bloggang.com mainmenu search

  

เรื่องย่อ จากปกหลัง

ราตรีประดับดาว...เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

มีความหมายอย่างยิ่งต่อเกด สาวน้อยชาวเมืองเพชรบุรี

เมื่อเปลี่ยนชีวิตจากหญิงสาวชาวบ้านท่าหิน

มาสู่ตำแหน่งภรรยาเอกของคุณนาถ ...พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท

ทั้งเกดและคุณนาถต้องเผชิญปัญหาชีวิต และอุปสรรคนานัปการในช่วงความผันผวนทางการเมือง

ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และกบฏบวรเดช ในพ.ศ.๒๔๗๖

กว่าจะลุล่วงถึงเป้าหมายได้อย่างหมดจดงดงามในบั้นปลาย

คำนำสำนักพิมพ์ทรีบีส์ (พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๗)

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นสัจธรรมที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุ ชีวิตที่เกิดมาแต่ละชีวิต มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้แต่ละคนมีความเป็นไปอย่างไม่อาจหลีกหนีปัญหาที่เกิดขึ้นมาได้...เช่นเดียวกับตัวละคนใน "ราตรีประดับดาว" 

วิถีแห่งชีวิตของ เกด สาวน้อยจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกลิขิตให้ต้องเข้ามาเวียนวนกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงผกผันต่างๆ ของครอบครัวตนเองกับนายทหารหนุ่มที่มีอนาคตก้าวไกล แต่ก็มีชีวิตที่ต้องประสบกับความเป็นจริงเรื่องปัญหาต่างๆ รอบด้าน ... ความรัก ความอดทน ที่สามารถนำพาเธอไปสู่ความสำเร็จในชีวิตบั้นปลาย

นับเป็นตัวอย่างของครอบครัวไทยในยุคที่ผู้หญิงยังต้องยึดมั่นอยู่กับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีอยู่ ... ว.วินิจฉัยกุล นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยรัชการที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ บรรจงเรียงร้อย 'ราตรีประดับดาว' อย่างสวยงามและชวนติดตาม...

 ...............

การที่เราเติบโตขึ้นมาในยุคนี้ ทำให้การอ่านเรื่องราวของแม่เกดเป็นเรื่องน่าเวทนา สำหรับผู้หญิงไทยสมัยเก่าก่อน ที่ต้องเป็นช้างเท้าหลัง ต้องพึ่งพาฝากชีวิตไว้กับผู้ชาย และเพราะเหตุนั้นผู้หญิงจึงต้องเจ็บปวดและอดทนอดกลั้น เพราะผู้หญิงไทยสมัยก่อนนั้น ยากนักที่จะอยู่ได้ลำพังโดยปราศจากผู้ชายไม่ว่าจะในเยาว์ที่มีพ่อแม่ครอบครัว หรือในวัยออกเรือนที่ต้องมีสามี  ผิดกับสมัยนี้ที่ผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงดี ผู้หญิงพึ่งพาตัวเองได้ จึงขึ้นคานกันบานตะไท

นวนิยายเรื่องนี้ที่ซื้อมาก็เพราะความดึงดูดใจของชื่อเรื่องที่ชวนให้เข้าใจว่าคงจะโรแมนติกมากแน่ๆ  "ราตรีประดับดาว" และเมื่อผู้ประพันธ์เป็น ว.วินิจฉัยกุล ก็ชวนให้นึกถึงความละเมียดละไมของ "รัตนโกสินทร์" อ่านปกหลังก็เรียกร้องความสนใจมากโข แต่ก่อนจะได้มีเวลาอ่านนิยาย ก็ไปอ่านพบวิจารณ์จากที่ไหนสักแห่งว่าพระเอกของเรานั้นมี "เมียสองต้องห้าม" อารมณ์อยากอ่านก็หดหายเป็นปลิดทิ้ง จึงทิ้งนิยายเรื่องนี้ไว้เสียนาน ถึงเราจะคุ้นเคยกับละครพีเรียดที่เห็นๆ อยู่ว่า เจ้าขุนมูลนายสมัยก่อนนั้นจะต้องมีทั้งภรรยาเอก ภรรยารอง และไหนจะนางเล็กๆ อีก แต่ในบรรดาที่เราเห็นอยู่นั้นมักจะเป็นบรรดา ท่านเจ้าคุณรุ่นแก่ ในขณะที่พระเอกนั้นยังเป็นหนุ่มหล่ออนาคตไกลที่รักเดียวใจเดียว พอได้พบรัก ฟันฝ่าอุปสรรค ครองรักคู่กันกับนางเอกเรื่องก็ถึงตอนอวสาน  แม้ตามสภาพสังคมยุคนั้น ถ้าคิดเอาตามเหตุผลความเป็นจริง พระเอกเหล่านั้นก็คงต้องเจริญก้าวหน้า มีเมียรองเมียเล็กตามมาไม่ต่างจากผู้ชายที่เป็นชนชั้นขุนนางส่วนใหญ่ แต่นั่นมันก็ไม่ได้อยู่ในเรื่องให้เรากระทบกระเทือนใจได้แล้วล่ะ

ดังนั้นการที่ได้ทราบว่าพระเอกเรื่องนี้ มีเมียสอง  เอ่อม.. ไม่อยากจะอ่านขึ้นมาเลย

แต่ .. เมื่อเชื่อฝีปากกากันแล้วกับ ว.วินิจฉัยกุล นี่ก็เป็นความท้าทายหนึ่ง ว่าจะเขียนอย่างไรไม่ให้คนอ่านนึกชังน้ำหน้าพระเอกได้ล่ะ  ผู้อ่านท่านอื่นคิดอย่างไรไม่รู้  แต่ผู้อ่านคนนี้ อ่านแล้วก็หนีไม่พ้นชังน้ำหน้าพระเอกตามคาด  สามวันจากนารีเป็นอื่น  ผู้ชายที่ตระบัดสัตย์ผิดคำสาบานที่ให้ไว้กับภรรยา ถึงจะเป็นถึง คุณหลวง คุณพระ และเจริญก้าวหน้าถึงขั้นเป็น พันเอกพระยา ก็ไม่อาจจะรู้สึกนับถือในน้ำใจเนื้อแท้ขึ้นมาได้ เพราะส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่พระเอกกระทำคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เพศชายที่ในยุคนั้นถือเป็นเพศสูงกว่า เหนือกว่า ผู้หญิงคือฝ่ายที่ต้องยอมรับและเดินตามหลัง ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น  นังเมียน้อยก็ใช่จะน่ารักน่าสงสารประมาณว่าน่าเห็นใจไร้ที่พึ่ง  เพราะอินาง น่าตบมากในทุกจังหวะของชีวิต เกลียดนังเมียน้อยเท่าไหร่ ยิ่งช่วยส่งเสริมความน่าชังให้กับพระเอกมากขึ้นเท่านั้น  

แต่ที่น่าเจ็บใจกว่าคือ เราก็ยอมรับพระเอกได้อยู่นั่นเอง ยอมรับว่านี่คือธรรมดาของผู้ชาย ยอมรับว่านี่คือผู้ชายสมัยเก่าก่อน การมีเมียมากกว่าหนึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา มิหนำซ้ำ ยังคอยเอาใจช่วยพระเอกให้แม่เกดใจอ่อนยอมรับสามี ลุ้นแล้วลุ้นอีกให้กลับมาคืนดีครองคู่ลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เหล่านี้จะอะไรซะอีก ถ้าไม่ใช่ฝีมือการเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล ที่สามารถจะหว่านล้อมเราให้ยอมรับในความผิดพลาดไม่ว่าจะด้วยความโง่เขลา ความลุ่มหลง หรือจะด้วยชะตากรรม อะไรก็แล้วแต่ เรายอมรับและเอาใจช่วยให้คุณนาถ หรือพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท ได้รับโอกาสจากแม่เกด ให้ได้กลับเข้ามาในเส้นทางสายชีวิตสายเดิม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน อย่างที่มันควรจะเป็นมาแล้วตั้งแต่แรก 

ที่นอกเหนือจากความขมขื่นในหัวอกผู้หญิงสมัยก่อนที่ต้องจำยอมแบ่งปันสามีให้กับหญิงอื่นเพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสภาพสังคมความเป็นอยู่ในยุคนั้นแล้ว สิ่งหนึ่งทีหนังสือเล่มนี้สร้างความรู้สึกดีๆ ให้มากกว่าที่คาดคือเรื่องราวในยุคของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (ที่ยังไม่เต็มใบ)

อืม จะว่าไปก็มีอยู่มากเหมือนกันแหละ เรื่องที่จะนับถือพระเอก  พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท นั่นก็คือเรื่องหน้าที่การงาน มุมมองความคิด และการพยายามวางตัวอยู่ในจุดยืนของตัวเองท่ามกลางเกลียวคลื่นอันรุนแรงในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความซื่อสัตย์จงรักภักดี ความหนักแหน่น ยืดหยัดมั่นคงในความคิด การตัดสินใจที่เลือกกระทำ นี่เป็นคุณสมบัติดีๆ ที่น่านับถือของพระเอก (ซึ่งถ้าจะเป็นอย่างนี้ในเรื่องส่วนตัวด้วย จะเลิศเลอมาก)  

"เดช เรื่องที่แกจะชวนกันไปลงชื่อทำงานกับแก แกบอกว่าแกทำสำเร็จแล้ว แต่ความสำเร็จตามความหมายของแกกับกัน เป็นคนละเรื่องกัน กันไม่เชื่อว่าเรื่องที่เริ่มต้นด้วยเลือด จะจบลงด้วยสันติ กันไม่มีฝีมือพอจะไปล้างมันให้หมดจดลงได้"

............

" งั้นก็ฟังนะ เดช กันขอพูดกับแกหนเดียวพอ เราจะได้ไม่ต้องมีปากเสียงกันยืดเยื้อ กันเชื่อว่าทางฝ่ายแกทำได้สำเร็จ แกได้คนสำคัญๆ ของสยามไว้ในมือ ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ทัังทหารฝ่ายคุมกำลัง กันไม่คิดว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านจะทรงยอมให้เลือดท่วมท้องช้าง ด้วยการทรงนำกำลังทหารที่ยังจงรักภักดีต่อท่าน มาหักโค่นพวกแกลงไปให้ถึงที่สุด แต่กันไม่เชื่อว่าทางฝ่ายแกจะร้างดีม็อกคระซีขึ้นมาได้สำเร็จด้วยวิธีนี้ต่างหาก กันถึงพูดว่า 'ไม่สำเร็จ'

............

"กันมีเหตุผลสามข้อ ความสำคัญของดีม็อกคระซี คืออำนาจการปกครองอยู่ที่ราษฏร ไม่ใช่ทหาร แต่เรื่องที่พวกแกทำ ราษฏรรู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย นี่ข้อหนึ่งละ ข้อสอง ทหารเป็นผู้ป้องกันรักษาชาติ ได้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยากันมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า กลับมากบฏเสียเอง ข้อสาม อำนาจที่ได้มารวดเร็วเกินไป จะทำให้แบ่งสันปันส่วนกันไม่ลงตัว"

.............

ในคำพูดของพระเอกพระยา และรวมถึงอีกหลายๆ ถ้อยคำ การบรรยาย หรือ คำพูดของตัวละครอื่น ที่กลั่นกรองมาเป็นนวนิยายเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ก็ทำให้รู้สึกสะท้อนถึงหัวอกพระเจ้าแผ่นดิน และนั่นก็ทำให้น้ำตาซึม แม้การพาดพิงถึงพระองค์ท่านจะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดแต่ก็ทำให้ซาบซึ้งอย่างมากในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมชาวไทย ชวนให้ระลึกถึงคิดคำนึงไปไกลอีกว่า ในความเป็นจริงพระองค์จะทรงรู้สึกเช่นไร

"ฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้"

เป็นพระราชาธิบาย ที่พระราชทานแก่พระภาติยะ พระวงรงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

"เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรี มีสัจจะ"

นั่นคือความกล้าหาญของสตรีสูงศักดิ์ พระบรมราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระมารดา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าวงรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระราชนัดดา กล่าวถึงเหตุการณ์ในการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตอนหนึ่งว่า

"ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จและหญิงอาภา ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูงที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้น เพราะเราทุกๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพ ต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้น ฉันก็เห็นด้วยทันที"

ทำให้นึกถึงคำว่า "เลือดขัตติยา" น่ะค่ะ ทั้งพระราชหัตเลขาจากสวนไกลกังวล หัวหิน ถึงผู้รักษาการฝ่ายพระนคร  การบรรยายฉากเสด็จกลับพระนครโดยรถไฟ ที่มีราษฏรมาเข้าเฝ้า และ "น้ำตา" ของราษฏรคนหนึ่ง ที่ถูกเขียนไว้ให้เป็นความสะเทือนจิตใจ แม้แต่ในหัวใจของคนรุ่นใหม่อย่าง "ณัฐ" ตัวละครที่เป็นนักหนังสือพิมพ์และปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเมือง

....เขาไม่ได้คาดคิดด้วยว่า บรรยากาศของความเศร้าสร้อยในคืนนั้น จะติดตามมาหลอกหลอนในความฝันของเขา เป็นเวลานานนับปีหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ไปจนกระทั่งถึงวันเสด็จสวรรคต....

 ตลอดมาจนถึงพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงขอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธเสรีภาพในการปกครองอย่างแท้จริง และท้ายที่สุด พระราชหัตเลขาที่พระองค์มีมายังรัฐบาลเพื่อให้เผยแพร่แก่ราษฎรสยาม กับแค่ตัวหนังสือแต่ก็ทำเอาน้ำตาเอ่อเพราะรู้สึกซาบซึ้งถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีความห่วงใยต่ออาณาประชาราษฏ์ 

" และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป...."

มันสะเทือนใจนะคะ ในยามนั้น พระองค์จะรู้สึกอย่างไร คงยากที่ราษฏรเดินดินอย่างเราๆ จะเข้าถึงหัวอกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้

นี่เป็นการอ่านนิยายนะคะ แต่อินซะเหลือเกิน อินจนอยากจะหาหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองสมัย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๒ ทุกเล่มที่เป็นหนังสือประกอบการค้นคว้าของ ว.วินิจฉัยกุล ในการเขียนนิยายเรื่องนี้มาอ่าน  การที่บุคคลสำคัญทางการเมืองต่างๆ ที่เราคุ้นเคยชื่ออยู่ในวิชาประวัติศาสตร์สมัยเด็กๆ มามีบทบาทกันให้ควั่กในนิยายเรื่องนี้ โดยที่ผู้ประพันธ์สามารถสร้างภาพกลางๆ ไม่ลงลึกไปไม่ว่าจะในคำพูดในรายละเอียดบุคลิก ทำให้พวกท่านเหล่านั้นยังเป็นเพียงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือการโน้มนำความคิดว่าท่านดีหรือเลว ทำถูกหรือทำผิด แต่สนุกดีที่่มีท่านปะปนอยู่ในนิยาย ซึ่งส่วนนี้ขอยกนิ้วให้กับความประณีตของผู้ประพันธ์

ดังนั้น "ราตรีประดับดาว" จึงเป็นอีกหนึ่งในนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล ที่ ...ไม่เคยทำให้ผิดหวัง

 

 

 

Create Date :11 สิงหาคม 2556 Last Update :11 สิงหาคม 2556 14:23:10 น. Counter : 15571 Pageviews. Comments :9