รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 

อุปลมณี 06 มุ่งสอนสัจ ตอนที่ 1



06 มุ่งสอนสัจ


ทุกข์



หลวงพ่อพยายามให้ศิษย์เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง โดยสอนย้ำอยู่เสมอว่า
“ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่อยากให้มันทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ มันก็เอาทุกข์ออกไม่ได้ คามจริงทุกข์นี้แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ คนเป็นทุกข์ควรพิจารณา มิใช่ว่าหนี ไม่อยากทุกข์ ทุกข์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้ไม่สบาย คนเราก็เหมือนกัน ทุกข์จะพาให้เราไปหาครูอาจารย์และความสงบในที่สุด”
เมื่อการกำหนดรู้ความเป็นทุกข์มีความสำคัญมากถึงขนาดนี้ หลวงพ่อจึงให้ความทุกข์ เป็นภารกิจประจำวันที่ลูกศิษย์ต้องเผชิญ แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์เรา ไม่มีใครชอบความทุกข์ พยายามหลบหลีกหรือกลบเกลื่อนอยู่เสมอ หลวงพ่อจึงเน้นหนักเรื่องความอดทน ว่าเป็นแม่บทของการปฏิบัติ เป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง





06 มุ่งสอนสัจ


สมุทัย



การฝืนความทะยานอยากในทุกกรณี เพื่อกำจัดต้นเรื่องของความทุกข์ ที่เกิดกลุ้มรุมจิตใจ เป็นแนวทางปฏิบัติที่หลวงพ่อพาพระเณรวัดหนองป่าพงดำเนินอยู่เป็นประจำ
หลวงพ่อเห็นว่า ถ้าไม่ทวนกระแสของตัณหา นักปฏิบัติจะไม่เห็นโทษของมัน จึงกลับหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของตน
“...เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้จักว่ามันทุกข์ ทุกข์นี่มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร มันจะเห็นอะไรไหม ถ้าเราเห็นตามธรรมดามันก็ไม่ทุกข์ เช่นว่าเราอยู่อย่างนี้ เราก็สบาย อีกวาระหนึ่งเราอยากได้กระโถนใบนี้ เรายกมันขึ้นมา ต่างแล้ว ต่างกว่าแต่ก่อนที่ยังไม่ได้ยกกระโถน ถ้าไปยกกระโถนขึ้นมา มีความรู้สึกว่ามันหนักเพิ่มขึ้นมา มันมีเหตุ หนักมันจะเกิดเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเราไปยกมัน ถ้าเราไม่ยกมัน มันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่ยกมันก็เบา อะไรเป็นเหตุผล ดูเท่านี้ก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน ถ้าเราไป ยึด อะไร อันนั้นแหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าเรา ปล่อย มันก็ไม่มีทุกข์”
“...เรื่องปฏิบัตินี้ อาตมาค้นคิดเหลือเกิน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค ผล นิพพาน มีอยู่ มันมีอยู่ตามพระองค์ตรัสสอน แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากการทรมาน กล้าหาญ กล้าฝึก กล้าหัด กล้าคิด กล้าแปลง กล้าทำ การทำนั้นทำอย่างไร ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ท่านให้ไปทางโน้น ใจเราคิดไปทางโน้นท่านให้มาทางนี้ ทำไมท่านจึงให้ฝืนใจ เพราะใจถูกกิเลสเข้าพอกมาเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง มันยังไม่เป็นศีลยังไม่เป็นธรรม เพราะใจมัยังไม่แจ้ง ไม่ขาว จะไปเชื่อมันอย่างไรได้”
“...ถ้าเราพูดแค่ว่าเราตัดไม่ได้ ๆ เอาอันนั้นมาพูด เราก็เป็นนักเลงโตกันหมดทั้งวัดเท่านั้นแหละ อาศัยที่ว่ามันตัดไม่ได้ก็ต้องพยายามสิ ตัดไม่ได้ก็ต้องขูดมัน ขูดกิเลส เกลากิเลส ถ้าตัดไม่ออกก็ขุดมันออก มันเหนียวมันแน่นนี่ ไม่ใช่ว่ามันได้ตามปรารถนาตามใจของเรา จะต้องระวังข้างหน้าระวังข้างหลัง”
“...ถ้าเราไม่ฝืนความรู้สึกของเราในเวลานี้วันนี้ ความเป็นปุถุชนหรืออันธพาลนั้น มันก็ยังฝังอยู่ในสันดานเราเรื่อยไป ที่พระพุทธเจ้าท่านออกบวช ก็เพราะท่านเห็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงฝืนเรื่อยมา ถ้าหากว่าใครไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็จะไม่เห็นความรู้สึกของเจ้าของ”




06 มุ่งสอนสัจ


นิโรธ



หลวงพ่อสอนเรื่องนิโรธ ด้วยการกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ ซึ่งแต่ละครั้งที่ท่านพูดถึงภาวะจิตที่เห็นธรรมแล้ว ย่อมเป็นแรงบันดาลให้ลูกศิษย์ได้เร่งการปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าจ่าไปแล้ว นิโรธที่หลวงพ่อแสดงด้วยตัวของท่าน เป็นประจักษ์พยาน ที่ชัดแจ้งถึงผลของการปฏิบัติยิ่งกว่าคำสอนของท่านเสียอีก
“...ผู้ถึงสันติธรรม ย่อมมีจิตใจอยู่อย่าง นอกเหตุเหนือผล นอกดีเหนือชั่ว นอกผิดเหนือถูก นอกสูงเหนือต่ำ นอกดำเหนือขาว นอกแพ้เหนือชนะ นอกเกิดเหนือตาย นอกสุขเหนือทุกข์ มันจะเหมือนกับเราตอบปัญหาของคนซึ่งเรามีเฉลยอยู่แล้ว เราดูเฉลยอยู่แล้ว และเขาก็ออกปัญหามาเราก็ตอบได้ทันทีเลย ทำไม เพราะเฉลยมันมีอยู่แล้ว อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ถึงแม้ว่ามันจะเกิดอย่างนั้น มันก็ทำความเกิดนั้นไม่ให้เป็นทุกข์ คือมันเกิดดับ ไม่ใช่มันเกิดเกิด มันเป็นพื้นอยู่แล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันจะเกิดมาแล้วก็ให้มันเกิดทีหลัง สิ่งที่เกิดก่อนมันมีอยู่แล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า สติประจำกาลที่ได้ทำ และ คำที่พูดอยู่เสมอ นี่เรียกว่า ปฏิปทาของจิต”
“...เมื่อเรารู้ถึง รูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมดทั้งนั้น เมื่อได้ยินครั้งใด ก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบ ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน มิใช่จิตของเราจะไม่มีการงาน สติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าท่านทำจิตให้ถึงอันนี้แล้ว ถึงจะเดินไปทางไหน มันค้นคว้าอยู่นี่ เป็นธรรมวิจัยหลักของโพชฌงค์เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเอง แก้ ปลด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีอะไรมาใกล้มันได้ มันมีงานทำของมันเอง”
“...จิตของเรามันเป็นอย่างนี้ จะรู้ว่าสุขมันเป็นอย่างนี้ ทุกข์มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่ เวทนามันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่ จะเปรียบก็คล้ายกับ่าน้ำมันกับน้ำท่า มันปนอยู่ในขวดเดียวกัน ก็ปนกันได้ น้ำมันก็เป็นน้ำมัน น้ำท่าก็เป็นน้ำท่า”





06 มุ่งสอนสัจ


มรรค




การเจริญมรรคที่เป็นสัมมาปฏิปทาหรือสัมมามรรคนั้น หลวงพ่อย้ำว่าต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๘ ประการ จะเอาหมวดศีลแต่อย่างเดียว หรือหมวดสมาธิอย่างเดียว หรือหมวดปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ ท่านพูดอยู่เสมอเรื่องความสัมพันธ์ขององค์มรรคต่าง ๆ โดยเน้นในแง่ของ ศีล สมาธิ ปัญญา
“หลักใหญ่ของพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๓ ประการ ถ้าพูดถึงตัวบุคคล ก็คือ กาย วาจา ใจ ถ้าพูดถึงธรรมล้วน ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี จะดำเนินอยู่ได้ มันก็ต้องมีปัญญา บางคนเข้าใจว่าปีนี้ผมจะรักษาศีล ปีหน้าจะทำสมาธิ ปีต่อไปจะทำปัญญาให้เกิด อย่างนี้เป็นต้น เพราะเข้าใจว่ามันคนละอย่างกัน ปีนี้จะทำศีล ใจไม่มั่นจะทำได้อย่างไร ปัญญาไม่เกิดจะทำได้อย่างไร มันก็เหลวทั้งนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้น มันก็อยู่ในจุดเดียวกัน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อเรามีศีลขึ้นมาสมาธิก็เกิดขึ้นมาเท่านั้น สมาธิเกิดขึ้นมาปัญญามันก็เกิดขึ้นมาเท่านั้น มันเป็นวงกลมครอบกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นอันเดียวกัน เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน เมื่อมันเล็ก มันเป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันโตมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันสุกมันก็มะม่วงใบนั้น ถ้าเราคิดกันง่าย ๆ อย่างนี้ มันก็เป็นธรรมที่เราต้องปฏิบัติ ไม่ต้องเรียนอะไรมากมาย ให้เรารู้มันเกิด รู้ตัวจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รู้ข้อปฏิบัติของตนเอง”
“...มรรคทั้งแปดนั้น ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่กายของเรา ตาสอง หูสอง จมูกสอง ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง นี่เป็นมรรคแล้ว จิตเป็นผู้เดินมรรค เป็นผู้ทำมรรคให้เกิดขึ้น ให้รู้จักว่ามันผิดมันถูก ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ มันจะผิดขนาดไหนก็ช่าง เรารู้ว่าอันนั้นมันคิดผิดเข้าใจผิด ไม่ให้มันดึงดูดเราไปได้ แล้วก็กลับมาให้คงที่ของเราอยู่ มีความตั้งใจมั่นชอบ คือไม่หนีไปกับใคร อารมณ์ถึงไปที่ไหนก็กลับมาตรงนี้ เพราะมันมั่นอยู่แล้วไม่ให้มันขาดจากนี้ไป แค่นี้ก็เป็นสังวรศีลแล้ว เป็นสมาธิแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมา”
ในเมื่อศีลเป็นบาทฐานของการเจริญสมาธิและปัญญาที่ขาดไม่ได้ หลวงพ่อจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องพระวินัยอย่างมาก ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ สมาธิและปัญญาก็ไม่เกิด ท่านเน้นและย้ำเสมอว่า สมาธิที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยสติและความเพียร และต้องเป็นไปเพื่อปัญญา เพื่อความดับทุกข์โดยตรง ท่านไม่ให้ความสนใจเรื่องที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เช่น เรื่องไสยศาสตร์หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เป็นต้น
“...การประพฤติศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็เพื่อให้เกิดความเห็นชอบให้มีความเห็นถูก ปราศจากความผิด ไม่มีอื่นนอกจากนี้ไป”
ทางสายกลาง ซึ่งก็ตรงกับอริยมรรคนั่นเอง ก็เป็นสิ่งที่หลวงพ่อกล่าวถึงบ่อย ๆ ท่านให้คำจำกัดความของทางสายกลางง่าย ๆ บางทีเป็นคำเดียวว่า พอดี หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านพูดถึงการไม่หลงติดในความสุขหรือความทุกข์ เป้นคามหมายของทางสายกลาง
“...เมื่อได้เห็นความสุขแล้วให้พิจารณาความสุขนั้น ท่านไม่ให้ติดอยู่ในความสุข คือท่านให้วางทั้งสุขและทุกข์ การวางทางทั้งสองได้นี้ เป็นสัมมปฏิปทา ท่านเรียกว่าเป็นทางสายกลาง”
น่าสังเกตว่า อริยสัจที่สามคือนิโรธนั้น แม้หลวงพ่อกล่าวหรือพรรณนาถึงน้อย เนื่องจากเป็นภาวะที่เป็นปัจจัตตัง แตละคนต้องสัมผัสเอง กลับมีความสำคัญเป็นอันมากในการฝึกสอนพระเณรของท่าน เพราะความเชื่อมั่นของลูกศิษย์ในคุณธรรมของหลวงพ่อ อยู่ที่การได้เห็นนิโรธในตัวท่าน ซึ่งทำให้การอบรมสั่งสอนมีน้ำหนัก ทำให้เกิดความเชื่อถือ เป็นการสอนที่แม่นยำและได้ผล เพราะอุบายการสอนมาจากนิโรธอันล้ำลึกของหลวงพ่อนั่นเอง
แต่โดยเหตุที่เนื้อหาของการสอนอยู่ที่มรรค จึงจะขยายให้เห็นถึงรายละเอียด โดยนำเรื่องของพระวินัยและข้อวัตร ธุดงควัตร (หมวดของศีล) และการเจริญภาวนา เช่นการปฏิบัติทางสมาธิและปัญญา มากล่าวในบทต่อไป






 

Create Date : 25 ตุลาคม 2554
0 comments
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2554 14:00:16 น.
Counter : 650 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.