bloggang.com mainmenu search


การวางจำหน่าย LG Optimus 3DMax เปรียบเสมือนการต่อยอดความสำเร็จแก่ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มของแอลจี ที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ในการใช้งานสมาร์ทโฟน 3มิติ ที่มีรูปลักษณ์สวยงามขึ้น กับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังรอคอยกับคอนเทนต์ 3มิติ ที่เริ่มมีเข้ามาให้ใช้งานกันมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทำตลาดนั้น เรียกได้ว่าต้องสู้กับรุ่นเก่าของแอลจีเองที่ปรับลดราคาลงด้วย

       ด้วยการปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้บางลง เพิ่มประสิทธิภาพซีพียู แรม ระบบการเชื่อมต่อ เพิ่มแบตเตอรีเข้ามาเล็กน้อย ทำให้ความสามารถในการใช้งานโดยรวมของ Optimus 3DMax และ Optimus 3D นั้นแทบไม่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดที่น่าเสียดายคือรวมรวม MicroHDMI ที่แต่เดิมมีเข้าไปกับพอร์ต USB ทำให้ต้องหาสาย MHL มาใช้ในการต่อออกจอภาพ จากเดิมที่ใช้สาย microHDMI ต่อได้เลย

การออกแบบและสเปก



แอลจีให้ข้อมูลว่าลักษณะการออกแบบของ Optimus 3DMax จะถอดแบบมาจากรุ่นยอดนิยมรุ่นหนึ่งของแอลจีที่วางจำหน่ายมาก่อนหน้านี้อย่าง Optimus Black ซึ่งทำให้ตัวเครื่องบางลงเมื่อเทียบกับ Optimus 3D รุ่นก่อนหน้านี้ โดยรอบตัวเครื่องจะเป็นเมทัลลิก ผสมกับตัวเครื่องพลาสตก ขนาดรอบตัวเครื่องอยู่ที่ 128.8 x 68 x 9.98 มิลลิเมตร น้ำหนัก 148 กรัม มีให้เลือก 2 สีคือ ขาว และ ดำ

ด้านหน้า - หลักๆแล้วจะเป็นหน้าจอ 3D ที่ใช้เทคโนโลยี Nova Display ให้ความสว่าง 600 nit (แอลจีเชื่อว่ายิ่งสว่างจะช่วยให้ใช้งานกลางแดดได้ดีขึ้น) ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด 480 x 800 พิกเซล ส่วนบนหน้าจอมีลำโพงสนทนาที่พาดอยู่บริเวณขอบเครื่อง ถัดลงมาเป็นโลโก้แอลจี เซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง ไฟแสดงสถานะ และกล้องหน้าความละเอียด 0.3 ล้านพิกเซล

       โดยในส่วนของการแสดงผลแบบปกตินั้น จะทำงานในรูปแบบ 2D ซึ่งสีที่ให้ค่อนข้างสมจริง มุมมองในการใช้งานค่อนข้างรอบด้าน แต่เมื่อสลับเป็นโหมด 3D ความสว่างของหน้าจอจะลดลง รวมถึงสีที่ให้ และมุมมองที่ถูกจำกัดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้งานโหมด 3D ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะได้

       ส่วนล่างหน้าจอมีปุ่มสัมผัสของการเรียกใช้งานเมนู โฮม ย้อนกลับ และค้นหา ซึ่งในจุดนี้จะมีไฟแสดงขึ้นมาเพื่อช่วยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นในเวลากลางคืน และจากความที่ตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่ ทำให้ไม่ส่ามารถใช้งานได้ด้วยมือเดียวได้อย่างถนัด



ด้านหลัง - ส่วนของฝาหลังบริเวณขอบล่างจะมีลักษณะนูนขึ้นมาเล็กน้อย และยิ่งใช้งานตัวเครื่องสีขาวจะทำให้ส่วนนี้สกปรกง่ายกว่าจุดอื่น ซึ่งตรงที่มีการเจาะรูฝาหลัง 2 จะเป็นส่วนของลำโพง ที่น่าสนใจในสจุดนี้คือกล้องความละเอียดสูงสุด 5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ที่สามารถถ่ายภาพ 3D ได้จากกล้อง 2 เลนส์ที่แอลจีเรียกระบบนี้ว่า Stereoscope โดยมีโลโก้และตัวอักษรแอลจีสีเงินพาดอยู่ข้างๆ

       เมื่อเปิดฝาหลังออกมาด้วยการงัดจากขอบล่างของเครื่องจะพบกับแบตเตอรีขนาด 1,540 mAh ที่มีช่องใส่ซิมการ์ดอยู่ส่วนบน พร้อมกับช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดที่รองรับการถอดใส่แบบ HotSwap




ด้านซ้าย - เป็นที่อยู่ของปุ่มปรับระดับเสียง และพอร์ตไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และสาย MHL เพื่อต่อออกจอ ที่มีฝาเลื่อนปิด ด้านขวา - เป็นปุ่มเรียกโหมดการใช้งาน 3D




ด้านบน - มีปุ่มเปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - มีช่องไมโครโฟนสนทนาเท่านั้น



       สำหรับสเปกภาพในของ LG Optmus 3DMax มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ 1.2 GHz RAM 1 GB หน่วยเก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 8 GB รองรับไมโครเอสดีการ์ดสูงสุด 32GB ตัวเครื่องมีให้เลือก 2 เครือข่ายคือ 850/2100 MHz และ 900/2100 MHz ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 2.3.6 สามารถเชื่อมต่อไวไฟ 802.11 b/g/n บลูทูธ 3.0 GPS วิทยุFM และใช้เป็นโมบายฮ็อตสปอตได้

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

สำหรับฟีเจอรทั่วๆไปของ Optimus 3DMax นั้นแทบไม่แตกต่างจาก Optimus 3D เลย ดังนั้นถ้าต้องการอ่านอย่างละเอียดสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ Review - Optimus 3D ซึ่งเชื่อว่าต่อจากนี้ความนิยมของเครื่องทั้ง 2 รุ่นจะขึ้นอยู่กับ คอนเทนต์ และเกม 3D ที่จะทยอยเข้ามาให้ดาวน์โหลดมากกว่า



       เริ่มกันจากหน้าจอล็อกสกรีน ที่แสดงเวลา วัน เดือน และเครือข่ายที่ใช้ ซึ่งในจุดนี้ถ้ามีการแจ้งเตือนอย่างสายที่ไม่ได้รับ ข้อความที่ยังไม่เปิดอ่านก็จะแสดงผลด้วย เช่นเดียวกับสถานะการขาร์จแบตเตอรีที่จะขึ้นแสดงเปอเซนต์บอกว่าใกล้เต็มหรือยัง สามารถปลดล็อกได้โดยการสไลด์ขึ้น

       ในส่วนของหน้าจอหลักประกอบไปด้วย 5 หน้าที่ให้ผู้ใช้เลือกนำวิตเจ็ตมาใส่ได้เอง โดยจะมีแถบไอค่อน 4 อันด้านล่างประกอบไปด้วยโทรศัพท์ รายชื่อ ข้อความ และแอปพลิเคชัน ยืนพื้นอยู่ในทุกๆหน้า ขณะที่ขอบบนแสดงผลการแจ้งเตือน รูปแบบการเชื่อมต่อ คลื่นโทรศัพท์ แบตฯ และเวลา

       เมื่อเลื่อนแถบแจ้งเตือนลงมาจะพบกับไอค่อนสำหรับเปิด-ปิดเสียง ไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส และการเชื่อมต่อดาต้า ถัดลงมาเป็นแถบควบคุมเครื่องเล่นเพลงที่สามารถสั่งเล่น และเปลี่ยนเพลงได้ทันที ไม่ต้องเข้าไปในโปรแกรมเพลงให้เสียเวลา ส่วนล่างให้แสดงข้อมูลการแจ้งเตือนต่างๆ



       สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาภายในตัวเครื่องจะประกอบไปด้วยระบบสำรองข้อมูล ตัวจัดการแฟลช จีเมล กูเกิลพลัส ละติจูด แผนที่ เพลส เพลยสโตร์ ออฟฟิศ ตั้งระบบรีโมทเข้าเครื่อง สมาร์ทแชร์ สมาร์ทเวิล์ด กูเกิลทอล์ก ค้นหาด้วยเสียง ยูทูป กล้อง หุ้น กระนำทาง แก้ไขวิดีโอ ข้อความ ข่าว ค้นหา แกลอรีภาพ เครื่องคิดเลข ตั้งค่า นาฬิกาปลุก โทรศัพท์ เว็บเบราว์เซอร์ บันทึก บันทึกเสียง ปฏิทิน เพลง ระบบจัดการไฟล์ ประวัติการโทร รายชื่อผู้ติดต่อ เครื่องเล่นวิดีโอ วิทยุเอฟเอ็ม พยากรณ์อากาศ อัปเดตเฟิร์มแวร์ และอีเมล



       นอกจากนี้ยังมีในส่วนของแอปพลิเคชัน 3D ที่แยกออกมาเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกม กล้องถ่ายภาพ 3D ระบบดูภาพ 3D คู่มือการใช้งาน แอปฯแปลงเกมให้กลายเป็น 3D โดยส่วนของคอนเทนต์เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่สมาร์ทเวิล์ด ซึ่งมีทั้งเกม แอปฯ และวิดีโอให้เลือกโหลด โดยทางแอลจีให้ข้อมูลว่าจะเพิ่มเกม 3D จาก Gameloft ให้ผู้ใช้ Optimus 3DMax ดาวน์โหลดไปเล่นกันฟรีๆ



       แอปพลิเคชันที่น่าสนใจสำหรับ Optimus 3DMax ที่ให้มาในเครื่องเริ่มกันตั้งแต่ระบบสำรองข้อมูล ที่ผู้ใช้สามารถเลือกสำรองการตั้งค่าระบบ ข้อความสั้น ข้อมูลการโทร การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ ปฏิทิน รายชื่อ วิตเจ็ต แอปพลิเคชันทั้งหมดได้ เพื่อเรียกคืนได้ ทั้งยังสามารถกำหนดเวลาที่จะให้ตัวเครื่องทำการสำรองข้อมูลตามที่เลือกไว้ได้



       การใช้งานตัวเครื่องทั่วๆไปอย่างใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ ใช้งานแฟลชได้รวดเร็ว (ความเร็วในการใช้งานสามารถดูได้จากวิดีโอรีวิวด้านล่าง) เครื่องเล่นเพลง มีระบบโชว์ปกอัลบั้ม ระบบเสียงดอลบี และสามารถสั่งเล่นไฟล์มัลติมีเดียผ่านระบบ DLNA ไปยังเครืองอื่นในเครือข่ายได้ตามปกติ



       โหมดโทรศัพท์ มาพร้อมปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่ มีระบบเดารายชื่อจากหมายเลขที่กด โดยสามารถเข้าไปดูรายการโทรย้อนหลัง รายชื่อผู้ติดต่อ และการแบ่งกลุ่มได้จากหน้านี้ด้วยเช่นเดียวกัน ในส่วนของหน้าจอสนทนามีปุ่มพักสายอยู่มุมซ้ายบน ตรงกลางแสดงภาพ ชื่อ และเบอร์ โดยมีปุ่มเรียกดูรายชื่อ วางสาย ปุ่มหมายเลข เปิดใช้งานบลูทูธ ปิดเสียง และเปิดลำโพงอยู่ส่วนล่าง ในการรับสายใช้งานสไลด์ปุ่มเพื่อรับ ปฏิเสธ และส่งข้อความหาได้



       คีย์บอร์ดของแอลจี ยังมีการวางเลย์เอาท์ในรูปแบบเดิม คือแบบ 3 แถว กล่าวคือใน 1 ปุ่มจะมีตัวอักษรภาษาไทย 2-3 ตัวอักษร - สระ ซึ่งทำให้ต้องใช้การกดซ้ำแทนการใช้ปุ่ม Shift ส่วนคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษเป็นแบบ 3 แถวตามปกติ แต่ทั้งนี้เนื่องจากเป็นแอนดรอยด์ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดเวอร์ชันอื่นๆมาใช้งานได้จากในเพลยสโตร์



       ส่วนของการตั้งค่ายังเป็นแบบมาตรฐานของแอนดรอยด์ 2.3 เพียงแต่จะมีเพิ่มในส่วนของโหมดประหยัดพลังงาน และตัว Gesture และรูปแบบการเชื่อมต่อ ที่แยกออกมาให้ปรับแต่งได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่เหลือก็พวกการตั้งค่าการเชื่อมต่อ การโทร ระบบเสียง หน้าจอ พิกัดและความปลอดภัย บัญชีผู้ใช้ พื้นที่เก็บข้อมูล ภาษาและคีย์บอร์ด วันเวลา และรายละเอียดเครื่อง



       โดยในโหมดการเชื่อม่อสามารถเลือกได้ว่าจะให้การเชื่อมต่อพอร์ตยูเอสบีเข้ากับคอมพิวเตอร์เป็นการชาร์จเพียงอย่างเดียว หรือเข้าถึงพื้นที่เก็บข้อมูล ซิงค์ข้อมูลกับพีซี และปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีหมวดการอัปเดตเฟิร์มแวร์ที่คาดว่าจะมีให้อัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 4.0 ในอนาคต



       ขณะที่ระบบการเดาท่าทาง ไว้ใชสำหรับปิดเสียงเวลามีสายเข้าให้ทำการคว่ำเครื่อง หรือ เวลาตั้งนาฬิกาปลุก เมื่อพลิกโทรศัพท์ก็จะเป็นการปิดนาฬิกาปลุกเป็นต้น ส่วนระบบประหยัดพลังงาน สามารถตั้งได้ว่าจะให้เริ่มใช้เมื่อแบตเตอรีต่ำกว่ากี่เปอเซนต์ โดยจะเป็นในรูปแบบการปิดการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส แอนิเมชัน ความสว่างหน้าจอ ต่างๆ







       เมื่อเข้ามาโหมด 3D จะพบกับ 5 หัวข้อหลักคือเกมและแอปฯ คู่มือ ยูทูป คลังภาพ และกล้อง ซึ่งเมื่อกดเข้าไปก็จะเข้าสู่แอปพลิเคชันแต่ละอัน เหมือนเป็นหน้ารวมโปรแกรมที่เน้นการแสดงผลสวยงามมากกว่าการใช้งานจริง



       ในโหมดถ่ายภาพ - วิดีโอ 3D ผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับมิติความลึกของภาพได้ โดยความละเอียดของภาพนิ่งจะอยู่ที่ 3 ล้านพิกเซล และภาพเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 720p แต่อย่างที่รู้กันว่าเมื่อเซฟเป็นคอนเทนต์ 3D ก็ต้องใช้เครื่องที่รองรับคอนเทนต์ดังกล่าวในการรับชม หรือใช้การต่อ Optimus 3DMax เข้าสู่หน้าจอโทรทัศน์ 3D เพื่อใช้งานแทน



       ส่วนโหมดถ่ายภาพปกติ จะให้ความละเอียดภาพสูงสุดที่ 5 ล้านพิกเซล สามารถเข้าไปปรับแต่งสมดุลแสงขาว โหมดการถ่ายภาพ ใส่เอฟเฟกต์สี ตั้งเวลาถ่ายภาพ ซูม เปิด-ปิดแฟลช ได้ตามลูกเล่นของกล้องบนสมาร์ทโฟนทั่วไป



       ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 1,892 และ 4,652 ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน ทดสอบกราฟิกผ่าน Neocore อยู่ที่ 57.8 FPS Nenamark1 51.8 FPS และ Nenamark2 31.5 FPS BenchmarkPi ได้ 538 ms An3Dbench และ An3DBenchXL ได้ 6,603 และ 30,586 คะแนน

จุดขาย

       - ระบบแสดงผล 3D โดยไม่ต้องใช้แว่นตาในการรับชม และยังสามารถแปลงวิดีโอ/แอปฯ ให้เป็นโหมด 3D ได้ด้วย
       - ความร่วมมือกับ Gameloft ทำให้มีเกม 3D เข้ามาให้เล่นเยอะมากขึ้น
       - การดีไซน์ให้ตัวเครื่องบางลง พกพาได้สะดวกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของซีพียูให้ใช้งานได้รวดเร็วขึ้น

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

       - เนื่องจากหน้าจอขนาดเล็กทำให้เวลาใช้งาน 3D นานๆอาจเกิดอาการมึนศรีษะได้
       - ยังไม่มีกำหนดการอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 4.0 ออกมา
       - คอนเทนต์ 3D ที่เป็นวิดีโอยังหาได้ยาก ทำให้แทบไม่ได้ใช้ความสามารถในการใช้งานได้อย่างจริงจัง

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

อย่างที่กล่าวไปแต่ต้นว่าเครื่องรุ่นนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสพย์คอนเทนต์ 3D เท่านั้น แต่ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งานดังกล่าว ยังมีตัวเลือกอื่นๆในตลาดอย่างของแอลจีก็จะเป็น Optimus L7 ที่ให้ความสามารถใกล้เคียงกันในราคาที่ถูกกว่า เพราะด้วยความที่เป็นแอนดรอยด์เมื่อโหลดแอปฯมาใช้ความสามารถจึงแทบไม่แตกต่างกัน

       ซึ่งถ้าต้องการสมาร์ทโฟน 3D จริงๆ กับราคาวางจำหน่าย 16,900 บาท ของ Optimus 3DMax รุ่นนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงที่ไม่สูงมากเกินไป เมื่อเทียบกับการเปิดตัวรุ่นก่อนหน้าในราคาเฉียดๆสองหมื่นบาท แต่ในขณะเดียวกันถ้าตัดความเป็น 3D ออกไปสเปกของเครื่องรุ่นนี้ก็คล้ายกับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่ตกรุ่นจากการที่มีเครื่องที่ใช้ซีพียูควอดคอร์เข้ามาทำตลาดนั่นเอง

Create Date :20 มิถุนายน 2555 Last Update :20 มิถุนายน 2555 21:05:26 น. Counter : 2719 Pageviews. Comments :0