ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

กรณีเช็คเด้ง

เขียนโดย ลีลาLAW

สังคมพัฒนาต่อเนื่องมาตลอดจากการซื้อขายด้วยเงินสดเท่านั้น ปัจจุบันนี้มีการใช้เช็คหรือบัตรเครดิตซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากความสะดวกในการใช้สอยแล้ว ยังมีข้อพิพาทติดมาด้วย ถ้าเจ้าของบัตรหรือผู้สั่งจ่ายเช็คเกิดปัญหาทางการเงิน แล้วจำใจงดจ่ายคืนหนี้ไม่ว่าโดยสุจริตใจหรือไม่ก็ตาม
เมื่อเกิดกรณีพิพาทกับเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน หลายท่านคงต้องการทราบว่าควรจัดการกับกรณีดังกล่าวในเบื้องต้นอย่างไรเพื่อเป็นการรักษาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จึงขอนำกรณีตัวอย่างพึงระวังไว้ซึ่งพิพาทถึงศาลฎีกามาให้เป็นตัวอย่างดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 588/2546 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค คือ วันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ว่า ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยมิได้ร้องทุกข์แจ้งความไว้ก่อน จึงขาดอายุความ อันมีสาเหตุมาจากครั้งแรกนั้นโจทก์ฟ้องศาลภายในอายุความ แต่เป็นการฟ้องผิดศาล จึงถูกสั่งจำหน่ายคดีไป โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่อีกครั้งในวันที่ 5 กันยายน 2543 ซึ่งเป็นการพ้นอายุความ 3 เดือนแล้ว อันเป็นอายุความคดีอาญาโดยเฉพาะ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 39 (6)
กรณีข้างต้นทำให้เห็นความสำคัญของระยะเวลาเพื่อปกป้องความเสียหายจากการใช้เช็คได้ เมื่อเช็คในมือถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วตามหลักกฎหมายผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด นั่นคือ ผู้สั่งจ่ายเช็ค โดยแจ้งที่สถานที่เกิดเหตุ ซึ่งคือ ที่ตั้งของธนาคารซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น แม้ท่านไม่แจ้งความกับตำรวจ ก็อาจฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ภายในอายุความดังกล่าวเช่นกัน ส่วนหลังจากแจ้งความภายในเวลาข้างต้นแล้ว ฝ่ายอัยการหรือเจ้าของเช็คจะฟ้องคดีต่อศาลเมื่อพ้นสามเดือนก็ได้ อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องทราบไว้คือ เช็คที่นำมาร้องทุกข์นั้นต้องมีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย เช่น หนี้กู้เงินซึ่งต้องมีสัญญากู้ยืมประกอบด้วย หนี้ซื้อขายบ้านก็ต้องมีสัญญาซื้อขาย เป็นต้น ส่วนมูลหนี้ผิดกฎหมายต่างๆซึ่งมีการชำระหนี้ด้วยเช็คแล้วถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่น ค่าใช้บริการโสเภณี ซื้อขายยาเสพย์ติด การจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ล้วนมิอาจใช้สิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้เลย แม้แต่ฟ้องคดีเรียกหนี้คืนทางศาล ก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุมูลหนี้ผิดกฎหมาย ดังนั้น ก่อนใช้เช็คดำเนินธุรกรรมต่อกัน จึงพึงระวังถึงมูลหนี้ตามเช็คให้ถูกต้องตามกฎหมาย และความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ เนื่องจากบางครั้งไม่คุ้มค่าต่อการเสียค่าทนาย ค่าฟ้องคดี และการเสียเวลาในการดำเนินคดีทางศาลสำหรับเช็คแต่ละใบ บางคราวยังไม่อาจได้รับคืนหนี้ด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าของเช็คหรือทนายความก็ได้ หากท่านรอบคอบในการใช้เช็คอย่างเพียงพอ ย่อมสร้างประโยชน์ใช้สอยมากกว่าปัญหาที่ แอบแฝงอยู่


***************




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2548 14:30:49 น.
Counter : 980 Pageviews.  

โทษของการก่อการร้ายในบ้านเมือง

เขียนโดย ลีลา LAW

เมื่อมีสังคมอันเป็นที่อยู่ร่วมกันของคน ย่อมต้องมีคนสองประเภทเสมอ คือ คนดีกับคนชั่ว ผู้ที่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย สิ่งหนึ่งซึ่งต้องมีแฝงในสังคมคือ พวกที่ชอบต่อต้านด้วยกำลังรุนแรง ยามที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้องกับความเห็นของตน วิธีการที่กลุ่มนี้มักนำมาใช้เสมอ คือ การทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สิ่งของสาธารณะ เพื่อบีบคั้น ข่มขู่ บังคับให้ยอมกระทำตามที่ต้องการ พฤติกรรมร้ายแรงเหล่านี้ทำให้สังคมวุ่นวาย เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ประเทศขาดความมั่นคง สุดท้าย คือ ประชาชนส่วนใหญ่ลำบากเพิ่มขึ้น บางครั้งเจตนาเดิมของคนกลุ่มนี้ยังแปรเปลี่ยนไปถึงการยึดครองประเทศของตนหรือของผู้อื่นด้วย ทำให้หลายประเทศจำต้องหันมาพิจารณาร่วมมือกำจัดกลุ่มคนเหล่านี้มิให้ก่อความเดือดร้อนในประเทศหรือข้ามไปชาติอื่นได้ ประเทศไทยจึงพยายามสกัดกีดกั้นและกำจัดปัญหาการก่อการร้ายอันเกิดจากคนไทยด้วยกันหรือจากต่างชาติซึ่งอาจเข้ามาใช้พื้นที่ในไทยสร้างความเดือดร้อนแก่ประเทศต่างๆ โดยออกกฎหมายกำหนดลักษณะความผิดฐานก่อการร้ายและกำหนดโทษหนักเพื่อป้องปรามและกำจัดกลุ่มบุคคลอันตรายเหล่านั้น
ประเทศไทยจึงร่วมมือกับประชาคมโลกด้วยการออกกฎหมายเพื่อเอาโทษแก่กลุ่มผู้ก่อการร้ายทั้งคนไทยและคนต่างด้าวไว้ในประมวลกฎหมายอาญาในหมวด 4 ว่าด้วยความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศตั้งแต่มาตรา 135/1 ถึง มาตรา 135/4 ซึ่งขอนำเสนอให้อ่านเข้าใจง่ายและมองภาพได้ชัดโดยสังเขปดังต่อไปนี้

ลักษณะความผิดฐานก่อการร้าย
การกระทำต่อไปนี้ต้องมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือ องค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือ เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
1. ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ ตัวอย่างเช่น การจับคนในสถานทูตพม่าหรือร.พ.ศูนย์ราชบุรี การลอบยิงตำรวจในภาคใต้ การสังหารประชาชนท้องถิ่น เพื่อแสดงอำนาจหรือผลงานของกลุ่มตนว่ามีเหนืออำนาจรัฐด้วยหวังให้ชาวบ้านไม่เชื่อใจรัฐบาล เป็นต้น
2. กระทำการใดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ตัวอย่างเช่น การวางระเบิดทางรถไฟ ทำลายท่อส่งน้ำดิบ ปล่อยแก๊สพิษในสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น
3. กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ตัวอย่างเช่น การปล้นปืนในคลังอาวุธของกองทหารไทย การนำเครื่องบินชนตึกใหญ่ของอเมริกา การปั่นหุ้นซึ่งมีเป้าหมายสร้างความปั่นป่วนและความหวาดกลัวแก่ประชาชน การเผาโรงเรียนในภาคใต้ เป็นต้น

ลักษณะยกเว้นไม่ถือเป็นความผิดฐานก่อการร้าย
การเดินขบวน ชุมนุมประท้วง โต้แย้งหรือเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

โทษของผู้ก่อการร้ายและผู้สนับสนุนความผิดฐานก่อการร้าย
โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และ ปรับตั้งแต่หกหมื่นบาท ถึง หนึ่งล้านบาท

พฤติกรรมเตรียมตัวก่อการร้ายที่ต้องรับโทษอาญา
กฎหมายกำหนดการกระทำต่อไปนี้ซึ่งเป็นการเตรียมตัวทำงานก่อการร้ายที่ต้องรับโทษอาญาด้วยคือ
1. ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้ายโดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง ตัวอย่างเช่น สมาชิกกลุ่มโจรส่งจดหมายขู่จะวางระเบิดเพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกภาคใต้เป็นรัฐใหม่ เป็นต้น
2. สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เขามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีการก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ตัวอย่างเช่น ขอรับบริจาคเงินเพื่อซื้ออาวุธและเสบียง พูดยุยงให้สนับสนุนกลุ่มของตน ให้ที่ซ่อนตัวหรือเสบียงอาหารแก่กลุ่มก่อการร้ายทั้งก่อนหรือหลังกระทำความผิด ปกปิดข้อมูลว่าจะมีการก่อการร้าย ฝึกหรือรับการฝึกปฏิบัติการก่อการร้าย เป็นต้น

โทษของผู้เตรียมตัวก่อการร้ายและผู้สนับสนุน
โทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่ สี่หมื่นบาท ถึง สองแสนบาท

ความผิดของสมาชิกกลุ่มบุคคลก่อการร้ายข้ามชาติ
กฎหมายยังกำหนดให้สมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายและรัฐบาลไทยประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวแล้ว ต้องรับโทษอาญาเช่นกัน คือ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และ ปรับไม่เกิน หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ความผิดฐานก่อการร้ายนั้น ผู้ที่ต้องรับโทษ คือ ผู้กระทำผิด ผู้สนับสนุน และสมาชิกของกลุ่มบุคคลก่อการร้ายที่ไทยรับรองตามมติขององค์กรระหว่างประเทศตามที่ได้เขียนไว้เบื้องต้น อีกทั้งนอกจากรับโทษในไทยแล้ว ยังอาจต้องถูกส่งไปพิจารณาโทษยังประเทศผู้เสียหายได้อีกด้วยอันเป็นความร่วมมือกันของประชาคมโลกเพื่อสร้างความสงบสุข คนไทยควรตระหนักแก่ใจเสมอว่า ไม่มีคนต่างด้าวหรือคนไทยฝักใฝ่ชาติต่างด้าวคนใดจักรักประเทศไทยเท่ากับคนไทย หัวใจไทยแน่ ดังนั้น คนไทยพึงช่วยกันดูแลปกป้องมิให้กลุ่มคนต่างด้าวทำลายประเทศไทย เพราะคนเหล่านั้นมุ่งหมายจะยึดครองหรือแบ่งแยกประเทศไทยเพื่อความเชื่อหรือผลประโยชน์ในกลุ่มของตน ความสามัคคีของคนไทยคือพลังแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศไทยที่มีอำนาจเหนือกว่าอาวุธใดๆ



*********************




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2548 15:03:37 น.
Counter : 856 Pageviews.  

ทะเบียนสมรส

เขียนโดย ลีลาLAW

สถาบันครอบครัวมีความสำคัญในการสร้างคนดีหรือคนเลวไปสร้างสรรค์หรือทำลายสังคมก็ได้ ดังนั้น รัฐจึงตั้งใจดูแลการสร้างครอบครัวในเบื้องต้นโดยคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก โดยกำหนดขอบเขตให้มีความยืดหยุ่นและความยุติธรรมแก่สมาชิกครอบครัวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่ากฎหมายไทยรับรองและคุ้มครองครอบครัวแบบใด

อายุของคู่สมรส
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีแล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนก็ได้ หลักการนี้ต้องการให้ผู้สร้างครอบครัวมีวุฒิภาวะพอในการดูแลครอบครัวได้ แต่มิได้เป็นกฎตายตัวโดยบิดามารดาของผู้เยาว์ต้องให้ความยินยอมหรือร้องต่อศาลเพื่อให้ความยินยอมก็ได้

วิธีรับรองการสมรส
พิธีสมรสตามธรรมเนียมไทยหรือศาสนาใดก็ตามย่อมมีความหลากหลายกันได้ และจัดใหญ่โตเพียงใดก็ได้ กฎหมายจักยอมรับว่าการสมรสนั้นถูกต้องต่อเมื่อชายหญิงต้องจดทะเบียนสมรสกันด้วยความยินยอม โดยกำหนดชัดไว้ใน มาตรา 1457 ว่า การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น ส่วนความยินยอมและเต็มใจในการสมรสกันมีอยู่ใน มาตรา 1458 ว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้น ให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมไว้ด้วย การสมรสอันเกิดจากการข่มขู่ ย่อมเป็นโมฆะและถือว่าไม่มีการสมรสมาแต่ต้น หลักการทั้งสองนี้มุ่งหมายให้สร้างครอบครัวด้วยหัวใจผูกพันกันและแจ้งต่อรัฐให้คุ้มครองสิทธิของชายหญิงไว้ ดังนั้น จักเห็นได้ว่า แม้จัดงานใหญ่โตหรืองานเล็ก หากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสตามหลักกฎหมายแล้ว ชายและหญิงจักไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นครอบครัวที่ถูกต้องเลย

ข้อเสียของการไม่มีทะเบียนสมรส
1. ตามหลักกฎหมายนั้นการมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน มิถือว่าครบองค์ประกอบของการเป็นสามีภรรยาที่รัฐต้องรับรองและคุ้มครองไว้ จึงมีสภาพคล้ายกับชายที่ใช้บริการของโสเภณีเท่านั้น
2. สิทธิต่างๆที่กฎหมายมอบแก่สามีภรรยาที่มีทะเบียนสมรส จักไม่อาจเรียกร้องได้เลย
3. ความรักเป็นอารมณ์ที่อาจเปลี่ยนแปรได้ตามกาลเวลาและจิตสำนึกของคน แต่ทะเบียนสมรสจักเปลี่ยนได้เมื่อกระทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงมีความมั่นคงที่สุด
4. การทำตนเป็นชายชู้หรือหญิงนอกสมรสนั้น อาจต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้เสียหายเพราะพฤติกรรมของตนได้
5. เด็กที่เกิดจากชายหญิงที่ไม่มีทะเบียนสมรสนั้น ชายไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู และกฎหมายถือว่าเป็นลูกของหญิงเท่านั้น นอกจากมีการรับรองบุตรเป็นการเฉพาะเท่านั้น
6. ชายชู้หรือหญิงนอกสมรส ไม่มีสถานะเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดก

ข้อดีของการมีทะเบียนสมรส
1. สังคมทั่วโลกต่างยกย่องและให้เกียรติแก่สามีหรือภรรยาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจักต้องมีทะเบียนสมรสเท่านั้น
2. เมื่อทำตามกฎหมายย่อมได้รับการคุ้มครองต่างๆจากรัฐ เช่น
- ทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างสมรส แม้ว่าอีกฝ่ายอาจไม่ได้ทำงานเลย ทั้งคู่ย่อมมีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง โดยกฎหมายมองว่า ถ้าแม่บ้านดูแลบ้านไม่ดี สามีคงไม่อาจหารายได้อย่างเต็มที่และสร้างทรัพย์สินต่างๆขึ้นมาใหม่ได้ จึงถือเป็นการช่วยเหลือกันทางอ้อม
- กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชายชู้หรือหญิงนอกสมรส กฎหมายต้องการส่งเสริมครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว จึงกำหนดคุ้มครองสามีหรือภรรยามีทะเบียนไว้ให้มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ละเมิดสิทธิของตนได้ ตามมาตรา 1523 วรรค 2 ว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ หลักการนี้กำหนดให้เรียกร้องค่าเสียหายจากชายชู้หรือหญิงนอกสมรสที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้มีทะเบียนสมรสได้
- ลูกที่เกิดจากชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส จักได้รับการอุปการะเลี้ยงดูตามสมควรอันถือเป็นหน้าที่ของบิดาและมารดาซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน
- การทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์สินต่างๆ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายเสมอ ทำให้รับรู้ความเสียหายล่วงหน้าหรือตักเตือนกันก่อนได้
- การรับมรดกนั้น กฎหมายกำหนดชัดให้คู่สมรสมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายด้วย
- หากต้องยุติชีวิตสมรส ผู้มีทะเบียนสมรสจักได้รับค่าเลี้ยงชีพจนกว่าจะมีคู่สมรสใหม่ และค่าเลี้ยงดูบุตร กรณีที่ต้องรับภาระหน้าที่ดูแลบุตรเอง อีกทั้งสินสมรสต้องแบ่งครึ่งหนึ่งด้วย ย่อมทำให้ชีวิตไม่ลำบากมากเกินเหตุ

ความสิ้นสุดแห่งการสมรส
ตามมาตรา 1501 กำหนดว่า การสมรสย่อมสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่า หรือ ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หลักการนี้เปิดกว้างให้คู่สมรสพิจารณาร่วมกันในการยุติความเป็นครอบครัวได้ สำหรับกรณีผู้มีทะเบียนสมรสนั้นอาจเลือกได้สองวิธี คือ การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หรือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ต้องมีองค์ประกอบตามกฎหมายกำหนดไว้ในเหตุหย่าและต้องมิใช่เป็นผู้ก่อเหตุหย่าขึ้นเอง จึงฟ้องศาลได้ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาคดีค่อนข้างนาน
การหย่าด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สำหรับผู้มีทะเบียนสมรสนั้น ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน โดยไปกระทำที่สำนักงานเขตใดก็ได้ นับว่าทำง่ายกว่าหลายประเทศซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าการหย่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ บางประเทศใช้เวลาหลายปีทีเดียว สำหรับประเทศไทยสามารถหย่าเสร็จได้ในวันเดียวเท่านั้น
ความรักเป็นปฐมบทของการสร้างครอบครัวให้มั่นคง แต่ต้องไม่ลืมในการปฏิบัติตามกฎของสังคมซึ่งคือ กฎหมาย เช่นกัน ผู้ทำละเมิดสิทธิซึ่งกฎหมายให้ความรับรองและคุ้มครองไว้ จักต้องได้รับโทษและการดูแคลนจากคนในสังคม ดังนั้น ทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาแตกต่างและมีคุณค่าชัดเจนจากชายหญิงที่ให้บริการทางเพศทั่วไป หลายครั้งที่เราจักได้ยินเรื่องชายชู้หรือหญิงนอกสมรสพยายามเปลี่ยนฐานะตัวเองมาถือทะเบียนสมรสให้ได้ เนื่องจากตระหนักดีในเกียรติทางสังคมที่ต่ำต้อยและถูกดูแคลนจากคนทั้งหลายในไทยและในโลกสากล ทะเบียนสมรสต้องมีเพียงฉบับเดียวสำหรับชายหญิงคู่หนึ่งเท่านั้น กฎหมายกำหนดคุณค่าของมันไว้มาก เหตุไฉนหญิงจึงมองไม่เห็นความสำคัญของมันเทียบเท่าความรักที่พึงมอบให้ชาย และ ชายจึงไม่มอบเกียรติบัตรใบนี้แก่ผู้ที่เลือกมาเป็นภรรยาและมารดาของบุตร สังคมจักมีความสงบเมื่อทุกคนต่างเคารพในกติกาที่กฎหมายกำหนดไว้





*********************




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2548 0:19:58 น.
Counter : 848 Pageviews.  

สิ่งควรรู้เกี่ยวกับการคุมขังโดยรัฐ

สิทธิอันพึงรู้เกี่ยวกับเวลาในการถูกคุมขังโดยเจ้าพนักงานตำรวจ
เขียนโดย ลีลาLAW

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ดังนั้น รัฐจึงมีกฎหมายมารองรับการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายอย่างมีขอบเขตเพื่อให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ลืมจะคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกท่านน่าจะรับทราบระยะเวลาที่ตำรวจสามารถคุมขังท่านได้ตามระดับของความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อใช้ปกป้องและโต้แย้งได้หากเจ้าหน้าที่มิได้ทำตามหลักกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้
เมื่อเกิดมีการกระทำผิดขึ้น กฎหมายได้กำหนดขอบเขตในการควบคุมผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไว้เท่ากับความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี โดยมีการแบ่งเวลาในการควบคุมตัวตามอัตราโทษคดีที่ระบุเป็นข้อกล่าวหาไว้ดังนี้
สำหรับความผิดลหุโทษ ซึ่งหมายถึงคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับไม่เกินอัตราข้างต้น เจ้าพนักงานจะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใคร และที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น คดีเสพย์สุราจนเมาครองสติไม่ได้ และประพฤติตัววุ่นวาย ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านทั่วไปขณะอยู่ในถนนสาธารณะหรือสาธารณสถานใดๆ อันมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เมื่อตำรวจจับท่านมา ก็สามารถคุมตัวท่านสอบคำให้การจนกว่าท่านจะมีสติพอบอกชื่อและที่อยู่ปัจจุบัน แล้วอาจทำการเปรียบเทียบปรับโทษแก่ท่านตามแต่ดุลพินิจของตำรวจ เป็นต้น
สำหรับคดีอาญาอื่นๆนอกจากคดีลหุโทษ จักมีระยะเวลาในการควบคุมตัวที่ยาวนานกว่า อันเนื่องจากเป็นการให้เวลาพอสมควรแก่ตำรวจในการสอบคำให้การจากผู้ถูกจับโดยตรง มีหลักเกณฑ์ดังนี้ ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่า 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน นับแต่เวลาที่มาถึงสถานีตำรวจ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น อาจขยายเวลาได้เท่าเหตุจำเป็น แต่รวมกันแล้วต้องมิให้เกิน 3 วัน โดยสรุปคือ ท่านจะถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจได้สูงสุดไม่เกิน 3 วัน หากต้องการคุมตัวนานกว่านี้ ก็ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่เจ้าพนักงานสอบสวนหรืออัยการต้องชี้แจงเหตุจำเป็นหรืออาจมีการสืบพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ ศาลจักเป็นผู้พิจารณาโดยพิเคราะห์จากคำร้องและหลักฐานของเจ้าพนักงาน ประกอบกับต้องคำนึงถึงการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน
เมื่อศาลเห็นชอบในการคุมขังผู้ถูกกล่าวหาต่อไป กฎหมายได้กำหนดขอบเขตของเวลาไว้อีกเช่นกัน หากพ้นกำหนดเวลาไปแล้ว บุคคลนั้นจักได้รับการปล่อยเป็นอิสระ โดยใช้อัตราโทษคดีที่ถูกกล่าวหาเป็นเกณฑ์กำหนดระยะเวลาคุมขัง ดังนี้
ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน
ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆกันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆกันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน
อัตราเวลาข้างต้นเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ แต่เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา กฎหมายได้กำหนดด้วยว่า เมื่อศาลสั่งขังครบ 48 วันแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรืออัยการต้องการคุมขังต่อไปโดยอ้างเหตุจำเป็นใดๆ ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่งตั้งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานก็ได้
สิ่งสุดท้ายอันพึงระลึกไว้เกี่ยวกับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา คือ รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิอันชอบธรรมไว้ว่า “ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้” ดังนั้น หากมีการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ท่านสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญข้อนี้ได้เพื่อความเป็นธรรมและความรอบคอบในการตอบคำถามแก่พนักงานสอบสวน อีกทั้งเป็นการป้องกันการทำร้ายเพื่อบีบคั้นผู้ถูกกล่าวหาตามคำเล่าลือของชาวบ้านที่มีมานานในอดีตด้วย ขอเพียงทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ย่อมได้รับความยุติธรรมกันถ้วนหน้า


**************************




 

Create Date : 29 มกราคม 2548    
Last Update : 29 มกราคม 2548 0:59:45 น.
Counter : 957 Pageviews.  

การแบ่งมรดกที่ถูกต้อง

ความทุกข์สี่อย่างที่มนุษย์ต้องประสบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ระหว่างที่มีชีวิตทุกคนย่อมแสวงหาทรัพย์สินมาบำเรอความสุขให้ตนเองและครอบครัว เมื่อความตายพรากชีวิตของเราไปไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม สิ่งที่เหลืออยู่ในโลกนี้คือ ทรัพย์สินกับหนี้สิน เพื่อความสงบสุขของสังคมผู้ปกครองบ้านเมืองจึงออกกฎหมายมาจัดการแบ่งปันทรัพย์สินของเราแก่เหล่าทายาท อันได้แก่ ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรธิดา เป็นต้น
หลายคนเข้าใจว่าทรพัย์สินทั้งหมดซึ่งเป็นชื่อของผู้ตายถือเป็นกรรมสิทธิ์ไว้ในเวลาที่สิ้นชีวิต จะต้องนำมาแบ่งสรรกันตามจำนวนทายาทของเขา นั่นเป็นความเข้าใจซึ่งถูกเพียงส่วนเดียว หลักการแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายนั้นยังมีความซับซ้อนมากกว่าที่บุคคลธรรมดาคิดไว้นัก คราวนี้เรามารู้จักกับคำว่า”มรดก” ซึ่งเป็นคำเรียกทรัพย์สินของคนตายที่ฟังไพเราะนี้ก่อน
“มรดก” หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดซึ่งผู้ตายหรือที่อาจเรียกกันว่าเจ้ามรดกมีอยู่ในขณะที่สิ้นชีวิต ยังหมายรวมถึงหนี้สินใดๆด้วย มรดกจักตกทอดไปสู่ทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกทันทีที่เขาสิ้นชีวิตอันเป็นไปตามหลักกฎหมาย ณ ที่นี้จักกล่าวถึงสัดส่วนที่เหล่าทายาทของผู้ตายพึงได้รับตามหลักการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ถูกต้อง
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนจึงขอยกตัวอย่างให้คิดง่ายๆดังนี้คือ ผู้ตายหรือเจ้ามรดกมีทรัพย์สิน 100 บาท โดยมีทายาทตามกฎหมาย คือ ภรรยา(ต้องมีทะเบียนสมรส) และ บุตรธิดารวม 2 คน
ตอนนี้ก็มาถึงวิธีแบ่งปันทรัพย์มรดกจำนวน 100 บาท เริ่มต้นด้วยหลักกฎหมายกำหนดให้สินส่วนตัวของผู้ตายเท่านั้นที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งนำมาแบ่งกับทายาทได้ ทรัพย์สินของผู้ตาย ณ เวลาสิ้นชีวิตจำนวน 100 บาท ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสซึ่งเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างสามีภรรยา จึงต้องมีการแบ่งกันก่อน โดยแต่ละฝ่ายจักได้สิทธิในเงินก้อนนี้ครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าคู่สมรสของผู้ตายจักได้เงิน 50 บาทไปก่อนตามสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย จากนั้นเงิน 50 บาทที่เป็นของผู้ตายจะนำมาแบ่งปันกับเหล่าทายาทของเขาอันได้แก่ ภรรยา(ต้องมีทะเบียนสมรส) และบุตรธิดารวม 2 คน ตามที่ตัวอย่างระบุไว้ ณ จุดนี้กฎหมายกำหนดให้ทายาทแต่ละคนได้หนึ่งส่วน ดังนั้นเงิน 50 บาทของผู้ตายจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ซึ่งถือเป็นมรดกของทายาทที่พึงได้รับไป
เราจักสังเกตเห็นว่าภรรยานั้นดูจะได้สัดส่วนมาก นี่แหละคือ ประโยชน์ของภรรยาที่มีทะเบียนสมรสซึ่งสังคมพยายามรณรงค์ให้หญิงสาวพึงเรียกร้องจากผู้ชายที่คิดจะร่วมชีวิตด้วย สังคมคุ้มครองผู้อยู่ใต้กฎหมายเสมอ หวังว่าสตรีทั้งหลายพึงเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ที่สังคมมอบให้ท่าน กอปรกับได้เข้าใจถึงวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกอย่างถูกต้องด้วย
*******************

เขียนโดย “ลีลา LAW”




 

Create Date : 26 มกราคม 2548    
Last Update : 29 มกราคม 2548 0:47:09 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.