ที่ระยอง...กับ”การประชุมปฏิบัติการครั้งใหญ่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แท้จริงของประเทศไทย” 13 ก.พ. 58


ที่ระยอง...กับ”การประชุมปฏิบัติการครั้งใหญ่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แท้จริงของประเทศไทย”

โครงการประชุมปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่อง


สันนิบาตเทศบาลจังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เทศบาลนครระยอง ขอเชิญประชาชน ผู้ประกอบการหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องร่วมการประชุมปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อระดมความคิดการออกแบบเมืองโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนและ TOD เป็นเครื่องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจังหวัดระยองสู่ความเป็นเมืองแห่งการเดินเมืองแห่งการขนส่งมวลชนและเมืองสุขภาวะ ร่วมกันกำหนดอนาคตเมืองกับตัวแทนของ สนข. รฟม.การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กำหนดการประชุมในวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 08.30-16.30 น. ณ. โรงแรมคลาสสิค คามีโอจังหวัดระยอง

ผู้สนใจติดต่อลงทะเบียนได้ที่คุณกมลรัตน์ หอมเอื้อม อีเมล asiamuseums.kamonrat@gmail.com

โทร 086-3646742

หลักการและเหตุผล

จังหวัดระยองมีพื้นที่ 3,552 ตารางกิโลเมตร ในปี 2555 มีประชากรจำนวน 649,275 คนจังหวัดระยองเป็นเมืองพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูงเป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงเทพมหานครในปี 2555 จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูงถึง 818,873 ล้านบาทสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสมุทรปราการและชลบุรี (694,261 และ 663,153 ล้านบาทตามลำดับ) เกือบสองแสนล้านบาทเช่นเดียวกับมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อหัวประชากรที่เท่ากับ 1,304,896 บาทต่อคนต่อปีที่นับเป็นลำดับหนึ่งของประเทศ ฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ95 เป็นการผลิตนอกภาคการเกษตรโดยสาขาการทำเหมืองแร่และย่อยหินให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในอันดับสูงสุด (317,470 ล้านบาท) ตามมาด้วยสาขาอุตสาหกรรม (306,359 ล้านบาท) และสาขาการขายส่ง ขายปลีก สาขาการไฟฟ้าแก๊สและการประปา และสาขาอสังหาริมทรัพย์ (52,691, 50,121 และ 32,456 ล้านบาท) เฉพาะการผลิตใน 5 สาขาเมื่อรวมกันแล้วจะพบว่ามีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูงถึงร้อยละ 92.7 ในส่วนของสาขาอุตสาหกรรมนั้นระยองเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดของประเทศหรือมีจำนวน 11 แห่ง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมผาแดงนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จากข้อมูลข้างต้น จึงชี้ชัดได้ว่าจังหวัดระยองเป็นเมืองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ เป็นพื้นที่แหล่งงานแหล่งการจ้างงานและเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุที่จังหวัดระยองเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดแผนการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางให้เชื่อมต่อย่านเศรษฐกิจสำคัญในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจการลดต้นทุนด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ในปี 2557 รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยองจำนวน2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน(StandardGauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2558-2565 ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2559 และโครงการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยองหรือโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง โดยโครงการแรกจัดเป็นโครงการขนส่งทางรางที่เน้นการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าในระดับประเทศและภูมิภาคส่วนโครงการที่สองเป็นโครงการขนส่งมวลชนที่ให้บริการประชาชนเชื่อมต่อระหว่างย่านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวของภาคตะวันออก

เนื่องจากในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่เป็นมาตรฐานสำหรับเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นรัฐฯจะต้องศึกษาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งให้มีความสมบูรณ์และเกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งในระดับภาคและระดับเมืองและดำเนินการวางผังและออกแบบเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งและพื้นที่ตามแนวโครงข่ายรถไฟฟ้าไปพร้อมกันนอกจากนั้นยังต้องสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นกับภาคเอกชนในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์และการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่รอบสถานีและพื้นที่ตามแนวโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อสร้างประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการเดินทาง การขนส่งสินค้าเกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ในการพัฒนาเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานแผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนในระดับภูมิภาคระดับภาค ระดับเมือง และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งเข้าด้วยกัน

สันนิบาตเทศบาลจังหวัดระยองเป็นองค์กรกลางของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดระยองมีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดไปสู่ความเป็นเมืองเขียว (Greenest City) และเมืองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐบาลจึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้ผสมผสานแผนงานโครงการของรัฐบาลกับความต้องการและเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดระยองของสันนิบาตเทศบาลและทุกภาคส่วนของจังหวัดระยองทั้งนี้ เพื่อสร้างจังหวัดระยองให้เป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การคมนาคมและขนส่งสีเขียว (Green Transportation) เป็นเมืองแห่งการเดิน (Walkable City) เมืองแห่งการขนส่งมวลชน (Transit City) และเมืองสุขภาวะ (Healthy City) ที่มีความสมบูรณ์ โดยการสนับสนุนการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูโครงการระบบขนส่งมวลชนทั่วทั้งจังหวัดพร้อมๆกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลขนในพื้นที่มีศักยภาพดังนั้นเพื่อบูรณาการแผนงานโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้สมาชิกของสันนิบาตเทศบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาชนได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาจึงควรจัดประชุมปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของจังหวัดระยองการสร้างเสริมความแข้งแกร่งทางเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจรวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งต่อไป

วัตถุประสงค์

เพื่อให้การประชุมปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลตามแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและความต้องการของประชาชน จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์การประชุมปฏิบัติการ ดังนี้

1. ถ่ายทอดองค์ความรู้แนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสีเขียวในระดับภาคและเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) และกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) สร้างความเข้าใจร่วมกันและการประยุกต์แนวคิดเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนสำหรับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งจะนำไปกำหนดทิศทางของแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบรวมทั้ง สามารถตรวจวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการพัฒนาตรงตามแนวคิดที่กำหนด

2. ประชุมและปฏิบัติการเพื่อบูรณาการแผนงานและโครงการทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนประกอบหลักในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความเป็นไปได้ในทางกายภาพการเงิน และความต้องการของประชาชน

3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านโครงการคมนาคมและขนส่งและหน่วยงานด้านการพัฒนาเมืองจากส่วนกลางกับหน่วยงานการพัฒนาในระดับท้องถิ่นและหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสร้างระบบการพัฒนาเมืองที่มีความยั่งยืน และสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนารายสาขาเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของจังหวัดระยองและของประเทศโดยรวม

ลักษณะการดำเนินงาน

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในประชุมปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องจึงได้กำหนดลักษณะดำเนินงาน ดังนี้

1. การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งสีเขียวของระบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าของจังหวัดระยองและการประยุกต์แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนโดยให้มีการบรรยายพิเศษจำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย

1.1แนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งระดับภาคและเมืองเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องโดย ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

1.2 แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) กฎหมายผังเมือง Form-Based Codes และความเป็นผู้นำการออกแบบด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-ND) ในการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องโดย อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร สถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย

2. การเสวนาเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อบูรณาการแผนงานโครงการคมนาคมและขนส่ง การขนส่งมวลชนและการผังเมืองของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีความเป็นไปได้ด้านกายภาพการเงิน และตอบสนองความต้องการของประชาชนรวมทั้งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของจังหวัดระยองและประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นวิทยากรดังนี้

2.1 ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

2.2 ผู้แทนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

2.3 ผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนจากบริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด

2.4 ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง

2.5 ผู้แทนจากการเคหะแห่งชาติ

2.6 ประธานสันนิบาตเทศบาลนครระยอง

2.7 ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัดระยอง

2.8 ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง

ดำเนินการเสวนาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราเมศวร์ วิเชียรแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. ปฏิบัติการเพื่อบูรณาการแผนงานและโครงการทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องโดยร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องซึ่งแบ่งประเด็นการปฏิบัติการและแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

3.1การกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องโดยใช้ประเด็นพิจารณาและลงความเห็นดังนี้

3.1.1 ประเภท ความต้องการและประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้า

3.1.2 ระบบการขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสมกับข้อ 3.1.1

3.1.3ความพอเพียงของโครงข่ายของระบบขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนตามแผนงานโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3.1.4 ข้อเสนอแนะด้านประเภท ระบบและโครงข่ายของการขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต

3.1.5 ข้อเสนอแนะด้านงบประมาณ การลงทุน การบริหารจัดการโครงการและการปรับปรุงข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การปฏิบัติการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องดำเนินการลงบนแผนที่ปฏิบัติการและกระดาษปฏิบัติการบรรยายสรุปและอำนวยการปฏิบัติการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สญชัย ลบแย้มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและผู้แทนจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

3.2การกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องโดยใช้ประเด็นพิจารณาและลงความเห็นดังนี้

3.2.1 การกำหนดพื้นที่และขอบเขตของย่านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดระยอง

3.2.2การพิจารณารูปแบบการพัฒนาและการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์พาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยรอบสถานีขนส่งมวลชนและตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

3.2.3การพิจารณาแนวทางการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานด้านการพัฒนาเมือง การขนส่งมวลชนการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพาณิชย์และการบริการการเงินและลงทุน และจากองค์กรภาคประชาชนในการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์พาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยรอบสถานีขนส่งมวลชนและตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

3.2.4 ข้อเสนอแนะด้านงบประมาณ การลงทุน การบริหารจัดการโครงการและการปรับปรุงข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การปฏิบัติการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและพื้นที่ตามแนวสองฝั่งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องดำเนินการลงบนแผนที่ปฏิบัติการและกระดาษปฏิบัติการ บรรยายสรุปและอำนวยการปฏิบัติการโดยอาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร สถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย และนายฉัตรนุชัยสมบัติศรี รองปลัดเทศบาลนครระยอง

4. การสรุปผลการประชุมและปฏิบัติการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องดังสาระสำคัญ ดังนี้

4.1 องค์ความรู้และการประยุกต์แนวคิดการการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่อง

4.2 ผลการบูรณาการแผนงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การขนส่งมวลชนและการผังเมืองของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่อง

4.3 ข้อเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางราง การขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของจังหวัดระยองและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความเป็นไปได้ด้านกายภาพ การเงิน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของจังหวัดระยองและประเทศไทย

4.4 ข้อเสนอแนะด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ งบประมาณการลงทุน การบริหารจัดการโครงการ และการปรับปรุงข้อกำหนด ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สรุปผลการประชุมและปฏิบัติการโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สญชัย ลบแย้ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราเมศวร์ วิเชียรแสน อาจารย์ฐาปนาบุณยประวิตร และนายฉัตรนุชัย สมบัติศรี


วัน เวลา สถานที่

กำหนดการประชุมในวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 08.30-16.30 น. ณ. โรงแรมคลาสสิค คามีโอ จังหวัดระยอง

ผู้สนใจติดต่อลงทะเบียนได้ที่คุณกมลรัตน์ หอมเอื้อม อีเมล asiamuseums.kamonrat@gmail.com

โทร 086-3646742

ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านผังเมืองที่ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่าง 2 ลิ้งก์นี้

//www.oknation.net/blog/smartgrowth

//www.oknation.net/blog/smartgrowththailand




Create Date : 27 ธันวาคม 2557
Last Update : 27 ธันวาคม 2557 10:15:19 น. 0 comments
Counter : 1128 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1839484
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 ธันวาคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1839484's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.