Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๗ มัททวะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



มัททวะ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อ ๕ มัททวะ แปลว่า ความอ่อนโยน
อธิบายทั่วไปว่า คือความเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่ดึงดื้อถือตนด้วยอำนาจ ถัมภะ คือความดื้อดุจเสา มีความอ่อนโยนไปตามเหตุผล ตามความสมควร ดังที่เรียกว่า การณวสิกะ เป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุการณ์ที่ควรดำเนิน และมีสัมมาคารวะต่อท่านผู้ใหญ่ผู้เจริญ อ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า วางตนสม่ำเสมอ ไม่กระด้างดูหมิ่นผู้อื่นด้วยอำนาจมานะ เพราะชาติ เพราะโคตร เพราะยศ เพราะทรัพย์ เป็นต้น

ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน เมื่อมีผู้มากราบทูลด้วยข้ออรรถข้อธรรมที่กอปรด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นวิสัยของบัณฑิตชน มิได้ทรงห้ามปราม ทรงวิจารณ์โดยถ้วนถี่ ถ้าดีชอบก็ทรงอนุโมทนา อนุวัตรตาม ไม่ทรงถือพระองค์ด้วยอำนาจมานะ ทรงสัมมาคารวะอ่อนน้อมแก่ผู้เจริญโดยวัย โดยคุณ ไม่ทรงดูหมิ่น จัดเป็นมัททวะ ความอ่อนโยน

หลักสมานัตตตาในพุทธศาสนา

อันคำว่า มัททวะ ตามที่อธิบายข้างต้น และตามที่แสดงถึงพระราชจรรยาของพระมหากษัตริย์ ว่าทรงประกอบด้วยความอ่อนโยน ดั่งที่ได้แสดงมานั้น เป็นการแสดงโดยทั่วไป นอกจากนี้คำว่าความอ่อนโยนนี้ ยังมีข้อที่ควรอธิบายเข้าหลักธรรมปฏิบัติได้อีกหลายประการ คือความอ่อนโยนนี้ย่อมเป็นไปทางจิตใจและเป็นไปทางกาย ต่อความประพฤติ ต่อบุคคล และต่อการงานต่างๆ ที่เป็นไปทางจิตใจนั้น ก็คือมีจิตใจที่ไม่ดื้อกระด้าง ไม่ประกอบด้วยความคิดหมิ่นแคลน มีจิตใจที่รู้สึกในบุคคลทั้งปวงเป็นไปโดยสม่ำเสมอ แต่ว่าเมื่อดำรงตำแหน่งฐานะอย่างใด ก็มีจิตใจรักษาตำแหน่งฐานะนั้นไว้โดยชอบให้เหมาะให้ควร แต่ไม่ใช่มีความหมายไปในด้านดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นที่ต่ำกว่า ทางพระพุทธศาสนานั้นสอนให้มี สมานัตตตา คือความเป็นผู้มีตนเสมอ ดังที่แสดงไว้ใน สังคหวัตถุ ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดเหนี่ยวนำใจของกันและกันไว้ด้วยความเคารพรัก และพระพุทธศาสนานั้น ได้มุ่งถึงหลักความประพฤติเป็นข้อสำคัญ เมื่อประพฤติดี ประกอบกรรมดี ก็ชื่อว่าเป็นคนดี เมื่อประพฤติชั่ว ประกอบกรรมชั่ว ก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ว ความเป็นคนดีหรือความเป็นคนชั่วนั้น ทางพระพุทธศาสนามิได้จำแนกไว้เพราะเหตุอื่น เช่นเพราะเหตุว่ามีทรัพย์มากหรือน้อย มีตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำเป็นต้น แต่ว่ามุ่งถึงกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาที่ดีหรือชั่วของคนนี่แหละเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดประกอบกรรมดีก็ชื่อว่าเป็นคนดี แม้จะเป็นคนยากจนขัดสน เป็นคนที่เกิดในตระกูลสามัญ และเมื่อทำชั่วก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ว แม้ว่าจะเป็นผู้มีทรัพย์ เป็นผู้ที่ได้รับนับถือว่าเกิดในตระกูลดี ตระกูลสูง เพราะฉะนั้น จึงไม่ยกเอาทรัพย์ชาติ ตระกูลเป็นต้นดังกล่าวเป็นหลักในการแบ่งความเป็นคนดี ความเป็นคนชั่ว เพราะฉะนั้น หลักอันนี้จึงเป็นหลักที่เป็นสามัญทั่วไป เพราะฉะนั้น ทุกๆ บุคคลเมื่อต่างถือหลักอันนี้เสมอกันว่า เป็นคนดีเพราะทำกรรมดี เป็นคนชั่วเพราะทำกรรมชั่ว ก็ตั้งใจประกอบกรรมที่ดีต่อกัน เกื้อกูลกัน ดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลัก สมานัตตตา ความเป็นผู้ที่เสมอกันโดยกรรม และก็มุ่งที่จะนับถือกรรมเสมอกันตามหลักของศรัทธาคือความเชื่อ และตามหลักของการปฏิบัติก็มุ่งที่จะละความชั่ว ประกอบกรรมดีเสมอกัน นี่ก็เป็นสมานัตตตาอย่างหนึ่ง

ทรงสอนให้มีทิฏฐิสามัญญตา

ความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสอน ทรงบัญญัติพระวินัยสั่งเอาไว้สำหรับที่จะเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ทุกๆ บุคคลก็เคารพนับถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเสมอกัน ให้เป็นผู้ที่มีทิฏฐิคือความเห็นชอบถูกต้อง อันเป็นความเห็นที่ประเสริฐที่นำออกจากทุกข์ได้สม่ำเสมอกัน อันเรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา และความเป็นผู้ที่มีความประพฤติอันเรียกว่าศีล ตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าสม่ำเสมอกัน ละข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต ดั่งนี้ อันเรียกว่า สีลสามัญญตา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีสมานัตตตา ปฏิบัติตนให้เสมอกัน และในทางบ้านเมืองก็มีกฎหมาย มีกฎระเบียบต่างๆ สำหรับปฏิบัติ ก็ปฏิบัติให้สม่ำเสมอกัน ดั่งนี้ก็เป็นหลักสมานัตตตาอย่างหนึ่ง และที่แสดงถึงทิฏฐิสามัญญตาเมื่อกี้นี้ว่า มีความเห็นที่ประเสริฐที่นำออกจากทุกข์ ก็เพราะว่าทุกคนนั้นมีความเสมอกันในอริยสัจ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในทุกข์นั้นต่างก็มีเกิดมีแก่มีตาย มีโศก ทุกข์กายทุกข์ใจ ป่วยไข้เป็นต้น เสมอกันอันเป็นตัวทุกข์ และต่างก็มีเหตุเกิดทุกข์คือตัณหาเสมอกัน เมื่อดับทุกข์ ก็ต้องดับตัณหาเสมอกัน จึงจะเป็นความดับทุกข์ได้ และจะต้องปฏิบัติในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จึงจะดับทุกข์ได้ เป็นหลักสัจจธรรมที่เป็นไปเสมอกัน ไม่มียกเว้นใคร อันนี้ก็เป็นหลักสมานัตตตาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ระลึกถึงหลักของสมานัตตตาอย่างนี้แล้ว ก็ปฏิบัติอาศัยความอ่อนโยนของจิตใจ ให้เป็นไปตามหลักของสมานัตตตาเหล่านี้ นี่ก็เป็นสมานัตตตาในหลักธรรมเป็นต้นทางจิตใจ เป็นความอ่อนโยนทางจิตใจ อันประกอบด้วยหลักธรรมในสมานัตตตา เพราะว่าความที่จิตใจจะยอมรับในหลักสมานัตตตาดังกล่าวมานี้ ต้องเป็นจิตใจที่ปราศจากความดื้อถือรั้นไปตามอำนาจของกิเลส คือโลภโกรธหลงเป็นต้น ในจิตใจของตัวเอง ไม่ดื้อถือรั้นไปตามอำนาจของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง ถ้าหากว่าลุอำนาจของกิเลสเป็นทาสของตัณหาแล้ว ใจก็จะแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับในหลักธรรมทั้งปวงเหล่านี้ จะปฏิบัติฝืนหลักธรรมเหล่านี้ไปตามอำนาจของกิเลส นี่ก็เพราะว่าจิตใจไม่อ่อนโยน เพราะกิเลส เป็นจิตใจที่แข็งกระด้าง ต่อเมื่อจิตใจที่ไม่ดื้อถือรั้นเพราะอำนาจของศรัทธาปัญญาเป็นต้น จึงได้อ่อนโยนไปตามหลักธรรม ด้วยอำนาจของศรัทธาปัญญาเป็นต้น ก็จะทำให้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนในหลักธรรม

ปฏิบัติพรหมวิหารธรรมให้จิตใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น

ความอ่อนโยนที่เป็นไปในบุคคลนั้น ก็คือมีจิตใจที่แข็งกระด้าง ดูหมิ่นดูแคลน ดังเช่นที่กล่าวนั้น ยอมรับนับถือว่าทุกคนมีสมานัตตตา ตามหลักธรรมที่เสมอกันไม่แตกต่างกัน ต้องเป็นเพื่อนแก่เพื่อนเจ็บเพื่อนตายด้วยกัน ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ทำกรรมดีก็ได้ดีด้วยกัน เมื่อปฏิบัติในทุกขสมุทัยก็ย่อมได้ทุกข์ ปฏิบัติในมรรคก็ย่อมได้ความดับทุกข์เสมอกัน จิตใจก็มีความอ่อนโยนไปในคนทั้งปวง และเมื่อแถมมา แผ่นเมตตา แผ่กรุณา แผ่มุทิตา แผ่อุเบกขา อันเป็น พรหมวิหารธรรม ไปในกันและกันอีกด้วยแล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้อ่อนโยนมากยิ่งขึ้น เหมือนว่าสัตว์บุคคลทั้งปวงในโลกนี้เป็นญาติเป็นมิตรกันทั้งหมด เป็นผู้ที่ควรเมตตาควรกรุณาเป็นต้นต่อกันทั้งหมด ก็เป็นความอ่อนโยนที่เป็นไปในบุคคล

มีความอ่อนโยนในการปฏิบัติการงาน

และในส่วนการงานนั้นก็จะต้องมีความอ่อนโยน จึงจะปฏิบัติการงานนั้นๆ ได้ แม้ร่างกายที่ปฏิบัติการงานเอง ร่างกายก็ต้องมีความอ่อนโยนเป็นธรรมชาติธรรมดา เช่นว่าคนเราจะเดินจะยืนจะนั่งจะนอนได้ ร่างกายนี้ก็ต้องอ่อนโยน สามารถที่จะพับขาเข้าได้ เหยียดขาออกได้ พับแขนได้ เหยียดแขนออกได้ สำหรับอาจที่จะก้มได้ ที่จะเงยได้ ที่จะอ้าปากพูดได้หรือบริโภคอาหารได้ แม้มือที่จะเขียนหนังสือ จะเขียนหนังสือได้ มือก็ต้องอ่อน นิ้วที่จับปากกาดินสอก็ต้องอ่อน สามารถที่จะจับปากกได้ ที่จะเขียนได้ เหล่านี้เป็นความอ่อนโยนของร่างกายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความอ่อนโยนของร่างกายนี้ จึงชื่อว่าเป็น อุปาทายรูป รูปอาศัยอย่างหนึ่ง ดังร่างกายของคนเป็น เป็นร่างกายที่มีความอ่อนโยน ส่วนร่างกายของคนตายนั้นแข็งกระด้าง ไม่สามารถที่จะมีความอ่อนโยนเหมือนอย่างร่างกายของคนเป็นดังที่กล่าวได้ เพราะฉะนั้น แม้ธรรมชาติธรรมดาของร่างกาย ก็ต้องมีความอ่อนโยนที่เรียกว่ามัททวะ ดั่งนี้

ความอ่อนโยนทางกายและวาจาเนื่องมาจากจิตใจ

และความอ่อนโยนทางจิตใจ อันสืบเนื่องมาถึงความอ่อนโยนทางร่างกายที่แสดงต่อกัน เพราะเมื่อมีจิตใจอ่อนโยน ประกอบด้วยเมตตากรุณาเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น ก็จะทำให้ความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจต่อกัน เป็นไปด้วยความอ่อนโยน ร่างกายที่แสดงออก เป็นวาจาที่พูด ก็จะเป็นวาจาที่เรียกว่า ปิยวาจา วาจาซึ่งเป็นที่รักอันเป็นที่จับใจ นำให้เกิดความรัก ไม่เป็นวาจาที่แข็งกระด้างหมิ่นแคลน อันนำให้เกิดความเกลียดชัง อาการทางกายที่แสดงออกก็เป็นอาการที่สุภาพนิ่มนวล ชวนให้เคารพรัก ไม่ขัดขวางลูกตาใคร เพราะเหตุที่แสดงท่าทางที่เรียกว่าเป็นการแบ่งก็ดี เป็นการหมิ่นแคลนก็ดี เหล่านี้เป็นต้น เหล่านี้ก็รวมเป็นเรื่องของความอ่อนโยนทางกาย อันหมายถึงวาจาด้วย เพราะฉะนั้น คุณสมบัติข้อนี้จึงเป็นข้อที่สำคัญมาก

ทรงมีความอ่อนโยนออกมาจากพระราชหฤทัย

และสำหรับองค์พระมหากษัตริย์นั้น ก็ปรากฏว่าได้ทรงมีความอ่อนโยนออกมาจากพระราชหฤทัย ปรากฏทางพระอาการทางพระวรกายและทางพระวาจา ดังที่ปรากฏ และนอกจากนี้ ยังทรงทำให้เกิดความอ่อนโยน เป็นความสามัคคี ร่วมการร่วมงานกันในการงานทั้งหลายด้วย ดังที่ปรากฏว่าอันการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีการจัดระบบการบริหารขั้นแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่กันอย่างแน่ชัดว่า หน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ หน่วยงานใดบ้างที่จะเข้ามาประสานการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาได้ดำเนินไปสู่เป้าหมายอย่างสมบูรณ์ อันนี้เป็นบ่อเกิดของพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ขึ้น ด้วยมีพระราชดำริว่า กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรองดองกัน ประสานงานกัน ตามธรรมดาแต่ละฝ่ายต้องมีศูนย์ของตน แต่ว่าอาจมีการถือว่าเป็นศูนย์ของตัวเอง คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านที่งานการส่งเสริมการศึกษา ก็หมายความว่าประชาชนที่จะใช้วิธีการทั้งหลายสามารถจะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกัน ในที่ซึ่งเป็นที่เดียวกัน จึงหมายความถึงที่สำคัญปลายทาง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่ที่จะให้ประโยชน์ นอกจากนั้นยังพระราชทานแนวพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ส่วนราชการต่างๆ ที่เคยจัดตั้งหน่วยหรือสถานีทดลองแยกกัน แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หากจะตั้งโครงการพัฒนาขึ้นใหม่ ก็น่าจะมาอยู่ร่วมในสถานที่เดียวกันในลักษณะศูนย์ศึกษาการพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงได้ปรากฏผลดี เพราะเหตุว่าทำให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังที่เห็นได้เด่นชัดก็อย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่นราธิวาส ที่เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ดินที่เรียกว่าพรุ มาใช้ในการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและทำรายได้ให้แก่เขา ใช้เป็นที่อยู่ได้ ทำมาหากินได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่น้ำท่วม และเป็นที่ที่ไม่สามารถจะประกอบการเกษตรใดๆ ได้ ดั่งนี้เป็นต้น

การมีศูนย์ทำให้เกิดความอ่อนโยน

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้โปรดจัดให้มีศูนย์ขึ้นดังนี้ ก็ทำให้เกิดความอ่อนโยน คือทำให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยต่างๆ ซึ่งแยกกันอยู่ ซึ่งเคยถือว่าหน่วยของใครก็หน่วยของใคร ไม่ประสานงานกัน แต่อันที่จริงนั้นควรจะประสานงานกัน เพราะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อเนื่องกัน สัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติงานที่เรียกว่าแข็งตัว ไม่ใช่อ่อนตัว แต่เมื่อมามีศูนย์รวมกัน ก็เป็นอันว่าทำให้เกิดความอ่อนโยน คือ ทำให้ทุกฝ่ายนั้นพ้นจากภาวะที่เรียกว่าแข็งตัว ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ มาร่วมกันคิด ร่วมกันจัดทำในเรื่องที่สืบเนื่องกันไป ในที่อันเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มาก อย่างในแหล่งที่อ้างมานั้น ซึ่งมีพรุ ซึ่งมีเนื้อที่มากมาย อันเป็นที่น้ำเค็มมาขังสะสมอยู่นาน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะประกอบเกษตรกรรมอะไรได้ แต่เมื่อมามีการค้นคว้าพิสูจน์ที่จะแก้ไขภาวะที่ดินที่เป็นพรุนี้ให้กลับเป็นประโยชน์ และใช้ดินที่เป็นพรุนั้นทำประโยชน์ด้วย ก็ได้ปรากฏผลที่คืบหน้า เช่นเป็นต้นว่า ดินที่พรุนั้นเมื่อเอามาพิสูจน์ และเอามาผสมกับส่วนประกอบอีกบางส่วนสามารถใช้ทำเป็นปุ๋ยได้ และก็ได้ทดลองไปให้โรงเรียนทั้งหลาย นำเอาดินพรุซึ่งผสมส่วนให้เป็นปุ๋ยได้นั้นไปทดลองใช้ปลูกผัก ก็ปรากฏว่าได้ผล ทำให้ผักที่ปลูกนั้นเติบโตได้ และให้ผลได้ เป็นตัวอย่างแห่งการแก้ที่ดินที่ว่าใช้ไม่ได้นั้นให้ใช้ขึ้นมาได้ได้ด้วยและก็เสาะหาข้าวเป็นต้นที่สามารถจะนำมาปลูกในพื้นที่นั้นได้ ในเมื่อที่ได้มีการแก้ไขเอาน้ำเค็มออกไป และแก้ไขที่ดินให้ดีขึ้นตามสมควร โดยที่ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวทั้งหมดในประเทศ แล้วก็พันธุ์ไหนบ้างสามารถจะปลูกในที่ดินที่เป็นพรุนั้นได้ และพันธุ์ไหนบ้างที่สามารถจะปลูกในที่ดินอื่นนอกจากนั้นเป็นแห่งๆ ไป ก็สามารถพบพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในที่นั้นได้ ดั่งนี้เป็นต้น เพราะเหตุที่ได้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นดั่งนี้ จึงพบเหตุ แก้ไขเหตุให้ถูกต้อง ให้ได้รับผลในด้านการเกษตร ทำที่ดินที่ไร้ประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ขึ้น ทำที่ดินมากมายที่ว่างเปล่า ให้คนได้เข้าทำมาหากินและเข้าอยู่อาศัยได้ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติในหลักของความอ่อนโยนนั้นเอง คือทำให้บุคคลทุกๆ ฝ่ายที่มีความแข็งตัว ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ประสานกันมารวมตัวกัน และช่วยกันคิดช่วยกันทำเป็นความอ่อนโยน อันนี้แหละคือหลักมัททวะที่จะพึงเห็นได้เป็นหลักอันสำคัญทั่วไปที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติในสิ่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้น คำว่ามัททวะคือความอ่อนโยนนี้ จึงไม่ใช่มีความหมายเล็กน้อย แต่มีความหมายที่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้หลักการคือหลักธรรมข้อนี้มาในการที่ทรงปฏิบัติราชกิจ

ความเนื่องกันระหว่างวิริยะและมัททวะ

อนึ่ง ในบารมีข้อที่ ๕ คือ วิริยะ กับทศพิธราชธรรมข้อที่ ๕ คือ มัททวะ ความอ่อนโยน ดูถ้อยคำต่างความหมายกัน แต่เมื่อพิจารณาจากหลายพระสูตรจะพบว่า มีความเนื่องกันอยู่ในประการที่สำคัญ ยกตัวอย่างใน กันทรกสูตร แสดงว่า “จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเนิน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ ถึงความไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมไปเพื่อญาณปรีชาซึ่งเป็นอภิญญาชั้นสูงได้ คือจิตที่ควรแก่การงานคือปฏิบัติงานเพื่อปรีชาญาณได้จะต้องมีจิตที่มีสมาธิ มีลักษณะอ่อน” ใช้คำว่า “มุทุภูตะ เป็นจิตอ่อน” เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่า จิตที่ไม่มีสมาธิเป็นจิตที่แข็งกระด้างด้วยอำนาจนิวรณ์ คือกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมอยู่ในจิต ทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย ไม่อาจใช้จิตนี้ทำงาน ไม่อาจน้อมไปเพื่อพิจารณาเพื่อปัญญาได้ เป็นอันว่าใช้ความเพียรไม่ได้ ไม่มีกำลังที่จะตั้งความเพียร จึงชื่อว่าไม่ควรแก่การงาน ต่อเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตควรแก่การงาน คือควรตั้งความเพียรทำการงานได้ เพราะเป็นจิตอ่อนโยน เรียกว่ายอมให้น้อมไปทำงาน แม้ในการทำงานทั่วไปด้วยความเพียร จิตก็ต้องอ่อน ยอมให้น้อมไปเพื่อตั้งความเพียรเพื่อทำงานนั้น เพียรเพื่อทำอะไรให้สำเร็จ จึงต้องมีความอ่อนโยนยินยอมพอใจของจิตประกอบอยู่ด้วย ใน ธาตุวิภังคสูตร แสดงอุปมาที่ทำให้เห็นได้ง่ายขึ้น ว่าเปรียบเหมือนช่างทองสุมทองในเบ้า คือตั้งความเพียรให้พอดี มิให้มากไปน้อยไป บางคราวก็ต้องสูบลมให้แรง บางคราวก็ต้องพรมน้ำให้ไฟลดลง เพื่อให้ทองละลายให้พอดี ทองจึงอ่อนเหลว ควรแก่การงาน ผุดผ่องได้ที่ จึงเททองที่อ่อนเหลวได้ที่ ทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ตามปรารถนา วิริยะ ความเพียร กับ มัททวะ ความอ่อนโยน จึงต้องประกอบไปด้วยกัน ดั่งนี้

และในอุปมาในธาตุวิภังคสูตรนี้ ก็แสดงว่า อันทองคำที่จะใช้หล่อให้เป็นทองรูปพรรณต่างๆ ได้นั้น จะต้องสุมให้เหลว ในอ่อนเหลว ดังนี้แหละคือ มัททวะ ความอ่อนโยน หรือเมื่อทองอ่อนเหลวแล้ว จึงจะเททองที่อ่อนเหลวได้ที่ ทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ตามปรารถนา ถ้าหากว่าทองไม่อ่อนเหลว ก็ไม่สามารถจะทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น มัททวะคือความอ่อนโยนของจิต ยอมที่จะประกอบความเพียร จึงเป็นจิตที่สามารถประกอบความเพียรได้ อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า วิริยะ ความเพียร กับ มัททวะ ความอ่อนโยน ต้องประกอบไปด้วยกัน

๑๖ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 05 กันยายน 2554
Last Update : 5 กันยายน 2554 7:10:52 น. 0 comments
Counter : 814 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.