Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
11 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 

Victoria Hale เภสัชกรผู้ปฏิวัติวงการยาเพื่อผู้ยากไร้

คนชายขอบ
สฤณี อาชวานันทกุล



ในโลกหมุนเร็วยุคโลกาภิวัตน์ ธุรกิจยาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับ ‘ผู้ชนะ’ ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งหมายถึงบริษัทยายักษ์ใหญ่ซึ่งส่วนมากถือสัญชาติอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer), บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบ (Bristol-Myers Squibb), เมิร์ค (Merck), จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) หรือแม้กระทั่ง แอ็บบ็อต (Abbott) ซึ่งกลายเป็นบริษัทที่คนไทยรู้จักดีจากการออกมาต่อต้านการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของกระทรวงสาธารณสุขไทยอย่างรุนแรง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2550

ความ ‘ใหญ่’ ของบริษัทยา ดูได้จากข้อเท็จจริงว่า กำไรสุทธิประจำปี ค.ศ 2004 ของบริษัทยา 5 แห่งในรายชื่อข้างต้นมีมูลค่ารวมกว่า 31.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.4 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศไทยทั้งประเทศในปีเดียวกัน

สาเหตุสำคัญที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ได้กำไรมหาศาลในแต่ละปี คือการได้รับ ‘อำนาจผูกขาดชั่วคราว’ ในรูปของสิทธิบัตรที่รัฐออกให้ สิทธิบัตรคือการอนุญาตให้บริษัทตั้งราคาและจำหน่ายยาได้ตามอำเภอใจโดยปราศจากคู่แข่งขัน เป็นเวลานานเท่ากับอายุของสิทธิบัตร ซึ่งกฎหมายอเมริกากำหนดไว้เท่ากับ 20 ปี แต่ในความเป็นจริงเหลือเพียงประมาณ 12 ปี เพราะการได้รับสิทธิบัตรไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถวางตลาดยาได้ทันที แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการซับซ้อนที่กินเวลาถึง 8 ปีโดยเฉลี่ย

สิทธิบัตรเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยาทำการวิจัยค้นคว้ายาใหม่ๆ เพราะการวิจัยยาเป็นกิจกรรมที่สลับซับซ้อนและยากลำบาก ต้องใช้เวลาหลายปีและเงินเป็นหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปจึงจะเห็นผล ยังไม่นับความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะไม่สามารถค้นพบยารักษาโรคที่เป็นเป้าหมายของการวิจัยได้เลย ซึ่งกรณีนั้นย่อมหมายความว่าทั้งเวลาและเงินที่ลงทุนไปต้องสูญเปล่า

ความเสี่ยงที่จะประสบความล้มเหลวจากการวิจัยนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขาย่อมมีส่วนที่เปรียบเสมือนงานของนักสำรวจ ผู้จำเป็นต้องคลำหาทางไปอย่างช้าๆ ในถ้ำใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ไม่มีทางล่วงรู้ว่าเบื้องหน้าจะพบกับอันตรายหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรบ้าง ทำได้แต่เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์เท่านั้น

แต่ถึงแม้ว่าระบบสิทธิบัตรจะเป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยา ระบบนี้ก็มีปัญหามากมายในรายละเอียด ปัญหาสำคัญซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือคำถามที่ว่า ระบบนี้ ‘เข้าข้าง’ บริษัทยาเกินไปหรือไม่ เพราะอำนาจผูกขาดที่รัฐมอบให้ภายใต้สิทธิบัตรนั้น มหาศาลเสียจนสามารถกีดกันยาไม่ให้ผู้ป่วยยากจนมีโอกาสเข้าถึง แม้ว่ารายได้จากผู้ป่วยยากจนเหล่านั้นจะมีสัดส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรายได้จากลูกค้าในประเทศร่ำรวยก็ตาม

การเคลื่อนไหวต่อต้านจากบริษัทยา ซึ่งมีอิทธิพลกดดันรัฐบาลอเมริกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อกระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา 3 รายการ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แต่กลไกภายใต้ระบบสิทธิบัตรที่ถูกออกแบบมาเอื้อประโยชน์แก่ประเทศยากจน ยังใช้งานจริงยากมากในโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่ผลประโยชน์ของบริษัทยาถูกนักการเมืองหรือล็อบบี้ยิสต์นำไปเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางการค้าได้อย่างง่ายดาย เพื่อสร้างข้อต่อรองลบล้างประโยชน์ทางสังคม และโลกที่ประเทศเล็กๆ มักตกเป็น ‘เบี้ยล่าง’ ของประเทศมหาอำนาจที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าอย่างเทียบกันไม่เห็นฝุ่น

ประเด็นนี้ชวนให้คิดว่า ขนาดโรคที่เป็นกันทั้งคนจนและคนรวย (หมายความว่าบริษัทยาสามารถนำกำไรสูงลิบลิ่วจากการขายยาในประเทศพัฒนาแล้ว มาอุดหนุนการขายยาราคาถูกให้กับประเทศยากจน) ยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วนับประสาอะไรกับโรคที่ผู้ป่วยแทบทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศยากจน เช่น โรคมาเลเรีย? บริษัทยาจะมีแรงจูงใจอะไรมาคิดค้นยารักษาโรคที่ผู้ป่วยแทบทั้งหมดไม่มีกำลังซื้อ? หมายความว่าผู้ที่ป่วยเป็น ‘โรคของคนจน’ จะต้องนอนรอวันตายสถานเดียว ใช่หรือไม่?

คำตอบอันน่าหดหู่ตลอดมาคือ ‘ใช่’ แต่นั่นคือก่อนที่ใครจะรู้จักวิคตอเรีย เฮล (Victoria Hale) เภสัชกรผู้คร่ำหวอดในวงการยาทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า การผลิตยาเพื่อผู้ยากไร้ที่ไม่มีเงินพอจ่ายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ ‘เป็นไปได้’ อย่างเดียว แต่ยัง ‘ทำได้อย่างดี’ เสียด้วย

ในปี ค.ศ. 2000 เฮลก่อตั้งบริษัทยาที่ไม่แสวงหากำไรแห่งแรกของโลก ชื่อ Institute for OneWorld Health (ซึ่งอาจแปลเป็นไทยแบบเชยๆ ได้ว่า “สถาบันเพื่อสุขภาพสากล”) OneWorld Health มีจุดประสงค์ที่เข้าใจง่ายแต่ทำยากมากๆ ว่า ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนายาราคาย่อมเยาสำหรับโรคร้ายที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่สุดในโลก อาทิเช่น โรคมาเลเรีย และโรคท้องเดิน

เฮลนำประสบการณ์ส่วนตัวจากการคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยานานกว่า 20 ปี มาใช้ในการก่อตั้ง OneWorld Health ย้อนไปเมื่อปี 1990 หลังจากที่จบการศึกษาปริญญาเอกในสาขาเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ฟรานซิสโก เฮลเริ่มทำงานกับหน่วยงานรัฐ ในตำแหน่งผู้ประเมินประจำองค์กรอาหารและยาของอเมริกา (Food and Drug Administration หรือย่อว่า FDA) ต่อมาในปี 1994 เธอย้ายไปทำงานกับภาคเอกชน ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยา Genentech และต่อมาในปี 1999 เฮลก็ลาออกจากงานประจำ มาลองเป็นผู้ประกอบการเองบ้าง เมื่อเธอก่อตั้งบริษัทชื่อ Axiom Biomedical กับเพื่อน และดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมด้านวิทยาศาสตร์ (Chief Scientific Officer) จนลาออกจากบริษัทในปีต่อมา เพื่อก่อตั้ง OneWorld Health

เป้าหมายที่จะผลิตยาใน ‘ราคาย่อมเยา’ แปลว่า OneWorld Health จะต้องหาวิธีควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหมายความจะว่าไม่สามารถทำการวิจัยยาตั้งแต่ต้นได้ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าการวิจัยยาแต่ละตัวนั้นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เป็นจำนวนหลายร้อยล้านหรือแม้แต่พันล้านเหรียญสหรัฐ และตลอดระยะเวลาที่ใช้เงินอยู่นั้นก็ไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าจะสกัดสูตรเคมีออกมาเป็นยาที่รักษาโรคได้จริง

ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏมานานแล้วว่า เม็ดเงินที่บริษัทยาทุ่มให้กับการวิจัยในแต่ละปีนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการตลาดและโฆษณา ก็ยังเป็นระดับที่ ‘สูงเกินเอื้อม’ อยู่ดี สำหรับบริษัทยาที่ตั้งใจว่าจะไม่แสวงหากำไรอย่าง OneWorld Health

ครั้นจะไปหาเงินบริจาคจากมูลนิธิรวยๆ มาทำวิจัย ก็คงไม่มีมูลนิธิใดในโลกที่ ‘ใจป้ำ’ พอที่จะอยากบริจาคเงินทีละหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการวิจัยที่ต้องใช้เวลานานหลายปี แถมมี ‘ความเสี่ยง’ สูงว่าจะล้มเหลวอีกต่างหาก

คำตอบอันชาญฉลาดของเฮล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของ OneWorld Health อยู่ตรงที่เธอมองเห็นว่า บริษัทยาและสถาบันวิจัยต่างๆ เป็นเจ้าของสูตรเคมีนับล้านๆ สูตร ที่ถูกคิดค้นหรือค้นพบในกระบวนการทำวิจัยยาใหม่ๆ แต่แล้วก็ถูกบริษัทยาเก็บขึ้นหิ้งทิ้งไว้เฉยๆ เพราะมันไม่ได้นำไปสู่ตัวยาที่ใช้ได้จริง หรือไม่ก็เป็นยาที่ใช้ได้ผลจริง แต่เฉพาะสำหรับโรคที่มีแนวโน้มว่าจะทำกำไรได้ ‘ไม่สูงพอ’ สำหรับบริษัทยา (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องตอบผู้ถือหุ้นให้ได้ว่า เงินลงทุนที่ใช้ไปในการวิจัยนั้นจะทำผลตอบแทนได้ดี) เช่น เพราะผู้ป่วยเป็นโรคนี้มีจำนวนไม่มากนัก หรือที่ภาษาธุรกิจเรียกว่า ‘ตลาดมีขนาดเล็กเกินไป’

ในฐานะที่เธอเคยเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินใบขออนุญาตยาใหม่ๆ ประจำ FDA เฮลจำได้ว่าเคยเห็นยาหลายสิบชนิดที่ยังอยู่ระหว่างขั้นทดลอง ที่มีแนวโน้มว่าจะใช้รักษาโรคได้ดี แต่แล้วบริษัทยาก็ตัดสินใจไม่ผลิตยาเหล่านั้นออกมาด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่ามัน ‘ไม่คุ้ม’ ในแง่ธุรกิจ

ในกรณีของสถาบันวิจัยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ พวกเขามักจะเผชิญปัญหาตรงกันข้ามกับบริษัทยา กล่าวคือ ทำการวิจัยไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็ต้องหยุด เพราะไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนการพัฒนาขั้นต่อไปได้ (ปกติบริษัทยาจะไปติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ของสถาบันวิจัยไปพัฒนาต่อ แต่เฉพาะในกรณีของยารักษาโรคที่บริษัทยามั่นใจว่าจะทำกำไรได้ ‘คุ้ม’ เท่านั้น ซึ่งแปลว่าโรคร้ายที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนจนก็จะยังไม่ได้รับการเหลียวแลเหมือนเดิม)

เฮลเล็งเห็นว่า หากเธอสามารถหว่านล้อมให้บริษัทยาหรือสถาบันวิจัยผู้เป็นเจ้าของ ‘สูตรเคมีกำพร้า’ (orphaned compounds) เหล่านี้ เปิดกรุสูตรเคมีที่พวกเขาไม่คิดจะใช้ประโยชน์อะไรอีกแล้ว ให้ OneWorld Health เข้าไปคัดสรรสูตรเคมีที่มี ‘แววดี’ มาพัฒนาต่อจนเป็นยา หลังจากนั้นก็ไปขออนุมัติจากภาครัฐ และเริ่มติดต่อบริษัทผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย ซึ่งมีต้นทุน (เช่น ค่าแรง) ต่ำกว่าบริษัทในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อผลิตยาและจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยาต่อไป

วิธีนี้จะช่วยให้ OneWorld Health สามารถพัฒนายารักษาโรคได้โดยใช้ต้นทุนต่ำและความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็จะช่วยให้หาเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ง่ายขึ้นอีกเปลาะหนึ่งด้วย



……

โมเดล และความสำเร็จของ OneWorld Health

ถึงแม้เฮลจะก่อตั้ง OneWorld Health ให้เป็น ‘องค์กรไม่แสวงหากำไร’ ก็ตาม รูปธรรมของบริษัทนี้มีลักษณะเป็น ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ มากกว่าองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วไป ทั้งนี้ เพราะ OneWorld Health ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการดำเนินการ เพราะต้องว่าจ้างเภสัชกรและนักเคมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก นอกจากนี้ ความจำเป็นที่ OneWorld Health จะต้องทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนหลายราย นับตั้งแต่ ‘ขั้นแรก’ ของกระบวนการพัฒนายา กล่าวคือ การเจรจาต่อรองกับบริษัทยาเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสูตรเคมีที่ OneWorld Health ต้องการเลือกเฟ้นเพื่อพัฒนาต่อ ไปจนถึง ‘ขั้นสุดท้าย’ ของกระบวนการ กล่าวคือการสร้างพันธมิตรร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยาหรือผู้จัดจำหน่ายยาที่ OneWorld Health พัฒนาขึ้นมาได้ ก็แปลว่า OneWorld Health จำเป็นจะต้องใช้ความรู้และความชำนาญด้านธุรกิจ นับตั้งแต่ทักษะในการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไปจนถึงความสามารถในการเจรจาต่อรองกับบริษัทผู้จัดจำหน่าย ซึ่งความชำนาญด้านธุรกิจนี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของ OneWorld Health ไม่น้อยไปกว่าความสามารถด้านการหาเงินอุดหนุนองค์กร และการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตสำหรับยาทุกประเภท

ประสบการณ์รอบด้านของเฮล ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานบริษัทเอกชน และผู้ประกอบการ ช่วยทำให้เธอสามารถดำเนิน ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ โมเดลใหม่ได้อย่างราบรื่น

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของ OneWorld Health คือความสามารถของเภสัชกร นักเคมี และนักวิทยาศาสตร์ที่เฮลเป็นโต้โผใหญ่ ในการเลือกเฟ้นและคัดสรรสูตรเคมีที่มีแววว่าจะพัฒนาต่อไปเป็นยาได้ ความเชี่ยวชาญด้านการทดลองยาในห้องแล็บ ในสัตว์ และในมนุษย์ ตลอดจนความสามารถในการขอรับใบอนุญาตจากภาครัฐให้วางตลาดยาใหม่

ปัจจุบัน OneWorld Health มีนักวิทยาศาสตร์หลายสาขา เช่น นักเคมี นักจุลชีววิทยา และนักชีวสถิติ (biostatistician) ทำงานเป็นพนักงานเต็มเวลา 15 คน สามีของเฮลคือ อาห์วี เฮอร์สโควิทซ์ (Ahvie Herskowitz) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ทำงานเป็นผู้ควบคุมด้านปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) และผู้ควบคุมด้านการแพทย์ (Chief Medical Officer) ของบริษัท

ตั้งแต่จุดกำเนิดในปี 2000 OneWorld Health ได้ริเริ่มโครงการพัฒนายาแล้วจำนวน 5 โครงการ มีจุดประสงค์เพื่อรักษา ‘โรคคนจน’ 4 โรค ได้แก่โรคเลย์ชะเมเนียซิสในอวัยวะภายใน (Visceral Leishmainiasis), โรคมาเลเรีย, โรคท้องเดิน, และโรคชากัส (Chagas) ซึ่งโรคทั้งหมดนี้มีผู้ป่วยยากไร้จำนวนหลายล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาใน 3 ทวีปคือ แอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้

หลังจากใช้ความพยายามหลายปี ในที่สุดความสำเร็จครั้งแรกของ OneWorld Health ก็ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2006 เมื่อรัฐบาลอินเดียอนุมัติยาพาโรโมมัยซิน (Paromomycin) ยาปฏิชีวนะใหม่ที่ OneWorld Health พัฒนาขึ้นจาก ‘ยากำพร้า’ เพื่อรักษาโรคเลย์ชะเมเนียซิสในอวัยวะภายใน (Visceral Leishmainiasis) หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘black fever’ โรคนี้ไม่พบในประเทศไทย แต่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยจากคัมภีร์ตักศิลา คัมภีร์เก่าแก่ของอินเดียไว้แล้วว่า ‘ไข้กาฬ’

ไข้กาฬเกิดจากพยาธิชื่อ Leishmainiasis ซึ่งมีแมลงดูดเลือด (sand fly) เป็นพาหะนำโรค เป็นโรคติดต่อรุนแรงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ผู้ป่วยจำนวนมากที่รอดชีวิตมาได้ก็รอดด้วยความพิการ เช่น ตาบอด ติดตัวไปตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้กว่า 1.5 ล้านคน ใน 62 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ และซูดาน แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่จำนวนกว่า 500,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 200,000 คน

ความสำเร็จของ OneWorld Health ในการพัฒนายารักษาโรคไข้กาฬ เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่แสดงให้เห็นว่าวิสัยทัศน์และโมเดลการพัฒนายาของเฮลนั้นเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง ลบคำสบประมาทของนักธุรกิจจำนวนมากในวงการยาลงอย่างสิ้นเชิง

ยาพาโรโมมัยซินมีจุดเริ่มต้นจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คิดค้นยาไวอะกร้า ไฟเซอร์ได้พัฒนายาพาโรโมมัยซินในฐานะยาปฏิชีวนะทั่วไป ไปจนถึงระดับที่ผ่านการทดสอบขั้นกลาง (mid-stage trials) แล้ว แต่แล้วก็ตัดสินใจเก็บยานี้ขึ้นหิ้งไป เพราะคิดว่าจะทำกำไรให้กับบริษัทน้อยเกินไป

แน่นอน ไฟเซอร์ไม่เคยคิดที่จะทดลองใช้ยาตัวนี้กับโรคไข้กาฬ เพราะเป็น ‘โรคคนจน’ ที่ไม่คุ้มค่าเงินลงทุนของไฟเซอร์

นี่คือจุดที่ OneWorld Health เริ่มทำงาน เฮลช่วยองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ในการเจรจาขอรับโอนลิขสิทธิ์ยาตัวนี้จากไฟเซอร์ได้สำเร็จ ต่อมา WHO ก็ตกลงให้เฮลนำยาตัวนี้ไปทำการทดสอบขั้นสุดท้าย (late-stage trials) ซึ่งหมายความว่า OneWorld Health ต้องออกแบบการทดสอบ วิเคราะห์ข้อมูลและผลข้างเคียงเพื่อพิสูจน์ว่ายาตัวนี้ใช้รักษาโรคไข้กาฬได้จริงๆ และส่งผลการทดสอบให้รัฐบาลอินเดียอนุมัติ (ไม่ใช่รัฐบาลอเมริกัน เพราะเฮลต้องการผลิตยาตัวนี้ในประเทศอินเดีย ประเทศที่มีบริษัทผู้ผลิตยาเลียนแบบคุณภาพดีจำนวนมาก ที่มีราคาถูกกว่าถ้าผลิตในอเมริกาหลายเท่า)

ระหว่างที่รอผลการอนุมัติจากรัฐบาลอินเดีย เฮลก็ติดต่อเจรจากับบริษัทผู้ผลิตยาเลียนแบบในอินเดียชื่อ Gland Pharma ให้ตกลงผลิตยาพาโรโมมัยซินแบบฉีดในราคาทุน และติดต่อองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากเพื่อระดมแพทย์อาสาและอาสาสมัครมาช่วยฉีดยาตัวนี้ให้กับผู้ป่วย

ยาพาโรโมมัยซินจะวางขายในราคาต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐ (ระดับรายได้ที่สหประชาชาติถือเป็นเกณฑ์วัด ‘เส้นความจนสากล’) เป็นครั้งแรกในมลรัฐบิฮาร์ (Bihar) ของอินเดีย

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน อีกภายในไม่กี่ปี โรคไข้กาฬจะหมดไปจากโลก ด้วยความพยายามของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยาสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้ โดยไม่ต้องงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือ ‘ระบบราชการเงินช่วยเหลือ’ อันเชื่องช้าขององค์กรโลกบาลต่างๆ

……

ก้าวต่อไปของ OneWorld Health

นอกเหนือจากโครงการพัฒนายารักษาโรคไข้กาฬ โครงการอื่นๆ ของ OneWorld Health ก็คืบหน้าไปไม่แพ้กัน ในด้านของโรคมาเลเรีย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ (Berkeley) และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) เกิดใหม่ชื่อ อาไมริส (Amyris) ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตสารเคมีต้านมาเลเรียในห้องทดลองได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ก้าวต่อไปของ OneWorld Health คือการทำงานร่วมกับบริษัทอาไมริส เพื่อหาวิธีผลิตและจัดจำหน่ายยาต้านมาเลเรียในราคาย่อมเยา เพื่อพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมของพวกเขามีประสิทธิภาพดีทัดเทียมกับโมเดลการทดลองในห้องแล็บ

ในด้านของโรคชากัส (Chagas) โรคติดต่อโดยพยาธิอีกประเภทหนึ่งที่รุนแรงไม่แพ้ไข้กาฬ มีผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 8-11 ล้านคน โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ OneWorld Health ได้รับใบอนุญาตฟรีจากบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งคือ Celera Genomics สำหรับ ‘สูตรเคมีกำพร้า’ ตัวหนึ่งที่เฮลคิดว่าจะสามารถพัฒนาต่อเป็นยารักษาโรคชากัสได้ หัวหน้าฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของ Celera ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า Celera ไม่สูญเสียอะไรจากการอนุญาตให้เฮลนำสูตรเคมีตัวนี้ไปใช้ฟรี เพราะไม่มีใครในบริษัทสนใจจะทำอะไรกับสูตรตัวนี้อยู่แล้ว ปัจจุบัน OneWorld Health อยู่ระหว่างการทดสอบสูตรเคมีชนิดนี้ในสัตว์

ความท้าทายหลักของเฮล คือการหาเงินมาใช้ในการทำงานของ OneWorld Health อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีทางที่รายได้จากการขายยาให้คนจนจะสูงพอให้ถอนทุนได้ อย่างไรก็ตาม โมเดลการพัฒนายาอันชาญฉลาดของเฮลดังที่อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ทำให้ใช้เงินน้อยกว่ากระบวนการปกติของบริษัทยาหลายเท่า ซึ่งจูงใจให้มูลนิธิร่ำรวยหลายรายยินดีให้การสนับสนุน เช่น เฮลใช้เงินเพียง 7 ล้านเหรียญเท่านั้นในการพัฒนายาพาโรโมมัยซินจนผลิตออกมาเป็นยาได้ เงินทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินงานของ OneWorld Health จวบจนปัจจุบัน เป็นเงินให้เปล่าจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ บิล เกตส์ และภรรยา และมูลนิธิแห่งนี้ก็กำลังจะอนุมัติเงินให้เฮลอีก 30 ล้านเหรียญ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการอื่นๆ

แม้ว่าการหาเงินอาจไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งหนึ่งที่เฮลไม่เคยขาดมือคือ ข้อเสนอสูตรเคมีและยาใหม่ๆ จากนักวิทยาศาสตร์และเภสัชกรประจำมหาวิทยาลัยและบริษัทยาต่างๆ ทั่วโลก ที่อยากช่วยงานของ OneWorld Health และคิดว่าสูตรเคมีที่พวกเขารู้จัก อาจนำไปพัฒนาต่อเป็นยาได้ ปัจจุบันเธอได้รับข้อเสนอยาทางอีเมล์แล้วกว่า 120 ฉบับ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ วิคตอเรีย เฮล กำลังช่วย ‘สร้างสะพาน’ เชื่อมระหว่างความเชี่ยวชาญของมืออาชีพ กับผู้ยากไร้ที่ต้องการความเชี่ยวชาญนั้นที่สุดแต่ไม่มีกำลังซื้อ ในวงการอุตสาหกรรมยา ไม่ต่างจากที่คาเมรอน ซินแคลร์ (Cameron Sinclair) กำลังสร้างสะพานประเภทเดียวกันในวงการสถาปัตยกรรม

เฮลเล่าประสบการณ์ ข้อคิด และวิสัยทัศน์ของเธอไว้อย่างน่าสนใจในบทสัมภาษณ์ โดยวารสาร Social Innovation Review ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงขอแปลมาให้ทุกท่านได้อ่านเป็นการปิดท้ายบทความนี้

อ่านแล้วท่านอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า วิคตอเรีย เฮล กำลังปฏิวัติวงการยาเพื่อผู้ยากไร้ ในทำนองเดียวกับที่มูฮัมหมัด ยุนุส (Muhammad Yunus) ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2006 เคยปฏิวัติวงการธนาคารเพื่อผู้ยากไร้มาแล้ว

……

อะไรคือเหตุผลที่คุณก่อตั้งองค์กรผลิตยาที่ไม่แสวงหากำไร?

เมื่อใดที่มีโอกาสงามๆ ในการทำรายได้มหาศาล บริษัทยาก็จะวิ่งเข้าหาโอกาสนั้นทันที แต่เมื่อใดที่มีโอกาสช่วยเหลือผู้ยากจนข้นแค้นในโลก วงการยาก็จะนิ่งเฉย นั่นคือสถานการณ์ของโรคระบาดร้ายแรงระดับโลกในอดีต

ดังนั้นประเด็นหลักของเรื่องนี้จึงเข้าใจง่ายมาก กล่าวคือ ถ้าอุปสรรคที่กีดกันไม่ให้ใครทำวิจัยค้นคว้ายาเหล่านี้คือเงื่อนไขด้านกำไร มันก็ควรเป็นไปได้ที่จะวิจัยยาเหล่านี้ภายในบริษัทยาที่ไม่มีเงื่อนไขด้านกำไรดังกล่าว นั่นคือการทดลองของ OneWorld Health บทพิสูจน์ว่าแนวคิดข้อนี้ของเราถูกต้องคือ เราเพิ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียให้ผลิตยาพาโรโมมัยซินแบบฉีด เพื่อรักษาโรคไข้กาฬ

นักธุรกิจในวงการอื่นๆ ไปจัดตั้งบริษัทแสวงหากำไรที่มีเป้าหมายทางสังคม เหตุใดคุณจึงไม่เลือกวิธีนั้น?

การวิจัยค้นคว้ายาใหม่ๆ นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อย่างต่ำหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งเงินทุนปกติขององค์กรแสวงหากำไร เช่น กองทุนร่วมลงทุน (venture capital) นั้นนำมาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ กองทุนร่วมลงทุนไม่มีเวลาสองนาทีให้เราด้วยซ้ำ ดังนั้น การตั้งมูลนิธิตั้งแต่แรกจึงเป็นวิธีเดียวที่เราทำได้ แต่ถ้าถามว่า จำเป็นหรือเปล่าที่เราต้องเป็นบริษัทยาที่ไม่แสวงหากำไรตลอดไป? คำตอบคือ เรายังไม่รู้แน่ เนื่องจากเราได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เราสามารถค้นคว้าวิจัยยาใหม่ๆ และวางตลาดยาได้ ตอนนี้จึงมีนักลงทุนหลายรายที่เข้ามาพบกับเรา ขอให้เราลองพิจารณาโมเดลอื่นๆ ที่ไม่ใช่องค์กรไม่แสวงหากำไรแบบเดียว เราจะลองคำนึงถึงโอกาสอื่นๆ เหล่านั้นหรือไม่? แน่นอนว่าเราจะลองดู

คุณใช้เงินเท่าไรในการนำยา paromomycin ออกมาวางตลาด?

เงินที่เราใช้ไปตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด นับตั้งแต่การนำยากลับมาใช้ใหม่ (restarting) การผลิต การทดลองยาในมนุษย์ จนถึงการได้รับความเห็นชอบจากทางการ มีมูลค่าประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายปกติในการนำยาจากห้องทดลองมาสู่ตลาดหลายเท่า OneWorld Health ประหยัดเงินได้เพราะพาโรโมมัยซินเป็นยาตัวเดิมที่ถูกคิดค้นขึ้นมานานแล้ว แต่มีเป้าหมายเพื่อรักษาโรคอื่น เป็นยาเก่าที่ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสิทธิบัตรแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ OneWorld Health ต้องทำ มีเพียงการทดลองยาในมนุษย์ (clinical trials) ขั้นสุดท้าย เพื่อยืนยันว่ายาตัวนี้สามารถรักษาโรคไข้กาฬได้จริง

คุณจะขายยาตัวนี้ในราคาเท่าไหร่?

เราตั้งราคาเท่ากับต้นทุนในการผลิตและบรรจุหีบห่อ ผู้ป่วยเป็นโรคไข้กาฬคือกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลก ผู้ยากไร้ที่อยู่ได้ด้วยเงินเพียงวันละ 30 เซนต์ ดังนั้น การถอนทุน 17 ล้านเหรียญที่เราใช้ไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ [มูลนิธิเกตส์เป็นผู้อุดหนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว] มีโรคร้ายแรงแบบนี้บางโรคที่เราต้องใช้วิธีแก้แบบไม่แสวงหากำไรสถานเดียว และก็มีโรคร้ายแรงอีกหลายชนิดที่ฉันเชื่อว่าเราสามารถใช้โมเดลใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลลูกผสมระหว่างองค์กรแสวงหากำไร กับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรไปเลย โดยเฉพาะโรคระบาดที่มีแนวโน้มว่าจะทำรายได้มหาศาลให้กับผู้ผลิตยา

โรคมาเลเรียและโรคท้องเดินคือเป้าหมายต่อไปของเรา ยาที่จะรักษาโรคทั้งสองนี้ได้ไม่มีทางเป็นยาที่จะทำรายได้มหาศาลแน่ๆ แต่โรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมหาศาลในโลก รวมทั้งชาวตะวันตก คือทหารและนักเดินทาง [ที่เดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เยอะ] ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ป่วยเป็นโรคทั้งสองนี้รวมถึงประชากรฐานะดีผู้อาศัยอยู่ในเมือง และชนชั้นกลาง วิธีตั้งราคาแบบเป็นขั้นบันได (tiered pricing) จะช่วยให้เราสามารถทำกำไรจากการขายยาให้กับกลุ่มผู้ป่วยฐานะดี และจำหน่ายยานั้นในราคาทุนหรือต่ำกว่าทุน เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงยาได้

อุตสาหกรรมสุขภาพของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในช่วงหกปีนับตั้งแต่คุณก่อตั้ง OneWorld Health ขึ้นมา?

เราคือสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของคน คนเคยมององค์กรของเราแล้วก็หัวเราะเยาะว่า “โมเดลนี้ไม่มีทางเป็นไปได้” แต่ตอนนี้เราได้รับรางวัลมากมาย ฉันคิดว่าโลกหมุนไปค่อนข้างเร็วในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา และฉันคิดว่านั่นเป็นเพราะได้เกิดพันธมิตรระหว่างรัฐและเอกชนที่ตกลงมาร่วมมือกัน และพันธมิตรเหล่านั้นจำนวนมากก็ได้รับเงินอุดหนุนและแรงบันดาลใจจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เมื่อก่อน โรคในเขตร้อน (tropical diseases) เป็นสาขาที่ไม่มีใครสนใจวิจัย แต่ตอนนี้มูลนิธิเกตส์บอกเราว่า “ถ้าคุณวิจัยและค้นพบตัวยา เราจะพัฒนามันและช่วยวางตลาดให้” นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกระบวนการนั้นคือส่วนที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับบริษัทยา นั่นคือส่วนที่ยาพวกนี้ต้องแข่งขันกับยารักษาโรคเบาหวาน หรือยารักษาโรคหัวใจ

บริษัทยา(ที่แสวงหากำไร)ก็ได้เริ่มพัฒนายาที่รักษาโรคในเขตร้อนแล้วมิใช่หรือ?

ใช่ค่ะ เพราะสาขานี้มีคนจุดประกายแล้ว เลยทำให้ตอนนี้บริษัทต่างๆ กลับไปดูหิ้งของพวกเขากันใหม่ ไปพลิกดูในสมุดโน้ต หันกลับไปรื้อโครงการที่เคยถูกแขวนไป ฟื้นมันขึ้นมาเดินต่อ บริษัทที่ไม่มีโอกาสเหล่านั้นในองค์กรของตัวเองกำลังทำอย่างอื่นที่ทำได้ เช่น บางบริษัทไปร่วมเป็นพันธมิตรกับภาครัฐเพื่อทำการวิจัยยาใหม่ๆ เช่น พันธมิตรนานาชาติเพื่อการพัฒนายารักษาวัณโรค (Global Alliance for TB Drug Development) และ พันธมิตรเพื่อการวิจัยยารักษาโรคมาเลเรีย (Malaria R&D Alliance) บริษัทอื่นๆ ร่วมเป็นหุ้นส่วนในขั้นตอนการจัดจำหน่ายหรือการพัฒนายา เราคุยกับบริษัทหลายรายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเป็นหุ้นส่วนในการจัดจำหน่าย หรือปรับปรุงสูตรยาสำหรับเด็ก หรือส่วนอื่นๆ ในขั้นตอนการพัฒนาสินค้าของพวกเขา มีบริษัทมากมายที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ พวกเขาไม่มองว่าสุขภาพระดับโลกเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินแก้อีกต่อไปแล้ว

คุณทำงานในอุตสาหกรรมที่จ้างคนด้วยเงินเดือนสูงๆ เช่น นักวิจัยเคมีในบริษัทยา องค์กรของคุณต้องจ้างคนเหล่านี้เหมือนกัน คุณดึงดูดพวกเขาให้มาทำงานกับคุณได้อย่างไร?

นี่เป็นเรื่องยากสำหรับเรา แต่เราก็มีนักเภสัชศาสตร์ที่เข้าวงการเพราะอยากช่วยชีวิตคน พวกเขาหลายคนบอกเราว่า “ฉันจำไม่ได้แล้วว่า ความรู้สึกที่ว่างานของฉันได้ช่วยเหลือมนุษยชาตินั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไร แต่ฉันรู้สึกแบบนี้ได้ทุกวันเมื่อมาทำงานกับคุณ” ดังนั้นจะเห็นว่าบางคนก็ทำงานมาถึงจุดนั้น จุดที่มันอาจจะเป็นเพียงช่วงเวลาชั่วคราว จุดที่พวกเขาตัดสินใจว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาอยากทำ พวกเขาเหล่านั้นเสียสละอ็อพชั่นหุ้น โบนัสก้อนโต และยอมรับเงินเดือนน้อยกว่าเดิม คนประเภทนี้คือคนที่เราต้องการ เพราะเรากำลังทำงานที่ยากมากๆ

คำตอบเมื่อกี้แปลว่าคุณสู้เงินเดือนของบริษัทยาไม่ได้?

เราจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าบริษัทยาประมาณร้อยละ 25

เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณจะจ่ายเงินเดือนได้ทัดเทียมกับบริษัทยาในอนาคต?

ฉันอยากให้เราไปถึงจุดนั้น ไม่มีวันที่เราจะเสนออ็อพชั่นหุ้นให้กับพนักงาน หรือจ่ายโบนัสดีเท่ากับบริษัทยาที่แสวงหากำไร แต่ถ้าเราสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เราก็สามารถนำเงินนั้นกลับมาใส่บริษัท เพื่อดึงดูดพนักงานเก่งๆ ให้ทำงานกับเราต่อไป ตอนนี้ก็มีพนักงานบางคนที่บอกเราว่า “ฉันทำงานแบบนี้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ตอนนี้งานนี้มีค่ากับฉันมากเหลือเกิน” ดังนั้นถ้าเราอยากจีบคนแบบนี้ให้อยู่ทำงานต่อ เราก็ต้องเสนอเงินเดือนดีๆ ให้กับพวกเขาได้ภายในอีกปีสองปีนับจากนี้

ขั้นตอนใดบ้างในกระบวนการพัฒนายาที่คุณให้ความสนใจ?

องค์กรของเราตั้งอยู่ใจกลางเมืองซาน ฟรานซิสโก เราจึงไม่มีโรงงานหรือห้องแล็บใดๆ ทั้งสิ้น เราใช้วิธีสร้างพันธมิตรเพื่อทำการทดลองและผลิตยา เราทำส่วน “D” (พัฒนา ย่อมาจาก Development ใน Research & Development หรือย่อว่า R&D) เอง นั่นคือส่วนที่ทำการทดลองในสัตว์และในมนุษย์ แต่สำหรับขั้นตอนก่อนหน้านั้นคือ “R” (Research) เราจำเป็นจะต้องไปเป็นพันธมิตรกับผู้คิดค้นเทคโนโลยี [ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์]

การหว่านล้อมให้บริษัทยาและองค์กรอื่นๆ ยอมให้คุณเข้าถึงผลการวิจัยและสิทธิบัตรของพวกเขา เป็นเรื่องยากขนาดไหน?

ตอนแรกนี่เป็นเรื่องยากพอสมควรทีเดียว เรามีผู้ให้บริจาคบางราย และมีคนเสนอใบอนุญาตบางตัวให้ แต่ยาตัวแรกที่เราผลิตเป็นยาที่ไม่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรแล้ว (off-patent drug) แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ว่าบริษัทยาทุกรายจะอยากเดินมาหาเราแล้วออกปากเชิญว่า “อยากได้อะไรก็เอาไปเลย” แต่มีบริษัทหลายแห่งที่บอกเราว่า “เรามีส่วนประกอบทางเคมีเป็นล้านๆ ตัว คุณอยากจะใช้ห้องสมุดของเราและสูตรเคมีของเรา เพื่อลองดูว่ามันจะช่วยรักษาโรคที่คุณวิจัยอยู่หรือเปล่า?”

นอกจากนี้ก็มีบริษัทอีกหลายแห่งที่ติดต่อเรามาว่า “ยาตัวนี้วางตลาดในโลกตะวันตกสำหรับรักษาโรค A และเรารู้จากวรรณกรรมว่ามันน่าจะช่วยรักษาโรค B ในเขตร้อนสำหรับสัตว์ได้ เรายินดีที่จะพิจารณาทำงานร่วมกับ OneWorld Health”

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ฉันรู้ว่าอุตสาหกรรมยาต้องการทำแบบนี้ และพวกเขาก็ทำแบบนี้ได้ เพียงแต่ต้องมีใครสักคนที่พวกเขาทำงานด้วยได้ แต่สถาบันแบบนี้ไม่ควรมีแต่ OneWorld Health เท่านั้น จะต้องมีผู้เล่นคนอื่นๆ อีก ที่ทำงานแบบนี้ร่วมกับบริษัทยาได้

เราคุยกันเรื่องยาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว แล้วยาสำหรับโรคในโลกตะวันตกที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญล่ะ?

เราเรียกว่าโรคแบบนั้นว่า “โรคกำพร้า” (orphan diseases) เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคเสื่อมสมรรถภาพทางสมองทั้งหลาย อเมริกามีสถาบันวิจัยหลายแห่งที่ได้รับเงินอุดหนุนให้ทำงานด้านนี้มานานหลายปี เช่น มูลนิธิ Cystic Fibrosis คิดค้นวิจัยยารักษาโรคนี้จนถึงขั้นที่ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์กับบริษัทยาแล้ว มีมูลนิธิที่ทำงานด้านวิจัยอย่างเดียวประมาณ 20 แห่งมาติดต่อเรา บอกว่า “เราคิดว่าเราได้ค้นพบสูตรเคมีที่พร้อมสำหรับการพัฒนาแล้ว OneWorld Health จะช่วยเราพัฒนาหรือเปล่า?” เราตอบพวกเขาไปว่า “ณ จุดนี้เราจะยังไม่พัฒนายาสำหรับโรคกำพร้า เพราะเป้าหมายแรกของเราคือผู้ป่วยยากจนทั่วโลก แต่เราสามารถช่วยพวกคุณจัดตั้งบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร หรือบริษัทลูกผสม เพื่อพัฒนาสูตรเคมีเหล่านี้ให้เป็นยาต่อไป เมื่อคุณพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง คุณก็อาจจะสามารถโน้มน้าวบริษัทยาให้มารับช่วงต่อ” ในอนาคตเราอาจกลับไปทบทวนโมเดลของเรา เพื่อดูว่าเราจะอยากพัฒนายาเพื่อตลาดโลกตะวันตกหรือเปล่า แต่ตอนนี้เราอยากรักษาเป้าหมายไว้ที่โรคร้ายแรงระดับโลก และช่วยคนอื่นๆ ด้วยการแบ่งปันโมเดลในการทำธุรกิจของเรามากกว่า

คุณคิดว่าเราจะเห็นจุดกำเนิดของบริษัทไม่แสวงหากำไรเหล่านี้หรือเปล่า?

ที่ผ่านมา เรามีส่วนร่วมในการก่อตั้งบริษัทผลิตวัคซีนที่ไม่แสวงหากำไรสองแห่ง และบริษัทด้านการวินิจฉัยโรคที่ไม่แสวงหากำไรอีกสองแห่ง ฉันเชื่อมั่นว่ามีโรคบางชนิดที่เรารับมือได้ดีที่สุดด้วยโมเดลที่ปราศจากเงื่อนไขด้านผลตอบแทนการลงทุน หรือแม้กระทั่งเงื่อนไขด้านการถอนทุนค่าวิจัย เรามีเทคโนโลยีพร้อม ความต้องการก็มี ผู้เชี่ยวชาญผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ก็มี เราเพียงแต่ต้องออกแบบองค์กรให้ปัจจัยเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ชายคาเดียวกัน อะไรสักอย่างที่เป็นลูกผสมระหว่างองค์กรแสวงหากำไร กับองค์กรไม่แสวงหากำไร ชื่ออะไรก็ได้แล้วแต่คุณจะเรียก โมเดลของ OneWorld Health ควรจะมีรุ่นที่สองที่พัฒนาต่อยอดออกไปอีก

ฉันอยากให้ OneWorld Health เป็นองค์กรที่พัฒนาโมเดลรุ่นใหม่กว่านี้ขึ้นมา เพราะฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สนุกมากๆ แต่ถ้าเราไม่ทำเอง เราก็ยินดีช่วยคนอื่นที่อยากทำงานนี้ เพราะยิ่งมีคนทำงานด้านนี้มากเท่าไร โลกก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น.

ที่มา //www.onopen.com/2007/02/1872




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2550
2 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2550 17:49:49 น.
Counter : 2880 Pageviews.

 

whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him

 

โดย: da IP: 124.120.15.123 19 เมษายน 2553 1:38:49 น.  

 

แนะนำสมุนไพร HIV หูดหงอนไก่ ริดสีดวง งูสวัด เบาหวาน มะเร็ง สะเก็ตเงิน 0992171015 line:imm1234

 

โดย: เอ็ม IP: 1.47.167.144 17 กรกฎาคม 2558 12:15:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.