ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

เหตุมิให้ประกันตัว

เขียนโดย ลีลา LAW


เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหาหรือถูกส่งฟ้องศาลเป็นจำเลยแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือชาวบ้านเรียกกันว่า การประกันตัวได้ โดยต้องกระทำตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในหมวด ปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่เพื่อคุ้มครองสิทธิคนไทยตามรัฐธรรมนูญชัดเจนขึ้น
บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คือ ผู้ต้องหา จำเลย หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง โดยกำหนดผู้พิจารณาคำร้องไว้ ดังนี้
1. หากถูกควบคุมอยู่ แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
2. ถ้าถูกขังตามหมายศาลและยังไม่ได้ถูกฟ้อง ต้องยื่นต่อศาลนั้น
3. เมื่อถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
4. ถ้ายังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือ ยื่นแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
5. เมื่อส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือ ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้
เหตุที่คำร้องขอปล่อยชั่วคราวต้องถูกปฏิเสธ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดชัดเจนว่า กรณีใดที่ผู้มีอำนาจพิจารณาคำร้องดังกล่าวต้องปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว เพื่อเป็นแนวทางเดียวกันในชั้นศาล พนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ โดยข้อห้ามการปล่อยชั่วคราวกำหนดไว้ในมาตรา 108/1 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้ คือ
1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะหลบหนี
2. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
3. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
คำสั่งห้ามดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
พฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดุลพินิจของศาล พนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย ถ้าพฤติกรรมไม่เข้าเหตุทั้งห้าข้อ จักต้องปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยมีประกันหรือไม่มี แล้วแต่จะเห็นสมควรตามหลักกฎหมาย อันเป็นการคุ้มครองสิทธิชอบธรรมของคนไทยตามรัฐธรรมนูญ ขอย้ำว่า การปล่อยชั่วคราวเป็นการให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างมีอิสระเพิ่มขึ้น มิใช่การตัดสินคดีว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมิได้กระทำความผิด


**************************




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2548    
Last Update : 18 สิงหาคม 2548 15:41:56 น.
Counter : 638 Pageviews.  

การค้นและหมายค้น

เขียนโดย ลีลา LAW

กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยกำหนดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของคนไทยไว้อย่างชัดเจน การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำอย่างใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น จะกระทำมิได้ นอกจากมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ถ้าต้องการค้นอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกายหรือสถานที่ส่วนตัว จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลายท่านอาจมีคำถามเกี่ยวกับการค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางสถานการณ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขอบอกเล่าโดยสังเขปดังนี้
หลักเกณฑ์ในการค้น
ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น บุคคลธรรมดาหรือบุคคลอื่นซึ่งตำรวจขอให้ช่วยเหลือ จักกระทำตนเป็นผู้ค้นมิได้ เนื่องจากมิได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้
บุคคลซึ่งกฎหมายมอบอำนาจออกหมายค้นได้ คือ ศาล ซึ่งมีการออกระเบียบบังคับและวิธีปฏิบัติในการออกหมายอาญาทุกประเภทไว้ รวมทั้งหมายค้นด้วย
เหตุที่ออกหมายค้นได้ มีดังนี้
1.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
2.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือ ได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำผิด
3.เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
4.เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
5.เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาลในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
กรณีต่อไปนี้ ตำรวจสามารถค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น
1. เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน
2. เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3. เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไป หรือ มีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
4. เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า สิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน
5. เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นต้องมีหมายจับ
หลักการค้นตัวบุคคล กฎหมายได้กำหนดว่า ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เป็นผู้ค้น โดยต้องมีเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ร่วมด้วยคือ บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือ ซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด
วิธีการค้นโดยสังเขป คือ
1. ก่อนลงมือค้น ต้องแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ทำการค้น เช่น ชื่อหรือตำแหน่งของผู้ค้น เป็นต้น ยื่นหมายค้น และทำการค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 คน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน วิธีนี้ใช้กับการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในศาลด้วย
2. ผู้ค้นต้องทำบันทึกรายละเอียดและบัญชีสิ่งของที่ค้นหรือยึดได้ แล้วให้บุคคลในข้อแรกลงลายมือชื่อรับรองไว้
3. ผู้ค้นมีอำนาจยึดสิ่งของใดๆซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาหรือจำเลย และจับบุคคลตามหมายจับ เมื่อพบในสถานที่ค้น รวมถึงหากเกิดความผิดซึ่งหน้า ผู้ค้นอาจจับได้เช่นกัน
4. เมื่อเกิดการขัดขวางหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลในสถานที่ค้น หรือ จะถูกค้นจะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผล ผู้ค้นมีอำนาจเอาตัวผู้นั้นไปควบคุมไว้ หรือ อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น
5. การค้นต้องทำโดยสุภาพ ไม่ก้าวร้าว มิใช่มุ่งทำลายสิ่งของ ส่วนการค้นตัวบุคคลโดยเฉพาะหญิงสาว ต้องใช้ผู้หญิงเป็นผู้ทำการค้นเท่านั้น
6. การออกหมายค้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อจับบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ย่อมทำไม่ได้ เว้นแต่จะมีหมายจับบุคคลนั้นประกอบด้วย
เมื่อได้รับทราบขอบเขตและอำนาจในการค้นของเจ้าพนักงานแล้ว หากมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมา ถือเป็นการละเมิดสิทธิและกระทำผิดกฎหมายอาญา ท่านอาจเรียกร้องฟ้องคดีเพื่อให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางอาญาได้เช่นเดียวกัน

**************************




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548    
Last Update : 4 สิงหาคม 2548 14:03:17 น.
Counter : 3482 Pageviews.  

สถานที่แจ้งความ

เขียนโดย ลีลา LAW

หลายท่านอาจเคยสงสัยว่าควรแจ้งความที่ใด เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นและตำรวจท้องที่ไม่ยอมรับแจ้ง โดยอ้างเหตุว่า ไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนได้หรือไม่ หลายครั้งเป็นการอ้างปัดงานด้วยมิชอบตามหลักกฎหมาย
การแจ้งความ เป็นกระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นในการบอกกล่าวความผิดของคนร้ายแก่ตำรวจ ซึ่งมีประมวลวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจสอบสวนของตำรวจไว้ในมาตรา 18 โดยให้ข้าราชการตำรวจมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ นั่นหมายความว่า เมื่อบุคคลใดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใด พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาก่อนว่า เหตุร้ายเกิดในเขต เชื่อว่าเกิดในเขตนั้น หรือผู้เสียหายอ้างว่าเกิดในเขตนั้น หรือผู้ต้องหาอาศัยในเขตนั้น หรือถูกจับในเขตนั้น ถ้าเข้าองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีอำนาจรับแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไปได้เลย ตัวอย่างเช่น นักเลงข่มขู่เอาเงินและทำร้ายผู้เสียหายในท้องที่พลับพลาไชย แม้ผู้เสียหายจะอาศัยอยู่ในเขตพระนคร ก็ต้องแจ้งความ ณ ท้องที่เกิดเหตุร้าย เป็นหลัก คือ ท้องที่พลับพลาไชย เป็นต้น
ส่วนกรณีที่เหตุร้ายเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องหลายท้องที่ หรือไม่อาจทราบได้ว่าเกิดเหตุในท้องที่ใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องอำนาจรับแจ้งความนี้ไว้เช่นกัน โดยบัญญัติที่มาตรา 19 ว่า พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี ย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ หากมีกรณีต่อไปนี้ คือ
1. เป็นการไม่แน่ว่าการทำผิดอาญาได้ทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
2. เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
3. เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆเกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
4. เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างกัน
5. เมื่อความผิดเกิดขึ้น ขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
6. เมื่อความผิดเกิดขึ้น ขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
ดังนั้นหากมีเหตุร้ายที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น เช่น เกิดเหตุร้ายบนรถเมล์ รถไฟ ล่อลวงข้ามหลายเขต ปล้นทรัพย์หลายท้องที่โดยโจรกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น ผู้เสียหายพบหรือรู้ตัวว่าเกิดความผิดขึ้นในท้องที่ใด สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้นได้ทันที ตำรวจไม่มีข้ออ้างปัดหน้าที่ของตนได้ ตัวอย่างเช่น เกิดการข่มขืนบนรถไฟขณะเดินทางไปภาคใต้ เมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความกับตำรวจที่กรุงเทพฯ กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่า ผู้เสียหายไม่อาจบอกได้ว่าถูกข่มขืนที่จังหวัดใด เพราะต้องไปแจ้งความในท้องที่ซึ่งเกิดเหตุข่มขืนเท่านั้น ทางกรุงเทพฯจึงไม่รับแจ้งความคดีนี้ กรณีเช่นนี้ตามหลักกฎหมายแล้วเมื่อมีเหตุร้ายขณะผู้เสียหายกำลังเดินทางด้วยรถไฟ หรือ ไม่อาจทราบว่าการข่มขืนเกิดในจังหวัดใดแน่นอน เมื่อมาแจ้งความที่กรุงเทพฯ ตำรวจต้องรับเรื่องไว้สอบสวนคดีทันที มันเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้เสียหายซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ถ้าตำรวจปฏิเสธ จักกลายเป็นความผิดทางวินัยและกฎหมายอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อีกข้ออ้างหนึ่งซึ่งมักได้ยินตำรวจกล่าวเสมอ กรณีผู้เสียหายไม่รู้ว่าเกิดเรื่องในท้องที่ใด คือ ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตนนั้น ตามหลักกฎหมายของความผิดเกี่ยวเนื่องหลายท้องที่นั้นได้กำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนไว้ดังนี้
1. ถ้าจับผู้ต้องหาได้ ผู้รับผิดชอบในคดีคือ พนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งจับได้
2. ถ้าจับผู้ต้องหาไม่ได้ ผู้รับผิดชอบคดีคือ พนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งพบการกระทำผิดก่อน
ไม่ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นที่ใด ตำรวจทุกท้องที่ซึ่งผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด มีอำนาจสอบสวนเบื้องต้นก่อนเสมอ จากนั้นเขาจะประสานส่งสำนวนทั้งหมดไปยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายของคดีนั้น หากพิจารณาภายหลังได้ว่า มิได้อยู่ในอำนาจของตน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักกฎหมายข้างต้น ดังนั้น ถ้ามีการปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้งความโดยมิใช่เหตุผลตามกฎหมาย ผู้เสียหายอาจร้องเรียนพฤติกรรมดังกล่าวไปให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัยหรือฟ้องคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อีกด้วย



*******************




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2548 1:03:16 น.
Counter : 7384 Pageviews.  

ซิ่งรถ

เขียนโดย ลีลา LAW


ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างคนดีและมีส่วนทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขได้ หน้าที่ของบิดามารดา คือ สั่งสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะผิด-ถูก รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำอย่างกล้าหาญ และเฝ้าดูแลมิให้เขากระทำนอกลู่ทางก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ หากบิดามารดาละเลยไป ก็อาจนำพาความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว บางคราวอนาคตของลูกก็จบสิ้นได้ ดังกรณีศึกษานี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1681/2542 ครอบครัวของนายสมและนางใจมีฐานะดีพอสมควร มีลูกชายคนเดียว คือ ด.ช.สุข ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี ยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในวัยคึกคะนองเต็มที่ เขากับเพื่อนในกลุ่มเดียวกันชื่นชอบในการแข่งรถจักรยานยนต์ตามท้องถนนเพื่ออวดฝีมือตกแต่งรถหรืออวดสาว ปกติแล้วลูกชายของทั้งสองสามารถนำรถจักรยานยนต์ในบ้านไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากบิดามารดาเลย โดยกุญแจรถมี 2 ชุด ชุดหนึ่งแขวนไว้ในบ้านเพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบไปใช้ได้ทุกเวลา ส่วนอีกชุดเก็บไว้เป็นสำรอง การนำรถคันนี้ออกไปใช้ทุกครั้งนั้น นายสมและนางใจไม่เคยซักถามหรือสนใจว่า ลูกชายเอาไปใช้ในกิจกรรมใด ต่อมาวันหนึ่งด.ช.สุขขับรถแข่งกับเพื่อนแล้วพลาดไปชนรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างทางทำให้เสียหายอย่างมาก และลูกชายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากการกระแทกพื้นอย่างแรงเมื่อรถล้มลง เมื่อมีการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกัน นายสมไม่ยอมจ่ายเงินชดใช้ โดยอ้างว่ามิได้เป็นคนขับชน จึงไม่ต้องรับผิดชอบด้วย อีกทั้งยังขอรถจักรยานยนต์ที่ตำรวจยึดไว้คืนเพราะเสียดายที่ซื้อมาราคาแพงมาก ผู้เสียหายจึงฟ้องคดีเพื่อขอความเป็นธรรมจากศาล ผู้พิพากษาได้พิจารณาอย่างมีเหตุผลว่า พฤติการณ์ที่บิดามารดาไม่เคยสนใจต่อการนำรถไปใช้โดยไม่มีการบอกกล่าวต่อผู้ใหญ่ให้รับทราบ ย่อมแสดงว่ายินยอมอนุญาตให้ด.ช.สุขหยิบกุญแจรถไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่ลูกต้องการ โดยไม่คำนึงว่าผู้เยาว์จะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ดังนั้น เมื่อเขานำรถจักรยานยนต์คันนั้นไปขับขี่แข่งขันกันในถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรตามหลักกฎหมายและถูกจับไป ย่อมถือว่า บิดามารดารู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดต่อกฎหมายของด.ช.สุข และได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย ผู้เป็นบิดามารดาจึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด กอปรกับไม่อาจเรียกร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ราคาแพงนั้นซึ่งถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดีคืนได้ เพราะมีส่วนรู้เห็นในความผิดด้วย
กรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ได้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยความคะนองของผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของบิดามารดาตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่อาจปัดความรับผิดชอบในทางแพ่งได้เนื่องเพราะกฎหมายกำหนดชัดเจนให้บิดามารดาต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย ยกเว้นจะได้พิสูจน์ว่าใช้ความระมัดระวังตามสมควรอย่างเต็มที่แล้ว หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นการทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย นอกจากบิดามารดาจะต้องร่วมชดใช้เงินทองแล้ว ลูกของท่านอาจต้องถูกลงโทษจำคุกหรือรับโทษอาญาอื่นๆ บางครั้งผู้ขับขี่อาจได้รับบาดเจ็บสาหัสจนกลายเป็นคนพิการไปได้ ซึ่งจักมีผลต่ออนาคตของผู้เยาว์อย่างมาก ฉะนั้น บิดามารดาทั้งหลายควรเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ จิตใจ และกิจกรรมที่ลูกของท่านทำอยู่อย่างใกล้ชิดเพื่อเห็นแก่อนาคตของเขา การสร้างลูกให้เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวต่อไป มันคือภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของบิดามารดาซึ่งพึงกระทำที่สุด



*******************




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2548 15:13:43 น.
Counter : 540 Pageviews.  

เคยเป็นของเรา บัดนี้อาจไม่ใช่......?

เขียนโดย ลีลา LAW

บางท่านอาจเคยได้ยินหรือได้พบกับปัญหาแปลกนี้ก็ได้ นั่นคือ ทรัพย์สิน อาทิเช่น ตึก ที่ดิน หรือ เครื่องเพชร เป็นต้น เราเป็นคนซื้อ หรือ มีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนด แต่วันหนึ่งกลับกลายเป็นของผู้ที่เราเคยฝากให้ดูแลทรัพย์สิน ทั้งที่ผู้นั้นมิใช่คนซื้อ กรณีเช่นนี้มีทางเป็นไปได้ เมื่อเจ้าของขาดการเอาใจใส่ต่อทรัพย์สินของตัวเอง ทำให้ผู้ครอบครองแทนคิดเข้าข้างตัวเองว่า เขาควรเป็นเจ้าของต่างหาก กอปรกับพึงพอใจในผลประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินนั้นมานานปี จึงอาศัยหลักเกณฑ์ของกฎหมายสร้างโอกาสแย่งชิงจากเจ้าของแท้จริงซึ่งก่อเกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อกันตามมา
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจึงขอนำกรณีศึกษามาเสนอให้ได้ขบคิดและพึงระวังตนไว้ ดังนี้คือ นายดี ทำมาหากินจนกระทั่งมีฐานะดี จึงซื้อที่ดินและตึกแถวไว้มากมายอยู่ในหลายจังหวัด เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด และด้วยความเห็นใจเพื่อนซึ่งยากจน คือ นายกาก จึงให้อาศัยในตึกแถวย่านสุขุมวิทและช่วยดูแลผู้เช่าตึกแทนเขาด้วย ต่อมาเขาเกิดเสียชีวิตกะทันหัน ทายาทของนายดีจึงเริ่มตรวจสอบทรัพย์สินของเขา แต่นายกาก ไม่ยอมให้ทายาทของนายดีเข้าไปในตึกแถวของบิดา โดยอ้างว่าเขาได้กรรมสิทธิ์ในตึกนี้โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงมิใช่มรดกของนายดี หลังจากต่อสู้กันในศาลเป็นเวลานาน ผลการตัดสินคดีสร้างความตกใจและขุ่นเคืองแก่ทายาทของนายดีอย่างมาก เมื่อตึกแถวที่นายดีซื้อมาต้องเปลี่ยนเจ้าของไปเป็นของนายกาก เพื่อนทรยศของบิดา เนื่องจากตลอดเวลาสิบกว่าปีนายกากได้แสดงตนเป็นเจ้าของตึกต่อบุคคลภายนอกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าเช่า กำหนดค่าเช่ารายปี ดูแลตึก คัดเลือกผู้เช่าและทำสัญญาเช่าโดยอ้างตนว่าเป็นเจ้าของ เป็นต้น ส่วนนายดีไม่เคยมาที่ตึกหลังนี้เลยหลังจากที่มอบหมายให้นายกากดูแลแล้ว อีกทั้งไม่มีการแสดงคัดค้านอย่างใดต่อการกระทำของนายกากซึ่งแสดงตนเปิดเผยโดยเจตนาว่าเป็นเจ้าของตึกอันมีมูลค่ามหาศาลนี้เลยจนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปกว่า 20 ปี แม้แต่ทายาทก็มิได้รับรู้เรื่องตึกหลังนี้เลยเพราะนายดีเป็นผู้เก็บโฉนดไว้เพียงคนเดียวเท่านั้น จึงมีผลให้นายกากได้กรรมสิทธิ์ในตึกหลังนี้โดยการครอบครองปรปักษ์ด้วยผลของกฎหมาย ทายาทของนายดีต้องสูญเสียทรัพย์สินชิ้นนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึงของนายดีนั่นเอง ด้านนายกากกลับมีโชคลาภที่ได้ตึกแถวราคาสูงเป็นของเขา ทั้งที่มิเคยต้องจ่ายเงินซื้อหามาเลย จึงกลายเป็นเศรษฐีชั่วพริบตา
หลายท่านอาจคิดว่า กฎหมายไม่ให้ความยุติธรรมแก่ทายาทของนายดีเลย แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จักเห็นว่า ถ้านายดีมิได้ละเลยต่อการตรวจสอบ ดูแล ทรัพย์สินทั้งหมดของเขา ย่อมไม่เปิดโอกาสให้นายกากสามารถช่วงชิงตึกแถวหลังนี้ไปได้แน่นอน มันจึงเป็นเสมือนการลงโทษแก่ผู้ที่ตั้งตนอยู่ในความประมาท กรณีศึกษานี้ทำให้เราพึงสังวรไว้ว่า ไม่ควรวางใจใครเกินไป ควรรอบคอบและระวังตนอยู่เสมอ รู้จักคุณค่าของเวลา เราจักไม่สูญเสียสิ่งใดไปให้ต้องเจ็บใจภายหลัง ข้อควรพึงเตือนใจไว้สำหรับกรณีนี้คือ ที่ดินหรือตึกแถวถูกครอบครองเกิน 10 ปี และ เครื่องเพชรหรือรถยนต์หรือทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ถูกครอบครองเกิน 5 ปี มันอาจต้องเปลี่ยนเจ้าของไป ถ้าผู้ครอบครองได้ครองทรัพย์สินเหล่านั้นโดยความสงบ โดยเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เงื่อนเวลาเหล่านี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ดังนั้น ท่านน่าจะลองหันไปสำรวจทรัพย์สินในมืออย่างละเอียดสักครั้ง เพื่อตรวจดูว่า ท่านยังเป็นเจ้าของอยู่หรือไม่


*************




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2548 15:08:20 น.
Counter : 556 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.