Teaching Economics in Thailand . . . what should it be?
เป็นกระทู้ต้อนรับปีใหม่เลยทีเดียว . . . หลังจากไม่ได้เขียนอะไรมาตั้งนานครับ
จริงๆแล้ว ผมเองก็ไม่ได้เป็น "คนสอน" เศรษฐศาสตร์ "เต็มเวลา" หรอก . . . แต่ที่อยากเขียนเรื่องการสอน (การสอนนะครับ . . . ไม่ใช่การเรียน) วิชาเศรษฐศาสตร์ในบ้านเรา (ประเทศไทย . . . ที่เขียนเป็นภาษาไทย เพราะปัญหาที่เคยเจอ เกิดในเมืองไทยครับ) เพราะ รู้สึก หงุดหงิด รำคาญใจเวลาได้เล่นบทบาท เป็น "คนสอน" โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ผมอยากจะมองที่ระบบมากกว่าที่คน . . .
ล้อมวงกันเข้ามา . . . มาคุยกันทีละประเด็นดีกว่า
วิธีการสอน . . . วิธีการสอนที่ผมอยากพูดถึง ไม่พูดถึง "สื่อการสอน" นะครับ อย่าหลงประเด็น เพราะเป็นคนละเรื่องกันจริงๆ ทำไมเหรอ?
วิธีการสอน คือการ "สื่อความคิด และวิธีการคิด" ของผู้สอนไปยังผู้เรียน . . . ไม่ใช่ รูปแบบว่า จะต้องเป็น multimedia แบบที่มีแต่สีสวยๆ ลูกเล่นเยอะแยะ จนคนเรียน รู้สึก เพลินกับเทคนิคการ present มากกว่า การได้รับเนื้อหา/ความรู้/วิธีคิด . . .ซึ่งหลายๆครั้ง สื่อการสอนดีๆ ไม่ได้สื่อ "content" ดีๆออกมา หรือ ทำให้ถูกเบี่ยงเบนจาก content ไปยังสิ่งอื่นมากกว่า
สิ่งที่ต้องยอมรับ ข้อแรกก่อน สำหรับสอนหนังสือ คือ ผู้เรียน "เลือกที่จะมาเรียน" ด้วยตัวเอง (แม้ว่า จะไม่เต็มใจนัก แต่เค้าก็ เลือก มาเรียนด้วยตัวเอง คนสอนไม่ได้ไปชักจูงให้มาเรียน . . . แตกต่างกับการ presentation เวลาขายของนะครับ ที่คนมานั่งฟัง มีสิทธิ์เลือกว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อ) . . . ดังนั้น คนสอน จึงสามารถสื่อสิ่งที่เค้าต้องการออกมาได้ แม้ว่าจะต้องให้คนเรียน "ออกแรง" ค้นคว้า ให้ทันกับสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจเนื้อหาดังกล่าว
แล้ว เนื้อหาในการสอนล่ะ? ผู้สอนควรสอนอะไร?
ผมมีปรัชญาในการเรียนของผมเอง (ในขณะนั้น . . มองในฐานะนักเรียน) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า แตกต่างจากระบบที่เกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย (ชั้นนำ) ของประเทศพอสมควร แต่จะสอดคล้องกับอาจารย์ "บางท่าน" เท่านั้นเอง . . . เมื่อเรามองในฐานะคนสอน . . . ผมมองว่า สิ่งที่ผุ้สอนควรสอน คือ "หลักคิด และวิธีคิด" ของแต่ละวิชา แทนที่จะสอน "เนื้อหาที่มีลักษณะเฉพาะ" ของวิชานั้นๆ . . .ตรงนี้อาจจะเข้าใจยาก หรือแบ่งแยกยาก . . .
หลักคิด และวิธีคิด ของแต่ละวิชา คือ การตอบคำถามที่ว่า "ทำไม เราต้องคิดแบบนี้? และการคิดแบบนี้ เรามีหลัก (สมมุติฐาน / หลักการ) อะไรจึงคิดแบบนี้? และแต่ละขั้นตอนของการคิด เรามีตรรกะอะไร จึงทำให้ได้ "กระบวนการคิด" แบบนี้? . . . ส่วนเนื้อหา ที่อยู่ในแต่ละวิชา เป็นสิ่งที่เป็น "ผลลัพธ์" หรือข้อสรุปจากหลักคิด และวิธีคิดดังกล่าว . . . เห็นมั้ยครับว่าแตกต่างกัน
วิธีการสอน (และผลที่ได้จากการเรียน) นี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เลย . . . ในสมัยโบราณ วิธีการสอนแบบนี้ เป็นวิธีการของนักปราชญ์ เช่น โสเครติส และในสมัยใหม่ มันเป็นวิธีการสอน (ควรจะเรียกว่า "ปรัชญาการสอน" มากกว่านะ) ของสถาบัน "อันทรงเกียรติ" บางที่ . . . หลักฐานน่ะเหรอ? อ่ะ ลองอ่านข้อความ จาก //www.stanford.edu/dept/MSandE/people/faculty/luenberger/ ดูนะครับ
At Cal Tech I discovered the value of a fundamental approach to education; that is, learning the fundamental principles that later can be applied in various areas. For example, we were taught physics, chemistry, and mathematics rigorously, and later branched out to various areas of engineering. As a graduate student at Stanford, I met Prof. William K. Linvill who shared this vision of education, and felt that it was the most effective method for teaching graduate students in the discipline of systems engineering. He coined the phase "portable concepts" to characterize this kind of teaching.
Much of my career has been directed toward teaching this way--organizing theory around portable concepts and actually "porting" the concepts to applications where, in the process, the germs of new concepts are often discovered.
หลักฐานของความล้มเหลวของวิธีการสอนในอดีต นั่นเหรอ? . . . ในฐานะคนสอน ผมเห็นหลักฐานเยอะแยะไปหมด ทั้งในระดับ ป.ตรี และ ป.โท เลยล่ะ . . . ป.ตรี . . . เชื่อมั้ยครับว่า คนเรียนวิชา advanced ของเด็กนักเรียนที่ถือว่า "ชั้นดี" ไม่เข้าใจ ผลพื้นฐานของ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ และไม่เข้าใจ สมมุติฐานหลักของ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ที่ทำให้เกิด ผลพื้นฐาน ดังกล่าว . . . ป.โท . . . หลังจากผ่านการเรียนวิชาหลัก พื้นฐานมาแล้ว กลับไม่รู้จัก "Principle of Optimality" อย่างที่เป็น "หลักคิด" ทำให้ไม่สามารถใช้ "หลักคิด" ดังกล่าวไปประยุกต์ต่อในสถานการณ์ใกล้เคียงกันได้ ตั้งท่าจะตั้งแต่สมการท่าเดียว นอกจากนี้ ไม่รู้จักแนวคิด ของ Bayesian ว่า Bayes's Rule สำคัญอย่างไร และเอาไปทำอะไรได้ . . .
วิธีแก้? . . . ผมคิดว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ . . . ต้องหาคนสอนที่ "คิดเป็น" ก่อนเลยครับ . . . เพราะเท่าที่ผ่านมา . . . ผมเห็นคนสอนหลายท่าน ที่ "รู้เนื้อหา" สามารถท่องเนื้อหา และการพิสูจน์ได้เลย . . .แต่ดันเป็น การจำ . . . มากกว่าความเข้าใจ . . . ทำให้เค้าไม่สามารถปรับ และประยุกต์วิธีคิด ไปยังปัญหาใหม่ๆได้ . . . เค้ารู้จัก "เนื้อ" แต่ไม่เข้าใจ "แก่น"
วิธีแก้ลำดับถัดไป? . . . ด้วยความเคารพใน style แต่ละท่าน ซึ่งจะมีความชอบและความถนัดแตกต่างกัน . . . แต่ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุด "คนสอน" ควรที่จะ "ถาม" ก่อนจะให้คำตอบ . . . "ถาม" ให้คนเรียนเริ่มคิด . . . คนสอนควร ถาม ไปเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ถามตาม ลำดับของ "ตรรกะ" ในการคิด-วิธีการคิด . . . ซึ่งการให้เนื้อหาในการสอนนั้น อาจจะให้ความรู้ประกอบในแต่ละลำดับของการคิด และสรุปผลที่ได้จากการคิดอย่างเป็นตรรกะ . . . ผมคิดว่า ถ้าคนสอน จะสอนสิ่งอื่นประกอบไปด้วย ก็แล้วแต่ style และบุคคลิก ของแต่ละท่านแล้วล่ะครับ
การวัดผล? . . . ผมคิดว่า อันนี้สะท้อนถึง "ความเป็นธรรม" ของระบบการสอน เป็นสำคัญ . . . โดยส่วนตัว ผมเกลียดการวัดผลแบบ . . . การเอา "ผลเฉพาะ / กรณียกเว้น" มาออกข้อสอบเป็นอย่างยิ่ง . . . แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า "อาจารย์" อยากแยกเด็กเก่ง ออกจากเด็กธรรมดา สำหรับการตัดเกรด . . . เอาเป็นว่า การวัดผลที่ดี ควรวัด "หลักการ" ที่สำคัญก่อน แล้ว จึงทดสอบความรู้จาก ผลเฉพาะ / กรณียกเว้น . . . โดยส่วนตัว ผมชอบวิธีการ "มีคำถามย่อย" นะครับ โดยน้ำหนักของคะแนน 70% ควรอยู่ใน หลักการ (จากพื้นฐาน ไปถึงขั้นปานกลาง ถึงสูง) และที่เหลือ ไปให้กับ ผลเฉพาะ / กรณียกเว้น เท่านั้น . . . การออกข้อสอบแบบนี้ ทำให้ ผู้เรียน ต้องทำความเข้าใจ "หลักการ" สำคัญ (ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ต่อไปในปัญหาอื่นๆ) ก่อนทื่จะ "จำ" กรณียกเว้น (ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในบางกรณีเท่านั้น และยากที่จะประยุตก์ต่อไป)
ที่กล่าวมาข้างต้น . . . หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อ "ความคิด" ของผู้สอนบ้างนะครับ . . . แต่ผมคงจะได้แต่เพียงหวังว่า . . . คงไม่ใช่เพียงแค่ "มองแล้วผ่านไป"
สุขสันต์วันปีใหม่นะครับ
Create Date : 01 มกราคม 2551 |
|
17 comments |
Last Update : 1 มกราคม 2551 15:33:13 น. |
Counter : 5041 Pageviews. |
|
|
|