เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
องค์ปรางค์ประธานของปราสาทเมืองสิงห์
       สำหรับการออกไปเดินทางท่องเที่ยว หลายคนอาจจะมุ่งหน้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยวปลายทางแต่เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” นิยมจะชื่นชมสิ่งที่น่าสนใจรายทางควบคู่กันไปด้วย เพราะจะทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งมีรสชาติมากขึ้น ได้พบได้เจออะไรใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ที่สำคัญ ยังทำให้เราได้สัมผัสถึงความเป็นท้องถิ่นในแต่ละแห่งอีกด้วย

       อย่างเช่นการเดินทางในครั้งนี้ เราตั้งใจจะเดินทางกันไปที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยเริ่มตั้งต้นรวมพลกันที่ตัวเมืองกาญจนบุรี และเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวระหว่างทางตั้งแต่กาญจนบุรีไปถึงสังขละบุรีอีกด้วย

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
       จากตัวเมืองกาญจนบุรี ก็ออกเดินทางมุ่งหน้ามายัง อ.ไทรโยค เพื่อมาแวะเที่ยวยังสถานที่สำคัญแห่งแรก “ปราสาทเมืองสิงห์” หรือ “อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์” ที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตั้งอยู่ที่ จ.สิงห์บุรี แต่จริงๆ แล้วตั้งอยู่ที่กาญจนบุรีนี่เอง

       ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือ เมื่อพิจารณาจากสถาปัตยกรรมและประติมากรรม พบว่ามีความคล้ายคลึงกับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม และยังมีศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ที่กล่าวถึงเมืองศรีชัยสิงห์บุรี โดยมีการสันนิษฐานกันว่าคือปราสาทเมืองสิงห์แห่งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางส่วนให้ความเห็นว่าไม่น่าใช่ปราสาทเมืองสิงห์แห่งนี้ เพราะอยู่ห่างจากเส้นทางราชมรรคา ที่ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

       “ตะลอนเที่ยว” คิดว่า สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทเมืองสิงห์ อยู่ตรงที่ตัวโบราณสถานนั้นถูกรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยที่ร่มรื่นและเขียวขจี โดยจุดที่น่าสนใจภายในพื้นที่ปราสาทเมืองสิงห์ก็คือ บริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นปรางค์ประธาน ศูนย์กลางของที่นี่ ปรางค์เป็นองค์เดียวทรงสูงคล้ายฝักข้าวโพด มีระเบียงคดล้อมรอบ และมีโคปุระ (ซุ้มประตู) อยู่ระหว่างระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ส่วนภายในปรางค์ประธานมีรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และด้านหลังมีรูปเคารพของนางปรัชญาปารมิตาประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ ห่างจากตัวปรางค์ประธานออกไปอีกเล็กน้อย บริเวณริมแม่น้ำจะมีหลุมขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่มีอายุราว 2,000 ปี ให้ชมกันอีกด้วย

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานภายในถ้ำกระแซ
       เที่ยวชมโบราณสถานแล้ว เราก็ออกเดินทางจากตัวปราสาทมาอีกไม่กี่อึดใจ ก็ถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่ง นั่นก็คือ “ถ้ำกระแซ” เป็นถ้ำขนาดเล็กที่เคยเป็นที่พักอาศัยของเชลยศึกเมื่อครั้งมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งปัจจุบันนี้เปิดให้เข้าชมได้โดยสามารถเข้าไปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน และหากเดินออกมาบริเวณปากถ้ำ ก็จะเป็นเส้นทางรถไฟสายมรณะ (เดิม) ที่ปัจจุบันก็ยังใช้เป็นเส้นทางการคมนาคมทางรถไฟ สายกาญจนบุรี-น้ำตก

       ปัจจุบัน ถ้ำกระแซก็ยังใช้เป็นที่หยุดรถไฟ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณสวนไทรโยคและตัวสถานีเก่า บริเวณสะพานถ้ำกระแซ และบริเวณสถานีรถไฟใหม่ โดยตัวสะพานถ้ำกระแซนั้นเป็นสะพานไม้เลียบหน้าผา มีความยาวกว่า 450 เมตร เส้นทางจะโค้งเลียบเขาไป ด้านหนึ่งติดกับภูเขา อีกด้านเบื้องล่างเป็นแม่น้ำแควน้อย มองแล้วสวยงามน่าชม

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
สะพานถ้ำกระแซ เส้นทางรถไฟที่เลาะเลียบริมแม่น้ำแควน้อย
       พักผ่อนหย่อนใจ ชิมวิวสวยๆ ริมน้ำกันแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ขอแวะไปพักขาคลายความเมื่อยล้ากันอีกสักหน่อย ที่ “น้ำพุร้อนหินดาด” ในเขต อ.ทองผาภูมิ ก่อนจะเลี้ยวเข้าเขตสังขละบุรี ที่นี่เป็นน้ำพุร้อนที่พุ่งออกมาจากเนินย่อมๆ ทหารญี่ปุ่นเคยมาสร้างบ่อซีเมนต์ไว้สำหรับอาบ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเห็นบ่อซีเมนต์นี้อยู่

       น้ำพุร้อนหินดาดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ก็เนื่องจากสามารถมาแช่น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิกำลังพอเหมาะเพื่อคลายความเมื่อยล้า ติดกันนั้นก็จะเป็นลำธารธรรมชาติที่อุณหภูมิของน้ำเย็นสบาย ใครอยากจะมาแช่น้ำร้อนก็ลงไปในบ่อซีเมนต์ เสร็จแล้วสลับกับน้ำเย็นด้วยการมาแช่ในลำธาร ที่สำคัญ มีความเชื่อกันว่า น้ำแร่จากบ่อน้ำร้อนแห่งนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้หลายอย่าง เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ เป็นต้น

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
แช่น้ำพุร้อนหินดาด
       กลับออกมาที่ถนนใหญ่ วิ่งตรงไปอีกไม่ไกลนักก็จะมีสามแยกใหญ่ หากไปทางซ้ายจะมุ่งหน้าไปทองผาภูมิ เหมืองปิล็อก แต่เราเลือกเลี้ยวขวา ตรงไปยังจุดมุ่งหมายของเรา นั่นก็คือ “สังขละบุรี”

       สังขละบุรี เป็นเมืองชายแดนที่ล้อมรอบด้วยขุนเขาและป่าไม้เขียวขจี ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ผสมผสานชาติพันธุ์ต่างๆ กันเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ที่เห็นเด่นชัดก็คือชาวไทย และชาวมอญ ซึ่งชาวมอญสังขละบุรีนี้อพยพมาจากฝั่งพม่า มาตั้งรกรากอยู่ที่สังขละบุรีแห่งนี้มานับร้อยปี กระทั่งมีการสร้างเขื่อน ชาวมอญจึ้งต้องย้ายจากเมืองสังขละเก่าที่ถูกน้ำในเขื่อนท่วม ขึ้นมาอยู่ยังเมืองสังขละในปัจจุบัน

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
สองฟากฝั่งไทย-มอญ บนลำน้ำซองกาเลีย
       สังขละบุรีถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง โดยมีแม่น้ำซองกาเลียกั้นกลาง ฝั่งไทย เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ร้านค้า และตลาดประจำอำเภอ ส่วนฝั่งมอญ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญสังขละบุรี ที่ยังดำรงวิถีชีวิตตามแบบฉบับของชาวมอญไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ (อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม) เทพเจ้าของชาวมอญ

       หากอยากสัมผัสวิถีชาวมอญในยามเช้า อยากรู้ว่าชาวมอญสังขละทำอะไรบ้าง “ตะลอนเที่ยว” แนะนำให้มาทำบุญตักบาตรในยามเช้าที่ฝั่งมอญ บริเวณใกล้ๆ กับสะพานมอญ เพราะนี่เป็นหนึ่งในเส้นทางที่พระสงฆ์จากวัดวังก์วิเวการามจะมาบิณฑบาตในยามเช้า

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
ยามเช้าของชาวมอญ เริ่มต้นด้วยการทำบุญตักบาตร
       ถ้าเป็นชาวบ้านที่นี่ เขาจะตักบาตรด้วยข้าวสวยเพียงอย่างเดียว หรือบางคนอาจจะมีดอกไม้ใส่ลงไปในบาตรด้วย และที่แปลกตาจากนักท่องเที่ยวอีกอย่างก็คือ ทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ จะสวมใส่ผ้าถุงมาตักบาตรกันทุกคน อีกทั้งยังมีผ้าผืนเล็กที่ใช้พาดอยู่บนบ่าเพื่อความเรียบร้อย

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
สวมใส่ผ้าถุง นุ่งโสร่ง ตามแบบฉบับชาวมอญสังขละ
       แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาตักบาตร ก็จะมีร้านค้าวางขายเรียงรายอยู่สองข้างทาง บ้างก็เป็นของตักบาตรชุดใหญ่ บ้างก็เป็นชุดเล็ก ที่มีทั้งข้าวสวย ผลไม้ ขนมนมเนย และดอกไม้จัดไว้เป็นชุด นอกจากจี้ยังมีบริการให้หยิบยืมผ้านุ่งผ้าถุงและโสร่ง สำหรับใส่ตักบาตรเสมือนชาวมอญแท้ๆ บางแห่งก็ยังมีบริการประแป้งบนใบหน้าเป็นลวดลายต่างๆ ตามแบบฉบับชาวมอญ เรียกว่าจัดให้เต็มยศ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความเป็นชาวมอญสังขละอย่างแท้จริง

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
สะพานมอญที่ชำรุด อีกไม่นานคงกลับคืนมาเหมือนเดิม
       อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญสังขละบุรี นั่นก็คือ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2538 เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งไทยและฝั่งมอญ โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ซึ่งตัวสะพานมีความยาว 850 เมตร นับว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

       สะพานมอญชำรุดลงหลังจากเหตุการณ์น้ำป่าและน้ำฝนพัดผ่านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ทำให้ช่วงกลางของสะพานพังลงมาเป็นระยะทางกว่า 50 เมตร จึงได้มีการสร้างสะพานลูกบวบขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านใช้ทดแทนสะพานไม้มอญที่ชำรุด แต่ในขณะนี้ เริ่มมีการขยับขยายสะพานลูกบวบออกให้ห่างจากสะพานมอญเพื่อทำการซ่อมแซมสะพานมอญให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม คงอีกไม่นานนักที่เราจะได้เดินผ่าน และร่วมชื่นชมกับสะพานมอญอันถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตชาวมอญสังขละ

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
มัคคุเทศก์น้อยพาทัวร์ที่วัดบ้านเก่า
       อย่างที่บอกไปแล้วว่าชาวมอญสังขละอพยพย้ายขึ้นมาจากเมืองสังขละเก่าที่จมน้ำไปแล้ว แต่หากเมื่อยามน้ำแล้ง น้ำในแม่น้ำและในเขื่อนก็จะลดลงไปเป็นอันมาก จนกระทั่งซากเก่าแก่ของวัดและพื้นที่บางแห่งโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็นอย่างที่เรากำลังจะไปชมกัน

       จากบริเวณสะพานมอญ จะมีร้านค้าหลายร้านที่ให้บริการล่องเรือออกไปชมซากวัดเก่าที่จมอยู่ใต้น้ำ “ตะลอนเที่ยว” ก็นั่งเรือออกจากที่นั่นเช่นกัน เรือล่องออกมาตามแม่น้ำซองกาเลีย จนมาถึงบริเวณ “สามสบ” หรือ “สามประสบ” อันเป็นจุดรวมของลำน้ำสามสาย คือ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ตรงมาอีกนิดก็จะเป็นบริเวณของวัดวังก์วิเวการามเก่า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดบ้านเก่า”

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
วัดบ้านเก่า หรือ วัดวังก์วิเวการามเดิมที่จมอยู่ใต้น้ำ
“วัดบ้านเก่า” หรือเมืองบาดาลนี้ เป็นวัดเก่าที่หลวงพ่ออุตตมะสร้างขึ้น ก่อนจะจมอยู่ใต้ผืนน้ำในเขื่อน แต่ก็จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นในช่วงหน้าแล้งของทุกปี (ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ซากที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ก็คือ พระอุโบสถหลังเก่า กุฏิของหลวงพ่ออุตตมะ และหอระฆัง

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
กุฏิหลังเก่าของหลวงพ่ออุตตมะ ใช้เหล็กจากทางรถไฟมาสร้าง
       เมื่อเหยียบขึ้นบนผืนดินบริเวณวัดบ้านเก่า จะมีมัคคุเทศก์ชาวมอญตัวน้อยมาแนะนำวัดบ้านเก่าและพาไปชมยังสถานที่ต่างๆ อย่างที่กุฏิเดิมของหลวงพ่ออุตตมะ มัคคุเทศก์น้อยก็ชี้ชวนให้ดูซากเก่าๆ ที่ยังเหลืออยู่ บอกว่าตรงนั้นเอาไว้ใช้ทำอะไร ตรงนี้คืออะไร แต่ที่น่าสนใจก็คือ กุฏิหลังนี้ ใช้เหล็กจากทางรถไฟสายมรณะที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาทำเป็นคานสร้างกุฏิ ซึ่งก็ยังมีหลักฐานให้เห็นได้อย่างชัดเจน เดินมาอีกนิดก็จะเป็นพระอุโบสถหลังเก่าที่ยังมีโครงสร้างบางส่วนให้เห็นอยู่ ภายในมีภาพถ่ายของหลวงพ่ออุตตมะตั้งอยู่ให้ได้สักการะกัน

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
ต้นไทรใหญ่ปกคลุมโบสถ์ของวัดสมเด็จ (เก่า)
       กลับขึ้นเรืออีกครั้ง คราวนี้มุ่งหน้ามายังฝั่งตรงข้ามกับวัดบ้านเก่า เป็นริมฝั่งแม่น้ำที่ต้องเดินขึ้นเนินผ่านป่าเขาไปอีกนิดก็จะถึง “วัดสมเด็จ (เก่า)” วัดแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งที่ย้ายเมืองสังขละบุรีเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้จมอยู่ใต้น้ำเหมือนกับวัดบ้านเก่า

       ภายในวัดสมเด็จ (เก่า) ยังมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รอบๆ ตัวโบสถ์ก็ยังคงมีร่องรอยของลวดลายปูนปั้นให้เห็นอยู่บ้าง แต่ตัวโบสถ์นั้นถูกต้นไทรใหญ่ที่อยู่รอบๆ โอบล้อมไปส่วนหนึ่งแล้ว ปัจจุบัน มีการสร้างวัดสมเด็จแห่งใหม่ขึ้นบริเวณริมถนน ก่อนถึงตัวเมืองสังขละบุรี

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
พระพุทธรูปภายในวัดสมเด็จ (เก่า) ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
       ล่องเรือชมวัดเก่ากันแล้ว ก็ถึงเวลาขึ้นฝั่ง มาไหว้ “เจดีย์พุทธคยา” บนฝั่งมอญ เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำหนัก 400 บาท ซึ่งภายในนั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์องค์นี้จึงสร้างโดยจำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ลักษณะฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวเจดีย์สีทองอร่าม มีลวดลายปูนปั้น และพระพุทธรูปปางต่างๆ วางเรียงรายอยู่โดยรอบองค์เจดีย์

       เจดีย์พุทธคยาองค์นี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญสังขละบุรีเป็นอันมาก และยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะและชมความงามของเจดีย์ไม่ขาดสาย โดยพื้นที่ว่างด้านหน้าองค์เจดีย์ที่เป็นลานกว้าง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนา อาทิ งานรดน้ำต้นโพธิ์ในช่วงวันวิสาขบูชา รวมไปถึงเป็นลานกิจกรรมประเพณีของชาวมอญสังขละอีกด้วย

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
เจดีย์พุทธคยา
       เที่ยวในเมืองสังขละกันจนอิ่มใจ ก็มุ่งหน้าไปกันที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” ด่านชายแดนไทย-พม่า ที่เดินทางไปอีกไม่ไกลนัก แต่ระหว่างทางก็มีสถานที่ท่องเที่ยวให้นั่งพักผ่อนสบายๆ กันอีกแห่ง นั่นคือ “ลำธารซองกาเลีย” ที่ตั้งอยู่ติดริมถนน บนเส้นทางที่จะตรงไปด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อข้ามสะพานซองกาเลียแล้วมองไปทางขวา ก็จะเห็นเพิงไม้เรียงรายอยู่ริมน้ำ

       บริเวณนี้จะมีร้านค้าร้านอาหารที่มาตั้งขาย มีเพิงให้นั่งพักผ่อนอยู่ริมน้ำ หรือใครอยากจะลงไปแช่น้ำให้เย็นชื่นใจก็ได้ตามชอบ เพราะบริเวณนี้เขาจัดไว้ให้มานั่งพักผ่อนกันอยู่แล้ว

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
เล่นน้ำริมธารซองกาเลีย
       เล่นน้ำชุ่มฉ่ำชื่นใจ ก็ไปต่อกันที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” อย่างที่บอกว่าเป็นชายแดนไทย-พม่า ที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.พญาตองซู ประเทศพม่า สมัยก่อนเป็นเส้นทางเดินทัพสำคัญระหว่างไทยกับพม่า เนื่องจากเป็นที่ราบระหว่างภูเขา ทำให้สามารถเดินทัพได้ง่ายกว่าเส้นทางอื่นๆ ที่ต้องเดินผ่านเขาสูง

       บริเวณด่านก็จะมีสิ่งสำคัญก็คือ “เจดีย์สามองค์” ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า ชาวบ้านที่อพยพมาจากฝั่งพม่า เข้ามาสู่ฝั่งไทย จะถือหินกันมาคนละก้อน มาเรียงกันไว้จนเป็นหินสามกอง และถูกปรับปรุงก่อสร้างจนกลายเป็นเจดีย์สามองค์แบบที่เห็นทุกวันนี้

แวะเที่ยวรายทาง จากเมืองกาญจน์ถึงสังขละ สักการะเจดีย์พุทธคยา ตื่นตาวิถีชาวมอญ
เจดีย์สามองค์
       ซึ่งปัจจุบัน ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นด่านชายแดนที่สามารถข้ามไปมาหาสู่กันได้ โดยบริเวณด่านมีบริษัททัวร์ที่เปิดรับทำวีซ่าและบัตรผ่านข้ามแดนไป-กลับภายในหนึ่งวัน โดยจะนำทัวร์ในฝั่งพม่า นอกจากนี้บริเวณด่านก็ยังมีสินค้าวางขายอยู่หลายร้าน มีทั้งเครื่องไม้ต่างๆ เครื่องประดับ อาหาร-ของฝากจากพม่า ให้เลือกซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้านได้

       เส้นทางท่องเที่ยวจากกาญจนบุรีถึงสังขละบุรี “ตะลอนเที่ยว” เลือกแวะเที่ยวเก็บเกี่ยวมาตามรายทาง แต่ต้องบอกว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามรายทางไม่ได้มีแค่นี้ แต่เนื่องจากเวลามีน้อย ก็คงต้องคัดสรรสถานที่เป็นบางแห่ง หากใครมีเวลามากกว่านี้ ถ้าได้แวะเที่ยวแวะชิมไปทุกที่ คงมีความสุขและได้ประสบการณ์มากกว่านี้แน่ๆ

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ใน จ.กาญจนบุรี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-3451-2500, 0-3462-3691

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000062193



Create Date : 03 มิถุนายน 2557
Last Update : 3 มิถุนายน 2557 22:18:28 น. 1 comments
Counter : 1925 Pageviews.  

 
thx u crab


โดย: Kavanich96 วันที่: 4 มิถุนายน 2557 เวลา:3:16:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]