Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๕ วิมุตติ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



วิมุตติ ความหลุดพ้นจากอาสวะ

ได้แสดง ไตรสิกขา ไปแล้ว ก็ควรจะแสดงอีกข้อหนึ่งต่อกันไป คือ วิมุตติ ที่แปลว่าความหลุดพ้น หมายความว่าหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากทุกข์

พระพุทธเจ้าได้แสดง อริยธรรม ที่แปลว่า ธัมมะที่ทำผู้ปฏิบัติให้เป็นอริยะหรือธัมมะที่พระอริยะแสดงไว้ ธัมมะของพระอริยะ และก็แปลเป็นชื่อของธัมมะเองก็ได้ว่า ธัมมะที่เป็นอริยะคือที่เจริญที่ประเสริฐ ดังที่ได้บอกไว้เมื่อบอกอนุศาสน์ในตอนท้ายว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น ตรัสศีลไว้โดยชอบแล้ว ตรัสสมาธิไว้โดยชอบแล้ว ตรัสปัญญาไว้โดยชอบแล้ว โดยหลายขบวนคือหลายวิธี เพียงเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น อันเป็นทางย่ำยีความเมาเสีย เป็นทางนำความอยากเสีย เป็นทางถอนอาลัยขึ้นเสีย เป็นทางเข้าไปตัดวนเสีย เป็นทางสิ้นแห่งตัณหา เป็นทางฟอกจิต เป็นทางดับทุกข์ ในศีลสมาธิปัญญานั้น สมาธิอันศีลอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานโดยชอบ คือ จาก กามาสวะ อาสวะคือกาม ความอยาก ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้สัจจะคือความจริงของจริง เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาสิกขาคือศีลยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือจิตยิ่งอย่างเคารพ พึงศึกษาสิกขาคือปัญญายิ่งอย่างเคารพ ในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตตรัสประกาศไว้ฉะนี้ พึงให้ถึงพร้อมความไม่ประมาทในศีลสมาธิปัญญานั้นเทอญ” ดั่งนี้

วิมุตติ เป็นผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะฉะนั้น วิมุตติคือความพ้นนั้น จึงเป็นผลของการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญามาโดยลำดับ แล้วก็ตรัสไว้ว่า สมาธิที่ศีลอบรมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่สมาธิอบรม มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่ปัญญาอบรมย่อมพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดานทั้งหลายโดยชอบ คำว่า พ้น ก็คือวิมุตตินั้นเอง และศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป สำหรับในพุทธภาษิตที่ยกขึ้นมานี้กล่าวโดยย่อก็คือว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาก็อบรมจิต ให้พ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่า ปัญญาอบรมจิต จิตก็อบรมศีล เพราะฉะนั้น จึงต่างอบรมซึ่งกันและกัน อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปแล้วก็รวมกันเข้าอบรมจิตนี้เอง ให้ได้วิมุตติคือความหลุดพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน และวิมุตติคือความหลุดพ้นนั้น เมื่อกล่าวรวมๆ ไปหรือว่าเมื่อกล่าวดังเช่นยกพุทธภาษิตที่อ้างมานี้ ก็จะทำให้เห็นว่าเป็นของที่ปฏิบัติให้บรรลุได้ยากอย่างยิ่ง เพราะการที่จะปฏิบัติให้สิ้นอาสวะได้นั้น ต้องปฏิบัติกันจริงจัง และก็ต้องใช้เวลาทั้งหมดเพื่อปฏิบัติ อันยากที่คนโดยมากจะกระทำได้

วิมุตติ ๕

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงวิมุตติลดหลั่นกันลงมาอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น วิมุตติ ๕ อันได้แก่

หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว
สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้
สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
ห้า นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว

ประการที่หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว แปลตามศัพท์ว่า พ้นด้วยองค์นั้นคือพ้นด้วยองคคุณหรือองคสมบัตินั้น อันหมายความว่า พ้นได้ชั่วคราวด้วยเหตุที่ปฏิบัติในธัมมะข้อใดข้อหนึ่ง เป็นองคคุณหรือองคสมบัติขึ้นในจิต กิเลสก็พ้นไปได้ในขณะที่ปฏิบัตินั้น เช่นว่าเกิดความกำหนัดขึ้นในกาม และมาปฏิบัติทำกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เช่นนึกถึงความแก่เจ็บตายว่าต้องมีเป็นธรรมดา หรือว่าปฏิบัติใน กายคตาสติ สติที่ไปในกาย เช่นพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่ง ปฏิกูล ไม่สะอาด อสุภะ ไม่งดงาม เมื่อได้ ธรรมสังเวช ความรู้ชัดในธัมมะซึ่งเป็นคติธรรมดาขึ้นมา หรือว่าได้ ปฏิกูลสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่สะอาด อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความกำหนัดในกามก็สงบลงไป เมื่ออบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น โกรธก็หายไป ดั่งนี้เป็นตทังควิมุตติ พ้นด้วยองค์นั้นเป็นการพ้นชั่วคราว

วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้

ประการที่สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้ ก็หมายถึงว่า ทำสมาธิได้ดีจนถึง อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดๆ คือใกล้จะตั้งมั่นแนบแน่น หรือได้จนถึง อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นถึงฌาน ในขณะที่กำลังอยู่ในสมาธินี้ กิเลสก็ถูกสะกดไว้ให้สงบไป แต่ว่าไม่ได้ละไป อาจจะสงบไปได้นานเท่าที่จิตยังอยู่ในฌาน หรือในความสงบอันเนื่องมาจากฌานนั้น ดั่งนี้เรียกว่า วิกขัมภนวิมมุติ พ้นด้วยสะกดไว้

สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด

ประการที่สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด ก็หมายความว่าพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด บางส่วนหรือว่าทั้งหมด คือการพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาดของท่านที่เป็นโสดาบันบุคคลขึ้นไป เรียกว่า สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด

ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ

ประการที่สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ คือเมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดแล้วกิเลสก็สงบไป ก็เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ใน ๒ ข้อนี้ท่านแสดงว่า สมุทเฉทวิมุตติอันเป็นข้อที่ ๓ นั้น เป็นการพ้นด้วยเด็ดขาด ด้วยอำนาจของมรรคคือ อริยมรรค ส่วนข้อ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ หมายความว่าพ้นด้วยอำนาจของผลคือ อริยผล ตั้งแต่อริยมรรคอริยผลขั้น โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ขึ้นไป

นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

มาถึงข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป ก็หมายความว่า เมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดด้วยมรรค และกิเลสสงบไปด้วยผลดั่งนั้นแล้ว ก็เป็นอันว่าออกไปจากกิเลสได้ตลอดไป เป็นการพ้นจากกิเลสตลอดไป ก็เข้าในข้อ ๕ เพราะฉะนั้น ข้อ ๕ นี้ท่านจึงแสดงว่าพ้นด้วยออกไปด้วยอำนาจของ นิพพาน

เทียบวิมุตติกับมรรค ผล นิพพาน

ก็เป็นอันว่า ข้อ ๓ สมุทเฉทวิมุตตินั้นพ้นด้วยมรรค ข้อ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตตินั้นพ้นด้วยผล ข้อ ๕ นิสสรณวิมุตตินั้นพ้นด้วยนิพพาน ก็อาจจะเทียบได้กับคนป่วย เมื่อคนป่วยรับประทานยา ยานั้นก็แก้โรคที่บังเกิดขึ้นให้หาย โรคก็หายได้ด้วยยา อาการที่หายได้ด้วยยานี้เทียบกับพ้นด้วยมรรค และความหายโรคอันเป็นผลของการรักษาด้วยยา ก็เทียบกับปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ และเมื่อหายโรคแล้วร่างกายก็กลับเป็นปกติ ไม่ปรากฏโรคนั้นขึ้นอีก เหมือนอย่างคนที่มีร่างกายเป็นปกติทั่วๆ ไป ดั่งนี้ก็เทียบได้กับนิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไปคือพ้นด้วยนิพพาน อีกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างการเรียนหนังสือ ในทีแรกเมื่อกำลังเรียนเพื่อให้อ่านหนังสือออกอ่านหนังสือได้ และเมื่ออ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ด้วยการเรียน ก็เหมือนอย่างสมุทเฉทวิมุตติ พ้นจากความไม่รู้หนังสือด้วยการเรียน คราวนี้การที่อ่านหนังสือได้การที่อ่านหนังสือออก อันเป็นผลของการเรียนนั้น ก็เทียบได้กับปฏิปัสสัทธิวิมุตติพ้นด้วยสงบ ก็คือว่าเป็นอันว่าพ้นจากความไม่รู้หนังสือได้ อ่านหนังสือได้ การอ่านหนังสือได้เป็นผล และเมื่อเรียนจบอ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ ก็อ่านได้เรื่อยไป เพราะว่าความรู้ที่อ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้นั้นยังคงอยู่ ก็อ่านได้เรื่อยๆ ไป ก็เทียบกับข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป

ได้มีพระพุทธาธิบายเรื่องวิมุตติไว้ดังที่ยกมาเป็น ๕ ข้อดั่งนี้ สำหรับวิมุตติที่สามัญชนผู้ปฏิบัติธัมมะทุกท่านทุกคนพึงได้พึงถึงนั้นก็คือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ส่วนข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ นั้น เมื่อปฏิบัติจนได้มรรค จึงได้สมุทเฉทวิมุตติ และเมื่อได้มรรคก็ได้ผลต่อไป เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และก็ได้นิพพาน คือการที่พ้นกิเลสได้ตลอดไป ก็เป็นนิสสรณวิมุตติ อันเป็นข้อที่ ๕

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 27 มีนาคม 2554
Last Update : 27 มีนาคม 2554 18:55:55 น. 0 comments
Counter : 843 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.