เมืองไทยในอนาคต : รถยนต์น้อยลงและครอบครองยากขึ้น บทความโดย ธนกฤต มีสมจิตร



เมืองไทยในอนาคต : รถยนต์น้อยลงและครอบครองยากขึ้น

โดย ธนกฤต มีสมจิตร : 14 กรกฎาคม 58


ภาวการณ์หรือแนวโน้มอนาคตของเมืองในประเทศไทยมีแรงบีบคั้น-กดดันให้ต้องลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลออกจากโครงข่ายถนนในเขตเมืองด้วยสาเหตุปัจจัย 3 ประการที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อภาวะแนวโน้มดังกล่าวได้แก่ 1) กฎหมายควบคุมอาคารขนาดใหญ่และอาคารอยู่อาศัยในแนวรัศมีให้บริการของระบบขนส่งมวลชนรวมผ่านการปรับปรุงนโยบายและข้อกำหนดทางผังเมืองของเมืองใหญ่ทั่วไทย 2) กฎหมายควบคุมการขนส่งว่าด้วยการครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล และ 3) นโยบายรัฐในการควบคุมและจำกัดปริมาณรถในเขตเมืองด้วยมาตรการลดความแออัดของรถยนต์(Congestion Pricing & Congestion Charge)


ภาพที่ 1 : ระบบโรงรถลอยฟ้า (Sky Garage) ในอพาร์ตเม็นต์หรูของสิงคโปร์

Credit: www.amusingplanet.com/2014/12/luxury-singaporean-apartment-is.html

ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์พ.ศ.๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘นอกจากผู้ต้องการครองครองรถต้องจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลและต้องแจ้งรายได้ภาษีบุคคลธรรมดาย้อนหลัง๒ ปีตามระเบียบฯ ข้อ ๗ (๑) แล้ว ต้องแสดงหลักฐานและมีเงื่อนไขสำคัญอื่นๆดังนี้ด้วย

เจ้าของรถที่จะขอจดทะเบียนครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลต้องมีสถานที่จอดรถเป็นของตนเอง โดยมีพื้นที่ขนาดไม่น้อยกว่า ๓๕ ตารางเมตรต่อ ๑คัน และมีความเหมาะสมต่อการใช้เป็นที่จอดรถจริงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อการส่วนตัวเท่านั้นตามระเบียบฯ ข้อ ๕ (๑) และ (๓) ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๕

ภาพที่ 2 : อาคารหอคอยสูง 60 เมตร จอดรถได้ 400 คัน ในเยอรมนี

Credit:www.amusingplanet.com, Volkswagen’s Car Tower at Autostadt in Wolfsburg,Germany.


แรงกดดันนี้มีมาก่อนหน้า นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2556 การขานรับนโยบายและการใช้มาตรการของหน่วยงานรัฐกรณีข่าวทางสื่อมวลชนประโคมว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง รับลูกเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภาคมหานครเสนอขอให้ยกเลิกบังคับทำที่จอดรถยนต์ สำหรับอาคารใหญ่ขนาด 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะรัศมี 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อปลดล็อกเกณฑ์จำกัดความสูงอาคาร (ค่า FAR) ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปี 2556 ตามข้อเสนอสมาคมอาคารชุด และบริษัทประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อคาดหวังให้คนเมืองลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลแล้วหันมาใช้การขนส่งสาธารณะระบบรางเต็มสูบเพื่อทำให้ที่พักอาศัยในเขตเมืองมีราคาถูกลง ทั้งยังแก้ปัญหารถติด และเป็นสาเหตุที่ทำให้ที่ดินในเมืองมีราคาแพงเกินไปขณะที่สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ให้ข่าวว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปี 2556 ไม่ได้บังคับให้อาคารรัศมี 500 เมตรต้องทำที่จอดรถแต่กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถเฉพาะช่วงหัว-ท้ายแนวรถไฟฟ้าเท่านั้น

ภาพที่ 3 : คนเมืองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลสูงขึ้นเรื่อยๆ


เมื่อเมืองต้องแบกรับ “ค่าความแออัดของรถยนต์” (Congestion Surcharge) มากขึ้นเรื่อยๆมาตรการควบคุมและจำกัดรถยนต์ส่วนบุคคลในพื้นที่เมืองจึงต้องเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆเช่นกันในไม่ช้าก็เร็วอย่างไม่อาจหลีกพ้น การครอบครองและใช้รถยนต์ส่วนบุคคลของคนไทยก็ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวนอกจากแต่เติมผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมีภาระค่าใช้จ่ายตรงจากค่าซื้อรถ(จะด้วยเงินสดหรือผ่อนชำระก็ตาม) ค่าจดทะเบียนครอบครอง ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษารถตามระยะการใช้งานแล้ว ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเนื่องจากความแออัดของรถยนต์ในเขตเมืองอีกด้วยเช่น ค่าที่จอดรถ ค่าปรับเมื่อจอดรถผิดที่ผิดทางค่าเชื้อเพลิงที่ขับรถอ้อมมากขึ้นจากการต้องเสาะหาที่จอดรถไกลขึ้นและค่าจดทะเบียนครอบครองรถในอัตราใหม่ที่แพงขึ้น

นี่ยังไม่รวมถึงภาระของผู้ที่ไม่มีที่จอดรถที่บ้านหรือที่พักอาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะต้องลงทุนสร้างหรือจัดหาที่จอดรถที่ถูกต้องทั้งแบบก่อสร้างเองหรือจ่ายค่าเช่าจอดเป็นรายวัน รายเดือน รายปีก็ตาม ต่อแต่นี้ไป มาตรการ Congestion Pricing และ CongestionCharge จะถูกงัดออกมาใช้เป็นมาตรการเด็ดในทุกหัวเห็ดเจ็ดย่านของหัวเมืองต่างๆทั่วไทย แม้ในอดีตเคยมีการนำมาทดลองใช้และล้มเหลวอยู่บ้างก็ตาม

ภาพที่ 4 : มาตรการจำกัดความแออัดของรถยนต์ในเขตเมืองนครลอนดอน

Credit:www.citytransport.info/Toll.htm, //www.oldforum.paradoxplaza.com, //www.cchargelondon.co.uk


ค่าเฉลี่ยความเร็วรถยนต์ในชั่วโมงเร่งด่วนของมหานครกรุงเทพในปัจจุบันอยู่ที่ราว 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอๆกับความเร็วที่เราสามารถปั่นจักรยานในเมืองแหวกฝ่าดงกล่องเหล็กติดล้อที่แออัดติดแหงกอยู่เต็มท้องถนน!!! และแม้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนทั้งสิ้นอยู่เพียงร้อยละ 8-10 ของพื้นที่เมือง แต่ถึงแม้พยายามเพิ่มพื้นที่ถนนให้ได้ถึงร้อยละ 20-25 ตามเกณฑ์ผังเมืองก็ใช่ว่าเมืองแห่งนี้จะรอดพ้นจากสภาพรถติดเรื้อรังและเชื่อว่ากลับจะติดหนักมากขึ้นเพราะการนำเงินภาษีมาทุ่มพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเป็นเมืองแห่งรถยนต์ยิ่งขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาดอีกต่อไปแต่กลับเป็นการซ้ำเติมเมืองและพลเมืองมากขึ้นด้วยซ้ำ !!!

ภาพที่ 5 : การครอบครองและใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในอนาคตยุ่งยากลำบากแก่ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ฝ่ายใดจะต้องทำอะไรบ้าง 1) รัฐจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนรวมที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพโดยทั่วถึงและให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองโดยเร็ว2) การส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องพัฒนาคู่ขนานกับการสร้างโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรหลากทางเลือก(โครงข่ายการเดินและปั่นจักรยาน)ให้ทั่วถึงและเชื่อมโยงกับโครงข่ายขนส่งสาธารณะ/ขนส่งมวลชนรวมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพร่วมด้วย3) พลเมืองจะต้องเตรียมตัวในการปรับย้ายวิธีคิดและพฤติกรรมการเดินทางโดยไม่พึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลตั้งแต่ลดการพึ่งพาหรือพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลงจนถึงเลิกครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลเสียล่วงหน้า 5-10 ปี เมื่อปรับโหมดชีวิตได้เช่นนี้แล้วคุณจะได้เหลือเงินออมเพื่อบ้านหลังที่ใหญ่ขึ้น มีอากาศในเมืองดีขึ้นทุกคนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวที่อบอุ่นและมีเวลาให้กันและกันมากขึ้นจากที่เคยเดินทางแยกส่วนของการมีรถยนต์ส่วนบุคคลบ้านละหลายคันเป็นวางแผนไปไหนมาไหนด้วยกันได้บ่อยมากขึ้นเมื่อลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในบ้านลงและเดินทางสัญจรไปไหนมาไหนแบบหลากทางเลือกด้วยกันมากขึ้น

ภาพที่ 6 : รถรางเบา (Tram/Streetcar/Trolley) ในรูปลักษณ์ทันสมัยกลมกลืนกับย่านเมืองใหม่


เมื่อทุกคนช่วยกันสร้างเมืองของเรา ให้เป็น...“เมืองที่โครงข่ายถนนใช้ขนคน-ไม่ขนรถ”

ให้เป็นรูปธรรมร่วมกัน เมื่อนั้น “เมืองน่าอยู่เมืองยั่งยืน” ก็บังเกิด...

...แค่ก้าวเท้าออกเดิน หรือปั่นจากบ้านไปใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นเรื่อยๆ...


ภาพที่ 7 : รถรางเบา (Tram/Streetcar/Trolley) ในรูปลักษณ์ย้อนยุคกลมกลืนกับย่านเมืองเก่า

________________________

แหล่งข้อมูล

BenjaminKabak, “Reframing the congestion pricing debate”, บทความออนไลน์ที่Second Ave. Sagas สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558www.secondary.com

CChargeLondon.Co.Uk,“Coverage Of The London Congestion Charge: London Congestion Charge's Original& Current Boundary Zone”, บทความออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 14กรกฎาคม 2558 //www.cchargelondon.co.uk/

Kaushik,“Luxury Singaporean Apartment is Equipped With Sky Garages”, บทความออนไลน์สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558 //www.amusingplanet.com/2014/

กรมการขนส่งทางบก “ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์พ.ศ.๒๕๕๘” สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558www.dlt.go.th/

สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการจัดทำมาตรฐานด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานคร,2553.




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2558
0 comments
Last Update : 14 กรกฎาคม 2558 23:40:14 น.
Counter : 1609 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 1839484
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2558
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
14 กรกฏาคม 2558
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1839484's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.