Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๖ วิริยบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



วิริยะ ความเพียร

จะแสดง วิริยบารมี ข้อที่ ๕

สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ได้ทรงเปี่ยมด้วยความพยายามที่เรียกว่า วิริยะ แปลว่า ความเพียร อันจัดเป็นพระบารมีข้อหนึ่งของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาโดยลำดับ คำว่า วิริยะ หรือ ความเพียร ตามศัพท์แปลว่า ความเป็นวีระ คือคนกล้า หมายความว่ากล้าทั้งในทางไม่ทำ ทั้งในทางทำ จึงยังเป็นคำกลางๆ เพราะเป็นอุปการะในทางชั่วก็ได้ ในทางดีก็ได้ จะทำชั่วก็ต้องอาศัยความเพียร คือต้องกล้าที่จะไม่ทำดี กล้าที่จะทำชั่ว จะทำดีก็ต้องอาศัยความเพียร คือต้องกล้าที่จะไม่ทำชั่ว กล้าที่จะทำดี

ปธาน การตั้งความเพียร

ทางพระพุทธศาสนาสอนให้เพียรแต่ในทางดี คือให้กล้าที่จะละเว้น ไม่ทำชั่ว ให้กล้าที่จะทำดี ดังที่สอนให้มี ปธานะ การตั้งความเพียร ๔ สถาน ได้แก่

๑. เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรทำบุญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งอยู่และให้เจริญยิ่งขึ้น

อิทธิบาท ธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ

ในการตั้งความเพียรดังกล่าวนี้ ให้มี

๑. ฉันทะ ความพอใจ
๒. วิริยะ ความเพียรพยายาม
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ ไม่ทอดธุระ
๔. วิมังสา ความพิจารณา ใคร่ครวญ

ทั้ง ๔ นี้เรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า ธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ ความเพียรที่มีลักษณะเป็นปธาน และอิทธิบาทดังกล่าวนี้ สรุปลงได้เป็น ๒ คือ กล้าที่จะไม่ทำชั่ว และกล้าที่จะทำดี

ความเกียจคร้านเป็นข้าศึกของความเพียร

ข้าศึกของความเพียรคือความเกียจคร้าน ตามศัพท์ว่า โกสัชชะ ความนอนจม เมื่อกำจัดความเกียจคร้านได้แล้ว จึงจะตั้งความเพียรขึ้นได้ และความเพียรจะล้มทะลายลงเมื่อเกิดความเกียจคร้านขึ้นเต็มที่ ถ้าไม่ถึงล้มก็อ่อนแอลง ลักษณะความทรงตัวอยู่อย่างเข้มแข็งของความเพียรเรียกว่า ธาตุ กำหนดเป็น ๓ วาระ คือ เริ่มต้น (อารัมภธาตุ) ดำเนิน (นิกกมธาตุ) ก้าวหน้า (ปรักกมธาตุ) ถ้าอ่อนแอล้มเหลวลงระยะใดระยะหนึ่งก็เพราะเกียจคร้านนั้นแหละ เหตุของความเกียจคร้านมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ความติดสุข สนุกสบาย ความกลัวลำบากตรากตรำ ความมักง่าย ความผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าปล่อยให้มีครอบงำอยู่เป็นอาจิณ ก็จะสร้างสันดานเกียจคร้านขึ้น ทำให้เป็นคนทำอะไรหยิบโหย่งมักง่าย ไม่สำเร็จ ทิ้งการงานเสียง่ายๆ ไม่เช่นนั้น ก็หลีกเลี่ยงการงาน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

พระพุทธศาสนาสรรเสริญความเพียรชอบ

เหตุของความเพียรในทางตรงกันข้ามก็มีหลายอย่างเหมือนกัน เป็นเหตุในทางไม่ดีก็มี ในทางดีก็มี ในทางไม่ดีนั้นเป็นต้นว่า ความอยากได้ ความโกรธ ความลุ่มหลง เป็นเครื่องดันใจให้กล้า ให้เพียรพยายามไปตามแรงส่งของความอยาก ความโกรธ ความหลงใหล สุราก็เป็นเหตุอีกอย่างหนึ่ง ไม่ดื่มสุรายังไม่กล้า ต้องดื่มสุราย้อมกายย้อมใจเข้าไป จึงกล้าแบบที่เรียกว่า “เห็นช้างเท่าหมู” ก็คือย้อมใจให้กล้าอย่างหย่อนสตินั้นเอง เพราะถ้าสติยังดีอยู่ก็ไม่กล้า จึงต้องหาทางลดสติลงไปเสีย ส่วนในทางดีนั้นเป็นต้นว่า กุสลฉันท ความพอใจต้องการกุศล ความดี ความมีสติ รักษาใจให้ไม่ประมาท ความเมตตากรุณา ความคอยเตือนคน ความตั้งใจไว้แน่วแน่และรักษาความตั้งใจไว้ให้เป็นจริงที่เรียกว่า รักษาสัจจะ เหล่านี้เป็นเครื่องหนุนใจให้กล้า ให้พยายามในทางดีได้ทุกอย่าง จิตใจนี้เป็นของปลุกขึ้น หนุนขึ้น ถ้ามีพื้นอัธยาศัยนิสัยไม่สู้ดีอยู่ก็ปลุกปั่นหนุนไปในทางนั้นได้ง่าย แต่ก็อาจหนุนแก้ให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน และถ้ามีพื้นอัธยาศัยนิสัยดีอยู่ ก็ปลุกขึ้นหนุนขึ้นในทางดีได้ง่าย แต่ก็อาจหนุนให้หมุนผิดไปได้เหมือนกัน ฉะนั้น ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ความไม่ประมาท มีสติรักษาใจ และรักษาความถูกต้องไว้ ใช้ความเพียรไปในทางที่ถูกให้สม่ำเสมอ ทางพระพุทธศาสนาติความเกียจคร้าน สรรเสริญความเพียรชอบในที่ทุกสถาน ดังที่ได้ตรัสไว้ใน ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ข้อหนึ่งว่า “ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อเริ่มต้นความเพียร ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”

อานิสงส์ของความเพียรในมหาชนกชาดก

และในชาดก ก็ได้แสดงนิทานสาธกให้เห็นอานิสงส์ของความเพียรไว้มากเรื่อง เช่น มหาชนกชาดก ได้เล่าเรื่องพระราชกุมารพระนามว่า มหาชนก ในอดีตกาลก่อนพุทธกาลนานไกล ผู้มีความเพียรแรงกล้า เรื่องย่อมีว่า พระมหาชนกโอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กรุงมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในการรบด้วยทัพของพระอนุชาแล้ว พระมารดากำลังทรงครรภ์พระมหาชนก ปลอมองค์หนีไปประทับลี้ภัยในกาลจัมปากะนคร ได้รับอุปการะจากพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ในนครนั้น พระมหาชนกได้ประสูติในนครนั้น มีจิตใจกล้าหาญ มีความเพียรแรงกล้าเรียนจบไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงเมื่อมีพระชนม์เพียง ๑๖ ปี ต่อมาขอทรัพย์จากพระมารดาเป็นทุน เพื่อจะข้ามมหาสมุทรไปค้าขายในสุวรรณภูมิ (เป็นที่เข้าใจว่าคือแถบแหลมทองหรือแหลมอินโดจีนนี้) จัดหาสินค้าบรรทุกเรือกับพ่อค้าทั้งหลายผู้จะไปสุวรรณภูมิ ลามารดาแล้วออกเรือแล่นใบไปในมหาสมุทร พระมหาชนกเป็นผู้ฉลาดและเป็นผู้กล้าหาญ รู้ว่าเรือจะจมแน่ก็ไม่ตกใจ เตรียมองค์ว่ายน้ำ กำหนดทิศนครมิถิลา กระโจนจากเรือที่กำลังจม ว่ายน้ำไปทางทิศนครมิถิลาเป็นเวลาหลายวัน ในวันที่ ๗ เทพธิดารักษาสมุทรชื่อมณีเมขลาได้ผ่านมาพบ ประสงค์จะลองสอบกำลังจิตใจ จึงตั้งปัญหาถามให้ตอบโดยลำดับว่า ในท่ามกลางมหาสมุทร ไม่เห็นฝั่ง เห็นประโยชน์อะไร จึงพยายามแข็งอยู่อย่างนี้ ไม่ถึงฝั่งจักตายแน่ พยายามไปก็เป็นโมฆะเสียแรงเปล่ากระมัง การงานที่ไม่น่าจะสำเร็จ ไม่มีผล ให้เกิดความลำบากเปล่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยความพยายามไปในการงานนั้นซึ่งให้ความสำเร็จคือความตาย พระมหาชนกได้ตอบโดยลำดับว่า ข้าพเจ้าตรองเห็นโลกวัตรคือคติปฏิบัติของโลก และตรองเห็นผลดีของความพยายาม จึงพากเพียรอยู่กลางมหาสมุทรทั้งที่ไม่เห็นฝั่ง อนึ่ง เมื่อเพียรทำกิจของบุรุษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ญาติ ไม่เป็นหนี้เทวดา ไม่เป็นหนี้บิดามารดา ทั้งไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง อนึ่งเล่าถึงรู้ว่าไม่ถึงฝั่งคือความสำเร็จแน่ ก็ไม่ควรรักษาชีวิตของตนไว้ พึงรู้ไว้เถิด ถ้าจะต้องทิ้งความเพียร (ว่า) คนบางพวกในโลกนี้ มองเห็นผลแห่งความประสงค์ของตนจึงพากันประกอบการงาน แต่การงานเหล่านั้นก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ผลของการงานปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ดังนี้มิใช่หรือ คนอื่นจมไปแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะว่ายข้ามต่อไป ข้าพเจ้าเห็นท่านผู้เป็นเทวดาในที่ใกล้ (เป็นผลของความเพียรของข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าจักพยายามต่อไปเต็มสติกำลัง จักทำกิจที่บุรุษพึงทำ คือเพียรไปให้ถึงฝั่งสมุทร เทพธิดาจึงได้นำพระมหาชนกไปส่งถึงกรุงมิถิลา พระมหาชนกได้เป็นราชาแห่งรัฐนั้นสืบต่อไป

ตามเรื่องพิสดารในชาดกนั้น พึงเห็นสารคติแห่งเรื่องนี้ว่า พระมหาชนกมิได้หวังพึ่งเทวดา แต่คิดพึ่งตนเองมาตั้งแต่ต้น เมื่อเห็นเรือจะอัปปาง ก็คิดเตรียมตนว่ายน้ำ แล้วก็เพียรว่ายน้ำมุ่งให้ถึงฝั่งให้จงได้ ตลอดเวลาหลายวัน เมื่อเทวดามาปรากฏกล่าวชวนให้ท้อแท้หมดกำลังใจ ก็ไม่ทิ้งความเพียร คงมีใจเข้มแข็งมั่นคงมุ่งเพียรว่ายจนกว่าจะตายไปกับความเพียร ทั้งที่เห็นเทวดาอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่ขอให้เทวดาช่วย ตั้งหน้าช่วยตนด้วยตนต่อไป เทวดาจึงได้เข้าช่วย บุคคลเช่นนี้เองเรียกว่าเป็นผู้ที่เทวดาช่วย คือผู้ที่เพียรช่วยตนเองโดยไม่หวังขอให้เทวดาช่วย คือความเพียรนี้เองพึงเห็นว่าเป็นเทวดา เมื่อจับทำการงานทีแรก มักเห็นความเพียรเป็นความยากลำบากน่าเบื่อหน่าย ต่อเมื่อเพียรไปจนใกล้จะสำเร็จก็จะเห็นว่า ความเพียรนี้เป็นเทวดาขึ้นมาทันที ลืมความเหนื่อยยาก เพราะเห็นผลที่จะทำให้ปลื้มใจอยู่เบื้องหน้าแล้ว ผู้ที่เคยพากเพียรเหนื่อยยากในการที่จะอำนวยผลที่ปรารถนาอย่างยิ่ง เมื่อใกล้จะสำเร็จผล ย่อมจะรู้สึกเห็นดังนี้อยู่ด้วยกัน เพราะงานที่จะสำเร็จผลแน่นอนย่อมมีทางทะลุปรุโปร่ง เป็นอานิสงส์ของความเพียรที่ผุดขึ้นมาให้เห็นชัด คนเกียจคร้านจะไม่มีโอกาสเห็นเทวดา คืออานิสงส์ของความเพียรได้เลย

วิริยาบารมีคือนิสัยสันดารเพียร

การทำ ความเพียรชอบ เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิริยบารมี คือความเพียรที่ทำคราวหนึ่งๆ ไม่หมดสิ้นไป ย่อมสร้างนิสัยสันดานเพียรให้กล้าแข็งขึ้นโดยลำดับ เหมือนอย่างทำสวนเพาะปลูกต้นไม้ คนเพาะปลูกและบำรุงต่างๆ นี้เป็นกรรม คือความเพียรที่ตนทำ ต้นไม้เองแตกหน่อเติบโตและให้ผล คนทำหรือตั้งความเพียรซึ่งเรียกว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิริยกรรม และความเพียรเองเกิดแตกหน่อเติบโตกระทั่งให้ผล นี้คือวิริยบารมี พุดง่ายๆ ก็คือนิสัยสันดานเพียร

วิริยบารมี ๓ ชั้น

สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีมามาก ตัดกังวลห่วงใยในคนที่รักและทรัพย์สิน นับเป็น บารมีสามัญ ดังเช่นที่แสดงไว้ใน มหากปิชาดก ว่า พญากระบี่เพียรช่วยพราหมณ์ผู้ตกเหวให้ขึ้นจากเหวได้
ทั้งตัดกังวลห่วงใยในอวัยวะร่างกาย นับเป็นบารมียิ่งยวดอันเรียกว่า อุปบารมี ดังเช่นที่พรรณนาไว้ใน มหาสีลวชาดก ว่า พระเจ้าหมาสีลวราชทรงเพียรช่วยพระองค์เองและหมู่อำมาตย์ ให้รอดชีวิตและให้ได้รับราชสมบัติคืนมา
จนถึงตัดกังวลห่วงใยในชีวิต เป็นบารมีที่ยิ่งยวดเต็มเปี่ยมอันเรียกว่า ปรมัตถบารมี ดังเช่นที่พรรณนาไว้ใน มหาชนกชาดก ที่สาธกมาข้างต้น

ทรงสละทุกอย่างเพื่อธรรมสมบัติ

อนึ่ง แม้ในพุทธประวัติในพุทธกาลนี้ก็แสดงว่า พระโพธิสัตว์ (อันเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้) ได้ทรงทำความเพียรอย่างยิ่ง เมื่อเป็นพระกุมารในวัยเล่าเรียนศึกษา ก็ทรงได้เพียรศึกษาเป็นอย่างดียิ่ง และทรงกล้าคิดกล้าทำเกินสามัญชน ทรงคิดถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงคิดถึงธรรมเป็นเหตุหลุดพ้น ทรงกล้าสละผลต่างๆ ที่โลกปรารถนาเพื่อธรรมนั้น ผลที่โลกปรารถนานั้นสรุปลงคือ ลาภ เช่นแก้วแหวนเงินทอง ทรัพย์ต่างๆ ยศ เช่นอำนาจ ชื่อเสียง บริวาร สรรเสริญ เช่นการยกย่องชมเชย และ สุข ความสุข สะดวกสบายต่างๆ ผลเหล่านี้ได้ทรงสละแล้วทุกๆ อย่าง ตามที่กล่าวว่า พวกพราหมณ์ได้ถวายการทำนายไว้ว่า ถ้าทรงอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชบิดาได้ทรงเชื่อ และทรงปรารถนาจะให้พระโอรสเป็นอย่างทำนาย ข้อนี้จะพึงเป็นได้ อย่างไรก็ตาม แต่ข้อที่เป็นไปแล้วก็คือทรงสละได้ทุกๆ อย่าง ตั้งแต่สมบัติธรรมดาจนถึงจักรพรรดิสมบัติ และแม้ทิพยสมบัติที่ประณีตกว่า ถึงจะนำจักรพรรดิสมบัติอย่างสูงสุด รวมทั้งทิพยสมบัติมาถวายกั้นหน้าไว้ ก็ไม่ทรงหยุดยั้งถอยหลัง ไม่มีอะไรจะกางกั้นไว้ ไม่ให้ทรงออกไปแสวงหาโมกขธรรมได้

ทรงแสวงหาธรรมด้วยการบำเพ็ญสัมมาวายามะ

วิธีแสวงหาธรรมของพระองค์ คือ ทรงเสาะแสวงอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล คือชอบถูกต่อผลที่ทรงประสงค์ อันได้แก่ความหลุดพ้นนั้น ทรงพากเพียรกล้าคิดกล้าทำสอบเหตุสอบผลเรื่อยไป แม้ทุกรกิริยาก็ทรงบำเพ็ญเพื่อสอบเหตุผล กระทั่งเมื่อทรงพบทางที่ถูกแล้ว ก็ได้ทรงตั้งความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว ขณะที่ประทับนั่งที่ควง
โพธิพฤกษ์ในเวลาเย็นแห่งราตรีที่จะตรัสรู้ มีความว่า “เนื้อและโลหิตในสรีระของเราทั้งหมดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษ จักไม่หยุดความเพียร” จึงได้ทรงประสบธรรมเป็นเหตุผลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง นี้พึงเห็นว่าเป็นปรมัตถบารมีโดยแท้ จัดเป็น สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ใน อัษฏางคิกมรรค แห่งความตรัสรู้

๑๓ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 28 สิงหาคม 2554
Last Update : 28 สิงหาคม 2554 8:21:36 น. 1 comments
Counter : 785 Pageviews.

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: lingwonder IP: 101.108.47.72 วันที่: 15 กันยายน 2554 เวลา:20:37:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.