bloggang.com mainmenu search





ฟื้นฟูสวน 'ส้มโอ' นำ 'ทองดี' กลับนครปฐม



โดย ... สุรัตน์ อัตตะ


การฟื้นฟูเยียวยาสวนส้มโอบนเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ในบริเวณเกาะทรงคนอง อ.สามพราน จ.นครปฐม ประกอบด้วย ต.ทรงคนอง ต.ไร่ขิง ต.ท่าตลาด และ ต.บางเตย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส้มโอพันธุ์ดีสองสายพันธุ์ "ทองดีและขาวน้ำผึ้ง" ของ จ.นครปฐมมาอย่างยาวนาน

หลังได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนสร้างความเสียหายเกือบ 100% ทว่าวันนี้เริ่มสร้างความหวังให้เกษตรกรชาวสวนส้มโอแห่งนี้อีกครั้ง หลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายภาคีชาวสวนร่วมกันผนึกกำลังฟื้นฟูเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม

รายการ "เกษตรสองเกลอ" กับ "คม ชัด ลึก" ทางช่องระวังภัย นำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบการฟื้นฟูสวนส้มโอในพื้นที่เกาะทรงคนองที่ได้รับความเสียหาย พร้อมสอบถามความคืบหน้าการดำเนินการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประกอบด้วย วุฒิพงศ์ เนียมหอม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรง สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ภาคเอกชนองค์กรแรกๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาเมื่อครั้งเกิดอุทกภัย และได้ดำเนินการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน

และ กมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำท่าจีน ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้แผนการฟื้นฟูสวนส้มโอบริเวณนี้บรรลุผลสำเร็จ

กมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำท่าจีนกล่าวถึงแผนการกอบกู้สวนส้มโอพันธุ์ดีในบริเวณพื้นที่เกาะทรงคนองว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ เอกชน

ตลอดจนชาวสวนส้มโอเองได้ร่วมกันผนึกกำลังฟื้นฟูสวนส้มโอขึ้นมาใหม่ โดยนำกิ่งพันธุ์ส้มโอจากสวนของชาวบ้านที่ไม่ถูกน้ำท่วมมาปลูกแทน ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกับชาวบ้านจัดทำโครงการพา "ทองดี" กลับบ้าน

เนื่องจากได้มีการนำส้มโอพันธุ์ทองดี ไปปลูกไว้ที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านจึงมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะนำพันธุ์ทองดี ซึ่งเป็นพันธุ์แท้และดั้งเดิมของที่นี่ กลับมาปลูกแทน เพราะมั่นใจในเรื่องสายพันธุ์

"ตอนนี้เรากำลังจัดทำโครงการพา "ทองดี" กลับบ้าน โดยจะนำกิ่งพันธุ์ทองดีจากลุ่มน้ำปากพนังมาปลูกทดแทนส้มโอที่ตายจากน้ำท่วม เพราะทองดีที่นั่นเอากิ่งพันธุ์ไปจากที่นี่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จึงมั่นใจในเรื่องสายพันธุ์ว่าแท้แน่นอน

เพราะส้มโอไม่เหมือนกล้วยไม้ ไม่กี่เดือนก็ให้ผลผลิต แต่ส้มโอต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีกว่าจะให้ผลผลิตได้ เพราะฉะนั้นเรื่องสายพันธุ์แท้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชาวสวนในตอนนี้" ประธานเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำท่าจีนกล่าวย้ำ

ขณะที่ วุฒิพงศ์ เนียมหอม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม เผยถึงแผนการฟื้นฟูสวนส้มโอบริเวณเกาะทรงคนองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายธีระ วงศ์สมุทร และผู้บริหารกระทรวง ตลอดจน จ.นครปฐม

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ทำรายได้ให้ จ.นครปฐม นับพันล้านบาทต่อปี จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูเยียวยาอย่างเร่งด่วน

"ที่ผ่านมาชาวสวนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเบื้องต้นไปแล้วไร่ 5,000 บาท แต่ขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงแล้วให้ส้มโอทรงคนอง เป็นพืนต้นทุนสูงเช่นเดียวกับกล้วยไม้และทุเรียนเมืองนนท์

ซึ่งถ้าได้รับการเห็นชอบก็จะได้ค่าชดเชยเพิ่มเป็นไร่ละ 8 หมื่น ส่วนกิ่งพันธุ์นั้นไม่ต้องห่วงผมให้ความมั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รับกิ่งพันธุ์แท้แน่นอน เพราะในช่วงน้ำท่วมกระทรวงได้เก็บกิ่งพันธุ์จากที่นี่ ไปเสียบยอดไว้ในพื้นที่อื่นหลายหมื่นกิ่ง ขณะนี้กิ่งพันธุ์ดังกล่าวเจริญเติบโตดีและพร้อมที่จะให้ชาวสวนนำมาปลูกในพื้นที่ของตัวเอง"

ด้าน สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนรายแรกที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาสวนส้มโอบริเวณเกาะทรงคนอง เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและยังมีการช่วยเหลือฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ยอมรับว่าการฟื้นฟูเยียวยาสวนส้มโอ ที่ได้รับความเสียหายนั้นเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ในระยะยาวเป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะต้องดูแลกันเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป เพราะคนในชุมชนจะเป็นผู้รู้ดีที่สุด ส่วนองค์กรจากภายนอกเข้ามาช่วยแล้วก็จากไป

"ในช่วงน้ำท่วมตอนนั้นมูลนิธิเอสซีจี (SCG) และธุรกิจในเครือ ได้ส่งกระสอบทรายมา 25,000 กระสอบ บิ๊กแบ็กอีก 3,000 ถุง พร้อมผ้าใบกันน้ำขนาดใหญ่มาสร้างพนังกั้นน้ำระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ล้อมรอบเกาะทรงคนองและสูบน้ำออกจากพื้นที่

พร้อมได้ประสานกับนักวิชาการด้านพืชจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาช่วยฟื้นฟูต้นส้มโอที่เหลือหลังน้ำท่วม ทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิมาติดตามผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

เพราะเราไม่ได้ช่วยแค่ต้นส้มโอให้รอดและชาวสวนส้มโอเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาวัฒนธรรมของชุมชน และพืชคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครปฐมตลอดไป" กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจีกล่าวย้ำ

การฟื้นฟูสวนส้มโอบริเวณเกาะทรงคนอง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกนส้มโอพันธุ์ดีของ จ.นครปฐม ถึงแม้ทุกภาคส่วนจะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันอย่างขันแข็ง แต่ความอยู่รอดอย่างยั่งยืนขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของในชุมชนทรงคนองนั่นเอง


"เผาถ่านขาย" รายได้หลังน้ำท่วม

รุ่ง ยูรสวัสดิ์ เกษตรกรชาวสวนส้มโอในตำบลบางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาบอกว่ายึดอาชีพทำสวนส้มโอมากว่า 30 ปีแล้ว โดยเน้นพันธุ์ทองดี มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 30 ไร่เศษ

แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ส้มโอ ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ส่วนที่รอดก็เป็นโรคเปลือกแห้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วจะค่อยๆ ยืนต้นตายในที่สุด

"ตอนนี้หันมายึดอาชีพเผาถ่านขายก็เอาต้นส้มโอที่ตายจากน้ำท่วมนั่นแหละมาเผาทำถ่าน รายได้ก็ไม่มากพออยู่ได้ เพราะกว่าจะรอส้มโอให้ผลผลิตก็อีก 4-5 ปีข้างหน้า ตอนนี้ก็หาพืชอายุสั้นปลูกไปพลางๆ ก่อน" รุ่งกล่าวอย่างท้อใจ

และยังไม่มั่นใจว่าปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ แม้ว่าทางราชการและชาวบ้านจะช่วยกันสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบสวนส้มโอสูงขึ้นกว่าเดิมอีก 2 เมตรก็ตาม

ซึ่งก็คงต้องรอดูมาตรการป้องกันและรับมือ หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ แต่หากไม่มีปัญหาอะไร การปลูกส้มโอใหม่ในพื้นที่เกาะทรงคนองก็คงจะดำเนินการได้เต็มพื้นที่อีกครั้ง


ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
คุณสุรัตน์ อัตตะ


สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ
Create Date :26 มีนาคม 2555 Last Update :26 มีนาคม 2555 16:01:01 น. Counter : Pageviews. Comments :0