รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 07 ศีลของสงฆ์ ตอนที่ 4




07 ศีลของสงฆ์


๓. ธุดงควัตร



คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า ธุดงค์ คือการจาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรของพระกรรมฐาน แท้ที่จริงแล้ว คำว่าธุดงค์นั้นหมายถึง องค์คุณเครื่องขจัดกิเลสและธุดงควัตร ซึ่งมี ๑๓ ประการด้วยกัน เป็นข้อประพฤติพิเศษที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้แก่พระสงฆ์ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ

ฉะนั้นแม้พระที่อยู่ในวัดกลางเมืองก็เป็นพระธุดงค์ได้ถ้าปฏิบัติธุดงควัตร และในขณะเดียวกัน พระที่เพียงเดินทาง ทะลุดง โดยไม่ปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสก็ไม่สมชื่อพระธุดงค์เลย

ธุดงควัตรไม่ใช่ข้อบังคับตามพระวินัยบัญญัติ แต่หลวงพ่อได้กำหนดบางข้อไว้ในกฏระเบียบประจำสำนัก ซึ่งพระภิกษุเณรทุกรูปต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หลวงพ่อได้อธิบายความสำคัญของธุดงควัตรในการอบรมครั้งหนึ่งว่า

“ธุดงควัตรทั้งหลายล้วนเป็นเครื่องช่วยเราให้ทำลายกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นวิธีการที่ทำให้การปฏิบัติของเราเป็นไปอย่างเรียบง่าย พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติธุดงควัตรไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่สำหรับพระภิกษุผู้ประสงค์จะปฏิบัติอย่างเข้มงวด ธุดงควัตรจะเพิ่มความเคร่งครัดในการรักษาศีล

บางทีเอาศีลเอาสมาธิมันไม่พอนะ ฆ่ากิเลสไม่ได้ ฆ่าไม่เป็น ต้องเอาธุดงควัตรเข้าช่วย ธุดงควัตรนี้เป็นของสำคัญ เป็นเครื่องขูดเกลา มันช่วยตัดหลายอย่าง ลองไปอยู่ป่าช้า นั่นมันจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นเหมือนอยู่กับหมู่กับพวกหรือเปล่า มันมีประโยชน์อย่างนี้ นั่นแหละ ธุดงควัตร

ธุดงควัตรเหล่านี้ เป็นข้อวัตรที่ทำได้ยาก เพราะเป็นข้อวัตรของพระอริยเจ้า เป็นข้อวัตรหรือข้อปฏิบัติของบุคคลเพื่อเป็นพระอริยเจ้านั่นเอง การเดินก็อย่างหนึ่ง กรธุดงค์ก็อย่างหนึ่ง การเดินนี้ก็เรียกว่าก้าวไปหรือถอยกลับ เป็นเรื่องอวัยวะเคลื่อนไหว

แต่ที่เรียกว่า ธุตงฺค นั้นก็คือข้อปฏิบัติเป็นข้อ ๆ รวมย่อมาแล้วก็มี ๑๓ ข้อ เรียกว่าธุดงค์ คือข้อปฏิบัติอันนี้ชื่อว่าธุดงค์ ทำไมถึงว่าชื่ออย่างนี้ จะฉันมื้อเดียวก็ยาก จะฉันในบาตรก็ยาก จะอยู่ป่าช้าก็ยาก จะอยู่กลางแจ้งก็ยาก จะเนสัชชิกก็ยาก ทุกอย่างหมดนั่นแหละ จะถือผ้า ๓ ผืนก็ยาก แต่ละสิ่ง ๆ นี้ เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์ ไม่ใช่ว่าการเดินนั่นเป็นธุดงค์ ไม่ใช่การนั่งภาวเป็นธุดงค์ การปฏิบัตินั่นเองเป็นธุดงค์

ธุดงค์อันนี้เป็นข้าศึกกับกิเลสทั้งหลาย ท่านจึงเรียกว่าเป็น ธุตงฺค ถ้าใครปฏิบัติแล้วต้องฝือนกิเลสหรือฝืนความรู้สึกของผุ้มีกิเลส ข้าวที่เราได้กินในวันนี้ การฉันมื้อเดียวนี้ มันก็ฝืนกับความรู้สึกของตนแล้ว การอยู่โคนไม้มันก็ฝืนกับความรู้สึกของตนแล้ว การอยู่ในป่าก็ฝืนความรู้สึกของตนแล้ว

การเที่ยวบิณฑบาต การฉันในบาตร การฉันมื้อเดียว การถือผ้าสามผืน ทั้งหลายเหล่านี้ การอยู่ป่า การอยู่ป่าช้า การอยู่กลางแจ้ง การถือเนสัชชิกไม่แน่นอน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีแต่เครื่องมือที่จะทำลายกิเลสทั้งนั้น
เมื่อพระโยคาวรเจ้าทั้งหลายยังมีกิเลสอยู่ สมาทานธุดงค์เข้าไปแล้วจึงเดือดร้อน ปฏิบัติให้มันเดือดร้อนนั่นแหละ พระพุทธเจ้าบอกถูกแล้ว ถ้าปฏิบัติสบาย ๆ เยือกเย็นนั้นไม่ถูก เพราะว่ามันไม่ขัดกัน ไม่ได้แบ่งแย่งกัน ข้อประพฤติปฏิบัติอันนี้มันตรงกันข้ามกับจิตของปุถุชนเรา

เมื่อเราสมาทานธุดงค์เข้ามันจะเกิดทุกข์ เพราะว่ามันจะขัดแย้งกันกับความคิดความเห็นของปุถุชน เมื่อผู้ไม่มีปัญญาปฏิบัติแล้วก็ทนทานไม่ได้ ว่าการปฏิบัติทุกวันนี้ฉันไม่เอาแล้ว เพราะฉันจะปฏิบัติหาความสุขความสงบ จะมาปฏิบัติให้มีความทุกข์เกิดขึ้นเช่นนี้ ฉันไม่เห็นด้วย

การฉันในบาตรไม่เห็นด้วย เที่ยวบิณฑบาตมาฉันก็ไม่เห็นด้วย อยู่ป่าก็ไม่เห็นด้วย อยู่โคนไม้ก็ไม่เห็นด้วย การฉันมื้อเดียวก็ไม่เห็นด้วย อยู่ป่าช้าก็ไม่เห็นด้วย อยู่กลางแจ้งก็ไม่เห็นด้วย อยู่เนสัชชิกการไม่นอนเป็นวัตรเป็นบางครั้งก็ไม่เห็นด้วย เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มีแต่สิ่งที่ทำได้ยากทั้งนั้น

ดังนั้นชื่อของข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ท่านจึงตั้งชื่อว่า เป็นธุดงค์ คือเป็นข้อวัตรอันบุคคลกระทำได้โดยยาก บุคคลผู้จะมีปัญญา บุคคลผู้ที่มีปัญญา บุคคลผู้มีศรัทธาจริง ๆ แล้ว จึงจะตั้งใจปฏิบัติเจริญข้อวัตรนี้ได้
ธุดงควัตร ๑๓ ประการนี้ เมื่อจิตของพระโยคาวรเจ้าลงสู่ธรรมะนี้แล้ว เป็นของสบายมาก เป็นข้อวัตรมีความสงบมาก เป็นข้อวัตรที่อยู่เยือกเย็นมาก

เมื่อถึงเช่นนี้แล้ว เหมือนลิงกับมนุษย์ มนุษย์เราเมื่อเดินไปในป่าแล้วมันยุ่งเหลือเกิน เกะกะระรานความสงบทั้งนั้นแหละ ถ้าเอาลิงไปปล่อยในป่าแล้วมันสะดวกมันก็เพลิน เพราะมันชอบอย่างนั้น เพราะมันเคยอยู่อย่างนั้น มันเคยชินอย่างนั้น มันเคยอยู่ในสภาพเช่นนั้น มันเลยสบาย

ปุถุชนคนหนานี้ เคยอยู่ในสภาพที่มีความสบาย ๆ กินสบาย นอนสบาย นั่งสบาย พูดสบาย ทุกอย่างมันสบายแล้ว อันนั้นเรียกว่าสบายแล้ว เมื่อไปพบเสนาสนะเช่นนั้น เมื่อไปทำเช่นนั้น ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาเลยทีเดียว

เมื่อมันเกิดทุกข์ขึ้นมาแล้ว คือทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า นั่นแหละธรรมะ นี่แหละผล ทำไมจึงเห็นผลก่อน เพราะเราไม่รู้เหตุ มีทุกข์เกิดขึ้นมาเลย ทุกข์เกิดขึ้นมานี้แหละคือ อริยสัจแล้ว ทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วนี่เรียกว่าเป็นผล ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมา ความฟุ้งซ่านรำคาญเกิดแต่ความไม่ชอบเป็นทุกข์ นี้เรียกว่าปฏิบัติแล้วเห็นผลเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเห็นผลแล้ว ทุกข์นี้คือผล เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติเห็นผลนั้นจะต้องตามไปถึงว่ามันเกิดมาจากอะไร ที่ไหน มันถึงมีก้อนทุกข์เกิดขึ้นมานั้น”





ธุดงควัตร ๑๓ แบ่งเป็น ๔ หมวด ดังนี้

หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับจีวร

๑. ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล
๒. ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน

หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับบิณฑบาต

๓. เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ
๔. บิณฑบาตตามลำดับแถว
๕. นั่งฉัน ณ อาสนะเดียว
๖. ฉันเฉพาะในบาตร
๗. ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม

หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับเสนาสนะ

๘. ถืออยู่ป่า
๙. ถืออยู่โคนไม้
๑๐. ถืออยู่กลางแจ้ง
๑๑. ถืออยู่ป่าช้า
๑๒. ถืออยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้

หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับการประกอบความเพียร

๑๓. งดการนอน อยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง


หลวงพ่อได้นำธุดงควัตรมาเป็นหลักในการปฏิบัติขัดเกลากิเลส ทั้งในส่วนตัวท่านเองและในส่วนของการฝึกหัดพระเณรในวัดหนองป่าพง ดังนี้
ผ้าบังสุกุล
บิณฑบาต (ธุดงควัตร)
ฉันจังหัน
ฉันตกบาตร
อยู่รุกขมูล
ไม่ยึดมั่นในที่อยู่
การอดนอน
มูควัตร





๓. ธุดงควัตร


ผ้าบังสุกุล



หลวงพ่อเคยผ่านยุคสมัยที่เครื่องนุ่งห่มยังขาดแคลนขัดเขินอยู่มาก ผ้าที่จะนำมาทำจีวรก็ต้องไปบังสุกุลเอากับซากศพตามป่าช้าแล้วนำมาเย็บด้วยฝ้ายจูงผี คือฝ้ายที่เขาฟั่นเป็นเชือกผูกหน้าเกวียนจูงศพไปป่าช้า การใช้จีวรที่ทำจากผ้าบังสุกุลนี้มีอานิสงส์มาก ซึ่งหลวงพ่อได้เล่าให้ฟังดังนี้

“บริขารต้องทำเองทั้งหมด ถึงแม้จะไม่สวยงามเราก็ภูมิใจ เพราะได้มาจากฝีมือเราเอง ได้มาจากการงานของเรา อย่างเช่นการเย็บจีวรก็ใช้เข็มเย็บด้วยมือ กว่าจะเสร็จแต่ละตัวหัวแม่มือปวดบวมไปหมด ด้ายก็ไม่มี มีแต่เฝ้ายจูงผีก็ไปบังสุกุลเอาตามป่าช้า แล้วนำไปฟั่นเป็นด้ายสำหรับเย็บจีวร ทั้งทน ทั้งหนา ทั้งหนักด้วย ส่วนมากจะใช้ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ห่อศพที่เขาทิ้งตามป่าช้า มีทั้งคราบเลือด คราบน้ำเหลืองเหม็นคลุ้งคาวไปหมด ต้องนำมาซักให้สะอาด แล้วลวกน้ำร้อนตากแดดให้แห้ง นำมาย้อมกับแก่นขนุน เวลาเอามานุ่งรู้สึกว่ามีอานิสงส์มาก คือ เกิดอาการขนลุกขนพองซาบซ่านไปหมดทั้งตัว รู้สึกหวาดสะดุ้งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขยันทำความเพียร ขยันเดินจงกรมทำสมาธิตลอดคืน ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่อยากจะหลับจะนอนเลยเพราะกลัว ตื่นเต้น หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ธุดงค์แบบนี้เป็นประโยชน์ มันขูดเกลากิเลสอย่างนี้”





๓. ธุดงควัตร


บิณฑบาต (ธุดงควัตร)



มีคำพูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่เข้าใจกันดีในหมู่พระกรรมฐานว่า “ไม่บิณฑ์ ไม่กิน” ซึ่งหมายถึงว่าถ้าพระหรือสามเณรรูปใดขาดการออกบิณฑบาต จะด้วยตื่นสายหรือขี้เกียจไปก็ตาม วันนั้นก็ต้องอดอาหารไปตามธรรมเนียมของการปฏิบัติตามธุดงควัตรข้อที่ว่า ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เว้นไว้แต่อาพาธหนักจริง ๆ เท่านั้น
สมัยก่อนหลวงพ่อออกบิณฑบาตบ้านกลางเป็นประจำ ต่อมาเมื่อสังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวยต้องถือไม้เท้าช่วงพยุง เดินไปไหนมาไหนไกลมากไม่ได้ ท่านก็ยังมีอุตสาหะไปบิณฑบาตในเขตสำนักชีจนกระทั่งไปไม่ไหวจริง ๆ ท่านก็เลิก คราวที่ท่านได้รับนิมนต์ไปต่างประเทศที่ไม่ใช่เมืองพุทธ ท่านก็ยังออกบิณฑบาตเป็นประจำโดยให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่ไปเอาข้าว ไปเอาคน”

การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรที่สำคัญ และมีความหมายสำหรับชาวพุทธ ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพราะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระกับชาวบ้าน ซึ่งต้องเอื้ออาศัยกันและกันในการจรรโลงพระศาสนาให้ยั่งยืน สำหรับชาวบ้าน ผู้ไม่มีเวลาไปวัดก็ยังได้เห็นพระ ได้มีโอกาสทำบุญ ชาวบ้านตื่นแต่เช้า หุงข้าวประกอบอาหารแล้ว สิ่งแรกที่เขาจะทำในวันนั้นคือ การใส่บาตร เป็นการสืบประเพณีอันงดงามของชาวพุทธ และเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยใจที่สดชื่นเบิกบาน นอกจากนั้นการใส่บาตรก็ยังเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ในครอบครัว จะปลูกฝังศรัทธาและอุปนิสัยที่นอบน้อมเคารพคารวะต่อสมณะในจิตใจของลูกหลานอีกโอกาสหนึ่งด้วย

ส่วนของพระสงฆ์ การบิณฑบาตเตือนสติให้พระภิกษุสามเณรได้รำลึกถึงบทพิจารณาเตือนตนเองข้อที่ว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาโดยแจ่มชัดอยู่เนืองนิจว่า การเลี้ยงชีวิตของเรา เนื่องเฉพาะแล้วด้วยผู้อื่น” ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันความประมาทในการฉันอาหาร เพราะสำนักว่าข้าวทุกเม็ดได้มาด้วยหยาดเหงื่อของชาวบ้าน อีกประการหนึ่ง การไปบิณฑบาตก็เป็นโอกาสให้พระภิกษุสามเณร ได้ฝึกทดสอบตนเองในการสังวรสำรวมอินทรีย์ เมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนตลอดเส้นทางการบิณฑบาต นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความอดทน เพราะต้องเดินไกล อย่างน้อย ๓-๔ กิโลเมตรทุกวัน ขากลับบาตรก็หนักด้วย ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไรก็ต้องไป และการที่หลวงพ่อปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติในเรื่องการนุ่งห่ม คือถ้าฝนไม่ตกหรือไม่มีทีท่าว่าจะตก เมื่ออกบิณฑบาตต้องห่มผ้า ๒ ชั้น คือผ้าจีวรซ้อนด้วยสังฆาฏิ ก็ยิ่งเป็นเหตุให้พระต้องอดทนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในฤดูร้อน กว่าจะกลับถึงวัดผ้าจะเปียกเหงื่อชุ่มโชกทีเดียว ฉะนั้นท่านจึงเรียกการออกบิณฑบาตว่าเป็นสัมมาอาชีพของสมณะ มิใช่การขอ หากเป็นการโปรดสัตว์





๓. ธุดงควัตร


ฉันจังหัน



ที่วัดหนองป่าพง เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว อาหารทั้งหมดที่มีในบาตรก็ถูกถ่ายลงกะละมัง เหลือไว้เฉพาะข้าวเหนียวครึ่งก้อนซึ่งพอแก่ความต้องการ จากนั้นสามเณรหรือปะขาวก็นำกะละมังไปที่โรงครัว เพื่อให้แม่ชีและญาติโยมจัดใส่ภาชนะให้เรียบร้อย แล้วจึงนำมาถวายให้พระภัตตุเทศก์เป็นผู้แจกสงฆ์อีกทีหนึ่ง พระภัตตุเทศก์ก็ตักอาหารทั้งคาวและหวานใส่รวมลงในบาตร และต้องพยายามเฉลี่ยอาหารแต่ละชนิดให้ทุกรูปได้รับทั่วถึงกัน และพระก็ฉันเฉพาะแต่ในบาตรเท่านั้น ไม่ใช่ภาชนะอื่นอีก นี่ก็เป็นธุดงควัตรอีกข้อหนึ่ง

การแจกอาหารโดยวิธีนี้ ช่วยขัดเกลากิเลสในเรื่องการขบฉันได้ดีทีเดียว เป็นโอกาสให้ได้พิจารณาความรู้สึกของตัวเอง บางครั้งเมื่อเห็นว่าข้างบนสุดนั้น อาหารคือของหวานเช่นกล้วยบวชชี หรือสังขยาฟักทองราดหน้าด้วยน้ำพริก ในขณะที่ชั้นล่างสุดคือข้าวเหนียวซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานยังเป็นก้อนอยู่แท้ ๆ แต่ตอนนี้แยกเป็นเม็ดที่แฉะเละเทะ ด้วยถูกทับถมจากอาหารน้ำที่พระภัตตุเทศก์ตักตามมาที่หลัง บางรูปอาจรู้สึกว่าความอยากอาหารแทบจะหมดสิ้นไปทีเดียว ยังคงเหลือแต่ความรู้สึกที่จะต้องฉัน เพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่สำหรับพระหนุ่มเณรน้อยที่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน แม้จะใจกล้าขนาดใช้ช้อนคนจนทั่ว เพื่อให้อาหารคลุกเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็คงยังรู้สึกถึงรสชาติอยู่นั่นเอง แต่บางรูปก็มีความพยายามที่จะแยกพวกแยกเหล่าของอาหารในบาตรให้ได้ อย่างเช่น พระหลวงตารูปหนึ่งซึ่งหลวงพ่อเคยปรารภให้ฟังว่า ชอบตะแคงบาตรเพื่อให้มีที่ข้างล่างสำหรับน้ำแกง ส่วนก้อนข้าวเหนียวก็อัดไว้กับบาตรด้านบน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะสามารถจัดสรรที่ทางในบาตร เพื่อให้อาหารแต่ละชนิดมีที่ลงอย่างเหมาะเจาะ หรือใครจะคลุกเคล้ารวมกันไปเลย ก็เป็นกิจที่ทุกท่านจะต้องพิจารณาโดยแยบคายเสียก่อน จึงฉัน

นอกจากนี้การแจกอาหารด้วยระบบภัตตุเทศก์ ยังเป็นไปเพื่อความยุติธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่อาหารมีน้อย ซึ่งถ้าไม่แจก อาจทำให้ผุ้ที่นั่งปลายแถวเสียเปรียบ เพราะอาหารไปไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมนี้ก็ต้องมากับความสามารถของพระภัตตุเทศก์ด้วย ยิ่งอาหารมีน้อย พระภัตตุเทศก์ยิ่งต้องเป็นผู้ที่ชำนาญ ขนาดมองปราดเดียวก็คิดกะได้ว่าอาหารในภาชนะไหนควรตักมากน้อยเท่าใด
หลวงพ่อเคยเล่าถึงวัดป่าวัดหนึ่งซึ่งท่านเคยไปพำนักด้วยในอดีต เวลาแจกอาหารเณรน้อยปลายแถวก็ได้แต่น้ำแกงทีละช้อน เนื้อ ๆ หายไปทางหัวแถวหมด หลังจากทนคับใจอยู่หลายวัน เณรน้อยก็เลยต่อว่าพระภัตตุเทศก์ขึ้น “แหม! ท่านอาจารย์ไม่รู้ยังไง เอาแต่น้ำให้ผมทุกทีเลย” ท่านอาจารย์เลยลุแก่โทสะ เตะเณรน้อยเสียเลย

การจัดสรรอาหารบิณฑบาตให้ทั่วถึงและเป็นธรรมนี้ หลวงพ่อเคยอบรมไว้ว่า

“มีพระบางกลุ่มเข้าไปในป่าถือธุดงค์ฉันตกบาตร ธุดงค์แบบนี้มีกำไรแต่หัวหน้าแต่พระอาจารย์เท่านั้นแหละ มีของสักชิ้นสองชิ้นไม่ครบ พระอาจารย์เดินไปก่อนเขาก็ให้แต่พระอาจารย์เท่านั้นแหละ ธุดงค์อย่างนั้นอาจารย์ก็สบาย สะพายบาตรเข้ากุฏิฉันสบาย แต่พวกอื่นนั้นถือทุกข์ดงค์ ใคร ๆ ก็อยากถวายอาจารย์ เณรน้อยเดิมตามหลังไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นการกระทำเช่นนี้เพื่อความแบ่งปันเจือจานให้ทั่วถึง ข้อวัตรอันนี้บางคนไม่พอใจ เราไปบิณฑบาตได้มาหายไปเสียแล้ว ไม่รู้ใครเอาไปแบ่งกัน ความเป็นจริงเราไม่ได้มาปฏิบัติเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น นอนก็ดี กินก็ดี ไม่ใช่เรามาเอาอย่างนั้น ที่เราบวชมานี้เพื่อปฏิบัติตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราจะเอากินดี อยู่ดี ก็ไม่ต้องมาบวชแล้ว อยู่ข้างนอกก็พอไม่ต้องเข้ามาในพระศาสนานี้ อยากได้อะไร อยากทำอะไร อยากกินอะไรก็เอาเลย อยู่ข้างนอกสะดวกกว่านี้ อยู่ดีกว่านี้ ได้กินดีกว่านี้อีก แต่ว่าดู ๆ แล้วปลายทางมันจะร้องไห้ ที่เรามานี้น่ะ เรียกว่ามาทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะนับถือพระพุทธเจ้าเราถึงมาทำกันอย่างนี้ ถ้าเราคิดเช่นนี้มันก็สามัคคีกัน ไม่แก่งแย่งซึ่งกันและกัน”






๓. ธุดงควัตร


ฉันตกบาตร




ฉันตกบาตร เป็นการสมาทานธุดงควัตร ฉันจำเพาะแต่อาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาตเท่านั้น ไม่รับเพิ่มอีกในศาลาหอฉัน โดยปกติลำพังแต่การบิณฑบาตอย่างเดียวแล้วจะได้อาหารมาไม่เพียงพอ เพราะชาวบ้านนิยมมาถวายกับข้าวที่วัด หรือฝากของไว้กับแม่ชี ฉะนั้นพระเณรรูปใดสมาทานฉันตกบาตร ก็นับได้ว่า ถือธุดงควัตรที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง หลวงพ่อเคยอบรมพระเณรในเรื่องนี้เอาไว้ว่

“ธุ ตัง คะ ท่านแปลว่าข้อวัตรปฏิบัติอันบุคคลปฏิบัติได้ยาก เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า ผู้ใดต้องการเป็นพระอริยเจ้าต้องมีธุดงควัตร เป็นเครื่องขัดเกลา ยากที่คนจะทำได้และยากที่จะมีคนศรัทธาทำ เพราะมีแต่สิ่งขัดสิ่งขืนทั้งนั้น อย่างข้อที่ว่า ให้ฉันอาหารทุกอย่างรวมลงในบาตร ทำให้เรามีสติมากขึ้น ระลึกว่าอาหารเป็นเหมือนยารักษาโรค ถ้าเราไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองแล้ว มันก็ไม่สำคัญว่าเราจะฉันอย่างไร ฉันสำรวมในบาตริหรือไม่สำรวมก็ได้ แต่วิธีการนี้ทำให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างเรียบร้อย เช่น การเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน ฉันต่อาหารที่ตกลงในบาตร เขาใส่อะไรให้ก็ฉันอันนั้น เขาจะเอาอะไรมาถวายภายหลังไม่เอา การที่ถือธุดงค์อย่างนี้อยู่ทางภาคกลางก็สบาย เพราะเขาพร้อมอยู่แล้ว แต่ถ้ามาทางภาคอีสานธุดงค์ข้อนี้ปฏิบัติได้ละเอียดดี เพราะได้กินแต่ข้าวเปล่า ๆ เท่านั้น บ้านเราเขาใส่บาตรแต่ข้าวเปล่า ๆ เท่านั้น ทางโน้นเขาใส่บาตรใส่ข้าวใส่กับด้วย ธุดงค์ข้อนี้อย่างอุกฤษฏ์เคร่งครัดนั้น เมื่อลงมือฉันใครจะเอาอะไรมาถวายอีกก็ไม่รับ ธุดงควัตรนี้ช่วยมาก ช่วยจริง ๆ ฉันหนเดียว ภาชนะเดียว อาสนะเดียว ลุกไปแล้วไม่ฉันอีก อันนี้เรียกว่าธุดงควัตร แล้วจะมีใครบ้างที่ประพฤติได้ ยากที่จะมีคนศรัทธา เพราะยากลำบากมาก ท่านจึงว่าผู้ใดปฏิบัติธุดงควัตรนี้มีอานิสงส์จริง ๆ”





๓. ธุดงควัตร


อยู่รุกขมูล




หลังจากหมดฝนแล้วย่างเข้าฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาที่พื้นดินแห้ง อำนวยต่อการสมาทานธุดงควัตรข้อที่ ๘-๑๑ หลวงพ่อมักให้พระเณรทุกรูปออกจากกุฏิ ลงไปปักกลดอยู่ตามโคนไม้หรือที่เรียกว่า อยู่รุกขมูล บางทีท่านก็ส่งพระออกไปพักตามป่าช้าที่อยู่ใกล้ ๆ วัดหนองป่าพง และในฤดูนี้พระที่มีพรรษาพอสมควรรวมทั้งรู้ข้อวัตรปฏิบัติดีแล้ว อาจจะขอโอกาสจากท่านออกไปเดินธุดงค์แสวงหาความวิเวกตามลำพัง

การพักตามโคนไม้หรือในป่าช้าจะทำให้พระรู้ว่า ท่านติดกุฏิหรือเปล่า และยังช่วยเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองเมื่อไปอยู่ท่ากลางธรรมชาติ ซึ่งมีสิ่งน่ากลัวหลายอย่าง เช่นว่า เสือ งู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ และสัตว์ที่น่ารำคาญ เช่น มด ปลวก ฯลฯ ต้องทนรับความลำบากและไม่สะดวกต่าง ๆ จากการนอนกลางดิน กินกลางทราย อีกทั้งเสียงแปลก ๆ ในป่า ซึ่งไม่ค่อยน่ากลัวเวลาอยู่บนกุฏิ แต่อาจกลายเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นเวลาลงไปอยู่กับพื้นในป่าก็ได้ ธุดงควัตรข้อนี้ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ฝึกพระให้มีประสบการณ์ในการอยู่ป่าก่อนที่จะออกธุดงค์จริง ๆ





๓. ธุดงควัตร


ไม่ยึดมั่นในที่อยู่




ระเบียบในการแจกกุฏิได้นำหลักการในธุดงควัตรข้อที่ ๑๒ มาใช้ คือให้อยู่ตามที่ ๆ ครูบาอาจารย์จัดให้ บางครั้งเพื่อความเหมาะสมบางประการ หากจะต้องมีการโยกย้ายจากที่เดิมไปอยู่กุฏิหลังอื่น ก็ต้องเป็นไปตามคำสั่ง เมื่อจะจากวัดไปอยู่ที่อื่นก็ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย นำบริขารทั้งหมดของตนออกไปด้วย ไม่มีการหวง ใส่กุญแจเก็บเอาไว้ ผู้มาทีหลังจะได้เข้าไปอยู่แทน เมื่อกลับมาอีกครั้งก็ต้องไปอยู่กุฏิที่สงฆ์จัดให้ ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งหลวงพ่อเคยอบรมเอาไว้ว่า

“ข้อที่ว่าเราจะต้องไปอยู่กุฏิใดก็ตาม ตามที่กำหนดไว้ให้เรา เป็นข้อวัตรที่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน ช่วยไม่ให้พระติดที่อยู่ ถ้าผู้ใดจากไปแล้วกลับมาใหม่ ก็หาที่อยู่กันใหม่ การปฏิบัติของพวกเราเป็นเช่นนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด”





๓. ธุดงควัตร


การอดนอน


ธุดงควัตรข้อที่ ๑๓ หรือที่เรียกชื่อเฉพาะว่า เนสัชชิกวัตร นั้น เป็นวัตรที่ส่งเสริมการปรารภความเพียร โดยให้ปฏิบัติภาวนาในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น งดอิริยาบถนอน พระเณร แม่ชี อีกทั้งอุบาสิกอุบาสิกาที่มารักษาศีล ๘ ที่วัดหนองป่าพง จะร่วมกันสมาทานธุดงควัตรข้อที่ ๑๓ นี้ในทุกวันพระ นับตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึงอรุณรุ่งของวันใหม่ จะเป็นเวลาที่ทุกรูปทุกนามมาร่วมกันประกอบความเพียร ทำวัตรสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งสมาธิภาวนาจนรุ่งเช้า ยิ่งในฤดูเข้าพรรษาด้วยแล้ว เนสัชชิกวัตร นี้ยิ่งถือปฏิบัติกันอย่างอุกฤษฏ์ เพราะเป็นข้อวัตรที่ทำได้ยากยิ่ง พระเณรบางรูปสมาทานไม่เอนหลังทั้งพรรษา บางรูปหนึ่งเดือนบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง แล้วแต่กำลัง

ในสมัยที่หลวงพ่อยังแข็งแรง หลังจากเทศนาอบรมเสร็จแล้ว ท่านจะนั่งสมาธิในศาลาตลอดทั้งคืน เมื่อผู้เป็นครูบาอาจารย์ไม่ลุกศิษย์ก็ไม่กล้าลุก จะเมื่อยจะปวดอย่างไรก็ทนเอา ญาติโยมเมื่อได้เห็นความขยันขันแข็งของพระภิกษุสามเณร ก็เกิดวิริยะพากเพียรภาวนาได้จนตลอดรุ่งเช่นกัน หลวงพ่อเคยอบรมให้กำลังใจในการถือ เนสัชชิกวัตร เอาไว้ว่า

“ถือไม่ได้วันนี้ วันอื่นก็ต้องให้ได้ ถึงจะได้อย่างไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ คือยังง่วง หรือขาดสติบ้าง ก็อย่าให้มีการเอนหลังนอน จะนั่งหลับ จะเดินหลับ จะยืนหลับ ง่วงอย่างไรอันนี้ไม่ว่ากัน เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่ขอให้มีความอดทน มีความพากเพียร มีสัจจะที่จะปฏิบัติเป็นพิเศษก็แล้วกัน”







๓. ธุดงควัตร


มูควัตร


นอกเหนือจากธุดงควัตร ๑๓ ข้อแล้ว ยังมีข้อวัตรพิเศษเพื่อช่วยขัดเกลากิเลสเพิ่มเติมมาอีกบางอย่างเช่น มูควัตร การงดเปล่งวาจา อันจะเป็นการช่วยเสริมการเจริญสมาธิภาวนาอย่างมาก เพราะเมื่อเริ่มงดพูดคุย อารมณ์ที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิตก็น้อยลงเป็นลำดับ พระครูบรรพตวรกิจได้เล่าถึงการปฏิบัติมูควัตรในสมัยก่อนให้ฟังว่า

“ถึงฤดูกาลเข้าพรรษาก็มีการไม่พูด แต่เปิดโอกาสให้หลวงพ่อท่านพูดองค์เดียว ถ้าไม่พูดทั้งหมดจะขัดต่อพระวินัย บางองค์ก็ยกเป็นปัญหาขึ้น เพราะไปพบเรื่องนี้ในพระวินัยว่า ถ้าถือวัตรไม่พูดกันจะเป็นอาบัติ ท่านได้กล่าวว่า เรื่องนี้มีข้อแม้อยู่หรอก ผมจะพูดแต่พวกคุณไม่ต้องพูด ถ้าไม่พูดกันทั้งวัดก็ผิดจริง ๆ ผมก็ยอมรับและรู้อยู่ ท่านตอบอย่างนี้เพื่อหาทางออกให้ลูกศิษย์สมาทานฝึกหัด มูควัตร การไม่พูด”






Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 10:23:39 น. 0 comments
Counter : 1237 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.