" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2557
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
28 ตุลาคม 2557
 
All Blogs
 
002. ความหมาย "ประชาสังคม"

Source://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0109501/Unit02/unit02_005.htm

0109501 การวางแผนแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
Participatory Planning for Local Development.

2.4 ประชาสังคม (Civil Society)

1. ความหมาย

มีนักคิดนักวิชาการให้ความหมายไว้มากพอที่จะสรุปได้ว่า "ประชาสังคม" น่าจะหมายถึง "การที่คนในสังคม ซึ่งมีจิตสำนึก (Civic Consciousness) ร่วมกัน มารวมตัวกันในลักษณะที่เป็น หุ้นส่วนกัน (Partnership) ในการกระทำบางอย่าง ทั้งนี้ด้วยความรักและความเอื้ออาทรต่อกัน ภายใต้ระบบการจัดการให้เกิดความรู้สึกร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ"

ประชาสังคม จะก่อให้เกิด "อำนาจที่สาม" นอกเหนือจาก อำนาจรัฐ และอำนาจธุรกิจ อำนาจที่สามนี้อาจไม่ต้องการคนจำนวนมาก แต่เป็นกลุ่มเล็กน้อย กระจัดกระจายและอาจมีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายย่อย ๆ (Civic Network) การรวมตัวกันนั้น อาจไม่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน แต่สามารถสื่อสารกันได้เกิดเป็นองค์กรขึ้น (Civic Organization) ซึ่งอาจเป็นองค์กรทางการ (นิติบุคคล) หรือไม่เป็นทางการก็ได้ การรวมตัวในลักษณะประชาสังคมจะก่อให้เกิดโครงสร้างสังคมแนวใหม่ที่มีความสัมพันธ์กันในแนวราบที่เท่าเทียมกัน ซึ่งหากประสานกับโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งด้วยความสมานฉันท์แล้ว ก็จะทำให้สังคมทั้งสังคมมีความเข้มแข็งเหมือนผืนผ้าที่มีเส้นใยแนวตั้งและแนวนอน ถักทอกัน เป็นผืนผ้าที่มีความงามและแข็งแรง


2. การก่อตัวของแนวคิดประชาสังคม

หากศึกษาการก่อตัวของแนวคิดประชาคมทั้งระดับโลก และในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ากระแสประชาสังคมก่อตัวมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน

2.1 วิกฤตในสังคม ที่รัฐและทุนไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังหรือเป็นวิกฤตระดับโลก (Global Crisis) เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เอดส์

2.2 การก่อกำเนิดของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้า นักธุรกิจ นักวิชาการ ที่มีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจ

2.3 พัฒนาการของกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้โดยอิสระ

2.4 ระบบการติดต่อสื่อสาร ซึ่งช่วยให้การรวมตัวเป็นไปได้สะดวกขึ้น โดยที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องพบกัน

2.5 ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสทางภาครัฐ ทำให้รัฐไม่สามารถเป็น ผู้แก้ปัญหาในสังคมได้แต่เพียงอย่างเดียว จึงต้องการหาทางเลือกอย่างอื่น


การที่ปัญหาเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งประชาชนผู้แบกรับปัญหาไม่สามารถพึ่งพารัฐแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าด้วยเหตุความสลับซับซ้อนของปัญหา หรือเพราะความจำกัดของประสิทธิภาพในภาครัฐ ประชาชนก็จะต้องหาทางแก้ไขปัญหานั้น ตั้งแต่แก้ไขด้วยตัวเองเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนเมื่อมีโอกาสในการสนทนา แลกเปลี่ยนความเห็นในวงกว้าง จึงเกิดการรวมตัวกันที่จะกระทำการ บางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั้นให้ลุล่วงไป ทั้งนี้ อาจดำเนินการโดยประชาสังคมเอง หรือร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนก็ได้


3. องค์ประกอบประชาสังคม
กิจกรรมหรือกระบวนการที่จะเรียกว่าเป็นประชาสังคมได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

3.1 จิตสำนึกประชาคม (Civic Consciousness) หมายถึงความคิดและความยอมรับเรื่องการรวมตัวกันอย่างอิสระด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ความยอมรับในความคิดเห็นของกันและกันในอันที่จะเรียนรู้ร่วมกัน หรือแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ การรวมตัวกันจึงเป็นลักษณะหุ้นส่วน (Partnership) เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ (Horizontal) มีอิสระเท่าเทียมกัน และมีการเรียนรู้ร่วมกัน

3.2 โครงสร้างองค์กรประชาสังคม (Civic Organization) หมายถึง กลุ่มการรวมตัวซึ่งอาจเป็นองค์กรที่เป็นทางการ (นิติบุคคล) หรือไม่เป็นทางการก็ได้ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเฉพาะคราว เฉพาะเรื่องหรือต่อเนื่องก็ได้ สมาชิกของกลุ่มอาจเป็นบุคคลในภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือประชาชน หรือรวมกันอยู่ก็ได้ จำนวนสมาชิกไม่จำกัด มีสมาชิกเพียง 2 - 3 คนก็ได้ รูปแบบที่เห็นได้มากที่สุด ก็คือ องค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม สมาพันธ์ สหพันธ์ ชุมนุม สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มอื่น ๆ ประเด็นสำคัญการรวมกลุ่มต้องมีจิตสำนึกประชาคมครบถ้วน การรวมกลุ่มที่มีลักษณะจัดตั้ง ชี้นำ ขาดการสร้าง Partnership ไม่มีการเรียนรู้ร่วมกันและมีลักษณะความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง แม้จะเกิดอยู่ใน

ชุมชนไม่ว่าจะสนับสนุน โดยภาครัฐหรือองค์กรเอกชนก็ไม่สามารถนับเป็นประชาสังคมได้ เพราะขาดจิตสำนึกประชาสังคม

3.3 เครือข่ายประชาคม (Civic Network) หมายถึง โครงสร้างและกระบวนการซึ่ง เชื่อมโยงสมาชิกในกลุ่ม หรือ เชื่อมโยงองค์กรประชาสังคมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ปัจจัยสำคัญของ เครือข่ายประชาสังคม คือ ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการประชาสัมพันธ์ด้วยความสมานฉันท์ เครือข่ายประชาสังคมจะเป็นสิ่งที่ช่วยรวมจิตสำนึกของสมาชิกและองค์กรประชาสังคมต่าง ๆ ให้เกิด "อำนาจที่สาม" ที่มีความเข้มแข็งในสังคมขึ้นมา


4. องค์ประกอบประชาสังคมที่เข้มแข็ง

4.1 จิตสำนึกประชาสังคม (Civic Consciousness) คือ สำนึกว่าตนเป็นเจ้าของปัญหาของชุมชนและมีเจตจำนงที่จะเข้าร่วมรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหากับฝ่ายต่าง ๆ ยอมรับในการรวมตัวและความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยมิตรภาพในการเรียนรู้ร่วมกันหรือแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ให้ความสำคัญกับศักยภาพของปัจเจกชนในชุมชน ยอมรับและเห็นคุณค่าความแตกต่างหลากหลายของสมาชิกในชุมชนในการร่วมทำงานด้วยกัน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการแก้ปัญหาชุมชนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกความเป็นชุมชน

4.2 โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและช่องทางสื่อสาร หมายถึง โครงสร้างที่เอื้อให้ผู้คนมีโอกาสสื่อสารพูดคุยถึงปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เวทีประชาคม (Civic Forum) ในรูปแบบต่าง ๆ จึงเป็นที่ที่สร้างความเป็นพลเมืองให้กับประชาชนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของชุมชนและสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ (Civic Infrastruction) แยกได้หลายระดับ พื้นฐานที่สุด ก็คือ การพบปะของผู้คนเป็นบางครั้งบางคราว (Adhoc Association) เช่นการพบปะของเพื่อนบ้านในวัด ซึ่งเปิดโอกาสให้คนมาสัมพันธ์กันและพูดคุยถึงประเด็นสาธารณะ ระดับถัดมาคือการรวมตัวเป็นกลุ่มงานด้านใดด้านหนึ่งหรือเป็นองค์กร เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มออมทรัพย์ มูลนิธิชุมชน ชมรม ระดับสูงสุดคือ องค์กรร่ม (Umbrella Organization) ที่เชื่อมองค์กรสมาชิกและสมาชิกเข้าหากันเป็นเครือข่ายชุมชน องค์กรต่าง ๆ ในประชาสังคมที่ เข้มแข็ง การพบปะกันในเวทีประชาคม ต้องขยายไปถึงการให้โอกาสคนแปลกหน้าที่สนใจในเรื่องเดียวกันด้วย ประชาชนมีโอกาสเข้าร่วมในการพูดถึงปัญหาความเป็นอยู่ของชุมชนไม่เพียงในเวที วงเล็ก แต่รวมไปถึงเวทีสาธารณะขนาดใหญ่ด้วย

4.3 กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและการตัดสินใจ การตัดสินใจในกิจกรรมสาธารณะจำต้องดำเนินการหลังกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ประชาชนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดกับคนในชุมชนสาธารณะ สิ่งที่ผู้นำมักทำกันเป็นนิจคือการรวบรวมหลักฐานข้อมูลชักจูงให้ประชาชนเชื่อว่าข้อเสนอของผู้นำถูกต้องชอบธรรมเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ดี กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนมิใช่การรับฟังข้อเสนอและข้อมูลเท่านั้น ประชาชน จำต้องพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์เหมือนกันในเรื่องเดียวกัน ต่างคนต่างมีประสบการณ์และมองสิ่งเดียวกันจากมุมมองและการให้ คุณค่าที่แตกต่างกัน ชุมชนที่มีประชาสังคมเข้มแข็งจึงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้


4.4 ภาวะการนำและผู้นำชุมชน ลักษณะเด่นของชุมชนที่เป็นประชาสังคม มิได้เกิดจากจำนวนและแหล่งที่อยู่ของผู้นำ แต่อยู่ที่วิถีทางที่ผู้นำสัมพันธ์กับคนอื่น ผู้นำเช่นนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมและริเริ่มสร้างสรรค์ และไม่ผูกขาดความคิดหรือการเป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของชุมชน ชุมชนจะเต็มไปด้วยภาวะการนำจากผู้คนหลากหลายที่มีความสามารถต่าง ๆ กัน มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล มองปัญหาชุมชนทั้งชุมชนอย่างเชื่อมโยง พร้อมที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ผู้นำที่หลากหลายเหล่านี้จะไม่ค่อยแตกต่างจากชาวบ้านคนอื่น คือไม่มีชนชั้นผู้นำที่แยกจากผู้ตามและคอยปกป้องฐานะของตนเอง รวมทั้งควบคุมการกระทำของคนอื่นอย่างเข้มงวด

หากแต่จะเป็นผู้นำที่ผนึกตัวเองเข้ากับชุมชนอย่างแนบแน่นและร่วมทำประโยชน์เพื่อชุมชน การเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะในเวทีประชาคม และมีส่วนร่วมในกิจกรรมแก้ปัญหาของชุมชน จะทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดภาวะการนำภายใน ตนเอง กลายเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่หลากหลายในชุมชน

4.5 ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบัน ชุมชนที่เป็นประชาสังคมมักจะไม่พึ่งพาสถาบันของรัฐอย่างเดียว ตรงข้ามกับชุมชนที่ไม่เข้มแข็งมักจะพึ่งพารัฐ ส่งผลให้รัฐมีภาระรับผิดชอบชุมชน ทุกด้าน จนไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด นำมาซึ่งความไร้ประสิทธิภาพ ในที่สุด ในประชาสังคมความสัมพันธ์ของคนไม่ว่าจะเป็นรูปองค์กรหรือเครือข่ายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมักเป็นความสัมพันธ์ต่อกันในแนวระนาบในชุมชนที่ไม่เป็นประชาสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับสถาบันทางสังคม เป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งหรือแบบอุปถัมภ์ ข้อมูล ที่ไหลตามช่องทางความสัมพันธ์ในแนวดิ่งมักเชื่อถือได้น้อย ความสัมพันธ์ใน แนวดิ่งก่อให้เกิดการปกครองแบบมาเฟียและเศรษฐกิจการเมืองล้าหลัง

การพัฒนาทุนทางสังคมซึ่งเป็นแบบพื้นฐานของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะต้องกำหนดวิธีการสร้างเสริมและพัฒนาองค์ประกอบประชาสังคมทั้ห้าให้เข้มแข็ง การกำหนดยุทธวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง.

ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา(CARD)
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
โทรศัพท์ 0-4375-4321-40 ต่อ 2060
โทรศัพท์/โทรสาร 0-4375-4318
ข้อเสนอแนะ :card@msu.ac.th

--------------------------------------------------------------




อังคาร 28.10.2557


Create Date : 28 ตุลาคม 2557
Last Update : 28 ตุลาคม 2557 23:23:48 น. 0 comments
Counter : 2035 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.