ธันวาคม 2557

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
31
 
 
All Blog
​สำรวจพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชนห้าธันวานี้ดีแต้ ณ เชียงใหม่ เปิดตัวหนังสั้น สะท้อนวิถีชุมชน

เพื่่อนๆ ทุกคนล้วนทราบกันดีว่าวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ตรงกับวันวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือวันพ่อแห่งชาติหลายคนออกไปร่วมกับจุดเทียนชัยถวายพระพร เพื่อแสดงความจงรักภักดี และอีกหลายคนเลือกใช้วันหยุดพิเศษนี้ไปกับครอบครัว ตามคำสัญญาที่ทิ้งท้ายไว้ จากบันทึกครั้งก่อนเราพูดถึง "งานพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชนห้าธันวานี้ดีแต้" ที่จัดขึ้น ณ "ชุมชนห้าธันวา" ถ.วัวลาย ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บันทึกนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่าเราไปเจอกับอะไรมาบ้าง

เริ่มจากบรรยากาศชุมชนโดยรอบ พบว่านี่เป็นชุมชนขนาดเล็กมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 400 คน เป็นชุมชนที่ถือว่าอยู่บริเวณด้านท้ายถนนคนเดินวัวลายเพียงไม่กี่สิบเมตร โดยชุมชนแห่งนี้มีประชากรซึ่งเป็นพี่น้องชาวชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งชาว ปะโอ ไทใหญ่ พม่า ลั๊วะ เขิน และทั้งหมดล้วนมีวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่ เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่างไรก็ดีในบางเรื่องก็กลับคล้ายคลึงกัน

ทันทีที่รู้ว่า "โครงการคนสองวัยภาพยนตร์เชื่อมสัมพันธ์เมืองเก่าเชียงใหม่" ภายใต้ โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ (หรือที่คนทั้งสองวัย ทั้งเด็กและผู้เฒ่า เรียกว่าหนังสั้นบ้างสารคดีสั้นบ้าง) เยาวชนในชุมชน (รวมถึงเราซึ่งเป็นผู้มาเยือน) ต่างตั้งใจไปร่วมงานนี้ด้วยทันที

ใครที่ก้าวเข้าไปในงาน ก็จะเห็นป้ายชื่อชุมชนขนาดใหญ่ด้านล่างยังมีกลุ่มเยาวชนกำลังพ่นสีที่กำแพง หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Graffiti กำลังสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างเต็มที่ เมื่อเดินเข้ามาด้านในชุมชนจะเห็นชาวบ้านร่วมกันทำกับข้าวพื้นถิ่นมานำเสนอ อาทิ แกงตุ่น น้ำพริกอ่อง ต้ำส้ม (ส้มตำ) เป็นต้น ที่สำคัญทั้งหมดกินฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เรียกได้ว่างานนี้ อิ่มจัง ตังอยู่ครบ แถมสนุกด้วย (ฮา)

เรามีโอกาสได้คุยกับ น.ส.ศศิธร คำฤทธิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการคนสองวัยภาพยนตร์เชื่อมสัมพันธ์เมืองเก่าเชียงใหม่ ซึ่งเธอก็ได้อธิบายให้ฟังว่า แม้โครงการที่ว่านี้เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการฉายหนังสั้นสะท้อนเรื่องราว เช่นที่ โรงเรียนเมตตาศึกษา และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แต่การฉายหนังสั้นในวันนี้ถือเป็นการเฉลิมพระเกียตรในหลวงและต้องการให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเกิดความตระหนักถึงถิ่นกำเนิดและวัฒนธรรมของตน นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนความคิดเยาวชนจากกระบวนการละครได้เป็นอย่างดี

"โครงการนี้ทำให้คนแก่กับเด็กสื่อสารกันมากขึ้น ปกติผู้ใหญ่เอาแต่รำคาญเด็ก เด็กเอาแต่เล่นเกมส์ ไม่ฟังผู้ใหญ่ พอมีโครงการนี้มันทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กมีประสิทธิภาพ เห็นว่าคนชราก็มาทำได้ เพราะเราไม่ได้เน้นความสมบูรณ์ของภาพยนตร์ แต่เราเน้นว่าอยากให้เขาเห็นตัวเอง คนในชุมชนก็ยอมรับว่าสื่อมันเข้าถึงและลูกหลานก็พูดคุยกับผู้สูงอายุมากขึ้น ปัจจุบันคนในชุมชน 5 ธันวาเริ่มเปลี่ยนไป เพราะมีการสร้างหอพักส่งผลให้ความเป็นอยู่เริ่มไม่ค่อยพูดคุยกันในชุมชน ซึ่งจากการจัดงานในครั้งนี้ก็มีผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่อีกหลายคนมาบอกว่าอยากให้ทำอีกในปีต่อๆ ไป" ผู้ขับเคลื่อนโครงการอธิบาย

ส่วนภาพยนตร์สารคดี 4 เรื่องที่ฉายในวันนี้ ได้แก่ 1.เรื่องการใช้ภาษาคำเมืองที่เด็กรุ่นใหม่อายที่จะใช้ภาษาคำเมืองอันเกิดจากความสงสัยที่มาของการใช้ภาษาของตัวเอง 2.เรื่องวัดในเมืองเก่ากับสถาปัตยกรรมที่ทั้งคล้ายและต่างกันอันเป็นเพราะว่าเราต่างวัฒนธรรมแต่รากความเชื่อไม่ต่างกัน 3.เรื่องอาหารของคนในชุมชนที่มีความคล้ายคลึงกันเพราะมีรากเหง้าวัฒนธรรมที่ไม่ต่างกัน 4.เรื่องชุมชนแออัดที่เต็มไปด้วยคนผลัดถิ่นใหม่ซึ่งเป็นผลของการพัฒนาเมืองอย่างไร้ทิศทาง

ผลงานสะท้อนปัญหาสังคม
นางสาว รุ่งนภา ใจมะโน หรือน้องยิ้ม นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนศรีปิงเมือง ผู้กำกับเรื่อง "ชุมชนแออัดที่เต็มไปด้วยคนผลัดถิ่นใหม่ซึ่งเป็นผลของการพัฒนาเมืองอย่างไร้ทิศทาง" เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่าหลังจากที่ได้ศึกษาชีวิตของเพื่อนสนิดที่ชื่อ "แสงหนุ่ม ลุงสาม" ก็เกิดความคิดที่เปลี่ยนไปทำให้ตั้งใจเรียนและอยากทำงานช่วยพ่อแม่มากขึ้น อีกทั้งยังมีความภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนเมืองและจะพูดคำเมืองต่อไป

"แสงหนุ่ม ย้ายมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนได้รู้จักกันแสงหนุ่มเรียนเก่งมากได้เกรดสามปลายๆ พอเรามาถ่ายหนังสั้นเรื่องนี้เราก็เห็นว่าเขารับผิดชอบงานเยอะมาก เช่นหลังเลิกเรียนแสงหนุ่มจะไปทำงานแต่งตัวเป็นชาวลาหู่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ซึ่งจะได้ค่าแรงวันละ 100 บาท เงิน 100 บาทสำหรับบางคนมันเยอะพอได้มาตามชีวิตเขาเราเลยเกิดความคิดอยากมาลองทำงานหาเงินดูบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็ทำอยู่และจะขยันเรียนให้มากขึ้นเหมือนแสงหนุ่มด้วย" รุ่งนภา กล่าว

พลังสร้างสรรค์เด็ก
ด้านนางพรรงาม สมณา อายุ 63 ปี เป็นผู้ร่วมปฎิบัติการสร้างสารคดีสั้นกับเยาวชน เด็กในชุมชนที่เห็นเล่นกันแต่เมื่อถึงเวลาลงมือทำหนังสั้นกลับทำให้เด็กๆ กล้าคิดและกล้าแสดงออกมากขึ้นอีกทั้งยังเปิดในผู้ใหญ่ที่เคยมองเยาวชนในแง่ลบได้เป็นอย่างดี

"ตอนแรกก็คิดว่าจะทำได้เหรอ เราต้องดุอยู่บ่อยๆ บางครั้งต้องบอกว่าเดี๋ยวจะล่องแม่ปัง (ตี) แล้วเน่อ แต่พอได้คุยกันมากขึ้นจากการทำสารคดีสั้น เราก็เห็นว่าเขามีความเป็นตัวตนของเขาเราก็ค่อยๆ ประคับประคองเขา แม่ก็เลยเปิดโอกาสบอกให้เขาเต็มที่ หลังจากนั้นละอ่อน (เด็ก) ก็จะมาทำงานกับแม่ตลอด อย่างการจัดงานในวันนี้ก็มาช่วย เพราะวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเราจะมีงานทุกปีอยู่แล้ว พอเราเปิดใจปุ๊บเราเห็นว่าเขามีศักยภาพมาก ตอนแรกเราคิดว่าจะทำไม่ได้ที่ไหนได้ทำได้ดีกว่าที่เราคิดอีก จากการที่เราทำโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนเราเห็นเลยว่าถ้าเราไม่เก็บสิ่งดีๆ ไว้ เราเห็นเลยว่าถ้าเราไม่ทำเด็กจะไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองมี บางคนไม่พูดเมืองไปพูดกลาง แม่ต้องการให้ทุกคนรักษารากเหง้าของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ในใจอยากให้ทำหนังสั้นอีก อย่างเรื่องข่วงนี้ดีแต้ชุมชน 5 ธันวา อาจจะทำให้ฉายได้ต่อไป" นางพรรงาม อธิบาย



สีสันกิจกรรม 5 ธันวา

ขณะที่ นายเป็ง สมณา ประธานชุมชน 5 ธันวา ยอมรับว่ากิจกรรมในปีนี้แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าจะมีการจุดเทียนชัยถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดีเพียงอย่างเดียว แต่พอมีกิจกรรมต่างๆ และมีการประชาสัมพันธ์ ก็ทำให้มีชุมชนข้างเคียงมาร่วมกิจกรรมด้วย

หนังสั้นของทุกคนในครั้งนี้การถ่ายทำเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ จนถึงกล้องแบบมืออาชีพที่ทางทีมงานได้จัดเตรียมไว้ให้ แต่ผลสำเร็จคือตัวงานและแน่นอนว่าวันนี้เราได้นำหนังสั้นหรือภาพยนตร์ของน้องๆ มาให้เพื่อนๆ ทุกคนได้รับชมกันด้วย บอกได้คำเดียวว่าแล้วคุณจะรู้จักพวกเขามากขึ้น

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/dashboard/home/#/posts/581951/edit




Create Date : 09 ธันวาคม 2557
Last Update : 16 มกราคม 2558 11:08:44 น.
Counter : 1023 Pageviews.

1 comments
  
แวะมาอ่านแล้วเข้ามาทักทายกันได้นะคะ
โดย: ทีมงานกระจายสุข IP: 122.154.29.67 วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:15:32:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระจายสุข
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]