ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

หลักประกันตัวในคดีอาญา


เขียนโดย ลีลา LAW

เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นอันเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นตำรวจไปจนถึงศาลนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบของหน่วยงานต่างๆเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาได้ โดยมิต้องถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีและมีสิทธิ์ร้องขอได้ในทุกระดับชั้นของกระบวนยุติธรรม
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คือ ผู้ต้องหา จำเลย หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติพี่น้อง คู่สมรส เป็นต้น
ผู้พิจารณาคำร้องขอดังกล่าว คือ
1. กรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการ เช่น ยังอยู่ในการสอบสวนของตำรวจ ต้องยื่นแก่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีและจะมีระเบียบของหน่วยงานกำหนดขอบอำนาจหน้าที่ของนายตำรวจในการใช้ดุลพินิจไว้ หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ อำนาจพิจารณาจักอยู่ที่พนักงานอัยการซึ่งดูแลคดีดังกล่าว
2. กรณีผู้ต้องหาถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ต้องยื่นที่ศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้น
ระยะเวลาในการปล่อยชั่วคราว สำหรับกรณีในชั้นตำรวจหรืออัยการ มีผลใช้ได้ระหว่างการสอบสวนหรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวน หรือ จนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกิน 3 เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว แต่อาจยืดเวลาได้เกินกว่านั้น แต่มิให้เกิน 6 เดือน ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่การสอบสวนไม่อาจเสร็จภายในกำหนด 3 เดือนได้ ซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะทั้งของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ
ส่วนกรณีอยู่ในอำนาจของศาล จักเป็นไปตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญากำหนดไว้
จำนวนวงเงินประกันในแต่ละหน่วยงานโดยสังเขปดังนี้
1. กรณีของตำรวจหรือพนักงานอัยการ จะมีระเบียบภายในกำหนดรายละเอียดลักษณะคดี หลักประกันที่พึงใช้ วงเงินแต่ละประเภทคดีไว้ เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
2. กรณีของศาลซึ่งมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยกาารปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา พ.ศ. 2548 กำหนดแบ่งประเภทคดีหรือวงเงินประกัน ดังตัวอย่าง เช่น
ความผิดลหุโทษหรือมีโทษปรับสถานเดียว ให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันก็ให้กำหนดวงเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี อาจปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีประกันก็ได้ หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 100000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ต้องระบุเหตุนั้นให้ชัดเจน
คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี อาจปล่อยชั่วคราวโดยต้องมีประกัน แต่ไม่ต้องมีหลักประกันก็ได้ ส่วนวงเงินประกันต้องไม่สูงเกินควรแก่กรณี
กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน แต่วงเงินประกันไม่ควรสูงเกินกว่า 100,000 บาท
กรณีที่ถูกลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน หากศาลเห็นสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง
หากผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรสใช้เงินสด หลักทรัพย์มีค่าที่มีมูลค่าแน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ผู้ขอประกันวางเงินสดหรือหลักทรัพย์นั้นเพียงจำนวนร้อยละ 20 จากจำนวนวงเงินประกันที่ศาลกำหนดก็ได้ ส่วนกรณีความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน ศาลจะกำหนดวงเงินให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นหญิงมีครรภ์หรือมีบุตรอายุไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความดูแลหรือเป็นผู้เจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือเป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกันหรือกำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนใช้ดุลพินิจกำหนดวงเงินประกันตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่สูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ประเภทของหลักประกันซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งที่ศาลหรือตำรวจหรืออัยการ ได้แก่
1. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน และต้องไม่มีภาระผูกพันอันกระทบต่อการบังคับคดีด้วย
2. หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ใบรับฝากประจำของธนาคาร เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันทำสัญญาประกัน
เมื่อทำสัญญาประกันแล้ว ศาลจะมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดินหรือธนาคารโดยทันที และเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดต้องรีบแจ้งยกเลิกอายัดโดยเร็วเช่นกัน
3. การใช้บุคคลเป็นประกัน ซึ่งต้องมีลักษณะโดยสังเขปดังนี้
3.1 เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ทนายความ เป็นต้น
3.2 ต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง เป็นต้น
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ เภสัชกร วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู สื่อมวลชน เป็นต้น และถูกกล่าวว่ากระทำความผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
กรณีศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อาจเลือกทำข้อใดข้อหนึ่งได้คือ
1. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ หากมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน คำสั่งศาลอุทธรณ์จักถือเป็นที่สุด มิอาจยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดได้ แต่กฎหมายไม่ตัดสิทธิในการยื่นคำร้องใหม่
2. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่
กรณีผิดสัญญาประกัน
1. ชั้นตำรวจหรือพนักงานอัยการ มีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้ทันที โดยมีระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานกำหนดขั้นตอนไว้
2. ชั้นศาล สั่งบังคับตามสัญญาประกัน โดยมิต้องฟ้องอีกครั้ง แต่ให้อำนาจอุทธรณ์ได้ โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเป็นการบอกเล่าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ และขอย้ำว่าการสั่งปล่อยชั่วคราวในแต่ละคดีนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องปล่อยทุกกรณี แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจจะเห็นสมควร

**********************




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2549 1:10:43 น.
Counter : 948 Pageviews.  

ข้อคิดก่อนสาดน้ำ

เขียนโดย ลีลา LAW



เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งเน้นการรดน้ำหรือสาดน้ำใส่กันเพื่อความสนุกสนาน พิธีการดั้งเดิมนั้นจักเป็นการรดน้ำขอขมากับผู้อาวุโส หรือรดน้ำแก่เพื่อนฝูงเพื่อความสนุก ลักษณะของการรดน้ำที่ถูกต้องตามประเพณีไทย ต้องเป็นการเทน้ำลงบนมือหรือไหล่ด้วยกิริยานุ่มนวลและมีการขออนุญาตก่อนเสมอ ซึ่งมักไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันจากพิธีรดน้ำแบบนี้ วันเวลาที่ผ่านไปการรดน้ำเปลี่ยนสภาพสู่การสาดน้ำด้วยวัสดุดัดแปลงต่างๆ เช่น ท่อเหล็กหรือพีวีซีหรือน้ำแข็ง เป็นต้น ซึ่งอาจก่อความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำมากขึ้นจนต้องกลายเป็นคนพิการไปได้
กรณีสาดหรือฉีดน้ำด้วยกระบอกชนิดต่างๆหรือใช้น้ำแข็ง
การเล่นน้ำด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ จักมีความแรงของน้ำแตกต่างกันตามขนาดของท่อ หากผู้เล่นฉีดน้ำไปที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย แล้วเกิดบาดเจ็บขึ้นมา หรือขว้างถุงใส่น้ำแข็ง ท่านอาจต้องรับโทษจำคุกหรือปรับได้ตามลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
- ถ้าไม่เกิดบาดแผล เพียงเปียกน้ำ หรือ เปรอะเปื้อน เช่น การโปะแป้ง หรือ โดนสาดน้ำ ขณะไปทำธุระ หรือ ตอนอยู่ในรถโดยสาร เป็นต้น ผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 กำหนดว่า ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อเตือนใจ คือ หากมีผู้เสียหายหลายคน ท่านต้องรับโทษเป็นรายคน เช่น สาดน้ำไปยังผู้เสียหาย 8 คน และตำรวจสั่งปรับการกระทำผิดกระทงละ 1000 บาท ท่านต้องจ่ายค่าปรับ 8000 บาท นับว่าเป็นค่าสาดน้ำราคาแพงมากทีเดียว
- บาดแผลประเภทรอยช้ำ ขีดข่วน รอยถลอก ผู้สาดน้ำอาจต้องรับโทษอาญา ตามมาตรา 390 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใหญ่บาดแผลประเภท คิ้วหรือปากแตก ผิวหนังฉีกขาด ดวงตาบวม ซึ่งต้องใช้เวลารักษาไม่เกิน 20 วัน อันเกิดจากน้ำแข็งหรือท่อน้ำ กฎหมายสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ผู้กระทำย่อมมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่า วัสดุเหล่านั้นทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บได้ ท่านจึงอาจต้องรับโทษอาญาของมาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้เช่นกัน เนื่องด้วยทางราชการเผยแพร่ข้อมูลวัสดุในการเล่นน้ำประเภทต่างๆอย่างกว้างขวาง จึงไม่อาจโต้แย้งว่า ไม่ทราบโทษของมัน ทำให้พ้นโทษอาญาค่อนข้างยากมาก
- บาดแผลสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก แท้งลูก หน้าเสียโฉม เป็นต้น หรือ ต้องรักษาด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ผู้สาดน้ำจักได้รับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 300 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากถูกพิจารณาว่า ผู้สาดน้ำมีเจตนาเล็งเห็นผลในการสร้างบาดแผลสาหัสนั้น อาจต้องรับโทษตามมาตรา 297 ผู้ใดกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
กรณีสาดน้ำปนเปื้อนของสกปรก
การนำของโสโครก เช่น น้ำขยะ ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น ผสมในน้ำ ผู้กระทำต้องรับโทษอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 389 คือ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนตัวบุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ แกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการขว้างปาของเบื้องต้นทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกาย จักเพิ่มความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บในมาตรา 390 เข้าไปอีก หรือผู้เสียหายได้รับเชื้อโรคร้ายแล้วตาย ท่านอาจมีโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาได้
การตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้กระทำผิดในแต่ละคดีนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง อายุและการบาดเจ็บของผู้เสียหาย โดยคดีอาจสิ้นสุดลงแค่ชั้นตำรวจหรือศาลแล้วแต่ลักษณะคดี ดังนั้น การเล่นน้ำจักสร้างความสุขและสนุกสนานเย็นฉ่ำในเทศกาลอันรื่นรมย์นี้ได้ หากท่านมีสติในการเล่นควบคู่กัน เมื่อขณะใดที่ปล่อยจิตใจให้คึกคะนองเกินขอบเขตอันควร ความทุกข์จักยืนอยู่เคียงข้างทันที จึงขอให้ระลึกถึงความเดือดร้อนของผู้เสียหาย และโทษทัณฑ์ที่ท่านต้องรับจากการกระทำซึ่งมีทั้งโทษอาญาและโทษทางแพ่งในการสูญเสียเงินทองเพื่อชดใช้ความเสียหายซึ่งได้ก่อขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนี้ก่อนการสาดน้ำออกไป ท่านจะมองเห็นว่า ต้องเล่นน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสนุกสนานด้วย

**********************




 

Create Date : 11 เมษายน 2549    
Last Update : 11 เมษายน 2549 17:40:25 น.
Counter : 706 Pageviews.  

รูปแบบการร้องทุกข์


เขียนโดย ลีลา LAW


หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า การแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจหรือโรงพักนั้นมีสองแบบ คือ การร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี กับ เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากคดีอาญาบางคดีเป็นความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องมีการร้องทุกข์ก่อน กรณีนี้จึงต้องเลือกรูปแบบเพื่อดำเนินคดีเท่านั้น
ผลของการร้องทุกข์ผิดรูปแบบ จักมีผลต่อทุกขั้นตอนในการดำเนินคดี ดังปรากฏใน คำพิพากษาฎีกาที่ 4906/2543 ความผิดฐานข่มขืนหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตน เป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรค 2 กำหนดว่า ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ จากรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มอบคดีให้ลงโทษ แม้จะเป็นการรับแจ้งความ จึงไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะยังมิได้กระทำโดยเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดดังกล่าวที่ผ่านมาจึงไม่ชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
หากท่านต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดหรือก่อความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ต้องเลือกแจ้งความร้องทุกข์เพื่อการดำเนินคดีถึงที่สุด จึงลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาได้ตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนการร้องทุกข์เพื่อเป็นหลักฐาน มักใช้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับตนเองในอนาคต เช่น กรณีการสูญหายของบัตรเครดิต บัตรสำคัญอื่นๆ หรือ หนังสือเดินทาง เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบกับหนี้สินจากบัตรดังกล่าว เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดอาญาและผู้เสียหายต้องการแจ้งความ จึงต้องเลือกรูปแบบการร้องทุกข์และแจ้งให้ตำรวจรับทราบโดยชัดแจ้ง มิฉะนั้น ผู้กระทำความผิดอาจหลุดรอดพ้นคดีลอยนวลไปอย่างง่ายดายด้วยสาเหตุร้องทุกข์ผิดแบบเท่านั้น


*****************************




 

Create Date : 04 มีนาคม 2549    
Last Update : 4 มีนาคม 2549 14:06:43 น.
Counter : 1109 Pageviews.  

การเรียกค่าเสียหายจากชู้หรือหญิงนอกสมรส

เขียนโดย ลีลา LAW



หญิงชายซึ่งมีความพร้อมด้านความรู้และฐานะ ย่อมอยากสร้างครอบครัวของตนอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ หลายท่านประสบความสำเร็จกับครอบครัวที่มีความสุข แต่มีบางท่านอาจต้องพบกับความรักที่จืดจางหรือไขว้เขวไป ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากสามีหรือภรรยา และแม้แต่มือที่สามที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในการก่อความแตกแยกขึ้น ครอบครัวแตกแยกสร้างความทุกข์แก่ผู้ที่ต้องประสบปัญหาเช่นนี้เสมอ ผู้บัญญัติกฎหมายตระหนักในปัญหานี้ ด้วยหวังปรามผู้คิดจะสร้างปัญหาความแตกแยกไว้ และชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับความทุกข์ จึงกำหนดให้มีการเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงนอกสมรสได้
สังคมมีจารีตประเพณีกำหนดขอบเขตความประพฤติไว้ บ้านเมืองมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น หากมีผู้ใดละเมิด จะต้องถูกลงโทษและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อกฎหมายต้องการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว จึงกำหนดโทษแก่ผู้ที่ก่อความแตกแยกไว้ดังกล่าวไว้ใน คำพิพากษาฎีกาที่ 2940/2538 นางศนิ ภรรยาของ นายการเวก พบว่า สามีเลี้ยงดู น.ส.น้อย ครูสาวในโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นภรรยาอีกคน โดยจ่ายเงินรายเดือน ซื้อบ้านหนึ่งหลัง มีพฤติกรรมหลายอย่างให้คนเข้าใจว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวต่อกัน หลังจากทราบเรื่องผู้เป็นภรรยาได้พูดคุยกับสามีและเจรจาขอร้องน.ส.น้อยให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะเลิกกัน ด้วยความคับแค้นใจ นางศนิ จึงฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้อย ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติในมาตรา 1523 วรรค 2 ให้อำนาจไว้ แต่ทนายของน.ส.น้อยแย้งว่า เมื่อยังไม่มีการหย่ากันระหว่างนางศนิกับนายการเวก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าเสียหายได้ ในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาคดีไว้ว่า มาตรา 1523 วรรค 2 ซึ่งกำหนดว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ เป็นมาตราที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้อง สำหรับคดีนี้เป็นการเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว แต่มาตราและวรรคดังกล่าวนั้นมิได้กำหนดเงื่อนไขว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน จึงใช้สิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้น นางศนิ จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้อย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามีของโจทก์ได้
กรณีศึกษาข้างต้นคงเป็นสิ่งเตือนใจแก่ชายหรือหญิงซึ่งคิดจะเป็นชู้ได้อย่างดีว่า ต้องเตรียมจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้เป็นสามีหรือภรรยาตามกฎหมายด้วย นอกจากเสียเงิน ยังต้องอับอาย เสียชื่อเสียงในสังคม เมื่อพฤติกรรมของตนถูกตีแผ่ให้หลายท่านรับรู้ เพราะการพิจารณาในศาลกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำอย่างเปิดเผย ส่วนสามีหรือภรรยาซึ่งต้องพบกับปัญหาข้างต้น จักทราบถึงสิทธิที่กฎหมายมอบไว้และอาจนำมาใช้กำราบบรรดาชายชู้หรือหญิงนอกสมรสซึ่งคิดจะทำลายครอบครัวของท่าน โดยต้องจ่ายค่าทดแทนการล่วงละเมิดสิทธิของท่านตามกฎหมายเป็นเงินจำนวนหนึ่งต่อความสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมายของพวกเขา แต่สิ่งที่พึงตระหนักในใจเสมอคือ ความซื่อสัตย์และการรู้จักประนีประนอมจักช่วยประคับประคองครอบครัวไว้ได้ หากสามีและภรรยารักษาทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างมั่นคง ย่อมเป็นครอบครัวที่มีความสุขอย่างน่าอิจฉาทีเดียว

*********************




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2549 1:15:40 น.
Counter : 4214 Pageviews.  

ภาพรวมของลิขสิทธิ์

เขียนโดย ลีลา LAW

ปัจจุบันนี้ทรัพย์สินในทางพาณิชย์มิใช่มีเพียงที่ดิน ทองคำ หรือ หุ้น เท่านั้น เรายังมีทรัพย์สินทางปัญญาอีกชนิดหนึ่ง อันได้แก่ ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือ สิทธิบัตร ซึ่งมีมูลค่าในทางการค้าด้วย จึงมีการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองมันอย่างต่อเนื่อง
ทรัพย์สินทางปัญญาที่จะทำความรู้จักในครั้งนี้ คือ ลิขสิทธิ์ ซึ่งมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คุ้มครองผลประโยชน์แก่ผู้สร้างสรรค์งานและมีการพัฒนาให้ทันสมัยมาตลอด คำว่า ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆตามกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
สิ่งที่ได้รับการคุ้มครอง
กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดงานที่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ วรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง สิทธินักแสดง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
การเริ่มต้นของสิทธิคุ้มครอง
ผู้ใดสร้างสรรค์งานใหม่ โดยมิได้คัดลอก ดัดแปลง จากงานของผู้อื่น จักได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทันทีนับแต่สร้างงานนั้นขึ้นมา โดยไม่ต้องมีพิธีการใดๆเลย
พฤติกรรมต้องห้าม
เมื่องานสร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ผู้อื่นจึงไม่อาจกระทำสิ่งต่อไปนี้ คือ ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน มิฉะนั้น ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
กรณีลูกจ้างสร้างงาน
หากมีการสร้างสรรค์งานขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างและมิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น
กรณีเป็นการรับจ้างสร้างงาน ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
งานไม่มีลิขสิทธิ์
ข้อยกเว้นสำหรับบางผลงานที่กฎหมายไม่คุ้มครองสิทธิเพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนร่วมกัน ได้แก่
1. ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
2. รัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย
3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ 1 – 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
การโอนลิขสิทธิ์
เจ้าของงานสร้างสรรค์ย่อมโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลอื่นได้ นอกจากการตกทอดทางมรดก โดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาคุ้มครองการโอนไว้ในสัญญาโอน ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนดเวลาเพียงสิบปีเท่านั้น ส่วนการอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบแน่ชัดไว้ จึงอาจเป็นการอนุญาตโดยชัดแจ้งเป็นหนังสือหรือโดยปริยายทางวาจาก็ได้
ระยะเวลาคุ้มครอง
กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิเจ้าของผลงานตลอดชีวิตของเขา แล้วยังมีอยู่ต่อไปอีกห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายด้วย หลังจากเวลาคุ้มครองสิ้นสุดลง การนำงานดังกล่าวออกทำการโฆษณา จักไม่ก่อให้เกิดลิขสิทธิ์ในงานนั้นขึ้นใหม่
โทษของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์
ผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน สำหรับงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หากทำเพื่อการค้า จักมีโทษหนักขึ้น คือ โทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่จำหน่ายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษจำคุกหรือโทษปรับหนักด้วย
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากฎหมายพยายามคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิของผู้สร้างสรรค์อย่างมาก ปัจจุบันนี้การสร้างสรรค์งานมีมูลค่าเป็นเงินทองได้ รัฐบาลจึงพยายามกระตุ้นให้คนไทยสร้างผลงานทางปัญญาให้เป็นสินค้า ดังนั้น สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว ผู้สร้างสรรค์งานควรลงทะเบียนงานของตนที่กรมลิขสิทธิ์ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งรัฐเป็นตัวกลางเก็บผลงานและช่วยเผยแพร่งานกับความเป็นเจ้าของงานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ วันหนึ่งลิขสิทธิ์อาจพลิกชีวิตของท่านได้ จงสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์และดูแลสิทธิมีมูลค่านี้ให้ดี มันถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโลกยุคใหม่


******************************




 

Create Date : 04 มกราคม 2549    
Last Update : 4 มกราคม 2549 23:55:03 น.
Counter : 832 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.