bloggang.com mainmenu search

โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล


ปากคลองตลาดมนต์เสน่ห์ที่ยังเห็นในปัจจุบัน

หากพูดถึง "ปากคลองตลาด" น้อยคนนักจะปฏิเสธว่าไม่รู้จักแหล่งซื้อ-ขายดอกไม้ยอดนิยม ในย่านการค้าเก่าแก่ที่เลื่องชื่อมาแต่ครั้งอดีต

ด้วยความมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยดอกไม้หลากสีสันจากทั่วสารทิศ อวดสีสันเต็มสองข้างทาง ทั้งกุหลาบ เบญจมาศ มะลิ ดาวเรือง กล้วยไม้ บัว ฯลฯ ทำให้ภาพความวุ่นวายของผู้คนและรถเข็นที่สวนกันไปมา กลายเป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากยิ่ง

แต่ในอนาคตอันใกล้ ชุมชนปากคลองตลาดจะเป็นหนึ่งในปลายทางหลักของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค พลิกโฉมตลาดสดอันเก่าแก่ให้ต่างไปจากเดิม

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ได้จัดงานเสวนา Living Museum พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาดครั้งที่ 1 ตอน "ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้แห่งอาเซียน"

เพื่อเรียนรู้อดีต ทำความเข้าใจปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสู่อนาคต ในฐานะ ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย

ผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ปากคลองตลาดเป็นตลาดดอกไม้แห่งอาเซียนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ด้วยลักษณะของสินค้าซึ่งมีที่มาหลากหลาย เช่น ดอกไม้และผลไม้จากจีน เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในอีก 3 ปีข้างหน้า ปากคลองจะเป็นชุมทางกระจายสินค้าและจุดพักสินค้าอย่างแน่นอน

"จากการจัดอันดับตลาดดอกไม้โลก ปากคลองตลาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ทั้งยังเป็นตลาดกล้วยไม้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเช่นกัน"

"เมื่อเกิดการรวมประชาคมอาเซียนในอนาคต จะเกิดการหลั่งไหลของสินค้านำเข้าและส่งออกจำนวนมาก มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสินค้าในตลาด และต้องระวังธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเทกโอเวอร์ หรือสร้างผลกระทบต่อพ่อค้ารายย่อย จนไม่สามารถค้าขายได้" ผศ.ดำรงพลกล่าว

และบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชนอย่างสัมพันธ์กัน ต้องตกลงกันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม

 


เวทีเสวนา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



"ต่อไป หากค่าเช่าแผงราคาสูงขึ้น อาจทำให้บางอาชีพอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น การพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวโดยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน จึงต้องพิจารณาใหม่ หันมารับฟังเสียงของชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีอำนาจการต่อรอง เพราะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่นายทุน แต่เท่าที่ทราบ ชุมชนปากคลองค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว"

"ถ้ามองความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการพัฒนา ปากคลองจะเป็นตลาดสีเขียวตามนโยบายของรัฐ แต่ในแง่ของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะชอบวิถีชีวิตที่ไร้การปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การปรับเพื่อความสะดวกก็ดี แต่ไม่ควรทำให้วิถีดั้งเดิมของชุมชนเปลี่ยนไป" อาจารย์คณะโบราณคดีกล่าว

สุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าว่า ในอดีต ปากคลองตลาดเป็นตลาดขายปลา ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่ากลิ่นคาวปลาไม่ควรอยู่ในบริเวณพระราชวัง โปรดให้ย้ายตลาดปลาไปยังหัวลำโพง แล้วนำผัก-ผลไม้จากฝั่งธนบุรีมาขายแทน

"ต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม มองว่าตลาดท้ายวังทำให้พระราชวังดูรกรุงรัง จึงให้ย้ายมาที่ปากคลองตลาด รวมกับตลาดท่าเตียนและย้ายตลาดผักจากเยาวราชมารวมที่นี่ด้วย แรกๆ มีผู้นำดอกไม้มาขายน้อยมาก แต่เมื่อความนิยมมีมากขึ้น ปากคลองจึงเป็นตลาดดอกไม้อย่างทุกวันนี้"

สุดาราเล่าอีกว่า การพัฒนาเป็นไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปากคลองตลาดเป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนา และทุกครั้งที่มีการพัฒนาสาธารณูปโภค จะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจทันที

"ทุกที่ พอมีรถไฟฟ้า นายทุนจะกว้านซื้อที่ดิน อย่างเยาวราช จะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ มีคอนโดสูงผุดขึ้นมาทันทีที่มีข่าวการสร้างรถไฟฟ้า ถ้าเรามองที่การพัฒนาโดยมองข้าม ′คน′ ในพื้นที่ ก็จะเห็นภาพคนในพื้นที่ที่ต้องเก็บกระเป๋าย้ายบ้าน ออกไปพร้อมกับจิตวิญญาณเดิม ที่ไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ได้"

 




 

 

 

 

 

 

ด้าน ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ตามแบบการปรับปรุงปากคลองตลาดที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ตลาดยอดพิมาน ระบุว่า จะยกระดับตลาดดอกไม้ไทย ให้เทียบเท่าตลาดโคเวนต์การ์เดน (Covent Garden) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมสร้างทางเดิน 2 ชั้น และศูนย์อาหารติดแอร์

"คิดว่ารูปแบบที่ทำขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เข้ามาใช้สอยพื้นที่อย่างมีนัยยะสำคัญคือ การใช้รูปแบบที่มีลักษณะใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบรัชกาลที่ 5 จะนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชนชั้นกลาง"

"ในอนาคตยังคงมีตลาดผักและผลไม้อยู่ แต่มีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งไม่รักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่เดิม รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เน้นรัชกาลที่ 5 สิ่งที่ไม่เข้าพวกจะถูกรื้อทิ้ง ผมมองว่าเป็นการมองโลกแคบเกินไป เพราะประเทศไทยไม่ได้หยุดแค่รัชกาลที่ 5"

"ฉะนั้น รูปแบบทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ หลังรัชกาลที่ 5 ก็มีความสำคัญ ถ้าจะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ควรอยู่กับประวัติศาสตร์ปากคลองตลาดที่แท้จริง ซึ่งเป็นตลาดที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 มากกว่า"

ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป แม้มีเสียงยืนยันว่า ทุกอย่างจะเหมือนเดิม

"ถ้าดูจากแบบของตลาดยอดพิมาน (1 ใน 4 ตลาดที่รวมเป็นย่านที่คนเรียกว่า ปากคลองตลาด) ในคลิปวิดีโอ ที่มีลักษณะคล้ายห้างสรรพสินค้า ผมว่าไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวต้องการดูชีวิตจริงของผู้คนหรือเปล่า ความแออัด เปิดทำการ 24 ชั่วโมง ถึงจะสกปรกบ้าง มีกลิ่นบ้าง ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ฉะนั้น การตัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไป อาจนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ อาจมีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วงแรกๆ ถ่ายรูป เช็กอิน ก็เท่านั้น" ชาตรีบอก

ตัวแทนชุมชนอย่าง วันชัย อินทคุณ ที่ปรึกษาตลาดเก่าปากคลอง เล่าว่า ตลาดปากคลองไม่เคยหลับไหล เปิดตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากตลาดดอกไม้ที่ขึ้นชื่อแล้วยังมีตลาดผักและผลไม้ด้วย นักท่องเที่ยวจะเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกเพราะในประเทศอื่นตลาดดอกไม้จะอยู่ในอาคาร แต่ของเราอยู่ริมถนน ในอนาคตเชื่อว่าปากคลองตลาด "อยู่ได้"

"ยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสร้างผลกระทบบ้างแต่ไม่รุนแรง และเป็นตลาดที่เน้นการขายในประเทศอยู่แล้ว"

"ปากคลองตลาด มีเสน่ห์ในตัวเองซึ่งที่อื่นไม่มี แม้ทุกคนจะเป็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง แต่ควรอนุรักษ์ ′เอกลักษณ์′ ที่มีอยู่ไว้ เช่น รถเข็นที่ต้องมีวิชา เดินเร็ว หลบเป็น จึงจะไม่โดนชน"

"การเป็นตลาดดอกไม้ริมถนน ทำให้ชาวต่างชาติอยากมาดูว่า แตกต่างจากเขาอย่างไร เขาไม่ได้อยากดูของที่สร้างขึ้นใหม่ ถ้าถามพ่อค้าแม่ค้าเขาจะบอกว่า ไม่ชอบนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มาซื้อของ มากัน 10 กว่าคน ซื้อมาลัยพวงเดียวก็มี ถ้าต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจริงๆ จะเพิ่มโซนสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้ เป็นอีกทางเลือกที่ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน"

ยังเหลือเวลาอีกมาก ในการรับฟังเสียงของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หวังว่าชุมชนปากคลองตลาดจะเป็นต้นแบบการพัฒนาเมือง ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมเสวนา Living Museum พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาดครั้งที่ 2 ตอน "วิธีใหม่ปากคลองตลาด@สถานีสนามไชย" ในวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2555 สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.museumsiam.com หรือ www.facebook.com/museumsiamfan

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณอรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ

Create Date :04 กันยายน 2555 Last Update :4 กันยายน 2555 13:15:53 น. Counter : 2337 Pageviews. Comments :0