พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
19 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 

Marissa Mayer โอกาสครั้งสุดท้ายของยาฮู?

Marissa Mayer โอกาสครั้งสุดท้ายของยาฮู?

ข่าวใหญ่ช็อกวงการไอที ประจำสัปดาห์นี้คือ การประกาศตัวซีอีโอคนใหม่ของยาฮู อดีตยักษ์ใหญ่ของโลกออนไลน์ ที่ปัจจุบันโดนปัญหารุมเร้ามากมาย...

เดิมทีวงการไอทีเก็งกันว่า ซีอีโอของยาฮูจะเป็นคนในคือ Ross Levinsohn ที่นั่งเป็นรักษาการณ์ซีอีโออยู่ก่อนหน้านี้ แต่ผลออกมาพลิกโผอย่างแรง ซีอีโอคนใหม่กลับเป็น Marissa Mayer ผู้บริหารหญิงของกูเกิล

เรื่องนี้ไม่ธรรมดา เพราะ Mayer ถือเป็นดอกไม้เหล็กแห่งโลกไอที ถึงแม้เธอจะเป็นหญิงสาวสวยผมบลอนด์ แต่ก็มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเต็มเปี่ยม ไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอกที่ไหน เธอจบการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง จากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง สแตนฟอร์ด และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความซับซ้อนสูง

ปี 1999 เธอกลายเป็นพนักงานรุ่นแรกๆ ของกูเกิล (อันดับที่ 20) แถมเป็นวิศวกรหญิงคนแรกของบริษัทเสียด้วย เธอไต่เต้ามาตามสายงานเรื่อยๆ โดยมีผลงานสำคัญคือ นั่งเก้าอี้ผู้บริหารฝ่าย Google Search ธุรกิจหลักของบริษัท และเป็นเจ้านายของวิศวกรชายนับร้อยพัน ก่อนที่จะย้ายมาคุมผลิตภัณฑ์ด้านแผนที่และสถานที่อย่าง Google Maps และ Google Local ในภายหลัง

Mayer ถือเป็นพนักงานกูเกิลชื่อดังคนหนึ่ง เธอปรากฏตัวในที่สาธาณะ พูดตามเวทีงานสัมมนาอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้ เธอยังถูกจัดอันดับเป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลในโลกธุรกิจ โดยนิตยสารชื่อดังอย่าง Fortune ด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้นเอง ดังนั้น การที่ยาฮูสามารถ “ฉก” ตัวของ Mayer ข้ามห้วยจากกูเกิลมาเป็นผู้บริหารได้ ย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง

ขอย้อนความก่อนครับว่า ยาฮูประสบปัญหามากในช่วงหลัง แรกเริ่มเดิมทียาฮูเติบโตมาจากบริการ “สารบัญเว็บ” (directory) ที่นำเว็บมาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ลักษณะเดียวกับสมุดโทรศัพท์ ภายหลังบริษัทขยายกิจการมาเป็น “เว็บพอร์ทัล” (portal) หรือเว็บรวมข่าวสารที่น่าสนใจต่างๆ ไว้บนหน้าแรกของ yahoo.com ให้คนเข้ามาติดตาม (ปัจจุบันหน้าแรกของยาฮูก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่)

แนวคิดพอร์ทัลเป็นแนวคิดที่นิยมในสมัยนั้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมาก แต่กระแสเทคโนโลยีมาเร็วไปเร็วเสมอ และเมื่อกูเกิลสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านค้นหาแบบอัตโนมัติ (ใช้โปรแกรมดูดเว็บมาคัดกรอง ซึ่งต่างไปจากระบบของยาฮูที่ใช้คนคัดด้วยมือ) ยาฮูก็เริ่มประสบปัญหา เพราะคนอยากหาอะไรก็ค้นเอาได้เลย ไม่จำเป็นต้องมาตั้งต้นที่หน้าแรกของยาฮูอีกต่อไป ความสำคัญของยาฮูจึงเริ่มลดลง พร้อมกับที่กูเกิลกลายเป็นดาวจรัสแสงขึ้นมา ถึงแม้ว่ายาฮูจะหันมาทำระบบค้นหาของตัวเองแบบจริงจังบ้าง แต่นั่นก็สายเกินไปแล้ว กูเกิลไปไกลเกินกว่าที่ยาฮูจะไล่ทันแล้ว

ถึงแม้ยาฮูจะเสื่อมอำนาจลง แต่บริษัทก็ยังมีฐานลูกค้าในมืออีกพอสมควร ผลิตภัณฑ์หลักๆ ได้แก่ อีเมล Yahoo! Mail ที่ยังมีคนใช้อยู่เยอะมาก เว็บพอร์ทัลที่ยังมีคนเข้าเยอะ รวมไปถึงข่าวกีฬา (ของสหรัฐฯ) และข่าวการเงินที่ยาฮูทำออกมาได้ดี ผลิตภัณฑ์พวกนี้ยังใช้ทำรายได้จากค่าโฆษณาไปอีกสักระยะหนึ่ง เลี้ยงตัวเองเพื่อรอการปรับปรุงให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาทำตลาดเพื่อกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แต่ปัญหาสำคัญของยาฮู กลับเป็นเรื่องการบริหารครับ หลังจากยาฮูประสบความสำเร็จอย่างสูงในยุค 90s ก็จ้างซีอีโอจากสายสื่อมวลชน คือ Terry Semel อดีตผู้บริหารของกลุ่ม Warner เข้ามากุมบังเหียนในปี 2001 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบริษัทไปสู่ธุรกิจสื่อออนไลน์ Semel ทำงานบริหารทั่วไปได้ดี งานด้านสื่อไปได้สวย แต่นวัตกรรมด้านไอทีกลับตกเป็นรองกูเกิลอย่างมาก เขาลาออกไปในปี 2007

คนที่มาแทน Semel ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็น Jerry Yang ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนมา ในยุคของ Yang นี้เราเห็นการเสนอซื้อกิจการครั้งประวัติศาสตร์ที่ไมโครซอฟท์ขอซื้อยาฮู คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายแล้ว Yang ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “ถูกไป” ซึ่งสุดท้ายก็โดนผู้ถือหุ้นโจมตีอย่างหนัก จนเขาต้องลงจากตำแหน่งช่วงปลายปี 2008

ซีอีโอ คนที่สามที่มาแทน เป็นผู้หญิงชื่อ Carol Bartz อดีตซีอีโอของบริษัทซอฟต์แวร์เขียนแบบ Autodesk เธอคนนี้มีความรู้ทางเทคนิคอย่างดี และมีประสบการณ์ด้านซอฟต์แวร์เยอะ Bartz นำยาฮูเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ปรับโครงสร้างบริษัทและปลดพนักงานบางส่วน แต่ระหว่างที่ผลงานของเธอยังไม่ปรากฏชัดว่าออกมาดีแย่แค่ไหน เธอก็โดนปลดแบบฟ้าผ่าในปี 2011 หลังจากทำงานมาประมาณสองปีครึ่ง คาดว่าเป็นเพราะบอร์ดใจร้อน อยากเห็นบริษัทกลับมาดีในเร็ววัน ซึ่ง Bartz ตอบสนองไม่ได้ตามต้องการ

วิบากกรรมของยาฮูยังไม่จบครับ ต้นปี 2012 ยาฮูประกาศตัวซีอีโอคนใหม่ Scott Thompson อดีตประธานของบริษัทระบบจ่ายเงินออนไลน์ PayPal ซึ่งมีประสบการณ์ด้านธุรกิจออนไลน์ล้นหลาม รอบนี้ผู้ถือหุ้นและกองเชียร์ทุกคนหวังว่ายาฮูจะหมดวิกฤติด้านผู้บริหารสักที แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องยิ่งยุ่งเข้าไปอีก เนื่องจากซีอีโอทำงานได้เพียงสามเดือน ก็มีผู้ถือหุ้นไปค้นพบว่าเขา “ปลอมวุฒิการศึกษา” ว่าจบด้านคอมพิวเตอร์ แต่เอาจริงๆ เขาจบการศึกษามาทางด้านบัญชีเท่านั้น ความขัดแย้งนี้ทำให้ Thompson ต้องออกจากบริษัทไปหลังทำงานมาแค่ 137 วัน ยาฮูยิ่งวิกฤติและภาพลักษณ์ของบริษัทก็ตกต่ำลงมาก

Marissa Mayer เข้ามาเป็นซีอีโอคนที่ห้าในรอบสิบปีของบริษัทที่เต็มไปด้วยปัญหา เท่าที่ผมติดตามมา เธอเป็นคนเก่งและมีความสามารถมาก ลูกน้องยินดีทุ่มเททำงานให้ เป็นผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ได้ดี แต่ปัญหาของยาฮูเองก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมายาวนาน และยังไม่มีใครสามารถทำอะไรกับมันได้สักที (มองโลกในแง่ดีแล้ว แอปเปิลก่อนสตีฟ จ็อบส์ กลับมาเป็นซีอีโอรอบที่สองก็มีสภาพคล้ายๆ กันนี้) ต้องรอดูว่า Mayer จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้แค่ไหน ถ้ารอบนี้ยังไม่สำเร็จก็อาจถึงจุดอวสานของยาฮูแล้วก็ได้ เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มทนแล้ว ผมประเมินว่าภายใน 3 ปี ถ้ายังไม่เห็นสัญญาณเชิงบวกก็คงต้องโบกมือลากันได้เลย

ประเด็นปิดท้ายที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่ก็ไม่เล็กคือ Mayer ประกาศว่าตอนนี้เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วย มีกำหนดคลอดเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเธอก็สัญญาว่าจะลาคลอดเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง อันนี้ต้องรอดูอีกเช่นกันว่า Mayer จะบริหารจัดการเวลาของเธออย่างไรในฐานะซีอีโอผู้รับบทหนัก และคุณแม่มือใหม่ไปพร้อมๆ กันครับ.




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555
0 comments
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 12:34:35 น.
Counter : 2605 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.