23.7 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
23.6 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]

ความคิดเห็นที่ 6-79
GravityOfLove, 7 ตุลาคม เวลา 18:27 น.

ขอบพระคุณค่ะ
             ตอบคำถามในพรหมายุสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. อุตตรมาณพได้ติดตามดูอิริยาบถของพระพุทธองค์ไปตลอด ๗ เดือน
             ๒. มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และพระกิริยาอาการของพระผู้มีพระภาค
ที่อุตตรมาณพสังเกตเห็นโดยละเอียด
             ๓. พระพุทธองค์เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
             ๔. เสียงของพระพุทธองค์ประกอบด้วย องค์ ๘ ประการ
             ๕. พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า พรหมายุพราหมณ์เป็นพระอนาคามี
             ๖. ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ ข้างต้น คือ ฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท
(ส่วนอาถรรพเวท ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้) (ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒)
             นิฆัณฑุศาสตร์ คือคัมภีร์ประเภทศัพทมูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon)
หรืออภิธานศัพท์ (Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว
นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์
ภาษาสันสกฤตเรียกว่า นิฆัณฏุ (ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒
             เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยกฏเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การ
ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์
ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
             อักษรศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยสิกขา (การเปล่งเสียง, การออกเสียง)
และนิรุตติ (การอธิบายศัพท์โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ) (ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒)
             ประวัติศาสตร์ หมายถึงพงศาวดารเล่าเรื่องเก่าๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
[ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒ และ ดู Dawson, John. A classical Dictionary of Hindu Mythology
(London : Routledge and Kegan Paul, 1957) p.222
             โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือศิลปะแห่งการเอาชนะ
ผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์โดยการอ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่า
ตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่อย่างใด (ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒)
             ลักษณะมหาบุรุษ หมายถึงศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้า
เป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่ามนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า
พุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา (ม.ม.อ. ๒/๓๘๓/๒๖๒, ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๓)
             ๗. พวกเทพชั้นสุทธาวาสบางท่านทราบว่า นัยว่า พระตถาคตเจ้าจะทรงอุบัติ
จึงเอาลักษณะมาใส่ไว้ในพระเวท แล้วแปลงตัวเป็นพราหมณ์มาสอนพระเวทว่า เหล่านี้ชื่อพุทธมนต์
เพราะเหตุนั้น มหาปุริสลักษณะจึงมาในพระเวทตั้งแต่ก่อนมา แต่เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว
ก็ค่อยๆ สูญหายไป. ฉะนั้น บัดนี้ จึงไม่มี.
             ๘. เปิดหลังคา (คือกิเลส) หลังคาในโลกอันมืดมนด้วยกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ
ทิฏฐิ อวิชชาและทุจริตอันเสมือนหลังคาทั้ง ๗ ปิดแล้วนั้น
             ๙. อรรถกถา อธิบายมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการอย่างละเอียด
             ๑๐. ธุลีไม่ติดพระวรกายของพระผู้มีพระภาค แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงกระทำการ
ล้างพระหัตถ์และล้างพระบาทเป็นต้น เพื่อรับไออุ่นและเพื่อผลบุญแก่ทายกทั้งหลาย
             ๑๑. มารตามจับผิดพระโพธิสัตว์อยู่ ๖ ปี และหลังจากตรัสรู้อีก ๑ ปีก็ไม่เห็นโทษ
ของพระองค์ แม้วิตกอันอาศัยเรือน ก็ไม่เห็น
             ๑๒. การห่มจีวรที่ชื่อว่า รุ่มร่าม

ความคิดเห็นที่ 6-80
ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 18:53 น.

GravityOfLove, 15 นาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
             ตอบคำถามในพรหมายุสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483
...
             ตอบคำถามได้ดีครับ

ความคิดเห็นที่ 6-81
ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 19:02 น.

             ตอบคำถามชุดที่ 2 ในพรหมายุสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483

             ในพระสูตรนี้ พรหมายุพราหมณ์ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี
             ส่วนมาณพชื่อว่าอุตตระ ไม่ปรากฏว่า ได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ อย่างไร?
             อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาณพนั้นกระทำที่ปรากฏในพระสูตรนี้
น่าจะเพียงพอที่จะได้สุคติโลกสวรรค์หรือไม่ อย่างไร?

ความคิดเห็นที่ 6-82
GravityOfLove, 7 ตุลาคม เวลา 19:23 น.

             ตอบคำถามชุดที่ 2 ในพรหมายุสูตร
             ตอบว่า จากการได้ติดตามพระผู้มีพระภาคตลอด ๗ เดือน ได้เห็นพระจริยวัตรของ
พระองค์ แล้วนำความมาบอกพรหมายุพราหมณ์ผู้อาจารย์ทุกประการด้วยความซื่อสัตย์
สันนิษฐานว่า อุตตรมาณพน่าจะเกิดความเลื่อมใสในพระองค์ด้วย
             ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคและความซื่อสัตย์ น่าจะเพียงพอที่จะได้สุคติโลกสวรรค์

ความคิดเห็นที่ 6-83
ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 19:45 น.

GravityOfLove, 19 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามชุดที่ 2 ในพรหมายุสูตร
...
7:23 PM 10/7/2013
             ตอบคำถามได้ดีครับ
             ผมเองก็สันนิษฐานอย่างนั้นเหมือนกัน.

ความคิดเห็นที่ 6-84
ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 19:51 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า พรหมายุสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9195&Z=9483

              พระสูตรหลักถัดไป คือเสลสูตร [พระสูตรที่ 42].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              เสลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9484&Z=9672
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=604

              อัสสลายนสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9673&Z=9914
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=613

              โฆฏมุขสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9915&Z=10193
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=630

              จังกีสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=10194&Z=10534
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=646

ความคิดเห็นที่ 6-85
GravityOfLove, 7 ตุลาคม เวลา 20:08 น.

             คำถามในเสลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9484&Z=9672

             ๑. ท่านกล่าวอธิบายว่า กับด้วยภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป. ก็ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน
ในสาวกสันนิบาตเหล่านั้น ล้วนเป็นพระขีณาสพ บรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชาทั้งนั้น.  
             << ภิกษุจำนวนนี้ในพระสูตรนี้ คือภิกษุที่ประชุมกันตอนจาตุรงคสันนิบาตหรือคะ
             ๒. คำว่า ทุติยํปิ โข ภควา ถามว่า ทรงปฏิเสธบ่อยๆ เพราะเหตุไร.
             << เพราะอะไรคะ (มีอธิบายในอรรถกถาก็ไม่เข้าใจค่ะ)
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-86
ฐานาฐานะ, 8 ตุลาคม เวลา 01:26 น.

GravityOfLove, 1 ชั่วโมงที่แล้ว
              คำถามในเสลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9484&Z=9672

              ๑. ท่านกล่าวอธิบายว่า กับด้วยภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป. ก็ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน
ในสาวกสันนิบาตเหล่านั้น ล้วนเป็นพระขีณาสพ บรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชาทั้งนั้น.  
              << ภิกษุจำนวนนี้ในพระสูตรนี้ คือภิกษุที่ประชุมกันตอนจาตุรงคสันนิบาตหรือคะ
              ตอบว่า อรรถกถากล่าวไว้อย่างนั้น แต่ว่า น่าจะเป็นเพียงประมาณเท่านั้นเอง
เพราะเหตุว่า ภิกษุ 1,250 รูปในสาวกสันนิบาตเหล่านั้น ไม่ประกอบด้วยพระอานนท์
และในขณะที่มีสาวกสันนิบาต พระอานนท์ก็ยังมิได้บวช.
              กล่าวคือ ที่เมืองอาปณนิคม และพระภิกษุ 1,250 รูป ปรากฎเนื้อความต่อเนื่อง
ในเรื่องเกณิยชฎิล และเรื่องโรชะมัลลกษัตริย์เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า (ในเล่มที่ 5)
ปรากฎว่า เหตุการณ์นั้น พระอานนท์บวชแล้ว ดังนั้น 1,250 รูปนั้นอาจประกอบด้วย
พระภิกษุที่ประชุมสาวกสันนิบาตบางส่วนเท่านั้นเอง.
              เรื่องเกณิยชฎิล, เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=2364&Z=2519

              ๒. คำว่า ทุติยํปิ โข ภควา ถามว่า ทรงปฏิเสธบ่อยๆ เพราะเหตุไร.
              << เพราะอะไรคะ (มีอธิบายในอรรถกถาก็ไม่เข้าใจค่ะ)
              ขอบพระคุณค่ะ
8:07 PM 10/7/2013

              อธิบายว่า สันนิษฐานว่า
              ขณะนั้น มีพระภิกษุ 1,250 รูป แต่ว่า ตอนเช้ารุ่งขึ้นจะมีพระภิกษุ
เพิ่มขึ้นอีก 300 หรือ 301 รูป ดังนั้น เกณิยชฎิลจะรับรู้ว่า มีเพียง 1,250 รูป
              อรรถกถาอธิบายโดยนัยว่า
              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย.
              เกณิยชฎิล จะทำการเชื้อเชิญพราหมณ์ทั้งหลายด้วย
              พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น น่าจะรวมถึงเสลพราหมณ์และมาณพ ๓๐๐ คนด้วย.
              เมื่อเป็นดังนี้ ภัตตาหารจะพอแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด. (ประมาณ 1,550 รูป)
              ทั้งเกณิยชฎิลก็ไม่เดือดร้อนใจว่า นิมนต์พระผู้มีพระภาคแล้วหมู่ภิกษุสงฆ์
แต่ไม่อาจจัดภัตตาหารให้เพียงพอได้.

ความคิดเห็นที่ 6-87
GravityOfLove, 8 ตุลาคม เวลา 09:36 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-88
GravityOfLove, 8 ตุลาคม เวลา 09:56 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
             ๔๒. เสลสูตร ทรงโปรดเสลพราหมณ์
             พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9484&Z=9672&bgc=mintcream&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชนชาวอังคุตราปะอันชื่อว่าอาปณะ
             ชฎิลชื่อเกณิยะได้สดับข่าวนี้ และได้ข่าวกิตติศัพท์อันงามของพระผู้มีพระภาค
ในพระพุทธคุณ ๙ การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นความดี จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์
             ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ
ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
             เกณิยชฎิลได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์รับภัตตาหาร
ในวันพรุ่งนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย
             (เพื่อเขาจะได้ไม่เดือดร้อนใจในภายหลังว่า ภัตตาหารที่เตรียมไว้ไม่พอสำหรับ
พระสงฆ์และพราหมณ์ทั้งหลาย)
             เกณิยชฎิลก็กราบทูลว่า ถึงอย่างนั้นก็จริง ตนก็ยืนยันจะอาราธนาเหมือนเดิม
             พระผู้มีพระภาคตรัสอีกเป็นครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลยืนยันเป็นครั้งที่ ๓
             พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ
             เกณิยชฎิลกราบทูลลา แล้วเข้าไปยังอาศรมของตน เรียกมิตรอำมาตย์และ
ญาติสาโลหิตทั้งหลายมาช่วยกัน บางพวกขุดเตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ
บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาดอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงปะรำด้วยตนเอง
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ชฎิล
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทโธ
             สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อว่าเสละซึ่งเป็นผู้ที่เกณิยชฎิลเลื่อมใส อาศัยอยู่ในอาปณนิคม
             เป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษร
มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตนะและ
ตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ สอนมนต์ให้มาณพ ๓๐๐ คน
             ครั้งนั้น เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อน
ได้เข้าไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล แล้วเห็นชนทั้งหลายกำลังช่วยเกณิยชฎิลทำงานอยู่
จึงถามเกณิยชฎิลว่า
             ท่านจะมีอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล หรือจักบูชามหายัญ หรือท่านทูลอัญเชิญ
พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธ พร้อมด้วยพลนิกายมาเสวยพระกระยาหารในวัน
พรุ่งนี้หรือ (อาวาหะ คือรับหญิงสาวมา วิวาหะ คือส่งหญิงสาวไป)
             เกณิยชฎิลตอบว่า ตนจะบูชามหายัญ คือได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ แล้วกล่าวถึงพระพุทธคุณ
             (พระพุทธคุณ : อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต
โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ)
             เสลพราหมณ์ถามว่า ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ?
             เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ
             ถามตอบอยู่ ๒ ครั้ง (เพื่อให้แน่ใจ) เสลพราหมณ์คิดว่า
             แม้แต่เสียงว่า พุทโธ นี้ ก็ยากที่สัตว์จะพึงได้ในโลก
             ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันมาแล้วในมนต์ของเราทั้งหลาย
ที่พระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็น ๒ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
             ๑. ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชา
โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ฯลฯ
             ๒. ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
             เสลพราหมณ์ถามเกณิยชฏิลว่า เดี๋ยวนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน?
             เมื่อเกณิยชฎิลบอกทางแล้ว เสลพราหมณ์และมาณพ ๓๐๐ คนได้เดินไปทางที่
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เสลพราหมณ์บอกมาณพเหล่านั้นว่า
             จงเงียบเสียง จงเว้นระยะให้ไกลกัน ย่างเท้าหนึ่งเดินมา จงเป็นเหมือนราชสีห์
ตัวเดียวเที่ยวไปทุกเมื่อ (ค่อยๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ)
             และเมื่อกำลังเจรจากับท่านพระสมณโคดม จงอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ
ขอจงรอคอยให้จบถ้อยคำของเรา
             เสลพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ
ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคโดยมาก เว้นอยู่
๒ ประการคือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และพระชิวหาใหญ่
             จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ
             พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้เสลพราหมณ์ได้เห็นพระคุยหฐาน
อันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหา ฯลฯ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มหาบุรุษลักษณะ

             ครั้งนั้น เสลพราหมณ์ดำริว่า
             พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ บริบูรณ์
ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบชัดซึ่งพระองค์ว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่
             และเราได้สดับเรื่องนี้มาจากสำนักพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่
เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวกันว่า
             ท่านที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏ
ในเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวพระคุณของพระองค์
             ทางที่ดี เราพึงชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรเถิด
             แล้วเสลพราหมณ์ก็ชมเชยพระองค์ด้วยคาถามีใจความว่า
             พระองค์ทรงมีพระวรกายบริบูรณ์ ฯลฯ พระองค์มีพระคุณสมบัติอันสูงสุดอย่างนี้
จะต้องการอะไรด้วยความเป็นสมณะ พระองค์ควรจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ
             ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ทรงครองราชสมบัติ เป็นราชาธิราช
จอมมนุษย์เถิด
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             เราเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เราประกาศธรรมจักร
อันเป็นจักรที่ใครๆ ประกาศไม่ได้
             เสลพราหมณ์ทูลถามว่า
             พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ และตรัสว่าเป็นธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
ทรงประกาศธรรมจักร
             ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ท่าน เป็นสาวกผู้อำนวยการของพระศาสดา
ใครหนอประกาศธรรมจักรตามที่พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ได้?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า เป็นจักรที่เราประกาศแล้ว สารีบุตรผู้เกิดตาม
ตถาคต ย่อมประกาศตามได้
             สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เรารู้ยิ่งแล้ว (ในที่นี้หมายถึงวิชชาและวิมุตติ)
             สิ่งที่ควรเจริญ เราเจริญแล้ว (ในที่นี้หมายถึงมรรคสัจ)
             สิ่งที่ควรละ เราละได้แล้ว (ในที่นี้หมายถึงสมุทยสัจ)
             เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า
             ท่านจงกำจัดความสงสัยในเรา จงน้อมใจเชื่อเถิด
             การได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการได้ยาก
             ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการหาได้ยากในโลก
             เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เชือดลูกศร ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ประเสริฐ
ไม่มีใครเปรียบ ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนาแห่งมาร ทำข้าศึกทั้งปวง (มาร ๕) ให้อยู่ใน
อำนาจ ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงใจอยู่ (เบิกบาน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มาร_5

             เสลพราหมณ์กล่าวกับมาณพเหล่านั้นว่า
             ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญธรรมนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุตรัสอยู่
แม้ผู้เกิดในสกุลต่ำ เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคก็ยังเลื่อมใส
             ผู้ใดปรารถนา เชิญผู้นั้นตามเรา ส่วนผู้ใดไม่ปรารถนา เชิญผู้นั้นอยู่เถิด
เราจะบวชในสำนักพระผู้มีพระภาค
             มาณพเหล่านั้นกล่าวว่า
             ถ้าท่านชอบใจคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ก็จะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค
             เมื่อมาณพ ๓๐๐ คนเหล่านั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็พากันประนมมือทูลขอบรรพชาว่า
             ข้าพระองค์ทั้งหลายจะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             พรหมจรรย์อันเรากล่าวดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
เป็นเหตุทำให้บรรพชาของผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่ ไม่เป็นโมฆะ
             เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริษัท ได้บรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาค
             เกณิยชฎิลสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในอาศรมของตน
ตลอดราตรีนั้น
             ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล
แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
             เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาว่า
                          ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข
                          คัมภีร์สาริตติศาสตร์ เป็นประมุขแห่งคัมภีร์ฉันท์
                          พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
                          สาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย
                          ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวทั้งหลาย
                          ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน
                          พระสงฆ์เป็นประมุขของผู้หวังบุญบูชาอยู่
             ครั้นทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
             ส่วนท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท หลีกออกจากหมู่เป็นไม่ประมาท
มีความเพียร ไม่นานนัก ก็ได้กระทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ได้เป็นพระอรหันต์
             ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ประนมอัญชลี แล้วกราบทูลด้วยคาถาว่า
                          ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ (จักษุ ๕) นับแต่วันที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
                          ได้ถึงพระองค์เป็นสรณะเป็นวันที่ ๘ เข้านี่แล้ว ข้าพระองค์
                          ทั้งหลายเป็นผู้อันพระองค์ทรงฝึกแล้ว ในคำสั่งสอนของพระองค์
                          โดย ๗ ราตรี พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็น
                          มุนีผู้ครอบงำมาร ทรงเป็นผู้ฉลาดในอนุสัย ทรงข้ามได้เองแล้ว
                          ทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิทั้ง-
                          หลายแล้ว ทรงทำลายอาสวะทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงยึดมั่นเลย
                          ทรงละภัยและความขลาดกลัวได้แล้ว ดุจดังราชสีห์ ภิกษุ ๓๐๐
                          รูปนี้ ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ขอ
                          ได้ทรงโปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด  ขอเชิญนาค (พระอรหันต์)
                          ทั้งหลายถวายบังคมพระศาสดาเถิด
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนุสัย
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปธิ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อาสวะ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จักขุ

ความคิดเห็นที่ 6-89
ฐานาฐานะ, 8 ตุลาคม เวลา 11:41 น.

GravityOfLove, 1 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
             ๔๒. เสลสูตร ทรงโปรดเสลพราหมณ์
             พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9484&Z=9672&bgc=mintcream&pagebreak=0
...
             ย่อความได้ดี
             แนะนำเพิ่มเติม :-
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
             ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
             เสลเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระเสลเถระ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=7645&Z=7721
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=390

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
             ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
             เสลเถราปทานที่ ๒ ว่าด้วยการประพฤติธรรม
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=8288&Z=8466
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=394

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
             ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
             เสลสูตรที่ ๗
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=9007&Z=9204
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=373

ย้ายไปที่



Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 12:09:34 น.
Counter : 489 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
16 ธันวาคม 2556
All Blog