มีนาคม 2558

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
28
29
30
 
 
All Blog
​นพ.ประพจน์เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ สวนบำบัดเป็นเรื่องที่ทุกคนร่วมได้

ไม่นานมานี้ เราเคยเสนอข่าวแนวคิดสวนบำบัด ซึ่งเป็นการออกแบบสวนและปรับสภาพสวนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ บำบัดความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาของกลุ่มเด็กพิการ ครั้งนี้สบโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ประพจน์เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ผู้คลุกคลีกับการรักษาเด็กพิการ ในประเด็นการนำแนวคิดธรรมชาติบำบัดผนวกกับการรักษาแบบปัจจุบัน พร้อมไปกับการร่วมร่างหลักสูตรสวนบำบัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

แนวคิดสวนบำบัดหรือธรรมชาติบำบัดมีความเชื่อมโยงกับการักษาพยาบาลอย่างไร จริงๆการปลูกต้นไม้ก็เป็นการบำบัดอย่างหนึ่งแต่คงจะเป็นการบำบัดเฉพาะผู้ปลูกเท่านั้น แต่การทำสวนบำบัดคือการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ใช้ สี กลิ่น ผิวสัมผัสของธรรมชาติที่มีความแตกต่างกันสร้างจุดดึงดูดให้กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสมองหรือร่างกาย การอยู่แวดล้อมในธรรมชาติช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและง่ายที่จะนำไปสู่การพัฒนาอื่นๆ แนวคิดสวนบำบัดที่นำมาผนวกกับการแพทย์นั้นมีมานานแล้ว ในประเทศไทยก็มีการใช้มาบ้าง เช่น ใน ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลอ่าวอุดม จ.ระยอง ซึ่งเน้นกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต หรือในต่างประเทศสถานพยาบาลนิยมใช้กระบวนการนี้กับทหารผู้ที่ผ่านสงครามที่มีปัญหาในด้านอารมณ์ มีความเครียดสูง ส่วนที่เน้นเฉพาะเด็กพิการจริงๆ นั้นยังไม่มีอย่างเป็นระบบ เราจึงได้จัดทำโครงการเพื่อศึกษาพัฒนาให้เหมาะสมกับเด็กพิการในบ้านเรา เด็กปกตินั้นมีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ เพราะเขามีพ่อแม่ที่รักและห่วงใยเขา มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และร่างกายแข็งแรง ทำให้เขาสามารถที่จะไปเรียนรู้จากธรรมชาติ และไขว่คว้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของชีวิตเขา แต่สำหรับเด็กพิการนั้นเล่า พวกเขาขาดโอกาสที่เด็กปกติมี หลายคนเรียนรู้ช้า หลายคนเคลื่อนไหวตนเองไม่ได้อย่างอิสระ หลายคนมองเห็นแต่ความมืด หลายคนไม่เคยได้ยินเสียงอื่นใดเลยนอกจากเสียงในใจเขา ความพิการเหล่านี้ล้วนทำให้เขาไม่สามารถไปสัมผัสธรรมชาติได้อย่างที่เขาต้องการ เด็กพิการส่วนใหญ่จึงขาดชีวิตชีวา ขาดการเรียนรู้ ขาดความรัก และความเข้าใจของชีวิตว่าจะดำรงอยู่ต่อไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร การนำเด็กพิการไปสัมผัสธรรมชาติ และใช้ชีวิตเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเขา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม จะทำให้เด็กพิการได้รู้จักสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเขา การได้ต่อสู้และเรียนรู้ธรรมชาติจะทำให้เด็กพิการได้ตระหนักว่า ธรรมชาติได้ให้พลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเด็กพิการในการที่จะต่อสู้กับตนเองและสิ่งอื่นๆ การเห็นความงดงามของธรรมชาติ จะทำให้เขาเห็นความสวยงามในตัวเขา ทั้งนี้เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง

ใครคือกลุ่มเป้าหมายของการทำสวนบำบัด ขึ้นอยู่กับลักษณะความบกพร่องและแต่ละคนสามารถใช้ประโยชน์จากการทำสวนบำบัด หรือจะเรียกว่าสวนเพื่อทุกคนก็ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างจากกลุ่มเด็กที่สมองพิการ เด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกจะมีระยะเวลาความสนใจที่สั้น จำเป็นต้องใช้กิจกรรมที่ช่วยยืดระยะความสนใจควบคู่กับการรักษาในรูปแบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดนตรี การใช้ศิลปะบำบัด ขณะที่ในกลุ่มผู้ร่างกายพิการจะเน้นกระตุ้นให้มีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง อย่างไรก็ดีลักษณะความบกพร่องที่แตกต่างในกลุ่มเด็ก กลับมีแนวทางการฟื้นฟูหนึ่งที่เป็นจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการใช้ธรรมชาติเข้ามาบำบัด จึงเป็นที่มาของโครงการ "สวนบำบัด"ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำลังพัฒนาหลักสูตรสวนบำบัดสำหรับกลุ่มเด็กพิการ ทั้งนี้เพื่อให้หลักการใช้ธรรมชาติกับการรักษาทางการแพทย์ขยายวงกว้างขึ้นพร้อมกับที่ครอบครัว บุคคลด้านเด็กและด้านสุขภาพ ทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม 
หลักสูตรที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร หลักสูตรแรกที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดจะเริ่มจากกลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่บกพร่องในเรื่องสมองและร่างกายก่อน เพื่อให้ความรู้ ฝึกทักษะ ให้ครอบครัวเด็กนำหลักไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เวลาไม่นานครั้งละไม่เกิน 30นาที และทำได้บ่อยได้ตามต้องการ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในมุมเล็กๆของบ้าน ที่สามารถเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัสจากใบไม้ การนับจำนวนตัวเลขการขยี้ใบไม้เพื่อรับกลิ่น นอกจากนี้การทำสวนเพื่อใช้หลักธรรมชาติบำบัดไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มเด็กเท่านั้น แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุก็สามารถช่วยได้ แต่ต้องออกแบบพื้นที่ให้มีความเป็นสากล นั่นคือผู้เข้ารับการบำบัดต้องทำกิจกรรมได้ในท่วงท่าที่เหมาะสม โดยต้องเป็นพื้นที่แนวสูงที่ไม่ก้มต่ำหรือสูงเกินไปที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรม ที่ทุกคนต้องเข้าใจคือธรรมชาติบำบัดไม่ได้หมายถึงต้องมีสวนใหญ่โต แต่เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวทำได้ อาจจะเป็นมุมเล็กๆ ของบ้าน ที่ และนำพืชไม่กี่ชนิด เช่น พืชผักสวนครัว ใบกระเพรา สะระแหน่ ที่มีกลิ่น การปลูกดอกไม้ที่มีสีแตกต่างกันเพื่อแยกการรับรู้เรื่องสี เราตั้งเป้าว่าพ่อแม่เอาไปใช้ได้จริงเพื่อให้เกิดการบำบัดในรูปแบบต่างๆ สร้างแนวคิดการทำสวนให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น สวนสาธารณะในชุมชนต่อไปนี้ต้องมีการออกแบบสำหรับผู้พิการ เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับคนทุกกลุ่ม เพื่อความรู้ที่รอบด้านโครงการเราได้แลกเปลี่ยนความรู้กับมูลนิธิเอ็มโอเอ ประเทศญี่ปุ่นที่มีองค์ความรู้ด้านการออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะกลุ่มเด็กพิการ และเป็นองค์กรที่เน้นงานเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องศิลปะเพื่อสุขภาพเช่นการจัดดอกไม้ การเยียวยาโดยใช้พลังจากฝ่ามือซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ สามารถนำมาผสมผสานกับองค์ความรู้ของไทยซึ่งมีจุดแข็งเรื่องการเกษตร พืชสมุนไพร โภชนาการในกลุ่มเด็ก ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมอบรมในโครงการจะจัดเป็นช่วง ครั้งละ3-4วัน และภายหลังจากจัดกิจกรรมกลุ่มแรกแก่กลุ่มเด็กบกพร่องทางสมองแล้ว จะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้สนใจที่มีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มเด็กและสังคมเข้าร่วมในระยะต่อไปซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

การทำสวนบำบัดในไทยที่มูลนิธิได้ศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง การทำสวนบำบัดในประเทศไทยนั้นมีการดำเนินการในบางหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลธัญรักษ์เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกๆของประเทศไทยในการทำสวนบำบัดสำหรับผู้ป่วยทางจิต นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นโรงพยาบาลอ่าวอุดม โรงพยาบาลบ้านฉาง หรือจะเป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการปากเกร็ด มูลนิธิช่วยคนตาบอด เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกๆที่มีการสอนคนตาบอดในการปลูกผัก เพื่อเด็กพิการได้เห็นความสำคัญของการให้เด็กพิการได้สัมผัสกับธรรมชาติ จึงได้มีการจัดค่ายธรรมชาติกับเด็กพิการ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 และได้พบว่า การที่เด็กพิการได้อยู่กับธรรมชาติแม้จะเป็นช่วงเวลาเพียง 2-3 วันก็สามารถทำให้เด็กพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเพราะการที่เด็กได้มีโอกาสค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของเด็กและแสดงออกมาต่อมามูลนิธิเพื่อเด็กพิการจึงได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กจัดทำ "ค่ายเด็กห้วยน้ำใส" ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 20 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดค่ายธรรมชาติให้กับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2530 เป็นต้นมา และต่อมได้จัดทำ "สวนพลังชีวิต" เนื้อที่ 12 ไร่ เพิ่มเติมจากค่ายเด็กห้วยน้ำใส เพื่อเป็นสวนสาธิตการทำสวนบำบัดสำหรับฟื้นฟูและพัฒนาเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ จากประสบการณ์การจัดค่าธรรมชาติและสวนบำบัดสำหรับเด็กและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพมูลนิธิเพื่อเด็กพิการพบว่า"สวนบำบัดสามารถทำได้ทั้งปี และสามารถทำทั้งในบ้านและนอกบ้านเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ สามารถทำกิจกรรมที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล และในชุมชน โดยไม่ต้องมีสถานที่และอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูงเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ จะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขในการบำบัดและสามารถแสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ชื่นชม กิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด การเพาะปลูกหรือการได้เห็นความเติบโต งอกงามของสรรพสิ่งทำให้เกิดคุณค่าและเห็นความงดงามใน ตนเองได้

สวนบำบัดไม่ใช่เฉพาะเด็กพิการเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถมาร่วมได้ ใช่ อย่างต่อไปในกรุงเทพหรือในชุมชนต่างๆก็ควรจะมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในส่วนนี้ด้วยแต่การทำสวนบำบัดของเด็กพิการ ผู้ป่วยและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ต้องมีการดูแลและแนะนำจากผู้มีความรู้และทักษะในการทำสวนบำบัด ทำให้สามารถวางแผนการทำสวนให้มีผลต่อการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายอย่างดียิ่ง ข้อต่อต่างๆ กล้ามเนื้อทุกมัดของร่างกายจะได้ทำงานเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ สำหรับคนพิการทางการมองเห็น การจัดสวนต้องเน้นให้คนพิการได้มีความสุขกับสวนและขณะเดียวกันต้องป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การออกแบบสวนทำเหมือนการออกแบบสวนบำบัดทั่วไปเพียงแต่เพิ่มโอกาสหรือวิธีให้ได้สัมผัสกับสวนมากขึ้น เช่น พืชในสวนต้องเน้นพืชที่ให้กลิ่นและสัมผัส เช่น พวกกะเพรา สะระแหน่ เมื่อจับหรือขยี้จะได้กลิ่นหอม ชื่นใจ ไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม เช่น มะลิ ลั่นทม ราชาวดี ควรเน้นต้นไม้ที่ไม่มีหนาม ดอกไม้ที่มีสีสดใส เช่น แดง ส้ม เหลืองขาว จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา หรือสายตาเลือนรางมองเห็นได้ง่าย สัญลักษณ์หรือป้ายควรวางใกล้ทางเดินพิมพ์ตัวหนังสือด้วยตัวหนาหรือตัวนูนสีดำบนพื้นขาวหรือพื้นเหลืองอาจมีตำหนิ หรือหนังสือเบรลล์ บนป้ายร่วมด้วย และมีการยกขอบตลอดทางเดิน หากมีน้ำพุหรือน้ำตกจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีจะทำให้ได้สัมผัสกับน้ำแต่น้ำไม่ควรลึกเกินกว่า 2-3 ฟุตและมีผู้ดูแลกรณีที่มีเด็กเล็ก อาจจะมีการกระจายเสียงโดย เทป เช่น การแนะนำสวนจะทำให้คนตาบอดได้เข้าใจและสัมผัสกับสวนมากขึ้น วัสดุที่ใช้ในสวนควรเป็นวัสดุที่คงทน เช่น การใช้หินหรือปูนแทนไม้ซึ่งอาจจะผุและหากไม่ทันสังเกตอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้และการทำพื้นถนนควรใช้วัสดุที่พื้นผิวหยาบเมื่อเปียกน้ำจะได้ไม่ลื่น

จะเห็นว่าทั้งหมดคือเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถออกแบบทำให้เป็นจริง และมีไว้สำหรับเพื่อคนทุกกลุ่มได้ในอนาคต

ติดตามเรื่องราวต่างๆได้ที่ //krajaisuk.blogspot.com/2015/03/blog-post.html




Create Date : 19 มีนาคม 2558
Last Update : 19 มีนาคม 2558 11:00:38 น.
Counter : 1030 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระจายสุข
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]