รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 09 สมณธรรม ตอนที่ 7




09 สมณธรรม


ปัจจุบันธรรม


“ปจฺจุปปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ
อสํหิรํ อสํกุปฺปํ ตํวิทฺธามนูพฺรูหเย”
แปลเป็นไทยว่า “ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้”


ปัจจุบันธรรมนี้มีความหมายและความสำคัญต่อนักบวชเพียงใด หลวงพ่อได้อธิบายไว้อย่างแจ่มแจ้งดังนี้

“ปัจจุบันธรรมมันจะเป็นอย่างไร ละมันเดี๋ยวนี้ แก้มันเดี๋ยวนี้ เพราะว่าปัจจุบันธรรมคือปัจจุบันนี้ มันเป็นทั้งเหตุทั้งผล ปัจจุบันนี้มันตั้งอยู่ในเหตุผล อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล มันมีเหตุผลอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นเหตุ อดีตเหตุ อยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นผล ผลเดี๋ยวนี้ก็เป็นเหตุของอนาคตอีก

ปัจจุบันนี้มันเป็นผลของอดีต และเหตุของอนาคตต่อไป ทั้งอดีตและอนาคต มันก็อยู่ในปัจจุบันนี้
การปฏิบัติก็ให้ดูปัจจุบันนี้เท่านั้นละ อย่าไปห่วงอดีต อย่าไปห่วงอนาคต เพราะอดีตมันก็ผ่านไปแล้ว เรื่องที่เกิดในอดีต มันก็ดับไปแล้วในอดีต มันหมดแล้ว อนาคตเราก็ปล่อย เรื่องที่เกิดในอนาคต มันก็ดับในอนาคต เราจะไปห่วงใยมันทำไม ดูปัจจุบันธรรมนี้ว่ามันไม่แน่ มันไม่เที่ยง พุทโธมันก็รู้ขึ้นมา เจริญขึ้นมา รู้ความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง สุขทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่เที่ยง ไม่แน่ ถ้าจิตใจของเราเห็นของทุกอย่างว่าเป็นของไม่แน่ ปัญหาว่าเราจะไปยึดมั่นหมายมั่นก็จะค่อย ๆ หมดไป”

ในเมื่อความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางไปสู่ความดับทุกข์ ล้วนแต่อยู่ในขณะปัจจุบัน จึงเป็นธรรมดาอยู่นี่เอง ที่หลวงพ่อเน้นความสำคัญของการอยู่ในปัจจุบัน และนเนที่การมีสติทุกอิริยาบถ

“ข้อปฏิบัตินี้คือการภาวนานี่เอง พูดง่าย ๆ ก็เรียกว่า เราต้องเป็นผู้มีสติ คือความรู้ความระลึกอยู่เสมอ อยู่ที่นี่ว่าเดี๋ยวนี้เราคิดอะไรอยู่ เราทำอะไรอยู่ เรามีอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ เราดูอย่างนี้มีสติอยู่เสมอว่า เราอยู่ยังไง เรารู้ตัวอยู่ว่า ขณะนี้เรามีอะไรอยู่ กำลังคิดอะไร กำลังสุขหรือกำลังทุกข์ ผิดหรือถูกอยู่เดี๋ยวนี้ ที่เรามีสิ่งทั้งหลายปรารภอยู่อย่างนี้ ปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้วระลึกได้อยู่แล้ว รู้ได้อยู่เป็นต้น มันก็วิ่งไปวิ่งมา มันก็เกิดขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์พิจารณาเป็นความรู้สึกอยู่ทุกขณะ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส ร่างกายถูกต้องโผฏฐัพพะ ถ้ารู้สึกแล้วมันก็รู้จัก อันนั้นดี อันนั้นไม่ดี อันนั้นเราชอบ อันนั้นเราไม่ชอบ ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านให้วาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าแก้ปัญหา”

ความเป็นอยู่ในวัด ก็มีส่วนช่วยให้ความคิดเรื่องอดีต อนาคต หรือเรื่องนอกตัวลดน้อยลงได้เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมที่เป็นป่ารกทึบ ไม่ชวนมอง ก็ทำให้คนต้องหันกลับมามองตนเอง ตารางการประพฤติปฏิบัติที่คล้ายกันในแต่ละวัน ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเร้าความสนใจให้ตื่นเต้นก็เป็นข้อดีที่ช่วยให้พระภิกษุสามเณรมีสติ อยู่กับปัจจุบันยิ่งขึ้น หลวงพ่อเองเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ ท่านสงบเยือกเย็น และตั้งมั่นใจปัจจุบันอยู่เสมอด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน และสติอันเต็มเปี่ยม ซึ่งทำให้หลวงพ่อมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นอาจารย์สอนธรรมะอยู่แล้วตลอดเวลา ดังที่ท่านเคยพูดบ่อย ๆ ว่า “อะไรที่ไม่เป็นธรรมะนั้นไม่มี เรานั่งอยู่ก็นั่งทับซึ่งธรรมะ เดินไปก็เดินไปบนธรรมะ” เพราะฉะนั้นไม่ว่าหลวงพ่อจะอยู่ที่ไหนท่านมีอุปกรณ์ในการสอนพร้อมอยู่ตลอดเวลา จะอยู่ในภาวะปกติ หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ท่านก็สามารถหยิบยกอุปกรณ์จากธรรมชาติรอบตัวในขณะนั้น มาชี้แนะให้ลูกศิษย์ได้ฉุกคิดอยู่เสมอ

ท่านพระครูบรรพตวรกิต ได้เล่าเรื่องเก่า ๆ ซึ่งเป็น “ปัจจุบันธรรมคำสอน” ที่หลวงพ่อให้กับตัวท่านเองโดยตรงว่า

“ครั้งหนึ่ง ช่วงที่กำลังช่วยหลวงพ่อสร้างกุฏิ ยังปูพื้นกระดานไม่เสร็จ ผมก็ป่วย ไข้ขึ้นสูง หลวงพ่อกับพระเณรมาเฝ้าไข้ และท่านได้เล่าให้ฟังว่า ผมละเมอ ปูดี ๆ เด้อ เอาแผ่นนั่นเลื่อนเข้าไปอีก เออ! เออ! จั่งซั่นหละ อย่าให้มีร่อง

ท่านก็เลยให้สติว่า จิตที่ห่วงกังวลอยู่นี่แหละที่จะพาไปเกิด อาจจะไปเกิดเป็นตุ๊กแก หรือสัตว์อะไรก็ได้ ตรงกุฏิที่กำลังสร้างอยู่นั่นเอง...”

ครั้งหนึ่งระหว่างพำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง พระอาจารย์ปสันโน มีโอกาสได้ตามหลวงพ่อไปบิณฑบาตที่บ้านกลาง ขากลับหลวงพ่อเดินช้า ๆ ขณะเดินผ่านต้นไม้ กิ้งก่าคู่หนึ่งซึ่งกำลัง “ปฏิบัติการสุนทรีย์” อยู่ข้างบนก็พลาดท่า หล่นตุ๊บลงมาต่อหน้า ทั้งที่ตัวยังติดกัน หลวงพ่อเห็นเข้าก็หัวเราะชี้ให้ลูกศิษย์ดู พร้อมกับทำมือทำไม้ประกอบคำอธิบายแก่ท่านอาจารย์ปสันโน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมากนัก

“แน่ะ! เห็นไหม มันเมาความสุขอยู่ข้างบน เป็นเหตุให้ประมาท ตกลงมาก็เจ็บอย่างนี้แหละ”

มีอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นไหวพริบอันฉับไวของหลวงพ่อ ในการชี้ปัจจุบันเหตุให้ลูกศิษย์เห็นธรรมแบบแทงใจดำ แต่แฝงด้วยอารมณ์ขัน เช่นเรื่อง ปั้นข้าวฟักไข่ ซึ่งพระอาจารย์เอนกได้เล่าให้ฟังดังนี้

“ตามปกติที่วัดหนองป่าพง หลังจากเสร็จกิจวัตรในตอนเช้าแล้ว ภิกษุสามเณรก็ออกบิณฑบาตไปตามสายต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายสายด้วยกัน แล้วแต่ใครจะไปสายไหน เมื่อกลับจากบิณฑบาตก็มาถ่ายบาตรออก ปั้นข้าวเหนียวเอาเฉพาะพอฉันอิ่มเท่านั้น ไม่ให้มากหรือไม่ให้น้อยเกินไป ส่วนอาหารที่บิณฑบาตได้มาทุกอย่าง ต้องส่งไปที่โรงครัว เพื่อให้แม่ชีสำรวจดูให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า สิ่งไหนควรไม่ควร เสร็จแล้วพวกชีเขาก็จัดสำรับทั้งหมดส่งมาถวายพระ

ที่วัดมีกติกาว่า อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตต้องส่งไปโรงครัวหมด ห้ามเก็บไว้ในบาตรของตน ครั้งหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเกิดฝ่าฝืนกติกาสงฆ์ข้อนี้ ท่านคงคิดว่าอาหารมีน้อย บางทีอาหารบางอย่างก็แจกหมดก่อนแต่ต้นแล้ว ไม่ถึงปลายแถว หรือแม้จะถึงก็กลัวจะได้น้อย หรือได้ของที่ไม่ชอบใจ วันนั้นพระรูปนั้นไปบิณฑบาตได้ไข่มต้มมาหนึ่งฟอง ท่านก็เลยปั้นข้าวเหนียวหุ้มไว้ เอาไข่ไว้ข้างในก้อนข้าว จะเป็นเหตุบังเอิญ หรือท่านอาจะทำมานานแล้ว กรรมมันส่งผลก็ไม่ทราบ วันนั้นก่อนฉัน หลวงพ่อท่านก็ออกเดินตรวจในบาตรของพระภิกษุสามเณร พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้นท่านก็หยุด เพราะก้อนข้าวปริ และมองเห็นไข่ต้มอยู่ข้างใน ท่านก็เลยพูดขึ้นว่า

ปั้นข้าวใครฟักไข่

ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำลังนั่งอยู่ในโรงฉัน ต่างก็หันไปมองพระรูปนั้นเป็นจุดเดียวยังกะนัดกันไว้ ทำให้ภิกษุรูปนั้นทั้งกลัวทั้งอายจนตัวสั่นหน้าซีด แทบจะแทรกแผ่นดินหนีให้ได้ ตั้งแต่นั้นมาภิกษุรูปนั้นก็เข็ดขยาดหวาดกลัว ไม่กล้าทำอย่างนั้นอีกเลย อย่าว่าแต่ภิกษุรูปนั้นเลย แม้แต่ภิกษุรูปอื่น ๆ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ ก็ไม่กล้าทำอย่างนั้นเหมือนกัน”





09 สมณธรรม


ไม่แน่


สิ่งที่หลวงพ่อพยายามชี้ให้ลูกศิษย์ได้เห็น ได้สัมผัสอยู่เสมอคือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน เพราะท่านเห็นว่า ความรู้ความเห็นในเรื่องนี้เป็นสัมมาทิฐิ เป็นตัวปัญญา “ไม่แน่” คำนี้เป็นคำสอนที่หลวงพ่อย้ำนักย้ำหนาในหลาย ๆ รูปแบบ จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นคาถาบทสำคัญ หรืออาจถือเป็นเอกลักษณ์ในคำสอนของท่านก็ว่าได้ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความรู้สึกของท่านต่อเรื่องนี้คือ

“ตัวที่ว่าไม่แน่นั่นล่ะ คือตัวพระพุทธเจ้าละนั่น ตัวทีไม่แน่นั่นละคือตัวธรรมะ” และท่านกล่าวคล้ายรำพันว่า

“ผมเคยพูดบ่อย ๆ แต่คนไม่ค่อยใส่ใจ อะไรเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผมก็ว่า เอ้อ! อันนี้มันไม่แน่! แต่คำนี้คนไม่ค่อยได้ติดตาม คำง่าย ๆ สั้น ๆ ที่ว่า ไม่แน่ คำเดียวและถูกผมพูดบ่อย ๆ คนก็ไม่ค่อยเอา” ฯลฯ

“ถ้าเห็นอนิจจังชัดเจน มันก็เป็นพระสมบูรณ์นั่นเอง เห็นอนิจจัง มันเป็นของไม่แน่นอนในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อุปาทานมั่นหมายมันก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า”

“อะไรก็ช่างเถอะ ถึงจะเกิดอารมณ์อะไรที่ไม่พอใจจนถึงกับน้ำตามันจะไหลออกมา ให้เรานึกถึงคำสอนที่ว่า อันนี้ไม่แน่ ไว้เสมอเลยทีเดียว ด้วยสติสัมปชัญญะของเรา มันจะพอใจ ไม่พอใจ มันจะดี มันจะชั่ว ก็ให้เห็นพอดี มันก็ถอนอุปทานได้ เห็นว่ามันเป็นของไม่มีราคา แล้วก็มีการปล่อยวางไปในตัวด้วยเสมอ อันนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาก็เรียกว่า มันไม่แน่ อย่าไปลืม อย่าไปทิ้งคำนี้ ดีท่านก็ไม่ให้ยึด ชั่วก็ไม่ให้ยึด ถ้าหากว่าเราประสบอะไรมาก็ช่างเถอะ ให้รวมกำลังลงตรงนี้ อันนี้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา แล้วก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เอาอันนี้เป็นอารมณ์เสมอ จะทำให้พวกเราพ้นจากความสงสัย เพราะว่าธรรมะทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า ไม่แน่ ไม่เที่ยงนะ มันจะหมุนรอบตัวมันอยู่ เห็นอาการทั้งหลายเป็นอยู่อย่างนั้น จิตจะทอดอาลัย อันนี้เป็นเครื่องมือที่ถอนความยึดมั่นออกจากอารมณ์อันนั้น ทำให้เรามองเห็นธรรมะอย่างแจ้งชัด”

สมัยหนึ่งเพลงลูกทุ่ง “มันบ่แน่ดอกนาย” กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไปถึงไหน ๆ ก็ต้องได้ยิน วันหนึ่งหลวงพ่อบังเอิญมีธุระผ่านเข้าไปในเมือง ก็พลอยได้ยินไปกับชาวบ้านเขาด้วยและเมื่อกลับถึงวัด ท่านได้ปรารภเรื่องนี้ให้ลูกศิษย์ฟัง ในระหว่างการอบรมว่า “เออ! นั่นมันร้องเพลงของพระพุทธเจ้าเลยนะนั่น”

นอกจากนี้ หลวงพ่อใช้ความไม่แน่นอนเป็นเครื่องมือ สอนให้ลูกศิษย์คลายความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ คือ ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน จนพระเณรจะต้องวางความรู้สึกให้ยืดหยุ่น ยึดถืออะไรเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ เช่น ท่านสั่งว่าไปก็ต้องพร้อมที่จะไป แต่ถ้าท่านสั่งเลิกก็พร้อมที่จะเลิก โดยไม่รู้สึกกระทบกระเทือน ท่านพระครูบรรพตวรกิต เป็นลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดคำสอน ซึ่งเป็นคาถาสำคัญบทนี้จากหลวงพ่อซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนซึ้งแก่ใจ

“ผมเองนะ ท่านสอนแบบที่ว่าเอาของจริงมาสอนเลย เช่นท่านสอนว่า ไม่แน่ คำนี้เป็นคำที่ผมรับมาตลอด ตอนที่ท่านสอนครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจ ทีนี้ท่านสอนด้วยการกระทำ เช่น ท่านจะให้เราไปที่ใดที่หนึ่งกับท่าน ท่านบอกว่าไปเตรียมบริขารมา วันนี้เราจะไปที่โน้นด้วยกัน ทีนี้พอเราเตรียมตัวมาปุ๊บ ท่านก็กลับบอกว่า เอ้า! ไม่ไปแล้ว กลับเถอะ ลักษณะอย่างนี้เราต้องกลับ ผมรู้สึกเจอบ่อยจนกระทั่งเข้าใจคำว่า ไม่แน่ ของท่าน จนกระทั่งต่อไป รู้คำสมมุติของท่านลงในพระไตรลักษณ์ คำว่า ไม่แน่ หมายความว่าแบ่งไว้ครึ่งหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ให้แบ่งไว้สัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยยึดเอาหลักนี้สำหรับปฏิบัติ ซึ่งได้จากท่านโดยตรง คำนี้ทำให้เราไม่เป็นทุกข์ สบายใจ คือรู้จักแบ่ง อันนี้เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่ได้กับผมโดยตรงนะ รู้สึกว่าเป็นประโยชน์แล้วก็ดีมากสำหรับการสอนของท่าน ต่อจากนั้นเวลาอยู่กับท่านเราก็เข้าใจแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง พอท่านทำอะไร ๆ หรือพูดอะไร ๆ เราก็รู้จักว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่ จำคำของท่านไว้เสมอ”

แม้พระอาจารย์รุ่นหลัง ๆ ก็โดนหลวงพ่อสอนคาถาบทนี้ เพื่อให้รู้จักดูความรู้สึกของตนเองด้วย ท่านรูปหนึ่งเล่าว่า “ไปกราบหลวงพ่อทีไร ท่านก็จะยิ้มแย้มเป็นกันเอง ทักทายทุกครั้ง เราก็ปลื้มอยู่นาน โอ! หลวงพ่อเมตตาเรามากจริง ๆ แล้วก็มีอยู่ครั้งหนึ่งไปกราบ ท่านไม่พูดด้วยเลย อย่าว่าแต่พูด ไม่มองมาด้วยซ้ำ เหมือนไม่มีเราอยู่ในที่นั้น กว่าจะรู้ โอ้โฮ! ทุกข์แท้ ๆ”





09 สมณธรรม


ความพอดี


อีกคำหนึ่งที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อได้ยินบ่อย ๆ จนติดหู คือคำว่า “พอดี” ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า ธรรมะคือความพอดี คือ ทางสายกลางไปสู่ความดับทุกข์ แล้วท่านย้ำสอนให้แต่ละองค์แต่ละคน หาความพอดีของตัวเองในการประพฤติปฏิบัติ

“เรามาฝึกการปฏิบัติ ทำไมท่านถึงให้เรากินน้อย นอนน้อย พูดน้อย อะไร ๆ ทุกอย่างให้มันน้อยไป ๆ คำที่ว่ามันน้อยน่ะ มันจะพอดีหรือ ความเป็นจริงนั้นยังไม่พอดี ไม่สม่ำเสมอ แต่ทำไมท่านถึงว่าให้เราทำให้มันน้อย พูดน้อย ๆ คุยน้อย ๆ นอนน้อย ๆ เพื่อให้เรารู้จักความพอดี ความเหมาะสมของตัวเรานั่นเอง ทุกท่านให้พยายาม รีบเกินไปก็ไม่ได้ ให้รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวหาความพอดี ถ้ามันน้อยไปเราก็เติม ถ้ามากไปเราเอาออก เป็นสัมมาปฏิปทา คือพอดี ถ้ามันดื้อก็ใช้ข้อวัตรเข้าควบคุม ให้มันเข็ด ฝึกมันทรมานมัน ถ้ามันเป็นอีกก็ทำอีก นี่เรียกว่าการปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์ของเรา การพูดจาปราศรัย ทุกอิริยาบถให้มีความรู้สึกอยู่ในใจของเรา ความพอดีนั้นเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ข้องแวะกับสิ่งสุดโต่ง

กามสุขัลลิกานุโยโค คือ ใจของเราลุ่มหลงในความสุข ลุ่มหลงในความสบาย ลุ่มหลงในความดีใจ ลุ่มหลงว่าเราดี เราเลิศ เราประเสริฐ

อัตตกิลมถานุโยโค คืออาการที่ไม่พอใจ อาการที่เป็นทุกข์ อาการที่ไม่ชอบใจ อาการกริ้วโกรธ

ธรรม ๒ อย่างนี้ไม่ใช่หนทางของบรรพชิตจะพึงเดิน หนทางคืออาการดีใจ หรือเสียใจ เดินทางคือตัวผู้รู้ของเรานั่นแหละ ผู้เดินทางคือจิต ผู้สงบท่านไม่เดินทางนั้น แต่ว่าทางนั้นท่านก็เห็น อาการสุขก็เห็น แต่ท่านไม่มีอุปาทานยึดมั่นกับมัน ปล่อยมันไป วางมันไป ละมันไป จึงเป็นผู้สงบ การรู้จักความพอดี ก็เกิดจากการพิจารณาความไม่แน่นั่นเอง การประพฤติปฏิบัตินี้ ต้องมีปฏิปทาที่พอดี ๆ ไม่สูงเกินไป อยู่ในระดับพอดี ถ้ามันเกินพอดี หรือต่ำกว่าพอดี มันก็ไปไม่ได้ ไม่ใช่สัมมาปฏิบัติของพระ ถ้าเราดูเสมอว่า ยืน นั่ง นอนน่ะ เรารู้สภาพอารมณ์ทั้งหลายมันพอดี โดยอำนาจที่ว่า ของมันไม่แน่แล้ว มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นอีก แต่ว่าคนเรามันทนไม่ไหว มันอยากเกินขีด มันดันขึ้น ๆ ไม่รู้จักความพอดีของมัน

ความพอดีมันเกิดจากที่ว่าเมื่อพบอารมณ์อะไร ก็บอกมันว่าไม่แน่ เรื่องอนิจจังเรียกว่าไม่แน่ ทนเอาอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ก้าวไป ไม่ถอยหลับ อยู่ตรงนี้ ทน ไม่นานเดี๋ยวก็พบความจริงได้”





09 สมณธรรม


ไม่ตึงไม่หย่อน


“การสอนนี่ต้องดูว่าเขาจะรับได้แค่ไหน ดูความพอดีของเขา เพราะความพอดีนั่นแหละคือธรรมะ ถ้าไม่พอดีไม่เป็นธรรมะ”

นี่คือปฏิปทาในการสอนลูกศิษย์ ซึ่งหลวงพ่อได้ปรารภให้ฟัง และท่านเองได้ดำเนินมาตั้งแต่ต้น

อันความพอดีนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะในฝ่ายลูกศิษย์ฝ่ายเดียว แต่การดำเนินข้อวัตรทุกอย่างซึ่งเป็นไปเพื่อการฝึกสอนทั้งสิ้นนั้น ก็อยู่ในเกณฑ์พอดีด้วย แม้ว่าบางครั้ง จะเห็นว่าหลวงพ่อวางกฏระเบียบในการปฏิบัติค่อนข้างตึงหรือเคร่ง แต่ก็เป็นความตึงความเคร่งที่ตั้งไว้เพื่อความพอดีนั่นเอง อย่างที่ท่านอาจารย์สุพร ได้ตั้งข้อสังเกตวิธีการสอนของหลวงพ่อไว้ว่า

“ปฏิปทาของหลวงพ่อ เวลาท่านทำอะไร ไม่ใช่ว่าจะให้เข้มแข็งตรงเป๊ะ เมื่อถึงคราวถึงโอกาส บางบุคคล บางกาล บางสถานที่ ท่านก็อนุโลมบ้าง แต่ว่าท่านพยายามให้ตึงให้เคร่งไว้หน่อย เมื่อมันเสื่อมลง หย่อนลง ตามลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านก็จะยกข้อวัตรทั้งระเบียบต่าง ๆ ขึ้นมาให้มันตึง พอมันตึงแล้ว ก็ลงมาเองตามลักษณะของมัน ท่านก็ยกขึ้นอีก เท่าที่ผมสังเกตดูข้อวัตรหลาย ๆ อย่างก็เป็นอย่างนี้ ข้อวัตรเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ เช่น การพูดคุยอย่างนี้ ถ้าเสียงดังมากนี่ ท่านก็จะย้ำขึ้นมาเสียทีหนึ่ง เทศน์หนักทีหนึ่ง แล้วก็จะหายเงียบไปนาน แล้วก็จะค่อย ๆ กลับขึ้นมาอีก ท่านก็ย้ำอีก ก็เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ คือ นี่มันเป็นลักษณะของธรรมะอันหนึ่งเหมือนกัน เพราะมันไม่ตั้งอยู่เที่ยงแท้แน่นอน มันค่อย ๆ เสื่อมลง ท่านก็จะยกขึ้นมา”

ความเป็นครูอาจจะทำให้หลวงพ่อมองเห็นว่า การปฏิบัติของลูกศิษย์นั้นก็คงเหมือนกับการเตรียมตัวดูหนังสือเพื่อเข้าสอบของนักเรียน ถ้าเตรียมดูหนังสือเพียงแค่ให้สอบผ่าน ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เข้าสอบจริง ๆ อาจจะไม่ผ่านได้ จะต้องเตรียมพร้อมไว้ ๙๐ หรือถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั่นแหละ แล้วเวลาสอบมันจะเลื่อนลดลงมาเหลือเพียง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าสอบได้ ปฏิปทาในการรักษาข้อวัตรของหลวงพ่อ จึงเป็นไปอย่างผู้ที่เข้าถึงสัจธรรม ความไม่เที่ยงอย่างแท้จริง

เมื่อมีการปรารภถึงข้อวัตรที่บางคนเห็นว่าตึงเกินไป หลวงพ่อตอบว่า
“ให้มันตึงไว้นั่นแหละดีแล้ว เดี๋ยวมันก็หย่อนลงมาเอง”
และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เสียด้วย เพราะจิตใจของปุถุชนคนเรา ถ้าไม่คอยฉุดคอยรั้งเอาไว้มันก็จะคอยวกไปสู่ทางเสื่อม เหมือนน้ำที่ย่อมจะไหลไปสู่ที่ต่ำ เพราะฉะนั้นข้อวัตรที่อาจจะตึงเกินไปสำหรับคนอื่น ก็คงจะ ตึงพอดี แล้วสำหรับหลวงพ่อ





09 สมณธรรม


ปฏิบัติสม่ำเสมอ


บางคนคิดว่า การปฏิบัติกรรมฐานคือ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิเท่านั้น แต่หลวงพ่อเน้นว่าการปฏิบัติอยู่ที่สติมากกว่าที่อิริยาบถ อย่างที่ท่านเทศน์ในตอนหนึ่งว่า

“ไม่ใช่เดินเพียร นั่งเพียร แต่รู้เพียร”

คือฝึกให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกอิริยาบถ ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมเท่านั้น เคล็ดลับของท่านก็คือ ปฏิบัติเรื่อยไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคร่งเกินไป แต่ก็ไม่หย่อน ให้พอดีแก่การขัดเกลากิเลส จึงจะเรียกว่า เป็นสัมมาปฏิปทา เพราะว่า

“การทำความเพียร ไม่ได้ขีดขั้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้ทั้งหมดนั้น แม้กวาดลานวัดอยู่ก็บรรลุธรรมะได้ แม้แต่เพียงมองเห็นแสงพยับแดดเท่านั้น ก็บรรละรรมะได้ จะต้องมีสติพร้อมอยู่เสมอ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะมันมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมอยู่ตลอดเวลา อยู่ทุกสถานที่ เมื่อเราตั้งใจพิจารณาอยู่”

นี่คือปฏิปทาในการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำเป็นเวลา แต่ต้องทำตลอดเวลา อย่างที่หลวงพ่อท่านเรียกว่า “สติจำกาล” ปฏิปทาที่ไม่ติดต่อสม่ำเสมอนั้นหลวงพ่อเปรียบเทียบว่า “เหมือนหยดน้ำที่ไม่ต่อเนื่องกัน”

“น้ำที่เราหยดลงไปอย่างนี้ หยดห่าง ๆ ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ... ถ้าเราเร่งความเร็วขึ้นหยดน้ำก็ถี่เข้า ๆ ปั๊บ...ปั๊บ...ปั๊บ... เร่งขึ้นไปอีก มันก็ติดกันไหลเป็นสาย สติของผู้ปฏิบัติที่ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่สม่ำเสมอ ก็เหมือนหยดน้ำที่ยังไม่ต่อเนื่องกัน มันเป็นวรรคเป็นตอน แต่ถ้าเราเร่งให้น้ำไหลเร็วขึ้น หยดน้ำก็หายไป กลายเป็นสายน้ำ การฝึกสติของเราก็เช่นเดียวกัน นาน ๆ นึกขึ้นได้ก็ตั้งสติเสียทีหนึ่ง เราก็จะมีสติที่ขาดเป็นช่วง ๆ เหมือนหยดน้ำ ถ้าเราพยายามระลึกรู้อยู่เสมอ มีสติในทุกการที่ทำ คำที่พูด และความรู้สึกนึกคิด เราก็จะเป็นผู้ที่มีสติตลอดเวลา ไม่เผลอ เหมือนหยดน้ำที่ต่อกันเป็นสายน้ำ"





09 สมณธรรม


เรียนจากธรรมชาติ


center>

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสงบของจิตหรือ จิตตวิเวก และการพ้นจากกิเลส อุปธิวิเวก เกิดจาก กายวิเวก ด้วยเหตุนี้จึงทรงสรรเสริญการหลีกเร้นอยู่ในป่าอย่างสันโดษมักน้อยว่า เป็นเครื่องอุดหนุนที่สำคัญในการประพฤติปฏิบัติ เนื่องจากความสงบสงัดของสิ่งแวดล้อมในป่าช่วยให้กายสงบระงับ และความรู้สึกนึกคิดก็เยือกเย็นลง ในภาวะเช่นนี้ นักปฏิบัติจะได้อยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกับธรรมชาติภายนอกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะแทงทะลุเข้าไปถึงธรรมชาติละเอียดอ่อน อันเป็นนามธรรมภายในจิต จึงเป็นโอกาสที่ข้อคิดทางธรรมะจะผุดโผล่ขึ้นมาได้ง่าย จนอาจเกิดความสว่างในเรื่องนั้น ๆ ได้ อย่างที่หลวงพ่อเคยพูดว่า

“เมื่อเห็นธรรมภายนอก ก็เห็นธรรมภายใน”

อนึ่ง ธรรมชาติเป็นตัวยืนยัน และสนับสนุนการภาวนาของนักปฏิบัติ เสียงของป่าแม้มีอยู่ก็ไม่รบกวน แต่เป็นเสียงที่จะกล่อมเกลาจิตใจของนักปฏิบัติให้เข้าสู่ความสงบ “ไม่เหมือนเสียงนักร้อง” หลวงพ่อท่านว่าอย่างนั้น

“พวกนักร้องที่มันร้องกันอยู่นั่น เราไปฟังเข้าครั้งเดียว แหม! มันแสบร้อนอยู่กระทั่งวัน กระทั่งคืน”

ท่านจึงได้คอยชี้ชวนลูกศิษย์ ให้ลืมหูลืมตาต่อสัจธรรมที่อยู่รอบตัว เหมือนสอนให้ปลาเห็นน้ำ

“ธรรมชาติต่าง ๆ มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน สารพัดอย่า งแต่ถ้าเราไม่สงบระงับ อันใดที่ชอบใจเราก็เห็นว่าสงบ อันใดที่ไม่ชอบใจเราก็เห็นว่าไม่สงบ ความเป็นจริงคนผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราจะมาอาศัยแต่ผู้อื่น เกาะผู้อื่น อาศัยผู้อื่นสอนเราอย่างเดียวนั้น มันก็ไม่เกิดปัญญา ต้องเป็นคนเข้าใจตนของตนเอง พยายามสอนตน พยายามฝึกตน ที่ครูบาอาจารย์ท่านฝึกให้น่ะภายนอก ท่านก็เป็นผู้แนะแนวทางให้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็ดี ทางโลกทางธรรมก็ต้องเป็นอย่างนี้

เรื่องธรรมชาติทั้งหลายน่ะ มันสอนพระสอนคนอยู่ในตัวของมันเต็มที่อยู่แล้ว ถ้าคนมีปัญญาแล้ว ก็เรียกว่าได้ความรู้จากสิ่งต่าง ๆ ของที่อยู่ในป่า จะเป็นก้อนดิน จะเป็นก้อนหิน จะเป็นต้นไม้ หรือจะเป็นเครือเถาวัลย์ เปรียบประหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมันพร้อมที่จะแนะนำพร่ำสอนเราอยู่เสมอ แต่ว่ามันก็รู้สึกแต่บุคคลที่มีปัญญา ถ้าคนไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร”





09 สมณธรรม


คติธรรมจากสัตว์ป่า


สัตว์ป่าที่วัดหนองป่าพงมีอยู่หลายชนิด เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต บ่าง ค้างคาว ตะกวด เต่า งู อีเห็น กระจง และนกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากการที่หลวงพ่อได้พยายามมาตั้งแต่แรกที่จะสงวนพันธุ์เอาไว้ โดยการขอร้องแกมห้ามปรามชาวบ้านที่จะมาล่าทำลายสัตว์ในบริเวณวัด ท่านให้เหตุผลอย่างนุ่มนวลว่า

“ลูกลานของโยมที่โตขึ้น เขาจะได้รู้จักสัตว์เหล่านี้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะอีกหน่อยจะหาดูที่อื่นได้ยาก”

และสำหรับพระเณรในวัด หลวงพ่อก็สอนให้เรียนรู้ธรรมะจากสัตว์ป่าเหล่านี้ด้วย ท่านเจ้าคุณมงคลกิตติธาดาได้เล่าคติธรรมที่ได้จากไก่ป่า ตามคำสอนของหลวงพ่อว่า

“ท่านบอกให้อยู่อย่างง่าย ๆ ในป่า และให้เอาของในป่าเป็นครูเป็นอาจารย์ อย่างไก่ป่าดูซิ กินมันก็กินไม่มาก นอนก็ระวังมีสติ ถ้าหากว่ามีอภัยอะไรมา มันก็จะรู้จักระวัง แม้แต่มีอาหารจะกินอยู่แล้ว ถ้าเห็นว่ามีภัย มันจะไม่กิน จะเอาตัวรอดก่อน และมันไม่ยึดในที่อยู่ ไม่ติดถิ่น จะอยู่เฉพาะในที่ที่มันเห็นว่าปลอดภัย เวลานอนก็แยกกันนอน ไม่สุมหัวกันเหมือนไก่บ้าน และตัวก็เปรียว ไก่บ้านเอามาปล่อยในนี้ หมากัดตายหมด เพราะมันกินจุตัวก็หนัก เซ่อ ไก่ป่านั่นมันเปรียว มันไว ฉะนั้นถ้าเราเอาไก่เป็นครูก็ดีเหมือนกันนะ”





09 สมณธรรม


การสอนนักธรรม


หลวงพ่อเป็นพระปฏิบัติที่ให้ความสำคัญแก่ปริยัติธรรมในฐานะเป็นของคู่กับการปฏิบัติ ดังที่ท่านเคยเปรียบเทียบว่า ปริยัตินั้นเหมือนแผนที่ หรือเหมือนฉลากยาข้างขวด คนที่ได้แผนที่ไว้ในมือแล้วแต่ไม่ยอมออกเดินทาง ก็ไมมีวันไปถึงจุดหมาย หรือคนไข้ที่ได้ยามาแล้ว มัวแต่อ่านฉลากข้างขวดไม่ลงมือรับประทานยา โรคก็ไม่หายสักที คนเรียนปริยัติแล้วไม่ปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ท่านได้เคยจัดสอนนักธรรมแก่พระวัดหนองป่าพงในครั้งแรกนั้น หลวงพ่อได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ปริยัติ ปฏิบัติไว้ดังนี้

“ปริยัติกับปฏิบัตินี้ เป็นของคู่กันมา ยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดจนบัดนี้ ก็เพราะการศึกษาแล้วก็รู้ รู้แล้วก็ปฏิบัติตามความรู้ของเรานั้น เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราเรียนปริยัติ อาศัยความประมาทเท่าที่ผมเคยสังเกตมาแล้วคือ สมัยหนึ่งผมอยู่ที่นี้ พระอยู่จำพรรษาประมาณ ๗ องค์ เป็นปีแรก ผมก็เลยมาคิดว่าเรื่องการเรียนปริยัติกับปฏิบัตินี้ ถ้าตั้งปริยัติขึ้นเมื่อไร เสื่อม ! โดยมากเป็นอย่างนี้ ทั้งการปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก มันเสื่อม โดยมากเป็นเสียอย่างนั้น เมื่อได้มาคำนึงถึงอันนี้ ผมอยากจะรู้เหตุข้อมูลว่า มันเป็นเพราะอะไร ก็เลยมาตั้งสอนพระเณร ในพรรานั้น ๗ องค์ สอนประมาณสัก ๔๐ วัน ฉันเสร็จแล้ว ก็สอนจน ๖ โมงเย็นทุกวัน ไปสอบสนามหลวงปรากฏว่าได้ผล ๗ องค์สอบได้หมดทุกองค์เลย อันนี้ดี แต่ว่ามันมีการบกพร่องอยู่อย่างหนึ่งกับบุคคลที่ไม่มีความระมัดระวัง การเรียนปริยัตินี้ต้องอาศัยการพูด อาศัยการท่องต่าง ๆ เป็นต้น บุคคลที่ไม่ค่อยสังวร ไม่ค่อยสำรวมนั้น ก็เลยทิ้งการปฏิบัติ มาท่องมาบ่น จดจำด้วยสัญญาเสียเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้พวกเราทั้งหลายนั้น ทิ้งบ้านเก่าเรา ทิ้งมูลเก่าเรา ทิ้งข้อปฏิบัติอันเก่าของเราไป โดยมากมันเป็นเช่นนี้

ทีนี้เมื่อเรียนจบแล้ว สอบสนามหลวงแล้ว ดูกิริยาพระเณรก็ต่างจากเก่า เดินจงกรมก็ไม่ค่อยมี นั่งสมาธิก็น้อย การคลุกคลีกันก็มากขึ้น ความสงบระงับมันน้อยลง ความเป็นจริงการปฏิบัตินะ เมื่อเดินจงกรมแล้วตั้งใจเดินจงกรม เมื่อนั่งสมาธิก็ตั้งอกตั้งใจทำ เมื่ออยู่ในอิริยาบถการเดิน การยืน การนั่ง การนอน เราก็พยายามสังวรสำรวม แต่เมื่อเรามาเรียนหนังสือแล้ว มันเป็นสัญญาเสียโดยมาก เลยเพลินไปตามปริยัติอันนั้น ลืมตัวเสีย ก็เล่นอารมณ์ภายนอก อันนี้มันก็เป็นแต่เฉพาะคนที่ไม่มีปัญญา บุคคลที่ไม่สังวรสำรวม บุคคลที่ไม่มีสติติดต่อกัน ก็เป็นเหตุให้เสียหายได้เหมือนกัน มันเป็นเพราะเหตุนั้น ที่เมื่อนักเรียนเรียนหนังสือ ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม การสังวรสำรวมมันก็น้อย เป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน การพูดเรื่อยเปื่อย ไม่สังวรสำรวม จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มากขึ้นมา หลายขึ้นมา อันนี้เป็นเหตุให้เสื่อม มันไม่ใช่เป็นเพราะปริยัติ มันเป็นเพราะบุคคลเราไม่ตั้งใจ ลืมเนื้อลืมตัวเสีย

ความจริงปริยัตินี้เป็นของชี้ช่องทางให้พวกเราประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น ถ้าหากเราไปเรียนแล้วลืมตัว การพูดมันก็มาก การเล่นมันก็มาก การเดินจงกรมทิ้งไปหมด แล้วก็มีความกระสันอยากจะสึก โดยมากเรียนไม่ได้ก็สึกกัน อันนี้เป็นเหตุ ไม่ใช่ว่าเพราะปริยัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพราะพวกเราทั้งหลายนั้น ขาดการพินิจพิจารณา ความเป็นจริงการปฏิบัตินั้น จะอ่านหนังสือ จะท่องหนังสือ จะทำอะไรมันก็เป็นกรรมฐานกันทั้งนั้น

ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ ในพรรษาที่ ๒ ผมเลยเลิกสอน เลิกการสอนปริยัติ อีกหลายปีต่อมามีกุลบุตรมากขึ้น บางคนก็ไม่รู้เรื่องพระธรรมวินัย สมมุติบัญญัติก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ขอครูบาอาจารย์ผุ้ที่ได้เรียนมาแล้วนั้นสอน”

ต่อมาหลวงพ่อให้เลิกการสอนแต่ให้ผู้สนใจเรียนด้วยตนเอง โดยท่านสนับสนุนจัดหาหนังสือและส่งรายชื่อเข้าสอบนักธรรมให้ แต่หลังจากสอบเสร็จ หลวงพ่อให้เก็บหนังสือแล้วหันมาอ่านใจแทน

“จบที่ตรงไหนรู้ไหม? หรือท่านจะเรียนอย่างนี้เรื่อยไปงั้นรึ หรือท่านมีที่จบ อันนั้นก็ดี แต่มันเป็นปริยัติข้างนอก ไม่ใช่ปริยัติข้างใน ปริยัติข้างในจะต้องเรียนตาของเรานี่ หูนี่ จมูกนี่ ลิ้นนี่ กายนี่ จิตนี่ อันนี้เป็นปริยัติที่แท้ อันนั้นปริยัติเป็นตัวหนังสืออยู่ข้างนอก เรียนจบได้ยาก ตาเห็นรูป มีอาการเกิดขึ้นอย่างไร หูฟังเสียง มีอาการเกิดขึ้นอย่างไร จมูกดมกลิ่น มีอาการเกิดขึ้นอย่างไร ลิ้นลิ้มรส มีอาการเกิดขึ้นอย่างไร โผฐฐัพพะกับกายกระทบกันนั้น มีอาการเกิดขึ้นอย่างไร อารมณ์ที่รู้ทางใจนั้น มันเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร ยังมีโลภไหมยังมีโกรธอยู่นั่นไหม ยังมีหลงอยู่นั่นไหม หลงกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เกิดขึ้นนั่นไหม อันนี้เป็นปริยัติข้างใน เรียนจบง่าย ๆ เรียนจบได้ ปริยัติข้างนอก เรียนจบไม่ได้หรอก นหลายตู้ ถ้าเราเรียนปริยัติ แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้รับผล เหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยได้กินน้ำนมโคฉันนั้น”








Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 17:43:42 น. 0 comments
Counter : 254 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.