เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
โชว์การเรียกนกยูงมากินอาหาร ไฮไลท์แห่งสวนป่าดงดิบ
“การไปเยือนสิบสองปันนา เป็นเหมือนกับการเดินทางไปเยี่ยมญาติที่มีรากเดียวกันแต่ว่าต้องพลัดพรากจากกันไปเป็นเวลานาน”

       เพื่อนผมคนหนึ่งมันเคยกล่าวไว้ ไม่รู้ว่ามันคิดเองหรือไปจำขี้ปากใครมา แต่ก็จริงดังว่า เพราะชาวไทลื้อกับคนไทยล้วนมีรากมาจากชาว “ไท” หรือ “ไต” รวมถึงมีอะไรหลายๆอย่างคล้ายกัน นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์สายหนึ่งยังเชื่อว่าเดิมคนไทยน่าจะเคยมีรกรากอยู่ที่สิบสองปันนามาก่อน

       อย่างไรก็ดี สมัยก่อนการเดินทาง(เสมือน)ไปเยี่ยมญาติจากไทยสู่สิบสองปันนาด้วยทางรถยนต์ ถือเป็นเส้นทางวิบากเส้นทางหนึ่ง โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) จากเมืองไทย จ.เชียงราย ต้องนำรถขึ้นแพขนานยนต์หรือ “บั๊ค” ข้ามโขงจากเชียงของไปขึ้นฝั่งลาวที่เมืองห้วยทราย จากนั้นต้องตะลุยถนนลูกรัง ทั้งขรุขระ ติดหล่ม เป็นหลุมเป็นบ่อไปอีกกว่า 200 กิโลเมตร กว่าจะไปถึงเมืองหลวงน้ำทาก็เย็นแล้ว ส่วนใครถ้าจะข้ามแดนไปจีนก็ค่ำมืด บางทีไปไม่ทัน เพราะด่านจีนปิด ก็ต้องวุ่นวายหาที่นอนกันระหว่างทาง

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
เมืองเชียงรุ่งยุคปัจจุบันที่ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็ว
       แต่มาวันนี้ถนนหนทางในลาวทำดี ลาดยางรถวิ่งฉิว แถมเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 สร้างเสร็จ เปิดให้บริการเชื่อม 2 ฝั่งโขงไทย-ลาว ระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็ยิ่งทำให้เส้นทาง R3a สายนี้สะดวกสบายมากขึ้น นั่นจึงทำให้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ ได้จัดคาราวาน ไทย-ลาว-จีน เพื่อเป็นเส้นทางนำร่อง รับการเปิด AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ โดยพาไปสัมผัสกับ 2 เมืองท่องเที่ยวดังจีน-ลาว คือ “เชียงรุ่ง” และเมืองมรดกโลก “หลวงพะบาง”(หลวงพระบาง)

       จากเมืองไทย คณะคาราวานออกเดินทางแต่เช้า จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปพักกินข้าวกลางวันที่เมืองหลวงน้ำทา สปป.ลาว จากนั้นก็ไปหม่ำมื้อค่ำกันที่เมืองเชียงรุ่ง หนึ่งในสองของเมืองท่องเที่ยวสำคัญประจำทริปนี้

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำโขงแห่งเมืองเชียงรุ่ง
1...

       เชียงรุ่ง เป็นเมืองเอก(อำเภอเมือง) ของ“เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา”(จังหวัดสิบสองปันนาหรือสิบสองพันนา) มณฑลยูนนาน

       เมืองแห่งนี้มีแม่น้ำโขงหรือที่ชาวไทลื้อแม่น้ำล้านช้าง ไหลผ่านเป็นเส้นเลือดหลัก ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเชียงรุ่งเปลี่ยนแปลง พัฒนา เติบโตไปมาก ขณะที่บริเวณริมน้ำปัจจุบันก็กำลังเติบโต มีตึกสูงทยอยขึ้น และคาดว่าจะผุดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ

       นอกจากสิ่งก่อสร้าง ตึกรามที่สร้างขึ้นมาจนแน่นเมืองแล้ว ในเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทแมนเมด(Man Made) สร้างขึ้นทั่วไป ส่วนที่ฮือฮาและเป็นข่าวดังในบ้านเราก็คือ“โครงการ 9 จอม 12 เชียง”(Nine Tower & Twelve Walled) ที่เป็นการยกเมืองเชียงใหม่ และสถาปัตยกรรมแบบล้านในบ้านเรา มาสร้างไว้ที่จีน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเชียงใหม่จำลอง ซึ่งหลังภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” โด่งดังในจีนเป็นพลุแตก ที่นี่ก็พลอยโด่งดังไปด้วย โด่งดังถึงขนาด มีทัวร์ไทย คนไทยบางกลุ่ม ต้องการไปดูด้วยตา สัมผัสให้เห็นกันว่า เชียงใหม่ในเมืองจีนนั้นเป็นอย่างไร

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
พระพุทธรูปยืนองค์โตที่วัดหลวง
       สำหรับอีกหนึ่งสถานที่สร้างใหม่ที่กำลังมาแรงก็คือ “วัดหลวง” วัดใหญ่ใจกลางเมือง ที่มีลักษณะคล้ายวัดไทยในบ้านเรา มากกว่าวัดแบบไทลื้อดั้งเดิมที่สิบสองปันนา เพราะมีทั้งยักษ์วัดแจ้ง พระพุทธเจ้าน้อย เทวรูปต่างๆ รูปพระบิณฑบาต เจดีย์ศิลปกรรมแบบไทย รวมถึงพระพุทธยืนปางประทานพรองค์โต ซึ่งมีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ผมอดคิดไม่ได้ว่า ต่อไปทัวร์จีนจำนวนหนึ่งอาจไม่เลือกมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว เพราะในเมืองจีนเองก็มีเมืองไทยทั้งเชียงใหม่ วัดไทย ให้เที่ยวกันถึงที่

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
สะพานแขวน ทางเดินสู่หมู่บ้านอีก้อ
       อย่างไรก็ดี แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวแมนเมดมาร่วมด้วยช่วยเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย แต่กับแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆที่เป็นจุดเด่นของเชียงรุ่งก็ยังคงเต็มไปด้วยความคึกคักอยู่เช่นเคย นำโดย“สวนป่าดงดิบ” ที่เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นในพื้นที่ของป่าจริงๆที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา แมกไม้เขียวชอุ่มร่มรื่น

       ภายในสวนป่ามีหลายสิ่งหลายอย่างให้ทัศนากัน ไม่ว่าจะเป็นไฮไลท์อย่างโชว์การนกยูง ที่พอถึงเวลา เจ้าหน้าที่จะเป่านกหวีดส่งสัญญาณ จากนั้นสักพักก็จะมีมวลหมู่มหานกยูงนับร้อยบินมาจิกกินอาหาร สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มารอเฝ้าชม ครั้นเมื่อเสร็จสรรพพวกมันก็จะบินกลับข้ามบึงน้ำ แล้วเดินขึ้นบันได หลายตัวกลับไปนอนในป่า กลายตัวก็นอนในกรงที่ทางสวนป่าสร้างไว้

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
โชว์พาราณสี การแสดงไฮไลท์ประจำเมืองเชียงรุ่ง
       นอกจากนี้ที่นี่ยังมีจุดน่าสนใจ เด่นๆ ได้แก่ “น้ำตก(จำลอง)เก้ามังกร”, “หมู่บ้านอีก้อ(จำลอง)”(บ้านเราเรียกอาข่า อีก้อเป็นคำไม่สุภาพ) ที่ต้องเดินข้ามสะพานแขวนไปเพื่อชมการจัดแสดงของชนเผ่า ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมสนุกกับการเต้นร่วมกับสาวๆที่นี่ด้วย

ขณะที่ในส่วนการแสดงโชว์ความสามารถของสัตว์ อย่าง เสือ หมี หมา นั้น คนไทยหลายๆคนชมแล้ว นอกจากจะไม่ค่อยสนุกแล้วยังรู้สึกหดหู่กับสภาพของสัตว์พวกนี้มากกว่า

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
การแสดงศิลปวัฒนธรรม พาราณสี
       ในเมืองเชียงรุ่งยังมีการแสดงที่ถือเป็นไฮไลท์ประจำเมืองนั่นก็คือ “โชว์พาราณสี” ที่เป็นโชว์ศิลปวัฒนธรรม การแสดง แสงสี ดนตรี ดูอลังการ พร้อมกับแฟชั่นสาวๆชาวไทลื้อ ชาวจีน ในชุดเอวลอยที่เหล่าป๋าๆ คุณปู่ คุณตา คุณลุง ทั้งชาวไทย จีน จะชอบกันมาก แต่โชว์นี้ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับเมืองพาราณสีของอินเดีย

       ด้านใครที่ชอบบรรยากาศสีสันยามราตรี ที่นี่ก็มีร้านเหล้า บาร์เบียร์ ตกแต่งบรรยากาศแบบเรือนไทลื้อบริเวณถนนคนเดินริมแม่น้ำโขงให้นั่งดื่มด่ำบรรยากาศ หรือใครจะเลือกกินอาหาร เครื่องดื่มตามแผงข้างทาง ก็น่าสนใจไปอีกแบบ เพราะราคาถูกกว่า แถมได้บรรยากาศของชาวจีนดีทีเดียว โดยเฉพาะกับแผงปิ้ง-ย่างที่มีให้เลือกกันอยู่หลายเจ้าด้วยกัน

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
แผงขายหยกริมทางบนถนนคนเดิน หากใครจะซื้อต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
       ส่วนพวกที่ช้อปปิ้งในตัวเมืองเขามีถนนคนเดินขายสินค้าที่ระลึก หลากหลาย โดยเฉพาะกับหยกนี่มีให้เลือกกันเพียบ แต่งานนี้คงต้องคนที่ดูเป็นเลือกเป็น เพราะจีนนั้นขึ้นชื่อเรื่องของปลอมอยู่แล้ว ก็ขนาดไข่ ขาดเชียงใหม่ยังปลอมกันได้เลย

อ้อ!?! แต่สิ่งหนึ่งที่ยังปลอมสู้บ้านเราไม่ได้ก็คือ ผู้หญิงปลอม นั่นจึงทำให้วันนี้ที่เชียงรุ่งยังต้องอิมพอร์ตกระเทยไทยเพื่อไปแสดงโชว์ให้หนุ่มๆและผู้เฒ่าชาวจีนได้น้ำลายไหลกันตามสถานบันเทิงบางแห่ง

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
ปิ้ง-ย่าง ของอร่อย ราคาเยา ยามราตรี


       ในอดีตเชียงรุ่งคือหนึ่งในดินแดนในฝันของคนไทยเช่นเดียวกับหลวงพะบาง

       ผมเคยได้อ่านหนังสือ บทความ ดูภาพ และพูดคุยกับนักเดินทางรุ่นพี่ที่มีโอกาสได้มาสัมผัสเชียงรุ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วขึ้นไป ล้วนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นี่ดูสงบงามไปด้วยวิถีของชาวไทลื้อ บ้านเมืองสวยงามไปสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ ทั้งวัดวาอาราม บ้านเรือน โดยเฉพาะบ้านทรงไทลื้ออันเป็นเอกลักษณ์กับเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ทรงปีกนกมีความลาดต่ำ หรือที่เรียกกันว่า “หงส์เรือน” หรือ “หงส์เฮือน”

       เมื่อเดินเข้าไปตามหมู่บ้านไทลื้อต่างๆ(สมัยก่อน) จะเห็นปลูกเรียงรายเป็นแถวสวยงาม หลังคาปีกนกอันสมส่วนที่ทอดปกคลุมหงส์เรือนนั้นดูสง่าราวปีกหงส์ หลายบ้านมีการประดับรูปนกยูง สัญลักษณ์ประจำเมืองไว้บริเวณหน้าบัน

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
ภาพถ่าย หมู่บ้านไทลื้อในอดีต ตีพิมพ์ในหนังสือ อสท. ปี 2539 โดย ธีรภาพ โลหิตกุล
       เชียงรุ่งในยุคนั้นเปรียบดังสาวชนบทผู้ใสซื่อและงดงาม จากนั้นเมื่อจีนเดินหน้าพัฒนาเมืองอย่างเต็มตัว เมืองใหญ่ เมืองสำคัญจำนวนมาก ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง อาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างเก่าๆอันเป็นเอกลักษณ์ถูกรื้อ สร้างใหม่เป็นตึกราม คอนโด อาคาร สูงระฟ้า

       สำหรับที่เชียงรุ่งนั้น ผมมีโอกาสไปเยือนครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในยุคเชียงรุ่งกำลังก่อร่างสร้างเมืองใหม่ เห็นเมืองที่กำลังขยายเติบโตไปในทางแนวราบ หมู่บ้านไทลื้อในเชียงรุ่งถูกโอบล้อมด้วยตึกราม แต่กระนั้นก็ยังมีภาพและบรรยากาศของหมู่บ้านไทลื้อตามธรรมชาติที่ไม่ใช่หมู่บ้านท่องเที่ยว ให้สัมผัสซึมซับกันอยู่ไม่น้อย

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
ตัวเมืองเชียงรุ่งวันนี้ ที่หาชมหมู่ไทลื้อแบบดั้งเดิมไม่ได้แล้ว
       ครั้นมาเมื่อล่าสุดการกลับไปเยือนเชียงรุ่งอีกครั้ง โอ้โห เมืองนี้มีการพัฒนาทางวัตถุเปลี่ยนแปลง เติบโตไปมาก ภาพเมืองเชียงรุ่งที่ผมเห็นล่าสุดนี้ ถือเป็นเมืองไม่ใช่การพัฒนาในทางนอนแล้ว หากแต่เป็นการพัฒนาในทางตั้ง(เพราะทางนอนในเมืองหาพื้นที่ไม่ได้แล้ว) ตัวเมืองเชียงรุ่ง ทั้งเมืองเก่า เมืองใหม่ เต็มไปด้วยตึกสูง ทั้งที่พักอาศัย คอนโด อาคารพาณิชย์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

       ใครที่อยากสัมผัสกับกลิ่นอายหมู่บ้านไทลื้อในอดีต คงต้องไปตามหมู่บ้านท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ไว้ หรือไม่ก็ตามชนบทไกลๆ นับเป็นเชียงรุ่งยุคร่วมสมัยที่ต่างจากในอดีตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งน้องยิ้มไกด์ประจำทริปเรา บอกว่า ในช่วง 5 ปีหลังนี้ เชียงรุ่งเติบโตแบบก้าวกระโดด ถือเป็นเมืองดาวรุ่งแห่งการพัฒนาอีกเมืองหนึ่งของจีน

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
กลุ่มบ้านเรือนริมน้ำที่บ้านติ้ว


       แม้เชียงรุ่งจะเต็มไปด้วยตึกสูงสร้างใหม่ แต่เมืองนี้เขาก็ยังอนุรักษ์เก็บหมู่บ้านไทลื้อไว้บางส่วน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสบรรยากาศในกลิ่นอายแบบดั้งเดิมกัน โดยเฉพาะกับ “หมู่บ้านกาหลั่นป้า” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมเบอร์หนึ่งของสิบสองปันนา

       แต่ในทริปนี้ผมไม่ได้กลับไปเยือนกาหลั่นป้า เพราะน้องยิ้มไกด์ของเราบอกว่าที่นั่นมีการปรับปรุงทาง ปรับปรุงหมู่บ้านจึงไม่สะดวก แต่เธอเลือกพาไปที่ “หมู่บ้านติ้ว” ต.กาดหลวง แทน

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
บ้านไทลื้อ หลังคาแบบดั้งเดิมที่บ้านติ้ว
       บ้านติ้วเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีส่วนหนึ่งตั้งอยู่ริมบึงน้ำ ภายในหมู่บ้านมีบ้านไทลื้อแบบเก่าให้ทัศนากันไม่น้อย หลายหลังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม บางบ้านสามารถขึ้นไปชั้นสองได้ บางบ้านมีการจัดแต่งเป็นร้านขายของขายผ้า ขายสินค้าที่ระลึก บางบ้านมีคุณลุงคุณป้าแต่งชุดไทลื้อทำงานอยู่กับบ้านตามปกติ นักท่องเที่ยวไปเยือนก็ยิ้มทักทายด้วยมิตรไมตรี คนไทยทางเหนือใครที่เป็นชาวไทลื้อ สามารถคุยภาษาลื้อสื่อสารกับคุณลุงคุณป้าที่นี่ได้ตามสมควร

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
วิหารวัดบ้าน กะทัดรัด ทรงเสน่ห์แบบไทลื้อดั้งเดิม
       ส่วนที่พูดไทจัดแจ๋วก็คือท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านติ้ว ที่ผมและคณะได้มีโอกาสเข้าไปกราบขอพรจากท่าน

       วัดบ้านติ้ว เป็นวัดเล็กๆแบบไทลื้อดั้งเดิม ดูขรึมขลัง น่ายลทั้งตัวอาคาร สถาปัตยกรรม งานพุทธศิลป์ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนประดับทั้งด้านนอกด้านใน อ้อ!?! ที่วัดแห่งนี้หรืออีกหลายๆวัดในเชียงรุ่ง หากใครจะเห็นพระหรือเณรขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งฉิว ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
งานจิตรกรรมฝาผนังด้านนอก วัดบ้านติ้ว
       บ้านติ้วไม่ใช่หมู่ท่องเที่ยวที่เซ็ทจัดแต่งขึ้นมา หากแต่เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีชาวบ้านอยู่ตามปกติ ที่นี่จึงมีบ้านเรือนไทลื้อทั้งแบบเก่า แบบใหม่ผสมกันไป

       บ้านไทลื้อแบบใหม่ก็คือบ้านปูน 2 ชั้น บ้านตึก 2-3 ชั้น ผนังก่ออิฐฉาบปูนประดับกระเบื้องตามรสนิยมแบบจีน โดยหลังคายุคใหม่ในส่วนที่เป็นบ้านทรงไทลื้อมุงกระเบื้องลอน ส่วนที่เป็นบ้านตึกก็แปะกระเบื้องทรงหลังคาเข้าไป

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
คุณป้าชาวไทลื้อ บ้านติ้ว ยิ้มรับนักท่องเที่ยวอย่างอารมณ์ดี
       น้องยิ้มบอกกับผมว่า เดี๋ยวนี้ไม้ราคาแพงและหายากขึ้น ทำให้การซ่อมแซมบ้านหรือปรับปรุงบ้านด้วยไม้มีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนหลังคากระเบื้องดินเผาก็หายากเช่นกัน หลายที่เลิกผลิตไปแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้มีคนมาตระเวนซื้อหลังคากระเบื้องดินเผา ซื้อบ้านเก่า เพื่อไปทำรีสอร์ท ทำแหล่งท่องเที่ยว ร้านเหล้า ผับบาร์ โดยมีบริการเปลี่ยนหลังคาใหม่ให้ถึงที่ นั่นจึงทำให้แนวโน้มของบ้านไทลื้อแบบใหม่นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บ้านไทลื้อแบบเก่านับวันก็ยิ่งถูกรื้อทิ้งสร้างใหม่มากขึ้น

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
บ้านเรือนไทลื้อแบบเก่าที่บ้านติ้วซึ่งถูกแทนที่ด้วยบ้านตึกแบบใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
       ดังนั้นการที่บ้านเรือนไทลื้อที่เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ถูกรื้อไปมากมาย มีสาเหตุมาทั้งจากรัฐบาลจีนรื้อ และคนไทลื้อด้วยกันเองรื้อ

       อย่างไรก็ดีหากใครที่ไปเที่ยวเชียงรุ่ง แล้วอยากจะสัมผัสกับสถาปัตยกรรมบ้านไทลื้อ ก็ยังมีให้สัมผัสกันง่ายๆ แถวร้านริมแม่น้ำโขง

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
ร้านเหล้าริมแม่น้ำโขงกับหลังคาคล้ายวัดบ้านเรา
       ร้านหลายแห่งผมเห็นแล้วถึงกับทึ่ง เพราะนอกจากจะตกแต่งอย่างสวยงามในศิลปกรรมแบบไทลื้อแล้ว บนหลังคาที่นอกจากจะทำรูปทรงคล้ายวัดเก่าของชาวไทลื้อและวัดเก่าในบ้านเราแล้ว บนหลังคายังประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งคนไทยเราถือว่าเครื่องยอดเหล่านี้เป็นของสูง ใช้เฉพาะกับวัด แต่คนจีนที่นี่เขาไม่ถือ

ที่สำคัญก็คืออาคารประดับช่อฟ้าจำนวนมากแถวนี้นอกจากจะไม่ใช่วัดแล้ว ยังเป็น ผับ บาร์ ร้านเหล้า อีกต่างหาก

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
ร้านเหล้าริมแม่น้ำโขงนิยมทำหลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา
       ****************************************

“เชียงรุ่ง”-กำลังรุ่ง “ไทลื้อ”-ใครรื้อ?...กับร้านเหล้าเคล้าบรรยากาศวัดไทย/ปิ่น บุตรี
บ้านไทลื้อที่หมู่บ้านติ้ว
ที่มาของชื่อเมืองเชียงรุ่ง (ภาษาจีนเรียก “จิ่งหง” สำเนียงชาวไทลื้อเรียกว่า “เจียงฮุ่ง”)มาจากเรื่องราวในพุทธตำนานของชาวไทลื้อที่กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ดินแดนริมฝั่งโขงที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ก็เป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่พอดี เมืองนี้จึงถูกเรียกขานว่า “เชียงรุ่ง” ที่สื่อความว่าคือดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดีชื่อเชียงรุ่ง มีหลายคนในบ้านเรามักเรียกกันว่า “เชียงรุ้ง” ซึ่งก็มาจาก 2 ตำนานเรื่องเล่า ได้แก่ มาจากนกเหยี่ยวรุ้ง และสายรุ้งที่เกิดจากพญานาคใต้ลำน้ำโขงพ่นน้ำฟุ้งกระจายเป็นสีรุ้งสวยงาม

แต่ก็มีอีกข้อมูลหนึ่งที่ผมอ่านเจอในหนังสือ “จากเชียงรุ้งถึงฮอยอัน” ที่เขียนโดย “สมพงษ์ งามแสงรัตน์” ว่า “...คนที่กรมศิลป์บ้านเราไปเปลี่ยนให้เขาเสียเองเป็นเชียงรุ้ง...”

สำหรับบทความนี้ อ้างอิงตามคำพูดของชาวไทลื้อที่เรียกว่า “เชียงรุ่ง”

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



Create Date : 11 เมษายน 2557
Last Update : 11 เมษายน 2557 22:11:40 น. 1 comments
Counter : 2138 Pageviews.  

 
เจียงฮุ่ง แม่นแล่ว ฮุ่ง ก้อคือ เจริญรุ่งเรือง

คนกรมศิลป ชอบเปลี่ยนอะไรให้เข้ากับกลาง ๆ เข้าไว้ก่อน แบบเบาปัญญา

ท่ีเชียงใหม่ มีบ้านฟ้าฮ่าม เขาเรียกกันมาแต่สมัยไหนแล้ว จึงไม่อาจเปลี่ยนได้


โดย: โลวหยั่น (สมาชิกหมายเลข 726927 ) วันที่: 25 เมษายน 2557 เวลา:20:26:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]