ธันวาคม 2558

 
 
2
4
5
6
7
8
10
12
13
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
30
31
 
 
All Blog
คุณยังเชื่อกันใช่ไหม!!! ว่าเนื้อสัตว์ไทยมียาปฏิชีวนะ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขในปี พ.ศ.2553 ระบุว่า "โรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ" เป็นโรคติดเชื้อที่มีอันตรายร้ายแรง เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิด ไม่มียารักษาและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน เสียชีวิต 38,481 ราย และประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าสี่หมื่นล้านบาท และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อในประเทศไทยดื้อยาอย่างรวดเร็วก็คือมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นอย่างกว้างขวาง





          การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นเกิดขึ้นจากการจ่ายยาปฏิชีวนะ และ/หรือ ซื้อยาปฏิชีวนะรักษาทุกอาการอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งที่โดยหลักการไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเกิน 20% ในโรคทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น โรคหวัด ไอ เจ็บคอ ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ แต่ในบ้านเรามีการจ่ายยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคดังกล่าวในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉลี่ยสูงถึง 49-56% และในโรงพยาบาลเอกชนมีการจ่ายสูงถึง 80-90% ส่งผลให้โรคติดเชื้อแบคทีเรียรักษาด้วยยายากขึ้น


          ขณะที่ผู้ป่วยหลายรายมักเป็นฝ่ายเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจ่ายยาปฏิชีวนะทั้งด้วยคำพูดและการแสดงออก เป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้ต้องจ่ายยาปฏิชีวนะ ด้วยความเชื่อผิดๆ ส่วนตัวที่ว่าต้องกินยาปฏิชีวนะจึงจะหายป่วย แม้กระทั่งบางรายขอกินยากันไว้ก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดอาการ รวมถึงคนไข้บางรายเมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะทันที ทำให้ร่างกายได้รับยาไม่ครบโดส เหล่านี้ล้วนเป็นการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อและใช้อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการดื้อยาในปัจจุบัน




ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น แพทย์ เภสัชกร และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงสาธารณสุข ตลอดจนภาคปศุสัตว์ผู้ผลิตเนื้อสัตว์เป็นอาหารต่างตระหนักดีถึงอันตรายดังกล่าว จึงได้เร่งหามาตรการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ โดยเจาะลึกเข้าไปที่สาเหตุหลักของปัญหา นั่นคือการใช้ยามากเกินจำเป็นและเป็นที่มาของโครงการต่างๆ ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติซึ่งครอบคลุมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในมนุษย์และในสัตว์...


          ประเด็นที่น่าสนใจคือ...การรณรงค์ส่งเสริมเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นนี้ กลับเห็นผลที่รวดเร็วและชัดเจนจากภาคปศุสัตว์ มากกว่าภาคสาธารณสุข ... เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?


ประการแรก : น่าจะเป็นความรวดเร็วและเข้มแข็งของหน่วยราชการต่างๆ ในกรมปศุสัตว์ที่มีการประชุมหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการแก้ไขทันทีที่พบปัญหา ตลอดจนออกกฎระเบียบกฎกระทรวงเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอย่าง รวดเร็ว

จากอดีตที่อาจเคยได้ยินว่ามีการผสมยาปฏิชีวนะลงในอาหารสัตว์เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนัก แต่ในปัจจุบันกรมปศุสัตว์มีการออกกฎหมายที่เข้มงวด ห้ามมิให้มียาปฏิชีวนะเจือปนในอาหารสัตว์ โดยหากจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะใดๆ ภายในฟาร์มจะต้องเป็นไปเพื่อ "รักษา" สัตว์ป่วย และต้องสั่งยาโดย "สัตวแพทย์" เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ยังไม่สามารถครอบคลุมผู้ประกอบการได้ทั้ง 100%




ประการต่อมา : ภาคปศุสัตว์มีเงื่อนไขเชิงเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลัง ด้วยมาตรฐานสากลของประเทศคู่ค้าของไทยมีความเข้มงวดในประเด็นสารตกค้างอย่างมาก ขณะที่บริษัทเอกชน ผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำรายใหญ่เองก็ต้องการยกระดับสินค้าของตนเองให้เป็นมาตรฐานโลก จึงร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐาน Food Safety ตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้า หากไม่ทำย่อมกระทบคุณภาพสินค้าและการยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งหาก ผู้บริโภคในประเทศเรียกร้องให้อาหารดังกล่าวปลอดจากสารเคมีและยาปฏิชีวนะด้วยมาตรฐานเดียวกันกับสินค้าส่งออกในทุกช่องทางการจำหน่ายด้วย ก็จะเป็นแรงผลักดันให้คนในประเทศได้บริโภคอาหารที่ปลอดจากสารตกค้างกันอย่างทั่วถึง

          ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในสาขาปศุสัตว์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจังเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การป้องกันเชื้อดื้อยาของภาคปศุสัตว์ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้การรับประทานเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างอาจทำให้เกิดอาการดื้อยาในมนุษย์ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นสาเหตุลำดับรอง และยิ่งในปัจจุบันมีระบบป้องกันยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่มีประสิทธิภาพขึ้น ยิ่งทำให้ประเด็นนี้มีความน่ากังวลน้อยลง โดยเฉพาะในผู้ประกอบการที่มี ธรรมาภิบาลซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ




ทว่า...ความตระหนักต่อปัญหาเชื้อดื้อยาของผู้รู้ในแวดวงสาธารณสุข กลับนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเชื่องช้าและขาดประสิทธิภาพดังจะเห็นได้จาก

  ประการแรก : การขายยาปฏิชีวนะยังเป็นไปอย่างเสรีปราศจากการกำกับ ควบคุม แม้มีกฎหมายห้าม แต่ประชาชนยังสามารถซื้อยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาอันตรายได้จากร้านชำในหมู่บ้าน

ประการต่อมา : ยังไม่มีภาคเอกชนใดที่เกิดความตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ประการที่สาม : ยังขาดการลงทุนเพื่อช่วยให้แพทย์รักษาโรคติดเชื้อได้อย่างถูกต้องแม่นยำเช่น การเพาะเชื้อในห้องแล็บเพื่อจะเลือกใช้ยาให้ตรงกับเชื้อ ไม่ต้องสุ่มใช้ยาที่มีฤทธิ์กว้าง แต่โรงพยาบาลอีกนับร้อยแห่งในประเทศไทยกลับไม่มีห้องแล็บไว้รองรับ นอกจากนี้ยังขาดแรงผลักดันที่กระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในมนุษย์อย่างจริงจัง เนื่องจากการทุพพลภาพและการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาเป็นไปอย่างช้าๆ เงียบๆ ไม่เป็นข่าว ทำให้แรงบีบเชิงสุขภาพยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและลงมือปฏิบัติ ต่างจากการติดเชื้ออีโบล่า ซาร์ส หรือเมอร์ส ที่มีการแพร่กระจายในผู้ป่วยจำนวนมากให้เห็นชัดๆ และมีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง


          ที่สำคัญ ยังไม่มีแรงจูงใจหรือแรงขับเคลื่อนในเชิงเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวบังคับอย่างเช่นที่ภาคปศุสัตว์มี ทำให้ความกระตือ รือร้นของผู้มีอำนาจและผู้ที่จะช่วยผลักดันให้โครงการสัมฤทธิผล มีไม่เพียงพอ การป้องกันเรื่องเชื้อดื้อยาในมนุษย์จึงเห็นผลค่อนข้างน้อย...

          ดูไปการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์ ก็อาจจะไม่ต่างกับเรื่องมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนที่ไม่มีคนสนใจมานาน กระทั่งมีแรงบีบจากภายนอกเข้ามา จึงส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบการท่องเที่ยว กระทบจีดีพี และกระตุ้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างที่เห็น...

          น่าแปลกไหม? ที่คนเราจะมีแอ๊กชั่นได้ต้องมีแรงบีบทาง "เศรษฐกิจ" เท่านั้น ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่อง"สุขภาพ" ของพวกเราเอง


          อย่างไรก็ตาม บุคคลที่อยู่ในวิชาชีพสาธารณสุขควรต้องเป็นคนจุดประกาย โดยเริ่มทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการลด-ละ-เลิกการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ พร้อมที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ละเลยที่จะอธิบายเพื่อชี้ให้เขาเห็นว่าควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น และโรคในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ต้องช่วยลบความเชื่อเดิมๆ ว่ายาปฏิชีวนะรักษาได้ทุกอาการให้หมดไป


          รวมทั้งหยุดเรียกยาปฏิชีวนะว่า "ยาแก้อักเสบ" ...แค่นี้ก็อาจจะทำให้พอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการป้องกันเชื้อดื้อยาในมนุษย์ได้บ้าง


นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558






เครดิต   //www.hsri.or.th/researcher/media/news/detail/6221




Create Date : 11 ธันวาคม 2558
Last Update : 11 ธันวาคม 2558 8:20:24 น.
Counter : 1388 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 2344345
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]