bloggang.com mainmenu search


กรมแพทย์แผนไทย ประสาน สสจ ส่งหญ้าหยาดน้ำค้าง พิสูจน์สรรพคุณ - สารปนเปื้อน เผยยุโรปใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 รักษาอาการไอ

จากกรณีที่ชาวบ้าน จ.กำแพงเพชร แห่งเก็บสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า หญ้าหยาดน้ำค้าง โดยมีความเชื่อว่า สามารถใช้รักษาโรคเบาหวาน ความดัน มะเร็งได้นั้น

วันนี้ ( 12 มี.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ทางกรมฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้มีการส่งตัวอย่างสมุนไพรดังกล่าวเพื่อศึกษาสรรพคุณ

โดยทาง สสจ.จะดำเนินการจัดส่งเข้ามายังกรมฯ ภายในวันพรุ่งนี้ ( 13 มี.ค.) หลังจากนั้นให้นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาว่าเป็นพืชชนิดใด รวมทั้งขอความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ให้มีการศึกษาสรรพคุณทางยาด้วยว่าในอดีต มีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง รวมทั้งศึกษาด้วยว่ามีสารปนเปื้อนใดๆ หรือไม่ เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีสารเคมีอยู่ ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะหากแม้สมุนไพรจะมีประโยชน์จริง แต่หากมีสารปนเปื้อนก็ไม่เป็นผลดี

นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้นนั้นพบว่า หญ้าหยาดน้ำค้างนี้มีกลุ่มประเทศแถบยุโรปใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 อาทิ ประเทศอิตาลี เยอรมนี มีการนำมาทำเป็นชา

เพื่อบริโภคบรรเทาอาการไอกรน หอบหืด ไอแห้ง หลอดลมอักเสบ และอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลอดลม

ส่วนประเทศไทยนั้นหมอพื้นบ้านเคยมีความเชื่อว่า สามารถใช้รักษามะเร็งและเบาหวานได้ โดยภูมิปัญญาเหล่านี้ถือเป็นความเชื่อที่ต้องรอการพิสูจน์ ในทางคลินิก

หรือศึกษาเชิงลึกไปก่อนว่าแท้จริงแล้วสามารถใช้ประโยชน์ จากส่วนใดของพืช เช่น จากราก โดคน ใบ หรือดอก ไม่แน่ว่าอาจมีหญ้าหรือพืชตระกูลเดียวกันที่มีสรรพคุณคล้ายกันก็เป็นไปได้

"อย่างไรก็ตามในเมื่อเป็นความเชื่อของชาวบ้าน ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ ซึ่งหากชาวบ้านจะบริโภคต่อไปก็ทำได้

แต่อยากให้ระวังเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ หรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงไว้บ้าง รวมทั้งระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อนให้มาก เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง" นพ.สุพรรณ กล่าว

อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้คาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการพิสูจน์เรื่องดังกล่าว จากผู้เชี่ยวชาญประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่ามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์จริง ในอาคตก็จะมีการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตามในวันนี้ตนได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศอาเซียน เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนายาสมุนไพร เพื่อต้อนรับประชาคมอาเซียน ซึ่ง

ในการประชุมมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการทำสาธารณสุขมูลฐาน ตำรับยาสมุนไพรเพื่อจะใช้ร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีตัวยาอยู่ในรายการจำนวน 62 ชนิด

โดยจะเร่งแลกเปลี่ยนความรู้กันว่า ประเทศใดใช้สมุนไพรในด้านใดบ้าง รวมทั้งมีการเตรียมปรับราคากลาง เพื่อให้สอดรับกับประชาคมอาเซียนด้วย


ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์


สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ
Create Date :12 มีนาคม 2555 Last Update :12 มีนาคม 2555 14:50:13 น. Counter : Pageviews. Comments :0