ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
พระปล่อยเงินกู้ได้ไหม ?

เขียนโดย ลีลา LAW

สถานะของแต่ละบุคคลมีส่วนกำหนดบทบาทของเขาในสังคมได้ แต่กฎหมายให้ความรับรองทุกคนมีสิทธิตามกำหนดไว้เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่า เขาจักมีฐานะหรือบทบาทเช่นไร ขอเพียงมีองค์ประกอบครบตามกำหนดในกฎหมาย เขาจะได้รับความยุติธรรมเสมอกัน หลายท่านอาจเคยเห็น เคยได้ยิน หรือประสบด้วยตนเองว่า มีพระภิกษุให้เงินกู้ยืมแก่ผู้ขัดสนเงินทองด้วยการคิดดอกเบี้ยด้วย นอกเหนือจากหน้าที่เผยแพร่พุทธศาสนาแก่ชาวบ้านแล้ว คำถามที่ตามมาคือ พระภิกษุสามารถเป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้เยี่ยงเดียวกับบุคคลทั่วไปได้หรือไม่ เหมาะสมกับความเป็นภิกษุผู้น่าศรัทธาเพียงใด
มีกรณีศึกษาที่เกิดคำถามข้องใจข้างต้น แล้วแสวงหาคำตอบให้ชัดเจนได้โดยผ่านกระบวนการทางศาล ดังนี้คือ วันหนึ่ง นายบอน เกิดภาวะขัดสนทางการเงินอย่างหนัก และด้วยความที่มีศรัทธาต่อวัดใกล้บ้านสม่ำเสมอ จึงนำเรื่องไปปรึกษากับ ภิกษุกว้าง ซึ่งคุ้นเคยกันมานาน และมีคำปลอบใจให้ต่อสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งเสนอจะให้กู้ยืมเงินจำนวนหนึ่ง โดยคิดดอกเบี้ยไม่แพงในฐานะคนรู้จักกัน เวลานั้นเขาซาบซึ้งน้ำใจและทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวทันที จึงทำให้คลี่คลายปัญหาด้านการเงินได้อย่างสบายใจ เวลาผ่านไปหลายเดือน เขาขาดส่งดอกเบี้ยบ่อยครั้งมาก ภิกษุกว้างจึงทวงถามขอให้จ่ายคืนเงินกู้ทั้งหมด เขาจึงอ้างว่าพระภิกษุไม่มีสิทธิปล่อยเงินกู้แล้วคิดดอกเบี้ย การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน การให้กู้เงินแก่นายบอนเป็นโมฆะ และไม่ต้องชดใช้หนี้ใดๆ ในที่สุดภิกษุกว้างได้ฟ้องคดีต่อศาลซึ่งได้ตอบคำถามข้องใจตามที่นายบอนอ้าง ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 3773/2538 ซึ่งศาลได้พิจารณาคำฟ้องและคำให้การของคู่กรณีทั้งสองแล้ว เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดห้ามพระภิกษุนำเงินส่วนตัวของตนออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย พระภิกษะเป็นบุคคล ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด พระภิกษุย่อมมีสิทธิเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยคืนได้ ด้วยคำพิพากษาดังนี้ทำให้นายบอนจำต้องชดใช้หนี้เงินแก่ภิกษุกว้าง ผู้เป็นเจ้าหนี้ในที่สุด มิอาจบิดพลิ้วเล่นลิ้นหมายจะเบี้ยวหนี้ได้อีกต่อไป
บุคคลตามกฎหมาย ย่อมได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด สำหรับผู้เป็นพระภิกษุซึ่งมีสถานะทางสังคมที่สูง และ ความรู้สึกของประชาชนต่างให้ความศรัทธา ย่อมต้องมีสติพิจารณามากกว่าคนทั่วไปว่า สมควรกระทำสิ่งนั้นหรือไม่ แม้กฎหมายจะยอมให้ทำได้ก็ตาม การกระทำของภิกษุแต่ละรูป ย่อมสร้างเสริม หรือ ทำลาย ภาพพจน์และสถานะน่าศรัทธาในสังคมโดยรวมซึ่งอาจกระทบถึงพระภิกษุทั้งหมดได้ ถ้าประชาชนหมดศรัทธา พุทธศาสนาย่อมอ่อนแอ วินัยสงฆ์เป็นกฎเข้มแข็งในการดูแลพระภิกษุให้ประพฤติในสิ่งที่ดี ที่ชอบ กอปรกับจิตสำนึกของความเป็นพระภิกษุที่ดีของพุทธศาสนา ย่อมทำให้ตระหนักแก่ใจได้ว่า สมควรปล่อยเงินกู้ คิดดอกเบี้ยในขณะที่ครองจีวรเป็นพระภิกษุหรือไม่
**************************


Create Date : 07 ธันวาคม 2549
Last Update : 7 ธันวาคม 2549 13:47:00 น. 0 comments
Counter : 1557 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.