กันยายน 2557

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
30
 
 
All Blog
​​เปิด “กาด” รวมพลังเยาวชนล้านนา ใช้ปัญญาฟื้นฟูชุมชนภาคเหนือ

เปิด “กาด” รวมพลังเยาวชนล้านนา

ใช้ปัญญาฟื้นฟูชุมชนภาคเหนือ

คำว่า “กาด” ในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ นิยามได้ว่า คือ ตลาด หรือสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน

งาน “กาดหมั้วปัญญาชน” ซึ่งโครงการ “พลังปัญญาชน สร้างสรรค์ชุมชนล้านนา”จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ณ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ จึงเปรียบได้กับ งานรวมตัวทางความคิด การแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา หลังนักศึกษาแต่ละกลุ่มได้ลงไปศึกษามาในช่วงหลายเดือน

“ครูแคท-สุธินี ชุติมากุลทวี” อาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการฯ เกริ่นที่มาของการรวมตัวของเยาวชนในครั้งนี้ว่า คือช่วงหนึ่งของกิจกรรม “โครงการพลังปัญญาชน สร้างสรรค์ชุมชนล้านนา”ซึ่งเครือข่ายเยาวชนในสถาบันการศึกษาภาคเหนือ ใน3มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รวมมือกันในเรื่ององค์ความรู้ กิจกรรม นักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

ส่วนที่มาของแนวคิดการรวมพลังทางปัญญานั้น “ครูแคท” ของเยาวชนเครือข่ายล้านนา เล่าว่า เกิดจากบริบทของภาคเหนือที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และปัญญา มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หากแต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าสังคมไทยกลับไม่มีพื้นที่ให้กับภูมิปัญญาความรู้ ของชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้น ซ้ำความรู้สมัยใหม่ยังลดทอน ตีตรา ภูมิความรู้เก่าว่าเป็นความรู้ที่ไม่ทันสมัย

“การลดทอน ตีตรา ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าล้าสมัย ล้าหลัง หรือมองว่าคนเหล่านี้ไม่มีความรู้ ชอบตัดไม้ ค้ายาเสพติดคือมายาคติที่คนภายนอกมีต่อคนภาคเหนือ ซึ่งอาจจะมีทั้งจริงและไม่จริง เยาวชนจึงรวมตัวกันเพื่อจะสะท้อนให้เห็นคุณค่าของชุมชนภาคเหนือ”

โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จิตอาสา และการบำเพ็ญประโยชน์ การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนภาคเหนือรวมพลังในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมไปกับสนับสนุนคนรุ่นใหม่คิดไปถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตนเอง อันเป็นการ “ทำดี” บนความเชื่อที่ว่า เราไม่สามารถมีความสุขโดยลำพังได้ ถ้าคนรอบข้างยังไม่มีความสุขและเราสามารถมีส่วนช่วยให้รอบข้างนั้นดีกว่าเดิมได้

“เราเน้นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ จังหวัดละ 5 กลุ่ม รวมทั้งหมด จำนวน 15 แห่ง เพราะชุมชนพื้นที่ศึกษาทั้ง 15 แห่งดังกล่าวอยู่ท่ามกลางสภาวะของการเผชิญระหว่างการเข้าใจต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคมภาคเหนือกับความรู้สมัยใหม่ มีกลุ่มปัญญาชนที่มีพลัง ทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับเกิดรูปแบบการทำกิจกรรมตาม“แนวคิดสร้างสุขด้วยปัญญา” (ตัวอย่างพื้นที่15แห่ง ท้ายเรื่อง)

“กิจกรรมเปรียบได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นนำปัญญามาใช้ในการสร้างสุข ด้วยการให้นักเรียนนักศึกษาได้รวมตัวสร้างสรรค์พลังจากภายในจิตสำนึก คิดเป็น รู้เป็น และทำเป็น ออกแบบกรอบการทำกิจกรรม เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างเป็นสุข ช่วยเชื่อมประสานคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น นำสู่การสร้างระบบพัฒนาปัญญาชนให้เป็นบุคลากรคุณภาพของสถาบันการศึกษาต่อไปในอนาคต”

ส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างสุขด้วยปัญญาของเยาวชนล้านนา จึงถูกแสดงผ่านเวที “กาดหมั้วปัญญาชน” ซึ่งแต่ละกลุ่มขนภูมิปัญญา ที่ตัวเองคนพบมาแสดงและแลกเปลี่ยนกัน

เห็นได้จากผลงานของกิจกรรมย่อยถูกสะท้อนจากความสนใจจากนักศึกษาที่เข้าใจบริบทในพื้นที่ของตนเอง และเลือกประเด็นที่เห็นว่าสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ในรูปแบบต่างๆ

อาทิโครงการ “ชุมชนบ้านดอกสะบันงา ร่วมใจ สืบสาน สายใย วิหารโบราณ บ้านดอกสะบันงา” ซึ่งนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เชื่อมโยงการบูรณะวิหารในชุมชน ซึ่งเป็นสถานที่สร้างความสงบสุขทางจิตใจ และคนทุกวัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน คนสูงอายุที่อยู่ในชุมชน หรือคนทำงานในเมืองที่มีโอกาสกลับท้องถิ่นในวันหยุด

หรือโครงการ “ชุมชนรู้คุณค่า ร่วมรักษาสมุนไพรท้องถิ่น บ้านวอแก้ว” ที่นักศึกษาราชภัฏลำปาง ร่วม พัฒนาสมุนไพรท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้ให้คนในชุมชนหันมาดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โครงการ ”พลังปัญญาชน สร้างสรรค์ชุมชนปางค่า รู้ค่าวัฒนธรรมเย้า”ที่ต่างตกผลึกทางความคิดว่าควรจะรวบรวมภูมิปัญญาที่มีอยู่มาจัดระบบใหม่ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา

“โอ๋-ศรัญญู ต่อมตุ้ย” นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่ลงไปทำงานสมุนไพรกับชุมชนบ้านวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ. ลำปาง กล่าวว่า การเข้าไปในชุมชนทำให้เขารู้จักสมุนไพรที่มีอยู่มาก รู้จักองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่ติดตัวผู้สูงอายุในชุมชน และงานของพวกเขาคือการนำความรู้เหล่านั้นมาจัดระบบและสะท้อนไปในวงกว้าง

“บ้านวอแก้วมีของดี มีภูมิปัญญา มีความรู้ที่เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ แต่อาจยังขาดการจัดระเบียบ ทำให้มันดูดีขึ้น ผมจึงไปสอบถามปราชญ์ชาวบ้าน และค้นคว้าของที่มีอยู่เดิมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นให้คนวงกว้างได้รู้จัก ได้นำไปใช้ ช่วยกันสืบสานอนุรักษ์ให้มีอยู่สืบไป และที่สำคัญคือให้เข้าใจความเป็นชุมชนท้องถิ่น ให้คุณค่ากับทุกคนอย่างเท่ากัน” ตัวแทนนักศึกษาว่า

คล้ายกับกรณีของ “ณัฐพล คำฟู” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ร่วมผลิตหนังสือสะท้อนภูมิปัญญาของชุมชนบ้านห้วยน้ำดั้น จ.เชียงใหม่ ในรูปแบบนิทานพื้นบ้าน ซึ่งสะท้อนความเชื่อต่างๆ

“นิทานบางเรื่องว่าด้วยผีป่า นางไม้ ซึ่งสะท้อนว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับต้นไม้ เหตุนี้เขาถึงไม่ตัดไม้ ทำลายป่า การที่บอกว่าชาวบ้าน กลุม่ชาติพันธุ์เป็นพวกทำลายป่า จึงไม่ใช่ความจริง” ณัฐพลว่า

ส่วน “แชน อะทะไชย” ผู้จัดการโครงการสนับสนุนติดตามประเมินผล ภาคเหนือ สำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สสส. มองว่า ผลงานทั้งหมดที่เกิดจากโครงการคือการประสานร่วมมือระหว่างชุมชน และนักศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนมีคุณค่า มีภูมิปัญญาที่ควรจะอนุรักษ์และสร้างประโยชน์ได้ ขณะที่ตัวเยาวชนเมื่อได้ร่วมฝึกทักษะร่วมกับชุมชนแล้ว ก็ย่อมจะเติบโตทางความคิด เกิดประสบการณ์ที่ไปหลอมรวมกับความรู้สมัยใหม่ได้อย่างมีมิติ

เยาวชนกลุ่มนี้จึงเป็นกำลังหลักสำคัญที่จะสื่อสารให้สาธารณะเห็นว่า ชุมชนในภาคเหนือมีภูมิปัญญาที่ควรรักษาไว้ ไม่ได้มีแต่ความเชื่อ งมงายอย่างที่บางคนอาจตีตราแต่อย่างใด




Create Date : 29 กันยายน 2557
Last Update : 29 กันยายน 2557 17:54:08 น.
Counter : 1862 Pageviews.

2 comments
  
ขอบคุณมากค่ะ ว่างๆ มาทักทายกันอีกนะคะ
โดย: กระจายสุข วันที่: 16 มกราคม 2558 เวลา:0:19:11 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระจายสุข
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]