รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 07 ศีลของสงฆ์ ตอนที่ 2



07 ศีลของสงฆ์


๒. ข้อวัตรปฏิบัติ




นอกเหนือจากสิกขาบท ๒๒๗ ข้อในพระปาฏิโมกข์แล้ว ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ก็มีอยู่ ๓ หมวดรวมเรียกว่า อภิสมาจาริกสิกขา ซึ่งประกอบด้วยทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต เป็นบทกำกับวิถีชีวิตของพระทุกแง่ทุกมุม ตั้งแต่เรื่องการรักษาความสะอาดของร่างกาย การแสดงความเคารพคารวะต่อกัน ตลอดถึงการบริโภคใช้สอยเครื่องบริขาร ศีลประเภทนี้หลวงพ่อพิถีพิถันมากโดยเฉพาะ กิจวัตร ๑๔ เป็นเรื่องที่ท่านเน้นเป็นพิเศษในการอบรมพระภิกษุสามเณร ข้อวัตรปฏิบัติทั้งสามหมวดนี้ได้แก่

- วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่างต่าง ๆ ที่สมณะควรปฏิบัติ
- จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทที่สมณะควรประพฤติ
- กิจวัตร ว่าด้วยกิจที่สมณะควรกระทำ

ข้อวัตรทั้ง ๓ ประเภทนี้ ล้วนแต่เป็นอุบายส่งเสริมการเจริญสติปัฏฐาน และช่วยให้พระภิกษุมีความละเอียดรอบคอบ และเอาใจใส่ในหน้าที่ของตน พร้อมกับสร้างเสริมความสามัคคีและความดีงามของหมู่สงฆ์

การใช้สอยบริขาร
ข้อกติกาสงฆ์
กิจวัตรในชีวิตประจำวัน
โอวาท – หลังอุโบสถ
การประพฤติอย่างสมณะ
กิจวัตร ๑๔





๒. ข้อวัตรปฏิบัติ


การใช้สอยบริขาร




บริขาร-เครื่องประดับของขันธ์



ผ้าไตรจีวรและบาตร เป็นบริขารหลักของพระภิกษุ เป็นเอกลักษณ์ของนักบวชในพระพุทธศาสนา พระท่านไปที่ไหนต้องไม่ขาดจากสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นข้อวัตรที่เกี่ยวข้องกับผ้าไตรและบาตรจึงมีมาก จุดประสงค์ก็เพื่อให้พระใช้สอยด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ และไม่ประมาทประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อให้การใช้สอยบริขารนั้นกลายเป็นส่วนประกอบในการฝึกสติ รายละเอียดของข้อวัตรที่กำกับการใช้สอยจีวรและบาตรมีตัวอย่างดังนี้
จีวร
บาตร...
การเบิกของ


บริขาร-เครื่องประดับของขันธ์/font>
จีวร

หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหา ให้รู้จักตัดเย็บย้อมผ้าด้วยตนเอง ตามพระวินัยบัญญัติที่มีมาแต่โบราณ ท่านไม่ต้องการให้พระใช้ไตรจีวรสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด เพราะเห็นเป็นการทำลายข้อวัตร และส่งเสริมความประมาทมักง่าย ไม่ช่วยให้เกิดสมณสัญญา หรือซาบซึ้งในความศักดิ์สิทธิ์ของผ้ากาสาวพัสตร์

การตัดผ้าก็ตรงตามตำราคือแบบคันนาของชาวมคธ เป็นกระทงมีเส้นคั่นระหว่างดุจคันนาขวางเรียกว่า ขัณฑ์ ผ้าสบงนิยมใช้ ๕ ขันฑ์ ถ้าเป็นจีวรหรือสังฆาฏิ นิยมใช้ ๗ หรือ ๙ ขันฑ์แล้วแต่ขนาดของผ้า เมื่อวัดผ้าได้ขนาดแล้วก็นำมาเย็บล้มตะเข็บ ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิจะใช้ผ้า ๒ ผืนประกบโดยซ่อนตะเข็บไว้ใน เสร็จเรียบร้อยก็นำไปย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนที่เคี่ยวเข้มข้น จากนั้นก็นำผ้าผืนใหม่ที่ตนทำเสร็จนั้นมาให้ครูบาอาจารย์พิจารณา เมื่อท่านเห็นว่าใช้ได้แล้วจึงขอจากสงฆ์เพื่อนำไป พินทุ อธิษฐาน ใช้ต่อไป โดยต้องถอนอธิษฐานสละผ้าผืนเก่าด้วย เพราะใช้ไตรจีวรได้เพียงสำรับเดียว

การรักษาผ้าจีวรที่ย้อมด้วยแก่นขนุนนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ต้องซักด้วยน้ำแก่นขนุนต้มเดือดเท่านั้น ถ้าใช้ผงซักฟอกสีจะหลุดออกหมดและจะมีกลิ่นเหม็นด้วย เวลาตากแดดต้องพลิกกลับไปมาเป็นระยะ มิฉะนั้นจะปรากฏรอยเส้นเชือกที่ผ้า เมื่อผ้าแห้งพอหมาด ๆ ก็นำเข้าตากในที่ร่มต่อ ไม่ทิ้งผ้าไว้กลางแดด ตามพระวินัยนั้นบัญญัติว่าตั้งแต่ก่อนอรุณสว่าง ต้องนำผ้าไตรจีวรติดตัวให้ครบสำรับอยู่เสมอ แม้ว่ากำลังทำกิจอะไรอยู่ก็ตาม เช่นถ้าต้องปัดกวาดเช็ดถูเสนาสนะ ท่านมักพาดไตรจีวรไว้บนบ่า แล้วเอาเชือกมัดไว้กับอก การปล่อยปละละเลยวางผ้าทิ้งไว้ห่างจากตัวเป็นอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ข้อวัตรข้อหนึ่งที่พระส่วนมากปฏิบัติด้วยความจำใจมากกว่าความพอใจ โดยเฉพาะในหน้าแล้งก็คือ ข้อที่เกี่ยวกับการครองผ้าออกบิณฑบาตซึ่งกำกับว่าพระต้องห่มจีวรซ้อนด้วยสังฆาฏิ (เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น ฝนตก) ขากลับจากหมู่บ้าน บาตรก็หนักด้วยข้าวเหนียว แสงแดดก็เริ่มร้อน กว่าจะกลับถึงวัดผ้าไตรก็โชกด้วยเหงื่อ เป็นการฝึกความอดทนที่ทรหดพอสมควร

หลวงพ่อเคยเตือนไม่ให้ละเลยกิจวัตรข้อนี้ว่า

“ไปบิณฑบาตน่ะให้ห่มผ้าซ้อนสังฆาฏิอย่าห่มแต่จีวรผืนเดียว เว้นแต่จำเป็น อันนี้เป็นกิจวัตรของเรา อย่าไปคิดว่ามันน้อย ๆ เห็นมะม่วงไหม ลูกมันน้อย ๆ แต่ต่อไปมันจะเป็นหน่วยใหญ่ กว่าจะใหญ่มันก็มาแต่น้อย ๆ เมื่อมันติดนิสัยแล้วเสียหาย”

การรักษาผ้าต้องละเอียดและรอบคอบ เช่น ผ้าเป็นรูแม้ขนาดเพียงเมล็ดข้าวสารลอดได้ก็ต้องรีบปะทันที ปล่อยไว้ค้างคืนต้องอาบัติ

ผ้าไตรจีวรแต่ละผืนแต่ละสำรับต้องใช้จนเก่าคร่ำคร่า ปะแล้วปะอีก จึงจะได้รับอนุญาตให้ตัดใหม่ได้ หลวงพ่อพยายามอนุรักษ์แบบอย่างการทำผ้าไตรจีวร ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลไว้ ช่วยให้พระเณรเกิดความภาคภูมิใจในฝีมือของตนเอง ทำให้ใช้สอยห่มคลุมด้วยความทะนุถนอม สมกับศรัทธาของทายกทายิกาที่น้อมนำผ้ามาถวาย

สำหรับผ้านิสีทนะ คือผ้าปูนั่ง หลวงพ่อก็ให้พระเณรถือการใช้ผ้านิสีทนะ ปูรองพื้นนั่งเป็นประจำในการทำวัตรสวดมนต์ฉันอาหาร ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ หรือมีกิจนิมนต์ไปฉันหรือไปสวดมนต์นอกวัดก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาจีวรมิให้เปรอะเปื้อนหรือครูดสีกับพื้น อันจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง





บริขาร-เครื่องประดับของขันธ์


บาตร...




พระวินัยท่านได้วางสิกขาบทเกี่ยวกับการรักษาบาตรไว้อย่างกวดขัน เพราะในสมัยพุทธกาล บาตรทำด้วยดินเผา ถ้าประเภทเลินเล่อในการรักษาย่อมแตกได้ง่าย แต่ทุกวันนี้วัตถุเจริญมากขึ้นจึงได้เปลี่ยนมาใช้บาตรสเตนเลส แต่ก็ยังคงรักษาธรรมเนียมการระวังรักษาบาตรอยู่เช่นเดิม เพื่อประโยชน์ในการเจริญสติ

หลวงพ่อสอนพระภิกษุสามเณรให้ถือบาตรเป็นเสมือนเศียรของพระพุทธเจ้า ก่อนจะวางหรือเก็บบาตรลงที่ใด ก็ให้พิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน ไม่วางในที่ ๆ จะเป็นอันตรายแก่บาตร เช่น บนพื้นแข็ง หรือที่ ๆ บาตรจะตกลงมาได้ง่าย สมัยก่อนบาตรที่ใช้ทำด้วยเหล็กที่บ่มด้วยไฟ หลวงพ่อจึงไม่ให้ล้างบาตรด้วยผงซักฟอก เพราะจทำให้เกิดสนิม ต้องใช้ใบไม้ เช่น ใบตะไคร้ หรือใบแต้ว เป็นต้น มาขัดถูแทน เมื่อล้างเสร็จก็เช็ดให้แห้งแล้วนำออกผึ่งแดดสักครู่ จึงใส่ถลกก่อนนำไปเก็บ เวลาเก็บต้องเผยอฝาไว้เล็กน้อยให้อากาศถ่ายเท จะได้ไม่เกิดกลิ่นเหม็นอับ

มีเหตุการณ์อันหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ชอบเล่าให้ศิษย์ฟังในระหว่างการสอนวิธีการรักษาบาตร ครั้งหนึ่งพระที่วัดหนองป่าพงรูปหนึ่งเอาผ้าสรงน้ำใส่ไว้ในบาตร เมื่อกลับถึงกุฏิเอาบาตรไปเก็บก็เปิดฝาบาตรออกเพื่อให้อากาศถ่ายเทแต่เปิดกว้างเกินไป ตกกลางคืนหนูเข้าไปในบาตรก็เลยได้ที่นอนนุ่มสบาย รุ่งเช้าพระรูปนั้นบังเอิญตื่นสาย ได้เวลาบิณฑบาตก็รีบออกไปโดยไม่ได้แวะจัดบาตรที่โรงฉัน ไปถึงหมู่บ้านเมื่อเปิดฝาบาตรเพื่อรับอาหาร หนูกระโดผลุงออกมาทำให้แม่ออก (โยมผู้หญิง) ตกใจ ร้องวี้ดว้ายไปตาม ๆ กัน จนเขาใส่บาตรไปหลายคนแล้ว ท่านเจ้าของบาตร จึงเพิ่งสังเกตว่า ผ้าสรงน้ำยังอยู่ที่ก้นบาตร

หลวงพ่อเคยให้โอวาทแก่พระเณรตอนหนึ่งว่า

“การล้างบาตรหรือเช็ดบาตรอย่ามักง่าย มีดที่ใช้สำหรับตัดอาหารก็เช่นกันต้องล้างให้สะอาด มิฉะนั้นแล้ว ตอนบ่ายถ้าเราเอาไปผ่าสมอ ผ่ามะขามป้อมเพื่อฉัน อย่างนี้ก็เป็นอาบัติได้เหมือนกัน เพราะมีคราบคาวอาหารติดอยู่ นี่คือความละเอียดสุขุมมาก ไม่ใช่ของง่ายนัก บาตรก็ดี กาน้ำก็ดี แก้วน้ำก็ดี ถ้าไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ต้องใช้ผู้อื่นให้ทำความสะอาดแทน เพราะอาจเกิดการแตกร้าวเสียหายได้ง่าย เราต้องทำเอง ทำให้ละเอียด สิ่งใดที่เป็นความสงสัยในจิตใจของเรา นั่นไม่ดี อาจเป็นความผิดได้ เราต้องเรียนถาม”

บริขารอย่างอื่น เช่น กลดและขาบาตรหลวงพ่อให้พระเณรรู้จักทำเอง โดยพระที่ชำนาญสาธิตให้ผู้ฝึกทำใหม่ งานตัด เหลาชานไม้ไผ่ หรือ หวาย ซึ่งเป็นวัตถุดิบอันสำคัญ ต้องใช้ความตั้งใจ และความอดทนมาก เป็นงานละเอียดที่ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ หลวงพ่อแนะนำพระเณรให้ใช้การทำบริขารหรือเหลาไม้สีฟัน เป็นอุบายแก้ง่วงในช่วงกลางวัน แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็เตือนไม่ให้การทำขาบาตรเป็นเหตุของการคลุกคลีพูดคุยกัน และให้ศิษย์ระวังไม่ให้เกิดความโลภ ยึดมั่นถือมั่นในบริขารที่สวยงาม





บริขาร-เครื่องประดับของขันธ์


การเบิกของ


เอกลาภเงินทองหรือข้าวของเครื่องใช้ ที่ญาติโยมมีศรัทธาน้อมนำมาถวายนั้น ตามกติกาสงฆ์ ท่านให้เป็นของส่วนรวมทั้งหมด พระเณรรูปใดมีความจำเป็นใช้ ก็ไปขอเบิกกับพระผู้มีหน้าที่รักษาคลังสงฆ์ หลักการนี้หลวงพ่อได้วางไว้ เพื่อให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรมในการใช้สอยของสงฆ์ ห้ามสั่งสมบริขาร หรือใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย ท่านสอนศิษย์ให้เป็นผู้รู้ประมาณในการขอและรู้จักกาลเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะยังมีวัดสาขาที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร อีกหลายแห่งที่ขาดแคลนปัจจัย ๔ เครื่องอุปโภคบริโภค วัดหนองป่าพงซึ่งเป็นเสมือนวัดแม่ ก็ต้องมีหน้าที่นำไปจุนเจือตามมีตามได้

พระเถระรูปหนึ่งได้เล่าเรื่องการเบิกจ่ายของจากคลังสงฆ์ให้ฟังว่า

“เกี่ยวกับปัจจัย ๔ นี้ สมัยที่ผมอยู่กับหลวงพ่อที่ผมเห็น ก็ไม่มีอะไรขัดสน แต่การจ่ายบริขารรู้สึกจะเคร่งครัดมาก การจ่ายผ้าจีวรอย่างนี้ ถ้าไม่เก่าหรือขาดจริง ๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยน ถึงแม้จะเก่าขาดบ้าง บางทีก็ต้องใช้อยู่อย่างนั้น โดยเฉพาะพระเณรบวชใหม่ หรือพระอาคันตุกะ ท่านจะเน้นฝึกให้รู้จักประมาณในเรื่องการขอสิ่งของ ถ้าเป็นพระเก่าอยู่มานานเข้าใจข้อวัตรปฏิบัติพอสมควรแล้ว ก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดเท่าใด โดยส่วนตัวของหลวงพ่อเองท่านก็เป็นคนธรรมดาอย่างที่สุด ผ้าก็มีเท่ากัน อยู่กุฏิก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แม้จะมีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ ๆ ท่านก็ไม่เคยออกปากขอสิ่งใดมาเพื่อตน มีแต่จะนำมาจุนเจือหมู่คณะเท่านั้น”

การเข้มงวดในเรื่องการเบิกจ่ายสิ่งของนี้ หลวงพ่อถือเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการสอนธรรมะ ให้ศิษย์รู้จักพิจารณาดูจิตใจของตนเมื่อได้ตามปรารถนา พระอาจารย์เลี่ยมได้เล่าปฏิปทาของหลวงพ่อในเรื่องนี้ว่า

“อย่างเช่นบาตรนี้ ถ้าใครอยากได้ลูกสวย ๆ ท่านจะไปเปลี่ยนเอาลูกขี้เหร่มาให้ มันไม่สวยท่านว่าอย่างนั้น อะไรล่ะที่ไม่สวย ก็ความอยากที่เราแสดงออกมานั่นแหละ”

เรื่องการใช้สอยปัจจัย ๔ นี้ หลวงพ่อได้ให้ข้อคิดเอาไว้ว่า

“พวกเราภิกษุสามเณร ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัว คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นละก็ ผมว่าเรานี้มันโง่กว่าโยมเขา มันเลวกว่าฆราวาสเขา พวกฆราวาสเขาหาเงินทองมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของเขา หามาด้วยความยากลำบาก เขายังสามารถเสียสละทรัพย์สมบัติของเขาไปซื้ออาหารการขบฉันเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ มาถวายพระได้ พระเรานี่ได้ข้าวของมาโดยไม่ต้องออกแรงอะไร และได้มาฟรี ๆ เสียด้วย เมื่อได้มาแล้วก็ไม่อยากจะแบ่งเพื่อน เอาคนเดียว กินคนเดียว ใช้คนเดียว อย่างนี้คิดดูแล้วมันน่าละอายโยมเขาเหลือเกิน ถ้าคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผมว่ามันโง่กว่าโยมเขา สู้โยมเขาไม่ได้”










๒. ข้อวัตรปฏิบัติ


ข้อกติกาสงฆ์


วัดหนองป่าพงและสำนักสาขา ได้กำหนดกติกาสงฆ์ไว้ดังนี้...

๑. พระเณร ห้ามขอของจากคนไม่ใช่ญาติ ไม่ช่ปวารณา และห้ามติดต่อกับคฤหัสถ์และนักบวชอันเป็นวิสภาคกับพระพุทธศาสนา
๒. ห้ามบอกและเรียนเดรัจฉานวิชา บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู และวัตถุมงคล
๓. พระผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ห้ามเที่ยวไปแต่ลำพังตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือมีอาจารย์ผู้สมควรติดตามไปด้วย
๔. เมื่อจะทำอะไรให้ปรึกษาสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์เสียก่อน เมื่อเห็นว่าเป็นธรรมเป็นวินัยแล้วจึงทำ อย่าทำตามอำนาจของตนเอง
๕. ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงฆ์จัดไว้ และทำความสะอาดเก็บกวาดกุฏิ และถนนเข้าออกให้สะดวก
๖. เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะคือผู้มีมายาสาไถย หลีกเลี่ยง
๗. เมื่อฉันบิณฑบาต เก็บบาตร กวาดลานวัด ตักน้ำ จัดโรงฉัน ย้อมผ้า ฟังเทศน์เหล่านี้ ห้ามมิให้คุยกัน พึงตั้งใจทำกิจนั้นจริง ๆ
๘. เมื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน จึงนำบริขารของตนกลับกุฏิโดยความสงบ
๙. ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง จงเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยคามเพียร และจงช่วยกันพยาบาลภิกษุสามเณรไข้ด้วยเมตตา
๑๐. ห้ามรับเงินและทอง และห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน
๑๑. เมื่อลาภเกิดขึ้นในสงฆ์หมู่นี้ ให้เก็บไว้เป็นของกลาง เมื่อท่านองค์ใดต้องการ ให้สงฆ์อนุมัติให้แก่ท่านองค์นั้นโดยสมควร
๑๒. ห้ามคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืนในที่ทั่วไป หรือในกุฏิ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ถึงกระนั้นก็อย่าเป็นผู้คลุกคลีหรือเอิกเกริกเฮฮา
๑๓. การรับและส่งจดหมายเอกสาร หรือวัตถุต่าง ๆ ภายนอก ต้องแจ้งต่อสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์รับทราบทุกคราวไป เมื่อสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์เห็นสมควรจึงรับและส่งได้
๑๔. พระเณรผู้มุ่งจะเข้ามาปฏิบัติในสำนักนี้ เบื้องต้นต้องได้รับใบฝากจากผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน และย้ายสุทธิมาให้ถูกต้องเสียก่อนจึงได้
๑๕. พระเณรที่เป็นอาคันตุกะมาพักอาศัย ต้องนำหนังสือสุทธิแจ้งต่อสงฆ์ผู้เป็นประธานสงฆ์ในคืนแรก และมีกำหนดให้พักได้ไม่เกิน ๓ คืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

*** ข้อกติกาสงฆ์เหล่านี้ เมื่อผู้ใดฝ่าฝืน สงฆ์มีอำนาจบริหารได้เต็มที่ ***

ประกาศ ณ วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๐
พระอาจารย์ชา สุภทฺโท
ประธานสงฆ์






Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 20:09:02 น. 0 comments
Counter : 1336 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.