เรื่องที่อยากเล่า?
ประชุม อินทรโชติ
ผมเป็นเด็กที่เติบโตมาจาก บ้านหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เรียนหนังสือจากโรงเรียนวัดหนองปลิง ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดราชพฤกษ์ศรัทราราม ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายออกไปตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ที่อยู่ปัจจุบันนี้ เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จึงมาสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัชรราษฎร์วิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เข้าศึกษาใน ชั้นมัธยม 1 เมื่อปีการศึกษา 2502 ซึ่งเทียบเท่ากับชั้นประถมปีที่ 5 ในปัจจุบันนี้ ผมต้องเดินทางไปเรียนหนังสือ จากบ้านและโรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัด ”ชีนังเกา” เดินทางไปกลับวันละ 6 กิโลเมตร ทุกวัน เนื่องจากมาจากครอบครัวที่ยากจน ไม่มีจักรยานขี่มาโรงเรียนเหมือนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ผมใช้ชีวิตที่ราบเรียบไม่มีเพื่อนมากนัก ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเพื่อนๆ อย่างไรก็ตาม ผมมีความภาคภูมิใจ กับเครื่องแบบนักเรียนที่ สวมหมวกกะโล่ สีกากี เวลาแต่งชุดลูกเสือผูกผ้าพันคอสีเหลือใส่หมวกหนีบ รองเท้าสีน้ำตาลสวมถุงเท้ายาวถึงเข่า เสียดายที่ไม่มีใครถ่ายภาพเก็บเอาไว้ให้ดูกัน คงจะมองดูขำกลิ้ง
ทางเดินมาโรงเรียนในสมัยนั้น จากบ้านหนองปลิงยังเป็นป่าดง สองข้างทางก็รกทึบ มีต้นไม้สูงใหญ่ บางวันมีช้างเดินขึ้นมาขวางถนน กว่าจะผ่านไปโรงเรียนได้ต้องรอให้ช้างลงข้างทางไปแล้ว บางวันฝนตกต้องเปียกฝนไปโรงเรียน ไม่มีที่หลบฝนระหว่างทาง ผมจำได้ ชีวิตในวัยเด็กมีแต่ความยากลำบาก ด้วยความรักในการเรียน อยากเรียนหนังสือ มีความคิดอย่างเด็กๆ ว่าถ้ามาโรงเรียนแล้วจะไม่ต้องทำงานหนัก จากชั้นมัธยม 1 ผ่านมามัธยม 2 และมัธยม 3 เมื่อปีการศึกษา 2505 ผมควรจะได้เรียนชั้นมัธยม 4 แต่โรงเรียนเขาเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เรียกชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.ศ.1 มีความรู้สึกเสียดายมาก อยากให้เป็นชั้นเรียนที่เรียกว่า ชั้นมัธยม 4 เหมือนก่อน
เมื่อปี พ.ศ. 2507 พอขึ้นชั้น ม.ศ. 3 โรงเรียนได้ย้ายนักเรียนทั้งหมด มายังสถานที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบันนี้ พอเรียนจบการศึกษาชั้น ม.ศ. 3 เพื่อนๆส่วนมากจะไปศึกษาต่อกันในสถานศึกษาแห่งอื่นกันเป็นส่วนมาก โรงเรียนของเรา เพิ่งจะเปิดการเรียนการสอนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ม.ศ. 4 ในแผนกวิทยาศาสตร์ รับนักเรียน เข้ามาเรียน ทั้งนักเรียนชายและหญิง ประมาณ 45 คน ผมรู้สึกว่าทั้งโรงเรียนและครูอาจารย์ พยามเข้มงวดเรื่องการสอนและการเรียนมาก การคัดนักเรียนที่จะให้ขึ้นไปเรียนในชั้น ม.ศ.5 นั้นจะต้องมั่นใจว่าจะสอบผ่านข้อสอบของส่วนกลางที่เป็นข้อสอบกระทรวงศึกษา เป็นข้อสอบที่เหมือนกันทั้งประเทศ การสอบให้ผ่านชั้น ม.ศ. 5 นั้น เหมือนกับผ่านด่านยุทธจักรของสำนักบู้ลิ้มประมาณนั้น นักเรียนชั้น ม.ศ. 5 ในยุคที่เรียนกันมามีนักเรียนที่ผ่านมาจากชั้น ม.ศ. 4 เพียง 9 คนเท่านั้น ที่สอบผ่านมาเรียน
ผลการเรียนการสอนของโรงเรียนวัชรราษฎร์วิทยาลัย มีนักเรียนสอบผ่านชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 จำนวน 4 คน เป็นนักเรียนรุ่นแรกที่เปิดการศึกษาชั้นมัธยมปลาย ของจังหวัดกำแพงเพชร บางจังหวัดนักเรียนสอบตกยกชั้น นักเรียนทั้ง 4 คน สามารถสอบ Entrance เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ได้ทั้งหมด เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 คน โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน 1 คน
ความสำเร็จของนักเรียนรุ่นแรกนี้มาจาก อาจารย์ผู้ให้ความทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งมั่นในการสอนแบบ อัดแน่นวิชาการ ให้ลูกศิษย์ทุกคน ตำราเรียนมีน้อย พวกเราใช้ตำราเรียนของกระทรวงศึกษาเล่มบางๆ พวกเราอ่านตำราเรียนเพียงเท่าที่มีอยู่ คงจะไม่สามารถสอบผ่านกันได้อย่างแน่นอน อาจารย์ก็พยายามหาหนังสือ และตำราเรียนอื่นมาสอนเพิ่มเติมให้ รวมทั้งการนำข้อสอบกลางภาคของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาเป็นแนวทางให้พวกเราศึกษามาลองทำข้อสอบกัน และเพิ่มเติมให้อีก
เมื่อปี พ.ศ. 2509 นั้น การสื่อสาร การคมนาคม ไม่สะดวกเหมือนเช่นในปัจจุบัน หากพวกเราไม่มีอาจารย์ผู้ทุ่มเท ให้พวกเราอย่างจริงใจแล้ว เราคงไม่มีวัน เช่นทุกวันนี้แน่นอน ผมยังระลึกถึงและขอเอ่ยนามอาจารย์ผู้มีพระคุณ ได้แก่ อาจารย์สมศักดิ์ โสภณพินิจ อาจารย์วินัย อิสสระธานันท์ อาจารย์โชติ แย้มแสน อาจารย์พิสมัย ประทับศักดิ์ อาจารย์ชะอำ มุสิกพงศ์ และยังมีอาจารย์ท่านอื่นๆอีกหลายท่านที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในสมัยนั้น ซึ่งไม่สามารถจะเอ่ยนามได้ทั้งหมด เนื่องจากวันเวลาล่วงเลยมานาน ประกอบกับความจำเลอะเลือน.
----------------------------------------

Create Date :30 กันยายน 2554
Last Update :30 กันยายน 2554 22:59:16 น.
Counter : Pageviews.
Comments :0
- Comment