Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒ จิตตสิกขา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จิตตสิกขา การศึกษาในจิต

จะแสดง จิตตสิกขา คือสมาธิ เพราะว่าสมาธิเกี่ยวแก่จิตโดยตรง ต้องปฏิบัติทางจิต ฉะนั้น จึงได้เรียกว่า จิตตสิกขา

คำว่า “จิต” นี้ มีความหมายเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งจิตที่เป็นธาตุรู้อันเป็นตัวเดิม ไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยอยู่ในกายนี้ เรียกว่า จิต ที่แปลว่า ธรรมชาติที่ให้สำเร็จความคิดนึก อีกอย่างหนึ่งจิตที่เป็นอาการ เรียกว่าความคิด การอบรมจิตเรียกว่า จิตตภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติทางจิตไว้เป็นอันมาก เช่นตรัสสอนว่า ให้อบรมจิต ให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต ให้ทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าอบรมไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าจิตนี้เมื่อเรียกควบกันกับกาย กายก็เปรียบเหมือนเรือ จิตก็เปรียบเหมือนอย่างบุคคลผู้ที่แจวเรือ หรืออีกอย่างหนึ่ง กายเปรียบเหมือนอย่างบ่าว จิตเหมือนอย่างนาย จิตจึงเป็นผู้ที่สั่งให้กายปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจึงเป็นผู้นำ แม้ในการปฏิบัติทางศีล ซึ่งเกี่ยวแก่การปฏิบัติทางกายทางวาจาเป็นที่ตั้ง ดังศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นวินัยสำหรับปฏิบัติ การละเมิดศีลไม่เกิดขึ้นลำพังทางจิต ต้องละเมิดออกไปทางกายทางวาจา จึงจะเป็นการละเมิดพระวินัยบัญญัติ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทางวินัยบัญญัติ เมื่อไม่ละเมิดทางกายทางวาจา ก็ไม่เป็นอาบัติ แม้ว่าจะละเมิดทางใจ คือใจคิดล่วงละเมิด อาบัติก็ยังไม้เกิด ต่อเมื่อไปทำไปพูดขึ้น ผิดจากพระวินัยบัญญัติจึงเป็นอาบัติ ได้มีภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ไม่สามารถจะอยู่ปฏิบัติพระวินัยได้ เพราะว่ามีมากมาย พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เธอจะสามารถรักษาไว้เพียงข้อเดียวได้ไหม ภิกษุรูปนั้นก็กราบทูลว่า ถ้าข้อเดียวได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ให้เธอรักษาจิตของเธอ เมื่อรักษาจิตของเธออย่างเดียวได้ ก็รักษาวินัยบัญญัติทุกข้อไว้ได้” ภิกษุนั้นก็ปฏิบัติรักษาจิต จึงได้รักษาวินัยได้ และบวชอยู่ต่อไปได้ เจริญในพระธรรมวินัยต่อไป เพราะฉะนั้น การรักษาจิตจึงเป็นข้อสำคัญ เมื่อรักษาจิตได้ แม้ว่าวินัยบัญญัติจะมากข้อก็รักษาได้ และรักษาปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ นั้นได้

ในข้อนี้ควรจะทราบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การปฏิบัติพระวินัยไม่ละเมิดทางกายทางวาจา ตามพระบัญญัติก็ไม่เป็นอาบัติ แม้จะละเมิดด้วยใจอย่างเดียว อาบัติก็ยังไม่เกิด แต่แม้เช่นนั้นศีลก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องรักษาให้ได้ถึงใจ คือใจก็ต้องไม่คิดล่วงละเมิดด้วย มีใจเป็นปกติ สงบ ไม่คิดละเมิด ศีลจึงจะบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น แม้จะรักษาวินัยได้ บริสุทธิ์ทางวินัย เพราะไม่ละเมิดทางกายทางวาจา แต่ว่าถ้าละเมิดทางใจ ถึงจะไม่เป็นอาบัติทางพระวินัย ก็เป็นความไม่บริสุทธิ์ทางใจ เมื่อไม่บริสุทธิ์ทางใจ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ศีลนี้จึงมีความหมายถึงจิตใจ คือต้องรักษาถึงจิตใจ รักษากายวาจาให้บริสุทธิ์ด้วย และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วย ศีลจึงจะบริสุทธิ์ ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็ต้องรักษาให้ถึงใจ ให้ใจบริสุทธิ์ ไม่คิดล่วงละเมิด ศีลจึงมีความหมายถึงใจดั่งนี้ และก็มีความหมายถึงว่า เมื่อรักษาจิตได้ ก็รักษาศีลทุกข้อได้โดยไม่ยาก

นิวรณ์ ๕

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกสิกขาข้อที่ ๒ ว่า จิตตสิกขา ข้อที่พึงศึกษาคือจิต หรือการศึกษาในจิต ก็คือการที่มาปฏิบัติอบรมจิตให้สงบจากความคิดล่วงละเมิดในศีลต่างๆ ให้สงบจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ที่เป็นตัว นิวรณ์ คือบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ กั้นจิตใจไว้ให้ไม่ได้สมาธิ ให้ไม่ได้ปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ๕ ข้อ คือ

๑. กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย หรือความพอใจด้วยอำนาจของ กิเลสกาม กิเลสอันเป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนา เป็นต้นว่าราคะ ความติดใจยินดี
๒. พยาบาท ความกระทบกระทั่งของจิต มีอาการเป็นความหงุดหงิดเดือดพล่าน โกรธแค้นขัดเคืองจนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

นิวรณ์ทั้ง ๕ เกิดจากอารมณ์

จิตเมื่อมีนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ย่อมเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เป็นจิตที่อ่อนแอ ไม่ควรแก่การงาน คือไม่สามารถที่จะทำการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะคือไม่สามารถที่จะทำการงานที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน ที่ตั้งของการงานคือสมถะ คือการปฏิบัติทำจิตให้สงบ อันหมายถึงสมาธิรวมอยู่ด้วย คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานทั้งหลาย และนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็เกิดขึ้นจากอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง อันเป็นเรื่องที่เข้ามาทางตา คือตาเห็น จิตรับเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปบ้าง เข้ามาทางหูคือเสียง จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงบ้าง ที่เข้ามาทางจมูกคือกลิ่น จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นบ้าง ที่เข้ามาทางลิ้นคือรส จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รสารมณ์ อารมณ์คือรสบ้าง ที่เข้ามาทางกายคือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ บ้าง เป็นอารมณ์คือธัมมะ คือเรื่องราวที่เข้ามาทางมโนคือใจ จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า ธัมมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวบ้าง อารมณ์ที่จิตรับเข้ามาเหล่านี้เอง ที่เป็นที่ตั้งของนิวรณ์ข้อไหน ก็เกิดนิวรณ์ข้อนั้น ย่อเข้าก็เป็น ๓ คือเป็น ราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของราคะ ก็เกิดราคะหรือกามฉันท์ อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดโทสะคือพยาบาท หรือกุกกุจจะ ความรำคาญใจ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโมหะ ก็เกิดโมหะ ความหลง อันได้แก่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย กุกกุจจะ คือความรำคาญใจนี้ อาจารย์ท่านจัดเข้าเป็นกองโทสะก็มี จัดเข้าเป็นกองโมหะคือความหลงก็มี

กำจัดนิวรณ์ด้วยการตั้งจิตในอารมณ์อันตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิ คือหัดทำจิตให้สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันเป็นอารมณ์ทางกรรมฐาน คือเป็นอารมณ์ของทางสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่ให้เกิดสมถะ คือความสงบ ยกจิตจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส มาตั้งอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบ และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติเลือกหาอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนั้น เหมือนอย่างแพทย์ให้ยาให้เหมาะแก่โรค นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนั้นก็เหมือนอย่างว่าเป็นโรค ๕ ชนิด ก็จะต้องใช้ยา ๕ อย่างสำหรับแก้ไข เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติสมาธินั้น จึงต้องรู้นิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจของตนว่าข้อไหนบังเกิดขึ้น เช่น กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกามบังเกิดขึ้น ก็ให้ถอนใจจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกามฉันท์นั้น มาให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์อันตรงกันข้าม เช่นว่ากำหนดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่อุปัชฌาย์บอกให้เมื่อขอบวชนั้น ว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาดและไม่งดงาม ไม่ใช่คิดเอาเองว่าไม่สะอาด ไม่งดงาม แต่ว่าความจริงของผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้น ไม่สะอาดไม่งดงามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่เพราะบุคคลหลงยึดถือว่างดงาม ว่าสะอาด จึงได้ปรุงใจให้เกิดกามฉันท์คือความพอใจรักใคร่ เพราะฉะนั้น ก็พิจารณากลับตรงกันข้ามตามความเป็นจริง ว่าเป็นของไม่สะอาด ไม่งดงาม จนจิตสงบ ก็เรียกว่าได้กรรมฐานในข้อนี้

เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้น ก็ให้เจริญ เมตตา คือคิดปรารถนาให้เป็นสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดโกรธแค้นขัดเคืองมุงหมายล้างผลาญ เมื่อปลูกเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตได้ โทสะพยาบาทก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็ให้เจริญ พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำจิตให้เบิกบานผ่องใส เลื่อมใสในพระคุณ หรือว่าทำ อาโลกสัญญา ความสำคัญหมายในความสว่าง ทำจิตใจให้สว่าง หรือว่าทำจิตใจให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียร แม้ว่าจะต้องฝืนใจ ก็ต้องฝืนใจให้จิตมีความเข้มแข็ง มีความเพียร เริ่มจับความเพียร ดำเนินความเพียร ทำความเพียรให้ก้าวหน้าไปในกิจที่พึงทำ และเมื่อทำจิตให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียรได้ ทำจิตให้สว่างได้ ทำจิตให้เลื่อมใสผ่องใสได้ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจบังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดทำกรรมฐานที่รวมใจเข้ามาให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เช่นทำ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตรวมอยู่ที่ลมหายใจ ก็จะทำจิตให้สงบได้ ก็เป็นกรรมฐาน

เมื่อความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ บังเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาหาความรู้ก็ต้องศึกษาหาความรู้ค้นคว้าแก้ข้อสงสัยในข้อที่พึงสงสัยต่างๆ แต่ถ้าเป็นความสงสัยเคลือบแคลงในขณะที่ต้องการจะปฏิบัติทำใจให้สงบ หรือในข้อที่ไม่ควรสงสัยต่างๆ ก็ให้เจริญ ธาตุกรรมฐาน พิจารณากายนี้แยกธาตุออกไป ว่าส่วนที่แข้นแข็งก็เป็น ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวก็เป็น อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็น วาโยธาตุ ธาตุลม สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั้น เป็นสมมติบัญญัติสำหรับเรียกกัน และคนทั่วไปก็ยังมีอุปทาน ความยึดถือ ว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ในสมมติบัญญัติเหล่านี้ด้วย เมื่อมีตัวเราของเราขึ้น ก็ตัวเราของเรานี่เองเป็นที่ตั้งของความสงสัยต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมาพิจารณาสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งของบัญญัติ สมมติต่างๆ ว่าตัวเรา ของเรา แยกออกไปที่กายนี้ ว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น ธาตุสัญญา ปรากฏขึ้น คือความสำคัญหมายว่าธาตุปรากฏขึ้น อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวตนก็หายไป ความสงสัยเคลือบแคลงที่อาศัยความยึดถือว่าตัวเราของเราก็หายไปด้วย ก็สงบเป็นกรรมฐาน

ปฏิบัติให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

นี้เป็นการปฏิบัติทางสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ให้ดูปัจจุบันและจิตของตัวเอง ว่าจิตปัจจุบันของตัวเป็นอย่างไรในข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ข้อนี้ ก็ใช้กรรมฐานที่เหมาะกันนั้น มาพิจารณาแก้ให้นิวรณ์ข้อนั้นๆ สงบ จิตก็จะสงบตั้งมั่น จะอ่านหนังสือ จะเรียนหนังสือ จะทำการทำงานอะไรก็สะดวก จะปฏิบัติทางปัญญาต่อไปก็ได้สะดวก และเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ที่ชื่อว่าสมาธินั้นคือ จิตเตกัคคตา แยกออกเป็น จิตตะ ก็คือจิต เอกัคคตา ก็คือความที่มีอารมณ์อันเดียว รวมกันเป็น จิตตเอกัคคตา หรือ จิตเตกัคคตา ก็คือความที่มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว มียอดเป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นอันเดียว เพราะจิตนี้โดยปกติมีอารมณ์มาก พล่านไปในอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทางตา ทางหู เป็นต้น มากมายหลายเรื่องสลับซับซ้อนกันจิตจึงพร่า และเมื่อประกอบกับกิเลสต่างๆ เข้าด้วย บังเกิดเป็นนิวรณ์ดังกล่าวแล้วก็ยิ่งวุ่นวายหนักเข้า เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชัง เดี๋ยวหลง เดี๋ยวง่วง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสงสัย เป็นอันว่าไม่ได้ความสงบ เมื่อไม่ได้ความสงบ จิตก็ไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติการงาน เรียกว่าไม่ควรแก่การงาน แม้การงานที่เป็นธรรมดา เช่นจะไหว้พระสวดมนต์ จะฟัง จะเรียน จะอ่านเป็นต้น ก็ไม่สำเร็จด้วยดี ต่อเมื่อได้สงบจิตจากอารมณ์และกิเลสที่เป็นนิวรณ์เหล่านี้ได้ จิตก็มีความสงบตั้งมั่น มีกำลัง สามารถทำการงานได้ดี เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทำสมาธิ คือ การที่มาตั้งจิตมั่นในอารมณ์ของกรรมฐานสำหรับแก้นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ ดังจะพึงเห็นได้เช่นว่าจะมาฟังโอวาทของอุปัชฌาย์นี้ บางทีก็ไม่อยากจะมา เกิดง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็ต้องระงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเสีย ตั้งความเพียรขึ้นในใจว่าต้องมา ก็ทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้นสงบ ก็มาได้ หรือในขณะที่ฟังอยู่ ก็ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มขึ้นมา ก็ต้องตั้งจิตใจให้มีความเพียร เข้มแข็งขึ้นมา ไม่ยอมง่วง หรือทำจิตใจให้สว่าง ทำจิตใจให้มีความผ่องใสในธรรม ให้มีความเข้าใจในธรรม ง่วงก็หายไป หรือมีความเคลือบแคลงสงสัย ถ้ามัวสงสัยอยู่ในข้อที่กล่าวไว้ทีแรก ก็ไม่ฟังในข้อที่กำลังจะกล่าวต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ความเข้าใจตลอด ก็ต้องเก็บความสงสัยนั้นไว้ก่อนฟังต่อไปก่อนให้ตลอด แล้วอะไรสงสัยก็มาคิดแก้ไขกันใหม่ หรือถ้าเกิดความสงสัยนอกเรื่องออกไป ก็ต้องสงบเสีย ว่าไม่ใช่เวลาที่จะมาสงสัยในนอกเรื่อง เวลามาฟังก็ต้องฟัง ก็แปลว่าในขณะที่กำลังฟังนี้ ก็ต้องทำกรรมฐาน ทำสมาธิ ระงับกามฉันท์ ระงับพยาบาท ระงับถีนมิทธะ ระงับอุทธัจจกุกกุจจะ ระงับวิจิกิจฉา จิตใจจึงจะสงบตั้งมั่น เรียกว่ามีสมาธิในการฟัง เมื่อมีสมาธิในการฟังแล้ว ก็ฟังได้ตลอด ฟังได้ยินทุกคำ แล้วจะมีความเข้าใจ นี่เป็นสมาธิที่กล่าวอย่างง่ายๆ ที่จะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ อันจะทำจิตให้มีความสามารถ ทำจิตใจนี้ให้ควรแก่การงาน อันนี้แหละเป็น จิตตสิกขา ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติเป็นประการที่ ๒

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 04 มีนาคม 2554
Last Update : 4 มีนาคม 2554 9:38:46 น. 0 comments
Counter : 630 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.