Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓ ปัญญาสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ปัญญาสิกขา ศึกษาปัญญา

จะแสดง ปัญญาสิกขา สิกขาหรือศึกษาปัญญา

ปัญญานั้น แปลว่า ความรู้ทั่ว อันหมายความว่าความรู้ทั่วถึงเหตุและผล รู้เหตุถึงผล รู้ผลถึงเหตุ ตามสัจจะคือความจริง เมื่อมีความรู้ดังกล่าวในสิ่งใด ก็ชื่อว่ามีปัญญาในสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นความรู้หลง รู้ผิด คือไม่ใช่ความรู้จริง ก็ไม่เรียกว่าปัญญา แต่ก็มีคำเรียกรู้ถูกต้องว่า สัมมัปปัญญา ปัญญาชอบ ส่วนรู้ผิด รู้หลง เรียกว่า มิจฉาปัญญา หรือ มิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด ก็แปลว่าเมื่อแยกเรียกดั่งนี้ ปัญญาก็เป็นคำกลางๆ แต่ว่าอีกอย่างหนึ่ง ต้องเป็นความรู้ถูกต้องจึงเป็นปัญญาหรือสัมมัปปัญญานั้นเอง จึงเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่สัมมัปปัญญา เป็นมิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด ก็ไม่เรียกว่าปัญญา แต่เป็นความรู้หลง รู้ผิด เพราะนั้น เมื่อเรียกว่าปัญญาโดยทั่วไป จึงมุ่งถึงในทางดี อันหมายถึงว่ารู้ถูกต้อง ดั่งที่อธิบายไว้ข้างต้นว่า รู้ทั่วถึงเหตุผลตามสัจจะคือตามที่เป็นจริง คำว่าตามที่เป็นจริงนั้น เรียกว่าตามสัจจะคือความจริงอย่างนั้นก็ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนี่งว่า ยถาภูตะ ตามที่เป็นแล้วตามที่มีแล้ว คือว่ามีแล้วเป็นแล้วอย่างไร ก็รู้อย่างนั้น ไม่ใช่รู้ผิดไปจากที่มีแล้วที่เป็นแล้ว พูดกันสั้นๆ ก็รู้ตามเป็นจริง ปัญญาดั่งกล่าวนี้เป็นสิกขา คือเป็นข้อที่พึงศึกษา อันหมายความว่าเรียนให้รู้จักปัญญาที่เป็นตัวปัญญาดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไรและก็ปฏิบัติให้ปัญญาดังกล่าวนี้มีขึ้นเป็นขึ้น

ความรู้ทางอายตนะ ไม่เรียกว่าเป็นปัญญา

ความรู้ที่เกิดทางอายตนะ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ ดั่งที่ทุกๆ คนได้เห็นอะไร ก็รู้สิ่งที่เห็นนั้นทางตา เช่นเห็นต้นไม้ก็รู้ว่านี่ต้นไม้ เห็นภูเขาก็รู้ว่านี่ภูเขา ดั่งที่ทุกคนเมื่อลืมตาขึ้นมาก็เห็นนั่นเห็นนี่อยู่ด้วยกัน ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางตา ได้ยินเสียงก็รู้ทางหู เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ หรือว่ารู้เสียงที่พูดจากันเป็นภาษา ก็รู้เรื่องที่พูดจากันนั้น หรือใช้ภาษามาเขียนเป็นอักษรขึ้นใช้อ่าน เมื่ออ่านภาษาก็รู้ว่าเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูกต้องทางกาย รู้เรื่องราวที่คิดทางใจ นี่ก็เป็นความรู้ เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ และเมื่อเล่าเรียนศึกษาศิลป์วิทยา ก็มีความรู้ในศิลปวิทยา เมื่อมาเรียนพุทธศาสนา ก็รู้ธัมมะในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรียนทางหูก็ฟัง เรียนทางตาก็อ่าน เรียนทางใจก็คือว่าคิดนึกพิจารณา ก็ได้ความรู้ในสิ่งที่เรียนนี้ นี่ก็เป็นความรู้ ความรู้ดังที่กล่าวมานี้ ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ เรียกว่า วิญญาณ เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็คือรู้ เช่นตากับรูปประจวบกัน ก็ได้ความรู้รูปที่เรียกว่าเห็น เห็นรูป นี่ก็เป็นตัววิญญาณ เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข นี่ก็เป็นเวทนา หรือจำได้หมายรู้ นี่ก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปต่างๆ ก็เป็นสังขาร นี่ก็เป็นความรู้ทางขันธ์ ๕ ตากับรูป นั่นก็เป็นรูป รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็เป็นเวทนา รู้จำหมาย ก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิด ก็เป็นสังขาร รู้ที่เรียกว่าเห็น คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน รู้รูปคือเห็นรูป ก็เรียกว่าวิญญาณเป็นต้นดังที่กล่าวมา ยังไม่เรียกว่าเป็นปัญญา

ปริยัติปัญญา ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา

มาถึงขั้นความรู้ที่เกิดจากการเรียนต่างๆ เป็นศิลปวิทยา ตลอดจนถึงเรียนพุทธศาสนาดังที่เรียนกันอยู่นี้ ใช้ตาใช้หูก็เป็นความรู้ขึ้นมา ดั่งนี้ก็เรียกกันว่าปัญญาเป็น ปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติคือการเรียน และคำว่าการเรียนนั้นจึงมีความหมายว่าฟัง แต่โบราณก็ใช้ฟัง ไม่มีตัวหนังสือ เมื่อมีตัวหนังสือขึ้นก็มีอ่าน ท่องบ่นจำทรง เพ่งด้วยใจอันหมายถึงว่าพินิจพิจารณา ขบเจาะด้วยทิฏฐิ ความเห็นคือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่เป็นปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติ และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติ ดังเช่นเมื่อเรียนรู้ศิลปวิทยาแล้วก็นำมาปฏิบัติ เหมือนอย่างเรียนการช่าง เรียนรู้แล้วก็มาประกอบสิ่งนั้นๆ ที่เป็นเรื่องของช่าง เช่นสร้างสิ่งนั้น สร้างสิ่งนี้ สร้างตึกรามบ้านเรือนเป็นต้น และเมื่อเรียนทางพุทธศาสนา มีความรู้ทางปริยัติแล้ว ก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ เช่นเมื่อเรียนรู้จักศีล รู้จักสมาธิ รู้จักปัญญา ก็นำมาปฏิบัติให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นที่ตนเอง ก็ได้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัตินี้ขึ้นโดยลำดับ และโดยเฉพาะพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ล้วนเป็นคำสั่งสอนที่ให้ละชั่ว ทำดี ให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เครื่องเศร้าหมอง คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก กิเลสกองโกรธกองหลง หรือกิเลสกองราคะโทสะโมหะให้หมดไปจากจิตใจ ก็ได้ปัญญาคือความรู้ในการปฏิบัติ อันเป็นเครื่องขัดเกลาดังกล่าวนี้ขึ้นไปโดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็น ปฏิบัติปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการปฏิบัติและเมื่อปฏิบัติไปจนถึงที่สุด อันหมายความว่าชำระจิตใจด้วยปัญญา ให้บริสุทธิ์หมดจดได้บางส่วนหรือสิ้นเชิง ที่เรียกว่าเป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน ตั้งแต่ชั้นต้นคือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขั้น อรหัตตมรรค อรหัตตผล อันเป็นชั้นสูงสุด กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ก็เรียกรวบยอดว่า ปฏิเวธปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอด อันหมายความว่าเจาะแทงกิเลสที่หุ้มห่อจิตใจให้หลุดไปได้หมดสิ้นให้บรรลุถึงความบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมี ๓ อันได้แก่ ปริยัติปัญญา ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา

สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา

และท่านแสดงปัญญาไว้อีกอย่างหนึ่ง ถึงเหตุที่ให้เกิดปัญญา ได้แก่ สุตมัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสุตะคือการฟัง การอ่าน จินตามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพินิจพิจารณา ภาวนามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ปัญญาที่แบ่งเป็น ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเข้าใจว่า สุตะคือการฟัง รวมทั้งการอ่านด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นตัวปัญญา แต่ว่าเป็นทางนำให้เกิดปัญญาได้ จินตาคือการคิดพินิจพิจารณา ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ ภาวนาคือการปฏิบัติอบรมต่างๆ ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ ดังเช่นสุตะคือการฟัง อันหมายถึงการดูด้วยตาด้วย สิ่งที่ตามองเห็น สิ่งที่หูได้ยิน ไม่ใช่ว่าเป็นความจริงซึ่งเป็นตัวปัญญาไปเสียทั้งหมด หรือจะกล่าวว่าโดยมากไม่เป็นความจริงก็ได้ ดังเช่นว่าเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก แล้วโคจรไปตกทางทิศตะวันตก ตาเห็นอย่างนี้ก็เป็นความรู้ทางตา แต่โบราณมาก็มักจะมีปัญญาเรื่องดวงอาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ตกกันเพียงเท่านี้ เรามองดูถนนที่เป็นสายตรง ก็จะเห็นว่าถนนที่ยืนอยู่นั้นกว้าง แต่ถนนที่อยู่ห่างออกไปสุดสายตานั้นเล็กลง ๆ จนรวมเป็นเส้นเดียว เราแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้า มองดูดวงดาว ก็เห็นว่าเป็นดวงเล็ก ๆ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นโตกว่า แต่ก็ไม่โตมากนัก เป็นวงกลมไม่โตเท่าไหร่ โคจรอยู่กลางฟ้า เราก็เห็นว่าดวงดาวเล็กนิดหนึ่ง ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์โตหน่อยหนึ่ง แต่ก็ไม่โตมากและเราก็เห็นด้วยตาว่าโลกนี้แบนไปโดยรอบ เป็นโลกแบนๆ อยู่โดยทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่ได้ทางตา ทางหู นี่ก็เป็นสุตะคือการฟัง รวมทั้งการเห็นด้วย แต่ว่าเพราะการฟังการเห็นดังกล่าวนี้เอง เมื่อมาใช้จินตาคือความคิดพินิจพิจารณา และใช้ภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือตรวจสอบต่างๆ ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นไปตรงกันข้ามกับที่ตาเห็น ดั่งเช่นเห็นว่าดวงดาวเล็กระยิบระยับอยู่บนฟ้า ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ก็โตขึ้นมา โคจรอยู่ในฟ้า แต่อันที่จริงนั้นทั้งดวงอาทิตย์ทั้งดวงจันทร์ทั้งดวงดาวเป็นสิ่งที่โตใหญ่ แต่เพราะอยู่ไกลสายตา สายตานั้นสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่ไกลออกไปนั้นเล็กเข้าๆ อันเป็นสมรรถภาพของทางตา เป็นอย่างนั้น แต่ว่าไม่ใช่เป็นความจริง ความจริงเป็นของใหญ่ และโลกที่เห็นว่าแบนนั้น เดี๋ยวนี้ก็ว่าไม่ใช่แบนเป็นโลกกลม กลมเช่นเดียวกับดวงดาวดวงอาทิตย์ที่เห็นในท้องฟ้า แล้วก็เป็นดาวดวงหนึ่งที่ลอยอยู่ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์จันทร์อังคารเป็นต้นเหมือนกัน ดวงอาทิตย์ที่เห็นขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก แต่อันที่จริงนั้นโลกต่างหากที่หมุนไป เป็นการตรงกันข้ามกับที่ตาเห็น นี่อาศัยจินตาคือความคิด และภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือ การทดสอบต่างๆ ก็ได้เป็นความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าความรู้ที่ว่ามานี้ยุติเท่านี้ ก็เป็นปัญญาที่ยุติลงหรือลงตัว คือเป็นความรู้ทั่วถึงในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้

อายตนะ ๖ เป็นทางให้เกิดปัญญา

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ให้ปัญญาคือความจริงที่เป็นตัวสัจจะไปทั้งหมดหรือโดยมาก เมื่อไปใช้การพิจารณา การที่ทดสอบต่างๆ อันจัดเข้าในภาวนาคือการปฏิบัติอบรมแล้วจึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ อันเป็นความรู้ที่บวกกับสัจจะคือความจริง หรือความรู้ที่เรียกว่า ยถาภูตะ ตามที่เป็นแล้ว มีแล้วอย่างไร นั่นแหละจึงจะเป็นตัวปัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้น ทางตา ทางหู หรือรวมเข้าทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ เรียกว่าทางอายตนะทั้ง ๖ นั้น จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้สัจจะคือความจริงแก่บุคคล แต่ว่าเป็นทางให้เกิดปัญญานั่นแหละ เป็นได้แต่ไม่ใช่เป็นตัวปัญญา คือความรู้เท่าที่ตาเห็น หูได้ยินนั้น ยังไม่ใช่เป็นตัวปัญญาจะต้องมีจินตาคือการคิด และภาวนาคือการปฏิบัติอบรมทดสอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วย จึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ

ตรัสสอนให้รู้จักกำหนดรู้หรือปริญญา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักกำหนดรู้ด้วยความรู้ เรียกว่า ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยความรู้ คำว่า ปริญญา นั้น ท่านมักแปลว่ากำหนดรู้ แต่ตามศัพท์แปลว่ารู้รอบคอบ ปริ แปลว่า รอบคอบ ญา แปลว่ารู้ รวมกันเป็น ปริญญา แปลว่ารู้รอบคอบ แต่มักจะแปลกันในทางปฏิบัติว่า กำหนดรู้ ก็คือกำหนดรู้ให้รอบคอบนั้นเองด้วยความรู้ คือว่าด้วยความรู้ที่ได้จากตา ได้จากหู เป็นการเห็น เป็นการได้ยิน ที่ได้จากจมูก ที่ได้จากลิ้น ที่ได้จากกาย จากความที่ทราบที่รู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมโนคือใจ คือที่ได้คิด ได้รู้ทางใจ ให้กำหนดรู้ความรู้เหล่านี้แหละให้รอบคอบ ดั่งนี้เรียกว่า ญาตปริญญา แปลว่ากำหนดรู้ด้วยความรู้หรือด้วยการรู้ คือเมื่อรู้ด้วยตาด้วยหูเป็นต้นดังที่กล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าพอเพียงเท่านั้น ต้องทำความกำหนดรู้ให้รอบคอบในความรู้ ในการรู้ ตลอดถึงในสิ่งที่รู้ และเมื่อได้กำหนดรู้ด้วยความรู้ ดั่งนี้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือว่า ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา คือพิจารณาสิ่งที่รู้นั้น ให้รู้จักสภาพคือความเป็นไปของตน ของสิ่งเหล่านั้น ตามเป็นจริง คือตามที่เป็นแล้วว่าเป็นอย่างไร และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในปริญญาขั้นต่อไป คือ ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติโดยตรงในพุทธศาสนา คือ ละ ฉันทราคะ ความติดใจยินดีพอใจในทุกๆ สิ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติขัดเกลากิเลสในจิตใจ ละความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นให้สิ้นไปตามเป้าหมายทางพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องมีปหานะคือการละ ละสิ่งที่พึงละไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น ปริญญาในพุทธศาสนานั้นจึงมี ๓ ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยความรู้ ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ นี่เป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนา

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 12 มีนาคม 2554
Last Update : 12 มีนาคม 2554 10:06:33 น. 1 comments
Counter : 727 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ

วันนี้เข้ามาอ่านเพราะตั้งใจมานะคะ ไม่ได้หลงทางมานะ


โดย: Katai_Akiko วันที่: 12 มีนาคม 2554 เวลา:21:01:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.