เที่ยวแล้วสบายใจ...ไม่เน้นรายได้จากงานประจำ

เที่ยวในหน้าที่ อุทัย-สิงห์บุรี-อยุธยา : ตอนที่ 1

หมายเหตุ **
เป็นการนำรีวิวเก่าที่ทำไว้ มาเก็บในบล็อค ข้อมูลไม่ใช่ข้อมูลปัจจุบัน หากต้องการนำข้อมูลนี้ไปใช้ประกอบการท่องเที่ยว ให้เช็คข้อมูลปัจจุบันอีกครั้งค่ะ


ทริปนี้ไปเที่ยวในหน้าที่ค่ะ คือการไปทำงานแล้วเอาเรื่องเที่ยวมาเอี่ยวนั่นเอง เส้นทางที่ไปในครั้งนี้คือพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี แต่ขากลับเราได้แวะกราบนมัสการหลวงพ่อจรัญ ที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี และแวะไหว้พระที่วัดท่าซุงกับเดินเล่นที่ตลาดน้ำอโยธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยค่ะ

หวังว่าข้อมูลการเดินทางในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างเหมือนเคยนะคะ


ปล.เนื่องจากเดินทางเป็นหมู่คณะ เส้นทางการเดินทางและจุดแวะพักระหว่างทางจึงไม่มีลงในรายละเอียดเหมือนเช่นทุกทริปค่ะ



เนื่องจากเป็นการเที่ยวในหน้าที่ เราต้องเข้าห้องประชุมเพื่อสัมนาในเช้าวันจันทร์ ตั้งแต่แปดโมงเช้า และเป็นการเดินทางคณะใหญ่ จึงนัดเวลาออกจากจุดนัดพบ(จันทบุรี)ตั้งแต่เวลาดึก ไปรุ่งสางเอาที่อุทัยธานีค่ะ เข้าเช็คอินที่โรงแรมที่เราต้องสัมนา คือโรงแรมห้วยขาแข้งเชษฐ์ศิลป์ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีขนส่งค่ะ ย่านนี้หาของกินง่ายสะดวก เพราะหลังบขส.ก็คือตลาดสด

** รายละเอียดที่พัก ดูที่หมวด รีวิวที่พัก นะคะ



ทานข้าวเสร็จก็เข้าห้องประชุมเครียด ไปจนถึงเที่ยงค่ะ ไม่มีภาพมาให้ชมบรรยากาศนะคะ เพราะมันเครียดมากกกกกกกกกก ช่วงบ่ายเราต้องออกไปดูงานการบริหารจัดการร้านค้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี ศูนย์แสดงสินค้า OTOP ของจังหวัดอุทัยธานีตั้งอยู่ริมถนนเลยค่ะ ถ้าใครจะเข้ามาเมืองอุทัยฯต้องผ่าน อยู่ขาออกค่ะ



ศูนย์แห่งนี้บริหารจัดการโยองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี นอกจากร้านค้าที่ขายสินค้าโอทอป ,สินค้าพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์จากชุมชนแล้ว ยังมีห้องจัดประชุมสัมนาและร้านอาหารบริการด้วยค่ะ

บริเวณด้านหน้าอาคารมีการจัดสวนจำลองห้วยขาแข้ง และรูปเหมือนของคุณสืบ นาคะเสถียร อยู่ด้วย



ภายในศูนย์ มีสินค้าครบทุกสิ่งค่ะ ทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชน และของที่ระลึกประเภทเสื้อยืด,โปสการ์ด ก็มีนะคะ



สินค้าขึ้นชื่ออย่างผ้าทอตีนจก ของอำเภอบ้านไร่ก็มีจำหน่ายที่นี่ หากมาอุทัยฯมาซื้อสินค้าที่นี่ที่เดียวก็ครบค่ะ ไม่ต้องขับรถไปไกลถึงแหล่งผลิต ราคาไม่แตกต่างกันค่ะ

ปล.สองผืนนี้ปลื้มมากค่ะ ซื้อปุ๊บใส่ปั๊บเลยชอบบบบบบบบบบบ



บริเวรณด้านนอกก็มีสินค้าที่เจ้าของผลิตภัณฑ์นำมาจำหน่ายเองด้วยนะคะ การจัดร้านสวยงามได้บรรยากาศดีค่ะ พวกมีดพับ,งานเหล็ก จะอยู่ข้างนอกนี้เยอะ



ฟังบรรยายสรุปและอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนกันไปพอประมาณก็กลับไปเข้ากลุ่มที่โรงแรมต่อค่ะ ก่อนจะย้อนออกมาที่วัดสังกัสรัตนคีรี กันอีกรอบ ทางขึ้นผ่านศาลาประชาคมและสนามกีฬาค่ะ

ที่วัดสังกัสนี้จะเดินขึ้นทางด้านหน้าก็ได้นะคะ (ที่จัดพิธีตักบาตรนั่นแหละค่ะ) แต่เราขึ้นทางรถทางด้านหลังดีกว่า ไม่เหนื่อย สามารถชมวิวได้ทั่วเมืองอุทัยเลยค่ะ เห็นที่พักของเราด้วย



วัดสังกัสรัตนคีรี

ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่ อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ สำหรับเมืองอุทัยธานีได้รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าพระ (ตรงข้ามศาลาประชาคมจังหวัดอุทัยธานี) แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สร้าง ในสมัยพระเจ้าลิไท ฝีมือช่างสุโขทัย มีส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันก่อนนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไ ป 1 กิโลเมตร และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี จะมีประเพณีตักบาตรเทโว โดยพระสงฆ์ประมาณ 500 รูปจะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังมารับบิณฑบาตที่ลานวัดเป็นประเพณีที่สำ คัญของจังหวัด


ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดียค่ะ



มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะหลายอย่างค่ะ โดยเฉพาะองค์พระะพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอุทัยธานี แต่เราไม่ได้ถ่ายภาพมาค่ะ ถ่ายมาแต่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ

เห็นหลายๆคนโยนเหรียญที่พระสังกัจจายน์องค์นี้ เราไม่ทราบความหมายค่ะ จะถามใครก็ไม่มีใครให้ถามเลย เราก็เลยไม่ได้โยนกับเค้าหรอก



ใช้เวลาอยู่ที่นี่พอสมควรก็กลับไป ประชุมกลุ่มสรุปบทเรียนที่โรงแรมกันในช่วงเย็น-ค่ำต่อค่ะ

ทิวทัศน์เมืองอุทัยฯ จากเขาสะแกกรัง



เข้าพักที่โรงแรมแล้ว วันรุ่งขึ้นทานอาหารเช้า แล้วก็ออกเดินทาง ก่อนกลับก็แวะซื้อขนมปังสังขยาเจ้าดัง ที่ร้านเยื้องๆกับโรงพยาบาล

ก่อนจากลาเมืองอุทัย ต้องแวะไปวัดท่าซุงกันก่อนค่ะ ไม่อย่างนั้นจะหาว่าเรามาไม่ถึงเมืองอุทัย

อันที่จริงวัดเดิมจะอยู่อีกฝั่งถนนค่ะ แต่เราตั้งใจจะมากราบพระในวิหารแก้ว ซึ่งอยู่ฝั่งนี้ เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด ทางด้านซ้ายจะเป็นอาคารขายสินค้าที่ระลึก ถัดไปจะเป็นอาคารวิหารแก้ว ด้านหน้าจะมีพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ ๑,รัชกาลที่ ๕ ,รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗



ภายในวัดมีพื้นที่กว้างมาก จึงมีบริการรถสามล้อเครื่องพาชมวัด แนะนำว่าให้เข้าไปกราบร่างหลวงพ่อฤษีลิงดำ และพระพุทธรูปในวิหารแก้วก่อนค่ะ

ประวัติ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

พระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ เดิมชื่อสังเวียน เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายควง นางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีพี่น้อง ๕ คน เมื่ออายุ ๖ ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่ออายุ ๑๕ ปี เข้ามาอยู่กับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น และได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ อายุ ๑๙ ปี เข้าเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ พออายุครบบวช

อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ วัดบางนมโค โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิหารกิจจานุการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อายุ ๒๑ ปี สอบได้นักธรรมตรี อายุ ๒๒ ปี สอบได้นักธรรมโท อายุ ๒๓ ปี สอบได้ นักธรรมเอก

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑ ได้ศึกษาพระกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

พ.ศ. ๒๔๘๑ เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี ต่อมา สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคาราม หลังจากนั้นได้เป็นรองเจ้าคณะ ๔ วัดประยูรวงศาวาส เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค และย้ายไปอยู่อีกหลายวัด

พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมาอยู่วัดท่าซุง บูรณะซ่อมสร้างและขยายวัดท่าซุง จากเดิมมีพื้นที่ ๖ ไร่เศษ จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ ๒๘๙ ไร่

พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระสุธรรมยานเถร"

พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"

มรณภาพ

ตุลาคม ๒๕๓๕ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)ได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๖.๑๐ น.

ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาล , สร้างโรงเรียน , จัดตั้งธนาคารข้าว , ออกเยี่ยมเยียน ทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และ แจกอาหาร , ยา , อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ


ทางด้านพระศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติกาย , วาจา , ใจ , ในทาน , ในศีลและในกรรมฐาน ๑๐ ทัศ และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนกว่า ๑๕ เรื่อง และบันทึกเทปคำสอนกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรม เทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุกๆ ปี

ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า ๓๐ วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า ๖๐๐ ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก , หนังสือมูลกัจจายน์ และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ไตร

ทางด้านพระมหากษัตริย์ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ศูนย์ฯ นี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ งานของศูนย์ฯ รวมทั้งการแจกเสื้อผ้า , อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน , การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ , การส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย , การให้ทุน นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน , การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณา เป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งทีเป็นประโยชน์และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับ เป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส แท้องค์หนึ่ง

ขอบคุณข้อมูล : เว็บศิษย์หลวงพ่อ





ออกมาด้านนอกวิหาร คุณลุงท่านนี้ก็พร้อมที่จะพาเราไปสักการะและเที่ยวชมจุดอื่นๆภายในวัดต่อค่ะ (ค่าบริการคนละ 8 บาท จ่ายเมื่อชมครบทุกจุดแล้วค่ะ ขึ้นคันไหนต่อไปจุดใดก็ได้)



คุณลุงให้ความรู้เรื่องการเที่ยวชมวัดด้วยค่ะ จุดแรกไว้พระศรีอริยะก่อน เสร็จแล้วก็ข้ามไปที่วิหารฝั่งตรงข้าม ต้องขออภัยจำชื่อไม่ได้แล้วค่ะ จากนั้นก็ไปไหว้หลวงพ่อเงินไหลมา เทมา และจุดสุดท้าย คือการเข้าชมปราสาททองคำ ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จค่ะ

ชมวัดทั่วทุกมุมเสร็จเรียบร้อย คุณลุงพาไปส่งถึงรถกันเลยทีเดียว เราออกเดินทางจากอุทัยธานี ไปแวะทานมื้อกลางวันง่ายๆ ที่ริมถนนสายเอเชียเขตจังหวัดสิงห์บุรี ก่อนแวะไปไหว้พระจุดต่อไป



จุดต่อไป เราจะไปกราบหลวงพ่อจรัญ ที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรีค่ะ
ผู้คนนิยมมาปฏิบัติธรรมที่นี่กันมาก วันที่เราไปก็เห็นต่อคิวลงชื่อปฏิบีติธรรมกันเป็นแถวยาวเลย สำหรับการเดินทางมาที่วัดนี้ ทางเวปไซท์ของหลวงพ่อแจ้งไว้ละเอียดเลยค่ะ

ลองเข้าไปดูได้ //www.jarun.org/v6/th/contact-map.html

หลวงพ่อจะลงมาพบกับญาติโยมสองช่วงเวลาเช้า-บ่าย



กราบหลวงพ่อเสร็จ ก็ออกเดินทางต่อค่ะ จุดหมายต่อไปเราจะไปไหว้พระที่วัดท่าการ้อง อยุธยา และแวะเที่ยวตลาดน้ำอโยธยาก่อนกลับบ้านซึ่งสามารถเลื่อนลงไปชมในตอนถัดไปได้เลยค่ะ

และรีวิวฉบับเต็ม คลิ๊กชมตามลิงค์นะคะ
:: //www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10611332/E10611332.html




Create Date : 03 มิถุนายน 2555
Last Update : 3 มิถุนายน 2555 16:31:32 น. 0 comments
Counter : 5769 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prettyguide
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




สวัสดีค่ะ

ยินดีต้อนรับสู่ prettyguide's blog ค่ะ

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องอัญมณี และของดีเมืองจันท์ เชิญลงชื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ค่ะ prettyguide จะขออาสาพาเพื่อนๆเที่ยวเมืองจันท์ให้ครบทุกซอกทุกมุม ใครอยากไปไหน หรืออยากได้ข้อมูลของจันทบุรี ก็บอกมาได้เลยค่ะ

================================

ภาพถ่ายทั้งหมด
ภายใน blog นี้สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัิญญัติสิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาิิต
New Comments
[Add prettyguide's blog to your web]