โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

นวัตกรรมทางเลือก ตรวจเส้นเลือดหัวใจ…ไม่ใส่สายสวน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 ตุลาคม 2548 10:06 น.
ยามคนชิดใกล้จากไปด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน คนข้างหลังไม่เพียงจะตระหนกตกใจอาลัยอาวรณ์กับการจากไปแบบปัจจุบันทันด่วนของคนอันเป็นที่รักเท่านั้น ทว่าจำนวนมากยังยากลำบากกับการดำเนินชีวิตที่เหลือ ด้วยผู้ที่จากไปส่วนใหญ่เป็นทั้งกำลังใจและร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับครอบครัวมาโดยตลอด ในวันเวลาที่ท่านเหล่านั้นยังอยู่กับเรา ลูกหลานจึงควรชักชวนพ่อแม่ในวัยเลย 50 ปู่ย่าตายาย หรือกระทั่งตัวเองมาตรวจโรคหัวใจและหลอดเลือดเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นจากมลพิษ อาหาร และความเครียดของชีวิตเมือง

น.พ.เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแม้จะมีวิธีการรักษาทั้งการใช้ยา ทำบอลลูนหลอดเลือดขยายเส้นเลือดหัวใจ หรือทำบายพาสก็ตาม แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ยังคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ นอกเหนือจากมะเร็งและอุบัติเหตุ อุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจในประชากรไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2546 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงจากปี 2545 ถึงร้อยละ 16 หรือ 136,000 ราย ส่งผลให้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยมากถึง 991,413 ราย หรือเฉลี่ยนาทีละ 2 คน และยังสูญเสียชีวิตสูงถึง 40,092 ราย หรือชั่วโมงละ 5 คน

กระนั้น คนจำนวนไม่น้อยก็ยังปฏิเสธการตรวจเส้นเลือดหัวใจเพราะขั้นตอนยุ่งยาก และยังเจ็บจากการฉีดสีและใส่สายสวนหัวใจ แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่รุดหน้าในปัจจุบันก็ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยเส้นเลือดหัวใจแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็วโดยไม่เจ็บตัวจากการสวนหัวใจ

และนวัตกรรมที่หลายคนกำลังเฝ้าจับตามองก็คือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง Real 64-Slice CT ซึ่งนอกจากจะตรวจเส้นเลือดหัวใจได้โดยไม่ต้องใส่สายสวนแล้ว ยังช่วยให้รู้สภาพหัวใจก่อนสายเกินแก้อีกด้วย

พล.อ. นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจฯ รพ.พระรามเก้าอธิบายว่า เนื่องจากหัวใจเคลื่อนไหวตลอดเวลา การใช้เครื่องเอกซเรย์ Real 64-Slice CT ที่ทั้งเร็วและละเอียดสูงสุด สร้างภาพครั้งเดียวได้ถึง 64 ภาพต่อการหมุน 1 รอบ (360 องศา) ในเวลาเพียง 0.33 วินาทีจึงถือเป็นความเร็วที่ตรวจหัวใจได้ดีที่สุด ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดและสภาพอวัยวะต่างๆ ละเอียดแม่นยำด้วยการนำเสนอภาพแบบ 3 มิติ เช่น การตรวจดูขนาดของหลอดเลือดหัวใจ ดูสภาพผนังเส้นเลือดว่ามีการตีบตันหรือไม่อย่างไร

ที่สำคัญการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องฉีดสีและใส่ขดลวดสวนหัวใจ ซึ่งยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งผู้ป่วยก็ไม่ต้องนอนพัก สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การมุ่งรักษาอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องให้ความรู้ทั้งกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามาพบแพทย์เมื่ออาการป่วยยากจะเยียวยารักษา

ด้านรศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันหัวใจฯ และหัวหน้าห้องสวนหัวใจ หน่วยโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอธิบายว่า แต่เดิมการใช้วิธีสวนหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น จะมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 25 ที่พบว่าตัวเองไม่ได้ป่วย ดังนั้น การใช้เครื่องเอกซเรย์ Real 64-Slice CT จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องเจ็บตัวจากการสวนหัวใจเพื่อจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เพียงแต่มีอาการบางอย่างคล้ายกับโรคหัวใจเท่านั้น

ในเวลาไม่เกิน 5 นาทีนอกจากจะตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคทางด้านหัวใจและหลอดเลือด เช่น ตรวจเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันหรือก้อนหินปูนไปเกาะผนังหลอดเลือดแดงซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้แล้ว ยังตรวจผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการของโรคหัวใจให้เห็นด้วย เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที

นอกจากนั้น เครื่องเอกซเรย์ความเร็วสูงนี้ยังสามารถตรวจเส้นเลือดแดงแดงที่ตีบตันได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น เส้นเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง ไต ขา แขน และยังช่วยตรวจเนื้องอกระยะเริ่มต้นในเนื้อเยื่อปอดและระบบลำไส้ใหญ่ เพื่อหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นก่อนจะเปลี่ยนสภาวะเป็นมะเร็งปอดและลำไส้ใหญ่ตามลำดับ รวมทั้งยังตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง เนื้อเยื่อในช่องท้อง และความผิดปกติของกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ด้วย

ส่วนความวิตกกังวลว่าจะได้รับปริมาณรังสีจากการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ความเร็วสูงรุ่นนี้นั้น รศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ แพทย์ที่ปรึกษาสถาบันหัวใจฯ และประธานศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้าและรังสีร่วมรักษา (AIMC) รพ.รามาธิบดี อธิบายว่ารังสีที่จะได้รับนั้นเทียบเท่ากับการเอ็กซเรย์ทั่วไปไม่กี่ใบเท่านั้น และถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับการฉายรังสี อีกทั้งยังมีโรคแทรกซ้อนน้อยกว่า และไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ระบุว่ามีผลข้างเคียงจากการใช้ด้วย

ยิ่งกว่านั้น เครื่องเอกซเรย์รุ่นนี้ยังตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำถึงร้อยละ 99 ในกรณีที่ตรวจพบว่าคนนั้นไม่ได้ป่วยเป็นโรคหัวใจ และร้อยละ 97 ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นมีความผิดปกติที่หัวใจ ทว่า อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องเอ็กซเรย์รุ่นนี้ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับคนที่แพ้สารทึบรังสี หอบหืด หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ขณะที่การสวนหัวใจยังคงครองตำแหน่งวิธีมาตรฐานดังเดิม

... แต่ไม่ว่านวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์จะรุดหน้ามากเพียงใด ทว่าหนทางดีที่สุดก็ยังคงเดิม คือ การป้องกันรักษาหัวใจไม่ให้โรคร้ายมากล้ำกราย ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับความเครียด มลพิษทางอากาศ อาหาร หรือป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อกันตัวเองและคนรักให้ไกลห่างจากโรคหัวใจ-เพชฌฆาตไร้ความปราณีของคนเมือง



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2548 11:59:48 น. 0 comments
Counter : 1068 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]