bloggang.com mainmenu search
 

พิมพ์ครั้งที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๐ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

มหารานี .. ความหมายที่แท้จริงคือ ศิราภรณ์ ..มงกุฎแห่งรานี

แต่ถ้าพระราชอำนาจแผ่เหนือสามแคว้น นั่นคือ มงกุฎแห่งมหารานี!

มหารานี 'ต้อง' ครองหัวใจประชาราษฎร์ มิใช่ครองอำนาจ

อำนาจ .. อาจเสื่อมทราม หากความรัก จีรัง!

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

จึงเป็นเรื่องเล่าขานอีกครั้งของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง กับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง

เจ้าหญิงศาศวัตรา 'อัคราชกุมารี' ศิขิน กับเจ้าชายรามิล 'พญาอินทรี' แห่งหิมวันต์

..........................

'เจ้าหญิงศาสวัตรา' มีพระอนุชานาม 'เจ้าชายศิขรินทร์'

ทั้งสองพระองค์ประทับ ณ คันธามาส มิใช่ในศิขิน!

ทำไมต้องมาประทับ ณ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ราบสูง ริมภูเขา

ทำไมพระราชาธิบดีแห่งศิขิน ไม่ให้พระโอรสพระธิดา ประทับในเขตพระนคร

และทำไมบัดนี้ ต้องทรงเฉลิมพระยศพระธิดาองค์โต

จากราชกุมารี เป็น  'อัคราชกุมารี' แล้วส่งเข้าสู่เขตหิมวันต์

ฤาว่าพระราชาธิบดีทอดพระเนตรเห็น 'ช่องทาง'

'หิมวันต์' จะช่วยพระโอรสองค์น้อยได้ นั่นคือหน้าที่แห่งเชษฐภคินีพึงกระทำ

การเสด็จ 'แผ่นดินหิมวันต์' คือการไปทอดพระเนตร 'ฐานอำนาจ'

มงกุฎและบัลลังก์ ต้องมี 'อำนาจ' รองรับเสมอ

ฐานราชบัลลังก์ศิขรินทร์ต้องการ 'หัตถ์' ค้ำจุน

'หัตถ์' ที่มั่นคงและทรงอำนาจขณะนี้  เจ้าชายรามิล!

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

หาก 'รามิล' คือ พญาอินทรีแห่งห้าขุนเขา 'ปัญจคีรี'

มี 'มรตาบดี' เป็นพระสมัญญา  พระสมัญญาอันเนื่องมาจากคำโจษจันว่า

ทรงเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในเผ่าที่โหดเหี้ยมที่สุด

มรตาบดี ที่มีความหมายน่าสะพรึงกลัว 'เทพเจ้าแห่งความตาย'

เมื่อ รามิล พระนามอันหมายถึง 'เทพเจ้าแห่งความรัก'

ไฉน พระสมัญญาจึงก้าวล่วงถึง เทพเจ้าแห่งความตาย

พระสมัญญา...มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้นเชียวหรือ

.........................

หาก 'ยมทูต' ไยรู้คุณค่าของบุญฑริกา

จะเช่นไร .. เราย่อมรู้ หงส์กับห่าน ต้องแผกแตกต่างกัน

'มรตาบดี' เทพแห่งความตายเคยรับสั่ง

"ในความตายคือความงาม และในความงามคือความตาย"

'เธอ' ผ่านความตายมาแล้ว กำลังย่างสู่ความงาม

งามเงื่อน ดุจเดือน เพ็ญกระจ่าง     เป็นหนึ่ง ประดับกลาง นภาใส

เป็นหนึ่ง  ในดวง-  หฤทัย            จันทราพิมพ์ พักตร์เจ้าไว้ ให้คนยล

อ้าโฉม ลอยล่อง ฟ่องฟ้า             สามดิลก ฤาหา เทียบได้

แจ่มจรัส ประโลมหล้า  ยาใจ        เพ่งพิศไว้ กลัวหาย กับสายลม

ความงามงามแห่งชีวิตที่ซ่อนไว้ในเมล็ดพืชพันธุ์

รอไออุ่นแห่งคิมหันต์ก็จะผลิใบอ่อน และดอกบุษปธนุระ ..ศรดอกไม้

ความหนาว เย็น ในชีวิตผันผ่าน ไออุ่นที่ซ่อนไว้ยังอบอวล

ดึกดื่น คืนหนาว ดาวพร่าง   น้ำค้าง หยดค้าง บนพฤกษา

ลมผิว หวิวสั่ง วาจา            หลับเถิด แก้วตา อย่าอาวรณ์

ท่อนสุดท้ายแห่งบทขับขาน 'ลำนำขุนเขา' ถูกเอื้อนซ้ำอ้อยส้อยราวกระซิบทูล..

จำจารในหัวใจเสมอ .. หลับเถิด แก้วตา อย่าอาวรณ์

คือถ้อยอ่อนหวานระหว่างใจของผู้จะก้าวเป็น 'มหาราช' และ 'มหารานี'

(เรียบเรียงจากคำโปรย ปกหน้าใน และ ปกหลัง ของ มหารานี เล่ม ๑-๒)

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

ในบรรดาหนังสือนวนิยายของ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ (หรือที่รู้จักในนาม ทมยันตี, โรสลาเรน, กนกเรขา, ลักษณวดี และ มายาวดี) เรื่องที่เขียนโดยใช้นามปากกา "ลักษณวดี" เท่าที่เคยอ่านมาทั้งหมด  มหารานี, ดั่งดวงหฤทัย, รัศมีจันทร์,  เลือดขัตติยา, เจ้าแห่งรัตติกาล, สายใจ, หนี้รัก, จักรพรรดินี, ธุวตารา, มงกุฎที่ไร้บัลลังก์  (ยังเหลือที่ไม่ได้อ่านมี ราชินีชีบา , สรวงฟ้า, บาดาล-เทวปักษี, มนตราแห่งดารา)  สนุกดีทุกเรื่อง แต่ถ้าถามตัวเองว่าเรื่องไหนสนุกที่สุด รักมากที่สุด ก็ต้อง มหารานี  เรื่องความรักอาจไม่หวานเท่าเรื่องโด่งดังที่ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์อย่าง ดั่งดวงหฤทัย  แต่เมื่อเอาเรื่องราว การเมือง รัฐศาสโนบายประกอบกับลักษณะของตัวละครแต่ละคนในเรื่องนี้มารวมกันเป็นข้อพิจารณาด้วยล่ะก็  นี่คือรสชาดความกลมกล่อมของนวนิยายในนาม ลักษณวดี ที่ให้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง  เพราะถูกจริต ด้วยประการทั้งปวง

เจ้าหญิงศาศวัตรา แม้จะห่างพระชนกไร้พระชนนี  ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยที่ต้องระเห็จออกไปประทับอยู่นอกเขตพระนคร พร้อมกับการทำหน้าที่พระเชษฐภคินีให้การอบรมดูแลพระอนุชา ที่ไม่อาจคาดการณ์อนาคตว่าจะทรงฝ่าอำนาจขององค์รานีขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแห่งศิขินได้หรือไม่  แต่ด้วยทรงเป็น หน่อนาฏชาติเชื้อกษัตริย์ แม้จะทรงประทับอยู่ห่างไกลจากราชสำนัก ก็ทรงเจริญพระชันษาขึ้นมางามพร้อมทั้งพระสิริโฉม พระจริยวัตร .. พระหฤทัย และพระสติปัญญา  เรียกว่า'งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์'  

สนุกที่สุดในเรื่องคือการช่วงชิงอำนาจความมั่นคงของสามแคว้น  ศิขิน  วิเทหะ และ อุตตรปุระ     ข้อตกลง 'พันธไมตรี' การอภิเษกระหว่างสองแคว้น เจ้าชายวิเทหะ กับเจ้าหญิงศิขิน จึงถูกแทรกแซงด้วยเงื้อมเงาของอำนาจอุตตรปุระ เกิดเป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนบางประการที่ทำให้ข้อตกลงถูกบิดพลิ้ว เมื่ออัคราชกุมารีเป็นเพียงเจ้าหญิงนอกบัลลังก์ที่ประทับอยู่ชายแดนบ้านนอก ไร้อำนาจ ไร้ประโยชน์ เจ้าชายภานุเทพ  มกุฎราชกุมาร แห่งเวิเทหะะ จึงทรงปฏิเสธและโยนพันธไมตรีที่จะกลายเป็นข้อผูกมัดนี้ไปยัง  เจ้าชายรามิล  ทูลหม่อมอาที่ทรงมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าชายภานุเทพเพียงห้าปี การปฏิเสธของเจ้าชายภานุเทพเป็นความยุ่งยากภายในวิเทหะ เพราะตามข้อตกลงตามที่ระบุไว้คือ 'เจ้าชายรัชทายาท' กับ 'อัคราชกุมารี'  ปัญหาคือ เจ้าชายรามิล ไม่ใช่คนที่ใครจะบังคับได้ และการจะเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับการอภิเษก น่าจะเป็นเรื่อง 'ยุ่งยาก'  มากกว่ามาก

พระราชาธิบดีแห่งวิเทหะ ไม่ได้ทรงมีแค่ความรักต่อพระอนุชาดุจดังโอรสขององค์เองเท่านั้น แต่ยังมีความเกรงพระทัย และลึกๆ ลงไปคือความเกรงกลัวในอำนาจที่เป็นรากฐานแห่งบัลลังก์  อำนาจเงียบแห่งหิมวันต์ ที่คนนอกวิเทหะไม่รู้ชัด คนในวิเทหะไม่รู้แจ้ง หรืออาจจะรู้แต่ไม่อยากยอมรับว่ามันได้แผ่ขยายอิทธิพลจากขุนเขาปัญจคีรีมาเป็นเงื้อมเงาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหลังบัลลังก์วิเทหะ   ปัญจคีรีของเผ่าหิมวันต์ ที่รวมตัวกันด้วยสัญญาเบญจภาคีแห่งห้าขุนเขา พระมารดาของเจ้าชายรามิล คือพันธไมตรีที่หิมวันต์ได้มอบต่อพระราชาธิบดีองค์ก่อนของวิเทหะ เกิดเป็นความสัมพันธ์ฉันทามิตรอันยาวนานที่ทำให้คนวิเทหะเคยชินว่าหิมวันต์เป็นส่วนหนึ่งของแคว้น  แต่สำหรับพระราชาธิบดี ทรงตระหนักถึงข้อสัญญาบางอย่างในครั้งนั้น ที่คนวิเทหะน้อยนักจะจำได้ แต่คนหิมวันต์ย่อมไม่ลืม  ทรงมีความประหวั่นพรั่นพรึงอยู่ลึกๆ หิมวันต์ที่นิ่งเงียบตลอดมา และยอมสนองให้กับข้อเรียกร้องของราชสำนักเสมอ   นั่นจะหมายถึงหิมวันต์ยอมอยู่ใต้อำนาจของวิเทหะจริงหรือ ในเมื่อ ....

วิเทหะ .. ทั้งหมด มิเคยกล้าหมิ่นแคลนเจ้าชายรามิลตรงๆ

วิเทหะ .. ต้องอาศัยความมั่งคั่งของหิมวันต์

วิเทหะ .. ทั้งหมด หยัดยืนมั่นคงได้โดยอาศัยหิมวันต์หนุนหลัง

คนหิมวันต์เป็นนักสู้ สภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเพราะเป็นเทือกเขาสูงและอากาศที่หนาวจัดของปัญจคีรี ได้หล่อหลอมให้คนหิมวันต์มีความแข็งแกร่งและทรหดเพียงใด คนวิเทหะที่ไม่เคยไปเยือนและสัมผัสความหนาวเย็นของที่นั่นย่อมไม่มีทางจะหยั่งความเข้าใจไปถึง  หัวใจนักสู้ของคนหิมวันต์ที่มีคำตอบในการเจรจาทางการทูตด้วยคำง่ายๆ เพียงสามคำ คือ  ได้  ไม่  และ  รบ!

....อำนาจ' ทั้งหมดที่วิเทหะมี เจ้าชายแห่งหิมวันต์ย่อมทรงทราบถี่ถ้วน แต่อำนาจแห่งหิมวันต์เล่า มีเท่าใด เป็นอย่างไร วิเทหะไม่เคยรู้กระจ่าง  นอกจาก เท่าที่เก็บจากราชองครักษ์ชาวหิมวันต์ ทีท่าโหดเหี้ยม กระหายเลือด ก็ด้วยท่าทีเฉกนั้นกระทำให้ผู้พบเห็นพรั่นออกปาก.. คนเถื่อน ..ไม่มีใครรู้วิธีรบแบบ 'คนเถื่อนบนภูเขา' นอกจากที่เล่าลือกัน...

ที่วิเทหะรู้จักหิมวันต์ จึงแค่ความผิวเผินของคนไม่รู้จริง .. คนเถื่อน คนภูเขา อาศัยอยู่ในโพรง !

คนวิเทหะรู้ว่าเจ้าชายรามิลเป็นอย่างไรเมื่อประทับอยู่ที่วิเทหะ ตามที่พอพระทัยจะให้เห็น แต่ไม่เคยมีใครรู้ว่าทรงเป็นอย่างไรเมื่อเสด็จสู่ 'บ้าน' ที่หิมวันต์  รังของเหล่าอินทรีที่คนวิเทหะประเมินว่าเป็นพวกคนเถื่อนที่ด้อยค่าเกินกว่าจะให้ความสนใจ  ที่ควรจะรู้ถึงที่มาแห่งอำนาจอันแท้จริง..ที่ไม่ใช่มรกตเพชรพลอย ที่ควรจะรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน .. ครองอำนาจ  คนวิเทหะจึงไม่รู้  

'ของขวัญที่เราให้แก่เด็กอ่อนเป็นชิ้นแรกคือกริช ต่อมาคือม้า และถ้าเราจะต้องตายกันทั้งหมด พ่อแม่จะต้องฆ่าลูกของตัวก่อน เราไม่เคยรอศัตรูมาฆ่าให้ '  คำที่รับสั่งสงบ หากความหมายทำให้คนวิเทหะเยือกในอก 'ฆ่าฤาถูกฆ่า' เป็นปกติเสมอกันของเผ่าหิมวันต์ ความแข็งแกร่งแห่งจิตเฉกนั้นทำให้ครองยอดขุนเขาปัญจคีรีได้

.........

 'ผู้ชายหิมวันต์ถ้าไม่เป็นนักรบ ควรตาย!' นั่นคือสิ่งที่ชาวหิมวันต์ต้องรับรู้

'คนที่จะเป็นหัวหน้าเผ่าถ้าเก่งแค่คนในเผ่าก็ไม่สมควรเป็น'

อินทรีแม้จะทรงอำนาจเหนือปักษาทั้งปวง แต่ 'พญาอินทรี' ต้องยิ่งกว่า

เจ้าชายรามิลเท่านั้นที่ทรงทราบว่าถูกบ่ม กรำ มาเท่าใด กว่าจะทรงได้รับคำรับรองจากทุกเผ่า

'เราพอใจ' 

.........

คนหิมวันต์พูดสั้นมั่นคง คนหิมวันต์ทั้งหมดพร้อมที่จะพูดคำเดียวกัน

ถ้า 'ให้' ให้โดยไม่มีข้อแม้  ถ้า 'รบ' รบโดยไม่ต้องคิดหาเหตุผล 

'ไม่' เพียงคำเดียวจากเจ้าชายรามิล คือ.. ไม่ตลอดกาลและจะดังไปถึงหิมวันต์

การตามเสด็จพระราชาธิบดีศิขินสู่วิเทหะ  เจ้าหญิงศาศวัตตราทรงได้พบกับเจ้าชายสองพระองค์ เจ้าชายวิเทหะ และเจ้าชายหิมวันต์  แม้ในระยะแรกจะทรง 'เขม่น' เจ้าชายพระองค์หลัง แต่เจ้าหญิงผู้ทรงพระปรีชาย่อมเรียนรู้และซึมซาบเช่นเดียวกับคนวิเทหะ

...พระโฉมแห่งเจ้าชายภานุเทพ 'เจริญตา' ทีท่า พระอัธยาศัยนุ่มนวลเป็นที่ปลาบปลื้มต่อผู้พบเห็น ทว่า .. เจ้าชายรามิลกลับทรง 'ให้ความรู้สึก' เฉกเช่นยามมองขุนเขา .. ยำเกรง หนักแน่น มั่นคง.. เสนาบดีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายทหาร 'เชื่อมั่น' ในเจ้าชายรามิล   พระราชาธิบดี ต้องมีคุณสมบัติให้ศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อผู้คน พระราชาธิบดีจะให้แค่พระโฉมและความรักเท่านั้นมิได้...

พระราชาธิบดีแห่งศิขิน ทูลหม่อมพ่อของเจ้าหญิงศาศวัตราย่อมทรงมีสายพระเนตอันแหลมคมจะแลเห็นมากยิ่งกว่า จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้พระธิดาโดยเสด็จเจ้าชายรามิลขึ้นสู่เขตหิมวันต์  เป็นหน้าที่ของอัคราชกุมารีที่จะเสด็จไปผูกมิตรเชื่อมไมตรีและถือโอกาสสำรวจรังของพญาอินทรีบนยอดเขาให้ประจักษ์  โดยมิทรงทราบความนัยแอบแฝงว่าคนหิมวันต์ -เจ้าชายรามิลที่นำเสด็จเจ้าหญิงต่างแคว้นขึ้นไปเยือนถึงรัง ทรงมีพระประสงค์ 

 'คำเดียวกัน' ของเบญจภาคี   "หิมวันตรานิ"   ....   " เราพอใจ " 

แต่การเสด็จสู่เแคว้นวิเทหะของเจ้าหญิงศาศวัตรา ก็กลับกลายเป็นความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งเมื่อเจ้าชายภานุเทพหลังจากได้พบประสบพระพักตร์เจ้าหญิงโฉมงามแห่งศิขิน ก็ปรารถนาจะเปลี่ยนพระทัยทวงคืนในพันธไมตรีที่เคยโยนให้ทูลหม่อมอา    

รัฐศาสโนบาย เพื่อความมั่นคงของพระอนุชา เจ้าชายศิขรินทร์ ในตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแห่งศิขิน หัตถ์แห่งอำนาจที่จะช่วยค้ำจุน เจ้าหญิงศาศวัตรา จะต้องทรงเลือก ด้วยหน้าที่ด้วยสติปัญญาและหรือพระหฤทัยขององค์เอง

ความรัก หรือ อำนาจ ทุกคนล้วนต้องเลือก 

Smiley Smiley  Smiley Smiley Smiley

รักมากค่ะนวนิยายเรื่องนี้ เคยอ่านครั้งแรกเมื่อตอนยังเด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นแบบให้ชื่นชอบนวนิยายแนวเจ้าหญิงเจ้าชายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้รักการอ่านหนังสือนวนิยายด้วย ในบรรดาเจ้าชายของ ลักษณวดี เจ้าชายรามิลองค์นี้ล่ะ เท่ห์สุดๆ  เพราะถึงจะไม่ใช่พระราชาธิบดีแต่ก็ครองอำนาจสำคัญไว้ในอุ้งหัตถ์  สายตาของพญาอินทรีบนยอดเขาสูง มีหรือจะมองไม่รู้ดูไม่เห็นอะไรในแผ่นดินเบื้องล่าง แม้พระราชาธิบดีจะทรงรักมาก แต่ถึงอย่างไรพระโอรส ก็ต้องมาก่อนพระอนุชา หนทางการลิดลอนอำนาจด้วยการปิดล้อมปัญจคีรีมีหรือจะไม่รู้เท่าทัน  แต่คนอย่างเจ้าชายรามิลน่ะรึ จะทรงหวั่น 

'หิมวันต์ไม่อดตายง่ายๆ เพราะเราชินต่อการที่จะอด'  

'วิเทหะซิ อดไม่ได้นาน เพราะชินต่อการที่จะฟุ่มเฟือย'

โดยคุณสมบัติก็อย่างเท่ห์น่ะนะ โดยคุณลักษณะของคนภูเขา และกิริยาการกระทำ  'สีพระพักตร์ไม่สบพระทัย' 'พระโอษฐ์จ้าน' 'ไม่เคยไว้พระพักตร์ผู้ใด' (โดยเฉพาะกับเจ้าชายภานุเทพ) ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่

ชอบทั้ง เจ้าชายรามิล เจ้าหญิงศาศวัตรา ชอบตัวละครคมในฝักอย่างพระราชาธิบดีศิขิน  ชอบพระราชาธิบดีวิเทหะที่มีเหตุมีผล และไม่โง่ ชอบเจ้าหญิงอุตรอุษาภาคินี  เจ้าชายศิขรินทร์  โดยเฉพาะรายหลังนี้ ความรักความผูกพันที่มีกันสองพี่น้อง 'ชายศิกับพี่หญิง' ตอนเสด็จจากคันธามาสเข้าวังทำเสียน้ำตาไปเยอะ อีกรายที่ขาดไม่ได้เพราะอ่านแล้วเรียกรอยยิ้มได้เสมอและบางครั้งก็อดน้ำตาซึมในความจงรักภักดีอย่างสูงสุดของนางไม่ได้ นั่นคือ คุณพระพี่เลี้ยงเกสร  ยังมีคุณข้าหลวงโกสุมตี  ที่มักต่อปากต่อคำกับเจ้าชายรามิล (แต่ไม่เคยชนะ)   เจ้าคุณมหาดไทย เจ้าคุณกลาโหม แต่ละคนเราชอบมาก  องค์รานีแห่งศิขินที่เป็นเจ้าหญิงจากอุตตรปุระไม่ค่อยชอบเท่าไหร่แต่พอเข้าใจเหตุผลของพระนาง สรุป เรื่องนี้เกลียดอยู่คนเดียวคือเจ้าชายรูปงามนามภานุเทพ  โดนเจ้าชายรามิลจิกกัดทีไร แม้จะแสบทรวงแทน แต่ก็สะใจดี  

ทั้งเรื่องความมั่นคงของแคว้น และความมั่นคงในอำนาจส่วนตนที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษในช่วงท้ายของเรื่อง ทำให้เรื่องนี้สนุกมากและยังส่งผลให้รู้สึกดีมากๆ กับคำว่า 'เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน'  มีคำพูดมากมายหลายสิ่งกับการเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย  เจ้าผู้ครองแผ่นดิน ที่ค่อนข้างกินใจ พลอยทำให้นึกเทิดทูนไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเราด้วย (ตอนอ่าน มงกุฎที่ไร้บัลลังก์ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน)

ความรัก.. แม้ไม่มีคำเอื้อนเอ่ยออกมาตรงๆ  แต่โดยความนัยของถ้อยคำที่พูดมา โดยการกระทำที่มีให้ก็เป็นการ 'บอกรัก' ที่ชัดเจน  ขุนเขาปัญจคีรีขาวโพลนไปด้วยหิมะและภูมิอากาศหนาวจัด แต่ที่ใดมีรักที่นั่นมีความสดใสและอบอุ่นเสมอ   (โรแมนติกมาก)

เมื่อดอกไม้สยายกลีบ ตาราจะชื่นชม เมื่อดอกไม้ร่วงหล่น ฟ้าจะเหงา

เมื่อเราเดียวดาย ตาราจะเป็นเพื่อนเรา เมื่อเราเป็นเถ้าจะกลับไปรวมเป็นตารา

 

Create Date :18 สิงหาคม 2556 Last Update :6 มีนาคม 2557 1:02:29 น. Counter : 5143 Pageviews. Comments :15