รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
อุปลมณี 07 ศีลของสงฆ์ ตอนที่ 1



๑. พระวินัย


ไม่มีเจตนาจะทำผิดแล้ว


ในที่สุดหลวงพ่อเล่าว่าท่านได้หยุดการศึกษาทางพระวินัย

“ดูไป ๆ นาน ๆ ผลที่สุดในสมัยทุกวันนี้น่ะ ทิ้งแล้ว ทิ้งเพราะอะไร? เพราะรู้แล้วว่าจะไม่ทำมันอีกล่ะ ขึ้นชื่อว่ามันเป็นบาปเป็นผิดแล้วจะไม่ทำเป็นอันขาด มันตั้งใจอยู่อย่างนี้มันก็ไม่เป็นบาปมันไม่ผิด เพราะเราไม่มีเจตนาอันใดแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ พระวินัยทุกแง่ทุกมุมน่ะ จะให้จบมันไม่จบหรอก นอกจากที่ตัวเรา”

“ท่านที่มีธรรมะพอสมควร มีที่พึ่งแล้ว ท่านถึงปล่อยวาง สมัยก่อนต้องแบกคัมภีร์พระวินัยไปตั้งหลายปีถึงได้ทิ้งมันน่ะ ทิ้งแล้วมันก็ยังอยู่ จิตมันเป็นธรรมแล้ว ถึงจะไม่มีอะไร มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็ไม่เป็นอะไรของมัน ไม่ใช่ว่าไม่สนใจพระวินัย สนใจพระวินัยอยู่ แต่รู้เรื่องพระวินัยแล้วจะไปรักษาให้หมดทุก ๆ สิกขาบทน่ะตาย ไปเอาจริงเอาจังอย่างนั้นไม่ได้ เรามาถึงพระวินัยแล้วก็วกเข้าไปหาธรรมะ”

แต่อย่างไรก็ตามนี้ไม่ได้หมายความว่า หลวงพ่อเลิกรักษาพระวินัย ท่านก็ยังปฏิบัติตามอย่างเดิม ด้วยความเคารพต่อพระธรรมวินัย และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ศิษยานุศิษย์ในปัจจุบันและอนุชนรุ่นหลัง





๑. พระวินัย


หิริ โอตตัปปะ



๑. พระวินัย


ใช้ให้เป็น


“กลัวจนตายน่ะแหละ พระวินัยเป็นเหตุให้เดือดร้อนสารพัดอย่าง สำหรับผู้ที่ใช้ไม่เป็น”

แม้ว่าหลวงพ่อจะเน้นให้พระเณรเอาใจใส่กับศีลของตนอย่างจริงจัง ให้เห็นภัยแม้ในอาบัติเล็กน้อย ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ยึดติดในพระวินัย

“ศีลหรือพระวินัย และศีลธรรม เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อผู้ฝึกปฏิบัติ แต่ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในกฏเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างงมงาย ในการละเมิดข้อห้ามนั้น มันสำคัญที่เจตนา ท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจของท่านเอง อย่ากังวลกับพระวินัยให้มากจนเกินไป ถ้านำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยส่งเสริมการฝึกปฏิบัติ แต่พระภิกษุบางรูป กังวลกับกฎเกณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไป จนนอนไม่เป็นสุข พระวินัยไม่ใช่ภาระที่ต้องแบก”

หลวงพ่อให้ใคร่ศึกษา และจงรักภักดีต่อพระวินัย แต่ไม่ให้เกิดตัวตนว่า เราดี หรือเราบริสุทธิ์ จนชอบเที่ยวเพ่งโทษผู้อื่นที่ไม่เคร่งเท่าตน ซึ่งเป็นการยกตนข่มท่าน และหลวงพ่อให้ระวังไปจนถึงความวิตกกังวลหรือความลังเลสงสัย พูดสั้น ๆ ท่านให้ใช้ปัญญาในการรักษาศีล ท่านเตือนสติลูกศิษย์ว่า พระวินัยเป็นส่วนหนึ่งของมรรค แต่ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติ ท่านบอกว่า

“พระพุทธองค์ตรัสรู้พระธรรมไม่ได้ตรัสรู้พระวินัย และให้เห็นว่าธรรมะลึกซึ้งกว่า เพราะพระวินัยยังอยู่ในเขตของเหตุผล แต่ธรรมะบางส่วนอยู่นอกเหตุเหนือผล”





๑. พระวินัย


ความสงสัย


เรื่องความสงสัยในพระวินัย ย่อมมีได้เป็นธรรมดา เนื่องด้วยสิกขาบทมีมาก และในแต่ละสิกขาบทนั้นมีความละเอียดซับซ้อน ถ้าไม่หมั่นศึกษาหรือไม่หมั่นไต่ถามผู้รู้ การรักษาพระวินัยก็จะคลอนแคลนได้ ถ้าผู้รักษาเป็นคนขี้สงสัยก็ยิ่งเสี่ยงต่อความวุ่นวาย

“บางคนอ่านพระวินัยแล้วเป็นอันนั้น ๆ เป็นอาบัติทุกนาทีเลย นี่คือคนไม่มีปัญญา ที่ผมเคยเล่าให้ฟังน่ะ นายคำอยู่ที่บ้านทุ่ง บวช ๓ พรรษานะ เดินจงกรมไปต๊อก ๆ นึกถึงอันนั้นมา อ้าว! เป็นอาบัติแล้ว แวะไปหาแสดงอาบัติกับท่านที่เดินจงกรมด้วยกัน ท่าน ๆ ผมเป็นอาบัติแล้ว เดินไปอีกก้าวสองก้าว อ้าว! อันนี้อาบัติอีกแล้ว เลยแสดงอาบัติอยู่ตลอดเวลา เลยเป็นบ้าเลย ดูอะไรมันจะเป็นอาบัติไปทั้งนั้น

ผ้าไตรเดียวน่ะบวชเข้ามาแล้ว ภาวนาไปนึกไป ไอ้ผ้านี้ถ้าจะยังไม่ พินทุ* ละกระมัง อ้าว! สงสัยอีกแล้ว ไปเสียสละผ้าใหม่ พินทุใหม่ ทำไป ต่อมาอีก ๓-๔ วันเดินจงกรมไปมา เราพินทุอธิษฐานหรือเปล่าไม่รู้ สงสัยอีกแล้ว ไปเสียสละผ้าอีกแล้ว มาพินทุแล้วอธิษฐานใหม่ มาอีก ๕-๖ วันทำไปอีก อื้อ! อธิษฐานออกชื่อผ้าหรือเปล่าก็ไม่รู้ อ้าว! เอาอีกแล้ว ไปเสียสละอีกแล้ว ยิ่งดูพระวินัยไปเท่าไร ยิ่งเกิดความวุ่นวายสงสัยไปหมดทุกแง่ทุกมุมเลย มันเป็นเสียอย่างนี้ บวช ๓ พรรษาน่ะ ไม่มีอะไร สงสัยทั้งนั้น จนพระที่อยู่ใกล้ ๆ กันรังเกียจ เวลาเดินจงกรมก็เพียรหาอาบัติเพียรหาความผิด เดินต๊อก ๆ เดี๋ยวก็ ท่านครับให้ผมแสดงอาบัติหน่อย พระที่อยู่ใกล้ ๆ กันวุ่นวายจนต้องหนี ปลงเท่าไรอาบัติก็ยิ่งไม่หมดเสียที จำเป็นจะต้องสึก นี่สงสัย สึกเสียแล้ว มันเกิดนิวรณ์ทำอะไรไม่ได้ มันเกินไป เดี๋ยวนี้สึกไปทำนาไปขายของแล้ว เลยหมดสงสัยไม่มีนิวรณ์”

*พินทุ การเขียนรูปวงที่มุมผ้า ตามวินัยบัญญัติ เพื่อทำให้ผ้าเสียความสวยงาม และเพื่อเป็นเครื่องหมายของเจ้าของ

อีกโอกาสหนึ่ง หลวงพ่อเทศน์อบรมพระภิกษุสามเณรเรื่องความสงสัยว่า

“ตะวันยังไม่ ๕ โมง แต่ในเวลานั้นฝนฟ้าอากาศมันครึ้ม ไม่สามารถมองเห็นตะวันได้ ไม่มีนาฬิกา เราก็เลยคิดประมาณเอาว่า มันจะบ่ายไปแล้วกระมัง มีความรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ ในจิตใจเราสงสัยอยู่ แต่ฉันอาหารเสีย พอฉันไปได้พักหนึ่ง แสงสว่างจากพระอาทิตย์ก็เกิดขึ้นมา ได้ ๕ โมงกว่าเท่านั้น นี่เป็นอาบัติแล้ว เพราะว่าเผอเรอ ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนนี่เอง ไม่สังวรสำรวม

๑. ถ้าหากว่าสงสัยแล้วยังทำอยู่ อย่างนี้ท่านปรับอาบัติทุกกฏ เพราะว่าสงสัย
๒. สงสัยว่าบ่ายแต่ความจริงนั้นยังไม่บ่าย ถูกอยู่ แต่ก็ปรับอาบัติ เพราะไม่สังวรระวัง ประมาท
๓. ถ้าหากว่าบ่ายไปแล้ว สงสัยว่าไม่บ่าย ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ที่ท่านปรับอาบัติทุกกฏนี้พราะไม่สังวรสำรวม สงสัยอยู่ จะถูกก็ตามจะผิดก็ตาม ต้องอาบัติ ถ้าหากมันถูกปรับอาบัติหย่อนลงมา ถ้าหากมันผิดก็ปรับอย่างเต็มที่เลย”

อันใดที่สงสัยแล้วอย่างไปพูดมันเลย อย่าไปทำมันเลย ที่เราไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา เราจะเห็นว่าจิตของเรายอมรับหรือยัง ว่าทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูก อย่างนี้เรายอมรับหรือเปล่า

“ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้ว อย่าเพิ่งทำมัน อย่าเพิ่งพูดมัน ถ้าหากว่ายังไม่รู้จักสิกขาบทใด ข้ออรรถอันใด ก็ให้ศึกษาให้รู้สิกขาบทนั้นด้วยความพยายาม จงรักภักดีต่อพระวินัย ถึงไม่รู้ ท่านก็ให้ศึกษาข้อนั้นให้รู้ ถ้าไม่เอาใจใส่ก็เป็นอาบัติอีก”

“อาหารขบฉันที่เขาเอามาถวาย อะไรต่าง ๆ ที่สงสัย ไม่เอา แม้มันจะมีอะไรเลิศประเสริฐเท่าไรก็ไม่เอา ยกตัวอย่าง ถ้าเราอยู่ในป่า ไปบิณฑบาตเขาใส่ปลาส้มให้เป็นห่อ มีแต่ปลาส้มอย่างเดียวเท่านั้น มาเปิดดูเห็นปลาส้มไม่สุกดีเลยทิ้ง ฉันข้าวเปล่า ๆ ดีกว่า มันไม่กล้าล่วง อย่างนี้จึงเรียกว่า จิตมันเห็น การรักษาพระวินัยก็ง่ายขึ้น”

“ผมงงเกือบจะสึกแล้วจริง ๆ เพราะว่าเห็นความบกพร่องในการกระทำในการปฏิบัติ ในครูบาอาจารย์สารพัดอย่าง ร้อน! นอนไม่ได้เลยบาปจริง ๆ มันบาปโดยความสงสัย สงสัยเท่าไรก็ยิ่งภาวนาไป ยิ่งทำความเพียรไป สงสัยที่ไหนก็ทำไปเรื่อย ๆ ที่นั่นปัญญามันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ก่อนอาบัติทุกกฏไม่รู้เรื่อง ไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น เมื่อมาเข้าใจธรรมะจริง ๆ ถือข้อปฏิบัตินี้แล้ว อาบัติทุกกฏก็กลายมาเป็นปาราชิกเลย”






๑. พระวินัย


หลวงพ่อสอนพระวินัย




ในช่วงเข้าพรรษา ที่วัดหนองป่าพงมีการอบรมพระวินัยในตอนเย็นหลังทำวัตรเสร็จตลอดทั้งพรรษา ตำราที่หลวงพ่อใช้เป็นหลักคือ หนังสือบุพพสิกขาวัณณนา แต่งโดยพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) วัดบรมนิวาส พ.ศ.๒๔๐๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีความละเอียดในสิกขาบทต่าง ๆ อย่างมาก มีทั้งสิกขาบทที่มีมาในพระปาฏิโมกข์ และนอกปาฏิโมกข์ ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อธิบายอย่างพิสดาร เรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า หนังสือบุพพสิกขา อันเป็นหนังสือที่หลวงพ่อได้ใช้ศึกษาหาความรู้เรื่องพระวินัยมาตั้งแต่ท่านเป็นพระบวชใหม่ เมื่อมาเป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็ยังถือเอาหนังสือบุพพสิกขานี้ เป็นบรรทัดฐานของพระวินัย ประจำวัดหนองป่าพง

ตลอดระยะเวลาหลายปี ท่านเป็นคนอ่านและอธิบายสำนวนเพิ่มเติมด้วยตัวท่านเอง ต่อมาก็ได้มอบหมายให้พระรูปอื่นทำหน้าที่นี้แทนบ้าง ท่านเล่าให้ฟังว่า

“การที่มาอบรมพระเณรนี้ ผมก็ยังเอาบุพพสิกขานี้เป็นหลักฐาน ได้อ่านบุพพสิกขา เวลาศึกษาพระวินัยให้พระฟังอยู่หลายปี อยู่วัดป่าพงนี่ผมทั้งนั้นล่ะที่อ่านให้ฟัง สมัยนั้นขึ้นธรรมาสน์เทศน์อย่างน้อยก็ต้อง ๕ ทุ่มหรือ ๖ ทุ่ม บางทีก็ตีหนึ่งตีสองนะ สนใจแล้วก็ฝึกฟัง แล้วก็ไปดูไปพิจารณา ถ้าเรามาฟังเฉย ๆ นี้ ผมว่าไม่เข้าใจแยบคาย ออกจากการฟังแล้ว เราต้องไปดู ไปวินิจฉัยมันถึงจะเข้าใจ”

หลวงพ่อได้ให้คำแนะนำในการศึกษาพระวินัยเพิ่มเติมว่า

“ถ้าจะให้มันดีจริง ๆ นะ ถ้าเรามีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เราจะศึกษาพระวินัยของเรา ต้องไปดูในกุฏิของเรา เวลาว่าง ๆ ดูไปพิจารณาไปเรื่อย ๆ แล้วก็เข้ามาฟังธรรม แล้วพิจารณานาน ๆ เมื่อมันไม่เข้าใจก็มาเรียนถามท่าน ๆ ก็ช่วยแนะนำ แต่มันเป็นของละเอียดมากเหลือเกินอันนี้นะ เราจะตามมันไม่ทัน สิ่งที่มันละเอียด ๆ นี้ มันละเอียดเช่นนั้นแหละ เรารักษามันไม่ทันเลย ต้องอาศัยกาลอาศัยเวลานาน ๆ อาศัยศึกษากับครูบาอาจารย์ เรื่อย ๆ ไป และกระทำไปเรื่อย ๆ”





๑. พระวินัย


ทดสอบ


สิกขาบทต่าง ๆ ในพระวินัยมีความละเอียดลึกซึ้งมาก บางทีหลวงพ่อใช้เป็นอุบายทดสอบสติของลูกศิษย์ว่า มีความแคล่วคล่องตื่นตัวอยู่เพียงใด เช่น ในกรณีที่พระผู้ใหญ่ไม่สวมรองเท้าหรือไม่มีสิ่งปกคลุมศรีษะ พระผู้น้อยก็ต้องถอดรองเท้าออก หรือลดร่มลง บางครั้งท่านเดินไปกลางแดดโดยเอาผ้าสรงน้ำวางไว้บนศรีษะ ครั้นเมื่อเอาออกแล้วจะย้อนกลับมาดู ถ้าลูกศิษย์รูปไหนไหวตัวช้า ไม่รู้จักสังเกต จะต้องถูกท่านดุ

ครั้งหนึ่งขณะพาพระไปธุดงค์ ในเวลากลางคืนหลังจากเทศน์เสร็จ มีโยมพูดขึ้นมาว่า “ไก่ตอนคู่นี้พรุ่งนี้จะเชือดทำอาหารถวาย ท่านเทศน์ถูกใจเหลือเกิน พรุ่งนี้ท่านจะลาไปเสียแล้ว” พอรุ่งขึ้นในมื้อจังหันก็มีทั้งลาบไก่ ต้มไก่ ไก่ย่าง พระที่ติดตามไปด้วยไม่ได้นึกเฉลียวใจคำพูดของโยมเมื่อคืนก่อน ว่าสัตว์ที่เขาเฉพาะเจาะจงฆ่ามาทำอาหารถวาย พระรับไม่ได้ จึงฉันกันใหญ่ แต่หลวงพ่อไม่แตะเลย เพียงแต่ถามว่า
“อร่อยไหมไก่ตอน” แล้วก็จ้องหน้า
“เออ! ช่างไม่คิดอ่าน ไม่รู้สึกรู้สมอะไรเลย แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะท่านไม่รู้ ผมนะพอเห็นไก่เสียววาบเลย”





๑. พระวินัย


วินัยทางปฏิบัติ


แม้ในสิกขาบท ๒๒๗ ข้อนั้น จุดประสงค์และวิธีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติก็ไม่ชัดเจนเสมอไปทีเดียว เพราะสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในประเทศอินเดีย ซึ่งมีผลต่อการบัญญัติสิกขาบทบางข้อในสมัยนั้น กลับเป็นของหาง่ายในสมัยนี้ อนึ่งสิกขาบทบางข้อไม่ได้ระบุรายละเอียดในทางปฏิบัติ หรือกล่าวถึงไม่ครบถ้วนกระบวนความ เพราะฉะนั้นการรักษาพระวินัยไม่ใช่การกำกับชีวิตด้วยกฏข้อบังคับเหมือนสมัยโบราณอย่างงมงาย แต่อาศัยการศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้าและการพิจารณาเงื่อนไข ที่กำหนดความหนักเบาของอาบัติอย่างละเอียด และใช้สติสัมปชัญญะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุที่สิกขาบทต่าง ๆ มีความลึกซึ้งมากเช่นนี้ และการปฏิบัติในวัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองไทย มักไม่ค่อยตรงกันในรายละเอียดปลีกย่อย จะยกตัวอย่างให้เห็นข้อวัตรมาตรฐานที่หลวงพ่อบัญญัติตามพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดดังนี้

อทินนาทาน
การประเคน
สตรี
ปวารณา
เงินและทอง


วินัยทางปฏิบัติ


อทินนาทาน


ในสิกขาบทปาราชิกข้ออทินนาทานที่บัญญัติไว้ว่า “ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกต้องปาราชิก” อันว่า ๕ มาสกนั้นเป็นหน่วยของเงินในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อยุติว่ามีราคาเท่าไร สำนักวัดหนองป่าพงจึงได้ถือเอาราคาทรัพย์เพียงหนึ่งบาท เป็นวัตถุแห่งอทินนาทานปาราชิก ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันที ฉะนั้นพระต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เมื่อต้องการสิ่งใดแม้ในสิ่งเล็กน้อยก็ต้องขอสงฆ์ก่อน หลวงพ่อเคยอบรมไว้ว่า

“อย่างยาสีฟันน่ะ ไปหยิบมาสักกล่องหนึ่งกลัวคนจะเห็น นี่มันเป็นอาการของอาบัติปาราชิก ของในศาลาหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องบอกครูอาจารย์ให้ทราบก่อน ง่าย ๆ อาบัติปาราชิก ไม่ยากเป็นอาการของขโมย มีจิตมัวหมองเป็นขโมย แล้วหยิบของสิ่งนั้นขึ้นมา”





วินัยทางปฏิบัติ


การประเคน




บางสิกขาบทไม่มีรายละเอียดที่บ่งไว้ชัดเจนสำหรับใช้ในทางปฏิบัติ ในกรณีเช่นนี้หลวงพ่อมักจะตั้งข้อวัตรให้รัดกุมเคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อช่วยในการฝึกสติ เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เช่น ในพระวินัยไม่ได้วางหลักไว้โดยตรงว่า ในกรณีที่อาหารยังไม่ได้ประเคนแต่พระไปจับต้องเข้าจะเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร หลวงพ่อจึงตั้งข้อวัตรขึ้นมาว่า ถ้าพระรูปใดจับต้องแล้วแต่ของนั้นไม่เคลื่อนไหว พระรูปนั้นห้ามฉัน แต่ถ้าเคลื่นออกจากฐานแล้ว พระทุกรูปในวัดจะฉันไม่ได้เด็ดขาด

ในสมัยก่อนที่อาหารการขบฉันยังขาดแคลน วันหนึ่งมีโยมจากอุบลฯ อุตส่าห์มาจากเมืองเอาแกงหม้อใหญ่มาทำบุญ พระรูปหนึ่งเผลอไปยกขึ้นมาตักแจกทั้ง ๆ ที่หม้อยังไม่ได้รับการประเคน หลวงพ่อเห็นแล้วก็สั่งส่งหม้อใหญ่นั้นไปให้สามเณรที่นั่งท้ายแถวฉัน เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดพอสมควรสำหรับพระสงฆ์ ข้อวัตรเช่นว่านี้ ทำให้พระระมัดระวังตัวมากขึ้นเมื่ออยู่ใกล้อาหาร





วินัยทางปฏิบัติ


สตรี


เรื่องผู้หญิง หลวงพ่อเข้มงวดเอากับลูกศิษย์ของท่านมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า กามราคะเป็นมารตัวสำคัญที่ทำให้พระต้องลาสิกขา เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการประพฤติปฏิบัติ ในพระวินัยบัญญัติก็มีสิกขาบทที่วางหลักไว้อย่างเข้มงวด เพื่อกำกับการติดต่อกับมาตุคาม ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินแก้ เช่น ห้ามภิกษุไปไหนมาไหนสองต่อสองกับมาตุคาม ห้ามพูดคุย สำเร็จการนอนการนั่งในที่ลับหูลับตาสองต่อสองกับมาตุคาม จนกระทั่งห้ามมีการถูกต้องสัมผัสเนื้อตัวซึ่งกันและกัน

ที่วัดหนองป่าพง แม้ว่าจะมีแม่ชีอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่แม่ชีกับพรเหมือนอยู่กันคนละโลก โดยมีข้อวัตรที่ห้ามพระ และแม่ชีมีการติดต่อพูดคุยกัน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็ต้องผ่านเจ้าอาวาส หลวงพ่อถือว่า พระกับชีปฏิบัติกันอย่างนี้ไม่ใช่เพราะรังเกียจกัน แต่เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลวงพ่อเองก็ระวังตัวมาก ใต้ถุนกุฏิท่านซึ่งใช้เป็นที่รับแขกก็โล่ง และถ้ามีแขกผู้หญิงมา ต้องมีพระหรือเณรหรือโยมผู้ชายเป็นพยานรู้เห็นสิ่งที่หลวงพ่อสนทนากับผู้หญิงอยู่ด้วยเสมอ ฉะนั้น ไม่เคยมีใครใส่ร้ายท่านในเรื่องผู้หญิงเลย และหลวงพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สานุศิษย์อยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อเคยเตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า

“ระวังเถอะผู้หญิง อย่างไปใกล้มัน ไม่ใช่ใกล้ไม่ใช่ไกล แค่สายตาไปผ่านพริบ !,,, เท่านั้นแหละ มันเป็นพิษเลย” ท่านจึงให้ระวัง และเล่าเรื่องที่พระอานนท์เคยกราบทูลถามพระพุทธองค่า

“จะให้ข้าพระองค์ประพฤติกับมาตุคามอย่างไรดี”
“อานนท์ อย่าเห็นเลยดีกว่า”
พระอานนท์ก็คิดไป เอ! มันมีตาจะไม่ให้เห็นคน จะทำอย่างไรหนอ
“ถ้าเหตุมันจะต้องได้เห็น จะให้ข้าพระองค์ปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าข้า”
“อย่าพูดดีกว่า อานนท์”
อ้าว! พระอานนท์ก็คิดต่อไปว่า

“ถ้าเหตุจะต้องให้พูดมีอยู่ จะให้ข้าพระองค์ปฏิบัติอย่างไรพระเจ้าข้า เช่นว่าเดินทางไปไม่รู้จักทาง เราหลงทางนะ เห็นผู้หญิงเดินผ่านมา เราก็จำเป็นจะต้องถาม”
“ถ้าเหตุจะให้ถามมีอยู่ ก็ให้มีสติ”

“เห็นไหม ครั้งแรกท่านว่าไม่เห็นมันเลยดีกว่าผู้หญิงนี่ ตัดเบื้องแรก ไม่ให้เห็นดีกว่า เหตุจะต้องเห็นมีอยู่ ก็ไม่ต้องพูด เหตุจะต้องพูดมีอยู่จะทำยังไง ต้องมีสติให้มาก นี่คือการปฏิบัติต่อสตรีเพศ สายตามันประสบกันเท่านั้นแหละ ใจมันจะขาดอยู่ตั้งเดือนสองเดือน บางทีจนตายแหละ แม้แต่ที่นั่ง มันลุกไปใหม่ ๆ ตรงนั้นยังนึกอยากจะไปคลำเลย นั่นแหละตัณหาละนั่น ไปแล้วก็ยังเห็นหน้ากันอยู่ มันเป็นนิมิตอย่างนั้น เราจะไปนั่งคุยกันสองต่อสอง หนูเป็นอย่างนั้น หนูเป็นอย่างงี้ มันก็หนู ๆ อยู่นั่นแหละ ๓ ปีมันก็ยังหนู ๆ อยู่ในหู ในใจนั่นแหละ เสียหายมาก อย่าไปคลุกคลีมันเลย อันตรายของเราอันนี้”





วินัยทางปฏิบัติ


ปวารณา




ปวารณา คือการที่ทายกทายิกาผู้มีศรัทธา ได้เชื้อเชิญให้ภิกษุขอได้ซึ่งปัจจัยสี่อันควรแก่สมณบริโภค โดยอาจจำกัดในเรื่องกาล โอกาส และสิ่งของก็ได้ ถ้าพระภิกษุได้ขอสิ่งใดมาจากคนที่มิใช่ญาติ หรือผู้ที่มิได้ปวารณาเอาไว้ก่อน ต้องนำของที่ได้มานั้นมาสละเสียแก่สงฆ์ หลวงพ่อเข้มงวดมากในเรื่องการขอของจากญาติโยม ทั้งยังห้ามการบอกบุญเรี่ยไรในทุกรูปแบบอีกด้วย เพราะท่านถือว่า การขอของหรือเรี่ยไรอย่างพร่ำเพรื่อเป็นการรบกวนญาติโยม และเป็นเหตุให้เขาอาจเสื่อมศรัทธา หลวงพ่อเองแม้จะมีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ ๆ วัดก็ตาม ท่านก็ไม่ยอมออกปากขออะไรทั้งสิ้น แม้จะมีญาติโยมได้ปวารณาเอาไว้ คือเปิดโอกาสให้ขอได้ซึ่งปัจจัย ๔ เครื่องสมณบริโภค หลวงพ่อท่านก็มักพูดเตือนอยู่เสมอว่า

“ทำอย่างนั้นไม่ได้นะ ถึงเขาจะปวารณาแล้วก็ต้องคิดเห็นใจเขาบ้าง เขามีครอบครัวต้องรับผิดชอบ การทำมาหากินก็ลำบาก พวกท่านไม่เคยบริหาร ท่านรู้ไหมบางครั้งบางคราวเงินสักสตางค์ก็ไม่มีในครอบครัวนั้น แม้เขาจะปวารณาก็จริง แต่ก็ต้องดูเหตุ ดูกาลเทศะ ไม่ใช่เห็นเขาปวารณาแล้วนึกอยากได้อะไรก็ไปขอเอา เรื่องที่ไม่จำเป็นก็เกิดจำเป็นขึ้นมา ไม่รู้จักเกรงใจ เป็นการทำตามกิเลสตัณหา เป็นความย่อหย่อน เป็นความวิบัติ”

“อยู่ที่ไหนให้มันเป็นวัวป่า อย่าให้เป็นวัวบ้าน วัวป่ามันอิสระไม่มีใครผูกจมูกจูงจมูก แต่วัวบ้านมันถูกผูกไว้กับหลัก ไปอยู่ที่ไหนก็อย่าให้โยมอุปถัมภ์อุปัฏฐากจนกระทั่งว่ามันติดไป ไม่ใช่ให้เขามาผูกมามัดเหมือนวัวบ้าน อยู่ให้เป็นอิสระเหมือนวัวป่า จะอยู่ก็ได้จะไปก็ได้”

ทางฝ่ายญาติโยม หลวงพ่อก็เคยเทศนาอบรมชี้แจงว่า

“เรื่องปวารณา อาตมาจะขอพูดเพิ่มให้เข้าใจ เราจะปวารณาโดยปากเปล่าก็ได้ เช่น พระพุทธเจ้าสอนว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาปัจจัยสี่แก่พระคุณเจ้าตลอดชีวิตก็ได้ เดือนหนึ่งก็ได้ ๕ เดือนก็ได้ ๗ วันก็ได้ ปวารณาของที่สำคัญอย่างค่ารถค่าเรือ ไม่ใช่ให้ร่ำให้รวย ให้ขอได้ในปัจจัยสี่ หยูกยาอะไรต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อบำบัดโรค ทั้งครอบครัวของกระผมนี้ขอปวารณาไว้ตลอดชีวิต แต่ต้องปวารณากับพระที่สมควร อย่าไปปวารณากับพระที่ไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวจะมาขอเอาให้หมดตัว อะไรที่สมควรแก่สมณะแล้วให้ขอได้ทุกเวลา กระผมไม่อยู่ก็ให้ขอได้ที่แม่บ้านของผมหรือลูกผมก็ได้ การปวารณาเอาไว้อย่างนี้มันเป็นบุญอันเลิศ เป็นบุญอันประเสริฐเลยทีเดียว แม้ว่าเรานั่งอยู่เฉย ๆ ก็เรียกว่าได้บุญอยู่เรื่อย ดีมาก อันนี้ดีมาก ถ้าจะถวายใบปวารณาก็ให้เขียนใบปวารณามีใจความว่า ข้าพเจ้ามีศรัทธาถวายปัจจัยเป็นมูลค่า ๕๐ บาท หรือเท่าไรก็ตาม เมื่อพระคุณเจ้าต้องการปัจจัยอันควร จงเรียกเอาจากไวยาวัจกรเทอญ แล้วถวายใบปวารณาให้พระ ตัวปัจจัยก็มอบให้ไวยาจัจกรไปอย่างนี้ก็ได้ หรือท่านไปองค์เดียวรับเงินไม่ได้ โยมก็เก็บเอาไว้เองก็ได้ เมื่อท่านต้องการก็ให้เขียนหนังสือมา หรือส่งใครมารับก็ได้ แต่มันยากหน่อย ถ้าหากเอาตามคำสอนพระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็ดีอย่างนี้ เพราะว่าต้องรักษาพระวินัยให้ยืนนานถาวร”





วินัยทางปฏิบัติ


เงินและทอง




เป็นที่ทราบกันดีว่า พระสายปฏิบัติวัดหนองป่าพง มีความเคร่งครัดในสิกขาบทที่เกี่ยวกับเงินทองเป็นอย่างมาก จะไม่มีพระรูปใดที่จับเงินหรือมีปัจจัยเงินทองเป็นส่วนตัวฝากไว้ในธนาคาร ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในเงินและทองด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตามพระวินัยบัญญัติได้มีสิกขาบทว่า

“ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์” และ
“ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือ ของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เงินทองหรือของที่ได้มาต้องนำมาเสียสละแก่สงฆ์จึงจะแสดงอาบัติตก การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อสิกขาบทนี้มีอานิสงส์มาก เงินคืออำนาจ การงดเว้นจากการใช้เงินและทอง คือ การสละสิทธิ์ในการบังคับสิ่งนอกตัวให้เป็นไปตามใจ เป็นการทรมานกิเลสที่ดีเยี่ยม สิกขาบทนี้เป็นข้อสำคัญ ที่ทำให้วิถีชีวิตของนักบวชต่างจากของฆราวาส จึงเป็นสิ่งส่งเสริม สร้างสมณสัญญาในจิตสำนึกของพระ อนึ่งในเมื่อคนในโลกส่วนใหญ่หมกหมุ่นแต่ในเรื่องเงินและทอง พระสามารถเป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่วัตถุ ในแง่ของหมู่สงฆ์ สิกขาบทนี้ช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่เพื่อนสหธรรมิก บรรยากาศของสำนักปฏิบัติก็เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการอิจฉาริษยาหรือแก่งแย่งเกี่ยวกับเอกลาภ หลวงพ่อเคยปรารภเรื่องการเก็บสะสมปัจจัยส่วนตัว ซึ่งเป็นการสรุปในเรื่องนี้ที่ดี

“ถ้าผมสิ้นไป พวกท่านทั้งหลายค้นเห็นปัจจัยเงินทองอยู่ในกุฏิผม โอ๊ย! เสียหายหมด เสียหายมาก เสียศักดิ์ศรีของพระปฏิบัติมากที่สุด”

การออกปากขอสิ่งของ หรือเรี่ยไรเงินทองจากญาติโยมทุกรูปแบบ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อเข้มงวดมาก แม้แต่การตั้งตู้บริจาคในวัดก็ไม่มี เมื่อญาติโยมนำเงินมาถวาย ท่านก็ไม่เคยแสดงความยินดี หรือตระหนี่หวงแหน เพราะท่านถือว่าเงินทองไม่ใช่เรื่องของพระ เป็นเรื่องศรัทธาญาติโยม แม่ชีบุญยู้ได้เล่าขยายความให้ฟังว่า

“เมื่อญาติโยมมาถวายปัจจัย ท่านจะมีไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บเอาไว้ โดยที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ถ้าเขาจะโกงกินก็กินกันจนอาเจียนนั่นแหละ บางครั้งไวยาวัจกรไม่อยู่ ท่านก็ให้เขาเอาปัจจัยใส่ไว้ในสมุด แล้วท่านก็ไปทำธุระของท่าน ไม่ได้มาใส่ใจกับเรื่องปัจจัยนั้น กลับมาอีกครั้งปัจจัยหายไป เหลือแต่สมุดเปล่า ๆ ก็มี ท่านก็ไม่ไปโจทก์ขานซักไซร้ไล่เลียงเอากับผู้อื่นว่า ใครมาที่นี่บ้าง เห็นพระโยมมาที่นี่ไหม ท่านจะว่า เขาไม่มีเขาถึงมาเอา”

ก่อนที่หลวงพ่อจะออกปฏิบัติ ท่านก็ยังจับเงินอยู่ ท่านเล่าให้ฟัง ถึงคราวที่ตัดสินใจเลิกใช้เงิน อย่างเด็ดขาดว่า

“เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตน มันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปี ผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงิน ตลอดทั้งพรรษา ๒ เดือนกว่า ยังตัดสินใจไม่ได้ จวนจะออกพรรษาแล้ว จับเงินในกระเป๋ามีอยู่หลายร้อยเหมือนกัน ตกลงใจว่าวันนี้จะต้องเลิก เมื่อมันทะลุปุ๊บตกลงว่ามันจะเลิกเท่านั้น เลยสบาย ตอนเช้าถือกระเป๋าสตางค์มาพบเพื่อนองค์หนึ่ง เป็นมหาเปรียญ ท่านกำลังล้างหน้าอยู่ ผมโยนกระเป๋าสตางค์ให้แล้วว่านิมนต์เถิดท่านมหา เอาไปเถิด เอาไปเรียนหนังสือ ไม่ต้องห่วงผมหรอกผมเลิกแล้ว ตกลงกันแล้วเมื่อคืนนี้ ตกลงกันแล้ว ช่วยเป็นพยานให้ผมด้วย ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่แตะต้องเงินทองเป็นอันขาด ตั้งแต่วันนั้นมาผมยังไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยซื้อ ไม่เคยแลกไม่เคยเปลี่ยน มีแต่ปฏิบัติทั้งนั้นแหละ อะไรต่าง ๆ ก็สำรวมอยู่”

หลวงพ่อเคยพูดถึงการใช้เงินครั้งหนึ่งว่า

“เอาเงินค่ารถหมกไว้ซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเราก็รู้ พระอื่นไม่รู้แต่พระเรานี่ก็รู้ เพราะเราก็เป็นพระเหมือนกัน ร้อนระอุอยู่อย่างน้น อย่างวัดป่าพงเราไปไหนก็ไม่มีค่ารถ แต่เขาก็ให้ไป มันดีกว่าเราต้องมาหอบสตางค์เสียอีก”

“ความจริงไม่มีเงินไม่ใช่ว่าจะไปไหนไม่ได้ ยิ่งไปได้ดีกว่าเก่า ค่ารถไม่มีก็เดินเอา ทำจริง ๆ เสีย เดี๋ยวเขาก็นิมนต์ขึ้นรถเอง”

หลวงพ่ออธิบายว่า ถ้าเรารักษาสิกขาบทข้อนี้ ก็เป็นการสร้างบารมี ญาติโยมเห็นแล้วก็เลื่อมใส มีจิตศรัทธาที่จะช่วยเหลือ สำคัญที่เราไม่ขอ พร้อมที่จะอดอยู่เสมอ เป็นสิกขาบทที่ช่วยสร้างความมักน้อยสันโดษเป็นหลักชีวิต

เคยมีพระรูปหนึ่งมาต่อรองกับท่านในเรื่องการถือปัจจัยเงินทอง ว่าจะใช้แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น หลวงพ่อได้ให้คำตอบเรียบ ๆ ว่า

“ถ้าท่านกินเกลือหมดกะทอไม่เค็ม ท่านก็อาจทำได้”









Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 20:14:04 น. 0 comments
Counter : 702 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.