กรกฏาคม 2553

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog
เที่ยววัดไตรมิตรไหว้หลวงพ่อโตและหลวงพ่อทองคำทองคำ(ที่ใหญ่ที่สุดในโลก)
30 มิถุนายน 2553 วันนี้ช่วงเช้าพอมีเวลาว่างเลยนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปลงที่สถานีปลายทางหัวลำโพงแล้วเดินต่อไปอีกนิดหนึ่งเพื่อไปยังวัดไตรมิตร แปลกตรงที่เราก็มาเยาวราชหลายครั้งแต่กลับไม่เคยมาที่นี่ เข้าไปถึงจะเห็นอุโบสถเก่าด้านหน้าดูแปลกตากับภาพองค์รวมในบริเวณนั้น ลักษณะคล้ายกันกับวัดแถวอยุธยา



ด้านในเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต



หรือ หลวงหลวงพ่อโตวัดสามจีน" หรือ "หลวงพ่อวัดสามจีน" เพราะเมื่อก่อนที่นี่ชื่อว่าวัดสามจีน คือมีชาวจีนเพื่อนรักกันสามคนร่วมกันสร้างวัดนี้



ประวัติ์ของทางวัดว่าหลวงพ่อ พระพุทธทศพลญาณ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระพุทธลักษณะงดงามมากองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบว่าพระประธานในอุโบสถวัดสามจีนใต้มีพุทธลักษณะงดงามได้เคยเสด็จพระ ราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินและทอดพระเนตรให้ประจักษ์แก่พระเนตรของพระองค์ และทรงมีพระกระแสรับสั่งชมว่าช่างงดงามสมคำเล่าลือนัก แม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ก็ยังได้เสด็จมานมัสการพระประธานของ วัดสามจีนใต้เสมอๆ เมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ



โอ้...น่าสนใจมากๆเลยๆ นี่แหละน้าเค้าว่าอย่ามองข้ามอะไรที่อยู่ใกล้ๆตัว ผ่านมาแถวนี้ก็บ่อยๆ พลาดไปได้ไง มาที่เดียวได้กราบไหว้หลวงพ่อที่มีความสำคัญและความศักด์สิทธิ์ถึงสององค์

ด้านหน้าอุโบสถมีรูปหล่อสิงห์สำริด บริเวณทางขึ้นพระอุโบสถ



ด้านหน้าของอุโบสถยังมีเทพเจ้าไท่ส่วยเี๊อี๊ยะให้กราบไหว้บูชาขอโชคลาภ



พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเยาวราช และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)



สร้างจากหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร (พระพุทธรูปทองคำ)ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ชั้น







ต่อจากนี้คัดลอกเนื้อความมาจากทางเว็บไซต์ของวัดไตรมิตรนะคะเพราะว่าพอได้อ่านประวัติขององค์หลวงพ่อทองคำแล้วรู้สึกทึ่งมากๆ อยากจะนำมาบอกต่อๆกันค่ะ แล้วก็เอารูปที่เราถ่ายมาลงประกอบค่ะ ไม่อยากจะตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปเลยค่ะ

“พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือที่มีนามซึ่งปรากฏตามพระราชทินนาม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ว่า“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”



เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกตุเมาฬี ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง



แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ บริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้


มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระ พุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่



ในขณะนั้น “วัดสามจีน” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอาราม โดยสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติม สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง เห็นว่า จะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร



ประกอบกับวัดสามจีน มีสถานที่กว้างขวางเหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงมอบให้คณะกรรมการวัดสามจีน อันประกอบด้วย ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดพระยาไกรมาประดิษฐานยังวัดสามจีน



พระพุทธรูปปูนปั้นจึงถูกอัญเชิญมาตั้งแต่นั้น โดยในขณะที่ยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนาน จนล่วงเลยไปถึง ๒๐ ปี ใน พุทธศักราช ๒๔๙๘ การบูรณะจึงเสร็จสิ้นเรียบร้อย


เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถระ ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกองค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง



ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเห็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออก ก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาส จึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์



ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธ ลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก



ความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายหมดสิ้นลงเมื่อมีการคุ้ยดินใต้ฐานทับเกษตรออก และพบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ ๙ ส่วน เพื่อสะดวกต่อการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร จึงดำเนินการถอดองค์พระออกแต่เพียง ๔ ส่วน คือ ส่วนพระศอ ส่วนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และส่วนพระนาภี ทำให้สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยราบรื่น



การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วหน้า




มีการตรวจสอบ และประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา (มาตราทองคำของไทยโบราณตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๔ บาท ทองเนื้อเจ็ด คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๗ บาท ซึ่งเป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ซึ่งทองเนื้อเก้าจะเริ่มพบที่บางตะพานในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เรียกกันว่าทองคำบางตะพาน ส่วนคำว่าสองขาหมายถึง ๒ สลึง) มีน้ำหนักกว่า ๕ ตัน คิดเป็นน้ำหนักทองคำ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘ ) ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๙๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาท) อันเป็นราคาทองคำที่ถูกประเมินในครั้งแรก

พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็น “พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้ทำการประเมินค่าอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบันทึกไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง ๒๑.๑ ล้านปอนด์ แล้วบันทึกลงเป็นข้อความว่า

Highest intrinsic value is the 15th-century gold Buddah in Wat Trimitr Temple in Bangkok, Thailand. It is 3-04 m 10 ft tall and weighs an estimated 51/2 tonnes. At the April 1990 price of $ 227 per fine ounce, its intrinsic worth was $ 21.1 million. The gold under the plaster exterior was found only in 1954.
ข้อความที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ กินเนสบุ๊ก ออฟ เดอะ เวิร์ด เรคคอร์ด

องค์พระพุทธรูปทองคำที่ถูกค้นพบ เป็นพุทธศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธปฏิมากรรมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามถึงจุดสุดยอดในกระบวนฝีมือสกุลช่างสุโขทัย ซึ่งในการจัดแบ่งศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยของ เอ.บี.กริสโวลด์ (A.B. Giswold ) นั้น ได้แบ่งศิลปะออก เป็น ๓ หมวด คือ ๑. ก่อนคลาสสิก ๒. คลาสสิกบริบูรณ์ และ ๓. หลังคลาสสิก พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรนี้ นับเป็นศิลปะแบบคลาสสิคบริบูรณ์ อันเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของสกุลช่างสุโขทัย มีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙

ทองคำนับเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในสังคมสยามแต่โบราณ ในสมัยสุโขทัยนั้น จากข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่า มีแหล่งแร่ทองคำบริเวณลำห้วยแม่ปอย เขตอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชชนาลัยเพียง ๒๕ กิโลเมตร มีการค้นพบเหมืองแร่โบราณในบริเวณดังกล่าว แม้จะมีสายแร่ทองคำเนื้อธรรมชาติไม่มากนัก แต่นับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการนำทองคำมาใช้ในสังคมสุโขทัยได้อย่างชัดเจน

ในศิลาจารึกหลักที่ ๕ วัดป่ามะม่วง กล่าวถึง การบำเพ็ญบุญของพระมหาธรรมราชา โดยทรง “กระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน...” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทองคำในสมัยนั้นในกลุ่มชนชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์ มักจะนิยมสร้างพระพุทธรูปหรือโบราณวัตถุที่สำคัญทางพุทธศาสนาจากทองคำ บริสุทธิ์ โดยทรงเป็นศูนย์กลางการดำเนินการ เช่น การสร้างสำเภาทองลอยพระธาตุ ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า

“....เชิญ พระธาตุมาถึงเมืองแล้ว พระธรรมราชาเจ้าจึงป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธาก็เอาทองมาประมวลกันได้ ๒,๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีเป็นเภาเภตรา จึงใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ...”

ในการสร้างพระพุทธรูปสำคัญ สังคมสุโขทัยจะใช้ลักษณะดังกล่าว และพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้าง และใช้วิธี “ป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธา” หรือให้หัวเมืองภายใต้พระราชอำนาจส่งมอบวัตถุดิบในการจัดสร้างโดยมี “ช่างหลวง” เป็นผู้ดำเนินการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า

“...พระ เจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงรำพึงในพระทัยจะใคร่สร้างพระพุทธรูปให้แล้วด้วย สัมฤทธิ์ ครั้นพระองค์รำพึงแล้วจึงให้หาช่างได้บาพิศณุคนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาธรรมราชคนหนึ่ง บาราชกุศลคนหนึ่ง ได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลย ๕ คน มาแต่เมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง เป็นช่าง ๖ คน จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งช่างทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายให้ชวนกันรักษาศีล ๕ ประการอย่าให้ขาด ครั้นสั่งช่างแล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่ไพร่ทั้งหลายให้ขนดินแลแกลบให้แก่ ช่าง ช่างจึงประสมดินปั้นเป็นพระพุทธเจ้าสามรูปตามมีพระราชโองการตรัสสั่งนั้น ให้เหมือนพิมพ์เดียวแลใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นเป็นเบ้าคุมพิมพ์แล้วท้าวพระยาทั้งหลายก็นำเอาทองสัมฤทธิ์มาถวายแก่ พระองค์เจ้า ชวนกันหล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก แลช่างหล่อชวนกันกินบวชเจ็ดวัน ก็ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งเจ็ดทิศ ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงเอาพิมพ์เข้าเตา...”

กรรมวิธีการหล่อพระพุทธรูปในสมัยโบราณนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น
“ฝีมือช่างราษฎร์” กับ “ฝีมือช่างหลวง” ฝีมือช่างราษฎร์ จะเป็นกลุ่มของชาวบ้านที่มีศรัทธาจะสร้างพระพุทธปฏิมาส่วนใหญ่มิได้เคร่ง ครัดในส่วนผสมของโลหะเท่าใดนัก เมื่อทราบข่าว จะมีการหลอมหล่อพระพุทธรูป มักจะนำโลหะมีค่าจากบ้านเรือนของตนมาเป็นวัตถุดิบร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูป ช่างผู้ซึ่งดำเนินการจะนำหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นไว้ตั้งเอาหัวลง เมื่อเทน้ำโลหะลงไปธาตุที่หนักที่สุดซึ้งได้แก่ ทองคำ จะลงไปตกตะกอนอยู่ในส่วนล่างสุด คือ ส่วนเศียรพระพุทธรูป ดังนั้น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ จะมีพระเศียรเปล่งปลั่งสุกใสกว่าส่วนอื่น



ส่วนการหล่อโดยฝีมือช่างหลวงนั้น จะเน้นอัตราส่วนผสมของโลหะเป็นพิเศษ กรรมวิธีโดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน หากเพิ่มความละเอียดประณีตโดยเริ่มจากการ “ ขึ้นหุ่น” หรือ “ปั้นหุ่น” ชั้นในขององค์พระด้วยดินเหนียวผสมทราย แกลบ ตามส่วน ดินที่มีมักนิยมใช้เรียกว่า “ดินขี้งูเหลือม” มีสีเหลือง โดยกำหนดสัดส่วนไว้สำหรับหุ้มขี้ผึ้งอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นใช้ขี้ผึ้งผสมกับชันเพื่อให้แข็งตัวมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นหนาเท่า กับเนื้อทองที่ต้องการนำแผ่นขี้ผึ้งหุ้มรูปหุ่นให้หมดทั้งองค์ ลงมือปั้นแต่ขี้ผึ้งให้ประณีต ฝีมือช่างจะแสดงออกมาจากการปั้นขี้ผึ้ง



หลังจากนั้นจะมีการติด “สายชนวนขี้ผึ้ง” เพื่อช่วยให้ทองแล่นได้ตลอด
โดยต้องคำนึงถึงช่องว่างที่จะเป็นส่วนให้อากาศภายในระบายออกได้ทันเมื่อเท ทอง ก่อนที่จะนำเอาขี้วัวละเอียดผสมกับดินนวลทาลงบนหุ่นขี้ผึ้งเพื่อให้ผิวทอง เรียบงาม หลังจากนั้นใช้ดินอ่อนฉาบรักษาดินขี้วัวไว้แล้วใช้ดินที่ปั้นหุ่นองค์พระ ชั้นในพอกทับอีกชั้นหนึ่ง

จากนั้นช่างผู้ทำการหล่อพระพุทธรูป จะทำการตรึงหมุดเหล็ก หรือ “ทวย” คือการแทงเหล็กแหลมเข้าไปในหุ่นขี้ผึ้งให้ทะลุเข้าไปถึงชั้นในเพื่อยึดโครง สร้างองค์พระให้แข็งแรง มิให้แตกร้าวขณะเททอง ก่อนที่จะใช้เหล็กมัดเป็นโครงหุ้มดินพอกไว้อีกชั้นหนึ่ง ที่เรียกว่า “รัดปลอก”

ต่อจากนั้นจะทำการพลิกเศียรพระพุทธรูปลงดิน เอาฐานองค์พระขึ้น โดยใช้นั่งร้านยกพื้นไม้ให้รอบสำหรับเดินเททอง ค้ำยันหุ่นด้วยเหล็กให้แน่นหนา แล้วจึงเริ่มสุมไฟเผาหุ่นไล่ขี้ผึ้งรอบองค์พระ ในขณะเดียวกันก็เริ่ม “สุมทอง” ที่เตรียมไว้พร้อมกันไปด้วย โดยมีเบ้าหลอมต่างหาก

เมื่อขี้ผึ้งละลาย หรือที่เรียกกันว่า “สำรอก” จึงเริ่มเททอง น้ำทองจะไหลลงไปแทนที่ขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งติดเอาไว้ก่อนแล้วนั้น ช่องหรือสายชนวนนี้จะเปรียบเสมือนท่อน้ำทองให้ไหลไปทั่วองค์พระปฏิมา



เมื่อเททองสมบูรณ์แล้วจะปล่อยให้หุ่นพิมพ์เย็นลงแล้วจึงแกะดินที่ปั้นเป็น หุ่นออกให้หมด ยกองค์พระให้ตั้งขึ้นเริ่มขัดถูผิวให้เรียบตัดหมุดหรือ “ทวย” รวมทั้งสายชนวนออก หากมีตำหนิก็จะมีการนำเศษทองที่เหลือตอกย้ำให้เสมอกัน หากปรากฏเป็นช่องว่างมากก็เททองเพิ่มให้เต็มที่เรียกว่า “เทดิบ” บางครั้งจะใช้ยาซัดโลหะตามกรรมวิธีโบราณผสมลงในเบ้าหลอมด้วยเพื่อซัดเศษโลหะ ออกจากน้ำทอง ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อโลหะบริสุทธิ์

ในบางครั้งจะมีการลงรักปิดทองจนทั่วองค์พระ โดยใช้ “รักสมุก” คือรักผสมผงถ่านบดละเอียด ป้ายรักสมุกเข้ากับองค์พระให้ทั่วและเรียบทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนขัดด้วยหินละเอียด จากนั้นชะโลมด้วย “ รักน้ำเกลี้ยง” และใช้ “รักเช็ด” ทาองค์พระเพื่อปิดทองอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากการสร้างในลักษณะดังกล่าวโดยฝีมือ “ช่างหลวง” ที่มีฝีมือการหล่อพระถึงขึ้นสุดยอด ทำให้ได้องค์พระซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามทองคำแล่นบริบูรณ์ตลอดองค์ โดยใช้เนื้อทองคำธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่าทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา และแสดงให้เห็นถึงความแยบยล สามารถถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ถึง ๙ ส่วน โดยมีกุญแจกลเป็นเครื่องมือในการถอดประกอบ นับเป็นฝีมือช่างชิ้นเอกอันยากจะหาฝีมือสกุลช่างใดทัดเทียมได้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์


จาก หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรเดิมเคยประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย โดยมีข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ กล่าวถึง “ พระพุทธรูปทอง” ความว่า

“...กลาง เมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...”

กลาง เมืองสุโขทัยที่ปรากฏในจารึก หมายถึงวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของสุโขทัยในอดีต โดยเฉพาะศาสนามีความรุ่งเรืองมากในสมัยพระธรรมราชาลิไท ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันสันนิษฐานว่าเป็นผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒

จากข้อความในศิลาจารึกซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง มหาราชนั้นวัดมหาธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ มีพระพุทธรูปทอง พระอัฏฐารส หรือพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า

“...ตรวจ ดูคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหง...ดู ก็น่าจะสันนิษฐานว่ากล่าวถึงวัดมหาธาตุนี้ “พิหารมีพระพุทธรูปทอง” นั้นน่าจะเป็นวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี..”

พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งวิหารดังกล่าวเป็นวิหารหลวง เรียกว่าวิหารเก้าห้อง มีเสาศิลาเหลี่ยมขนาดใหญ่ค้ำเครื่องบน ซึ่งปัจจุบันปรักหักพังหมดแล้ว หากพิจารณาสภาพที่ปรากฏประกอบศิลาจารึกที่ ๑ จะพบแท่นรองพระพุทธรูปนอกเหนือจากองค์ประธาน ลดหลั่นกันไป จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปทองที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ มากกว่าจะเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งพระพุทธรูปทองคำดังกล่าว ก็คือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ในปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้ว ยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงพระพุทธรูปทองคำในสมัยสุโขทัยอีก เช่น ในศิลาจารึกบางหลักกล่าวการสร้างพระพุทธรูปทอง โดยพระมหาธรรมราชาลิไท หรือในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงด้านที่ ๓ กล่าวถึงการออกผนวชของพระองค์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีต่อหน้าพระพุทธรูปทองคำ ดังความว่า

“ ...พระยาศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช...

หากสมาทานทศศีลเป็นดาบส...

หน้าพระพุทธรูปทองอันประดิษฐานไว้

เหนือราชมณเทียรอันตนแต่ง...

...เมื่อจัก...ศีลนั้น พระยาศรีสุริ(ย)

พงศ์ราม(มหา) ธรรมราชาธิราช

จึงจักยืนยอมือนบพระพุทธทอง

นบทั้งพระปิฎกไตร..”

จากหลักฐานที่ปรากฏ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความประณีตของพุทธศิลปะ ความแยบยลของส่วนประกอบที่ทำเป็นกุญแจกล ความทรงค่ามหาศาลของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ เป็นสิ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดทำขึ้นได้นอกจากพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ซึ่งมีพระบรมโพธิสมภารอันยิ่งใหญ่ จึงจะสามารถหล่อสร้างเป็นองค์พระปฏิมาที่ประเสริฐล้ำเลิศเช่นนี้ได้สำเร็จ

องค์พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรถูกหุ้มห่ออยู่ในปูนเป็นระยะเวลายาวนาน อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อน พ.ศ. ๒๔๙๘ มิได้ทราบเลยว่า ภายในพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ได้ซุกซ่อนพุทธปฏิมาอันงามล้ำเลิศและทรงค่า มหาศาล



การพอกปูนปิดองค์พระสำคัญไว้ เป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมไทยสมัยก่อน ที่ต้องการพิทักษ์ปกป้ององค์พระพุทธรูปและพุทธศาสนาไว้จากภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะพบเห็นชัดเจนในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองที่พม่าได้สุมไฟลอก เอาทองจากองค์พระศรีสรรเพชญไปจนหมดสิ้น ผู้คนได้พยายามปกปิดหรือเคลื่อนย้ายองค์พระสำคัญ ๆ หลายต่อหลายองค์ จนเกิดเป็นตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ ที่ชาวบ้านช่วยกันนำองค์พระใส่แพไม้ไผ่อพยพหลบหลีกข้าศึก



สำหรับ “หลวงพ่อทองคำ” องค์นี้ มีข้อสันนิฐานว่า การพอกปูนปิดองค์พระพุทธรูปคงจะกระทำขึ้นก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ และอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาทุกฉบับ รวมทั้งเอกสารสมัยอยุธยาไม่มีข้อความที่กล่าวถึงพระพุทธรูปทองคำองค์นี้เลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพอกปูนปิดองค์พระอาจกระทำมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเริ่ม ถูกครอบงำจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยา และเสื่อมอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเป็นไปได้ที่คนสมัยกรุงศรีอยุธยาอาจพบเห็นเพียงองค์พระปูนปั้นประดิษฐาน อยู่ในวัดมหาธาตุ สุโขทัย เรื่อยมา


จน กระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมัยที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพมหานคร มากกว่า ๑,๒๔๘ องค์(หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบแปดองค์) พระพุทธรูปปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตรไว้ คงจะถูกอัญเชิญมาในคราวเดียวกันนี้ ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี พระประธานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๓๔๔ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยไตรมิตรในลักษณะการปูนปั้นปิดองค์พระคงจะประดิษฐาน อยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกรในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัว



ในปัจจุบัน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า "หลวงพ่อทองคำ" ประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ วัดไตรมิตรวิทยาราม เลขที่ ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่พากันหลั่งไหลกันเข้ามาชมความงดงามแห่งองค์พระปฏิมาที่ทำจากเนื้อทองคำ บริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอันประเมินค่ามิได้




Create Date : 12 กรกฎาคม 2553
Last Update : 15 สิงหาคม 2555 12:26:17 น.
Counter : 8018 Pageviews.

22 comments
  
สวัสดีตอนสายๆค่ะ
ขอตามมาไหว้พระที่วัดไตรมิตรด้วยคนค่ะ

อ่านเรื่องราวการค้นพบองค์พระพุทธรูปทองคำแล้วทึ่งดีนะคะ
เนื้อเป็นทองคำบริสุทธิ์แท้ๆเลย

ว่าแต่ตอนแรกที่เปิดบล๊อคขึ้นมา
ยุ้ยนึกว่าพาไปไหว้พระตจว.ซะอีกนะคะ
เพราะอุโบสถรูปแรกนั่นดูเก่าเหมือนแถวอยุธยาจริงๆค่ะ

HappY MondaY na ka
โดย: nLatte วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:00:28 น.
  
อ่านจนจบแล้วเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากๆๆๆค่ะ

ในบรรทัดที่กล่าวถึงการสร้าง
ความประณีตของพุทธศิลปะ ความแยบยลของส่วนประกอบที่ทำเป็นกุญแจกล ความทรงค่ามหาศาลของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ เป็นสิ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดทำขึ้นได้นอกจากพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ซึ่งมีพระบรมโพธิสมภารอันยิ่งใหญ่ จึงจะสามารถหล่อสร้างเป็นองค์พระปฏิมาที่ประเสริฐล้ำเลิศเช่นนี้ได้สำเร็จ

ทึ่งกับฝีมือของคนไทยสมัยก่อน ที่ก่อนจะสร้างยังต้องสรรหาคนและให้ถือศีลห้ากันด้วย สุดยอดค่ะ

ตั้งใจตั้งแต่ต้นปีว่าจะไปกราบไหว้ท่านยังไม่ได้ไปเลยค่ะ แต่คราวนี้จะไปให้ได้เลยค่ะ ขอบคุณที่นำข้อมูลต่างๆมาเล่าให้ฟังนะคะ ดีจังเลยค่ะ
โดย: nadtha วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:24:12 น.
  
เป็นความรู้ใหม่เลยค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:52:04 น.
  

แวะมาไหว้พระด้วยคนค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:09:19 น.
  
ทักทายสวัสดีกันยามเย็นๆ ครับ

มีโอกาสจะตามไปเที่ยวย้อนรอยดูบ้างครับ
โดย: ถปรร วันที่: 12 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:32:29 น.
  
โหย เนื้อหาล้วน ๆ

เยอะจนต้องหาเวลามาอ่านต่อ วันนี้อ่านได้แค่ครึ่งเดียว แต่โห น่าสนใจจริง ๆ ทำให้อยากไปเที่ยววัดนี้บ้างแล้วหล่ะ ผ่านแล้วผ่านอีกไม่เคยแวะซะที

อิอิ อยากรับสมอ้างเป็นทีมงานตลาดสดหมอชิตเหมือนกัน แต่....​อุ อุ มะช่ายอ่ะ เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเมื่อคืนตอนบางตะบูน เสียดายจัง ต้องไปหาดูรายการย้อนหลังซะแล้ว
โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 13 กรกฎาคม 2553 เวลา:12:09:24 น.
  
เป็นวัดที่เราอยากไปมากๆ เลยค่ะ

แม่เล่าว่าตอนคุณตาเสียก็เผาที่วัดนี้หละค่ะ

ขอบคุณที่แวะไปทักทายกันนะคะ
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:19:07 น.
  
สวัสดีค่ะ..

ร้านมงคลฟาร์มอยู่ติดชายทะเลอ่างศิลาค่ะ
ละแวกนั้นมีร้านอาหารเพียบเลย
ต้องดูป้ายดีๆ ค่ะ มงคลฟาร์มป้ายเค้าสีแดงค่ะ

ถ้ามาจากทางอ่างศิลา ผ่านศาลเจ้านาจามา ร้านอยู่ทางขวามือค่ะ

ทั้งครัวมงคลกับมงคลฟาร์มเราว่าเหมือนกันนะ
แต่บางคนก็บอกว่ามงคลฟาร์มไม่อร่อย
ไม่แน่ใจเหมือนกันอ่ะ

เป็นทริปที่โอเคเลย
มาเดินเล่นที่ตลาดเก่าอ่างศิลา
แล้วก็ไปหาอะไรกินที่ครัวมงคล
แต่ระวังจะอิ่มตั้งแต่ที่ตลาดก่อนนะคะ
เพราะในนั้นมีของอร่อยเพียบเลย
โดย: chenyuye วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:14:31:38 น.
  
สวัสดีครับ ขอบคุณที่แวะไปทักทายกันนะครับ

พระพุธรูปทองคำวัดไตรมิตร ผมคุ้นเคยมากครับ เพราะเคยเห็นตามปฏิทินบ่อยๆ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่ยังไม่เคยได้ไปกราบองค์จริงๆ ซักที ไว้มีเวลาต้องหาโอกาสไปบ้างครับ เห็นว่ามีพิพิธภัณฑ์เยาวราชวัดไตรมิตรเพิ่งเปิดใหม่ในวัดด้วยนี่ครับ น่าสนใจมากครับ
โดย: NET-MANIA วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:36:53 น.
  
ชอบพระศิลปะ สุโขทัย แถวบ้านก็มีพระทองคำ คล้ายกัน แต่องค์เล็กกว่า คร่าวหน้าจะนำมาให้ชมบ้าง

โดย: OxyMan วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:22:06:30 น.
  

มาเยี่ยมชม มาทักทายครับ

จำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเพื่อนบล็อก อัพบล็อกเกี่ยวกับวัดไตรมิตรนี้เหมือนกันครับ

เนื้อหาในบล็อกนี้มีรายละเอียดเยอะมากเลยครับ ดีจังเลยครับ อ่านแล้วทำให้อยากจะไปไหว้หลวงพ่อทองคำอีกสักครั้งครับ เพราะว่าตั้งแต่ที่ประดิษฐานใหม่สร้างเสร็จ ผมยังไม่เคยเข้าไปไหว้เหมือนกันครับ

อิอิ
โดย: อาคุงกล่อง วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:22:09:52 น.
  
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

แวะมาไหว้พระพุทธรูปทองคำด้วยคนค่ะ
ใหญ่ที่สุดในโลกเลยใช่ไหมค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:07:48 น.
  
ผ่านไปผ่านมาแถวนั้นบ่อย
แต่ไม่ได้เข้าไปนานมาก
มีแต่เจอฝรั่งมาถามทาง

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ในหนังสือแบบเรียน
มีประวัติด้วยแต่จำไม่ได้แล้ว
วันนี้เลยได้อ่านอีกรอบ
แบบละเอียดมากๆ
ถึงว่าฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย
ถึงอยากจะไปวัดนี้กัน
โดย: narellan วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:22:54:15 น.
  
สวัสดีตอนเที่ยงๆครับ
โดย: panwat วันที่: 16 กรกฎาคม 2553 เวลา:12:39:38 น.
  
มาทักทายกันยามดึกๆ ครับ
ไว้มีโอกาสจะตามไปเที่ยวที่วัดไตรมิตรบ้างครับ
โดย: ถปรร วันที่: 18 กรกฎาคม 2553 เวลา:23:02:45 น.
  
สวัสดีค่ะ..

รู้ไหมค่ะว่า..เห็บเกาะขา..ช่วยให้คนมีสุขภาพดีดีค่ะ?

แวะไปชมคำตอบได้ที่บล็อคของอ้อมแอ้มนะค่ะ..ฮิๆ

โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 23 กรกฎาคม 2553 เวลา:12:27:00 น.
  
สวัสดีครับคุณhellojaae
ผมได้ไปเดินเยาวราชหลายครั้งแต่ก็ยังไม่เคยได้ไปเยือนวัดสามจีนหรือวัดไตรมิตรเลย ในเบื้องต้นขอชมผ่านทาง blog นี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ

จากการอ่านเรื่องนี้ก่อให้เกิดความพิศวงอยู่ในเรื่อง กุญแจกล หรือ การแยกชิ้นส่วนของพระพุทธรูป ว่าได้ ความรู้มาแต่ใด ในสมัยพ่อขุนรามฯสุโขทัยได้เป็นไมตรีกับพระเจ้ากุ๊บไลข่าน ราชวงศ์หงวนแห่งมงโกล ทำหให้ได้ความรู้หลายอย่างจากจีนเช่นการทำชามสังคโลกเป็นต้นแต่ความรู้ในการสร้างพระพุทธรูปคงไม่ได้มาจากจีน แต่เท่าที่เคยได้ยินมา พระพุทธรูปที่สร้างและสามารถแยกประกอบได้นั้นคงจะมีเพียงพระพุทธรูปองค์นี้เพียงองค์เดียวในยุคสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน....
โดย: moonfleet วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:8:12:13 น.
  
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

แวะมาไหว้พระอีกทีค่ะ
แล้วก็แวะมาขอบคุณ
ที่ไปอวยพรวันเกิดให้อุ้มจ๊ะ
ซาบซึ้ง
โดย: อุ้มสี วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:20:54:39 น.
  
มีโอกาสจะไปกราบขอพรสักครั้งสาธุๆๆ
โดย: สว. IP: 223.206.42.78 วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:17:16:21 น.
  
Nice post. I was checking constantly this blog and I'm impressed! Very helpful info particularly the last part :) I care for such info a lot. I was seeking this particular info for a very long time. Thank you and good luck.
ugg australia galeries lafayette //www.futuratextiles.com/images/layout/it-ugg/8vCR088FLt/
โดย: ugg australia galeries lafayette IP: 218.251.113.57 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา:16:30:24 น.
  
Hello this post is nice and interesting. I'll use it for my project . Can you say to me some related articles that I can read too?
โดย: china wholesale shoes IP: 94.23.252.21 วันที่: 7 พฤษภาคม 2558 เวลา:14:04:51 น.
  
Thank you for China wholesale shoes.
Please search " Wat Traimit in Bangkok"
โดย: hellojaae (hellojaae ) วันที่: 8 พฤษภาคม 2558 เวลา:16:29:14 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hellojaae
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]



เขียนบล๊อกเพราะอยากเขียน อยากแบ่งปัน ใช้วิธีจิ้มดีดจึงมีผิดๆถูกๆ (แม้จะพยายามตรวจทวนทุกครั้ง) เป็นบล๊อกอนุรักษ์รูปแบบเดิมๆคือเขียนไล่เรียงลงมา เพราะทำรูปแบบอื่นไม่เป็น 555 ยังเขียนต่อไปเพราะเห็นว่าก็ยังมีคนหลงๆเข้ามาอ่าน 555 สวัสดีและขอขอบคุณทุกคนค่ะ
Website counter