แนวทางการวางผังเมืองและออกแบบปรับปรุงกายภาพเมืองให้งดงามตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด


บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง

thapana.asia@gmail.com/ //www.asiamuseum.co.th/

www.smartgrowthasia.com

บทความ :แนวทางการวางผังเมืองและออกแบบปรับปรุงกายภาพเมืองให้งดงามตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด

ระบบการวางผังเมือง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วย

1.กลุ่มของผังที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน บังคับโดยกฎหมายและกฎ ระเบียบข้อกำหนด

2.กลุ่มผังที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายและมาตรการด้านต่างๆในการสร้างสรรค์โอกาสทางเศรษฐกิจ

3.กลุ่มของผังที่ผสมผสานแนวทั้งสองเข้าด้วยกัน

เพื่อให้การปรับปรุงกายภาพเมืองมีความงดงาม แนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผังแบบผสมผสาน จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1.การปรับปรุงกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

2.การสร้างเสริมความงดงามและความมีชีวิตชีวาแก่เมือง

3.การสร้างสรรค์สภาพความน่าอยู่และความปลอดภัยและ

4.การเสริมสร้างความสะดวก ความกระชับและความประหยัดสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้


การปรับปรุงกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

กายภาพเมือง ต้องปรับปรุงฟื้นฟูให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อม(Natural and Environmental Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานสร้างสรรค์ (Built Environmental Infrastructure) ที่ได้ลงทุนไว้แล้วและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมของการอยู่อาศัย(Human Environmental) ดังนั้น ในการพัฒนาเมืองให้เกิดความงดงามจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับกายภาพเมืองให้เกิดความสมดุลกับโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนโยบายด้านกายภาพสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองมีความงดงาม ประกอบด้วยการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการปรับปรุงและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวรายละเอียดสรุปได้ดังนี้



ภาพที่ 1 : ตัวอย่างกายภาพที่งดงามของเมืองซึ่งได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแล้ว

ภาพจาก : www.federalrealty.com


นโยบายการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

การผสมผสาน กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการเชื่อมโยงการใช้พื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยพาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณะ และส่วนบริการกลางของชุมชนย่านและเมืองเข้าด้วยกันให้มีความสมบูรณ์พร้อมดำเนินมาตรการให้ใช้พื้นที่อย่างประหยัด มีมาตรการกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินไม่ให้กิจกรรมการอยู่อาศัยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ธรรมชาติ ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความกระชับกำหนดกรอบพื้นที่อนุญาตให้พัฒนาให้เป็นไปตามศักยภาพของกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไว้แล้วกำหนดมาตรการรักษาพื้นที่สีเขียว ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และพื้นที่ตั้งของแหล่งประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมสำคัญ



ภาพที่ 2 : การปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพส่งเสริมความหนาแน่นในเขตพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย ผสมผสานการใช้ประโยชน์เพื่อให้มีความคุ้มค่าพร้อมทั้งสงวนรักษาพื้นที่ธรรมชาติรอบนอก เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม


นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เป็นนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างให้เมืองมีความงดงามเนื่องจากนโยบายนี้ให้การสนับสนุนการใช้สาธารณูปโภคสาธารณูปการที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสิ้นเปลืองงบประมาณในการลงทุนสำหรับพื้นที่แห่งใหม่นโยบายนี้ยังรวมไปถึงการส่งเสริมและลงทุนโครงสร้างการสัญจรที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมรวมทั้งระบบการสัญจรที่ส่งเสริมสุขภาพตลอดจนการสนับสนุนการขนส่งมวลชนระบบรางและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ให้เกิดความหนาแน่นและเกิดพื้นที่สุนทรียภาพบริเวณใจกลางเมืองและพื้นที่พาณิชยกรรม



ภาพที่ 3 : ลักษณะเด่นของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวได้แก่ระบบกายภาพที่หลีกเลี่ยงการส่งเสริมการใช้น้ำมัน 

หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดมลพิษกายภาพสนับสนุนให้เกิดการออกกำลังกายด้วยตัวของกายภาพเอง

ภาพจาก : www.cnu.org


การสร้างเสริมความงดงามและความมีชีวิตชีวาแก่เมือง

การเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้ใช้กลยุทธ์การพัฒนาให้เกิดพื้นที่สุนทรียภาพ (Aesthetics Area) ภายในเขตเมืองโดยใช้กลยุทธ์การสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างพื้นฐานทางธรรมชาติกับกิจกรรมการอยู่อาศัยกิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะของเมืองนิเวศ (Eco-City) ตามนโยบายการพัฒนาดังต่อไปนี้


การพัฒนาศูนย์กลางให้มีความเด่นชัด

ศูนย์กลาง หรือบริเวณใจกลางของชุมชน ย่าน และเมือง (City Center & Neighborhood Center) ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่พิเศษ (The Great Place) เป็นจุดหมายตาที่ได้รับการออกแบบภูมิทัศน์ให้งดงามเป็นที่ประทับใจของผู้อยู่อาศัยและผู้เยี่ยมเยือน พื้นที่บริเวณใจกลางเมืองจึงควรเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการหรือหน่วยบริการชุมชน สถาบันการศึกษาและสถาบันทางศาสนา ในพื้นที่เมืองเก่าดังเช่น พื้นที่ถนนราชดำเนินนอกราชดำเนินกลางและราชดำเนินใน ของกรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่ประวัติศาสตร์บริเวณใจกลางของจังหวัดต่างๆไม่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวแต่ควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบทบาทของพื้นที่เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่าและให้บทบาททางเศรษฐกิจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงมรดกทางประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้เกิดความงดงาม นโยบายการพัฒนาศูนย์กลางชุมชน ย่านและเมือง ให้มีเอกลักษณ์และมีบทบาทด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกเมืองควรนำมาดำเนินการ



ภาพที่ 4 : ภาพการพัฒนาจุดหมายตาบริเวณใจกลางเมืองหรือย่านพาณิชยกรรม

ถือเป็นภารกิจสำคัญของนักผังเมือง และผู้บริหารเมือง


การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

การเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้กำหนดให้ทุกชุมชนมีพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางหรือขอบข้างของชุมชน ซึ่งประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วยทางเดินและทางจักรยานเป็นอย่างน้อยพื้นที่สาธารณะต้องได้รับการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความงดงามสามารถดึงดูดใจให้สมาชิกภายในชุมชนมาใช้บริการในชุมชนที่มีพื้นที่ว่างจำกัดหรือมีความหนาแน่น พื้นที่สาธารณะจะต้องได้รับการออกแบบให้ผสมผสานประโยชน์ใช้สอยทั้งทางด้านการนันทนาการการกีฬาและการพักผ่อนหย่อนใจ ในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้งดงามนโยบายการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในระดับชุมชนจะเป็นนโยบายที่สำคัญที่นักผังเมืองและผู้บริหารเมืองต้องดำเนินการให้บรรลุผล



ภาพที่ 5 : พื้นที่สาธารณะบริเวณใจกลางเมืองต้องออกแบบ และพัฒนากายภาพให้สามารถ

รองรับกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของประชาชนได้อย่างหลากหลายและรองรับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก

ภาพจาก : www.pps.org/downtowns/


การพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม

แต่ละชุมชนและย่านในเขตเมืองต้องมีหน่วยพาณิชยกรรมตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางและขอบข้างซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยทางเท้า ทางจักรยาน และระบบขนส่งมวลชนเป็นอย่างน้อยการเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากายภาพย่านพาริชยกรรมให้มีชีวิตชีวา และตอบสนองต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพความมีชีวิตชีวาของย่านพาณิชยกรรม จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงระดับความสดใสทางเศรษฐกิจและชี้วัดโอกาสในการเพิ่มพูนรายได้สำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนหรือย่านนั้นๆดังนั้นในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้งดงามและมีชีวิตชีวาการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมในระดับชุมชน และระดับย่านจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการให้บรรลุผล



ภาพที่ 6 : ภาพบรรยากาศบริเวณใจกลางมหานครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นถึง

ลักษณะการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างแหล่งพาณิชยกรรมกับพื้นที่สาธารณะ

ที่มีความสมดุลและสร้างความมีชีวิตชีวาแก่เมือง

ภาพจาก : www.pps.org/downtowns/


การรักษาพื้นที่สีเขียวและความเป็นธรรมชาติในเขตเมือง

ทุกชุมชนและย่าน จะต้องจัดให้มีที่โล่ง และพื้นที่สีเขียว ซึ่งประกอบด้วย

1. กลุ่มพื้นที่สีเขียวแบบมวลหนา (Mass of green space) ไว้ควบคุมอุณหภูมิ มลภาวะและรักษาความสมดุลให้แก่อาณาบริเวณตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็ก

2. พื้นที่สีเขียวกระจายตามเส้นทางสัญจรและที่โล่งภายในชุมชนปริมาณและขนาดพื้นที่สีเขียว ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของที่อยู่อาศัย โดยเทียบจากพื้นที่ทั้งหมดของชุมชนในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้งดงามการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและความเป็นธรรมชาติในระดับชุมชนและระดับย่านจะเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง



ภาพที่ 7 : สวนสาธารณะ สวนหย่อม และต้นไม้ตกแต่งภูมิทัศน์ประเภทต่างๆ 

นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ความงดงามและความน่าอยู่ของเมือง


การเสริมสร้างความน่าอยู่และความปลอดภัย

ความน่าอยู่และความยั่งยืนของที่อยู่อาศัยเกิดจากการผสมผสานของประชาชนทุกระดับรายได้ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในด้านเครือญาติ ชนเผ่า เชื้อชาติและเศรษฐกิจ ความงดงามของเขตที่อยู่อาศัยไม่ได้เกิดจากการเป็นที่ตั้งของบ้านเดี่ยวราคาแพงหรืออาคารที่พักอาศัยระดับสูงซึ่งตั้งอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนแต่เกิดจากการผสมผสานของอาคารที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ ที่มีหลายระดับราคานอกจากนั้น ความน่าอยู่และความงดงามของเขตที่อยู่อาศัยยังเกิดจากการที่ส่วนประกอบทางกายภาพของถนน ทางเดิน ทางจักรยานมีความสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์บริการชุมชน โรงเรียน วัด ศูนย์บริการสาธารณสุข ตลาดและพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัยส่วนประกอบสำคัญที่ต้องได้รับการพัมนาตามเกณฑ์และนโยบายของแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดมีดังต่อไปนี้



ภาพที่ 8 : หลายๆเมืองในประเทศแคนาดา ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นเมืองน่าอยู่ ทั้งนี้ส่วนประกอบประการหนึ่งได้แก่ นโยบายให้มีการผสมผสานกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในเขตย่านให้มีความหลากหลาย และสนับสนุนให้แต่ละหน่วยของเศรษฐกิจ มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในย่านและชุมชน


ที่อยู่อาศัย หลายระดับราคา

การผสมผสานของบ้าน และที่อยู่อาศัยทั้งที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และการเช่าซึ่งมีความหลากหลายด้านขนาด รูปแบบ และราคานั้นจัดเป็นคุณลักษณะที่ดีของย่านและชุมชนที่มีความยั่งยืน สำหรับที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างใหม่จะต้องมีระดับราคาซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความสามารถในการซื้อหาได้และจำนวนหน่วยของบ้านจะต้องสอดคล้องกับขนาดของแหล่งงานและความสามารถในการรองรับของสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่มีอยู่แล้วในพื้นที่นั้นๆ



ภาพที่ 9 : การเชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วยทางเดิน


การเชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วยทางเดิน

การมีที่ตั้ง ของอาคารที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชิดกัน หรือมีความต่อเนื่องกันจะก่อให้เกิดความสะดวกในการเชื่อมต่อกันด้วยการเดินตามเกณฑ์ของการเติบโตอย่างชาญฉลาดได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนให้เกิดอาคารในลักษณะกลุ่มก้อนซึ่งสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยทางเดิน



ภาพที่ 10 : ทางเดินและที่นั่งพักข้างทางเดินใน Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์


นโยบายการสร้างเส้นทางปลอดภัยสำหรับนักเรียน

การเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้เสนอให้จัดสร้างเส้นทางปลอดภัยสำหรับนักเรียน (Safe route to school) โดยปรับปรุงเส้นทางสัญจรที่มีอยู่ให้เกิดความปลอดภัยสำหรับการเดินเท้า และการใช้จักรยานวึ่งอาจแยกเส้นทางสัญจรจากโครงข่ายถนนที่มีอยู่เดิมหรืออาจพัฒนาจากเส้นทางสีเขียวตามธรรมชาติ (Green way) เช่น เส้นทางตามแนวพื้นที่โล่งสีเขียว แม่น้ำ หรือลำคลองภายในชุมชน เป็นต้น



ภาพที่ 11 : ภาพเส้นทางปลอดภัยสำหรับนักเรียนที่จัดให้เป็นgreen way ของชุมชน

ภาพจาก : //www.pps.org/transportation/


การเสริมสร้างความสะดวกสบายความกระชับ และความประหยัด

เมืองงดงาม ตามความหมายของการเติบโตอย่างชาญฉลาดต้องมีความกระชับไม่กระจัดกระจายตามแนวถนน หรือกระจัดกระจายไปในพื้นที่การเกษตร ทีขอบเขตที่เด่นชัดมีความคุ้มค่าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคสาธารณูปการกรณีเมืองขนาดใหญ่ของไทยซึ่งปัจจุบันเนื้อเมืองได้แผ่กระจายเกือบเต็มพื้นที่แล้วนั้นการเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้เสนอให้ใช้กลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดความสะดวกความกระชับและความประหยัด ตามแนวทางดังต่อไปนี้


การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน

เป็นการพัฒนา ให้เกิดการผสมผสานของอาคารและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายให้ มีความหนาแน่นรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development –TOD) โดยกำหนดให้มีส่วนประกอบสำคัญของเมืองเช่น พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพสูง ย่านพาณิชยกรรมที่มีชีวิตชีวาย่านที่อยู่อาศัยหลายระดับราคา การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งประเภทอื่นๆที่มีประสิทธิภาพกับสถานีขนส่งมวลชน ในการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้งดงามการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนจะเป็นนโยบายสำคัญที่นักผังเมืองและผู้บริหารเมืองควรดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง



ภาพที่ 12 : ภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในมหานครนิวยอร์ค

ภาพจาก : Reconnecting America’s Center for Transit Oriented Development


ทางเลือกการเดินทางที่มีความหลากหลาย

ระบบการสัญจรภายในเขตเมืองจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่กัน (Getting around) ของประชาชน โดยผู้บริหารเมืองควรจัดหารูปแบบการเดินทางที่หลากหลายประหยัดและไม่เป็นภาระด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งระบบการขนส่งมวลชนประเภทต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งด้วยระบบราง จะเป็นทางเลือกหลักที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก



ภาพที่ 13 : รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้นำการพัฒนาและความมีชีวิตชีวาแก่เมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส


จะเห็นได้ว่า เกณฑ์ของการเติบโตอย่างชาญฉลาดดังที่ได้นำเสนอ ทุกหัวเมืองในประเทศไทยสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ทั้งสิ้นแต่ทั้งนี้ ในการนำแนวคิดไปเป็นแนวทางการพัฒนานักผังเมืองและผู้บริหารเมืองจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานสภาพทางกายภาพที่มีอยู่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ดั้งเดิมของพื้นที่จากที่ได้กล่าวมาตอนต้น การเติบโตอย่างชาญฉลาด เป็นแนวคิดการวางผังซึ่งได้ผสมผสานรูปแบบการวางผังที่ใช้กลยุทธ์ทั้งการควบคุมด้านกำหมายและการส่งเสริมเศรษฐกิจควบคู่กันดังนั้น การที่จะพัฒนาเมืองให้เกิดความงดงาม ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ การควบคุมและบังคับใช้กฎหมายจำเป็นจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้รางวัล การให้ผลตอบแทนการทดแทนการสูญเสียในรูปของตัวเงิน และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะยาวที่สามารถชี้ชัดได้ และต้องเข้าใจว่า ไม่มีเมืองไหนในโลกที่พัฒนาไปโดยไม่มีอุปสรรคปัญหาและไม่มีระบบการพัฒนากายภาพใดๆ ที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรื้อย้ายแต่ในทุกสภาวะของการยกระดับฟื้นฟูปรับปรุงเมืองหน้าที่สำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องคือการมอบอำนาจส่วนใหญ่ในการนำการพัฒนาให้เป็นภาระของชุมชน โดยชุมชนจะต้องเป็นแม่งานในการปรับเปลี่ยนกายภาพและดูแลรักษาต่อไปในอนาคต


ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านผังเมืองที่ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่าง 2 ลิ้งก์นี้

//www.oknation.net/blog/smartgrowth

//www.oknation.net/blog/smartgrowththailand





Create Date : 23 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2557 21:20:25 น. 0 comments
Counter : 1168 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1839484
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
23 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1839484's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.