Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๒ ปริจจาคะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ที่มาและความหมายของปริจจาคะ

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๓ คือ ปริจจาคะ

ปริจจาคะ เรานำมาใช้ในภาษาไทยว่า บริจาค และมักจะใช้พูดคู่กันไปกับทาน เช่น พูดว่า ทานบริจาค หรือ ทานะ – บริจาค ให้ทานการบริจาค คำทั้ง ๒ นี้ได้มีที่มาในหมวดธรรมในพุทธศาสนาหลายหมวด มาในหมวดแต่ละคำคือ ทานอย่างเดียว หรือ ปริจจาคะ หรือ จาคะ อย่างเดียวก็มี มาคู่กัน เช่น ในทศพิธราชธรรมนี้ ข้อ ๑ ทาน ข้อ ๒ ศีล ข้อ ๓ ปริจจาคะ หรือบริจาค ดั่งนี้ก็มี ที่มาเดี่ยวนั้น เช่นใน บุญกิริยาวัตถุ ๓ ข้อ ๑ ทานมัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยทาน ข้อ ๒ สีลมัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยศีล ข้อ ๓ ภาวนามัยบุญกิริยา การทำบุญสำเร็จด้วยภาวนา

ปริจจาคะ หรือจาคะที่มาเดี่ยวนั้น เช่น สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า ๔ ข้อ

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยจาคะ
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

เมื่อคำว่าทานและปริจจาคะ บริจาค หรือ จาคะ บริจาค ทั้ง ๒ นี้ต่างมาเดี่ยวไม่คู่กัน ในหมวดธรรมนั้นๆ ก็มีความหมายรวมกัน ทานคือการให้ ก็รวมถึงปริจจาคะ หรือจาคะ บริจาค คือสละด้วย หรือเมื่อปริจจาคะหรือจาคะมาเดี่ยว ก็หมายถึงทานด้วย คือหมายถึงบริจาคสละ และหมายถึงการให้ด้วย แต่เมื่อมาเป็นคู่กันดังในทศพิธราชธรรมนี้ ทั้ง ๒ คำนี้ก็อธิบายในความหมายที่ต่างกัน คือ ทานนั้นมุ่งถึงการให้ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้รับ เพื่อความสุขของผู้รับ เป็นการเฉลี่ยเผื่อแผ่ความสุขของตนแก่ผู้อื่นดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ส่วนปริจจาคะ หรือจาคะ ที่แปลทับศัพท์ว่า บริจาค หรือแปลเป็นไทยว่า สละนั้น มุ่งถึงสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยหรือเป็นประโยชน์น้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า ยิ่งกว่า ดังพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย” และที่ว่า “พึงสละทรัพย์เพราะเหตุรักษาอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งสิ้น”

การบริจาคหรือสละมุ่งถึงประโยชน์ที่พึงได้เป็นที่ตั้ง

ฉะนั้น ลักษณะที่เรียกว่า บริจาค หรือสละนี้ จึงมุ่งถึงประโยชน์ที่พึงได้เป็นที่ตั้ง ดังที่ว่า สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งกว่า หรือประโยชน์ที่ไพบูลย์ หรือว่ามุ่งถึงสิ่งที่จะพึงได้หรือพึงรักษาไว้ได้ที่ยิ่งกว่า ก็สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่า หรือว่ามุ่งที่จะรักษาธัมมะ คือความถูกต้อง ความดีที่เรียกว่าคุณธรรม ธรรมที่เป็นคุณ คือความดีที่เกื้อกูล ตลอดถึงธรรมคือหน้าที่ที่พึงทำ ก็พึงสละได้ทั้งหมด ดังพุทธภาษิตข้อหลังที่ยกมาอ้างนั้น และพุทธภาษิต ๒ ข้อที่ยกมาอ้างนี้ ข้อแรกเป็นความสั้น ข้อหลังขยายความให้พิสดาร แต่ก็มีใจความเป็นอย่างเดียวกัน ในข้อหลังนั้นยกเอาตัวอย่างคือทรัพย์ อวัยวะคือส่วนของร่างกายและชีวิต ทุกคนย่อมมีทั้ง ๓ นี้อยู่ด้วยกัน และทั้ง ๓ นี้ก็เป็นสิ่งที่พึงรักษาอยู่ด้วยกัน ทรัพย์ก็พึงรักษาไว้ อวัยวะคือส่วนของร่างกายต่างๆ ก็พึงรักษาไว้ ชีวิตก็พึงรักษาไว้

ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องสละ เช่นจะต้องสละทรัพย์ หรือต้องสละอวัยวะส่วนของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ยอมสลชะทรัพย์ ก็จะต้องเสียอวัยวะร่างกาย เมื่อเป็นดั่งนี้ จะรักษาอะไรไว้ จะรักษาทรัพย์ไว้ หรือจะรักษาอวัยวะร่างกายไว้ทั้ง ๒ อย่างนี้เมื่อเทียบกันดูแล้ว อวัยวะร่างกายสำคัญกว่า เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้สละทรัพย์ ดั่งเช่นเกิดเจ็บป่วยขึ้นที่อวัยวะร่างกาย จำจะต้องรักษา เมื่อรักษาก็จะต้องเสียทรัพย์เป็นค่ารักษา ถ้าไม่ยอมเสียทรัพย์รักษา ก็จะต้องเสียอวัยวะร่างกายส่วนนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะร่างกายที่ประเสริฐที่ต้องการนั้นไว้

ทรงสอนให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

และเมื่อจะต้องรักษาอวัยวะร่างกายไว้ด้วย รักษาชีวิตไว้ด้วย แต่ว่าจะรักษาไว้ทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ หากว่าจะรักษาชีวิตไว้ ก็จะต้องสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ยอมสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จำต้องเสียชีวิต เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็พึงสละอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อรักษาชีวิตที่ประเสริฐกว่าเอาไว้ ดังเช่นคนที่เป็นโรคที่อวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หากว่าจะรักษาชีวิตก็จะต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นเสีย ถ้าไม่ยอมตัดเสีย ก็ไม่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรักชีวิตก็จะต้องยอมให้ตัดอวัยวะส่วนนั้น เช่นภายนอก ตัดนิ้ว ตัดแขน ตัดขา ภายในก็เช่นต้องตัดถุงน้ำดีออก ต้องตัดปอดออกเสียบ้าง หรือตัดปอดออกเสียข้างหนึ่งเลย ดั่งนี้เป็นต้น เมื่อสละไปแล้วดั่งนี้ ก็รักษาชีวิตไว้ได้ ฉะนั้น เมื่อมีเหตุจะต้องสละอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสอง ก็ต้องเลือกเอาสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่า ประเสริฐน้อยกว่า รักษาสิ่งที่ประเสริฐกว่าไว้

ทรงสอนให้สละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิตเพื่อรักษาธรรม

เมื่อมาถึงหน้าที่ ถึงความถูกต้อง ถึงคุณธรรมคือความดี หากว่าจะต้องรักษาธรรมดังกล่าวนี้ไว้ ซึ่งธรรมดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าชีวิตอวัยวะร่างกาย และทรัพย์ เมื่อได้มองเห็นคุณค่าของธรรมว่าประเสริฐสุดดั่งนี้แล้ว เมื่อถึงคราวที่จะต้องรักษาธรรม แต่ว่าจำจะต้องสละชีวิต สละอวัยวะร่างกาย สละทรัพย์ ก็พึงสละเพื่อรักษาธรรมไว้ อันธรรมข้อหลังที่ว่าประเสริฐสุดนี้ สำหรับในข้อที่ว่าด้วยบารมี บารมีทุกข้อนั้นสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ย่อมเห็นว่าธรรมคือบารมีที่ท่านบำเพ็ญซึ่งชื่อว่าเป็นธรรม ดังที่ได้แสดงมาแล้วว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญเนกขัมมะคือการออกและที่จะแสดงต่อไป เมื่อท่านบำเพ็ญนั้น ท่านสละทรัพย์เพื่อบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญเนกขัมมะ บารมีข้อนั้นๆ ก็ชื่อว่า บารมี เมื่อท่านสละอวัยวะร่างกายเพื่อบำเพ็ญบารมีข้อนั้นๆ ก็ชื่อว่า อุปบารมี เมื่อท่านบำเพ็ญบารมี ท่านสละชีวิตเพื่อบำเพ็ญบารมีข้อนั้น ก็ชื่อว่า ปรมัตถบารมี เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงสามารถสละได้ทั้งทรัพย์ ทั้งอวัยวะร่างกาย ทั้งชีวิต เพื่อบารมีทุกข้อ บารมีนั้นก็คือธรรมนั้นเอง และก็กล่าวได้ว่า เมื่อท่านมุ่งพระโพธิญาณ ท่านได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ท่านก็บำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ บารมีนั้นจึงเป็นธรรมที่มีความหมายว่า หน้าที่ได้ด้วย คือคำว่าบารมีนั้นเป็นธรรมที่มีความหมายว่าเป็นความดี อันเป็นความหมายของธรรมทั่วไปในฝ่ายกุศลธรรม เป็นคุณธรรม เป็นความดี ยังมีความหมายถึงว่าหน้าที่ด้วย คือเป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์แล้วก็มีหน้าที่บำเพ็ญบารมี บารมีจึงเป็นธรรมที่เป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ และหน้าที่ดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ๆ ไม่มีใครแต่งตั้งให้ แต่เป็นหน้าที่ๆ มาพร้อมกับภาวะคือความเป็น คือเมื่อเป็นอะไรขึ้นมา หน้าที่ก็มาพร้อมกับภาวะที่เป็นนั้น เช่นเมื่อเป้นพระโพธิสัตว์ หน้าที่ก็มาพร้อมกับภาวะคือความที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็คือบำเพ็ญบารมี และก็ต้องรักษาหน้าที่ ก็คือรักษาธรรมที่เป็นหน้าที่ไว้ให้ได้ จึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ จะต้องสละทรัพย์ก็สละ จะต้องสละอวัยวะร่างกายก็สละ จะต้องสละชีวิตก็ต้องสละ เพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ อันได้แก่บารมีดังกล่าว

ทศพิธราชธรรมคือหน้าที่ของพระมหากษัตริย์

นี้ยกมาอ้างในทางพระโพธิสัตว์ เพื่อมาเทียบกับปริจจาคะ คือการสละ ในที่นี้กำลังอธิบายคำว่าปริจจาคะ กับคำว่าทาน และที่ยกพระพุทธภาษิตที่กล่าวนั้นมา ซึ่งมาอธิบายเพื่อให้เข้าใจชัดโดยยกเอาการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ขึ้นมาที่แจกออกไปเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี มาอ้างเพื่อให้เห็นชัด แม้ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นความดี เป็นหน้าที่ของบุคคลที่นอกจากพระโพธิสัตว์ และบุคคลที่เป็นหัวหน้า ก็คือพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีธรรมที่พึงปฏิบัติในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ หรือตามที่ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้คือ ทศพิธราชธรรม และในทศพิธราชธรรมข้อ ๓ นี้ก็คือ ปริจจาคะ จึงมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในธรรมข้อนี้ ตั้งต้นแต่ที่ไม่ได้ทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขจำเพาะพระองค์ ได้ทรงสละบริจาคพระราชทรัพย์เป็นต้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน แม้ว่าจะต้องทรงเหนื่อยยากพระวรกาย บางคราวก็ประชวร เพราะเหตุที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาชน ด้วยการที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม ทรงจัดทำโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริต่างๆ ซึ่งเป็นทุกข์ทรมาน และทางก็ทุรกันดาร ในบางแห่งก็ต้องเสด็จไปอย่างเสี่ยงอันตรายเข้าไปในสถานที่ใกล้ผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย แต่ก็ได้เสด็จไปโดยที่ไม่ทรงคำนึงถึงไม่ทรงย่อท้อต่อความทุกข์ลำบากและอันตรายต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น อันจะพึงกล่าวได้ว่า ทรงยอมเสี่ยงพระชนมชีพ ทรงยอมรับความทุกข์ลำบากพระวรกาย และก็ทรงสละพระราชทรัพย์ต่างๆ เพื่อช่วยประชาชน ดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่า โดยทรงมุ่งปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ คือเมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ทรงมีหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนให้มีความสุขโดยธรรม ตามที่ได้มีพระปฐมบรมราชโองการไว้ว่า จะปกครองโดยธรรม ก็คือทศพิธราชธรรมนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมคือ ความดี ความงาม ความถูกต้อง อันหมายรวมถึงหน้าที่ของพระมหากษัตริย์จึงเป็นกิจ คือเป็นสิ่งที่พึงทำของพระองค์ และกิจที่พึงทำของพระองค์นี้ ก็มีมาตั้งแต่เมื่อเสด็จครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ธรรมคือหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็มีขึ้นทันที อันเป็นข้อที่จะพึงทรงปฏิบัติ และทุกๆ คนอันหมายถึงผู้ปกครองที่มีระดับเป็นรัฐบาลเป็นข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจ ตลอดถึงประชาชนทั้งปวง เมื่อเป็นขึ้นมาอย่างใด ก็ย่อมมีธรรมคือหน้าที่ คือเป็นกิจที่พึงปฏิบัติเกิดขึ้นทันที เป็นรัฐบาลที่แปลว่า ผู้ปกครองรัฐคือประเทศชาติ ก็มีธรรมคือหน้าที่ของผู้ปกครองรัฐ คือประเทศชาติขึ้นมาทันทีเมื่อเป็นรัฐบาลขึ้นมา เป็นข้าราชการ ทหาร พลเรือน ตำรวจเป็นต้น เมื่อเป็นตำแหน่งใดขึ้นมา ก็มีธรรมคือหน้าที่ๆ จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที

ปฏิบัติหน้าที่โดยธรรมคือโดยถูกต้อง

และหน้าที่ต่างๆ ที่มีขึ้นทันทีตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ก็พึงเป็นหน้าที่พึงปฏิบัติโดยธรรม และโดยธรรมนั้นก็มีความหมายถึงว่า ตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้นเพื่ออะไร บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้นเพื่ออะไร ก็จะตอบได้ว่า บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นตั้งขึ้น ก็เพื่อปกครอง เพื่อปฏิบัติกิจที่พึงทำต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหมดที่รวมกันเข้าเป็นประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อเบียดเบียนประชาชานให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ในการแต่งตั้งทุกอย่างจึงล้วนแต่มีบัญญัติ มีแสดงให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ รวมเข้าแล้วก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมด เพื่อช่วยประชาชน ไม่ใช่เพื่อเบียดเบียนประชาชน และการที่จะปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์อย่างนั้นได้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องปฏิบัติโดยธรรมคือโดยถูกต้อง โดยไม่ผิดที่เป็นคุณธรรม ธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูลต่างๆ นั้นเอง บทบัญญัติต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นก็เพื่อที่จะชี้แนะทางปฏิบัติอันถูกต้องนั้น และเพื่อให้เว้นทางปฏิบัติอันไม่ถูกต้องซึ่งนำให้เกิดทุกข์โทษต่างๆ ดังที่ปรากฏในกฎหมายบทบัญญัติต่างๆ ทุกอย่างรวมเข้าแล้ว ก็เพื่อให้การปกครอง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เป็นไปโดยธรรมเพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจึงมีความหมายว่าหน้าที่ หมายถึงความถูกต้องในทั้งกิจที่พึงทำดังที่กล่าวมา ยกตัวอย่างให้เห็นชัดอีกจำพวกหนึ่ง คือจำพวกที่เป็นทหาร นี่เห็นได้ชัดว่ามีหน้าที่จะรักษาอะไร เพื่อรักษาประเทศชาติราชบัลลังก์ดังที่กล่าวปฏิญญากัน และในการรักษาประเทศชาติราชบัลลังก์นั้น ก็กล่าวได้ว่า เป็นธรรมคือเป็นหน้าที่ เป็นกิจที่พึงทำของทหาร เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวแล้ว ทหารจึงได้เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสละได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ ทั้งอวัยวะร่างกาย ทั้งชีวิต เพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ของตนก็ได้ เพราะหน้าที่ของตนนั้นเพื่อทำหน้าที่รักษาประเทศชาติราชบัลลังก์ดังที่กล่าวนั้นไว้ เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อเกิดเหตุภัยอันตรายขึ้น ทหารก็ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องเสียชีวิต ต้องทุพพลภาพ ต้องเสียทรัพย์ที่จะพึงได้ดังที่ปรากฏกันอยู่อย่างชัดเจน นี้ก็คือเพื่อรักษาธรรมนั้นเอง และหากว่าบุคคลทุกๆ คนได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนดั่งนี้แล้ว ก็ควรที่จะปฏิบัติรักษาหน้าที่คือธรรมอันได้แก่ความถูกต้อง อันได้แก่กิจที่พึงทำของตนไว้ อันจำจะต้องมีปริจจาคะคือการสละ ดังในทศพิธราชธรรมข้อนี้

ทรงสละได้ทุกอย่างเพื่อการปฏิบัติหน้าที่

และก็พึงทราบว่า อันหน้าที่คือกิจที่พึงทำโดยธรรม โดยถูกต้องดังกล่าวมานั้น บางอย่างก็มีบัญญัติไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ แต่ว่าบางอย่างก็ไม่ได้มีบัญญัติไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ ผู้ที่มีความสำนึกในหน้าที่ของตน ย่อมมีความสำนึกด้วยว่า ทุกคนนั้นย่อมมีหน้าที่ที่พึงทำอันเรียกว่าธรรมนี้ โดยมีกำหนดแต่งตั้งอย่างหนึ่ง โดยไม่มีกำหนดแต่งตั้งอย่างหนึ่ง ที่มีกำหนดแต่งตั้งนั้น ก็คือว่าเมื่อแต่งตั้งขึ้นแล้ว ก็มีกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทำนั้นทำนี่ แต่ว่าอันกิจที่พึงทำนั้นไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แต่งตั้งไว้ก็มีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดว่า ได้ทรงปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ทั้ง ๒ คือ ทั้งที่มีบัญญัติกำหนดเอาไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ กับทั้งที่ไม่ได้มีบัญญัติกำหนดเอาไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ แต่ว่าถึงแม้ไม่มีบัญญัติกำหนดไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ เมื่อว่าถึงภาวะที่เป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องมีธรรมคือหน้าที่อันพึงทรงปฏิบัติ ทั้งที่มีบัญญัติไว้ ทั้งที่ไม่มีบัญญัติไว้พร้อมกันไปทีเดียว เพราะว่าการบัญญัติเอาไว้นั้น ไม่อาจจะบัญญัติไว้ทุกข้อทุกประการได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าพระองค์จะทรงถือว่า จะต้องทรงปฏิบัติจำเพาะที่มีบัญญัติไว้ว่าให้ทรงปฏิบัติ ก็ย่อมต้องทำได้ และจะทรงสะดวกสบายยิ่งกว่าที่ทรงปฏิบัตินอกจากที่มีบัญญัติเอาไว้ แต่ว่าด้วยความสำนึกในธรรมอันเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ อันเป็นความถูกต้อง อันเป็นกิจที่พึงทำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะปกครองโดยธรรมให้ประชาชนทั้งปวงมีความสุขความเจริญ จึงได้เสด็จออกเยี่ยมประชาชน แล้วก็ไม่ใช่เยี่ยมเฉยๆ ได้เสด็จออกทอดพระเนตรดูถึงความสุขทุกข์ ความขาดแคลนต้องการของประชาชน ความขาดแคลนของภูมิประเทศนั้นๆ และก็ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อที่จะแก้ไขส่งเสริมอาชีพ แก้ไขส่งเสริมการเกษตร การชลประทานอื่นๆ เป็นต้น ดังที่ปรากฏ เป็นโครงการพระราชดำริมากมายหลายร้อยอย่าง และก็ได้โปรดให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องจากกรมกองนั้นๆ มาช่วยดำเนินงานตามโครงการพระราชดำรินั้นๆ ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุน จึงได้มีกรรมการ กปร ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อำนวยให้โครงการพระราชดำรินั้นเป็นไปได้สะดวกบังเกิดผล กิจเหล่านี้เป็นกิจที่ไม่มีบัญญัติไว้ว่าให้ทรงต้องปฏิบัติ แต่ก็ทรงปฏิบัติด้วยการเสี่ยงต่อภยันตราย ต่อพระชนมชีพ ต่อสุขภาพอนามัย และต้องทรงเสียสละพระราชทรัพย์ต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์ และทั้งส่วนที่รัฐบาลสนับสนุน ยังผลให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังที่ปรากฏ นี่คือ ปริจจาคะ คือการสละ การสละที่เป็นไปตามธรรมคือหน้าที่ คือทรงรักษาธรรม คือหน้าที่ที่พึงทำ ทำกิจที่พึงทำ อันเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนโดยธรรม รายละเอียดในหน้าที่เหล่านี้ไม่อาจบัญญัติไว้ได้หมด แต่อะไรที่พึงทำแล้วก็ต้องทรงทำ เป็นการรักษาธรรมคือหน้าที่ แล้วก็ทรงสละได้ทุกอย่างเพื่อการปฏิบัติหน้าที่อันนี้ เหมือนอย่างทหารที่สละได้ทุกอย่างเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ก็คือเพื่อรักษาธรรมคือหน้าที่ กิจที่พึงปฏิบัตินั้นเอง อันนี้แหละเป็นปริจจาคะ คือการสละ

ทุกคนควรมีปริจจาคะเพื่อรักษาธรรม

และธรรมข้อนี้ ทุกคนทั้งฝ่ายปกครอง ทั้งฝ่ายผู้อยู่ในปกครอง ก็พึงปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างก็มีธรรมคือหน้าที่ของตนที่พึงปฏิบัติด้วยกัน ทุกคนเกิดมาก็ต้องมีพ่อมีแม่ และทุกคนก็ต้องเป็นลูก และเมื่อเติบโตขึ้น ตนเองก็เป็นพ่อเป็นแม่แล้วก็มีลูก ภาวะเหล่านี้ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้ ว่าขอให้ท่านเป็นพ่อ ให้ท่านเป็นแม่ ขอให้ท่านเป็นลูก เป็นภาวะที่เป็นขึ้นเองตามเรื่องของสังคมในโลก และเมื่อเป็นขึ้นแล้ว ก็มีธรรมคือหน้าที่ๆ จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที เช่นเมื่อเป็นพ่อเป็นแม่ ก็มีภาวะที่เป็นธรรม เป็นกิจที่พึงทำ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่พึงปฏิบัติขึ้นทันที เป็นลูกก็มีธรรมคือหน้าที่ของลูกที่จะพึงปฏิบัติขึ้นทันที ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในทิศ ๖ และเมื่อเกิดมาก็ต้องเป็นประชาชนที่รวมอยู่ในชาติใดชาติหนึ่ง ก็เป็นภาวะที่มีหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติขึ้นทันทีตามหน้าที่ของประชาชน และเมื่อไปปฏิบัติกิจ ได้รับแต่งตั้งเป็นหน้าที่ต่างๆ ขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องมีธรรมที่เป็นหน้าที่อันจะต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีกตามที่แต่งตั้งกำหนด แต่แม้เช่นนั้นก็ต้องมีหน้าที่ๆ พึงปฏิบัติตามภาวะที่เป็นไปเองก็ดี ที่แต่งตั้งก็ดี อันไม่มีบัญญัติเอาไว้ คือเป็นสิ่งที่ควรทำ เมื่อสิ่งอันใดเป็นกิจที่พึงทำ นั่นแหละเป็นหน้าที่ที่พึงทำ แม้ไม่มีบัญญัติเอาไว้ก็เป็นสิ่งที่พึงทำ ตลอดจนถึงเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ภาวะเป็นมนุษย์นี้ก็จะต้องมี มนุษยธรรม ธรรมของมนุษย์ที่พึงปฏิบัติขึ้นทันที เมื่อยังไม่รู้ว่ามนุษยธรรมนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสั่งสอน เช่นว่าให้มี ศีล ให้มี หิริ ให้มี โอตตัปปะ เป็นต้น อันเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมที่มนุษย์จะพึงมี เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมที่เป็นหน้าที่นี้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีทั้งนั้น จะต้องปฏิบัติทั้งนั้น และก็ปฏิบัติโดยธรรมด้วยกันทั้งนั้น เพื่อความสุขความเจริญร่วมกัน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีปริจจาคะ คือการสละ เพื่อรักษาหน้าที่ รักษาธรรม รักษากิจที่พึงทำ รักษาคุณความดี เมื่อจะต้องสละทรัพย์ก็ต้องสละ สละอวัยวะก็ต้องสละ สละชีวิตก็ต้องสละ เพื่อรักษาธรรม คือหน้าที่คือกิจที่พึงทำอันนี้ไว้ เพื่อให้เป็นความตั้งอยู่ได้ของส่วนรวมทั้งหมด ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นจุดที่ตั้งของส่วนรวมทั้งหมด ซึ่งจะตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของบุคคล ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีปริจจาคะคือการสละ เพื่อรักษาไว้ อันนี้แหละคือรักษาธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ เป็นกิจที่พึงทำของทุกๆ คน

๕ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 30 กรกฎาคม 2554
Last Update : 30 กรกฎาคม 2554 10:03:34 น. 1 comments
Counter : 1294 Pageviews.

 
สวาส


โดย: 555 IP: 125.24.121.130 วันที่: 30 ตุลาคม 2555 เวลา:18:46:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.