ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

ยืมแล้วยึด

เขียนโดย "ลีลา LAW"


สังคมเป็นที่รวมกันของมนุษย์มากหลาย สิ่งหนึ่งที่มนุษย์พึงมีให้ต่อกัน คือ ความมีน้ำใจ ซึ่งจักทำให้สังคมอยู่สงบสุข มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน แต่หลายคราผู้มีน้ำใจมักถูกเอาเปรียบจากคนที่เห็นแก่ตัว จึงเกิดความขัดแย้งต่อกันจนต้องพึ่งพาอำนาจศาลเพื่อความยุติธรรม
กรณีศึกษาเกี่ยวกับผลตอบแทนของผู้มีใจดีจักเป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่ผู้ที่เห็นแก่ตัวได้ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2543 นายตะกอน ยืมเครื่องมือก่อสร้างไปจาก นายเพิ่ม โดยมีบันทึกการยืมลงวันที่ 22 มิ.ย. วันที่ 3 และ 19 ก.ค. พ.ศ.2532 ระบุด้วยว่า จะนำมาส่งคืนเมื่อแล้วเสร็จหรือทวงถาม หลังจากวันยืมไปแล้ว นายเพิ่มมิได้พบนายตะกอนอีกเลย มาพบอีกครั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2537 นายเพิ่มทวงถามถึงเครื่องมือก่อสร้างที่ยืมไป แต่ได้รับการปฏิเสธการคืน จึงถือได้ว่า นายเพิ่มทราบแน่ว่า นายตะกอนครอบครองทรัพย์ของเขา แล้วมีเจตนาเบียดบังเอาเครื่องมือก่อสร้างของเขาไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่นายเพิ่มรู้เรื่องความผิดฐานยักยอกทรัพย์และรู้ตัวผู้กระทำผิดในคดีนี้ อายุความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน จึงเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น เมื่อนายเพิ่มแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายตะกอนในวันที่ 15 ธันวาคม 2537 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความตามที่นายตะกอนกล่าวอ้างอย่างใด
ตัวอย่างคดีนี้ชี้ให้เห็นข้อต่อสู้ของผู้ยืมซึ่งเน้นไปที่ระยะเวลาที่เจ้าของหมดสิทธิ์ฟ้องคดียักยอกทรัพย์ มิใช่ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้กระทำผิดคดีดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ระยะเวลามีความสำคัญต่อการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ยังมีผลต่อการแพ้ชนะคดีทั้งของโจทก์และจำเลยในศาลด้วย ดังนั้นข้อเตือนใจที่ได้จากคดีข้างต้นคือ ความผิดอันยอมความได้ในคดีอาญา เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท บุกรุก เป็นต้น ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นจักถือเป็นการขาดอายุความ ไม่อาจดำนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้เลย อายุความที่เริ่มต้นและสิ้นสุด จึงเป็นเรื่องสำคัญ


**************************




 

Create Date : 12 กันยายน 2549    
Last Update : 12 กันยายน 2549 1:53:44 น.
Counter : 818 Pageviews.  

คนบ้าติดคุกได้

เขียนโดย ลีลา LAW


หลายคนอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า อากาศร้อนสร้างคนบ้าได้ ความจริงแล้วความวิกลจริตหรืออาการบ้าทั้งหลาย คือ ภาวะจิตที่บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ เมื่อเทียบกับคนธรรมดาทั่วไป ภาวะจิตไม่ปกติเกิดมาจากภายในร่างกายหรือจิตใจของแต่ละคน สภาพแวดล้อมมีส่วนกระตุ้นให้อาการของโรคจิตแสดงออกมาเท่านั้น ทั่วไปพวกที่มีอาการโรคจิตไม่มากก็แลดูเหมือนกับคนธรรมดา จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อไม่อาจควบคุมอารมณ์ได้ จึงก่อเหตุร้ายขึ้น มีคำถามตามมาว่า คนบ้าเหล่านั้นจำต้องรับโทษอาญาบ้านเมืองหรือไม่
หน้าที่ของกฎหมาย คือ ควบคุมให้สังคมมีความสงบสุข คนดีได้รับการดูแลคุ้มครอง คนทำผิดต้องรับโทษตามผลร้ายที่เกิดขึ้น แม้คนบ้าก็ได้รับความยุติธรรมด้วยเช่นกัน หากเขากระทำผิดอาญาในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ ก็อาจมิต้องรับโทษอาญาเลยก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคแรก กำหนดว่า ผู้ใดกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือ จิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
หากคนที่อ้างว่าทำผิดเพราะบ้านั้น ถูกพิสูจน์ได้ว่า ขณะกระทำผิดยังรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้ที่จำเลยพยายามอ้างว่า ทำผิดไปเพราะเป็นคนบ้า เพื่อให้พ้นโทษ แต่พฤติกรรมของจำเลยล้วนแสดงเจตนาของเขาได้ชัดเจน จนกระทั่งมีการตัดสินคดีในท้ายที่สุด ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1609/2544 จำเลยมีอาชีพขับเรือเร่ขายสินค้า ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เกิดความเครียดในการประกอบอาชีพและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าจนมีความก้าวร้าวสะสมมากขึ้น เคยรับการรักษาอาการทางจิตมา 6 เดือนแล้ว วันหนึ่งเมื่อพบโจทก์หรือผู้เสียหายที่เป็นพ่อค้าเรือเร่เช่นกันขับเรือมาขายสินค้า ทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใจต่อกันมาก่อน แต่การปรากฏตัวของโจทก์ได้กระตุ้นจิตใจให้มีความก้าวร้าวยิ่งขึ้น จนมุ่งเข้าทำร้ายโจทก์อย่างรุนแรง โดยใช้มีดยาวฟันโจทก์ที่ศีรษะมีบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่ง กะโหลกแตกยุบ จมูกฉีก ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานมากกว่า 20 วัน ถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยยังสามารถขับเรือหลบหนีกลับบ้านได้ แสดงว่า ขณะทำร้ายโจทก์นั้น จำเลยสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือ สามารถบังคับตนเองได้บ้าง แต่ไม่สมบูรณ์นัก กอปรกับมีประวัติการรักษาทางจิตในอดีต จำเลยจึงสมควรต้องรับโทษอาญา แต่ก็มีเหตุบรรเทาโทษเรื่องที่ยอมจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์จนพอใจ ศาลจึงลงโทษจำคุก 2 ปี โดยรอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปีก่อน อีกทั้งสั่งให้บำบัดทางจิตจนกว่าจะหายขาด เพื่อมิให้ก่อความเดือดร้อนแก่สังคมต่อไป
การกระทำผิดอาญาแล้วอ้างว่า เป็นคนบ้านั้น มิใช่ข้อแก้ตัวที่ศาลจักต้องเชื่อเสมอไป ความรู้ทางการแพทย์และพฤติกรรมทางคดี สามารถพิสูจน์ความวิกลจริตของผู้กระทำได้ชัดเจน ไม่มีทางปกปิด หรือ หลบเลี่ยง การรับโทษทางอาญาได้ จงมาศาลด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิฉะนั้น อาจต้องสูญเสียอิสรภาพ ถ้าบังอาจโกหกต่อศาล

****************************




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 สิงหาคม 2549 0:42:59 น.
Counter : 4353 Pageviews.  

ไถ่ถอนขายฝาก

เขียนโดย "ลีลา LAW"


การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการเงินมาใช้จ่ายในยามขัดสน โดยนำที่ดินไปจดทะเบียนขายฝากแก่เจ้าหนี้ และมีกำหนดเวลาจ่ายคืนหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย อันเป็นระยะเวลาสูงสุดที่ก.ม.ยอมให้มีการขายฝากกันได้ ถ้าลูกหนี้นำเงินสินไถ่มาจ่ายคืนภายในกำหนด จักได้รับโอนที่ดินคืนกลับไปทันที หากพ้นกำหนดเวลาแม้เพียงวันเดียว ที่ดินซึ่งขายฝากไว้จักกลายเป็นของเจ้าหนี้ไปเลย หลายคนอาจพบปัญหากับเจ้าหนี้ซึ่งพยายามถ่วงเวลาหรือหลบเลี่ยงไม่ยอมจดทะเบียนคืนกรรมสิทธิ์ในโฉนดแก่ลูกหนี้ ทั้งที่ได้รับเงินสินไถ่ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามสัญญา จนกระทั่งต้องฟ้องศาลเป็นเรื่องราวใหญ่โต
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้มีการต่อสู้คดีในศาลมาแล้ว กฎหมายย่อมคุ้มครองคนสุจริตเสมอ ดัง คำพิพากษาฎีกาที่ 1370/2544 นาย ก. ได้จ่ายสินไถ่ค่าที่ดินภายในกำหนดสัญญาขายฝากระหว่างนาย ก. กับ นาย ข. เมื่อธันวาคม 2527 โดยเจ้าหนี้ยอมคืนโฉนดพร้อมสัญญาขายฝาก โดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ และระบุการไถ่คืนในภายหลัง นาย ข. ได้ถ่วงเวลาตลอดมา ต่อมามีนาคม 2539 นาย ก.ถึงแก่ความตาย ทายาทของนาย ก. จึงร่วมกันฟ้องให้นาย ข.ไปจดทะเบียนไถ่ถอน ด้วยความละโมบและไม่สุจริตใจเขาจึงปฏิเสธโดยอ้างว่า เขามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพราะไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนเกิน 10 ปีนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ดินแล้ว ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เมื่อมีการจ่ายหนี้ขายฝากภายในกำหนดตามสัญญาแล้ว แม้มิได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือเป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิ์ยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น จึงใช้ยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา คือ นายก. และ นาย ข. ทายาทของนาย ก.ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก.เท่ากับรับสืบทอดสิทธิที่นาย ก.มีอยู่ จึงมีผลใช้ยันกันได้ระหว่างนาย ข. และทายาทของนาย ก. ดังนั้นทายาทของนาย ก. ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้เจ้าหนี้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินของนาย ก.เมื่อใดก็ได้ โดยอาศัยอำนาจของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อันว่าด้วยสิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความทวงกรรมสิทธิ์ไว้ คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความตามที่นาย ข.กล่าวอ้างแต่อย่างใด
กรณีศึกษานี้เป็นตัวอย่างเตือนใจได้ว่า อย่าละเลยในการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะจักนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตนและครอบครัวในภายหน้า อีกทั้งเป็นการเปิดช่องว่างให้คนมีจิตใจทุจริตได้โอกาสยึดครองทรัพย์สินของท่านอย่างไม่ยุติธรรม บางครั้งท่านอาจไม่โชคดีเหมือนทายาทของนาย ก. ตามฎีกาข้างต้นก็ได้ หลายท่านต้องพบกับสภาพสูญเสียที่ดินไป ทั้งที่จ่ายคืนหนี้ครบถ้วน เพราะความรู้ไม่เท่าทัน ความใจอ่อน หรือ ขาดความรอบคอบมาแล้ว ท่านจึงพึงระวังเมื่อจำเป็นต้องเป็นลูกหนี้ ยามใช้คืนหนี้ทุกกรณี ต้องมีหลักฐานการชำระหนี้ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากหรือการจำนองตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อคุ้มครองลูกหนี้ไว้ด้วย
*********************




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2549    
Last Update : 10 สิงหาคม 2549 13:54:33 น.
Counter : 2922 Pageviews.  

ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

เขียนโดย "ลีลาLAW"



ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือกรณีที่กิจการของนายจ้างไม่อาจประกอบการต่อไปได้ สิ่งที่ลูกจ้างต้องวิตกกังวลอย่างมากคือ การถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะในระยะนี้มักมีข่าวการเลิกจ้างบ่อยครั้ง และมีปัญหาเรื่องนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งถูกให้ออกจากงาน ดังนั้น ท่านคงอยากทราบสิทธิและจำนวนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ก่อนอื่นต้องรู้ความหมายของคำเหล่านี้ คือ
การเลิกจ้าง คือ การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ค่าชดเชย คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
บุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คือ ลูกจ้างซึ่งนายจ้างบอกเลิกการจ้างเท่านั้น มิใช่การลาออกด้วยใจสมัครของลูกจ้าง หรือ การขอเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด กฎหมายก็ถือเป็นการลาออกเองเช่นกัน

จำนวนเงินค่าชดเชยอันพึงได้รับ มาตรา 118 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้คือ
1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ( 3 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
( 6 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
( 8 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ข้อยกเว้นที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย คือ
1. ลูกจ้างลาออกจากงานด้วยความสมัครใจเอง
2. เป็นลูกจ้างประเภทที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ซึ่งกฎหมายยังกำหนดรายละเอียดการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่พึงทำได้ไว้ด้วยว่า การเลิกจ้างงานแบบใด จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ได้แก่
1. การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ
2. การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
3. งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือ ความสำเร็จของงาน
4. งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาข้างต้น นายจ้างและลูกจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง และงานนั้นต้องทำแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี
3. ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

นอกเหนือจากค่าชดเชยปกติที่กำหนดไว้ข้างต้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีค่าชดเชยพิเศษซึ่งลูกจ้างพึงได้รับกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้งที่อื่น อันกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง และกรณีถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้และลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งก็มีการกำหนดจำนวนเงินและหลักเกณฑ์จำเพาะไว้ต่างหาก

เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ค่าชดเชยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเงินส่วนหนึ่งซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายเท่านั้น ยังมีเงินที่เกี่ยวเนื่องจากการเป็นลูกจ้างหลายชนิดที่เป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง ดังนั้น จึงพึงตรวจสอบและรักษาสิทธิ์ของลูกจ้างอันควรได้รับเมื่อนายจ้างบอกเลิกการจ้างไว้ มันเป็นผลประโยชน์เฉพาะตัวลูกจ้างซึ่งจักช่วยเหลือครอบครัวได้ระยะหนึ่งในระหว่างการรอหางานใหม่ต่อไป

***************************




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2549 13:52:24 น.
Counter : 822 Pageviews.  

ผ่อนเสร็จ สูญบ้าน

เพื่อการอ่านออนไลน์

เขียนโดย ลีลา LAW



นกน้อยยังต้องมีรังเพื่อซุกนอน มนุษย์ก็ต้องมีบ้านเพื่ออาศัยพักพิงเช่นกัน ประโยคนี้มักได้ยินเสมอและทุกท่านต่างก็ขยันทำงานเพื่อเก็บออมเงิน หมายจะมีบ้านสักหลัง อันเป็นของตนเองและเป็นที่ภาคภูมิใจแก่ครอบครัวของท่าน เมื่อสะสมเงินได้จำนวนหนึ่งท่านมักจะคิดถึงการซื้อบ้านเป็นประการแรก หลายท่านต้องประสบปัญหาเมื่อตัดสินใจซื้อบ้านหรือห้องชุดและผ่อนดาวน์จนครบกำหนดตามสัญญาแล้ว แต่เจ้าของโครงการไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้หรือก่อสร้างไม่เสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญา ด้วยเหตุที่โครงการถูกเจ้าหนี้ยึดแล้วนำไปขายทอดตลาด หรือเหตุอื่นๆ ซึ่งสร้างความผิดหวังและหวั่นใจแก่ผู้ซื้อที่อาจไม่ได้บ้านหรือห้องชุดทั้งที่อดทนผ่อนมาแสนนาน หลายท่านมีโชคดีได้บ้านหรือเงินคืนด้วยความระทึกใจ อีกหลายท่านกลับสูญบ้าน สูญเงินที่ผ่อนไว้ ความฝันพังทลายชั่วพริบตา แต่ทุกอย่างอาจไม่สูญก็ได้ หากท่านติดตาม สร้างความเข้าใจ และทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้อง หลังเกิดเรื่องประเภทนี้ขึ้นก่อนอื่นจำต้องตั้งสติและศึกษาว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาเบื้องต้นอย่างไร เพื่อมิให้ผลลัพธ์ในตอนท้ายเลวร้ายเกินไปนัก
เบื้องต้นนี้ท่านควรทราบถึงกระบวนการโดยสังเขปที่เจ้าของโครงการมิอาจโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือห้องชุดแก่ผู้ซื้อได้ ทั้งที่ได้รับเงินผ่อนดาวน์ทั้งหมดแล้ว นั่นเป็นเพราะเมื่อเขาไม่มีเงินใช้หมุนเวียนในธุรกิจด้วยเหตุยักย้ายเงินใช้ผิดประเภทหรือเหตุใดก็ตาม มักจะนำโครงการดังกล่าวไปกู้เงินจากธนาคารหรือไฟแนนซ์ต่างๆ แล้วมิอาจบริหารเงินกู้และดอกเบี้ยที่งอกเงยนั้นได้ด้วยสาเหตุต่างๆนานา จนกระทั่งไม่มีทางชำระหนี้ เจ้าหนี้จำเป็นต้องฟ้องคดีล้มละลายเมื่อเห็นว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินและไม่มีความสามารถคืนหนี้ได้แน่นอน ขั้นตอนต่อมาในการดำเนินคดีประเภทนี้ คือ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมด สำหรับกรณีนี้เป็นโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยึดโครงการ คือ ผู้ซื้อทั้งหลายซึ่งไม่อาจรับโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่างเป็นคดีในศาล แต่ยังต้องผ่อนชำระค่าบ้านต่อไป เพื่อมิให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง ต่อมาพักใหญ่จึงมีประกาศกำหนดเวลาให้เหล่าเจ้าหนี้ของเจ้าของโครงการดังกล่าวมายื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ระยะเวลาดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับคดีประเภทนี้ต่อผลลัพธ์สุดท้ายหลังการบังคับคดีขายทอดตลาดของศาลซึ่งท่านจะได้สิทธิ์ในบ้านหรือห้องชุดหรือไม่ จักได้รับเงินที่ผ่อนไว้คืนหรือไม่ เพียงไร ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการของท่าน
หลายท่านมีความเข้าใจผิดว่า เจ้าของเงินกู้เป็นเจ้าหนี้เท่านั้น อันที่จริงแล้วเหล่าผู้ซื้อนับว่าเป็นเจ้าหนี้ของเจ้าของโครงการบ้านหรือคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน การคิดว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องติดตามหาเจ้าหนี้อื่นเอง เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก หลายท่านอาจพบว่าไม่เคยมีหนังสือแจ้งจากศาลเลย นั่นเป็นเพราะการแจ้งให้มาขอรับชำระหนี้ในคดีนั้น กระทำเพียงปิดประกาศแจ้งไว้ที่หน้าศาลหรือสำนักงานโครงการก็ได้ บางท่านอาจไม่มีโอกาสเห็น หากผู้ไม่หวังดีดึงประกาศที่ปิดอยู่ ณ สำนักงานโครงการออกไปเสีย นั่นถือเป็นลางร้ายซึ่งอาจทำให้ท่านต้องสูญเสียทั้งบ้านและเงินที่ผ่อน การไม่มีเจ้าหนี้อื่นมาแจ้งขอรับชำระหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้เดิมนั้น มีผลดีต่อส่วนแบ่งการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีซึ่งไม่มีคนมาแบ่งร่วมด้วย หลังจากขายทอดตลาดได้เงินพอชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว โครงการดังกล่าวจักถือว่าไม่มีภาระหนี้อีกต่อไป
แม้ผู้ที่ประมูลโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมได้จากการขายทอดตลาดของศาลจักได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่งต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งมีในโครงการด้วย แต่กรณีข้างต้นเมื่อการจัดสรรชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว เท่ากับโครงการดังกล่าวจักปลอดจากภาระหนี้ใดๆอีก เนื่องจากไม่มีเจ้าหนี้โดยชอบอีกต่อไปแล้ว รวมทั้งไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อข้อผูกพันเดิมของอดีตเจ้าของโครงการกับเหล่าผู้ซื้อซึ่งมิได้แจ้งความเป็นเจ้าหนี้ภายในกำหนดที่ศาลประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนการขายทอดตลาด นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ซื้อบางท่านต้องสูญบ้าน สูญเงินที่ผ่อนไว้ ขณะที่บางท่านที่แจ้งแสดงตนตามข้อกฎหมายอาจได้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือห้องชุดในโครงการเดียวกันได้หรือได้รับเงินคืนมา
ดังนั้น ยามที่โครงการจัดสรรของท่านเกิดปัญหาขึ้น ผู้ซื้อทั้งหลายควรติดตาม เอาใจใส่ แสวงหาความรู้ด้านกฎหมาย และปฏิบัติตามประกาศแจ้งของราชการอย่างเคร่งครัด สิ่งที่สำคัญมากคือ เก็บหลักฐานในการติดต่อกับเจ้าของโครงการทุกชนิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน จดหมายทวงถามการโอนกรรมสิทธิ์ ใบโฆษณาโครงการที่ท่านซื้อ เป็นต้น สิ่งเตือนใจก่อนเลือกซื้อที่อยู่อาศัย คือ ท่านควรตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ การจ่ายเงินทุกครั้งต้องมีเอกสารมอบให้ท่าน อีกทั้งสมควรไปตรวจดูโครงการสม่ำเสมอว่างานมีความคืบหน้าหรือไม่ มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเจ้าของโครงการหรือไม่ ถ้าเห็นความผิดปกติอย่างมาก ท่านอาจร้องเรียนไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่ชักช้า พร้อมกับติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้คลาดเคลื่อนเรื่องเวลาในการแจ้งแสดงตนเป็นเจ้าหนี้สำหรับการขอรับชำระหนี้เฉลี่ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ อย่างน้อยก็อาจช่วยบรรเทาความเสียหายของท่านได้บ้าง มันย่อมดีกว่าสูญเสียไปทั้งหมด ท่านจักเห็นได้ว่า ระยะเวลา มีความสำคัญมากเหลือเกิน จึงควรเอาใจใส่ติดตามเวลาให้มาก ยามเกิดปัญหากับบ้านขึ้น

***************************
สงวนสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 1:23:08 น.
Counter : 663 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.