ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

เตือนตนก่อนสาดน้ำ

ข้อคิดก่อนสาดน้ำ

เขียนโดย ลีลาLAW

เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งเน้นการรดน้ำหรือสาดน้ำใส่กันเพื่อความสนุกสนาน พิธีการดั้งเดิมนั้นจักเป็นการรดน้ำขอขมากับผู้อาวุโส หรือรดน้ำแก่เพื่อนฝูงเพื่อความสนุก ลักษณะของการรดน้ำที่ถูกต้องตามประเพณีไทย ต้องเป็นการเทน้ำลงบนมือหรือไหล่ด้วยกิริยานุ่มนวลและมีการขออนุญาตก่อนเสมอ ซึ่งมักไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันจากพิธีรดน้ำแบบนี้ วันเวลาที่ผ่านไปการรดน้ำเปลี่ยนสภาพสู่การสาดน้ำด้วยวัสดุดัดแปลงต่างๆ เช่น ท่อเหล็กหรือพีวีซีหรือน้ำแข็ง เป็นต้น ซึ่งอาจก่อความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำมากขึ้นจนต้องกลายเป็นคนพิการไปได้
กรณีสาดหรือฉีดน้ำด้วยกระบอกชนิดต่างๆหรือใช้น้ำแข็ง
การเล่นน้ำด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ จักมีความแรงของน้ำแตกต่างกันตามขนาดของท่อ หากผู้เล่นฉีดน้ำไปที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย แล้วเกิดบาดเจ็บขึ้นมา หรือขว้างถุงใส่น้ำแข็ง ท่านอาจต้องรับโทษจำคุกหรือปรับได้ตามลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
- ถ้าไม่เกิดบาดแผล เพียงเปียกน้ำ หรือ เปรอะเปื้อน เช่น การโปะแป้ง หรือ โดนสาดน้ำ ขณะไปทำธุระ หรือ ตอนอยู่ในรถโดยสาร เป็นต้น ผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 กำหนดว่า ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อเตือนใจ คือ หากมีผู้เสียหายหลายคน ท่านต้องรับโทษเป็นรายคน เช่น สาดน้ำไปยังผู้เสียหาย 8 คน และตำรวจสั่งปรับการกระทำผิดกระทงละ 1000 บาท ท่านต้องจ่ายค่าปรับ 8000 บาท นับว่าเป็นค่าสาดน้ำราคาแพงมากทีเดียว
- บาดแผลประเภทรอยช้ำ ขีดข่วน รอยถลอก ผู้สาดน้ำอาจต้องรับโทษอาญา ตามมาตรา 390 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใหญ่บาดแผลประเภท คิ้วหรือปากแตก ผิวหนังฉีกขาด ดวงตาบวม ซึ่งต้องใช้เวลารักษาไม่เกิน 20 วัน อันเกิดจากน้ำแข็งหรือท่อน้ำ กฎหมายสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ผู้กระทำย่อมมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่า วัสดุเหล่านั้นทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บได้ ท่านจึงอาจต้องรับโทษอาญาของมาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้เช่นกัน เนื่องด้วยทางราชการเผยแพร่ข้อมูลวัสดุในการเล่นน้ำประเภทต่างๆอย่างกว้างขวาง จึงไม่อาจโต้แย้งว่า ไม่ทราบโทษของมัน ทำให้พ้นโทษอาญาค่อนข้างยากมาก
- บาดแผลสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก แท้งลูก หน้าเสียโฉม เป็นต้น หรือ ต้องรักษาด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ผู้สาดน้ำจักได้รับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 300 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากถูกพิจารณาว่า ผู้สาดน้ำมีเจตนาเล็งเห็นผลในการสร้างบาดแผลสาหัสนั้น อาจต้องรับโทษตามมาตรา 297 ผู้ใดกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
กรณีสาดน้ำปนเปื้อนของสกปรก
การนำของโสโครก เช่น น้ำขยะ ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น ผสมในน้ำ ผู้กระทำต้องรับโทษอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 389 คือ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนตัวบุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ แกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการขว้างปาของเบื้องต้นทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกาย จักเพิ่มความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บในมาตรา 390 เข้าไปอีก หรือผู้เสียหายได้รับเชื้อโรคร้ายแล้วตาย ท่านอาจมีโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาได้
การตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้กระทำผิดในแต่ละคดีนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง อายุและการบาดเจ็บของผู้เสียหาย โดยคดีอาจสิ้นสุดลงแค่ชั้นตำรวจหรือศาลแล้วแต่ลักษณะคดี ดังนั้น การเล่นน้ำจักสร้างความสุขและสนุกสนานเย็นฉ่ำในเทศกาลอันรื่นรมย์นี้ได้ หากท่านมีสติในการเล่นควบคู่กัน เมื่อขณะใดที่ปล่อยจิตใจให้คึกคะนองเกินขอบเขตอันควร ความทุกข์จักยืนอยู่เคียงข้างทันที จึงขอให้ระลึกถึงความเดือดร้อนของผู้เสียหาย และโทษทัณฑ์ที่ท่านต้องรับจากการกระทำซึ่งมีทั้งโทษอาญาและโทษทางแพ่งในการสูญเสียเงินทองเพื่อชดใช้ความเสียหายซึ่งได้ก่อขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนี้ก่อนการสาดน้ำออกไป ท่านจะมองเห็นว่า ต้องเล่นน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสนุกสนานด้วย

**********************




 

Create Date : 04 เมษายน 2548    
Last Update : 4 เมษายน 2548 14:10:46 น.
Counter : 789 Pageviews.  

บริการสังคมเป็นโทษอีกแบบหนึ่ง

โทษปรับ กับ การบริการสังคม
เขียนโดย ลีลาLAW

โทษปรับ เป็นโทษอาญาฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งใช้ลงโทษผู้กระทำผิดในบางฐานความผิด เมื่อศาลลงโทษปรับตามกฎหมายจำเลยต้องชำระค่าปรับเป็นเงินตามจำนวนในคำพิพากษาของศาล ถ้าไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม กฎหมายมีขั้นตอนในการบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือ กักขังแทนค่าปรับ พร้อมกำหนดให้ถืออัตรา 200 บาท ต่อหนึ่งวัน อีกทั้งห้ามกักขังเกิน 1 ปี เว้นแต่โทษปรับเกิน 80000 บาทขึ้นไปให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปีก็ได้
ปัจจุบันนี้รัฐได้เพิ่มทางเลือกอีกอย่างหนึ่งให้กับผู้ต้องโทษปรับ นั่นคือ การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ โดยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและขึ้นกับดุลพินิจของศาลด้วย
องค์ประกอบในการขอบริการสังคมแทนโทษปรับ คือ
1. ศาลพิพากษาปรับไม่เกิน 80000 บาท และ 2. ไม่มีเงินชำระค่าปรับ
บุคคลที่มีสิทธิร้องขอ คือ จำเลยผู้ต้องโทษปรับ โดยการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
การพิจารณาคำร้องดังกล่าวกระทำโดย ศาล ซึ่งต้องพิจารณาถึงฐานะการเงิน ประวัติ และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษประกอบกัน เมื่อศาลเห็นชอบ จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับได้ พร้อมกำหนดลักษณะงาน ประเภทงาน และ จำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงาน 1 วัน โดยคำนึงถึงคุณวุฒิ ภาวะแห่งจิต และอื่นๆ อีกทั้งยังอาจมีเงื่อนไขอย่างใดเพื่อปรับแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้
ส่วนหลักการคำนวณจำนวนชั่วโมง ที่ถือเป็นการทำงาน 1 วันนั้น ศาลได้กำหนดแนวทางไว้และจักกล่าวถึงโดยสังเขป ดังนี้
1. งานช่วยเหลือดูแลหรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา ผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล งานวิชาการหรือบริการด้านการศึกษา เช่น สอนหนังสือ แปลเอกสาร เป็นต้น จำนวน 2 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน
2. งานวิชาชีพ ช่างฝีมือ ที่ต้องใช้ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น งานเครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ เป็นต้น จำนวน 3 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน
3. งานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญอื่นนอกจาก
สองข้อข้างต้น เช่น งานทำความสะอาด พัฒนาสถานที่สาธารณะ งานจราจร เป็นต้น จำนวน 4 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน
คำสั่งเปลี่ยนโทษปรับเป็นการทำงานบริการสังคมนั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นที่สุดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปมิได้ แต่อาจเปลี่ยนแปลงเพิกถอนภายหลังได้ ถ้าความปรากฏแก่ศาลหรือคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ผู้ต้องโทษปรับมีเงินพอชำระค่าปรับได้ในเวลายื่นคำร้อง หรือ มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลอาจเพิกถอนคำอนุญาตดังกล่าวและปรับหรือกักขังแทนค่าปรับ โดยหักจำนวนวันทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับก็ได้
อีกกรณีหนึ่ง คือ ถ้าระหว่างทำงานบริการสังคม ผู้ต้องโทษปรับไม่ต้องการทำงานต่อไป อาจร้องขอเปลี่ยนเป็นรับโทษปรับ หรือ กักขังแทนค่าปรับก็ได้ ศาลต้องอนุญาตตามคำร้องนี้ โดยหักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับ
ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับ กักขัง หรือ ทำงานบริการสังคมก็ตาม ล้วนถือเป็นโทษอาญาที่ใช้ลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อให้เข็ดหลาบและมอบโอกาสสำนึกตนแก่ผู้ต้องโทษ ทุกคนจึงควรตระหนักในใจและควรรู้จักใช้สติยับยั้งจิตใจมิให้กระทำความผิดอาญาอันมีผลกระทบเป็นมลทินกับประวัติ ชื่อเสียง ของตนและครอบครัวในภายหน้าได้
หนึ่งคนรับโทษอาญา ครอบครัวรับโทษทางสังคม พึงตระหนักก่อนกระทำความผิด


*****************************




 

Create Date : 31 มีนาคม 2548    
Last Update : 31 มีนาคม 2548 1:32:05 น.
Counter : 773 Pageviews.  

คนเนรคุณ

เสียลาภเพราะปาก


คำว่า ลาภ หมายถึง ของที่ได้หรือการได้มาโดยมิได้คาดคิด ทุกท่านที่ได้ลาภอันมีค่า ย่อมดีใจและปลื้มใจกับมัน หลายท่านรู้จักเก็บรักษา ถนอมอย่างดี และรู้สึกขอบคุณต่อน้ำใจของผู้ให้ลาภแก่ตน บางท่านมิได้คิดเช่นนั้น หลังได้รับลาภจากผู้ให้แล้ว กลับนึกกระหยิ่มใจ หลงตนเอง ไม่มีสำนึกที่ดี สร้างความเจ็บปวดใจแก่ผู้ให้อย่างแสนสาหัส ดัวยนึกว่าสิ่งของดังกล่าวกลายเป็นสมบัติของตนแล้ว ย่อมทำอย่างใดก็ได้ เสื่อมความเคารพ หยามเกียรติ และดูแคลนผู้ให้ ในที่สุดผู้รับก็อาจถูกบังคับโดยกฎหมายให้คืนลาภนั้นได้เช่นกัน
หลายท่านคงคิดว่า เมื่อให้สิ่งของแก่ผู้รับไปแล้ว หมายถึง การให้เด็ดขาด ผู้ให้หมดสิทธิ์ในของสิ่งนั้นแล้ว ความเป็นจริง คือ กฎหมายต้องการส่งเสริมให้ผู้รับการให้มีจิตสำนึกที่ดี มีศีลธรรม รู้จักกตัญญู และตอบแทนน้ำใจงามของผู้ให้ โดยการคุ้มครองป้องกันผู้ให้มิให้ถูกผู้รับกระทำการใดอันเป็นการเนรคุณต่อเขา หลังจากมอบสิ่งของให้ไปแล้ว ดังกรณีศึกษาตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 219/2543 คือ วันหนึ่ง มารดา ตัดสินใจยกบ้านและที่ดินให้ นายป่วน ซึ่งเป็นลูกชายสุดที่รัก เขายอมให้มารดาอาศัยในบ้านหลังดังกล่าวต่อไป เวลาผ่านไปไม่นานนักพฤติกรรมของนายป่วนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยการแสดงอาการรังเกียจและใช้วาจาก้าวร้าว รุนแรง ทุกครั้งที่มารดาแวะไปเยี่ยมเขาที่บ้านของลูกชาย โดยใช้คำพูดตัวอย่างดังนี้ อีหัวหงอก ไม่รู้จักภาษาคนหรือไง จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป กูเกิดหลงรู กูเกิดผิดพ่อผิดแม่ เป็นต้น ต่อมาวันหนึ่งเขาได้ขายบ้านซึ่งมารดาอาศัยไปโดยมิได้บอกกล่าว นางได้รับทราบเมื่อผู้ซื้อมารื้อถอนบ้าน มารดาจึงไปสอบถามเรื่องราว นายป่วนไม่ยอมชี้แจงอย่างใด นอกจากแสดงปฏิกิริยารุนแรงและใช้วาจาขับไล่อย่างไร้เยื่อใยว่า กูไม่เลี้ยงมึงแล้ว จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป มารดาเสียใจมากจึงไปอาศัยกับน้องสาวของนายป่วนซึ่งเป็นลูกสาวของนางอีกคนหนึ่ง ด้วยความคับแค้นใจและสลดใจอย่างสุดประมาณกับกิริยาหยาบคายราวกับมิได้ถือว่านางเป็นมารดา จึงตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อถอนคืนการให้ทรัพย์สินดังกล่าวด้วยเหตุที่ผู้รับประพฤติเนรคุณต่อผู้ให้ หลังจากศาลพิจารณาคำฟ้อง คำให้การของนายป่วน ประกอบกับพยานหลักฐานทั้งปวง จึงมีคำพิพากษาว่า การที่นายป่วนซึ่งเป็นลูกชายด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรงหลายครั้ง แสดงว่า สิ้นความยำเกรงผู้เป็นมารดาอันถือเป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรต่อมารดาไม่ สิ่งที่ได้กระทำไปและวาจาทั้งหมดถือว่า เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง มารดาซึ่งเป็นผู้ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะผู้รับคือ นายป่วน ประพฤติเนรคุณได้ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ย่อมทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
ดังนั้น นายป่วนจำต้องคืนบ้านและที่ดิน หรือ เงินที่ขายทรัพย์สินไปแก่มารดาผู้ให้ตามคำพิพาษาของศาล นี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้พึงระวังคำพูดที่ไม่ไพเราะ เพราะมันอาจทำให้สูญลาภในมือไปได้
คุณสมบัติข้อหนึ่งของการเป็นคนดี คือ ความกตัญญูรู้บุญคุณคน สังคมยกย่องคนมีความกตัญญู กฎหมายจึงลงโทษคนที่ไม่รู้จักบุญคุณของผู้ให้โดยกำหนดหลักกฎหมายเช่นนี้ขึ้นมา ทุกท่านมีสิทธิ์เลือกว่าจะเป็นคนชนิดใด มีจิตสำนึกแห่งความกตัญญู หรือ เป็นคนที่สังคมประณามว่าเนรคุณต่อผู้ให้ และจำต้องยอมรับผลของการเลือกเช่นว่านั้นด้วย

****************************




 

Create Date : 25 มีนาคม 2548    
Last Update : 25 มีนาคม 2548 14:25:09 น.
Counter : 1391 Pageviews.  

รู้จักกับสำนักงานวางทรัพย์

เมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ?

เขียนโดย ลีลา LAW

“เมื่อเป็นหนี้ ก็ต้องชดใช้” ปกติเจ้าหนี้ทุกคนย่อมพอใจมาก ถ้ามีลูกหนี้นำเงินมาใช้หนี้คืนทั้งหมด ด้านลูกหนี้นั้นส่วนใหญ่คงไม่อยากคืนเงินนัก แต่กฎหมายบังคับให้ต้องชดใช้ มิฉะนั้นจะถูกฟ้องคดีเป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง จึงจำใจต้องชำระหนี้ บางกรณีลูกหนี้มีใจสุจริต แต่เจ้าหนี้กลับบ่ายเบี่ยงไม่อยากรับชำระหนี้ด้วยสาเหตุซ่อนเร้นบางอย่างไว้
หลายท่านอาจเคยประสบกับตัวเองหรือได้รับคำบอกเล่ามาว่า กู้ยืมเงินด้วยการจำนองที่ดินหรือบ้านหลังงามไว้ ตอนนำเงินไปไถ่ถอน เจ้าหนี้ไม่ยอมรับเงินแล้วพยายามเลี่ยงการพบลูกหนี้ทุกวิถีทาง จนกระทั่งล่วงเลยเวลาตามสัญญาทำให้ท่านต้องสูญเสียทรัพย์สินนั้น บางกรณีผู้ให้เช่ากับบุคคลภายนอกเป็นคดีความในศาลกันอยู่อันสร้างความสับสนว่า ค่าเช่าควรจ่ายแก่ฝ่ายใด ถ้าผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าในเดือนใด ถือเป็นการผิดสัญญาเช่าทันทีเป็นเหตุให้ถูกไล่ออกจากสถานที่เช่า เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้สร้างความหนักใจแก่ลูกหนี้ตามสัญญาเหล่านั้นมากยิ่ง อันที่จริงกฎหมายได้กำหนดวิธีแก้ไขไว้แล้วเพื่อคลายความทุกข์แก่เหล่าลูกหนี้ผู้สุจริตทั้งหลาย
ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้มีสำนักงานวางทรัพย์ในสังกัดของกรมบังคับคดีเพื่อทำหน้าที่รับชำระหนี้เสมือนเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ ยามที่เกิดปัญหาไม่อาจรับชำระหนี้ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะรับชำระหนี้แทนไว้ตามมาตรา 331 ดังนี้คือ
1. กรณีเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้
2. กรณีเจ้าหนี้ไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้
3. กรณีลูกหนี้ไม่อาจรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าหนี้แท้จริง โดยมิใช่ความผิดของตน
ถ้าเจ้าหนี้มีพฤติกรรมผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ลูกหนี้ผู้สุจริตทั้งหลายอาจเลือกชำระหนี้ด้วยวิธีนี้ก็ได้ โดยต้องทำภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเท่านั้น เมื่อท่านวางเงินตามจำนวนหนี้ทั้งหมดไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ กฎหมายถือว่าท่านหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวแล้วตามวันที่ซึ่งท่านชำระหนี้นั้น หากก่อนเจ้าหนี้มารับเงินจำนวนนั้น ท่านได้ถอนเงินออกไป กฎหมายจักถือว่า มิได้มีการวางทรัพย์ไว้เลย หนี้ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
สิทธิถอนทรัพย์ของลูกหนี้เป็นอันหมดไปตามกฎหมายมาตรา 334 วรรค 2 กำหนดไว้ เมื่อ
1. ลูกหนี้แสดงเจตนาว่า ยอมสละสิทธิที่จะถอน
2. เจ้าหนี้มารับเอาทรัพย์นั้นไป
3. การวางทรัพย์เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาลและได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์
หลังจากวางเงินเพื่อชำระหนี้ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ลูกหนี้จำต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบถึงวิธีการชำระหนี้กรณีนี้โดยพลัน ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆในการวางทรัพย์นั้น กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้รับผิดชอบไปฝ่ายเดียว ยกเว้นกรณีที่ลูกหนี้ได้ถอนทรัพย์ที่วางเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า การวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ของฝ่ายลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลย หากเจ้าหนี้ไม่ยอมมารับเงินของลูกหนี้ภายใน 10 ปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์โดยลูกหนี้หรือโดยสำนักงานวางทรัพย์แล้วแต่กรณี ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้ในการรับทรัพย์ดังกล่าวระงับสิ้นไป ลูกหนี้สามารถถอนทรัพย์กลับคืนไปได้โดยไม่มีภาระหนี้ต่อกันอีก
ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ผู้สุจริตได้วางเงินชำระหนี้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ย่อมไม่สูญเสียทรัพย์สินของท่านซึ่งเอาเป็นประกันหนี้ไว้ เหล่าเจ้าหนี้ผู้มีจิตทุจริตคิดฮุบที่ดินหรือบ้านหลังงามของท่านไม่อาจได้สมดังใจหมายแน่นอน ส่วนผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าได้เช่นเดิม สิ่งที่พึงระวังให้มากที่สุด คือ ระยะเวลาชำระหนี้ในสัญญา ส่วนสถานที่ชำระหนี้ กฎหมายได้ช่วยคลี่คลายปัญหาของลูกหนี้แล้ว ดังคำพูดที่ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตใจเสมอ

******************************




 

Create Date : 25 มีนาคม 2548    
Last Update : 25 มีนาคม 2548 14:22:01 น.
Counter : 832 Pageviews.  

ลักษณะของคดีล้มละลาย

เขียนโดย ลีลา LAW

นอกจากเจ้าหนี้จักมีอำนาจฟ้องเรียกชำระหนี้คืนจากลูกหนี้ตามกระบวนคดีทางแพ่งทั่วไปแล้ว หลายท่านอาจเคยได้ยินเจ้าหนี้ขู่ฟ้องให้ล้มละลายหรือเคยเห็นลูกหนี้ต้องเป็นผู้ล้มละลายซึ่งถูกจำกัดการทำธุรกรรมบางอย่างไว้ อันที่จริงแล้วเจ้าหนี้มิได้มีอำนาจในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 กำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ที่อาจถูกฟ้องล้มละลายไว้ในมาตรา 9 คือ
1. ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว
2. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ส่วนนิติบุคคลต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
3. ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
ขั้นตอนการดำเนินคดีหลังจากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายโดยสังเขป คือ
1. ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบองค์ประกอบที่จะถูกฟ้องคดีล้มละลายหรือไม่ ถ้าเห็นว่าครบ จักมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
หากคุณสมบัติไม่ครบองค์ประกอบ หรือ ลูกหนี้นำสืบได้ว่า อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจักยกฟ้องทันที เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 14
2. ระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของเจ้าหนี้และก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้อาจมีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในการโยกย้ายทรัพย์สินไป เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้ ซึ่งศาลจักทำการไต่สวนโดยทันที เมื่อเห็นว่าคดีมีมูล จักมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว วิธีการนี้เป็นการลดทอนความเสียหายของเจ้าหนี้ได้ในระดับหนึ่ง
3. เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จักเข้าไปดูแล ควบคุม กิจการหรือทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆแทนลูกหนี้ทันที รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่งทั้งการฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย โดยลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เอกสารต่างๆเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของเขาแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นจริงด้วย มิฉะนั้น ต้องรับโทษอาญาปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล
4. เจ้าหนี้อื่นอาจแจ้งขอรับชำระหนี้ของตนในคดีล้มละลายร่วมด้วยตามประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งศาลจะมีกำหนดเวลาไว้
5. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของเหล่าเจ้าหนี้เพื่อคัดกรองว่า ผู้ใดมีสิทธิในการเข้าเฉลี่ยรับคืนหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย จากนั้นจึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาว่า ควรยอมรับคำขอประนอนหนี้ของลูกหนี้ (กรณีลูกหนี้ยื่นเรื่องขอประนอมหนี้) หรือ ควรให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย รวมทั้งวิธีจัดการทรัพย์สินด้วย
6. ศาลจักเริ่มขั้นตอนไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เพื่อทราบฐานะทางการเงิน เหตุผลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ความประพฤติ จากนั้นจึงมีการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าควรเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือไม่
7. หลังจากศาลพิจารณาเห็นชอบกับการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับแล้ว จักเริ่มกระบวนการจัดการทรัพย์สินตามข้อตกลงนั้นทันที หากลูกหนี้บิดพลิ้ว ไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในการประนอมหนี้ หรือ ทำการถ่วงเวลาโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ มีเจตนาทุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใด ย่อมมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เช่นกัน
กรณีต่อไปนี้ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 61
1. เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวถัดไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
2. ไม่ลงมติประการใด
3. ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม
4. การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เหล่าเจ้าหนี้ โดยให้ถือว่า การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ผลหลังจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ได้แก่
1. ลูกหนี้ต้องขอให้เจ้าพนักงานกำหนดเงินเลี้ยงชีพและหากมีรายได้ในอนาคต ต้องนำส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้
2. การจัดการทรัพย์สินของตัวเอง จักต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน
3. ลูกหนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตเป็นหนังสือ แม้แต่การย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งให้รับทราบด้วย
วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มลาย อาจมีได้โดย
1. การประนอมหนี้ได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน
2. ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามที่มาตรา 135 กำหนดไว้ เช่น หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว หรือ หลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้ายหรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้วต่อแต่นั้นมาภายในสิบปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินได้อีกและไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก หรือ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น
3. ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย
4. ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดาและหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต
การฟ้องลูกหนี้ที่ตายแล้วเป็นคดีล้มละลายย่อมทำได้เช่นกัน ถ้าตอนที่มีชีวิตอยู่ เขามีคุณสมบัติครบถ้วนตามรายละเอียดเบื้องต้น เจ้าหนี้ย่อมฟ้องให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลายได้ โดยเรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกเข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตาย แต่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย
กฎหมายล้มละลายยังกำหนดให้ลูกหนี้ประเภทนิติบุคคลขนาดใหญ่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามีคุณสมบัติดังนี้ คือ
1. มีหนี้สินล้นพ้นตัว
2. เป็นหนี้จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าจะถึงกำหนดโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
3. มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้
ข้อพึงรู้อีกอย่างหนึ่ง คือ แม้ลูกหนี้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนในการถูกฟ้องล้มละลายได้ แต่เจ้าหนี้ยังอาจใช้สิทธิเลือกฟ้องเรียกหนี้อย่างคดีแพ่งทั่วไป หรือ ฟ้องคดีล้มละลาย ก็ได้ กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีล้มละลายอย่างเดียว สิ่งที่ต้องตระหนักในใจเสมอคือ บุคคลล้มละลายถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างทางกฎหมายและขาดความเชื่อถือหรือเครดิตในการประกอบธุรกิจหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังอาจมีผลเกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติสำหรับบางอาชีพ ดังนั้น ลูกหนี้ทั้งหลายจึงควรรอบคอบในการจัดการกับหนี้สินด้วย



***********************




 

Create Date : 02 มีนาคม 2548    
Last Update : 2 มีนาคม 2548 15:16:23 น.
Counter : 2280 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.