๑๐๐ ปี วัชรราษฎร์วิทยาลัย
เฉลิมพล อินทรเกษม
ย้อนหลัง ๕๓ ปี เมื่อผมเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัชรราษฎร์วิทยาลัย ปี พ.ศ.๒๕๐๑ หลังจากจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ๔ หรือ ป.๔ สมัยนั้นโรงเรียนจะมีนักเรียนชั้นละ ๒ ห้อง คือ ห้อง ก. และ ห้อง ข. นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในเมือง และบางส่วนมาจากต่างอำเภอ เช่น พรานกระต่าย คลองขลุง และ ขาณุวรลักษบุรี เป็นนักเรียนชายทั้งหมด ไม่มีนักเรียนหญิงเข้าเรียนเหมือนสมัยนี้ เขาจึงนิยมเรียกว่า โรงเรียนชาย ส่วนนักเรียนหญิง เรียนที่โงเรียนนารีวิทยา หรือ โรงเรียนหญิง
ครูที่สอนในสมัยนั้นเท่าที่จำได้มีสิบกว่าคนเห็นจะได้ รุ่นที่ผมเรียนมีครูใหญ่ชื่อ นายดุสิต ศิริพงษ์ ผู้ช่วยมีหรือเปล่าจำไม่ได้
ครูที่สอนเท่าที่จำได้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคือ ครูวสันต์ มุสิกะปาน (ยังอยู่) ครูรันดร ประดิษฐ์ (เสียชีวิต) ครูเสนอ เงินทอง (ยังอยู่) ครูพนม เงินทอง (ไม่ทราบ) ครูจงพิศ สุวรรณวัฒนา (ยังอยู่) ครูยุริน ศรลัมพ์ (เสียชีวิต) ครูฉะอ้อน อินทรสูตร (เสียชีวิต) ครูชวลิต เครือม้วน (เสียชีวิต) ครูธงชัย น่วมภา (เสียชีวิต) ครูมาโนช พูลเกสร (เสียชีวิต)
ครูสอนในระดับมัธยมปลาย ม.๔ – ม.๖ คือ ครูลำยง บ่อน้อย (ยังอยู่) ครูทัศนีย์ บ่อน้อย (ยังอยู่) ครูศศิธร ทองอยู่ (เสียชีวิต) ครูประไพ ทองอยู่ (ยังอยู่) ครูสุพรรณ โชติรัตน์ (ยังอยู่) ครูเสน่ห์ เกิดเทพ (เสียชีวิต) ครูวราห์ มุสิกะปาน (เสียชีวิต) ครูมณฑา สุรเดช (ยังอยู่) ครูสนิท แถมพยัฆค์ (ยังอยู่) ครูวรรณี ศุภอรรถพานิช
ระดับอุดมศึกษา ม.๗ – ม.๘ อาจารย์ใหญ่ นายบุญปลูก งามขำ (เสียชีวิต) มีอาจารย์ระดับปริญญาตรี จบใหม่บรรจุเข้ามาคือ อาจารย์สมศักดิ์ โสภณพินิจ (ยังอยู่) อาจารย์สุวิมล ไชยแก้ว (เสียชีวิต) อาจารย์โชติ แย้มแสง (ยังอยู่) อาจารย์พัฒน์ พินธุโยธิน (ไม่ทราบ) ทั้ง ๔ ท่านผมได้มีโอกาสอยู่รับใช้ที่บ้านพักครู ๑ ปี ครูพิสมัย ประทับศักดิ์ (ยังอยู่) นักการภารโรง คือ นายล้วน เกิดเทพ (เสียชีวิต) นายสวงษ์ หาดทราย (เสียชีวิต) นายจำลอง มาดเมฆ
สำหรับรายชื่อครูทั้งหมดที่นำเรียนมานั้น นักเรียนสมัยนั้นจะเรียก ครู ทุกคนว่า ครู (ซึ่งมีความหมายมาก สำหรับนักเรียนสมัยนั้น) สำหรับรายชื่อครูท่านอื่น ๆ ที่จำไม่ได้ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
การเรียนการสอนสมัยนั้น ส่วนใหญ่จะเข้มงวดกวดขันในเรื่องของกฎ ระเบียบ วินัย เป็นการปฏิบัติ นักเรียนจะเกรงกลัว และ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม้เรียว คือ คำตอบของครู ในการปกครองดูแลนักเรียน ผู้ปกครองทุกคนเข้าใจดีและเต็มใจปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อแม้ ถ้าผิดระเบียบ เช่น การเข้าแถวไม่ตรงเวลา การแต่งกายไม่ถูกระเบียบ การไว้ผมยาว การเที่ยวกลางคืน เป็นต้น แต่ครูทุกคนก็ยังปลูกฝังเรื่องของ จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ให้กับนักเรียนทุกคน ทุกระดับชั้น ทั้งในเวลาและนอกเวลา นักเรียนจะเกรงกลัวครู เคารพครู มากกว่าสมัยนี้ ทำให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัชรราษฏร์ แห่งนี้ จบออกไปแล้วสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี มีหน้าที่การงาน ประสพความสำเร็จในการประกอบอาชีพที่ดีทุกคน
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕๐๘ ที่ผมเรียนอยู่ในระดับ ม.ต้น – ม.ปลาย มีสิ่งที่ประทับตราและตรึงใจอยู่ ๒ – ๓ เรื่อง คือ
๑. เรื่องของการดนตรี ดนตรีของโรงเรียนสมัยนั้น เรียกวงดุริยางค์และแตรวง เวลามีกิจกรรมของโรงเรียน ของจังหวัด เช่น ประเพณีศาสนา แห่เทียน วันเฉลิมพระชนมพรรษา งานกีฬา กรีฑา จะใช้วงดุริยางค์ไปบรรเลง เวลามีงานนอกสถานที่ เช่น งานบวช งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ก็ใช้วงแตรวง ผมเป็นหนึ่งในวงดนตรีในสมัยนั้น ตั้งแต่ ตีกลองใหญ่พาเหรด ตีฉาบ เป่าแซกโซโฟน คาริเน็ต ทำให้ผมมีวิชาชีพติดตัวสามารถใช้ความรู้ประกอบอาชีพร่วมกับการรับราชการได้เป็นอย่างดี
๒. เรื่องกีฬา กรีฑา ในทุก ๆ ปี จะมีการแข่งขันกีฬานักเรียน โรงเรียนที่มาแข่งขัน มีทั้งระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา เพราะการแข่งขันจะแยกเป็นรุ่น ๆ มีรุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ทุกโรงเรียนสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ ถ้ามีนักกีฬาในแต่ละรุ่น สนุกสนานมากของเด็กสมัยนั้น นักกีฬา กรีฑา เมื่อได้คัดเลือกตัวแล้ว จะมีการฝึกซ้อมช่วงบ่าย ๆ ทุกวัน กองเชียร์ก็ลงซ้อมทุกวันเหมือนกัน เพราะกองเชียร์มีส่วนสำคัญมากสำหรับนักกีฬา กรีฑา ในเรื่องของขวัญและกำลังใจเวลาลงสนามแข่งขัน สนามแข่งขันคือ บริเวณหน้าศาลตัดสินเก่านั่นแหละ มี อัฒจรรย์ของแต่ละอำเภอ แต่ละโรงเรียน ผมก็มีโอกาสเป็นตัวแทนของโรงเรียนทั้งกองเชียร์และเป็นนักกรีฑา(วิ่ง ๔+๑๐๐ รุ่นใหญ่) ชนะด้วย จะบอกให้
ในที่สุดนี้ก็คงจะมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เล่าความหลังที่ผ่านมาเมื่อ ๕๓ ปีเพียงเท่านี้ หวังว่าคงทำให้พวกพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ทราบแล้ว ทำให้หวลรำลึกเหตุการณ์บางช่วงบางตอนได้อีกไม่มากก็น้อยนะครับ
ในโอกาสที่โรงเรียนวัชรราษฏร์วิทยาลัย (กำแพงเพชรพิทยาคม) มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ก็อยากจะฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ทุกคน ให้ช่วยกันพัฒนาเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป ให้ตระหนักถึงสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวม ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในขณะนี้ คือ การรักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงคงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไปด้วย และ ขอให้ชาวแดง-ขาว ทุกคนประสบแต่ความสุข ความสมบูรณ์ ในทุกสิ่งที่ปรารถนา ทุกประการ

Create Date :26 กันยายน 2554
Last Update :26 กันยายน 2554 23:49:25 น.
Counter : Pageviews.
Comments :0
- Comment