ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

เขียนโดย "ลีลาLAW"



ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือกรณีที่กิจการของนายจ้างไม่อาจประกอบการต่อไปได้ สิ่งที่ลูกจ้างต้องวิตกกังวลอย่างมากคือ การถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะในระยะนี้มักมีข่าวการเลิกจ้างบ่อยครั้ง และมีปัญหาเรื่องนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งถูกให้ออกจากงาน ดังนั้น ท่านคงอยากทราบสิทธิและจำนวนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ก่อนอื่นต้องรู้ความหมายของคำเหล่านี้ คือ
การเลิกจ้าง คือ การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ค่าชดเชย คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
บุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คือ ลูกจ้างซึ่งนายจ้างบอกเลิกการจ้างเท่านั้น มิใช่การลาออกด้วยใจสมัครของลูกจ้าง หรือ การขอเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด กฎหมายก็ถือเป็นการลาออกเองเช่นกัน

จำนวนเงินค่าชดเชยอันพึงได้รับ มาตรา 118 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้คือ
1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ( 3 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
( 6 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
( 8 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ข้อยกเว้นที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย คือ
1. ลูกจ้างลาออกจากงานด้วยความสมัครใจเอง
2. เป็นลูกจ้างประเภทที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ซึ่งกฎหมายยังกำหนดรายละเอียดการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่พึงทำได้ไว้ด้วยว่า การเลิกจ้างงานแบบใด จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ได้แก่
1. การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ
2. การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
3. งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือ ความสำเร็จของงาน
4. งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาข้างต้น นายจ้างและลูกจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง และงานนั้นต้องทำแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี
3. ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

นอกเหนือจากค่าชดเชยปกติที่กำหนดไว้ข้างต้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีค่าชดเชยพิเศษซึ่งลูกจ้างพึงได้รับกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้งที่อื่น อันกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง และกรณีถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้และลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งก็มีการกำหนดจำนวนเงินและหลักเกณฑ์จำเพาะไว้ต่างหาก

เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ค่าชดเชยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเงินส่วนหนึ่งซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายเท่านั้น ยังมีเงินที่เกี่ยวเนื่องจากการเป็นลูกจ้างหลายชนิดที่เป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง ดังนั้น จึงพึงตรวจสอบและรักษาสิทธิ์ของลูกจ้างอันควรได้รับเมื่อนายจ้างบอกเลิกการจ้างไว้ มันเป็นผลประโยชน์เฉพาะตัวลูกจ้างซึ่งจักช่วยเหลือครอบครัวได้ระยะหนึ่งในระหว่างการรอหางานใหม่ต่อไป

***************************


Create Date : 08 กรกฎาคม 2549
Last Update : 8 กรกฎาคม 2549 13:52:24 น. 0 comments
Counter : 821 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.