bloggang.com mainmenu search

สดจากเยาวชน
สุตาภัทร หมั่นดี

 


"สมัยปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่เขาทำเกษตร ไม่พึ่งสารเคมี เขาสามารถอยู่ได้ พอมีพอกิน ต่างกับสมัยนี้ ผมคิดว่าคนทำเกษตรควรต้องกลับไปสู่วิถีเดิมเพื่อสุขภาพที่ดี"

คำบอกเล่าของ สุธรรม จันทร์อ่อน หรือ ลุงสุธรรม ปราชญ์ชาวบ้านปลักไม้ลาย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เห็นถึงความปรารถนาดีต่อพี่น้องเกษตรกร อยากให้หวนกลับมาทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช้สารเคมี

ทุกวันนี้ลุงสุธรรมมีความสุขกับการทำเกษตรผสมผสาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่

"ผมปล่อยให้ธรรมชาติพึ่งพากัน บริเวณที่ปลูกพืชผัก เช่น กล้วย ไผ่ ชะมวง ใบยอ ชะอม ต้นไม้จะเกื้อกูลกัน ใบไม้ที่ร่วงหล่นเป็นปุ๋ยบำรุงดินอย่างดี ผมปล่อยไก่จิกกินวัชพืชรอบๆ มูลไก่ก็กลายเป็นปุ๋ย ส่วนนาข้าวก็มีเป็ดคอยดูแลช่วยกินหอยเชอรี่ ควบคุมกันเองตามธรรมชาติ สิ่งที่ออกไปเป็นรายได้ทั้งหมด แทบจะไม่มีต้นทุน"

ลุงสุธรรมยึดแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเอื้อกันและกัน เน้นปลูกเพื่อบริโภค พออยู่พอกิน และได้ขยายแนวคิดสู่ชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้

โดยใช้แปลงเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความรู้และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรที่ต้องการกลับสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์


ขนมปุยฝ้ายสีสวย อร่อย มากคุณค่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 





"การทำเกษตรที่ได้ผลผลิต ได้เงินรวดเร็ว แต่ต้องลงทุนไปกับการซื้อสารเคมีเร่งดอกผล วันหนึ่งเมื่อผลผลิตลดลงเพราะพื้นดินที่ทำมาหากินเสื่อมจากการสะสมของสารเคมีก็ยิ่งต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้น ผมอยากให้เกษตรกรเห็นการทำเกษตรที่ลดการใช้สารเคมี พึ่งพิงธรรมชาติ และเขาได้เห็นว่าสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง มีเงินเหลือเก็บออม"

หลายครัวเรือนในชุมชนปลักไม้ลายทำเกษตรผสมผสาน นอกเหนือจากผักที่ปลูกกินเองยังมีพืชอีกหนึ่งชนิดที่นิยมปลูก นั่นคือ "ฟักข้าว"

ฟักข้าว อยู่ในวงศ์แตงกวาและมะระ เป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีชื่อเรียกอื่นตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ขี้กาเครือ ผักข้าว มะข้าว ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง เมื่อผลสุกเนื้อในหนามี สีแดง สวนของลุง สุธรรมปลูกฟักข้าว เลื้อยเป็นซุ้มให้ทั้ง ร่มเงา สวยงาม และมีประโยชน์



1.ลุงสุธรรมชวนเด็กๆ เรียนรู้สวนเกษตรพอเพียง

2.น้องแป้ง ด.ญ.เกษรินทร์ ณัฐพูลวัฒน์

3.สุธรรม จันทร์อ่อน

4.ฟักข้าว

5.ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

6.เกษตรอินทรีย์ปลูกพืชผักผสมผสาน

7.ฟักข้าวผลสุกเนื้อในหนามีสีแดง

8.ผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว





ลุงสุธรรมบอกว่า "ฟักข้าวแต่เดิมเป็นพืชที่อยู่ในป่า ด้วยเพราะขึ้นตามป่า ฟักข้าวจึงมีเปลือกหนาป้องกันตัวเองจากแมลง มีอายุเป็นร้อยปี คนชอบเก็บผลอ่อนมาลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกง ยอดอ่อนก็นำมาเป็นผักได้"

ฟักข้าวเป็นพืชที่ชาวเวียดนามมีปลูกกันเกือบทุกบ้าน ใช้ประกอบอาหาร นำมาหุงกับข้าวเหนียวได้ข้าวสีส้มแดงมีกลิ่นหอม ในประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของฟักข้าว คือมีสารเบต้าแคโรทีนมากกว่าแครอต และมีสารไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศ สารทั้งสองตัวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วย ลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งหลายชนิด และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เรียกว่าเป็นพืชมหัศจรรรย์

ชาวบ้านปลักไม้ลายเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของพืชชนิดนี้ นิยมปลูกกันหลายครัวเรือน บริโภคในครอบครัวและส่งขายตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกฟักข้าวบ้านปลักไม้ลาย แปรรูปฟักข้าวสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

ลุงสุธรรมชวนเด็กๆ โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย เรียนรู้สวนเกษตรพอเพียงและพืชมหัศจรรย์อย่างฟักข้าว เด็กๆ รู้ดีว่าฟักข้าวมีประโยชน์

ด.ญ.เกษรินทร์ ณัฐพูลวัฒน์ หรือ น้องแป้ง เล่าว่า "บ้านของหนูก็ปลูกค่ะ เพิ่งปลูกได้ไม่นาน ยังไม่ออกผล อยากปลูกไว้กินที่บ้าน เพราะฟักข้าวมีประโยชน์ นำมาทำสบู่ ทำขนม และน้ำฟักข้าวได้ค่ะ"

ผู้ใหญ่ในชุมชนปลูกฝังและสอดแทรกแนวคิดให้เด็กรู้จักการพึ่งตนเอง เห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีในชุมชน

หน้า 24

ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
สดจากเยาวชน
คุณสุตาภัทร หมั่นดี

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :14 กุมภาพันธ์ 2556 Last Update :14 กุมภาพันธ์ 2556 13:10:27 น. Counter : 2170 Pageviews. Comments :0