My World
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
12 เมษายน 2553
 
 
เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กับ การสลายการชุมนุม - 2

เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กับ การสลายการชุมนุม - 2 (ต่อ)

ถ้ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด แสดงว่าให้ยอมรับหรือพึงพอใจ หากเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ ปราศจากอาวุธ บรรดาผู้ที่อยู่ในองค์กรของผู้จัดการชุมนุมหรือใกล้ชิดต่อเนื่องกันที่เห็น ได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันในทางจัดการเป็นผู้ตระเตรียมการใช้อาวุธเสียเอง อย่างนี้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ปราศจากการใช้อาวุธ แต่ถ้าเป็นการชุมนุมของผู้จัดก็ดีหรือผู้ที่อยู่ในองค์กรของเขาก็ดีรวมทั้ง บุคคลใกล้ชิดของเขาไม่ได้ตระเตรียม ไม่ได้พึงพอใจที่จะใช้กำลัง แต่มีบุคคลอื่นแทรกซ้อนเข้ามาหรือกลุ่มอื่นๆ ที่เข้ามาแล้วมีการใช้อาวุธหรือนำอาวุธมาด้วยนั้น การที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้จะใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิการชุมนุมของคน ส่วนใหญ่ไม่ได้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องเข้าระงับเหตุหรือเข้าตรวจสอบนี้ เป็นประเด็นที่สำคัญมาก การชุมนุมนี้ศาลก็เห็นว่าย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคนโกรธแค้น ไม่เห็นด้วย หรือคนที่มีวัตถุประสงค์อย่างอื่นเข้าแทรกซ้อนเป็นธรรมดานี้ แต่เหตุผลนี้เป็นการไม่เพียงพอแก่การตัดสินว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่สงบ และไม่ปราศจากอาวุธ ดังนั้น หากมีการตรวจค้นแล้วพบอาวุธ ของมีคมอยู่ในครอบครองของบุคคลที่ร่วมอยู่ในการชุมนุม ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธ
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันก็ยังตัดสินต่อไปอีกว่า การที่ศาลปกครองชั้นสูงสุดของเยอรมันไปตัดสินว่าขยายระยะจาก 10 ตารางกิโลเมตรที่ศาลชั้นต้นเขาจำกัดแคบลง แล้วไปขยายระยะแสดงให้เห็นว่าศาลปกครองเยอรมันวินิจฉัยคดีโดยไม่คำนึงถึงรัฐ ธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงในการที่จะปรับใช้กฎหมายทุกฉบับ และเป็นเหตุให้ศาลตัดสินว่าคำร้องของผู้จัดการชุมนุมที่ร้องขอให้ศาลรัฐ ธรรมนูญมีคำสั่งว่าคำสั่งห้ามการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำร้องนั้นมีผล และศาลก็สั่งตามนั้นบางส่วน ที่ว่าบางส่วนนั้นก็คือ ศาลสั่งว่าการห้ามการชุมนุม ในกรณีที่มีข่าวกรองว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ให้กำจัดได้เฉพาะตามสมควรแก่เหตุ ในกรณีเช่นนี้เฉพราะบริเวณเขตถนนที่เดินเข้าสู่เขตก่อสร้างหรือการห้ามการ ชุมนุมในเขตระยะตามกฎหมายเยอรมันก็คือว่า 2 กิโลเมตรจากบริเวณที่เป็นเขตล่อแหลมก็พอแล้ว
กรณีคำพิพากษาของศาลเยอรมัน ผมคิดว่าควรจะมีการนำมาศึกษากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญของศาลเยอรมันได้ชี้ให้เห็นว่า สิทธิในการชุมนุมเป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิที่มีสาระสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสำคัญแก่รัฐบาลฝ่ายเสียงข้าง มาก โดยวินิจฉัยว่ายิ่งรัฐบาลเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ยิ่งต้องเปิดโอกาสให้มีความคิดเห็นคัดค้านรัฐบาล เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น ข้อคิดเห็นว่าคัดค้านนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่
ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุม คดีที่จะเล่าให้ฟังเป็นคดีที่เกิดตั้งแต่ปี 1985 คือประมาณ 18 ปี มาแล้ว ปัจจุบันนี้ปัญหาในต่างประเทศก็ยังคงมีอยู่และเกิดประเด็นต่างๆ อยู่เรื่อยๆ กรณีที่จะยกตัวอย่างนี้เป็นกรณีที่ว่า มีการแสดงละครคัดค้านนโยบายของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง โดยในการแสดงนั้นมีการเผาธงประเทศนั้น กรณีนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เยอรมันก็เป็นเหมือนประเทศไทย การที่ไปเผาธงของประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตรหรือประเทศที่เป็นมิตรเป็นความ ผิดทางอาญา ในเยอรมันจึงเกิดเป็นข้อถกเถียงกันว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มุ่งหมายจะเผาธง แต่เป็นการแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมต่อต้านนโยบายของประเทศมหาอำนาจประเทศ นั้น มันไม่ควรจะเป็นเหตุ หากไม่ได้เป็นการกระทำของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐที่อาจถือได้ ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ของรัฐหนึ่งต่ออีกรัฐหนึ่งที่เป็นมิตรกัน อย่างไรก็ดี หากว่าเป็นการกระทำของศิลปินซึ่งต้องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นมันก็ควรจะ ได้รับการยอมรับ และควรจะมีขอบเขต ไม่ใช่เผาธงชาติของที่ไหนก็ได้ ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นมันมีเหตุหรือไม่ เหตุนั้นรับฟังได้หรือไม่
ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าที่จริงแล้ว ในการพิจารณาการปรับใช้กฎหมาย มันจะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่าง คุณวีระ มุสิกพงษ์ กล่าวในการหาเสียงว่าพระองค์เจ้าวีระจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ลิเกแสดงเท่าไหร่ๆ ก็ไม่มีใครไปกล่าวหาว่าผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สภาพการณ์มันผิดไป เงื่อนไขมันผิดกัน ทำให้ต้องรับผิดในทางอาญาได้
ประเด็นที่ผมคำนึงในการชุมนุมประท้วง หลักของมันก็คือว่า ต้องมีการชั่งน้ำหนักประโยชน์ได้เสียทั้งสองฝ่าย กรณีการชุมนุมประท้วงการก่อสร้างโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณูของเยอรมันได้พิจารณา ชัดเจนว่าจะต้องมีการชั่งน้ำหนักหลักสัดส่วน หรือหลักสมควรแก่เหตุเสมอ เพราะว่าถ้าภยันตรายนั้นใหญ่หลวง เช่นเป็นต้นว่า ปรากฏว่ามีอาวุธสงครามมีระเบิดหรือมีการตระเตรียมอย่างอื่น การประกาศเขตห้ามไม่ให้มีการชุมนุม 210 ตารางกิโลเมตร อาจจะสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าปรากฏว่ามีแต่มีด มีไม้ มีพวกแก๊งมอเตอร์ไซด์มา การสั่งห้ามชุมนุมในระยะ 210 ตารางกิโลเมตรก็ไม่สมควรแก่เหตุ ศาลบอกว่า 10 ตารางกิโลเมตรก็ใหญ่แล้วพอแล้ว หรือถ้าหากว่ามีไม้พรองหรือด้ามพรองเหลาแหลมมันก็ต้องว่าตามเหตุของมันเป็น เหตุของมัน
ที่สุดในคดีนี้ที่ อ.วรเจตน์ กล่าวไว้ ในเยอรมันการที่จะห้ามชุมนุม ต้องประกาศชัดเจนและจะต้องเปิดให้บุคคลทุกคนเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้เขาโต้แย้งได้ ในสังคมบ้านเรายังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากเราใช้เหตุใช้ผลกัน ผมยังคิดว่าประเด็นในกระบวนการของศาลปกครองก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา อยู่ หนีไม่พ้นหรือว่าจะเป็นคดีอาญา อย่างที่ อ.วรเจตน์ ว่าการโต้แย้งยังสามารถเป็นประเด็นในทางรัฐธรรมนูญต่อไปได้ ผมเองจะไม่ขอพูดก้าวก่ายลงไปในกรณีประเทศไทย ทั้งหมดที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ดี ศาลปกครองไม่ดี นี้พูดเฉพาะในกรณีของเยอร มันไม่ใช่เรื่องเมืองไทย
3. แนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายฝรั่งเศส3
เข้าใจว่าที่เราพูดกันอยู่ตอนนี้ เราคงอยากจะแยกให้ชัดเจนว่าระหว่างการกระทำทางอาญากับการกระทำทางปกครอง อำนาจอาญากับอำนาจปกครอง แม้ว่าผู้ที่ใช้อำนาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน อาจจะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็แล้วแต่ แยกกันที่ตรงไหน
ดิฉันลองไปค้นมาในส่วนของประเทศฝรั่งเศส ก็พบว่าศาลของประเทศฝรั่งเศสเขาใช้วิธีการที่ฟังดูคล้ายกับ อ.กิตติศักดิ์ ได้พูด ว่าให้ดูที่เจตนาและวัตถุประสงค์ในการใช้อำนาจ ถ้าผู้กระทำการคือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีวัตถุประสงค์ หรือมีเจตนาในการดำเนินการหรือปฏิบัติการนั้น เพื่อที่จะนำเอาผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหามาลงโทษหรือดำเนินการตามกระบวนวิธี การทางอาญา ก็จะเป็นกระบวนการทางอาญา หรือการใช้อำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าการปฏิบัติการนั้นเป็นไปเพื่อป้องปรามหรือป้องกัน โดยที่ยังไม่มีผู้กระทำผิดหรือยังไม่แน่ชัดว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ แต่ป้องกันไว้ก่อน กรณีอย่างนี้แม้ว่าผู้กระทำจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองก็ดีก็เป็น การกระทำทางปกครอง ซึ่งก็จะมีผลต่อไปต้องขึ้นศาลปกครองไม่ใช่ขึ้นศาลยุติธรรม
ในประเทศฝรั่งเศส ขอยกตัวอย่าง กรณีปฏิบัติการล่อซื้อยาเสพติดอย่างที่บ้านเราทำกัน หากมีความสงสัยว่ามีผู้ต้องหา ผู้กระความผิด แต่การสงสัยนั้นอาจจะรู้ตัวแน่ชัด หรือเป็นข้อสันนิฐานอย่างนี้ปฏิบัติการนั้นถือว่าเป็นการกระทำตามอาญา ใช้อำนาจอาญาไม่ใช่เป็นเรื่องปกครอง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นคนผลุบๆ โผล่ๆ ที่หน้าต่าง ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นคนร้ายหรือไม่ ก็ยิงปืนไปเลย เป็นเหตุให้ผู้นั้นบาดเจ็บกรณีอย่างนี้ ศาลปกครองมองว่าเป็นเรื่องทางปกครอง เพราะว่ายังไม่มีเจตนาหรือไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะนำผู้ที่มีความผิดมาลงโทษ
มันจะมีกรณีซึ่งมีพฤติกรรมนั้นหรือข้อเท็จจริงนั้นเดิมมันเป็นเรื่องของ ปกครองก่อน และต่อไปกลายเป็นความผิดการกระทำทางอาญา อย่างนี้ก็เป็นได้ เช่น กรณีที่ตำรวจตั้งด่านตรวจรถที่ผ่านมา การตั้งด่านอย่างนั้นเป็นมาตรการทางปกครอง เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิด แต่ในกรณีที่มีรถคันหนึ่งซึ่งมาถึงด่านตำรวจให้สัญญาณหยุดแล้ว ปรากฏไม่หยุดฝ่าด่านชนไม้กั้นออกไป ณ จุดนั้นการกระทำนั้นมันเปลี่ยนมีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามรถที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานก็เป็นการ กระทำทางอาญาไปแล้วไม่ใช่การปกครอง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่อยากจะยกขึ้นมาเสนอเป็นข้อพิจารณา
มาถึงประเด็นที่ อ.กิตติศักดิ์ ได้พูดถึงกรณีในการชุมนุม ซึ่งบอกว่าคนที่มาชุมนุม บางคนก็พกพาอาวุธมา ตรงนี้อยากจะขอเสริมว่าในกรณีของประเทศฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน ศาลไม่ได้ดูว่าผู้ชุมนุมซึ่งมีเป็นจำนวนมากพกพาอาวุธหรือไม่ แต่จะดูที่คนรับผิดชอบการชุมนุมหรือคนจัดการชุมนุมหรือคนที่เรียกให้มีการ ชุมนุม กฏหมายของประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีการชุมนุมประท้วงโดยใช้สถานที่ท้องถนนสาธารณะ กฎหมายจะกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการชุมนุมอย่างต่ำ 3 คน ในกรณีที่เกิดอะไรขึ้นผู้ที่รับผิดชอบตรงนี้จะเป็นผู้อาจจะเป็นความผิดทาง อาญาก็จะทำให้ชัดเจนคือว่าการชุมนุมอันนั้นเป็นการชุมนุมที่สงบที่ปราศจาก อาวุธหรือไม่ ความจริงก็ดูกันผู้ที่รับผิดชอบการชุมนุมนั้นเอง
สำหรับกรณีที่เป็นคำสั่งของศาลปกครองซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ ตำรวจเห็นว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นการ ขัดกฏหมายอาญา เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า ถ้าเป็นของกฎหมายฝรั่งเศสจะถือว่า ถือว่ามีการกระทำผิดทางอาญาแล้วหรือไม่นั้น หากจะให้ฟันธงเลย ก็เห็นว่ายังไม่ใช่เกณฑ์นี้ที่เราจะเอามาพูดจาในกรณีข้อเท็จจริงนี้ คือ การใช้สิทธิ คือตรงนี้เรากำลังพูดกันว่าประชาชนกำลังใช้สิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบใช่ไหม คือเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อยากขอนำเสนออย่างนี้มากกว่า เราไม่ควรไปพูดเข้าองค์ประกอบประมวลกฎหมายอาญาหรือประมวลกฎหมายอื่นๆ หรือความผิดกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ เราควรตั้งคำถามอย่างนี้มากกว่า ว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ บ้านเรามาตรา 44 การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันมีวรรค 2 ที่อนุญาตให้รัฐออกกฎหมายออกมาจำกัดสิทธิในบางลักษณะบางประการ แต่เนื่องจากรัฐยังไม่เคยออกกฎหมายอันนี้ออกมาในชั้นของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ศาลยุติธรรมดิฉันยังไม่แน่ใจ ก็ไปใช้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเอามาใช้มากกว่าที่จะดูบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าเวลาท่านใช้กฎหมายท่านไม่ได้ดูว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติ หลักการไว้ แต่ท่านไปดูว่ามีกฎหมาย พระราชบัญญัติ พูดเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐอย่างไร แล้วก็เอามาจำกัดสิทธิในวรรคแรกของมาตรา 44 นั้นเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าตรงนี้ที่เป็นปัญหาอยู่แนวคิด หรือท่าทีแบบนี้ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหา แทนที่ศาลจะใช้ตัวรัฐธรรมนูญเหนือกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่ปรากฏว่าเวลานี้ใช้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติไปจำกัดรัฐธรรมนูญ และเมื่อไม่มี กฎหมายเฉพาะเรื่องในเรื่องวรรค 2 ของมาตรา 44 ออกมาทานกับพระราชบัญญัติฉบับอื่นๆ รวมทั้งประมวลกฎหมายด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนี้ก่อน
4. ปัญหาการตีความเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กับความผิดตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ประเด็นปัญหาการตีความเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กับความผิดตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่อ.บรรเจิดยกขึ้นมานี้ไม่ได้ปรากฎอยู่ในคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครอง แต่ศาลเขียนไว้ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเป็นการขัดต่อกฎหมายอาญาและน่าจับกุม ผมเองไม่แน่ใจว่าตอนที่แจ้งฐานความผิดพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่มีปัญหาในตัวเอง คือถ้าเราดูให้ดี ถ้าเราไปรับความผิดฐานนี้ตั้งแต่ต้น พูดไปกลายเป็นประเด็นในทางอาญาอีกด้วยว่าหากกรณีลักษณะนี้ ตำรวจตีความเรื่องนี้เป็นเรื่องของอาญา ก็จะไม่สามารถมีการชุมนุมเกิดขึ้นได้เลย มันไม่มีทางที่จะเกิดการชุมนุมได้เลย เพราะมันจะเข้าองค์ประกอบอย่างนี้หมด
เพราะฉะนั้นความจริงมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผมคิดว่ามันมีปัญหาในแง่ของหลักการบัญญัติกฎหมาย อาญาเรื่องของความชัดเจนแน่นอนในตัวของมัน มันมีข้อเรียกร้องในการเขียนกฎหมายอาญาว่าต้องเขียนให้มันชัดเจน แน่นอนไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่จะบอกหรือที่จะเห็น แต่ถ้ากฎหมายเขียนแบบนี้ที่จะเห็นในเชิงการตีความ ควรต้องเอาตัวบทรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องช่วยตีความ คือถ้าเกิดไปตีความอย่างนี้การชุมนุม มันจะมีไม่ได้
ประเด็นตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า หากเห็นว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และจะเข้าไปห้ามการชุมนุม มันก็ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นความผิดอาญาได้ เพราะหากบอกว่าเป็นความผิดอาญา มันจะไม่สามารถชุมนุมหรือมีการชุมนุมได้เลย เพราะมันจะมีความผิดทางอาญาหมด การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญกับความผิดอาญามันไม่ไปด้วยกัน มันไม่อาจเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ 2 เรื่องนี้ มันขาดจากกัน
นี่คือความเห็นของผม ความจริงประเด็นในเรื่องนี้มันควรจะเป็นว่า อยู่ในขอบข่ายของทางปกครองหรือทางอาญา ผมเองยังเห็นโน้มเอียงไปในเบื้องต้น ถ้ามันไม่เห็นประจักษ์ชัดในเรื่องของความผิดของอาญา มันน่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในแดนของกฎหมายปกครองอยู่ แล้วเป็นเรื่องของการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะอยู่ ยังไม่เป็นเรื่องของการใช้กำลังเข้าคลี่คลายอาชญากรรมหรือจับกุมผู้กระทำ ความผิดอาญาอันเป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ดร.กิตติศักดิ์ ปกติ
ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ อ.วรเจตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่จะตีความคำว่า “วุ่นวาย” คำว่า “วุ่นวาย” ตามกฎหมายอาญา มันต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน มันถึงจะวุ่นวายได้ ถ้ามันยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ มันก็ไม่วุ่นวาย ไม่เชื่อไปถาม สส.ที่ประชุมในสภาฯ ถ้ายังปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอยู่ ถึงแม้ว่าจะโวยวายกันบ้าง มันก็ไม่เรียกว่าวุ่นวาย ไม่อย่างนั้นตำรวจจับได้ เพราะที่สภาฯ เกิน 10 คนด้วย ในแง่นี้เอง การชุมนุมจึงเป็นอย่างที่ อ.วรเจตน์ว่า และเรื่องนี้มันเชื่อมโยงกับการตีความกฎหมาย หรือการปรับใช้กฎหมายต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ของ อ.จันทจิรา พูดไว้ว่าเป็นหลักของกฎหมายฝรั่งเศสและเป็นหลักของทางเยอรมันและก็ต้องเป็น หลักของไทยด้วย หลักเกณฑ์เรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพผูกพันองค์การต่อรัฐทั้งปวง ในแง่นี้ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก
ผมขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งในประเทศเยอรมัน คือมีนักสร้างภาพยนตร์คนหนึ่งสร้างหนังให้กับฮิตเลอร์มาเป็นเวลานาน คือสร้างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ชวนเชื่อให้รักรัฐบาล หลงรัฐบาลว่ารัฐบาลของฮิตเลอร์มีความเมตตาช่วยเหลือคนจน และทำให้เกลียดคนยิวมาก ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ตายไป แพ้สงครามเรียบร้อยแล้ว ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คนนี้ ซึ่งสร้างภาพยนตร์ให้กับรัฐบาล แกยังมีชีวิตอยู่และสร้างภาพยนตร์ด้วย พอแกจะสร้างภาพยนตร์ ก็ปรากฎว่ามีนักเขียนคนหนึ่งก็ป่าวประกาศเขียนบทความให้ประชาชน ต่อต้าน ไม่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะผู้สร้างเป็นสมุนเผด็จการ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ก็เลยไปฟ้องศาล กล่าวหาว่าการกระทำของนักเขียนคนนี้เป็นการไขข่าวแพร่หลาย ทำให้ตนเองหมดทางทำมาหาได้ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดเช่นเดียวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา บัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนกันเเลย ศาลชั้นต้นก็บอกเป็นการกระทำละเมิด เนื่องจากไขข่าวแพร่หลายทำให้หนังเขาขายไม่ได้ ฉายก็ไม่มีคนดูหรือมีคนดูน้อยกว่าที่ควร เพราะว่าหลายคนไปคิดว่าผู้อำนวยการสร้างเป็นสมุนเผด็จการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของหนัง
กรณีนี้เมื่อศาลจะสั่งปรับนักเขียน นักเขียนก็ร้องขึ้นไปจนกระทั่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแกแพ้คดี ศาลจะปรับแก ถึงศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าศาลฎีกาเยอรมันตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงคุณค่า พื้นฐานตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ คือการตีความว่าการไขข่าวแพร่หลายเป็นเหตุให้เขาขาดในการทำมาหาได้ มันต้องตีความว่าถ้าเขาใช้สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแล้ว และถ้าการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นไม่เกินเหตุ และก็ไม่ได้เป็นการทำให้เสียสิทธิกันจนอีกฝ่ายหนึ่งสิ้นสิทธิไปเลย มันก็สมควรแก่เหตุ เพราะเขาบอกว่าให้ไม่ยอมรับ ไม่ได้ไปทำลาย หรือว่าไปห้ามไม่ให้ขาย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าศาลฎีกาเยอรมันตัดสินไม่ถูก ตีความกฎหมายผิด เพราะไม่ได้ตีความของกฎหมายรัฐธรรมนูญใส่ลงไปในกฎหมายแพ่ง
หรือในตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งสั่งไปยังผู้จำหน่ายทุกแผงว่า หากว่าแผงหนังสือพิมพ์นั้นวางจำหน่ายหนังสือฉบับเล็กซึ่งเป็นคู่แข่งกับตัว หรือเป็นคู่แค้นของตัว จะไม่จัดส่งหนังสือพิมพ์ให้ พวกบรรดาผู้ขายหนังสือพิมพ์ทั้งหลายก็งดรับหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กเพื่อที่จะ ได้ขายหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ หนังสือพิมพ์ขนาดเล็กก็เลยฟ้อง พอฟ้องหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ก็บอกว่าผมใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ เชื่อคุณก็ไปดูคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ การแสดงความคิดเห็นนั้นมันอาจจะทำให้ไปปิดกั้นการทำมาหาได้ ซึ่งกรณีนี้มันขึ้นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ใช้สิทธิไปในทางไม่ชอบ เพราะสิ่งที่ทำนี้เป็นการกระทำที่ผูกขาดทางการค้าไปกีดกันการแข่งขันทางการ ค้าเขา ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเมื่อปรับใช้รัฐธรรมนูญเองไปใน กฎหมายแพ่งแล้ว ในกรณีนี้ต้องลงโทษผู้ประกอบการค้าขนาดใหญ่คนนี้คือบริษัทหนังสือพิมพ์ยักษ์ ใหญ่
เราจะเห็นได้ว่ากรณีทำนองเดียวกันนี้ก็ใช้กับคดีก่อนหน้านี้ คือ คดีที่มีประชาชนชุมนุมประท้วงการก่อสร้างโรงงานปรมาณู ในคดีนี้ปรากฎว่าศาลรัฐธรรมมนูญตัดสินต่อไปด้วยว่าตามกฎหมายควบคุมการชุมนุม นั้นกำหนดว่า ถ้าประชาชนจะชุมนุมแล้วละก็จะต้องแจ้งให้ทราบก่อน 48 ชั่วโมง ก็จริงอยู่แต่ก็ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายอย่างนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นการชุมนุมโดยพลันของประชาชนซึ่งเกิดจากเหตุฉุกเฉินคดีหรือเกิดจาก เหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ซึ่งไม่สามารถแจ้งได้เพราะเกิดเหตุเดี๋ยวนั้นก็ชุมนุมเดี๋ยวนั้น เหมือนยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีประชาชนไปชุมนุม เมื่อได้ข่าวว่าสถานฑูตไทยในกัมพูชาถูกเผาก็มีการไปชุมนุมที่ถนนแถวสถานฑูต กัมพูชา อย่างนี้ก็เป็นการชุมนุมโดยพลัน มันจะแจ้งก็แจ้งไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้เลยว่าถ้าตีความกฎหมายที่บอกจะชุมนุมก็ต้องแจ้งหรือ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ เขาจำกัดเพื่อที่ทางราชการจะได้จัดเตรียมไว้สำหรับอำนวยความสะดวกและก็ สำหรับที่จะจัดเตรียมการจราจรเพื่อจะที่ให้การชุมนุมนั้นสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นในบางกรณีไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ก็ไม่เป็นความผิดทั้งๆ ที่กฎหมายเขียนไว้เลยว่าผู้ใดไม่แจ้งมีความผิด เมื่อตีความไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้วจะนำมาใช้กับกรณีอย่างนี้ไม่ได้
ผมยกตัวอย่างประกอบขึ้นมาว่า ในกรณีของเราปล่อยศาลไทยปรับใช้อย่างไร แต่ในต่างประเทศ กรณีที่มีการเดินเข้าหาผู้ชุมนุมโดยผู้ชุมนุมไม่ได้ทำอะไร ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ว่าหลายคนก็บอกว่าข้อเท็จจริงผู้ชุมนุมใช้ความ รุนแรงแล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลายๆ ฝ่ายก็บอกผู้ชุมนุมอยู่เฉยๆ ตำรวจดาหน้าเข้าหาเป็นเหตุให้ตื่นตกใจและตระหนกกันแล้วมีการตีกัน กรณีอย่างนี้ตำรวจเป็นฝ่ายก่อเหตุเมื่อเป็นอย่างนี้แม้ว่าการกระทำของตำรวจ ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่งทางปกครอง เพราะว่าไม่ได้กำหนดสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไรเลย แต่เป็นการกระทำทางปกครองอย่างที่ อ.วรเจตน์ว่า นั้นก็คือใช้อำนาจในทางปกครองเพื่อที่จะระงับเหตุที่จะมีมาในทางปกครอง ไม่ไช่ที่จะมีมาในทางอาญา ถ้าจะมีมาในทางอาญาต้องปรากฏว่ามีการกระทำความผิดหรือมีเหตุการณ์ใกล้ชิด แสดงให้เห็นแล้วว่าภยันตรายที่เป็นภยันตรายในทางกฎหมายอาญาต้องเกิดขึ้นแน่ นอน
5. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย4
เวลาพูดถึงการชุมนุม เสรีภาพในการชุมนุมในประเทศขบวนการชุมนุมมีมาตลอด องค์ประกอบของการชุมนุมที่ผ่านมามีหลายอย่าง หนึ่ง-ต้องเดินขบวน แน่ๆ ทุกครั้ง หลายครั้งบ่อยครั้งของการชุมนุมต้องมีการเดินขบวน สอง-ต้อง มีการพูด การกระจายเสียงต้องใช้เสียงกันอย่างเต็มที่ต้องมีการอภิปรายต้องพูด คือต้องใช้เสรีภาพในการพูดด้วย ขณะเดียวกันติดโปสเตอร์เต็มไปหมดเขียนคำขวัญ คือองค์ประกอบพวกนี้มีหมดมีครบถ้วนทุกอย่าง จึงจะเรียกว่าการกระทำแบบรวมกลุ่ม การกระทำรวมหมู่เพื่อแสดงออกในความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นจึงเห็นว่าองค์ประกอบการชุมนุมมันจึงมีเสรีภาพอย่างอื่นประกอบกันหมด เช่น ต้องพูดได้ ไม่ใช่ว่าจำกัดไม่ให้พูด ต้องติดโปสเตอร์ได้ ในที่ชุมนุม ต้องเดินขบวนได้ ต้องใช้ที่สาธารณะได้ มันจึงจะเรียกเป็นการชุมนุมแบบรวมหมู่ หรือการกระทำแบบรวมหมู่ ถึงที่สุดแนวคิดเรื่องการชุมนุมที่บอกว่าในการกระทำรวมหมู่เพื่อแสดงออกใน ความคิดเห็นทั้งต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะ เพื่อบอกกับสาธารณะว่าตัวเองคิดเห็นต่อกิจการสาธารณะหรือผลประโยชน์ของตนเอง เป็นอย่างไรเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สุดในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ของประชาชนผมคิดว่านี้คือหลักการพื้นฐาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2475 รับรองหมด เพียงแต่มีข้อสังเกตคือที่รับรองแตกต่างกัน ในยุคแรกจะรับรองว่าภายใต้กฎหมายถึงจะมีสิทธิชุมนุม ก็หมายความว่าต้องมีกฎหมายอื่นมาก่อน จึงจะชุมนุมได้ ในยุคแรกเขียนไว้ภายใต้กฎหมายอื่นที่มีอยู่ทั้งหมดจึงจะชุมนุมได้ พอยุคหลังเขียนให้มันชัดขึ้นบอกว่าใช้สิทธิชุมนุม ก่อนยกเว้นมีบางเรื่องที่ทำไม่ได้ ถ้าเป็นการชุมนุมที่ใช้ที่สาธารณะจำเป็นจะต้องไม่ขัดขวางการใช้ที่สาธารณะ ของคนอื่น-นี่คือประการที่หนึ่ง ประการที่สอง-จะต้องให้รัฐเข้ามาดูแลในเรื่องรักษาความสงบ ในเงื่อนไขที่ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึกหรือสงครามเท่านั้น จึงจะจำกัดได้ นี่เป็นเงื่อนไขจำกัดที่เจาะจงมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ทีนี้ลองดูกฎหมายเวลาใช้สิทธิชุมนุมของไทย ลองตรวจสอบกฎหมายไทย
หนึ่ง-มีกฎหมายว่าด้วยการใช้เสียง ถ้าคุณไม่ขออนุญาตใช้เสียง คุณก็จะถูกปรับ ถูกลงโทษทางอาญา ถ้าคุณจะชุมนุม คุณต้องไปขออนุญาตใช้เสียงก่อน นี่เป็นกฎหมายห้ามโฆษณา ห้ามใช้สิทธิห้ามใช้เสียง เคยมีตอนชุมนุมคัดค้านเดือนพฤษภาคม เลขาธิการ สนนท. สมัยนั้นถูกปรับเนื่องจากการใช้เครื่องเสียง สอง-คือว่าในกฎหมายเราการที่จะเดินบนถนนมีกฎหมายจราจร ห้ามเดินขบวนเด็ดขาด ยกเว้นการเดินขบวนของรัฐ หรือยกเว้นตอน count down ตอนปีใหม่ ปิดถนนได้แน่นอน ยิ่งถ้านายกฯ ไปเปิดงานด้วย จึงหมายถึงว่าถ้าจัดโดยรัฐทำได้หมด หรือเดินแถวขบวนได้ ถ้าเจ้าพนักงานจราจรอนุญาต เดินแถวทหารก็ได้ ได้หมด จะเห็นได้ว่าถ้าจะเดินขบวนต้องขออนุญาตก่อน ถ้าไม่ขออนุญาตก็ผิดกฎหมายหมด และสาม-กฎหมายรักษาความสะอาดและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองบอกว่า ห้ามติดประกาศในที่สาธารณะ ห้ามโฆษณาในที่สาธารณะก่อนได้รับอนุญาต ก็ต้องไปขออนุญาตอีกจึงจะทำโปสเตอร์ได้ เหล่านี้คือตัวอย่าง
สรุปก็คือ การใช้สิทธิชุมนุมทำไม่ได้เลย ถ้าไม่เป็นไปตามกฎหมายที่พูดมาทั้งหมด หน่วยงานทั้งหมดทุกหน่วยสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้หมด ในข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ แต่ทำไมจึงมีการชุมนุมกันได้อยู่ เพราะว่ามันมีการท้าทายรวมหมู่ จึงทำให้มีการชุมนุมกันได้ แต่ในคราวใดที่เจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายมาปฏิบัติต่อการชุมนุมก็สามารถใช้ได้ ทันที กรณีปากมูลที่มีการสลายเมื่อวันที่ 29 มกราคม ปีที่แล้ว ก็คือใช้ พรบ. รักษาความสะอาดฯ และใช้หน่วยกองกำลังประมาณ 1,000 คนของเทศกิจเข้าไปสลายบอกว่าทำให้ทางเท้าสกปรก และกีดขวางการที่จะใช้ที่สาธารณะ รื้อทิ้งหมดเลย จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการตรวจสอบการใช้กำลังสลายในครั้งนั้น กรณีถ้าจะใช้สนามหลวง ถ้ากองสาธารณะที่ดูแลสวนทั้งหมดในกรุงเทพฯไม่อนุญาตให้ใช้ที่ไหนก็ขอไม่ได้ ลานพระรูปก็ไม่ได้ ถ้าถึงเวลาที่จะใช้จริงๆ ก็ขอไม่ได้ ก็จะชุมนุมไม่ได้เลยเพราะกฎหมายให้อำนาจหมดเลย แล้วยิ่งจะแก้ พรบ. ทางหลวงห้ามชุมนุมบนทางหลวง ทั้งๆที่ พรบ. ทางหลวงเดิมห้ามปิดกั้นทางหลวงเนแต่จะได้รับอนุญาตได้อยู่แล้ว
นี่คือตัวอย่างของกฎหมายที่มันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่มันเป็น อยู่ พอพูดถึงเสรีภาพการชุมนุมมันก็เลยไม่เกิด รัฐบาลนึกจะใช้กฎหมายฉบับที่ผมว่ามาเมื่อใหร่ก็ใช้ได้หมด นี่ยังไม่พูดถึงความผิดทางอาญามาตรา 215, 216 เดี๋ยวนี้ใช้วิธีตีก่อน แล้วค่อยสลายการชุมนุม คือหมายถึงรัฐใช้อำนาจตีหัวก่อนแล้วใช้กำลังเข้าจับกุมโดยอ้างว่ามีการกระทำ ผิดกฎหมาย เพราะเวลาที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมย่อมมีการตอบโต้กันเป็น ธรรมดาตามสัญชาตญาณของมนุษย์ในการป้องกันตัวเอง รัฐมีการใช้วิธีแบบนี้เข้าสลายในการชุมนุม กรณีการชุมนุมคัดค้านท่อก้าซไทย-มาเลย์เซียที่อำเภอหาดใหญ่ก็คือการใช้กำลัง เข้าสลายมีการตอบโต้กันระหว่างบุคคล แล้วมีการจับกุมแกนนำบอกว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆที่การกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลเป็นผลมาจากการใช้กำลังเข้าสลายการ ชุมนุมนั่งเอง เขาใช้วิธีตีแล้วจับ แล้วบอกว่านี้เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุมอย่างแยบยลนี่เป็นตัวอย่าง
แล้วการชุมนุมทุกครั้งมั่วสุ่มเกิน 10 คนใช้ตลอด ศาลเคยยกมาหลายคดีแล้ว เพราะไม่ได้เจตนาที่จะทำผิดทางอาญาเป็นการใช้สิทธิชุมนุมโดยสันติ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้แบบนี้มาตลอดนั่นก็ คือชุมนุมไม่ได้ที่ผ่านมา แล้วถ้ามีการชุมนุมใหญ่รัฐก็มีกฎหมายใหญ่ กรณีเดือนพฤษภา รัฐใช้วิธีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สลายการชุมนุมใช้อำนาจตาม พรบ.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อก่อนมีกฎอัยการศึกทั่วประเทศสามารถใช้สถานการณ์ฉุกเฉินปราบการชุมนุม ได้เลย กฎหมายทั้งหมดของเราที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเล็กจนถึงกฎหมายใหญ่ ทั้งหมด ให้อำนาจรัฐในการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วที่ชุมนุมกันได้เพราะอะไร ที่ชุมนุมกันได้มันไม่ใช้เรื่องกฎหมายมันเป็นเรื่องการชอบธรรมเรื่องดุลย์ อำนาจของผู้ชุมนุมว่าใครมีกำลังมากกว่า แต่ถ้าพิจารณากฎหมายที่เป็นอยู่ คือโดยอำนาจทางกฎหมายให้อำนาจรัฐมาก การจะชุมนุมแบบฉับพลันนี่ทำไม่ได้ ต้องวิ่งขอสถานที่ที่จะชุมนุมที่ลานพระรูปในครั้งแรกการชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ขอแล้วขออีก ดีที่สมัยนั้นพรรคพลังธรรมคุมงานบริหารกรุงเทพมหานครอยู่และพรรคพลังธรรม เข้าร่วมการเคลื่อนไหว จึงได้มาโดยง่าย แต่ถ้าเกิดเป็นพรรคอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีทางได้ที่ชุมนุมเพราะฉะนั้นการชุมนุมใน ที่สาธารณะก็เกิดไม่ได้ ถ้าเป็นขั้นตอนแบบนี้ และถ้ายิ่งสมัยที่อำนาจรัฐหรือฝ่ายบริหารแข็งแกร่ง ใช้กลไกตามกฎหมายที่ผมว่ามาได้หมด กฎหมายทุกฉบับใช้ได้หมด คุณสมัครบอกไม่ให้อนุญาต เขตดุสิตบอกยังไม่ให้คุณ คุณจะมาชุมนุมได้อย่างไร ทางจราจรก็ยังไม่อนุญาตให้คุณเดิน เครื่องเสียงยังไม่ให้ใช้ คุณติดลำโพงมาแล้วติดรถมาแล้วทำไม่ได้ ถ้านึกจะใช้อำนาจกันแบบนี้ก็ใช้กลไกกฎหมายตามปกติก็หยุดการชุมนุมได้หมด จึงถือว่ากฎหมายที่มีอยู่ มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ รัฐสามารถใช้อำนาจได้แล้วก็ชอบด้วยกฎหมาย มีขั้นตอนสกัดได้หมด
ประการถัดมาคือ การใช้อำนาจที่ผ่านมาที่การใช้อำนาจที่เชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือ ไม่มีอำนาจให้ทำ เช่นกรณีการชุมนุมของชาวจะนะที่อำเภอหาดใหญ่ เพราะไม่มีอำนาจให้สลายการชุมนุม เพราะไม่มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้นก่อนการการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด หรือในกรณีของการใช้กฏหมายกรณีของปากมูล ที่จริงก็ไม่มีความวุ่นวาย เพียงนั่งอยู่บนทางเท้า แต่ก็ไปสลายเขา ขนคนขึ้นรถ ขนของขึ้นรถ ให้กลับบ้าน เพราะนายกฯ บอกให้กลับบ้าน นี่เป็นตัวอย่างที่ผ่านมา
ประเด็นถัดมา ถ้าเป็นการชุมนุมที่เป็นฝ่ายรัฐหรือมีสายสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐ หรือสนับสนุนโดยฝ่ายรัฐ สามารถทำได้ มีการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง นี่เป็นการใช้อำนาจในการเลือกปฏิบัติที่ดำรงอยู่ตลอด ถ้าเชียร์รัฐบาล สามารถเข้าพบท่านนายกได้ แต่ถ้าคัดค้านรัฐบาล ขอเข้าพบนายก ไม่มีทาง ยกตัวอย่าง เรื่องเด็กก็ได้ เด็กสามจังหวัดภาคใต้มาสามารถพบนายกได้เพราะกำลังมีปัญหาทางใต้ เด็กไร้สัญชาติขอสัญชาติขอเข้าพบนายกไม่ได้ โดยที่ผ่านมาการใช้อำนาจแบบเลือกปฏิบัติดำรงตลอดเวลา ถ้าการชุมนุมไหน ที่คนในรัฐบาลเห็นด้วย หรือการชุมนุมไหนที่สนับสนุนนโยบาย รัฐบาลก็จะอำนวยความสะดวกตลอด แต่การชุมนุมไหนที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาล นึกจะสกัด ก็สกัดได้หมด
ในอดีตถนนข้าง ก.พ. เป็นที่ชุมนุมโดยอัตโนมัติเพราะหลายรัฐบาลมา ให้อยู่ อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ไม่สบายหาหมอมา เอาห้องน้ำมาให้ เรื่องนี้น่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ตอนหลังรัฐบาลเปลี่ยนธรรมเนียมนี่เสีย จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการใช้อำนาจโดยอาศัยกฎหมายเล็ก กฎหมายน้อยสกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้หมด นึกจะทำตรงไหนก็ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ คือ หนึ่ง- กฎหมายให้อำนาจ สอง-วัฒนธรรมการใช้อำนาจในสังคมไทย ยังคงถืออำนาจของรัฐเป็นใหญ่อยู่ดี เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นใหญ่อยู่ดี ไม่เคยเห็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนมันขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มไหนแข็งแรงใครแข็งแรง ก็มีอำนาจต่อรอง มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเพราะมันให้อำนาจอำเภอใจของฝ่ายรัฐมากเกินไป
สิ่งที่เป็นอยู่ ผมคิดว่ามีทางออกหลายประการคือ
ประการแรก-โละกฎหมายที่ผมกล่าวมาทั้งหมด มันต้องมาดูกฎหมายเหล่านั้นขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่ ถ้ามันขัดขวาง มันเป็นอุปสรรคมันไม่ส่งเสริมเลย มันต้องมีการจัดการ เพราะกฎหมายเกิดขึ้นในยุคที่มันไม่ให้แสดงออกทางการเมือง ประการที่สอง-อาจ จะต้องมารื้อฟื้นใหม่ในประเด็นข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่พูดกันให้ชัดเจนถึงข้อจำกัด เมื่อมันไม่ชัดเจน ก็เอากฎหมายอาญามาใช้ทุกครั้ง และประการสุดท้าย-การที่รัฐใช้กฎหมาย อาญามากำหนด ที่สำคัญคือเมื่อใช้ตั้งข้อหาอาญา มันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนอย่างยิ่ง ประชาชนจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย มันกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายการชุมนุม ในการใช้สิทธิของประชาชน มีการตั้งข้อหา ก็ต้องประกันตัวกันวุ่นวายไปหมด ทุกมหาวิทยาลัยต้องระดมมาช่วยหมด
จะทำอย่างไรถึงจะสามารถกำกับอำนาจของตำรวจ ผมเห็นด้วยกับ อ.วรเจตน์ ว่าอำนาจตำรวจมันคืออย่างไรกันแน่ อาญาคืออาญาขนาดไหน ปกครองคืออะไร ต้องให้ชัดเจน แล้วมีกลไกการตรวจสอบที่ชัด เพราะในปัจจุบันมันตรวจสอบไม่ได้ กฎหมายอาญาก็มีศาลอย่างเดียวที่ตรวจสอบ คนอื่นตรวจสอบไม่ได้เลย ถ้าเป็นกฎหมายอาญา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ตรวจสอบไม่ได้ ฉะนั้นอำนาจทางอาญา กระบวนการอาญาก็ต้องศาลยุติธรรมอย่างเดียว กลไกอื่นตรวจสอบเขาไม่ได้ ที่สำคัญผมคิดว่าทัศนคติอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรม หมายความว่าไม่ยอมรับอย่างจริงใจว่าต้องมีเสรีภาพในการชุมนุม พลเมืองธรรมดาก็ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับว่านี่คือเป็นเสรีภาพชนิดหนึ่งที่ทำได้และอยู่คู่กับระบบ ประชาธิปไตย ทัศนคติสังคมไทยค่านิยมในสังคมไทยไม่ยอมรับเรื่องนี้ ไม่ยอมรับให้พูด แม้แต่ราษฎรหลายคน หลายกลุ่มก็ไม่ยอมรับเสรีภาพนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝังรากลึกที่สุดและแก้ยากที่สุดแก้ กฎหมายแก้ไปเถอะ แต่ตรงนี้แก้ไม่ออก แก้ไม่ได้ มันจะไม่พัฒนาไป มันไม่สามารถกลืนกับสิ่งที่ว่าทัศนคติหรือค่านิยมที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยน แปลงให้มันเป็นไป ยอมรับคุณค่าของการชุมนุม ถึงที่สุดการยอมรับคุณค่าความเห็นของคนอื่นมันทำได้ไหมในสังคมไทย มันทำไม่ได้เพราะนายกฯ ก็ไม่เคยยอมรับคุณค่าความเห็นของคนอื่น พลเมือง 1 คน มีสิทธิที่มีความเห็น เพราะฉะนั้นเสรีภาพในการชุมนุมคือคุณค่าการยอมรับในความเห็นของมนุษย์คน หนึ่ง ตรงนี้สังคมไทยไม่เกิด ยังไม่เกิดเพราะตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ซึ่งผมคิดว่าทั้งหมดนี้ที่พยายามจะบอกแล้วในสังคมไทยจริงๆ ไม่ว่าเราจะปรับปรุงกฎหมายควบคุมการใช้อำนาจรัฐถึงที่สุดต้องมาดูระบบคุณค่า ค่านิยมความเชื่อทัศนคติอันนี้เป็นที่จะต้องดำเนินการจัดการให้อย่างต่อ เนื่องยาวนานและต้องใช้เวลา
6. เสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทยจากมุมมองนักสิทธิมนุษยชน5
รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่เข้มแข็งอย่างเดียวนะครับ แต่มีคนชอบมากด้วย ในประเทศไทยเราตั้งแต่ 2475 มามีรัฐบาล 2 ชุดที่เข้มแข็งและคนชอบ คือรัฐบาลจอมพล ป. สมัยแรกกับรัฐบาลทักษิณ และเมื่อคนชอบมากและคนที่ชอบมากจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบการเดินขบวน ไม่ชอบการชุมนุม เกลียดมากพวกนี้ ผมเคยได้พูดคุยกับตำรวจ ผมเริ่มต้นว่า เมื่อท่านได้ยินคำว่าสิทธิมนุษยชนท่านคิดถึงอะไรก่อน ตำรวจร้อยละ 99 ตอบว่า การชุมนุม ม๊อบ สอง คิดถึง NGO เพราะอย่างนั้นตำรวจจึงไม่ชอบการชุมนุม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบการชุมนุม ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบการชุมนุม แต่ว่าเขาก็ไม่ชอบรัฐบาล เวลานี้เขาไม่ชอบการชุมนุม แล้วเขาชอบรัฐบาล ครั้นเมื่อรัฐบาลเข้มแข็งแล้วคนก็ชอบ พอมีการชุมนุมเขาเห็นว่าถ้าเขาสลายชุมนุม เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องเข้าข้าง สนับสนุนเขา คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกอะไร คนที่รู้สึกมากคือผู้ชุมนุม พวกญาติพี่น้อง หรือพวกนักสิทธิเสรีภาพ นักสิทธิมนุษยชน คือในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผมเองก็ตรวจสอบการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมชาวปากมูลเมื่อวันที่ 29 มกราคม ก็เจอปัญหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่าไปละเมิดคือผู้ว่าฯ สมัคร ไม่ยอมมาชี้แจง ทีแรกเราให้มาชี้แจงด้วยลายลักษณ์อักษรก็ไม่มาชี้แจง ผมก็โทรไปคุยกับเลขาเขา สุดท้ายก็ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร คำชี้แจงเขาก็อ้างกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ หมายความว่าตั้งเต้นท์ก็ไม่ได้ ใน กทม. ปลูกกระท่อมก็ไม่ได้ เมื่อเขาบอกให้รื้อ แล้วไม่รื้อ กฎหมายให้อำนาจไปรื้อเลย หมายถึงเขาอ้างกฎหมายอาญา ปัญหาคือว่าการสลายการชุมนุมความจริงแล้วโดยรัฐธรรมนูญโดยหลักการมันสลายไม่ ได้ มันจำกัดไม่ได้กระทำไม่ได้ ยกเว้นมี 2 กรณีเท่านั้นที่ทำได้คือ กรณีมีกฎหมายเฉพาะ โดยต้องออกกฎหมายเฉพาะเพื่อำนวยความสะดวกให้คนเดินทางไม่ไช่กฎหมายเฉพาะ เพื่ออย่างอืน และในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน ประเทศไทยเราที่ผ่านมาไม่มีภาวะฉุกเฉินกฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นไปห้ามไม่ได้ นี่คือโดยหลัก แต่ในทางปฏิบัติก็มีการจำกัด ไปสลายการชุมนุมโดยใช้กฎหมายอาญา
ประเด็นปัญหาที่ผมจะฝาก ก็คือ การใช้กฎหมายอาญาไปสลายการชุมนุม ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุม ถ้ากฎหมายอาญาใหญ่ อย่างเห็นผู้ชุมนุมกำลังทำความผิดใหญ่ เช่น ไปเผา ทุบรถยนต์ หรือฆ่าคนอันนี้ได้ แต่ว่ากรณีกฎหมายอาญาว่าด้วยความสะอาดเรียบร้อย ว่าด้วยรักษาความสะอาดอาคารสถานที่หรือการใช้เสียง มันเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายอาญาไปจำกัดเสรีภาพ
ถ้าถามว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เราเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ มันคือกฎหมายสูงสุด แต่ว่าความคิดความเชื่อว่ากฎหมายมันมีชั้น คือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนกฎหมาย แต่ว่าความคิดว่ากฎหมายมีชั้นมีลำดับ ทีนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเวลาผมพูดกับตำรวจผมบอกว่า ในเรื่องความคิดทางการเมือง คุณต้องยอม คุณต้องเคารพเสรีภาพ เพราะเสรีภาพนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้เขา ที่เขามาค้าน มาชุมนุม เพราะเขาต้องการแก้ปัญหาความทุกยากเดือดร้อน และถ้าท่านทั้งหลายไม่ทุกข์ยาก เดือดร้อน ท่านก็ไม่ไปเดินขบวน ความจริงแล้วการยึดถือเสรีภาพในการชุมนุมประเทศไทยได้มีการยึดถือกันนาน เรียกว่าทุกองค์กรก็เคยมีการชุมนุม ผู้พิพากษายังชุมนุมเลย อัยการ ตำรวจเคยชุมนุม เคยเดินขบวน ไปพังบ้านนายกรัฐมนตรีก็เคยทำมาแล้ว สมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤกษ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พระสงฆ์องค์เจ้าก็ชุมนุม และคิดว่าอีกวันสองวันก็จะมีการชุมนุมของพวกดาราตลกคาเฟ่ เพราะว่าวันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติออกมาแล้ว
ในแง่นี้ คนส่วนใหญ่ที่ผมพูดว่าไม่ชอบการชุมนุม แต่คนจำนวนไม่น้อย ยึดถือเสรีภาพนี้ และจะใช้เสรีภาพอันนี้ไปเรื่อยๆ ปัญหาคือแนวโน้มต่อไปเมื่อเรามาเจอรัฐบาลที่เข้มแข็งและคนชอบและไม่ชอบการ ชุมนุม เขาก็จะใช้กฎหมาย ทีนี้ผมพูดถึงกฎหมายเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่างกฎหมายฯ นี้อยู่และเคยถามความเห็นคณะกรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการสิทธิฯ ออกความเห็นไปแล้ว ว่าไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายชุมนุมในที่สาธารณะ ถ้าจะมีควรเป็นไปในแนวทางที่ปกป้อง คุ้มครอง หรือค้ำประกันเสรีภาพในการชุมนุม ที่เราไม่เห็นด้วยมีเหตุผลอยู่ 3 ข้อ
เหตุผลแรก-คือเรามีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ เหตุผล ที่สอง-คือถ้ามีกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เฉพาะในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้กฎหมายไปในทางจำกัด ไปในทางที่เป็นอุปสรรคในการใช้เสรีภาพ เพราะฉะนั้นไม่มีจะดีกว่า อย่างเช่น การชุมนุมต้องไปแจ้งไปขออนุญาต พอขออนุญาตไปก็ไม่ได้รับการอนุญาตหรือแจ้งกลับมาว่าไม่ได้ ไม่อนุญาตให้ชุมนุม แล้วเราจะทำอย่างไร สาม-แม้ว่าจะมีกฎหมายนี้แล้ว แต่กฎหมายอื่นๆ ที่ คุณไพโรจน์ว่า หรือใครว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะใช้กฎหมายตามที่ตนเองต้องการ
ตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่เลิก เขายังร่างอยู่และคาดว่าร่างแล้วอาจจะเปิดประชาพิจารณ์ ผมคิดว่าการสลายการชุมนุม การป้องการการสลายไม่มีการชุมนุมนั้นออกกฎหมายก็ดีอาจจะช่วยได้บ้าง แต่ที่สำคัญ ผมเห็นด้วยกับคุณไพโรจน์ คือจะต้องทำให้คนยึดหลักการนี้ให้ได้ ให้ถือเป็นหลักการของแผ่นดิน เพราะว่าสมัยก่อนชุมนุมเขาก็ปิดถนน และพวกเราจำนวนไม่น้อยก็เกิดจากการชุมนุม อย่างผมโตมาจากห้องสัมมนาอภิปรายห้องสมุดและการชุมนุม และคนในรัฐบาลที่ผ่านมาปัจจุบันและต่อไป แนวโน้มต่อไปมันก็โตมาจากการชุมนุมเพราะเราต้องถือเป็นหลักการที่ต้องทำให้ คนเคารพ ต้องทำใจให้ได้ ยกตัวอย่าง ใครที่อยู่เมืองนอกจะรู้ พอรุ่งเช้าเปิดวิทยุโทรทัศน์วันนี้จะมีนัดหยุดงานบ้างอะไรบ้าง เราก็ยอมรับการนัดหยุดงาน เขาถือเป็นสิทธิของคนงาน แทนที่เราจะขึ้นรถไฟ เราก็ไปขึ้นรถบัส ถ้ารถบัส นัดหยุดงานด้วย เราต้องหาทางไป แต่คนไทยด่าเลย ส่วนใหญ่คนไทยจะด่า
การที่จะทำให้คนยึดถือหลักการนี้ได้ เราจะต้องทบทวนกันถึงการชุมนุมที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีลักษณะพิเศษแต่ต่างกับประเทศอื่นๆ หลายประการ หนึ่ง-เรา จะชุมนุมยาวนานมาก 3 เดือน 6 เดือนหรือปีหนึ่ง ที่ประเทศอื่นน้อยมาก ที่จะชุมนุมข้ามวันข้ามคืน เพราะเขารู้ถึงจะชุมนุมกันกี่คืน ถ้ารัฐบาลไม่ยอม และถ้ามาเจอรัฐบาลเข้มแข็งอย่างนี้ชุมนุมสัก 3 ปีก็ไม่ชนะ พอเราชุมนุมยาวนานคนก็รำคาญก็เบื่อ
สอง-ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่คนปิดถนนมากที่สุดในโลก ผมศึกษามา ไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนปิดถนนมากที่สุด ประเทศไทยปิดถนนจากพ่อค้า ชาวสวนนั้นชาวสวนนี้ก็ปิดถนนอาจจะเป็นเพราะเราสร้างถนนมาก ประเทศอื่นถ้าปิดถนนถูกจัดการเลย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจัดการเลย ประเทศไทยเราปิดถนนไม่จัดการ ส่วนใหญ่ชนะ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอ่อนแอ ทีนี้มาเจอรัฐบาลเข้มแข็งถ้าปิดถนนผมจะเตือนพรรคพวกหลายคน ยุทธวิธีในการชุมนุมเดินขบวนต้องเปลี่ยนหน่อย ถ้าคุณปิดถนนทำได้กับรัฐบาลอ่อนแอเท่านั้น เวลานี้รัฐบาลเข้มแข็ง พอรัฐบาลเข้มแข็ง มันมีผลมาก คือ ข้าราชการกลัวรัฐบาล ไม่มีรัฐบาลชุดใดในรัฐบาลในประเทศไทยตั้งแต่ 2475 ที่ข้าราชการกลัวรัฐบาลเท่ากับชุดนี้ รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ข้าราชการก็ไม่กลัวเท่ากับรัฐบาลชุดนี้ เมื่อข้าราชการกลัวรัฐบาลมากขึ้นเท่าไหร่ ก็กลัวประชาชนน้อยลงเท่านั้น ประเด็นนี้มันสัมพันธ์กันมาก สมัยก่อนประชาชนปิดถนน เขาก็กลัวประชาชน เขาไม่ทำอะไร ประชาชนปีนกำแพง อยู่กัน 3 เดือนไม่ทำอะไร อย่างมากก็จับไปขึ้นศาล อัยการก็สั่งไม่ฟ้อง แต่สมัยนี้และแนวโน้มต่อๆ ไปข้าราชการกลัวรัฐบาลมากขึ้น วันนี้ข้าราชการกร่างมากเวลามีการชุมนุมฝ่ายปกครองฝ่ายอำเภอกร่างมาก เพราะฉะนั้นต้องระวัง ถ้าชุมนุมก็เตรียมใจให้ถูกจับ ทีนี้กรรมการสิทธิฯ ทำอย่างไร เราก็ดำเนินการตรวจสอบ เรียกคุณสมัครไป ก็ไม่มา เรียกให้ชี้แจงมาด้วยลายลักษณ์อักษร เราเรียกไป 2 ครั้งแล้ว บางคนบอกไปแจ้งความเพราะบุคคลที่คณะกรรมการสิทธิฯ เรียกไม่มาเป็นความผิดทางอาญาโทษจำคุก 6 เดือนถูกปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
บทสรุปการเสวนาวิชาการ
ขอบคุณครับท่านผู้นำเสวนาทุกท่าน ผมคิดว่าเราใช้เวลากันนานพอสมควร ผมอยากขอสรุป ประเด็นที่เราพูดคุยกันมาในวันนี้เป็น 3 ประเด็นคือ
ข้อแรก-กรณีปัญหาของโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การใช้อำนาจกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ถ้านำมุมมองทฤษฎีของต่างประเทศมามองมันจะถือว่าเป็นเรื่องกระบวนการทางอาญา หรือทางปกครอง เท่าที่ผมได้ข้อสรุปจากการฟังนักวิชาการเอาเกณฑ์มาวัดกรณีของประเทศไทยดู เรามองว่ามันเป็นเรื่องของกระบวนการในทางปกครองมากกว่าที่จะเป็น เรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญานะครับ ผมสรุปจากข้อเท็จจริงจากการที่ผมดูภาคทฤษฎีในของต่างประเทศมาดูของไทยนะครับ
ข้อที่สอง-ที่คุณไพโรจน์ได้สรุปสภาพการณ์ของการชุมนุม ปัญหาต่างๆ ที่มันไปติดขัด ข้องแวะด้วยกฎหมายทั้งหลายทั้งปวง ฟังดูจากในทางวิชาการ ควรจะมีกฎหมายกลางขึ้นมาฉบับหนึ่งหรือไม่ เพื่อคุ้มครองส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม จากตรงนี้ผมคิดว่าเราควรจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อที่จะมา ศึกษาในเรื่องนี้นะครับ นี่เป็นข้อสรุปเชิงเสนอนะครับ ควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาซักชุดหนึ่ง เพื่อที่จะดูปัญหาพื้นฐานแล้วลองมาพิจารณากันดูครับอาจจะดูในทางวิชาการอีก ว่า ควรจะมีกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีหน้าตามันควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เป็นกฎหมายไปควบคุมเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจในการจะอนุญาตของเรา ตั้งหลักอย่างนั้น
และข้อสรุปประการสุดท้าย ของวันนี้ที่เป็นข้อสรุปของผมก็คือว่า อย่างที่ผมตั้งต้นแต่ต้นว่า ลองใช้กรณีจะนะในการมองสภาพของสังคมในปัจจุบันนะครับ เป็นประเด็นปัญหาที่อยากจะจุดประเด็นปัญหาตรงนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องชุมนุมโดยอาศัยความกล้า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องชุมนุมกันทางความคิดเพื่ออาศัยองค์ความรู้ที่จะไปสู้ กับด้านมืดที่มันยังปกคลุมในปัจจุบัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นสุดท้ายที่ต้องจุดประกายกัน เพราะว่ามิฉะนั้นแล้วนิติรัฐในวันนี้ มันถูกล่มสลายหายวับไปกับตาหมดแล้วล่ะครับ สิ่งที่เรามาพูดกันในวันนี้นั้นมันเป็นเพียงจุดสุดท้ายที่เราเหลืออยู่นะ ครับที่มั่นสุดท้ายที่เราเหลืออยู่ ผมคงจุดประกายความกล้าในทุกบริบทภาคส่วนของสังคมล่ะครับ ไม่ว่า วิชาการ เอ็นจีโอ ภาคประชาชน คงต้องร่วมมือกันนะครับเพื่อที่จะผดุงความยุติธรรม เพื่อที่จะผดุงหลักนิติรัฐให้เกิดขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่งนะครับ
ท้ายที่สุดผมขอขอบคุณพี่น้องตัวแทนจากสงขลาครับ พี่น้องตัวแทนจากระบี่ครับ ขอบคุณผู้ร่วมเสวนา ขอบคุณท่านอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมแสดงข้อคิดเห็น ขอบคุณองค์กรร่วมจัดทุกองค์กรนะครับ สุดท้ายขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์นิติศาสตร์นะครับ และขอบคุณทุกท่านนะครับ ขอยุติการเสวนาครั้งนี้เราจะสรุปออกมาเป็นเอกสารอาจจะไปถึงศาลปกครองหรือไม่ อย่างไร คิดว่าพยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวนี้ต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมแสดงความกล้าตรงจุดนี้นะครับ เราต้องอาศัยความกล้าใช้ความรู้ที่จะผลักดันสังคมต่อไปครับ ขอบคุณครับ

เชิงอรรถ
3. นำเสนอในการเสวนา โดย ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. นำเสนอในการเสวนา โดยคุณไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
5. นำเสนอในการเสวนา โดยอาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ลงเผยแพร่ ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2547
ที่มา : //www.pub-law.net/article/ac080347b.html



Create Date : 12 เมษายน 2553
Last Update : 12 เมษายน 2553 20:12:12 น. 0 comments
Counter : 538 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

องุ่นทอง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
[Add องุ่นทอง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com