเขาอาจราบเรียบ เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่ก็หลงตัวเอง เด็ก (เช่นกันว่าหมายรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย) อีกประเภทที่จินตนาการมากมายจนแยกความจริงและจินตนาการไม่ออก ฉันเห็นว่าเป็นเด็กที่น่ากลัวในช่วงแรกแล้วเป็นเด็กที่น่าสงสารในช่วงหลัง เด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการเป็นสรณะจนเมื่อประสบความจริง (จะเป็นคนหรือเหตุการณ์ก็ตาม) ก็จะขับไสความจริงออกไป คือ ไม่นับความจริงที่เป็นคนนั้นเป็นคนในชีวิตหรือเอาตัวเองออกจากเหตุการณ์นั้นๆ แม้ว่าคนหรือเหตุการณ์นั้นจะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ไม่เห็นเส้นแบ่งบางๆ ของ "จินตนาการ" กับ "การหลอกตัวเอง" เราไม่อาจรู้ได้ว่าเวลาใดเขาคิดฝัน เวลาใดเขาจริงจัง ทั้งนี้ก็เพราะเขาไม่แยกความจริงความฝันให้ออกจากกันทั้งที่จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวหรือไม่ เรื่องของ "จินตนาการ" ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจะสร้างสมดุลของจินตนาการและความจริงให้เด็กอย่างไร เขาจะเป็นเด็กเก็บกด เด็กขบถ เด็กวีรบุรุษ หรือเด็กหลอกตัวเอง สังคมจะมีสมดุลกับเขาอย่างไร และเขาจะมีสมดุลกับสังคมอย่างไร เป็นเรื่องที่ สังคม และ เด็ก ต้องเรียนรู้ ทั้ง ต่างคนต่างรู้ และ รู้ร่วมกัน
*หมายเหตุ - บทความนี้ผมเขียนครั้งแรกในเฟซบุ๊คส่วนตัวของผม
Create Date : 10 มกราคม 2558 |
|
9 comments |
Last Update : 10 มกราคม 2558 21:35:05 น. |
Counter : 5458 Pageviews. |
|
 |
|
"จินตนาการ" เป็นสิ่งสำคัญและมีบทบาทผดุงชีวิตเด็กให้เดินทางไปในอนาคตที่เขาไม่รู้ว่าร้ายหรือดี เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะรับรู้เองว่า จินตนาการอย่างไรให้ตัวเองอยู่ถนนชีวิตได้อย่างมีความสุข
ใช่เวยครับ